พระยะโฮวาทรงปกป้องรักษาผู้ที่คอยท่าพระองค์
“ขอโปรดให้พระกรุณาและความสัตย์ซื่อของพระองค์บำรุงรักษาข้าพเจ้าไว้เป็นเนืองนิตย์.”—บทเพลงสรรเสริญ 40:11.
1. กษัตริย์ดาวิดทูลขออะไรพระยะโฮวา และทุกวันนี้ท่านได้รับตามที่ขออย่างไร?
กษัตริย์ดาวิดแห่งชาติอิสราเอลโบราณ “คอยท่าพระยะโฮวาด้วยความอดทนนาน” และถูกกระตุ้นใจให้กล่าวว่าพระยะโฮวา “ได้ทรงเงี่ยพระโสตลงสดับฟังคำร้องทูล [ของท่าน].” (บทเพลงสรรเสริญ 40:1) ท่านเห็นด้วยตัวเองหลายต่อหลายครั้งถึงวิธีที่พระยะโฮวาทรงปกป้องผู้ที่รักพระองค์. ดังนั้น ดาวิดจึงสามารถจะขอให้พระยะโฮวาบำรุงรักษาท่านไว้เป็นเนืองนิตย์. (บทเพลงสรรเสริญ 40:11) เนื่องจากถูกนับว่าเป็นหนึ่งในบรรดาชายหญิงผู้ซื่อสัตย์ซึ่งได้รับคำสัญญาเรื่อง “การเป็นขึ้นมาจากตายอันประเสริฐกว่า” ทุกวันนี้ดาวิดจึงอยู่ในความทรงจำของพระยะโฮวาอย่างปลอดภัย ฐานะผู้จะได้รับบำเหน็จดังกล่าว. (เฮ็บราย 11:32-35) ชีวิตในอนาคตของท่านจึงได้รับการพิทักษ์รักษาไว้อย่างมั่นคงที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้. ชื่อของท่านได้รับการบันทึกไว้ใน “หนังสือบันทึกความจำ” ของพระยะโฮวา.—มาลาคี 3:16.
2. พระคัมภีร์ช่วยเราอย่างไรให้เข้าใจความหมายของการได้รับการปกป้องจากพระยะโฮวา?
2 แม้เหล่าผู้ซื่อสัตย์ที่กล่าวถึงในพระธรรมเฮ็บรายบท 11 มีชีวิตอยู่ก่อนหน้าช่วงเวลาที่พระเยซูคริสต์อยู่บนแผ่นดินโลก แต่พวกเขาก็ได้ดำเนินชีวิตตรงกับคำสอนของพระเยซูที่ตรัสว่า “ผู้ที่รักชีวิตของตนจะเสียชีวิต, และผู้ที่ชังชีวิตของตนในโลกนี้จะรักษาชีวิตนั้นไว้นิรันดร์.” (โยฮัน 12:25) ฉะนั้น จึงเห็นได้ชัดว่า การได้รับการปกป้องจากพระยะโฮวาไม่ได้หมายความว่าจะไม่ประสบความทุกข์ยากหรือการกดขี่ข่มเหง. นั่นหมายถึงการปกป้องไม่ให้เราสูญเสียฐานะอันดีที่มีกับพระองค์.
3. เรามีหลักฐานอะไรที่แสดงว่าพระคริสต์เยซูได้รับการปกป้องจากพระยะโฮวา และมีผลเช่นไรตามมา?
3 พระเยซูเองเป็นเป้าของการข่มเหงและคำติเตียนที่รุนแรง และในที่สุดศัตรูของพระองค์ก็ประสบความสำเร็จในการทำให้พระเยซูได้รับความอัปยศและสิ้นพระชนม์อย่างเจ็บปวดรวดร้าว. กระนั้น นี่ไม่ได้ขัดกับคำสัญญาของพระเจ้าที่จะปกป้องพระมาซีฮา. (ยะซายา 42:1-6) การคืนพระชนม์ของพระเยซูในวันที่สามหลังจากการวายพระชนม์อย่างน่าอดสูเป็นหลักฐานพิสูจน์ว่าพระยะโฮวาทรงสดับคำทูลขอความช่วยเหลือของพระเยซู เช่นเดียวกับที่สดับคำทูลขอของดาวิด. พระยะโฮวาตอบคำอธิษฐานด้วยการประทานกำลังแก่พระเยซูเพื่อรักษาความซื่อสัตย์มั่นคง. (มัดธาย 26:39) การที่พระเยซูได้รับการปกป้องในวิธีนี้ ทำให้พระองค์ได้รับอมตชีพในสวรรค์ และเปิดทางให้มนุษย์หลายล้านคนที่แสดงความเชื่อในค่าไถ่มีความหวังจะได้รับชีวิตนิรันดร์.
4. คริสเตียนผู้ถูกเจิมและ “แกะอื่น” ได้รับคำรับรองในเรื่องใด?
4 เรามั่นใจได้ว่าพระยะโฮวาทรงเต็มพระทัยจะปกป้อง และสามารถปกป้องผู้รับใช้ของพระองค์ในสมัยนี้ เช่นเดียวกับที่พระองค์ทรงทำในสมัยของดาวิดและสมัยพระเยซู. (ยาโกโบ 1:17) พี่น้องผู้ถูกเจิมของพระเยซูจำนวนค่อนข้างน้อยที่ยังเหลืออยู่บนแผ่นดินโลกสามารถวางใจคำสัญญาของพระยะโฮวาที่ว่า “มฤดกซึ่งไม่รู้เปื่อยเน่า, อันปราศจากมลทิน, และที่จะหาร่วงโรยไปไม่ . . . ทรงเตรียมไว้ในเมืองสวรรค์สำหรับท่านทั้งหลาย, ผู้ที่ฤทธิ์เดชของพระเจ้าได้ทรงรักษาไว้โดยความเชื่อให้ถึงความรอดซึ่งทรงจัดไว้พร้อมจะได้ปรากฏในเวลาที่สุด.” (1 เปโตร 1:4, 5) เช่นเดียวกัน “แกะอื่น” ที่มีความหวังทางแผ่นดินโลกสามารถวางใจพระเจ้าและคำสัญญาของพระองค์ที่ผู้ประพันธ์เพลงสรรเสริญกล่าวไว้ว่า “ดูกรท่านผู้ชอบธรรมทั้งหลาย, จงรักพระยะโฮวาเถิด, พระยะโฮวาทรงรักษาคนที่สัตย์ซื่อ.”—โยฮัน 10:16; บทเพลงสรรเสริญ 31:23.
ได้รับการปกป้องไม่ให้สูญเสียฐานะอันดีที่มีกับพระเจ้า
5, 6. (ก) ประชาชนของพระเจ้าได้รับการปกป้องอย่างไรในปัจจุบันนี้? (ข) ผู้ถูกเจิมมีสัมพันธภาพแบบใดกับพระยะโฮวา และผู้มีความหวังทางแผ่นดินโลกเป็นอย่างไรในเรื่องนี้?
5 พระยะโฮวาทรงให้การปกป้องประชาชนของพระองค์ในทุกวันนี้. แม้จะไม่ใช่การปกป้องให้พ้นจากการข่มเหงหรือความทุกข์ยากและเหตุการณ์อันน่าเศร้าซึ่งเป็นเรื่องปกติธรรมดาของชีวิต แต่ด้วยความภักดี พระองค์ประทานความช่วยเหลือและการหนุนใจที่จำเป็นเพื่อปกป้องรักษาสัมพันธภาพแน่นแฟ้นที่พวกเขามีกับพระองค์. พวกเขาสร้างสัมพันธภาพดังกล่าวกับพระองค์โดยอาศัยความเชื่อเกี่ยวกับการจัดเตรียมด้วยความรักของพระเจ้าเรื่องค่าไถ่เป็นพื้นฐาน. บางคนในหมู่คริสเตียนผู้ซื่อสัตย์เหล่านี้ได้รับการเจิมด้วยพระวิญญาณบริสุทธิ์ของพระเจ้าเพื่อจะเป็นผู้ร่วมปกครองกับพระคริสต์ในสวรรค์. พวกเขาได้รับการประกาศว่าชอบธรรมฐานะเป็นบุตรฝ่ายวิญญาณของพระเจ้า และถ้อยคำต่อไปนี้ใช้กับพวกเขาที่ว่า “[พระองค์] ได้ทรงช่วยเราทั้งหลายให้พ้นจากอำนาจแห่งความมืด, และได้ทรงย้ายเรามาตั้งไว้ในแผ่นดินแห่งพระบุตรที่รักของพระองค์. ในพระองค์นั้นเราทั้งหลายจึงได้รับการไถ่, คือทรงโปรดยกความผิดทั้งหลายของเรา.”—โกโลซาย 1:13, 14.
6 คริสเตียนที่ซื่อสัตย์คนอื่น ๆ อีกหลายล้านคนก็ได้รับคำรับรองว่าพวกเขาจะได้รับประโยชน์จากการจัดเตรียมของพระเจ้าเรื่องค่าไถ่เช่นกัน. เราอ่านว่า “บุตรมนุษย์มิได้มาเพื่อจะให้เขาปรนนิบัติ, แต่ท่านมาเพื่อจะปรนนิบัติเขา, และประทานชีวิตของท่านให้เป็นค่าไถ่คนเป็นอันมาก.” (มาระโก 10:45) คริสเตียนเหล่านี้คอยท่าที่จะได้รับ “เสรีภาพอันรุ่งโรจน์แห่งบุตรทั้งหลายของพระเจ้า” เมื่อถึงเวลากำหนด. (โรม 8:21, ล.ม.) ในระหว่างนี้ พวกเขาถือว่าสัมพันธภาพที่พวกเขามีกับพระเจ้านั้นมีค่ายิ่ง และพวกเขาพยายามอย่างแท้จริงเพื่อจะเสริมสัมพันธภาพนี้ให้แน่นแฟ้นยิ่ง ๆ ขึ้น.
7. ในทุกวันนี้ พระยะโฮวาช่วยปกป้องประชาชนของพระองค์ให้รักษาฐานะอันดีที่มีกับพระองค์โดยทางใดบ้าง?
7 วิธีหนึ่งที่พระยะโฮวาช่วยปกป้องประชาชนของพระองค์ให้รักษาฐานะอันดีที่มีกับพระองค์คือจัดเตรียมให้พวกเขาได้รับการเพิ่มพูนความรู้อยู่เรื่อย ๆ. การจัดเตรียมนี้ทำให้พวกเขาได้รับความรู้ถ่องแท้ยิ่งขึ้นเกี่ยวกับความจริง. นอกจากนั้น พระยะโฮวายังประทานคำชี้นำให้เป็นประจำผ่านทางพระคำ, องค์การ, และพระวิญญาณบริสุทธิ์ของพระองค์. ประชาชนของพระเจ้าตลอดทั่วโลกเป็นเสมือนครอบครัวระดับนานาชาติภายใต้การชี้นำของ “ทาสสัตย์ซื่อและสุขุม.” ชนชั้นทาสเอาใจใส่ดูแลให้ครอบครัวแห่งผู้รับใช้ของพระยะโฮวาได้รับการบำรุงเลี้ยงในด้านความเชื่อ และแม้แต่ในด้านร่างกายในยามที่จำเป็น โดยไม่คำนึงถึงเชื้อชาติหรือฐานะทางสังคม.—มัดธาย 24:45, ล.ม.
8. พระยะโฮวามีความเชื่อมั่นอะไรในผู้ที่ภักดีต่อพระองค์ และทรงให้คำรับรองอะไรแก่พวกเขา?
8 เช่นเดียวกับที่พระยะโฮวาไม่ได้ปกป้องพระเยซูให้พ้นจากการถูกพวกศัตรูทำร้าย พระองค์ก็ไม่ได้ให้การปกป้องด้านร่างกายแก่คริสเตียนในปัจจุบันเช่นกัน. แต่นี่ไม่ได้หมายความว่าพวกเขาไม่เป็นที่พอพระทัยพระเจ้า. ไม่ใช่อย่างนั้นเลย! แทนที่จะเป็นเช่นนั้น นี่เป็นการแสดงว่าพระองค์เชื่อมั่นว่าพวกเขาจะสนับสนุนพระองค์ในประเด็นสากลที่สำคัญ. (โยบ 1:8-12; สุภาษิต 27:11) พระยะโฮวาจะไม่ทอดทิ้งผู้ที่ภักดีต่อพระองค์ ด้วยว่า “พระยะโฮวาทรงรักความยุติธรรม และไม่ทรงละทิ้งพวกผู้ชอบธรรมของพระองค์เลย ทรงรักษาเขาไว้เป็นนิจกาล.”—บทเพลงสรรเสริญ 37:28.
ได้รับการปกป้องโดยพระกรุณาและความสัตย์ซื่อ
9, 10. (ก) ความสัตย์ซื่อของพระยะโฮวาปกป้องประชาชนของพระองค์อย่างไร? (ข) คัมภีร์ไบเบิลแสดงอย่างไรว่าพระยะโฮวาปกป้องเหล่าผู้ภักดีของพระองค์โดยทางพระกรุณาของพระองค์?
9 ในคำอธิษฐานของดาวิดที่บันทึกไว้ในบทเพลงสรรเสริญบท 40 ท่านทูลขอให้พระยะโฮวาปกป้องรักษาท่านโดยพระกรุณาและความสัตย์ซื่อของพระองค์. ความสัตย์ซื่อของพระยะโฮวาและความรักต่อความชอบธรรมทำให้พระองค์ต้องกำหนดชัดเจนว่าอะไรคือมาตรฐานของพระองค์. ผู้ที่ดำเนินชีวิตตามมาตรฐานดังกล่าวได้รับการป้องกันมิใช่น้อยให้พ้นจากความทุกข์ใจ, ความหวั่นวิตก, และปัญหาต่าง ๆ ที่ผู้เพิกเฉยมาตรฐานของพระองค์ประสบ. ตัวอย่างเช่น เราสามารถป้องกันตัวเราเองหรือคนที่เรารักไม่ให้ประสบปัญหามากมายที่ทำให้ปวดร้าวใจหากเราหลีกเลี่ยงการใช้ยาเสพติดและการดื่มแอลกอฮอล์เกินควร, การสำส่อนทางเพศ, และรูปแบบชีวิตที่นิยมความรุนแรง. และแม้แต่ผู้ที่หลงไปจากแนวทางแห่งความจริงของพระยะโฮวา—อย่างที่ดาวิดได้หลงไปในบางครั้ง—ก็ได้รับคำรับรองว่า พระเจ้ายังคงเป็น “ที่ซ่อน” สำหรับผู้กระทำผิดที่กลับใจ. คนเช่นนั้นสามารถเปล่งเสียงร้องด้วยความยินดีว่า “พระองค์จะทรงรักษาข้าพเจ้าไว้ให้พ้นทุกข์.” (บทเพลงสรรเสริญ 32:7) ช่างเป็นการแสดงถึงพระกรุณาของพระเจ้าเสียจริง ๆ!
10 อีกตัวอย่างที่แสดงถึงพระกรุณาของพระเจ้าคือการที่พระองค์ทรงเตือนผู้รับใช้ของพระองค์ให้รักษาตัวอยู่ต่างหากจากโลกชั่ว ซึ่งพระองค์จะทำลายในอีกไม่ช้า. เราอ่านว่า “อย่ารักโลกหรือสิ่งของในโลก. ถ้าคนใดรักโลก, ความรักต่อพระบิดาไม่ได้อยู่ในคนนั้นเลย. เพราะว่าสารพัตรซึ่งมีอยู่ในโลก, คือความใคร่ของเนื้อหนังและความใคร่ของตาและการอวดอ้างถือตัวในชาตินี้ไม่ได้เกิดมาจากพระบิดา, แต่เกิดมาจากโลก.” โดยการใส่ใจคำเตือนนี้และปฏิบัติตาม เราจะสามารถรักษาชีวิตของเราให้คงอยู่ชั่วนิรันดร์จริง ๆ เพราะข้อคัมภีร์นี้กล่าวต่อไปว่า “โลกนี้กับความใคร่ของโลกกำลังผ่านพ้นไป แต่ผู้ที่ประพฤติตามพระทัยของพระเจ้าคงจะตั้งอยู่เป็นนิตย์.”—1 โยฮัน 2:15-17.
ได้รับการปกป้องโดยความสามารถในการคิด, ความสังเกตเข้าใจ, และสติปัญญา
11, 12. จงอธิบายว่าความสามารถในการคิด, ความสังเกตเข้าใจ, และสติปัญญาปกป้องเราอย่างไร.
11 ซะโลโมราชบุตรของดาวิดได้รับการดลใจให้เขียนบอกผู้ที่คาดหวังจะได้รับความโปรดปรานจากพระเจ้าว่า “ความสามารถในการคิดนั่นเองจะป้องกันเจ้าไว้ ความสังเกตเข้าใจก็จะปกป้องเจ้า.” ท่านยังกระตุ้นเตือนด้วยว่า “จงรับเอาพระปัญญา . . . อย่าละทิ้งพระปัญญา, และพระปัญญาก็จะพิทักษ์รักษาเจ้าไว้; จงรักพระปัญญา, และพระปัญญาจะบำรุงรักษาเจ้าไว้.”—สุภาษิต 2:11, ล.ม.; 4:5, 6.
12 เราใช้ความสามารถในการคิด หากเราไตร่ตรองสิ่งที่เราเรียนรู้จากพระคำของพระเจ้า. การทำเช่นนั้นช่วยเราให้พัฒนาความสังเกตเข้าใจมากขึ้นเพื่อจะสามารถจัดลำดับความสำคัญของเรื่องต่าง ๆ อย่างเหมาะสม. นี่เป็นเรื่องสำคัญ เนื่องจากพวกเราส่วนใหญ่รู้ดี—อาจจะด้วยประสบการณ์ของตนเอง—ว่าเมื่อคนเราจัดลำดับความสำคัญของเรื่องต่าง ๆ อย่างไม่สุขุม ไม่ว่าโดยตั้งใจหรือไม่ตั้งใจก็ตาม ปัญหาจะเกิดขึ้น. โลกของซาตานเย้ายวนเราให้แสวงหาความมั่งคั่ง, ความมีชื่อเสียง, และอำนาจ ในขณะที่พระยะโฮวาเน้นความสำคัญของการนมัสการ ซึ่งสำคัญกว่า. การให้ความสำคัญกับการแสวงหาสิ่งฝ่ายโลกมาก่อนการนมัสการอาจยังผลให้ครอบครัวแตกแยก, มิตรภาพพังทลาย, และเป้าหมายในการรับใช้พระเจ้าเลือนรางไป. ผลคือ ผู้ที่ทำเช่นนั้นอาจไม่ได้อะไรเลยนอกจากประสบความเป็นจริงอันน่าเศร้าดังที่คำตรัสของพระเยซูได้กล่าวไว้ว่า “ถ้าผู้ใดจะได้สิ่งของสิ้นทั้งโลก, แต่ต้องเสียชีวิตของตน, ผู้นั้นจะได้ประโยชน์อะไร?” (มาระโก 8:36) สติปัญญาชี้นำเราให้เชื่อฟังคำแนะนำของพระเยซูที่กล่าวว่า “ท่านทั้งหลายจงแสวงหาแผ่นดินของพระเจ้า และความชอบธรรมของพระองค์ก่อน, แล้วพระองค์จะทรงเพิ่มเติมสิ่งทั้งปวงเหล่านี้ให้.”—มัดธาย 6:33.
อันตรายของการกลายเป็นคนคิดถึงตัวเองมากเกินไป
13, 14. การคิดถึงตัวเองมากเกินไปหมายความเช่นไร และเหตุใดจึงไม่ฉลาดสุขุมที่จะกลายเป็นคนแบบนั้น?
13 โดยธรรมชาติ มนุษย์เราจะสนใจเรื่องของตนเอง. แต่เมื่อความปรารถนาส่วนตัวและการสนใจเรื่องของตนเองกลายเป็นเรื่องสำคัญที่สุดในชีวิต ปัญหาจะเกิดขึ้น. ดังนั้น เพื่อจะรักษามิตรภาพกับพระองค์ พระยะโฮวาทรงสอนเราให้หลีกเลี่ยงการเป็นคนคิดถึงตัวเองมากเกินไป ซึ่งหมายถึง “การคิดถึงแต่ความต้องการ, ความจำเป็น, หรือเรื่องของตนเอง.” คำพรรณนานี้ตรงกับลักษณะนิสัยของผู้คนมากมายในทุกวันนี้มิใช่หรือ? น่าสังเกตที่คัมภีร์ไบเบิลบอกไว้ล่วงหน้าว่า “ในสมัยสุดท้าย” ของระบบชั่วที่ซาตานครอบงำ ผู้คนจะ “รักตัวเอง” หรือคิดถึงตัวเองมากเกินไป.—2 ติ-โมเธียว 3:1, 2, ล.ม.
14 คริสเตียนเห็นถึงสติปัญญาของการทำตามคำแนะนำในคัมภีร์ไบเบิลที่ให้สนใจผู้อื่น และรักคนอื่นเหมือนรักตัวเอง. (ลูกา 10:27; ฟิลิปปอย 2:4) คนทั่วไปอาจมองว่าคำแนะนำนี้ใช้ไม่ได้จริง กระนั้น การทำตามคำแนะนำดังกล่าวนับว่าจำเป็นหากเราปรารถนาจะมีชีวิตสมรสที่ประสบความสำเร็จ, มีความสัมพันธ์ที่ดีในครอบครัว, และมีมิตรภาพที่น่าพอใจ. ฉะนั้น ผู้รับใช้แท้ของพระยะโฮวาต้องไม่ปล่อยให้การสนใจเรื่องของตนเองซึ่งเป็นธรรมชาติของคนเรานั้นกลายเป็นเรื่องหลักในชีวิตจนบดบังความสนใจในเรื่องอื่น ๆ ที่สำคัญกว่า. เรื่องที่สำคัญที่สุดคือกิจกรรมต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับการนมัสการพระยะโฮวา พระเจ้าของเขา.
15, 16. (ก) การคิดถึงตัวเองมากเกินไปอาจนำไปสู่อะไร ดังตัวอย่างของใคร? (ข) ที่แท้แล้ว คนเราทำอะไรเมื่อเขาด่วนตัดสินคนอื่น?
15 การคิดถึงตัวเองมากเกินไปอาจนำไปสู่การมั่นใจว่าตัวเองชอบธรรมกว่าคนอื่น ซึ่งอาจทำให้คนเรากลายเป็นคนถือดี ชอบตัดสินผู้อื่น. คัมภีร์ไบเบิลกล่าวไว้เหมาะเจาะทีเดียวว่า “ดูก่อน ท่านคนใด ๆ ที่กล่าวโทษผู้อื่น ท่านไม่มีข้อที่จะแก้ตัวได้ ด้วยว่าในข้อที่ท่านกล่าวโทษผู้อื่นนั้น ท่านก็ได้ปรับโทษตัวเอง เพราะว่าท่านที่กล่าวโทษเขาก็ยังประพฤติอยู่เหมือนกันกับเขา.” (โรม 2:1; 14:4, 10) พวกผู้นำศาสนาในสมัยของพระเยซูกลายเป็นคนที่มั่นใจในความชอบธรรมของตนเองจนพวกเขารู้สึกว่าตนอยู่ในฐานะที่จะติเตียนพระเยซูและเหล่าสาวกของพระองค์. โดยการทำเช่นนั้น พวกเขาตั้งตัวเป็นผู้พิพากษา. เมื่อมองไม่เห็นข้อบกพร่องของตน ที่แท้แล้วพวกเขาก็กำลังปรับโทษตัวเอง.
16 ยูดา สาวกของพระเยซูที่ทรยศพระองค์ ได้ปล่อยให้ตัวเองกลายเป็นคนที่ชอบตัดสินผู้อื่น. ที่หมู่บ้านเบทานีในคราวที่มาเรียได้เอาน้ำมันหอมมาชโลมพระเยซู ยูดาตำหนิเธออย่างแรง. เขาพูดด้วยความไม่พอใจโดยให้เหตุผลว่า “ทำไมไม่เอาน้ำมันนั้นไปขายได้เงินซักสามร้อยเดนาริอัน แล้วแจกให้กับคนจน?” แต่บันทึกในคัมภีร์ไบเบิลชี้แจงต่อว่า “เขาพูดอย่างนั้นไม่ใช่เพราะเขาเอาใจใส่คนจน แต่เพราะเขาเป็นหัวขโมย เขาถือกระเป๋าเก็บเงินและยักยอกเงินที่ใส่ไว้ในนั้นไป.” (โยฮัน 12:1-6, ฉบับแปล 2002) ขอเราอย่าได้กลายเป็นเหมือนยูดาหรือพวกผู้นำศาสนาในสมัยนั้นที่ด่วนตัดสินคนอื่น ซึ่งยังผลเป็นการปรับโทษตัวเขาเอง.
17. จงยกตัวอย่างที่แสดงถึงอันตรายของการเป็นคนอวดตัวหรือการกลายเป็นคนที่มั่นใจตัวเองมากเกินไป.
17 น่าเศร้า คริสเตียนบางคนในศตวรรษแรก ถึงแม้ว่าไม่ได้เป็นขโมยเหมือนยูดา แต่ก็ตกเป็นเหยื่อของความภูมิใจตัวเอง กลายเป็นคนอวดตัว. ยาโกโบเขียนเกี่ยวกับคนเหล่านี้ว่า “ท่านทั้งหลายภูมิใจในการอวดอ้างของตน.” แล้วกล่าวเพิ่มเติมว่า “ความภูมิใจอย่างนี้เป็นความชั่วทั้งนั้น.” (ยาโกโบ 4:16) การโอ้อวดเกี่ยวกับสิ่งที่เราได้ทำหรือเกี่ยวกับสิทธิพิเศษในการรับใช้พระยะโฮวาเป็นการทำลายตัวเอง. (สุภาษิต 14:16) เราจำได้ถึงสิ่งที่เกิดขึ้นกับอัครสาวกเปโตร ซึ่งในชั่วขณะที่มีความมั่นใจในตัวเองนั้น ได้โอ้อวดว่า “แม้คนทั้งปวงจะสะดุดกะดากใจเพราะพระองค์, ข้าพเจ้าจะสะดุดกะดากใจหามิได้เลย . . . ถึงแม้ข้าพเจ้าจะต้องตายกับพระองค์, ข้าพเจ้าก็จะไม่ปฏิเสธพระองค์เลย.” ที่จริง เราไม่มีอะไรที่จะอวดได้เกี่ยวกับตัวเอง. ทุกสิ่งที่เรามีก็เนื่องมาจากพระกรุณาของพระยะโฮวา. การระลึกถึงข้อเท็จจริงนี้จะป้องกันเราไม่ให้อวดตัว.—มัดธาย 26:33-35, 69-75.
18. พระยะโฮวามีความรู้สึกอย่างไรต่อความหยิ่งทะนง?
18 พระคัมภีร์กล่าวว่า “ความเย่อหยิ่งนำไปถึงความพินาศ, และจิตต์ใจที่จองหองนำไปถึงการล้มลง.” เพราะเหตุใด? พระยะโฮวาให้คำตอบว่า “ความเย่อหยิ่ง ความยโส . . . เราเกลียดนัก.” (สุภาษิต 8:13; 16:18) ไม่น่าประหลาดใจเลยที่พระยะโฮวาพิโรธต่อ ‘ความอวดตัวเย่อหยิ่งจองหอง, และความทะนงองอาจของกษัตริย์ประเทศอะซูระ’! (ยะซายา 10:12) พระยะโฮวาทรงลงโทษเขาเพราะความหยิ่งทะนง. ในอีกไม่ช้า โลกทั้งสิ้นของซาตานพร้อมกับบรรดาผู้นำที่ทะนงตนว่าตัวสำคัญในโลกของมัน ไม่ว่าที่ปรากฏแก่ตาหรือที่ไม่ปรากฏแก่ตา จะถูกลงโทษเนื่องด้วยความหยิ่งทะนงเช่นกัน. ขออย่าให้เราสะท้อนน้ำใจถือดีอย่างบรรดาผู้ที่ขัดขืนพระยะโฮวา!
19. ในเรื่องใดที่ประชาชนของพระเจ้าภูมิใจและก็ยังถ่อมใจ?
19 คริสเตียนแท้มีเหตุผลทุกประการที่จะภูมิใจที่ตนเป็นผู้รับใช้ของพระยะโฮวา. (ยิระมะยา 9:24) ขณะเดียวกัน เรามีเหตุผลทุกประการที่จะรักษาความถ่อมใจไว้. เพราะเหตุใด? เนื่องจากว่า “คนทั้งปวงได้ทำบาปและขาดไปจากสง่าราศีของพระเจ้า.” (โรม 3:23, ล.ม.) ดังนั้น เพื่อจะปกป้องรักษาฐานะของเราที่เป็นผู้รับใช้ของพระยะโฮวาไว้ เราต้องมีทัศนะเช่นเดียวกับอัครสาวกเปาโล ผู้กล่าวว่า “พระเยซูคริสต์ได้เสด็จเข้ามาในโลกเพื่อจะได้ทรงช่วยคนบาปให้รอด, และในพวกคนบาปนั้น ข้าพเจ้าเป็นตัวเอ้.”—1 ติโมเธียว 1:15.
20. พระยะโฮวาปกป้องประชาชนของพระองค์อย่างไรในปัจจุบัน และพระองค์จะปกป้องพวกเขาอย่างไรในอนาคต?
20 เนื่องจากประชาชนของพระยะโฮวายินดีจัดเรื่องของตัวเองอยู่ในอันดับรอง เพื่อให้ความสนใจเรื่องของการนมัสการอยู่ในอันดับแรก เราจึงมั่นใจได้ว่าพระยะโฮวาจะปกป้องรักษาสัมพันธภาพอันดีที่พวกเขามีกับพระองค์. เรามั่นใจได้ด้วยว่าเมื่อเกิดความทุกข์ลำบากครั้งใหญ่ พระยะโฮวาจะปกป้องประชาชนของพระองค์ ไม่ใช่เพียงรักษาสัมพันธภาพที่มีกับพระองค์เท่านั้น แต่จะปกป้องทางด้านร่างกายด้วย. เมื่อเข้าไปในโลกใหม่ของพระเจ้า พวกเขาจะสามารถเปล่งเสียงร้องว่า “นี่แหละคือพระเจ้าของเรา; เราได้คอยท่าพระองค์, และพระองค์จะทรงช่วยเราให้รอด: นี่คือพระยะโฮวา; เราได้คอยท่าพระองค์, เราจะมีความยินดีและชื่นชมในความรอดของพระองค์.”—ยะซายา 25:9.
คุณจำได้ไหม?
• กษัตริย์ดาวิดและพระเยซูคริสต์ได้รับการปกป้องอย่างไร?
• ประชาชนของพระยะโฮวาได้รับการปกป้องอย่างไรในทุกวันนี้?
• ทำไมเราควรหลีกเลี่ยงการคิดถึงตัวเองมากเกินไป?
• ทำไมเราสามารถภูมิใจแต่ก็ถ่อมใจได้?
[ภาพหน้า 9]
พระยะโฮวาทรงปกป้องดาวิดและพระเยซูอย่างไร?
[ภาพหน้า 11]
ในทุกวันนี้ พระเจ้าช่วยปกป้องประชาชนของพระองค์ให้รักษาฐานะอันดีที่มีกับพระองค์โดยทางใดบ้าง?
[ภาพหน้า 12]
แม้ว่าเราภูมิใจที่ได้รับใช้พระยะโฮวา เราต้องรักษาความถ่อมใจไว้เสมอ