ศาสนาคริสเตียนในยุคเริ่มแรกกับรัฐ
ในคืนก่อนจะถึงการวายพระชนม์ของพระองค์ พระเยซูทรงตรัสกับสาวกของพระองค์ว่า “ท่านมิได้อยู่ฝ่ายโลก, แต่เราได้เลือกท่านออกจากโลก, เหตุฉะนั้นโลกจึงชังท่าน” (โยฮัน 15:19) ข้อนี้จะหมายความว่า คริสเตียนอาจรับเอาทัศนะเป็นปฏิปักษ์ต่อผู้มีอำนาจแห่งโลกนี้อย่างนั้นไหม?
ไม่เป็นส่วนของโลกนี้แต่ไม่เป็นปฏิปักษ์
อัครสาวกเปาโลกล่าวกับคริสเตียนที่อยู่ในกรุงโรมว่า “ให้คนทุกคนยอมอยู่ใต้บังคับผู้มีอำนาจ.” (โรม 13:1) ในทำนองคล้ายกัน อัครสาวกเปโตรเขียนดังนี้: “เพื่อเห็นแก่องค์พระผู้เป็นเจ้า ท่านทั้งหลายจงยอมตัวอยู่ใต้สิ่งซึ่งมนุษย์สร้างขึ้นทุกอย่าง: ไม่ว่าจะเป็นกษัตริย์ในฐานะเป็นผู้ที่สูงกว่าก็ดี หรือจะเป็นผู้สำเร็จราชการในฐานะเป็นผู้ที่กษัตริย์ทรงส่งมาก็ดี เพื่อลงโทษผู้ที่กระทำชั่ว แต่ยกย่องผู้ที่กระทำดี.” (1 เปโตร 2:13, 14, ล.ม.) เห็นได้ชัดว่า การยอมอยู่ใต้อำนาจรัฐและตัวแทนที่ได้รับการแต่งตั้งอย่างเหมาะสมเป็นหลักการซึ่งได้รับการยอมรับในท่ามกลางคริสเตียนยุคแรก. พวกเขาบากบั่นที่จะเป็นพลเมืองที่เชื่อฟังกฎหมายและอยู่อย่างสันติกับทุกคน.—โรม 12:18.
ภายใต้หัวข้อ “คริสตจักรและรัฐ” สารานุกรมศาสนา (ภาษาอังกฤษ) ชี้แจงว่า “ในช่วงสามศตวรรษแรกแห่งสากลศักราช ประชาคมคริสเตียนส่วนใหญ่แล้วแยกตัวอยู่ต่างหากจากสังคมของเจ้าหน้าที่โรมัน . . . อย่างไรก็ดี เหล่าผู้นำคริสเตียน . . . สอนให้เชื่อฟังกฎหมายโรมันและภักดีต่อจักรพรรดิภายในขอบเขตที่กำหนดโดยความเชื่อของคริสเตียน.”
เคารพ แต่ไม่นมัสการ
คริสเตียนไม่เป็นปฏิปักษ์ต่อจักรพรรดิโรมัน. พวกเขาแสดงความนับถืออำนาจและให้เกียรติยศตามที่ตำแหน่งจักรพรรดิควรได้รับ. ในระหว่างการปกครองของจักรพรรดิเนโร อัครสาวกเปโตรเขียนถึงคริสเตียนที่อยู่ในส่วนต่าง ๆ ของจักรวรรดิโรมันดังนี้: “จงให้เกียรติยศแก่คนทั้งปวง . . . จงนับถือมหากษัตริย์.” (1 เปโตร 2:17) คำ “มหากษัตริย์” มีการใช้ในที่ต่าง ๆ ซึ่งพูดภาษากรีกไม่เพียงแต่หมายถึงกษัตริย์ในท้องถิ่น แต่หมายถึงจักรพรรดิโรมันด้วย. อัครสาวกเปาโลให้คำแนะนำแก่คริสเตียนที่อยู่ในเมืองหลวงแห่งจักรวรรดิโรมันโดยกล่าวว่า “จงให้แก่ทุกคนตามที่เขาควรได้รับ . . . ผู้ใดเรียกร้องเกียรติยศ จงให้เกียรติยศ.” (โรม 13:7, ล.ม.) แน่นอนที่สุด จักรพรรดิโรมันเรียกร้องเกียรติยศ. ในที่สุด เขาเรียกร้องการนมัสการด้วยซ้ำ. ทว่า ถึงจุดนี้คริสเตียนในยุคแรกได้ขีดเส้นแบ่งแห่งสติรู้สึกผิดชอบของตนว่าจะเข้าส่วนได้ถึงขนาดไหน.
ณ การพิจารณาคดีต่อหน้าผู้สำเร็จราชการโรมันในศตวรรษที่สองแห่งสากลศักราช มีรายงานว่าโพลีคาร์ปประกาศดังนี้: “ข้าพเจ้าเป็นคริสเตียน. . . . เราได้รับการสอนให้เกียรติยศที่สมควรให้ทั้งหมด . . . แก่อำนาจต่าง ๆ และบรรดาเจ้าหน้าที่ซึ่งพระเจ้าทรงแต่งตั้ง.” อย่างไรก็ตาม โพลีคาร์ปเลือกความตายแทนการนมัสการจักรพรรดิ. ในศตวรรษที่สอง เธโอฟิลุสแห่งอันติโอเกีย ผู้สนับสนุนความเชื่อเขียนเอาไว้ว่า “ข้าพเจ้าจะให้เกียรติแก่จักรพรรดิ แต่ไม่ใช่การนมัสการเป็นแน่แท้ กระนั้นก็อธิษฐานเผื่อพระองค์ด้วย. หากแต่เป็นพระเจ้าองค์เที่ยงแท้ผู้ทรงพระชนม์อยู่ที่ข้าพเจ้านมัสการ.”
คำอธิษฐานที่เหมาะสมโดยคำนึงถึงจักรพรรดิไม่เกี่ยวข้องกับการนมัสการจักรพรรดิหรือลัทธิชาตินิยมอย่างแน่นอน. อัครสาวกเปาโลอธิบายจุดประสงค์ดังนี้: “เหตุฉะนั้นก่อนอะไรหมดข้าพเจ้าจึงเตือนสติท่านทั้งหลายให้วิงวอนอธิษฐานทูลขอและขอบพระคุณสำหรับคนทั้งปวง, คือสำหรับกษัตริย์ทั้งหลายและคนทั้งปวงที่มีตำแหน่งสูง, เพื่อเราจะประกอบชีวิตได้อย่างสงบสุขโดยทางธรรม, และโดยการประพฤติซึ่งเป็นสง่าผ่าเผย.”—1 ติโมเธียว 2:1, 2.
“อยู่ ณ ริมขอบของสังคม”
ความประพฤติที่เปี่ยมด้วยความนับถือในส่วนของคริสเตียนในยุคแรกไม่ได้ทำให้พวกเขาได้มิตรภาพจากโลกที่พวกเขาอาศัยอยู่. นักประวัติศาสตร์ชาวฝรั่งเศส อา. อามาง กล่าวถึงคริสเตียนในยุคแรกว่า “อาศัยอยู่ ณ ริมขอบของสังคม.” พวกเขาอยู่ ณ ริมขอบของสองสังคมจริง ๆ คือสังคมยิวและโรมัน เผชิญกับอคติและความเข้าใจผิดมากมายจากทั้งสองด้าน.
ตัวอย่างเช่น เมื่อถูกกล่าวหาอย่างผิด ๆ จากพวกผู้นำชาวยิว อัครสาวกเปาโลกล่าวแก้คดีตนเองต่อหน้าผู้ว่าราชการโรมันดังนี้: “ข้าพเจ้าไม่ได้กระทำสิ่งหนึ่งสิ่งใดผิดกฎหมายของพวกยูดาย, หรือต่อโบสถ์, หรือต่อกายะซา. . . . ข้าพเจ้าขออุทธรณ์ถึงกายะซา.” (กิจการ 25:8, 11) โดยตระหนักว่าพวกยิววางแผนจะฆ่าท่าน เปาโลอุทธรณ์ต่อเนโรซึ่งแสดงถึงการยอมรับอำนาจของจักรพรรดิโรมัน. ต่อมา ณ การพิจารณาคดีครั้งแรกของท่านที่กรุงโรม ดูเหมือนว่าท่านได้รับการปล่อยตัว. แต่ภายหลังท่านถูกจับจำคุกอีกครั้งหนึ่ง และตามที่เล่าสืบต่อกันมาท่านถูกลงโทษประหารชีวิตโดยคำสั่งของจักรพรรดิเนโร.
เกี่ยวกับจุดยืนที่ยุ่งยากลำบากของคริสเตียนยุคแรกในสังคมโรมัน นักสังคมวิทยาและเทววิทยา เอินสต์ เทริลช์ เขียนไว้ว่า “พิธีทางศาสนาและการงานอาชีพทุกอย่างถูกปฏิเสธโดยสิ้นเชิงหากมีส่วนเกี่ยวข้องอย่างหนึ่งอย่างใดกับการนมัสการรูปเคารพ, หรือการนมัสการจักรพรรดิ, หรือสิ่งใด ๆ ที่เข้าส่วนกับการทำให้โลหิตตกหรือการลงโทษถึงตาย, หรือสิ่งซึ่งจะนำคริสเตียนเข้าไปใกล้การผิดศีลธรรมแบบนอกรีต.” จุดยืนเช่นนี้ไม่ทิ้งให้มีช่องว่างเลยอย่างนั้นไหมสำหรับความสัมพันธ์ที่มีสันติและนับถือซึ่งกันและกันระหว่างคริสเตียนกับรัฐ?
จ่ายให้แก่ซีซาร์ “ตามที่ควรได้รับ”
พระเยซูทรงให้กฎข้อหนึ่งไว้ซึ่งชี้นำความประพฤติของคริสเตียนต่อรัฐโรมัน หรือที่จริงแล้ว ต่อรัฐบาลใด ๆ โดยพระองค์ตรัสว่า “ของของซีซาร์จงใช้คืนแก่ซีซาร์ แต่ของของพระเจ้าแด่พระเจ้า.” (มัดธาย 22:21, ล.ม.) คำแนะนำนี้ที่ให้กับผู้ติดตามพระเยซูตรงข้ามเลยทีเดียวกับทัศนะนักนิยมชาติชาวยิวทั้งหลายผู้ซึ่งขัดเคืองต่อการครอบงำของโรมและไม่เห็นด้วยกับการชำระภาษีให้แก่อำนาจต่างชาติ.
เวลาต่อมา เปาโลแนะนำคริสเตียนที่อยู่ในกรุงโรมว่า “เหตุฉะนั้นมีเหตุผลอันเหลือที่จะขัดขืนได้ในเรื่องที่ท่านทั้งหลายจะอยู่ใต้อำนาจ มิใช่เพราะอาชญาอย่างเดียว แต่เพราะเหตุสติรู้สึกผิดชอบของท่านด้วย. เพราะเหตุนั้น ท่านจึงเสียภาษีด้วย; เพราะคนเหล่านั้น [ผู้มีอำนาจสูงกว่า] เป็นผู้รับใช้ของพระเจ้า เพื่อสาธารณประโยชน์ รับใช้เพื่อจุดประสงค์นี้เสมอไป. จงให้แก่ทุกคนตามที่เขาควรได้รับ ผู้ใดเรียกร้องภาษี จงให้ภาษี; ผู้ใดเรียกร้องส่วย จงให้ส่วย.” (โรม 13:5-7, ล.ม.) ขณะที่คริสเตียนไม่เป็นส่วนของโลก พวกเขามีพันธะหน้าที่ฐานะพลเมืองที่ซื่อสัตย์ และเสียภาษีซึ่งเป็นการจ่ายให้กับรัฐสำหรับบริการสาธารณประโยชน์ต่าง ๆ.—โยฮัน 17:16.
แต่คำตรัสของพระเยซูจำกัดอยู่เฉพาะการเสียภาษีเท่านั้นไหม? เนื่องจากพระเยซูไม่ได้ระบุชัดว่าสิ่งที่เป็นของซีซาร์และสิ่งซึ่งเป็นของพระเจ้าได้แก่อะไร จึงมีหลายกรณีที่อยู่ในข่ายที่ต้องตัดสินโดยพิจารณาหลายสิ่งที่เกี่ยวข้องหรืออาศัยความเข้าใจจากคัมภีร์ไบเบิลทั้งเล่ม. กล่าวได้อีกอย่างคือ การตัดสินว่าสิ่งใดที่คริสเตียนสามารถจ่ายให้แก่ซีซาร์ได้นั้นบางครั้งอยู่ในข่ายของสติรู้สึกผิดชอบของคริสเตียนตามที่หลักการในคัมภีร์ไบเบิลให้ความกระจ่าง.
ความสมดุลอย่างรอบคอบระหว่างข้อเรียกร้องจากสองฝ่ายซึ่งขัดกัน
หลายคนมีแนวโน้มจะลืมไปว่าหลังจากตรัสสั่งให้จ่ายคืนให้แก่ซีซาร์สิ่งที่เป็นของซีซาร์ พระเยซูตรัสเพิ่มเติมว่า “แต่ของ ๆ พระเจ้าแด่พระเจ้า.” อัครสาวกเปโตรแสดงให้เห็นว่าอย่างไหนมีความสำคัญเป็นอันดับแรกสำหรับคริสเตียน. ทันทีหลังจากให้คำแนะนำเกี่ยวกับการยอมตัวอยู่ใต้อำนาจ “มหากษัตริย์” หรือจักรพรรดิ และ “เจ้าเมือง” ของเขา เปโตรเขียนว่า “จงเป็นเหมือนคนที่มีเสรีภาพ, แต่ท่านอย่าใช้เสรีภาพนั้นให้เป็นที่ปกปิดความชั่วไว้, แต่จงใช้เหมือนเป็นทาสของพระเจ้า. จงให้เกียรติยศแก่คนทั้งปวง. จงรักพวกพี่น้อง, จงเกรงกลัวพระเจ้า, จงนับถือมหากษัตริย์.” (1 เปโตร 2:16, 17) ท่านอัครสาวกชี้ว่าคริสเตียนเป็นทาสของพระเจ้า ไม่ใช่ของผู้ปกครองที่เป็นมนุษย์. ขณะที่พวกเขาควรให้เกียรติและความนับถืออย่างสมควรต่อตัวแทนของรัฐ พวกเขาต้องทำเช่นนั้นด้วยความเกรงกลัวพระเจ้าผู้ซึ่งกฎหมายของพระองค์เป็นกฎหมายสูงสุด.
หลายปีก่อนหน้านั้น เปโตรก็ไม่ได้ปล่อยให้มีข้อสงสัยในเรื่องที่ว่ากฎหมายของพระเจ้าอยู่เหนือกฎหมายของมนุษย์. ศาลซันเฮดรินของชาวยิวเป็นคณะบริหารที่ทางโรมได้อนุญาตให้มีอำนาจทั้งในด้านศาสนาและพลเรือน. เมื่อศาลซันเฮดรินได้ออกคำสั่งให้สาวกของพระเยซูเลิกประกาศสั่งสอนในพระนามของพระคริสต์ เปโตรและอัครสาวกคนอื่น ๆ ตอบด้วยความนับถือแต่มั่นคงว่า “ข้าพเจ้าจำต้องเชื่อฟังพระเจ้ายิ่งกว่าเชื่อฟังมนุษย์.” (กิจการ 5:29) เห็นได้ชัดว่าคริสเตียนยุคแรกต้องรักษาความสมดุลด้วยความรอบคอบระหว่างการเชื่อฟังพระเจ้ากับการยอมอยู่ใต้อำนาจอย่างเหมาะสมต่อผู้มีอำนาจที่เป็นมนุษย์. เทอร์ทูลเลียนกล่าวไว้ในตอนต้นศตวรรษที่สามสากลศักราชว่า “ถ้าทั้งหมดเป็นของซีซาร์ อะไรจะเหลือให้แก่พระเจ้าเล่า?”
ประนีประนอมกับรัฐ
เมื่อเวลาผ่านไป จุดยืนซึ่งคริสเตียนในศตวรรษแรกยึดถือในเรื่องเกี่ยวกับรัฐก็ค่อย ๆ อ่อนลงไป. การออกหากซึ่งพระเยซูและพวกอัครสาวกได้บอกล่วงหน้าเอาไว้แล้วเริ่มขยายตัวในศตวรรษที่สองและสามแห่งสากลศักราช. (มัดธาย 13:37, 38; กิจการ 20:29, 30; 2 เธซะโลนิเก 2:3-12; 2 เปโตร 2:1-3) หลักการคริสเตียนแบบที่ออกหากได้ประนีประนอมกับโลกของโรม รับเอาการฉลองนอกรีตและปรัชญาของโรมหลายอย่าง และยอมรับไม่เพียงแค่การรับราชการพลเรือนเท่านั้นแต่การเป็นทหารประจำการด้วย.
ศาสตราจารย์เทริลช์เขียนว่า “นับแต่ศตวรรษที่สามเป็นต้นมา สถานการณ์เริ่มยุ่งยากมากขึ้น เพราะมีคริสเตียนที่มีตำแหน่งสูงทางสังคม ประกอบอาชีพมีชื่อเสียงทั้งในกองทัพและวงราชการอื่น ๆ เพิ่มมากขึ้น. ในข้อเขียนของคริสเตียน [ไม่ใช่ส่วนของคัมภีร์ไบเบิล] หลายตอน มีการคัดค้านด้วยความขุ่นเคืองต่อการเข้าส่วนในเรื่องต่าง ๆ ดังกล่าว ในอีกด้านหนึ่ง เราก็ได้พบความพยายามที่จะประนีประนอมด้วยเช่นกัน คือการหาข้อแก้ตัวเพื่อทำให้เสียงของสติรู้สึกผิดชอบที่ถูกรบกวนเงียบลง . . . ตั้งแต่สมัยของคอนสแตนตินเป็นต้นมาความยุ่งยากเหล่านั้นก็หมดไป ข้อขัดแย้งระหว่างคริสเตียนกับศาสนานอกรีตก็ยุติลง และหน่วยราชการทุกหน่วยเปิดกว้างสำหรับคริสเตียน.”
เมื่อเข้าสู่ตอนปลายของศตวรรษที่สี่แห่งสากลศักราช รูปแบบของศาสนาคริสเตียนที่ปนเปื้อนและประนีประนอมกับรัฐได้กลายมาเป็นศาสนาแห่งรัฐของจักรภพโรมัน.
ตลอดมาในประวัติศาสตร์ คริสต์ศาสนจักร—ซึ่งมีคริสตจักรคาทอลิก, ออร์โทด็อกซ์, และโปรเตสแตนต์เป็นตัวแทน—ได้ยอมอะลุ่มอล่วยให้กับรัฐมาอย่างต่อเนื่อง ถลำตัวลึกในเรื่องต่าง ๆ ทางการเมืองและสนับสนุนสงครามต่าง ๆ. ไม่ต้องสงสัย สมาชิกของคริสตจักรที่จริงใจหลายคนซึ่งรู้สึกตะลึงงันกับข้อเท็จจริงเหล่านี้ คงจะยินดีที่ได้รู้ว่ามีคริสเตียนสมัยปัจจุบันที่ยึดมั่นในจุดยืนของคริสเตียนในศตวรรษแรกในเรื่องความสัมพันธ์กับรัฐ. สองบทความถัดไปจะพิจารณาเรื่องนี้ในรายละเอียดมากขึ้น.
[รูปภาพหน้า 5]
จักรพรรดิเนโร ผู้ซึ่งเปโตรนึกถึงเมื่อเขียนว่า “จงนับถือมหากษัตริย์”
[ที่มาของภาพหน้า 5]
Musei Capitolini, Roma
[รูปภาพหน้า 6]
โพลีคาร์ปเลือกความตายแทนการนมัสการจักรพรรดิ
[รูปภาพหน้า 7]
คริสเตียนยุคแรกเป็นพลเมืองที่มีสันติ, ซื่อสัตย์, และเสียภาษี