บท 35
ฉันจะเป็นเพื่อนกับพระเจ้าได้อย่างไร?
หลังจากเจเรมีเจอเหตุการณ์ที่ทำให้เป็นทุกข์ เขารู้สึกว่าการเป็นเพื่อนกับพระเจ้ามีค่ามาก. เขาเล่าว่า “ตอนผมอายุ 12 พ่อทิ้งครอบครัวเราไป. มีคืนหนึ่ง ผมอ้อนวอนขอพระยะโฮวาบังคับให้พ่อกลับมา.”
เมื่อเจเรมีจมอยู่ในความทุกข์ เขาเริ่มอ่านพระคัมภีร์. เขาเปิดไปเจอบทเพลงสรรเสริญ 10:14 ทำให้เขาตื้นตันมาก. ข้อนั้นในฉบับ 1971 พูดถึงพระยะโฮวาว่า “คนไร้ที่พึ่งมอบตัวไว้กับพระองค์. พระองค์ทรงเป็นผู้ช่วยคนกำพร้าพ่อ.” เจเรมีบอกว่า “ผมรู้สึกว่าพระยะโฮวากำลังพูดกับผม พระองค์บอกผมว่าจะคอยช่วยเหลือผม พระองค์เป็นพ่อของผม. ผมจะหาพ่อที่ดีกว่านี้ได้อย่างไร?”
ไม่ว่าสภาพการณ์ของคุณจะเหมือนเจเรมีหรือไม่ คัมภีร์ไบเบิลบอกให้รู้ว่าพระยะโฮวาอยาก เป็นเพื่อนกับคุณ โดยกล่าวว่า ‘จงเข้าไปใกล้พระเจ้า แล้วพระองค์จะทรงเข้ามาใกล้คุณ.’ (ยาโกโบ 4:8) ลองคิดดูสิ แม้คุณจะมองไม่เห็นพระองค์และไม่มีทางเทียบเท่าพระองค์ได้ แต่พระยะโฮวาพระเจ้ายังเชิญคุณให้เป็นเพื่อนกับพระองค์.
แต่การเป็นเพื่อนกับพระยะโฮวาคุณเองก็ต้องทำอะไรบางอย่างด้วย. อย่างเช่น ถ้าคุณมีต้นไม้กระถางหนึ่ง มันคงโตเองไม่ได้ คุณต้องรู้ว่ามันชอบอากาศแบบไหนและต้องคอยรดน้ำเป็นประจำ. การเป็นเพื่อนกับพระเจ้าก็เหมือนกัน. คุณจะทำให้มิตรภาพนั้นงอกงามได้อย่างไร?
ต้องศึกษาส่วนตัว
คนเราจะเป็นเพื่อนกันได้ต้องมีการพูดคุยกัน. ในการพูดคุยนั้นต้องมีทั้งฝ่ายที่พูดและฝ่ายที่ฟัง. การเป็นเพื่อนกับพระเจ้าก็เหมือนกัน เมื่อเราอ่านและศึกษาพระคัมภีร์ก็เท่ากับเรากำลังฟังพระเจ้าพูด.—บทเพลงสรรเสริญ 1:2, 3
คุณอาจเป็นคนไม่ชอบอ่านหนังสือ. หนุ่มสาวส่วนใหญ่มักชอบดูทีวี เล่นเกม หรือไปเที่ยวกับเพื่อน ๆ. แต่ถ้าคุณอยากเป็นเพื่อนกับพระเจ้าก็ไม่มีวิธีอื่น คุณต้องฟัง พระองค์โดยอ่านและศึกษาพระคำของพระองค์.
คุณไม่ชอบอ่านไม่ชอบศึกษาใช่ไหม? ถ้าอย่างนั้น การศึกษาพระคัมภีร์อาจดูเป็นเรื่องน่าเบื่อ. แต่ถ้าพยายามสักหน่อย คุณจะชอบ เอง. สิ่งแรกที่คุณต้องทำคือจัดเวลา. ไลอิสบอกว่า “เมื่อตื่นขึ้นมา ฉันจะอ่านพระคัมภีร์หนึ่งบททุกเช้า.” มาเรีย อายุ 15 จัดเวลาอีกแบบหนึ่ง. เธอบอกว่า “ฉันจะอ่านพระคัมภีร์ก่อนนอนทุกคืน.”
ถ้าคุณไม่รู้จะเริ่มศึกษาพระคัมภีร์อย่างไร ให้ดูที่หน้า 292. คุณคิดว่าจะใช้เวลาช่วงไหนศึกษาพระคัมภีร์ได้สัก 30 นาที?
․․․․․
การจัดเวลาเป็นเพียงการเริ่มต้น. เมื่อคุณเริ่มศึกษาจริง ๆ คุณจะพบว่าการอ่านพระคัมภีร์ไม่ง่ายเลย. คุณคงเห็นด้วยกับเจซรีล อายุ 11 ที่พูดตรงไปตรงมาว่า “พระคัมภีร์บางตอนอ่านยากไม่สนุกเลย.” ถ้าคุณรู้สึกอย่างนั้น อย่าเพิ่งท้อ. พยายามคิดว่าการอ่านพระคัมภีร์เป็นการฟังพระยะโฮวาพระเจ้าเพื่อนของคุณ. แล้วการอ่านพระคัมภีร์ก็จะกลายเป็นเรื่องสนุก.
ต้องอธิษฐาน
การอธิษฐานเป็นการคุยกับพระเจ้า. ลองคิดดูสิ นั่นวิเศษขนาดไหน. คุณจะคุยกับพระเจ้าเวลาไหนก็ได้ ไม่ว่าจะเป็นกลางวันหรือกลางคืน. พระองค์พร้อมจะฟังคุณเสมอ. ยิ่งกว่านั้น พระองค์อยากฟังคุณ. ด้วยเหตุนี้ พระคัมภีร์จึงเชิญชวนคุณว่า ‘จงทูลทุกสิ่งที่คุณปรารถนาต่อพระเจ้าโดยการอธิษฐานและการวิงวอนพร้อมกับการขอบพระคุณ.’—ฟิลิปปอย 4:6
ตามที่พระคัมภีร์ข้อนี้บอก มีหลายสิ่งที่คุณคุยกับพระเจ้าได้ ไม่ว่าจะเป็นปัญหาที่เกิดขึ้นหรือเรื่องที่คุณกังวล. และเมื่อคิดถึงสิ่งดี ๆ คุณคงอยากขอบคุณพระเจ้า. ถ้าเพื่อนทำอะไรดี ๆ ให้ คุณคงอยากขอบคุณเขาไม่ใช่หรือ? เช่นเดียวกัน คุณควรขอบคุณพระยะโฮวาเพราะพระองค์ให้อะไรดี ๆ แก่คุณมากมายเกินกว่าที่เพื่อนคนใดจะให้ได้.—บทเพลงสรรเสริญ 106:1
มีอะไรบ้างที่คุณอยากขอบคุณพระยะโฮวา?
․․․․․
บางครั้งคุณคงรู้สึกกลัวและกังวล. บทเพลงสรรเสริญ 55:22 (ฉบับอมตธรรมร่วมสมัย) บอกว่า “จงมอบภาระของท่านไว้กับองค์พระผู้เป็นเจ้า พระองค์จะทรงค้ำชูท่านไว้. พระองค์จะไม่ทรงปล่อยให้คนชอบธรรมล้มลง.”
มีเรื่องใดบ้างที่คุณกังวลและอยากบอกพระองค์?
․․․․․
ประสบการณ์ส่วนตัว
การเป็นเพื่อนกับพระเจ้ายังมีอีกแง่หนึ่งที่ไม่ควรมองข้าม. ดาวิดผู้ประพันธ์เพลงสรรเสริญเขียนว่า “เชิญชิมดูแล้วจะรู้ว่าองค์พระผู้เป็นเจ้าทรงแสนดี.” (บทเพลงสรรเสริญ 34:8, ฉบับอมตธรรมร่วมสมัย) ตอนที่ดาวิดประพันธ์เพลงสรรเสริญบท 34 ท่านเพิ่งผ่านเหตุการณ์ที่น่าหวาดกลัวมา. นอกจากจะถูกกษัตริย์ซาอูลตามล่าแล้ว ท่านยังต้องหนีไปหลบภัยในเมืองของศัตรูคือชาวฟิลิสติน. ตอนนั้นท่านต้องเผชิญหน้ากับความตายจึงแกล้งทำเป็นบ้าเพื่อเอาตัวรอด.—1 ซามูเอล 21:10-15
หลังจากดาวิดรอดตายมาอย่างหวุดหวิด ท่านไม่ได้คิดว่าตัวเองฉลาด แต่บอกว่าเพราะพระยะโฮวาช่วยท่าน. ท่านบอกไว้ในเพลงสรรเสริญว่า “เมื่อข้าพเจ้าได้แสวงหาพระยะโฮวา, พระองค์ได้ทรงตอบข้าพเจ้า, และได้ทรงช่วยข้าพเจ้าให้พ้นจากความหวาดกลัวทั้งปวง.” (บทเพลงสรรเสริญ 34:4) เมื่อดาวิดประสบด้วยตัวเอง ท่านจึงเชิญชวนคนอื่นให้ “ชิมดูแล้วจะรู้ว่าองค์พระผู้เป็นเจ้าทรงแสนดี.”a
คุณเห็นหลักฐานอะไรไหมที่แสดงว่าพระยะโฮวารักและเอาใจใส่คุณ? ให้เขียนลงไป. ไม่ต้องเป็นประสบการณ์ที่น่าตื่นเต้นมากก็ได้. ลองคิดถึงสิ่งดี ๆ ที่คุณได้รับในแต่ละวัน บางครั้งคุณอาจมองข้ามไป.
․․․․․
พ่อแม่คงสอนความจริงในพระคัมภีร์ให้คุณ. แต่คุณต้องสร้างสายสัมพันธ์กับพระเจ้าด้วยตัวเอง. ถ้ายังไม่ได้ทำ คำแนะนำในบทนี้จะช่วยคุณได้. พระยะโฮวาจะช่วยคุณให้ทำสำเร็จ. พระคัมภีร์บอกว่า “จงขอต่อ ๆ ไปแล้วจะได้รับ จงหาต่อ ๆ ไปแล้วจะพบ.”—มัดธาย 7:7
เชิญอ่านเรื่องนี้เพิ่มเติมได้ในเล่ม 1 บท 38 และ 39
คุณคิดว่าการพูดกับคนอื่นเรื่องพระเจ้าเป็นเรื่องยากไหม? คุณจะปกป้องความเชื่อของคุณได้อย่างไร?
[เชิงอรรถ]
a พระคัมภีร์บางฉบับแปลวลี “ชิมดูแล้วจะรู้” ไว้ว่า “ค้นพบด้วยตัวเอง,” “ค้นหาด้วยตัวเอง” และ “รู้จากประสบการณ์.”—ฉบับคอนเทมโพรารี อิงลิช, ฉบับทูเดส์ อิงลิช และฉบับเดอะ ไบเบิล อิน เบสิก อิงลิช
ข้อคัมภีร์หลัก
“ผู้ที่สำนึกถึงความจำเป็นฝ่ายวิญญาณก็มีความสุข.”—มัดธาย 5:3
ข้อแนะ
ให้อ่านพระคัมภีร์วันละห้าถึงหกหน้า แล้วคุณจะอ่านจบเล่มภายในหนึ่งปี.
คุณรู้ไหม . . . ?
การที่คุณได้อ่านหนังสือเล่มนี้และนำคำแนะนำไปใช้แสดงว่าพระยะโฮวาสนใจคุณ จริง ๆ.—โยฮัน 6:44
แผนปฏิบัติการ
เพื่อจะได้ประโยชน์มากขึ้นจากการศึกษาส่วนตัว ฉันจะ ․․․․․
เพื่อจะอธิษฐานบ่อยขึ้น ฉันจะ ․․․․․
สิ่งที่ฉันอยากถามพ่อแม่เกี่ยวกับเรื่องนี้คือ ․․․․․
คุณคิดอย่างไร?
● คุณจะทำให้การศึกษาพระคัมภีร์น่าสนใจมากขึ้นได้อย่างไร?
● ทำไมพระยะโฮวาอยากฟังคำอธิษฐานของมนุษย์ที่ไม่สมบูรณ์?
● คุณจะปรับปรุงคำอธิษฐานของคุณได้อย่างไร?
[คำโปรยหน้า 291]
“ตอนเป็นเด็ก ฉันจะอธิษฐานซ้ำ ๆ แบบเดิม. แต่ตอนนี้ฉันจะพูดทั้งเรื่องที่ดีและไม่ดีที่เกิดขึ้นในแต่ละวัน ไม่ได้พูดเหมือนกันทุกวันเพราะเป็นไปไม่ได้ที่ทุกวันจะเหมือนกัน.”—อีฟ
[กรอบ/ภาพหน้า 292]
วิธีค้นคว้าพระคัมภีร์
1. เลือกพระคัมภีร์สักตอนที่คุณอยากอ่าน. อธิษฐานขอพระยะโฮวาช่วยคุณให้เข้าใจเรื่องนั้น.
2. อ่านไปมโนภาพไป. ไม่ต้องรีบร้อน. ขณะอ่านให้มโนภาพไปด้วย. ให้ใช้ประสาทสัมผัสต่าง ๆ เช่น ได้ยิน เสียงคนพูด รับรู้รส ของอาหาร ได้กลิ่น และเห็น ภาพเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น. ให้ทำเหมือนคุณอยู่ในเหตุการณ์นั้นจริง ๆ.
3. คิดถึงเรื่องที่เพิ่งอ่าน. ลองตอบคำถามต่อไปนี้.
● ทำไมพระยะโฮวาให้บันทึกเรื่องราวนี้ไว้ในพระคัมภีร์?
● ตัวอย่างไหนน่าเลียนแบบ และตัวอย่างไหนควรหลีกเลี่ยง?
● มีบทเรียนอะไรบ้างที่ฉันจะเอาไปใช้ได้?
● ฉันรู้อะไรบ้างเกี่ยวกับพระยะโฮวาและเหตุผลที่พระองค์ทำอย่างนั้น?
4. อธิษฐานถึงพระยะโฮวาสั้น ๆ. บอกพระองค์ว่าคุณได้เรียนรู้อะไรบ้างจากเรื่องที่อ่านและจะเอาไปใช้อย่างไร. ให้ขอบคุณพระยะโฮวาเสมอสำหรับคัมภีร์ไบเบิลพระคำของพระองค์ซึ่งเป็นของขวัญอันล้ำค่า.
[ภาพ]
“พระวจนะของพระองค์เป็นโคมสำหรับเท้าของข้าพเจ้า, และเป็นแสงสว่างตามทางของข้าพเจ้า.”—บทเพลงสรรเสริญ 119:105
[กรอบ/ภาพหน้า 294]
สิ่งสำคัญต้องมาก่อน
คุณไม่มีเวลาอธิษฐานหรือศึกษาพระคัมภีร์ไหม? ส่วนใหญ่ขึ้นอยู่กับว่าคุณให้ความสำคัญกับอะไร.
ลองทำแบบนี้: ให้เอาถังมาใบหนึ่งแล้วใส่หินก้อนใหญ่ ๆ ลงไป. จากนั้น เททรายให้เต็มถัง. ตอนนี้ในถังก็จะมีทั้งหินและ ทราย.
ทีนี้ให้เทหินและทรายออกมาจากถังให้หมด. คราวนี้ทำกลับกัน ให้ใส่ทรายลงไปก่อน แล้วค่อยใส่หินลงไป. ใส่หินไม่หมดใช่ไหม? นั่นเพราะคุณใส่ทรายลงไปก่อน.
บทเรียนคืออะไร? พระคัมภีร์บอกว่า ‘ให้ตรวจดูให้แน่ใจว่าสิ่งไหนสำคัญกว่า.’ (ฟิลิปปอย 1:10) ถ้าคุณทำสิ่งที่ไม่สำคัญก่อน เช่น นันทนาการ คุณจะไม่มีเวลาพอสำหรับสิ่งที่สำคัญในชีวิตคือกิจกรรมคริสเตียน. แต่ถ้าคุณทำตามคำแนะนำในพระคัมภีร์ คุณจะมีเวลาสำหรับทั้งสองสิ่งคือรับใช้พระเจ้าได้และ มีนันทนาการอย่างพอเหมาะ. นี่ขึ้นอยู่กับว่าคุณทำอะไรก่อน.
[ภาพหน้า 290]
สายสัมพันธ์ของคุณกับพระเจ้าก็เหมือนต้นไม้ ต้องคอยดูแลถึงเติบโต