อับราฮามและซาราห์—คุณเอาอย่างความเชื่อของเขาได้!
อับราฮามได้ชื่อว่าเป็น “บิดาของคนทั้งปวงที่เชื่อ.” (โรม 4:11) ภรรยาที่รักของท่านมีคุณลักษณะเช่นนั้นเหมือนกัน. (เฮ็บราย 11:11) อับราฮามปฐมบรรพบุรุษและซาราห์ภรรยาของท่านเป็นผู้เลื่อมใสพระเจ้า. เพราะเหตุใดบุคคลทั้งสองจึงเป็นตัวอย่างที่ดีในด้านความเชื่อ? ท่านทั้งสองทนการทดลองที่ยากลำบากอะไรบ้าง? และประวัติชีวิตบุคคลทั้งสองมีคุณค่าอะไรสำหรับพวกเรา?
อับราฮามได้แสดงความเชื่อให้ปรากฏเมื่อพระเจ้าสั่งให้ท่านละบ้านเกิดเมืองนอน. พระยะโฮวาตรัสว่า “เจ้าต้องออกจากเมืองจากญาติพี่น้อง, จากเรือนบิดาของเจ้า, ไปยังแผ่นดินที่เราจะชี้ให้เจ้า.” (เยเนซิศ 12:1) ปฐมบรรพบุรุษผู้ซื่อสัตย์ได้ปฏิบัติตามพระบัญชา เพราะบันทึกแจ้งดังนี้: “โดยความเชื่อ ครั้นพระเจ้าทรงเรียกแล้ว, อับราฮามก็ได้เชื่อฟังและออกไปถึงตำบลที่จะได้รับเป็นมฤดก และท่านได้ออกไปโดยหารู้ไม่ว่าจะไปทางไหน.” (เฮ็บราย 11:8) ขอพิจารณาเรื่องการย้ายถิ่นฐานหมายรวมถึงอะไรบ้าง.
อับราฮามอาศัยอยู่ในเมืองอูร์ (อูระ) ปัจจุบันอยู่ทางตอนใต้ของอิรัก. อูร์เป็นศูนย์รวมการค้าที่เจริญรุ่งเรืองในภูมิภาคเมโสโปเตเมียกับดินแดนแถบอ่าวเปอร์เซีย และอาจเป็นบริเวณลุ่มน้ำสินธุก็ได้. เซอร์เลียวนาร์ด วูลลีย์ ผู้ซึ่งอำนวยการขุดค้นซากเมืองอูร์อย่างเป็นระบบ ได้ชี้แจงว่าในสมัยอับราฮาม บ้านเรือนส่วนใหญ่ก่อด้วยอิฐ ผนังฉาบปูนขาว. ตัวอย่างเช่น บ้านคหบดีเป็นตึกสองชั้น ลานส่วนกลางปูหินหรือแผ่นอิฐ. ชั้นล่างของบ้านจัดเป็นที่อยู่สำหรับคนใช้ประจำบ้านและรับรองแขก. ระเบียงไม้รอบผนังบ้านชั้นบนเป็นทางเข้าไปยังห้องต่าง ๆ ที่ครอบครัวจะใช้ประโยชน์. เนื่องจากภายในบ้านมีตั้งแต่ 10 ถึง 20 ห้อง วูลลีย์บอกว่าบ้านเหล่านั้น “ค่อนข้างใหญ่ มีเนื้อที่กว้างขวางอยู่สบาย และตามมาตรฐานชาวตะวันออกแล้วก็นับว่าโอ่โถงหรูหรา.” ตึกเหล่านั้นเป็น “ที่อยู่อาศัยอันภูมิฐานของอารยชนและตอบสนองความต้องการของผู้คนที่ใช้ชีวิตอยู่ในนครที่เจริญ.” ถ้าอับราฮามกับซาราห์สละบ้านช่องซึ่งอำนวยความสะดวกสบายอย่างนี้และรู้อยู่ว่าจะต้องอาศัยในกระโจม ท่านทั้งสองก็ได้เสียสละมากจริง ๆ ที่จะเชื่อฟังพระยะโฮวา.
เมื่ออับราฮามเคลื่อนย้าย ทีแรกท่านได้พาครอบครัวไปที่ฮาราน ซึ่งเป็นเมืองที่อยู่ทางตอนเหนือของเมโสโปเตเมีย จากนั้นมุ่งหน้าสู่คะนาอัน. ระยะทางไกลประมาณ 1,600 กิโลเมตร—นั่นเป็นการเคลื่อนย้ายที่น่าครั่นคร้ามไม่น้อยสำหรับผู้สูงวัยทั้งสอง! ตอนที่ออกจากเมืองฮาราน อับราฮามมีอายุ 75 ปี และซาราห์ 65 ปี.—เยเนซิศ 12:4.
ซาราห์อาจรู้สึกเช่นไรเมื่ออับราฮามบอกนางว่าจะไปจากเมืองอูร์? การละทิ้งบ้านช่องที่มั่นคงปลอดภัยและสะดวกสบาย แล้วย้ายไปยังดินแดนแห่งใหม่ซึ่งบางทีอาจเป็นไปได้ว่าเป็นแดนถิ่นที่ของศัตรู และยอมรับมาตรฐานการครองชีพที่ต่ำกว่าอาจทำให้นางเป็นกังวล. กระนั้น ซาราห์ยอมเชื่อฟัง โดยถือว่าอับราฮามเป็น “นาย” ของตน. (1 เปโตร 3:5, 6) ผู้คงแก่เรียนบางคนมองว่าเหตุการณ์นี้เผยให้เห็นอย่างชัดแจ้งถึงสิ่งที่ซาราห์ “ถือเป็นธรรมเนียมปฏิบัติ อีกทั้งท่าทีและการประพฤติด้วยความนับถือต่ออับราฮาม” เป็นหลักฐานแสดง “นิสัยแท้ทางความคิดและความรู้สึก.” แต่ที่สำคัญอย่างยิ่ง ซาราห์ไว้วางใจพระยะโฮวา. การยอมเชื่อฟังและความเชื่อของนางเป็นตัวอย่างอันดีแก่บรรดาภรรยาคริสเตียน.
จริงอยู่ ไม่มีการขอร้องเราให้ละทิ้งบ้านเรือนเพื่อจะเชื่อฟังพระเจ้า แม้ว่าผู้เผยแพร่บางคนที่รับใช้เต็มเวลาได้ละบ้านเกิดเพื่อไปประกาศข่าวดีที่ประเทศอื่น. ไม่ว่าเรารับใช้พระเจ้า ณ ที่ไหน ๆ ตราบที่เราจัดเอาผลประโยชน์ฝ่ายวิญญาณไว้เป็นอันดับแรกในชีวิต พระองค์จะทรงดูแลให้เรามีสิ่งจำเป็น.—มัดธาย 6:25-33.
ทั้งซาราห์และอับราฮามไม่เคยคิดเสียใจที่ได้ตัดสินใจทำเช่นนั้น. อัครสาวกเปาโลบอกว่า “ถ้าเขาได้นึกหวังจะกลับไปยังเมืองที่เขาออกมาแล้วนั้น, เขาคงจะมีโอกาสที่จะกลับไปได้.” แต่พวกเขาไม่กลับ. ด้วยมั่นใจว่าพระยะโฮวา “เป็นผู้ประทานบำเหน็จให้แก่ทุกคนที่ปลงใจแสวงหาพระองค์” พวกเขาแสดงความเชื่อในคำสัญญาของพระองค์. ดังนั้น หากเราตั้งใจถวายความเลื่อมใสในพระยะโฮวาสิ้นสุดจิตวิญญาณต่อ ๆ ไป เราก็ต้องแสดงความเชื่อเช่นเดียวกัน.—เฮ็บราย 11:6, 15, 16.
มั่งคั่งทั้งฝ่ายวิญญาณและด้านวัตถุ
ภายหลังอับราฮามไปถึงแผ่นดินคะนาอันแล้ว พระเจ้าตรัสแก่ท่านดังนี้: “แผ่นดินนี้เราจะยกให้พงศ์พันธุ์ของเจ้า.” อับราฮามตอบรับโดยการก่อแท่นบูชาถวายพระยะโฮวาและนมัสการอ้อนวอน “ออกพระนามพระองค์ที่นั่น.” (เยเนซิศ 12:7, 8) พระยะโฮวาทรงบันดาลให้อับราฮามมั่งคั่ง และจำนวนคนที่พักอาศัยอยู่กับท่านมีมากมาย. เนื่องจากคราวหนึ่งท่านได้รวบรวมผู้ชายที่รับการฝึกแล้ว 318 คน ซึ่งเป็นบ่าวเกิดในเรือนของท่าน นี่บ่งชี้ว่า “จำนวนผู้คนทั้งหมดที่พักอาศัยอยู่กับท่านคงต้องมีมากกว่าหนึ่งพันคน.” ด้วยเหตุผลใดก็ตาม ผู้คนนึกถึงท่านฐานะเป็น “เจ้านายผู้ใหญ่ของพระเจ้า.”—เยเนซิศ 13:2; 14:14; 23:6.
อับราฮามนำหน้าในการนมัสการ สั่งสอนคนในครัวเรือนของท่าน “ให้รักษาทางพระยะโฮวาโดยสัตย์ซื่อและชอบธรรม.” (เยเนซิศ 18:19) ประมุขครอบครัวคริสเตียนสมัยปัจจุบันสามารถได้รับการหนุนใจจากตัวอย่างของอับราฮามฐานะบุคคลที่ประสบความสำเร็จ ด้วยการสอนสมาชิกครอบครัวให้วางใจหมายพึ่งพระยะโฮวาและประพฤติตนในทางชอบธรรม. ด้วยเหตุนี้จึงไม่น่าแปลกใจที่ฮาฆารสาวใช้ชาวอียิปต์ของซาราห์, คนต้นเรือนที่รับใช้อับราฮาม, และยิศฮาค บุตรชายของท่านต่างหมายพึ่งพระยะโฮวาพระเจ้า.—เยเนซิศ 16:5, 13; 24:10-14; 25:21.
อับราฮามสร้างสันติ
หลายเหตุการณ์ในชีวิตของอับราฮามเผยให้เห็นบุคลิกภาพของอับราฮามคล้ายบุคลิกลักษณะของพระเจ้า. แทนที่จะปล่อยให้คนเลี้ยงสัตว์ของท่านกับคนเลี้ยงสัตว์ของโลตหลานชายทะเลาะวิวาทกันยืดเยื้อยาวนาน อับราฮามจึงแนะนำโลตให้แยกค่ายไปอยู่ต่างหาก และให้โอกาสโลตชายหนุ่มอายุน้อยกว่าเลือกที่ดินตามใจชอบ. อับราฮามเป็นผู้สร้างสันติ.—เยเนซิศ 13:5-13.
หากเราจำต้องเลือกระหว่างการยืนกรานในสิทธิของตัวเอง หรือเป็นฝ่ายยินยอมเพื่อรักษาสันติ เราอาจสังเกตว่า พระยะโฮวาไม่ปล่อยให้อับราฮามขัดสนสิ่งหนึ่งสิ่งใดเพราะท่านได้คำนึงถึงโลต. ในทางกลับกัน ภายหลังพระเจ้าทรงสัญญาจะยกแผ่นดินทั้งหมดเท่าที่อับราฮามมองเห็นได้ทั่วทุกทิศโดยรอบให้อับราฮามและพงศ์พันธุ์ของท่าน. (เยเนซิศ 13:14-17) พระเยซูตรัสว่า “บุคคลผู้ใดระงับการแตกแยกกัน [ตามตัวอักษร “ผู้สร้างสันติ”] ก็เป็นสุข, เพราะว่าเขาจะได้ชื่อว่าเป็นบุตรของพระเจ้า.”—มัดธาย 5:9.
ใครจะเป็นผู้รับมรดกของอับราฮาม?
แม้ว่าได้รับคำสัญญาเรื่องพงศ์พันธุ์ แต่ซาราห์ก็ยังเป็นหมัน. อับราฮามได้ทูลเสนอเรื่องนี้ต่อพระเจ้า. อะลีอาเซ็รคนรับใช้จะเป็นผู้ครองมรดกทั้งสิ้นของท่านไหม? ไม่ใช่ เพราะพระยะโฮวาตรัสดังนี้: “คนนี้จะได้เป็นผู้รับมฤดกของเจ้าหามิได้; แต่คนที่จะออกมาจากบั้นเอวของเจ้านั้นจะเป็นผู้รับมฤดกของเจ้า.”—เยเนซิศ 15:1-4.
กระนั้น ทั้งคู่ก็ยังไม่มีบุตร และซาราห์วัย 75 หมดหวังจะตั้งครรภ์. ดังนั้น นางพูดกับอับราฮามว่า “พระยะโฮวาทรงบันดาลไม่ให้ฉันมีบุตร; ขอจงเข้าไปหาสาวใช้ของฉันเถิด; บางทีฉันจะได้บุตรโดยนางนั้น.” อับราฮามจึงรับเอาฮาฆารมาเป็นอนุภรรยา และมีสัมพันธ์กัน และนางได้ตั้งครรภ์. พอฮาฆารรู้ว่าตัวตั้งครรภ์ก็เริ่มดูหมิ่นนายผู้หญิงของตน. ซาราห์บ่นต่ออับราฮามด้วยความขมขื่นและได้เคี่ยวเข็ญฮาฆาร จนสาวใช้ต้องหนีไป.—เยเนซิศ 16:1-6.
อับราฮามกับซาราห์ลงมือปฏิบัติด้วยจิตสำนึกอันดี โดยการรับเอาแนวทางซึ่งประสานกับกิจปฏิบัติที่ยอมรับกันในสมัยนั้น. อย่างไรก็ตาม การทำเช่นนั้นหาใช่วิธีการของพระยะโฮวาที่จะให้มีพงศ์พันธุ์เกิดแต่อับราฮามไม่. ขนบธรรมเนียมในประเทศของเราอาจกำหนดว่าการกระทำบางอย่างถูกต้องภายใต้สภาพการณ์นั้น ๆ แต่ทั้งนี้ก็ใช่ว่าพระยะโฮวาทรงเห็นชอบเสมอไปไม่. ทัศนะของพระองค์ต่อสภาพแวดล้อมของเราอาจต่างไปอย่างสิ้นเชิง. ดังนั้น จำเป็นที่เราต้องแสวงการชี้นำจากพระเจ้า อธิษฐานขอพระองค์ชี้ทางที่พระองค์ทรงประสงค์ให้เราประพฤติตาม.—บทเพลงสรรเสริญ 25:4, 5; 143:8, 10.
ไม่มีสิ่งใด “ยากเหลือกำลังพระยะโฮวา”
เมื่อถึงเวลา ฮาฆารก็ให้กำเนิดบุตรชายชื่อยิศมาเอลแก่อับราฮาม. ทว่าเขาไม่ใช่พงศ์พันธุ์แห่งคำสัญญา. ซาราห์เองต้องให้กำเนิดทายาทตามคำสัญญานั้น ถึงแม้นางอายุมากแล้วก็ตาม.—เยเนซิศ 17:15, 16.
เมื่อพระเจ้าทรงกำหนดว่าซาราห์จะให้กำเนิดบุตรชายแก่สามีของนาง “อับราฮามจึงหมอบกราบซบหน้าลงหัวเราะนึกในใจของตนว่า, ‘คนอายุได้ร้อยปีแล้วจะมีบุตรหรือ? อายุของนางซาราได้เก้าสิบปีแล้ว, จะมีบุตรหรือ?’ ” (เยเนซิศ 17:17) เมื่อทูตสวรรค์พูดซ้ำข่าวนั้นในระยะห่างพอที่ซาราห์ได้ยิน นางก็ “หัวเราะ . . . ในใจ.” แต่ไม่มีสิ่งใดที่ “ยากเหลือกำลังพระยะโฮวา.” เราย่อมเชื่อได้ว่าพระองค์สามารถทำทุกสิ่งได้ตามพระทัยประสงค์.—เยเนซิศ 18:12-14.
“โดยความเชื่อถึงนางซาราเองก็ได้กำลังตั้งครรภ์เมื่ออายุแก่เกินแล้ว, เพราะนางนั้นได้ถือว่าพระองค์ผู้ได้ทรงสัญญาไว้นั้นเป็นผู้สัตย์ซื่อ.” (เฮ็บราย 11:11) ในเวลาต่อมา ซาราห์ก็ให้กำเนิดยิศฮาค ซึ่งชื่อของเขาหมายความว่า “หัวเราะ.”
ไว้ใจเต็มที่ในคำสัญญาของพระเจ้า
พระยะโฮวาทรงระบุตัวยิศฮาคว่าเป็นทายาทที่เฝ้ารอมานาน. (เยเนซิศ 21:12) ดังนั้น อับราฮามคงต้องตกตะลึงเมื่อพระเจ้ารับสั่งแก่ท่านให้ถวายบุตรเป็นเครื่องบูชา. กระนั้น อับราฮามมีเหตุผลสมควรที่จะไว้ใจพระเจ้าเต็มที่. พระยะโฮวาสามารถบันดาลให้ยิศฮาคเป็นขึ้นจากตายได้มิใช่หรือ? (เฮ็บราย 11:17-19) พระเจ้าเคยสำแดงอำนาจของพระองค์อย่างอัศจรรย์มาแล้วโดยทรงบันดาลให้อับราฮามกับซาราห์มีสมรรถภาพให้กำเนิดยิศฮาคมิใช่หรือ? ด้วยความเชื่อมั่นในพระปรีชาสามารถของพระเจ้าที่จะทำให้สำเร็จตามสัญญา อับราฮามจึงพร้อมจะเชื่อฟัง. จริงอยู่ ท่านถูกยับยั้งไว้ไม่ให้ฆ่าบุตรชายของตน. (เยเนซิศ 22:1-14) กระนั้นก็ดี บทบาทของอับราฮามในเรื่องนี้ช่วยเรามองเห็นว่า คงต้องเป็นเรื่องหนักพระทัยเพียงไรสำหรับพระยะโฮวาพระเจ้าที่ทรง “ประทานพระบุตรองค์เดียวของพระองค์, เพื่อทุกคนที่วางใจในพระบุตรนั้นจะมิได้พินาศ, แต่มีชีวิตนิรันดร์.”—โยฮัน 3:16; มัดธาย 20:28.
เนื่องจากอับราฮามมีความเชื่อในพระเจ้า ท่านย่อมรู้ดีว่าทายาทตามคำสัญญาของพระยะโฮวาจะสมรสกับผู้นมัสการเท็จในแผ่นดินคะนาอันไม่ได้. บิดามารดาที่เลื่อมใสพระเจ้าจะเห็นชอบได้อย่างไรหากบุตรของตนแต่งงานกับคนที่ไม่ปฏิบัติพระยะโฮวา? ด้วยเหตุนี้อับราฮามจึงหาภรรยาที่เหมาะสมให้ยิศฮาคจากหมู่ญาติในเมโสโปเตเมีย ซึ่งไกลออกไปประมาณ 800 กิโลเมตร. พระเจ้าได้อวยพรความพยายามครั้งนั้นโดยบ่งชี้ว่าหญิงชื่อริบะคา เป็นผู้ที่พระองค์ทรงเลือกให้เป็นเจ้าสาวของยิศฮาคและเป็นบรรพสตรีของพระมาซีฮา. จริงทีเดียว พระยะโฮวา “ได้ทรงอวยพรให้ [อับราฮาม] เจริญบริบูรณ์ทุกประการ.”—เยเนซิศ 24:1-67; มัดธาย 1:1, 2.
พระพรสำหรับชนทุกชาติ
อับราฮามกับซาราห์เป็นตัวอย่างอันดีในเรื่องความอดทนในคราวทดสอบความเชื่อและแสดงความเชื่อต่อคำสัญญาต่าง ๆ ของพระเจ้า. ความสำเร็จเป็นจริงของคำสัญญาต่าง ๆ ดังกล่าวส่งผลกระทบความหวังอันถาวรของมนุษยชาติ เพราะพระยะโฮวาทรงให้คำรับรองแก่อับราฮามดังนี้: “โดยทางพงศ์พันธุ์ของเจ้า ทุกชาติแห่งแผ่นดินโลกจะทำให้ตนเองได้พระพรเป็นแน่ เนื่องด้วยเจ้าได้ฟังเสียงของเรา.”—เยเนซิศ 22:18, ล.ม.
แน่นอน อับราฮามและซาราห์ต่างก็เป็นมนุษย์ไม่สมบูรณ์เหมือนพวกเรา. แต่เมื่อท่านได้มาเข้าใจพระทัยประสงค์ของพระเจ้าแล้ว ทั้งสองก็เชื่อฟังลงมือปฏิบัติทันที—ไม่ว่าจะต้องเสียสละมากเพียงใด. ด้วยเหตุนี้ อับราฮามจึงได้รับการระลึกถึงฐานะ “มิตรของพระยะโฮวา” ส่วนซาราห์เป็น ‘ผู้หญิงบริสุทธิ์ผู้ซึ่งหวังใจในพระเจ้า.’ (ยาโกโบ 2:23, ล.ม.; 1 เปโตร 3:5, ล.ม.) โดยพยายามจะเอาอย่างความเชื่อของอับราฮามและซาราห์ พวกเราก็จะมีสัมพันธภาพอันล้ำค่ากับพระเจ้าอย่างแน่นแฟ้นได้เช่นกัน. นอกจากนั้น เราจะได้ประโยชน์จากคำสัญญาอันล้ำค่าที่พระยะโฮวากระทำไว้กับอับราฮาม.—เยเนซิศ 17:7.
[ภาพหน้า 26]
เนื่องด้วยความเชื่อของคนทั้งสอง พระยะโฮวาทรงอวยพรอับราฮามกับซาราห์ให้มีบุตรเมื่ออายุมากแล้ว
[ภาพหน้า 28]
ตัวอย่างของอับราฮาม ช่วยเราให้ตระหนักว่าพระยะโฮวาทรงรู้สึกอย่างไรที่ยอมให้พระบุตรผู้ได้รับกำเนิดองค์เดียววายพระชนม์