จงวางใจพระยะโฮวาอย่างเต็มที่ในยามยากลำบาก
“พระเจ้าเป็นที่พึ่งและเป็นกำลังของเรา เป็นผู้ช่วยเหลือที่จะเข้าหาได้เสมอในยามยากลำบาก.”—บทเพลงสรรเสริญ 46:1, ล.ม.
1, 2. (ก) ตัวอย่างอะไรที่แสดงว่าการอ้างว่าวางใจพระเจ้าอย่างเดียวไม่พอ? (ข) ทำไมเราต้องทำไม่เพียงแต่พูดว่าเราวางใจพระยะโฮวา?
การบอกว่าเราวางใจพระเจ้านั้นเป็นเรื่องหนึ่ง แต่การที่เราแสดงความวางใจด้วยการกระทำก็เป็นอีกเรื่องหนึ่ง. ตัวอย่างเช่น คำกล่าวที่ว่า “เราวางใจพระเจ้า” ปรากฏบนเหรียญและธนบัตรของเงินตราสหรัฐมานานแล้ว.a ในปี 1956 สภาคองเกรสของสหรัฐลงมติให้ความเห็นชอบต่อกฎหมายที่ประกาศให้ถ้อยคำนั้นเป็นคำขวัญประจำชาติของสหรัฐ. ที่น่าขันก็คือ ผู้คนมากมาย ไม่เฉพาะในสหรัฐ แต่ตลอดทั่วโลก กลับวางใจเงินและทรัพย์สมบัติมากกว่าที่พวกเขาวางใจพระเจ้ามากนัก.—ลูกา 12:16-21.
2 ฐานะคริสเตียนแท้ เราต้องทำไม่เพียงแต่พูดว่าเราวางใจพระยะโฮวา. ‘ความเชื่อที่ปราศจากการกระทำตายแล้ว’ ฉันใด คำอ้างใด ๆ ที่ว่าเราวางใจพระเจ้าก็ไร้ความหมายฉันนั้น หากเราไม่สนับสนุนคำกล่าวอ้างของเราด้วยการกระทำ. (ยาโกโบ 2:26, ล.ม.) ในบทความก่อน เราเรียนรู้ว่าเราแสดงความวางใจพระยะโฮวาด้วยการหันเข้าหาพระองค์โดยการอธิษฐาน, ค้นหาคำแนะนำจากพระคำของพระองค์, และหมายพึ่งองค์การของพระองค์เพื่อรับการชี้นำ. ตอนนี้ให้เรามาพิจารณาว่าจะทำสามสิ่งนี้อย่างไรในยามยากลำบาก.
เมื่อตกงานหรือรายได้ไม่เพียงพอ
3. ผู้รับใช้ของพระยะโฮวาเผชิญปัญหาทางเศรษฐกิจอะไรใน “วิกฤตกาล” นี้ และเราทราบได้อย่างไรว่าพระเจ้าเต็มพระทัยจะช่วยเรา?
3 ใน “วิกฤตกาล” นี้ พวกเราที่เป็นคริสเตียนเผชิญปัญหาเศรษฐกิจเช่นเดียวกับที่คนอื่น ๆ ประสบ. (2 ติโมเธียว 3:1, ล.ม.) ด้วยเหตุนั้น เราอาจถูกปลดออกจากงานอย่างกะทันหัน. หรือเราอาจแทบไม่มีทางเลือกอะไรนอกจากทำงานหลายชั่วโมงเพื่อแลกกับค่าจ้างเพียงเล็กน้อย. ในสภาพเช่นนี้ เราอาจพบว่ายากที่จะ ‘เลี้ยงดูคนเหล่านั้นซึ่งเป็นของเราเอง.’ (1 ติโมเธียว 5:8, ล.ม.) พระเจ้าองค์สูงสุดเต็มพระทัยจะช่วยเราในยามทุกข์ร้อนแบบนี้ไหม? แน่นอนที่สุด! แต่แน่ล่ะ พระยะโฮวาไม่ได้ปกป้องเราจากความทุกข์ยากทุกอย่างของชีวิตในระบบปัจจุบัน. แต่ถ้าเราวางใจพระองค์ ถ้อยคำในบทเพลงสรรเสริญ 46:1 (ล.ม.) ที่ว่า “พระเจ้าเป็นที่พึ่งและเป็นกำลังของเรา เป็นผู้ช่วยเหลือที่จะเข้าหาได้เสมอในยามยากลำบาก” จะเป็นจริงในกรณีของเรา. แต่เราจะแสดงโดยวิธีใดว่าเราวางใจพระยะโฮวาอย่างเต็มที่เมื่อประสบปัญหาทางการเงิน.
4. เมื่อประสบปัญหาทางการเงิน เราสามารถทูลอธิษฐานขออะไร และพระยะโฮวาจะตอบสนองอย่างไรต่อคำอธิษฐานเช่นนั้น?
4 วิธีหนึ่งที่จะแสดงความวางใจพระยะโฮวาคือการหันเข้าหาพระองค์โดยการอธิษฐาน. แต่เราจะอธิษฐานขออะไร? ขณะที่ประสบปัญหาทางการเงิน เราอาจจำเป็นต้องมีสติปัญญาที่จะใช้การได้จริงยิ่งกว่าที่เคยเป็นมา. ถ้าอย่างนั้น ก็อย่าลังเลเลยที่จะอธิษฐานในเรื่องนั้น! พระคำของพระยะโฮวารับรองแก่เราว่า “ถ้าผู้ใดในพวกท่านขาดสติปัญญา ก็ให้ผู้นั้นทูลขอพระเจ้าต่อ ๆ ไป เพราะพระองค์ทรงประทานแก่ทุกคนด้วยพระทัยเอื้ออารีและโดยมิได้ทรงติว่า แล้วจะทรงประทานให้แก่ผู้นั้น.” (ยาโกโบ 1:5, ล.ม.) ถูกแล้ว จงทูลขอพระยะโฮวาประทานสติปัญญา อันได้แก่ความสามารถในการนำเอาความรู้, ความเข้าใจ, และการสังเกตเข้าใจมาใช้ให้เกิดประโยชน์ เพื่อจะสามารถตัดสินใจอย่างฉลาดสุขุมและทำการเลือกอย่างถูกต้อง. พระบิดาของเราผู้สถิตในสวรรค์ผู้ทรงเปี่ยมด้วยความรักรับรองกับเราว่าพระองค์จะสดับคำอธิษฐานเช่นนั้น. พระองค์เต็มพระทัยเสมอที่จะชี้ทางเดินของผู้ที่วางใจพระองค์อย่างสุดใจให้แจ่มแจ้ง.—บทเพลงสรรเสริญ 65:2; สุภาษิต 3:5, 6.
5, 6. (ก) เหตุใดเราสามารถหมายพึ่งพระคำของพระเจ้าเพื่อช่วยเรารับมือกับปัญหาเศรษฐกิจ? (ข) เราอาจทำอะไรได้เพื่อลดความวิตกกังวลขณะที่ตกงาน?
5 การหมายพึ่งพระคำของพระเจ้าเพื่อการชี้นำเป็นอีกวิธีหนึ่งที่แสดงว่าเราวางใจพระยะโฮวา. ข้อเตือนใจอันสุขุมของพระองค์ที่พบในคัมภีร์ไบเบิลปรากฏว่า “น่าไว้วางใจอย่างยิ่ง.” (บทเพลงสรรเสริญ 93:5, ล.ม.) แม้เขียนเสร็จสมบูรณ์มาแล้วกว่า 1900 ปี แต่หนังสือที่มีขึ้นโดยการดลใจเล่มนี้บรรจุคำแนะนำที่วางใจได้และสติปัญญาที่เฉียบแหลม ซึ่งสามารถช่วยเราให้รับมือกับปัญหาเศรษฐกิจได้ดีขึ้น. ขอให้พิจารณาสติปัญญาจากคัมภีร์ไบเบิลบางตัวอย่าง.
6 นานมาแล้วที่กษัตริย์ซะโลโมผู้ชาญฉลาดสังเกตว่า “การหลับของกรรมกรก็ผาสุก, จะแปลกประหลาดอะไรที่เขากินน้อยหรือกินมาก; แต่ความอิ่มท้องของคนมั่งมีก็ไม่ช่วยให้เขาหลับ.” (ท่านผู้ประกาศ 5:12) การซ่อมแซม, การทำความสะอาด, การบำรุงรักษา, และการปกป้องทรัพย์สิ่งของของเราต้องใช้เวลาและเงินทอง. ดังนั้น ขณะที่ตกงาน เราอาจใช้โอกาสนี้ตรวจสอบรูปแบบชีวิตของเราใหม่ โดยพยายามแยกให้ออกว่าอะไรเป็นสิ่งที่จำเป็นจริง ๆ และอะไรเป็นเพียงสิ่งที่เราต้องการ. และเพื่อลดความวิตกกังวล อาจเป็นการสุขุมที่จะทำการปรับเปลี่ยนบางอย่าง. ตัวอย่างเช่น เป็นไปได้ไหมที่จะปรับเปลี่ยนชีวิตให้เรียบง่ายขึ้น บางทีโดยการย้ายไปอยู่บ้านหลังที่เล็กกว่า หรือขจัดสิ่งของที่ไม่จำเป็นบางอย่าง?—มัดธาย 6:22.
7, 8. (ก) พระเยซูแสดงอย่างไรว่าพระองค์รู้ว่ามนุษย์ไม่สมบูรณ์มีแนวโน้มที่จะกังวลมากเกินไปเกี่ยวกับสิ่งฝ่ายวัตถุ? (ดูเชิงอรรถด้วย.) (ข) พระเยซูให้คำแนะนำอะไรที่สุขุมเกี่ยวกับวิธีที่จะไม่กังวลจนเกินไป?
7 ในคำเทศน์บนภูเขา พระเยซูแนะนำดังนี้: “จงเลิกกระวนกระวายกับชีวิตว่าจะกินอะไรหรือจะดื่มอะไร หรือกระวนกระวายกับร่างกายว่าจะสวมอะไร.”b (มัดธาย 6:25, ล.ม.) พระเยซูรู้ว่ามนุษย์ไม่สมบูรณ์มีแนวโน้มที่จะกังวลเรื่องการมีสิ่งจำเป็นพื้นฐานสำหรับชีวิต. แต่เราจะ “เลิกกระวนกระวาย” ในเรื่องดังกล่าวได้อย่างไร? พระเยซูตรัสว่า “จงแสวงหาราชอาณาจักร . . . ก่อนเสมอไป.” ไม่ว่าเราประสบปัญหาอะไร เราต้องให้การนมัสการพระยะโฮวาอยู่ในอันดับแรกของชีวิตเสมอ. ถ้าเราทำอย่างนั้น พระบิดาของเราผู้สถิตในสวรรค์ “จะเพิ่มเติม” สิ่งจำเป็นทุกอย่างในชีวิตประจำวันให้เรา. โดยวิธีใดวิธีหนึ่ง พระองค์จะจัดเตรียมให้เรามีสิ่งที่จำเป็น.—มัดธาย 6:33, ล.ม.
8 พระเยซูให้คำแนะนำต่อไปอีกว่า “อย่ากระวนกระวายถึงพรุ่งนี้. เพราะว่าพรุ่งนี้คงมีการกระวนกระวายสำหรับพรุ่งนี้เอง.” (มัดธาย 6:34) ไม่เป็นการฉลาดที่จะกังวลมากเกินไปเกี่ยวกับสิ่งที่อาจเกิดขึ้นในวันพรุ่งนี้. ผู้คงแก่เรียนคนหนึ่งให้ความเห็นว่า “มีน้อยครั้งมากที่สิ่งที่เกิดขึ้นจริงในอนาคตจะเลวร้ายอย่างที่เราวิตกกลัว.” การเชื่อฟังคำแนะนำจากคัมภีร์ไบเบิลข้อนี้ด้วยความถ่อมจะช่วยให้เราจดจ่ออยู่กับสิ่งที่สำคัญที่สุด และการดำเนินชีวิตเป็นวัน ๆ ไปจะช่วยเราไม่ให้กังวลจนเกินไป.—1 เปโตร 5:6, 7.
9. เมื่อประสบปัญหาเนื่องจากขาดรายได้ เราอาจพบคำแนะนำอะไรในสรรพหนังสือที่ “ทาสสัตย์ซื่อและสุขุม” จัดทำขึ้น?
9 เมื่อประสบปัญหาเนื่องจากขาดรายได้ เรายังแสดงความวางใจพระยะโฮวาได้ด้วยการที่เราหมายพึ่งสรรพหนังสือที่ “ทาสสัตย์ซื่อและสุขุม” จัดทำขึ้นเพื่อจะได้คำแนะนำ. (มัดธาย 24:45, ล.ม.) บางครั้งบางคราว วารสารตื่นเถิด !ลงบทความที่ให้คำแนะนำที่เป็นประโยชน์เกี่ยวกับวิธีรับมือกับปัญหาเศรษฐกิจ. บทความ “การตกงาน—อะไรคือทางแก้?” ในฉบับ 8 สิงหาคม 1991 ให้แนวทางที่ใช้ได้จริงแปดประการที่ได้ช่วยหลายคนให้รักษาเสถียรภาพทางการเงินและทางอารมณ์ระหว่างตกงาน.c แน่ล่ะ แนวทางดังกล่าวต้องได้สมดุลกับทัศนะที่ถูกต้องในเรื่องความสำคัญของเงินตามความเป็นจริง. มีการพิจารณาเรื่องนี้ในบทความ “สิ่งที่สำคัญยิ่งกว่าเงิน” ซึ่งพิมพ์ลงในฉบับเดียวกัน.—ท่านผู้ประกาศ 7:12.
เมื่อประสบความยากลำบากเนื่องจากปัญหาสุขภาพ
10. ตัวอย่างของกษัตริย์ดาวิดแสดงอย่างไรว่าการวางใจพระยะโฮวาขณะที่เจ็บป่วยร้ายแรงเป็นเรื่องที่ตรงกับความเป็นจริง?
10 การวางใจพระยะโฮวาขณะที่เจ็บป่วยร้ายแรงเป็นเรื่องที่ตรงกับความเป็นจริงไหม? แน่นอนที่สุด! พระยะโฮวาเห็นอกเห็นใจผู้ป่วยท่ามกลางประชาชนของพระองค์. นอกจากนี้ พระองค์ยังเต็มพระทัยช่วยเหลือด้วย. ขอให้พิจารณากรณีของกษัตริย์ดาวิดเป็นตัวอย่าง. ท่านอาจป่วยหนักขณะที่เขียนเกี่ยวกับวิธีที่พระเจ้าปฏิบัติต่อผู้ป่วยที่ซื่อตรง. ท่านกล่าวว่า “เมื่อเป็นไข้นอนอยู่บนเตียงพระยะโฮวาจะทรงอุปถัมภ์เขาไว้: เมื่อเขาป่วยอยู่นั้นพระองค์จะทรงจัดเตียงนอนของเขา.” (บทเพลงสรรเสริญ 41:1, 3, 7, 8) ดาวิดยังคงวางใจพระเจ้าอย่างมั่นคง และกษัตริย์ผู้นี้หายป่วยในที่สุด. แต่เราจะวางใจพระเจ้าได้อย่างไรขณะที่ประสบความทุกข์เนื่องจากปัญหาสุขภาพ?
11. ขณะที่เจ็บป่วย เราอาจอธิษฐานขออะไรจากพระบิดาของเราผู้สถิตในสวรรค์?
11 ขณะที่เจ็บป่วย วิธีหนึ่งที่แสดงว่าเราวางใจพระยะโฮวาคือการอธิษฐานขอพระองค์ช่วยเราให้มีความอดทน. เราอาจขอพระองค์ช่วยเราให้ใช้ “สติปัญญาที่ใช้ได้จริง” เพื่อจะสามารถเสาะหาการดูแลรักษาตามที่สภาพการณ์ของเราเอื้ออำนวยให้. (สุภาษิต 3:21, ล.ม.) นอกจากนั้น เราอาจขอพระองค์ให้ช่วยเราสำแดงความอดทนเพื่อจะรับมือกับความเจ็บป่วย. ยิ่งกว่าสิ่งใด เราคงอยากขอให้พระยะโฮวาค้ำจุนเรา โดยประทานกำลังแก่เราเพื่อจะรักษาความซื่อสัตย์ต่อพระองค์ไว้ได้และไม่สูญเสียความสมดุล ไม่ว่าจะเกิดอะไรขึ้นก็ตาม. (ฟิลิปปอย 4:13) การรักษาความซื่อสัตย์มั่นคงต่อพระเจ้าสำคัญยิ่งกว่าการรักษาชีวิตของเราในปัจจุบัน. ถ้าเรารักษาความซื่อสัตย์มั่นคง พระผู้ประทานบำเหน็จองค์ยิ่งใหญ่จะประทานชีวิตและสุขภาพที่สมบูรณ์ชั่วนิรันดร์ให้แก่เรา.—เฮ็บราย 11:6.
12. หลักการอะไรบ้างจากพระคัมภีร์จะช่วยเราให้ตัดสินใจอย่างรอบคอบในเรื่องวิธีการรักษา?
12 ความวางใจของเราในพระยะโฮวายังกระตุ้นเราให้หมายพึ่งคัมภีร์ไบเบิล พระคำของพระองค์ เพื่อรับการชี้นำในภาคปฏิบัติ. หลักการต่าง ๆ ที่พบในพระคัมภีร์อาจช่วยเราตัดสินใจอย่างรอบคอบในเรื่องวิธีการรักษา. ตัวอย่างเช่น เรารู้ว่าคัมภีร์ไบเบิลตำหนิ “การถือวิทยาคม” เราจึงหลีกเลี่ยงกรรมวิธีวินิจฉัยโรคหรือการบำบัดรักษาใด ๆ ที่เกี่ยวข้องกับลัทธิภูตผีปิศาจ. (ฆะลาเตีย 5:19-21, ฉบับแปลใหม่; พระบัญญัติ 18:10-12) อีกตัวอย่างหนึ่งของสติปัญญาที่วางใจได้ของคัมภีร์ไบเบิลก็คือ “คนใดที่ขาดประสบการณ์เชื่อคำพูดทุกคำ แต่คนฉลาดพิจารณาก้าวเท้าของตน.” (สุภาษิต 14:15, ล.ม.) ดังนั้น ขณะที่พิจารณาเรื่องวิธีการรักษา นับว่าสุขุมที่จะหาข้อมูลจากแหล่งที่เชื่อถือได้ แทนที่จะ “เชื่อคำพูดทุกคำ.” การมี “สติสัมปชัญญะ” เช่นนั้นจะช่วยเราชั่งดูทางเลือกในการรักษาอย่างรอบคอบ และทำการตัดสินใจหลังจากได้ทราบข้อมูลเพียงพอแล้ว.—ติโต 2:12.
13, 14. (ก) มีบทความอะไรที่ให้ความรู้เกี่ยวกับสุขภาพซึ่งเคยตีพิมพ์ลงในวารสารหอสังเกตการณ์ และตื่นเถิด! ? (ดูกรอบหน้า 17.) (ข) วารสารตื่นเถิด! ฉบับ 8 กุมภาพันธ์ 2001 ให้คำแนะนำอะไรเกี่ยวกับวิธีรับมือกับความเจ็บป่วยเรื้อรัง?
13 นอกจากนี้ เราจะแสดงความวางใจพระยะโฮวาได้ด้วยการค้นคว้าสรรพหนังสือที่ทาสสัตย์ซื่อจัดทำขึ้น. บางครั้งบางคราว วารสารหอสังเกตการณ์ และตื่นเถิด! ตีพิมพ์บทความที่ให้ความรู้หลากหลายในเรื่องปัญหาสุขภาพและโรคบางชนิด.d บางโอกาส วารสารเหล่านี้เสนอเรื่องของคนที่รับมืออย่างประสบความสำเร็จกับความเจ็บป่วยและความทุพพลภาพประเภทต่าง ๆ. นอกจากนั้น บางบทความให้ข้อเสนอแนะตามหลักพระคัมภีร์และคำแนะนำที่ใช้ได้จริงเกี่ยวกับวิธีรับมือกับปัญหาสุขภาพเรื้อรัง.
14 ตัวอย่างเช่น ตื่นเถิด! ฉบับ 8 กุมภาพันธ์ 2001 ตีพิมพ์บทความชุดที่มีชื่อเรื่องหน้าปกว่า “กำลังใจสำหรับผู้ป่วย.” บทความชุดดังกล่าวเสนอหลักการที่เป็นประโยชน์จากคัมภีร์ไบเบิล และให้ข้อมูลที่ได้มาจากการสัมภาษณ์ผู้ป่วยที่มีประสบการณ์ในการรับมือกับความเจ็บป่วยที่ทำให้ทุพพลภาพมาเป็นเวลาหลายปี. บทความ “การอยู่กับความเจ็บป่วยของคุณอย่างประสบความสำเร็จ—โดยวิธีใด?” ให้คำแนะนำดังต่อไปนี้: จงเรียนรู้เกี่ยวกับความเจ็บป่วยของคุณมากที่สุดเท่าที่จะทำได้. (สุภาษิต 24:5, ล.ม.) จงตั้งเป้าต่าง ๆ ที่สามารถทำได้จริง รวมทั้งเป้าในการช่วยคนอื่น ๆ แต่ก็ตระหนักว่าคุณอาจจะไม่สามารถบรรลุเป้าได้เท่ากับที่คนอื่นทำได้. (กิจการ 20:35; ฆะลาเตีย 6:4) อย่าแยกตัวจากคนอื่น. (สุภาษิต 18:1) เมื่อคนอื่นมาเยี่ยมคุณ จงทำให้การเยี่ยมนั้นเป็นประสบการณ์ที่น่ายินดีสำหรับพวกเขา. (สุภาษิต 17:22) ที่สำคัญที่สุด จงรักษาสายสัมพันธ์ที่ใกล้ชิดกับพระยะโฮวาและประชาคม. (นาฮูม 1:7; โรม 1:11, 12) เรารู้สึกขอบคุณมิใช่หรือที่พระยะโฮวาทรงจัดเตรียมคำแนะนำที่วางใจได้เช่นนี้ให้เราผ่านทางองค์การของพระองค์?
เมื่อยังต้องต่อสู้กับความอ่อนแอของเนื้อหนัง
15. อัครสาวกเปาโลเอาชนะการต่อสู้กับข้ออ่อนแอของเนื้อหนังที่ไม่สมบูรณ์ได้อย่างไร และเรามั่นใจได้ในเรื่องอะไร?
15 อัครสาวกเปาโลเขียนว่า “ในเนื้อหนังของข้าพเจ้า ไม่มีความดีประการใดเลย.” (โรม 7:18) เปาโลทราบด้วยประสบการณ์ของตัวเองว่า การต่อสู้กับความปรารถนาและความอ่อนแอของเนื้อหนังที่ไม่สมบูรณ์นั้นยากเพียงไร. ถึงกระนั้น ท่านก็มั่นใจด้วยว่าสามารถเอาชนะได้. (1 โกรินโธ 9:26, 27) โดยวิธีใด? โดยที่วางใจพระยะโฮวาอย่างเต็มที่. นั่นเป็นเหตุที่เปาโลกล่าวได้ว่า “โอข้าพเจ้าเป็นคนเข็ญใจจริง! ใครหนอจะช่วยข้าพเจ้าให้พ้นจากกายแห่งความตายนี้? ข้าพเจ้าขอบพระคุณของพระเจ้าโดยพระเยซูคริสต์องค์พระผู้เป็นเจ้าของเรา.” (โรม 7:24, 25) แล้วเราล่ะ? เราก็ต่อสู้กับข้ออ่อนแอของเนื้อหนังเช่นกัน. ขณะที่เราพยายามจัดการกับข้ออ่อนแอดังกล่าว ง่ายที่เราจะสูญเสียความเชื่อมั่น คิดว่าตัวเองไม่มีทางจะทำได้สำเร็จ. แต่พระยะโฮวาจะทรงช่วยเราอย่างแน่นอน ถ้าเราเป็นอย่างเปาโล คือวางใจพระองค์อย่างแท้จริง และไม่หมายพึ่งแต่กำลังของตัวเอง.
16. เมื่อความอ่อนแอของเนื้อหนังบางอย่างยังคงมีอยู่ เราจำเป็นต้องทูลอธิษฐานขออะไร และเราควรทำเช่นไรถ้าอุปนิสัยที่เคยเอาชนะได้นั้นหวนกลับมาอีก?
16 เมื่อความอ่อนแอของเนื้อหนังบางอย่างยังคงมีอยู่ เราสามารถแสดงความวางใจพระยะโฮวาได้โดยการวิงวอนต่อพระองค์ในคำอธิษฐาน. เราจำเป็นต้องขอหรือกระทั่งวิงวอนต่อพระยะโฮวาเพื่อจะได้ความช่วยเหลือจากพระวิญญาณบริสุทธิ์ของพระองค์. (ลูกา 11:9-13) เราอาจขอให้มีการรู้จักบังคับตนเป็นพิเศษ ซึ่งเป็นผลอย่างหนึ่งแห่งพระวิญญาณของพระเจ้า. (ฆะลาเตีย 5:22, 23) เราควรทำอย่างไรถ้าอุปนิสัยที่เราเคยเอาชนะได้นั้นหวนกลับมาอีก? แน่นอนเราต้องไม่เลิกล้มความพยายาม. อย่าเหนื่อยหน่ายที่จะอธิษฐานด้วยความถ่อมใจถึงพระเจ้าผู้ทรงเมตตาของเรา เพื่อขอการอภัยและความช่วยเหลือจากพระองค์. พระองค์จะไม่เมินหรือปฏิเสธหัวใจที่ “แตกและฟกช้ำ” เนื่องจากถูกโถมทับด้วยความรู้สึกผิด. (บทเพลงสรรเสริญ 51:17) ถ้าเราวิงวอนขอต่อพระองค์ด้วยความเสียใจอย่างที่ออกมาใจจริง พระยะโฮวาย่อมจะช่วยเราต้านทานการล่อใจ.—ฟิลิปปอย 4:6, 7.
17. (ก) เหตุใดจึงเป็นประโยชน์ที่จะไตร่ตรองว่าพระยะโฮวารู้สึกเช่นไรเกี่ยวกับข้ออ่อนแอที่เราอาจต่อสู้อยู่? (ข) ข้อคัมภีร์อะไรที่เราอาจท่องจำถ้าเรากำลังต่อสู้เพื่อควบคุมอารมณ์ที่โกรธง่าย? ระวังการใช้ลิ้น? ต้านทานแนวโน้มที่จะติดตามความบันเทิงที่เสื่อมทราม?
17 นอกจากนี้ เรายังแสดงว่าเราวางใจพระยะโฮวาด้วยการศึกษาค้นคว้าพระคำของพระองค์เพื่อได้ความช่วยเหลือ. โดยการใช้ศัพท์สัมพันธ์คัมภีร์ไบเบิลหรือดัชนีหัวเรื่องในวารสารหอสังเกตการณ์ และตื่นเถิด! ฉบับสุดท้ายของแต่ละปี เราสามารถหาคำตอบสำหรับคำถามที่ว่า ‘พระยะโฮวาทรงรู้สึกเช่นไรเกี่ยวกับข้ออ่อนแอที่ฉันพยายามต่อสู้อยู่?’ การไตร่ตรองว่าพระยะโฮวารู้สึกเช่นไรต่อเรื่องนั้นจะช่วยเสริมความปรารถนาของเราให้แรงกล้ายิ่งขึ้นในการทำให้พระองค์พอพระทัย. โดยวิธีนี้ เราอาจเริ่มรู้สึกอย่างเดียวกันกับพระองค์ คือเกลียดสิ่งที่พระองค์ทรงเกลียด. (บทเพลงสรรเสริญ 97:10) บางคนพบว่าการจดจำข้อพระคัมภีร์ที่เกี่ยวข้องกับข้ออ่อนแอบางอย่างที่กำลังต่อสู้อยู่นั้นจะช่วยได้. เรากำลังพยายามควบคุมอารมณ์ไม่ให้โกรธง่ายไหม? ถ้าอย่างนั้น เราอาจท่องจำข้อคัมภีร์อย่างสุภาษิต 14:17 และเอเฟโซ 4:31. เรารู้สึกว่ายากที่จะระวังการใช้ลิ้นไหม? เราอาจท่องจำข้อคัมภีร์อย่างเช่นสุภาษิต 12:18 และเอเฟโซ 4:29. เรามีแนวโน้มจะติดตามความบันเทิงที่เสื่อมทรามไหม? เราอาจพยายามจำข้อคัมภีร์เช่นที่เอเฟโซ 5:3 และโกโลซาย 3:5.
18. ทำไมเราไม่ควรอายที่จะขอความช่วยเหลือจากผู้ปกครองเพื่อเอาชนะข้ออ่อนแอ?
18 การแสวงหาความช่วยเหลือจากผู้ปกครองในประชาคมซึ่งได้รับการแต่งตั้งโดยพระวิญญาณเป็นอีกวิธีหนึ่งที่แสดงว่าเราวางใจพระยะโฮวา. (กิจการ 20:28) ถ้าจะว่าไปแล้ว พระยะโฮวาจัดเตรียม “ของประทานในลักษณะมนุษย์” เหล่านี้โดยทางพระคริสต์ก็เพื่อปกป้องดูแลฝูงแกะของพระองค์. (เอเฟโซ 4:7, 8, 11-14, ล.ม.) จริงอยู่ อาจไม่ง่ายที่เราจะขอความช่วยเหลือเพื่อจัดการกับข้ออ่อนแอ. เราอาจอาย กลัวว่าผู้ปกครองจะไม่นิยมชมชอบเราเหมือนแต่ก่อน. แต่ไม่เป็นที่สงสัยเลยว่าชายที่อาวุโสฝ่ายวิญญาณเหล่านี้จะนับถือเราที่กล้ามาขอความช่วยเหลือ. ยิ่งไปกว่านั้น พวกผู้ปกครองพยายามสะท้อนคุณลักษณะของพระยะโฮวาในการปฏิบัติกับฝูงแกะ. คำแนะนำและคำสั่งสอนของเขาที่ให้กำลังใจและใช้การได้จริงจากพระคำของพระเจ้าอาจเป็นสิ่งที่เราจำเป็นต้องได้รับพอดี เพื่อจะเสริมความตั้งใจของเราให้มีพอที่จะเอาชนะข้ออ่อนแอ.—ยาโกโบ 5:14-16.
19. (ก) ซาตานมุ่งหมายที่จะใช้ความไร้ประโยชน์ของชีวิตในโลกนี้ในทางใด? (ข) การวางใจเกี่ยวข้องกับอะไร และอะไรควรเป็นความตั้งใจแน่วแน่ของเรา?
19 อย่าลืมว่าซาตานรู้ว่าเวลาของมันมีน้อย. (วิวรณ์ 12:12) มันมุ่งหมายที่จะใช้ความไร้ประโยชน์ของชีวิตในโลกนี้เพื่อทำให้เราท้อใจและเลิกราไป. ขอให้เราเชื่อมั่นอย่างเต็มที่ในถ้อยคำที่กล่าวไว้ในโรม 8:35-39 (ล.ม.) ที่ว่า “ใครเล่าจะพรากเราจากความรักของพระคริสต์? จะเป็นความลำบากหรือความทุกข์หรือการเคี่ยวเข็ญข่มเหงหรือความหิวโหยหรือการเปลือยกายหรือภยันตรายหรือดาบ? . . . ตรงกันข้าม ในเหตุการณ์ทั้งปวงนี้เราจะพ้นออกมาอย่างมีชัยครบถ้วนโดยทางพระองค์ผู้ทรงรักเรา. ด้วยข้าพเจ้าเชื่อมั่นว่า ไม่ว่าความตายหรือชีวิตหรือทูตสวรรค์หรือรัฐบาลหรือสิ่งที่มีอยู่เดี๋ยวนี้หรือสิ่งซึ่งจะเกิดขึ้นหรืออำนาจหรือความสูงหรือความลึกหรือสิ่งทรงสร้างอื่นใด จะไม่สามารถพรากเราจากความรักของพระเจ้าซึ่งอยู่ในพระคริสต์เยซูองค์พระผู้เป็นเจ้าของเรา.” ช่างเป็นถ้อยคำที่แสดงความวางใจพระยะโฮวาอย่างแท้จริง! แต่ความวางใจเช่นที่ว่านี้ไม่ใช่เป็นเพียงเรื่องของความรู้สึก. แทนที่จะเป็นอย่างนั้น ความวางใจเช่นนี้เกี่ยวข้องกับการตัดสินใจเรื่องราวต่าง ๆ ของเราในชีวิตประจำวันอย่างสุขุมรอบคอบ. ฉะนั้น ขอเราตั้งใจแน่วแน่ที่จะวางใจพระยะโฮวาอย่างเต็มที่ในยามยากลำบาก.
[เชิงอรรถ]
a ในจดหมายฉบับหนึ่ง ลงวันที่ 20 พฤศจิกายน 1861 ซึ่ง ซัลมอน พี. เชส รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังเขียนถึงโรงกษาปณ์ของสหรัฐ มีความว่า “ไม่มีชาติใดจะเข้มแข็งได้ถ้าไม่พึ่งกำลังจากพระเจ้า หรือจะปลอดภัยได้ถ้าไม่อาศัยการปกป้องจากพระองค์. การวางใจพระเจ้าของประชาชนของเราน่าจะประกาศไว้บนเหรียญเงินของชาติเรา.” ดังนั้น คำขวัญ “เราวางใจพระเจ้า” จึงปรากฏบนเหรียญเงินสหรัฐที่ใช้ในการแลกเปลี่ยนซื้อขายเป็นครั้งแรกในปี 1864.
b มีการกล่าวว่าความกระวนกระวายที่พูดถึงในที่นี้เป็น “ความวิตกกังวลที่ปล้นความยินดีไปจากชีวิต.” ฉบับแปลบางฉบับกล่าวว่า “อย่ากระวนกระวาย” หรือ “อย่าวิตกกังวล.” แต่การแปลอย่างนั้นหมายความว่าเราต้องไม่เริ่มกระวนกระวายหรือวิตกกังวล. หนังสืออ้างอิงเล่มหนึ่งอธิบายว่า “กาลของกริยาภาษากรีกคำนี้เป็นปัจจุบันกาลอาณัติมาลา ซึ่งแสดงถึงการสั่งให้หยุดการกระทำบางอย่างที่กำลังดำเนินอยู่แล้ว.”
c แปดข้อนั้น คือ (1) อย่าตื่นตระหนก (2) คิดในแง่บวก (3) เปิดใจรับงานชนิดใหม่ (4) ดำเนินชีวิตให้สมกับรายได้ของคุณ—ไม่ใช่ของคนอื่น (5) ระวังการซื้อของด้วยระบบเงินเชื่อหรือด้วยการใช้บัตรเครดิต (6) รักษาความเป็นปึกแผ่นในครอบครัว (7) รักษาความนับถือตนเอง (8) จัดทำงบประมาณ.
d วารสารที่อาศัยคัมภีร์ไบเบิลเป็นหลักเหล่านี้ไม่ได้รับรองหรือสนับสนุนวิธีการรักษาอย่างหนึ่งอย่างใดโดยเฉพาะ เนื่องจากนี่เป็นเรื่องของการตัดสินใจส่วนตัว. แทนที่จะเป็นเช่นนั้น บทความที่พิจารณาเรื่องโรคหรือปัญหาสุขภาพมีวัตถุประสงค์ให้ความรู้แก่ผู้อ่านเกี่ยวกับข้อเท็จจริงของโรคนั้น ๆ เท่าที่ทราบกันในปัจจุบัน.
คุณจำได้ไหม?
• เมื่อประสบปัญหาเศรษฐกิจ เราจะแสดงโดยวิธีใดบ้างว่าเราวางใจพระยะโฮวา?
• เราจะแสดงอย่างไรว่าเราวางใจพระเจ้าเมื่อประสบความยากลำบากเนื่องจากปัญหาสุขภาพ?
• เมื่อความอ่อนแอของเนื้อหนังบางอย่างยังคงมีอยู่ เราจะแสดงอย่างไรว่าเราวางใจพระยะโฮวาอย่างแท้จริง?
[กรอบหน้า 17]
คุณจำบทความเหล่านี้ได้ไหม?
เมื่อเราประสบความยากลำบากเนื่องจากปัญหาสุขภาพ นับว่าเป็นการหนุนใจที่จะอ่านประสบการณ์ของคนอื่น ๆ ที่รับมืออย่างประสบความสำเร็จกับความเจ็บป่วยและความทุพพลภาพ. ต่อไปนี้คือบางบทความที่เคยตีพิมพ์ลงในวารสารหอสังเกตการณ์ และตื่นเถิด!
“การรับมือกับข้อบกพร่องของผม” ซึ่งกล่าวถึงการรับมือกับความคิดในแง่ลบและภาวะซึมเศร้า.—หอสังเกตการณ์ 1 พฤษภาคม 1990.
“แม้ปอดเหล็กก็ไม่อาจยับยั้งเธอจากงานประกาศ”—ตื่นเถิด! 8 กุมภาพันธ์ 1993.
“กระสุนนัดหนึ่งเปลี่ยนชีวิตของดิฉัน” ซึ่งกล่าวถึงการรับมือกับอัมพาต.—ตื่นเถิด! 8 พฤศจิกายน 1995.
“ท่านไม่รู้ว่า ชีวิตของท่านจะเป็นอย่างไรในวันพรุ่งนี้” ซึ่งกล่าวถึงการรับมือกับอาการผิดปกติทางอารมณ์สองอย่างที่ตรงข้ามกัน.—หอสังเกตการณ์ 1 ธันวาคม 2000.
“ลอยดาหลุดพ้นจากความเงียบ” ซึ่งกล่าวถึงการรับมือกับอัมพาตที่สมองใหญ่.—ตื่นเถิด! 8 พฤษภาคม 2000.
“การรับมือกับกลุ่มอาการมาร์แฟน”—ตื่นเถิด! 8 มีนาคม 2001.
“ดิฉันเอาชนะภาวะซึมเศร้าหลังคลอด”—ตื่นเถิด! 8 สิงหาคม 2002.
“ข้อความสั้น ๆ ที่เปลี่ยนชีวิตฉัน” ซึ่งกล่าวถึงการรับมือกับการสูญเสียความสามารถในการได้ยิน.—หอสังเกตการณ์ 1 มกราคม 2003.
[ภาพหน้า 15]
ขณะตกงาน นับว่าฉลาดที่จะตรวจสอบรูปแบบชีวิตของเราใหม่
[ภาพหน้า 16]
เรื่องราวของลอยดาแสดงให้เห็นว่าการวางใจพระยะโฮวาช่วยคนเราอย่างไรให้อดทน. (ดูกรอบหน้า 17)
[ภาพหน้า 18]
เราไม่จำเป็นต้องอายที่จะขอความช่วยเหลือเพื่อเอาชนะข้ออ่อนแอของเรา