-
พระยะโฮวาทรงบริบูรณ์ด้วยเหตุผล!หอสังเกตการณ์ 1994 | 1 สิงหาคม
-
-
ความมีเหตุผลเป็นลักษณะเด่นแห่งพระสติปัญญาของพระเจ้า
6. อะไรคือความหมายตามตัวอักษรและความหมายที่แฝงอยู่ของคำภาษากรีกที่ยาโกโบได้ใช้พรรณนาถึงสติปัญญาของพระเจ้า?
6 สาวกยาโกโบได้ใช้ถ้อยคำน่าสนใจพรรณนาสติปัญญาของพระเจ้าองค์นี้ผู้ทรงปรับตัวเป็นเลิศ. ท่านได้เขียนว่า “สติปัญญาจากเบื้องบนนั้น . . . มีเหตุผล.” (ยาโกโบ 3:17, ล.ม.) คำภาษากรีก (เอพิไอเคสʹ) ที่ท่านนำมาใช้ตรงนี้แปลได้ยาก. นักแปลหลายคนใช้คำต่าง ๆ เช่น “สุภาพ” “ไม่เข้มงวด” “อดกลั้น” และ “เห็นอกเห็นใจ.” คัมภีร์ฉบับแปลโลกใหม่ แปลคำนี้ว่า “มีเหตุผล” พร้อมกับเชิงอรรถซึ่งแสดงว่าความหมายตามตัวอักษรคือ “ยอมให้.”a คำนี้ยังให้ความหมายในแง่ไม่ยืนกรานจะให้เป็นตามลายลักษณ์อักษรแห่งตัวบทกฎหมาย ไม่เข้มงวดหรือเคร่งครัดเกินเหตุ. วิลเลียม บาร์กเลย์ผู้คงแก่เรียนได้ให้ข้อคิดในหนังสือคำศัพท์ในคัมภีร์ภาคพันธสัญญาใหม่ ดังนี้: “สิ่งอันเป็นมูลฐานและหลักเบื้องต้นเกี่ยวกับเอพิไอเคีย นั้นคือความหมายของคำนั้นเริ่มกับพระเจ้า. ถ้าพระเจ้ายืนกรานในสิทธิของพระองค์ ถ้าพระเจ้าทรงใช้เฉพาะแต่มาตรฐานแห่งกฎหมายอันเข้มงวด แล้วเราจะอยู่ที่ไหนล่ะ? พระเจ้าทรงเป็นแบบอย่างอันล้ำเลิศของบุคคลที่เป็นเอพิไอเคส และผู้ที่เกี่ยวข้องกับคนอื่นแบบเอพิไอเคีย.”
7. พระยะโฮวาได้ทรงสำแดงความมีเหตุผลในสวนเอเดนนั้นอย่างไร?
7 ให้เรานึกถึงสมัยที่มนุษยชาติต่อต้านพระบรมเดชานุภาพของพระยะโฮวา. เป็นการง่ายเพียงไรหากพระเจ้าจะสำเร็จโทษพวกอกตัญญูทั้งสาม ซึ่งได้แก่อาดาม, ฮาวา, และซาตาน! พระองค์คงหลีกเลี่ยงความปวดร้าวพระทัยมากเพียงไร! และใครหรือจะกล้าคัดค้านว่า พระองค์ไม่มีสิทธิดำเนินงานถูกต้องตามความยุติธรรมอย่างเคร่งครัด? กระนั้นก็ดี พระยะโฮวาไม่เคยทำให้องค์การของพระองค์ซึ่งเป็นประหนึ่งราชรถฝ่ายสวรรค์พลันต้องชะงักไปด้วยมาตรฐานที่เข้มงวด ความยุติธรรมดัดแปลงไม่ได้. ดังนั้น ราชรถของพระเจ้าจึงไม่ได้วิ่งทับครอบครัวมนุษย์และความหวังทั้งมวลสำหรับอนาคตที่เป็นสุขของมนุษยชาติ. ตรงกันข้าม พระยะโฮวาทรงเปลี่ยนทิศทางราชรถของพระองค์อย่างรวดเร็วประหนึ่งสายฟ้าแลบ. ทันทีทันใดหลังการกบฏ พระเจ้ายะโฮวาได้ทรงวางเค้าโครงวัตถุประสงค์ระยะยาวซึ่งเปิดทางแผ่ความเมตตาและความหวังให้แก่ลูกหลานทั้งปวงของอาดาม.—เยเนซิศ 3:15.
8. (ก) ทัศนะอย่างผิด ๆ ของคริสต์ศาสนจักรเกี่ยวกับความมีเหตุผลต่างกันอย่างไรกับความมีเหตุผลที่แท้จริงของพระยะโฮวา? (ข) เหตุใดเราจึงกล่าวได้ว่า ความมีเหตุผลของพระยะโฮวาไม่หมายถึงการอะลุ้มอล่วยในหลักการของพระเจ้า?
8 อย่างไรก็ตาม ความมีเหตุผลของพระยะโฮวาหาได้หมายถึงการอะลุ้มอล่วยในหลักการของพระองค์ไม่. คริสตจักรต่าง ๆ แห่งคริสต์ศาสนจักรสมัยนี้อาจคิดเสียว่า พวกตนมีเหตุผลเมื่อเขายอมให้กับการผิดศีลธรรมเพียงเพื่อเอาใจสานุศิษย์ที่ดื้อรั้นของตน. (เทียบกับ 2 ติโมเธียว 4:3.) พระยะโฮวาไม่เคยละเมิดข้อกฎหมายของพระองค์เอง และพระองค์ก็ไม่เคยอะลุ้มอล่วยหลักการต่าง ๆ ของพระองค์. แทนที่จะเป็นอย่างนั้น พระองค์ทรงแสดงความเต็มพระทัยยอมปรับพระองค์ให้เข้ากับสภาพการณ์ เพื่อว่าหลักการเหล่านั้นอาจนำไปใช้ในทางเที่ยงธรรมและเต็มไปด้วยความเมตตา. พระองค์ทรงคำนึงเสมอถึงการทำให้การใช้ความยุติธรรมและอำนาจของพระองค์สมดุลกับความรักและพระสติปัญญาอันมีเหตุผลของพระองค์ด้วย. ขอให้เราพิจารณาสามวิถีทางซึ่งพระยะโฮวาทรงสำแดงความมีเหตุผลของพระองค์.
“พร้อมจะให้อภัย”
9, 10. (ก) การ “พร้อมจะให้อภัย” เกี่ยวข้องอย่างไรกับความมีเหตุผล? (ข) ดาวิดได้รับประโยชน์อย่างไรจากการที่พระยะโฮวาทรงพร้อมจะให้อภัย และเพราะเหตุใด?
9 ดาวิดเขียนไว้ว่า “ข้าแต่พระยะโฮวา, พระองค์ทรงคุณความดีและพร้อมจะให้อภัย; และความรักกรุณาเหลือล้นแก่ทุกคนที่ร้องทูลพระองค์.” (บทเพลงสรรเสริญ 86:5, ล.ม.) เมื่อได้มีการแปลคัมภีร์ภาคภาษาฮีบรูเป็นภาษากรีก ถ้อยคำที่ว่า “พร้อมจะให้อภัย” นั้นได้รับการแปลเป็นภาษากรีกว่าเอพิไอเคสʹ, หรือ “มีเหตุผล.” อันที่จริง บางทีการพร้อมจะให้อภัยและการแสดงความเมตตาอาจเป็นแนวทางสำคัญที่สุดในการสำแดงความมีเหตุผล.
10 ดาวิดเองตระหนักดีว่า พระยะโฮวาทรงมีเหตุผลเพียงไรในเรื่องนี้. เมื่อดาวิดทำผิดประเวณีกับนางบัธเซบะ และวางแผนเพื่อให้สามีของนางต้องสิ้นชีวิต ทั้งดาวิดและบัธเซบะน่าจะต้องโทษถึงตาย. (พระบัญญัติ 22:22; 2 ซามูเอล 11:2-27) หากผู้พิพากษาที่เป็นมนุษย์จะตัดสินคดีนี้อย่างเฉียบขาด บุคคลทั้งสองคงต้องถึงแก่ความตายแน่. แต่พระยะโฮวาทรงแสดงความมีเหตุผล (เอพิไอเคสʹ) ดังที่ พจนานุกรมอรรถาธิบายคำศัพท์ในคัมภีร์ไบเบิลของไวน์ ชี้แจงว่า คำนี้ “แสดงออกซึ่งการคำนึงถึงผู้อื่นซึ่งพิจารณา ‘ข้อเท็จจริงของกรณี ด้วยมนุษยธรรมและมีเหตุผล.’” ข้อเท็จจริงอันเป็นพลังผลักดันพระยะโฮวาให้ตัดสินด้วยความเมตตา คงรวมเอาการสำนึกผิดจากใจจริงและความเมตตาซึ่งดาวิดเองเคยได้แสดงต่อผู้อื่นมาแล้ว. (1 ซามูเอล 24:4-6; 25:32-35; 26:7-11; มัดธาย 5:7; ยาโกโบ 2:13) อย่างไรก็ดี สอดคล้องกันกับคำพรรณนาที่พระยะโฮวากล่าวถึงพระองค์เองที่เอ็กโซโด 34:4-7 จึงนับว่าชอบด้วยเหตุผลที่พระยะโฮวาได้ทรงว่ากล่าวดาวิด. พระองค์ทรงใช้ผู้พยากรณ์นาธานไปแจ้งข่าวสารที่รุนแรงแก่ดาวิด ย้ำเตือนดาวิดให้สำนึกว่า ท่านได้ดูหมิ่นพระคำของพระยะโฮวา. ดาวิดสำนึกผิดและกลับใจ และจึงไม่ตายเพราะบาปของตน.—2 ซามูเอล 12:1-14.
-
-
พระยะโฮวาทรงบริบูรณ์ด้วยเหตุผล!หอสังเกตการณ์ 1994 | 1 สิงหาคม
-
-
a ย้อนไปเมื่อปี 1769 จอห์น พาร์กเฮอร์สต์ ผู้เรียบเรียงพจนานุกรมได้นิยามคำนั้นว่า “ยอมให้, มีนิสัยยินยอม, สุภาพ, อ่อนโยน, พากเพียร.” นักวิชาการคนอื่น ๆ ก็เช่นกันได้เสนอ “ยอมให้” เป็นคำจำกัดความ.
-