จงให้เกียรติแก่ผู้อื่น
“ในการให้เกียรติแก่กันและกันนั้น จงนำหน้า.”—โรม 12:10, ล.ม.
1, 2. (ก) เราต้องทำเช่นไรเพื่อแสดงว่าเรามีความอ่อนน้อม? (ข) คัมภีร์ไบเบิลมักใช้คำว่า “เกียรติ” อย่างไร และใครที่รู้สึกว่าไม่ยากที่จะให้เกียรติแก่ผู้อื่น?
ในบทความก่อนของเรา มีการเน้นเกี่ยวกับคำแนะนำของพระคำของพระเจ้าที่ว่า “ท่านทุกคนจงคาดเอวตนเองไว้ด้วยจิตใจอ่อนน้อมต่อกันและกัน เพราะพระเจ้าทรงต่อต้านผู้ที่หยิ่งยโส แต่พระองค์ทรงประทานพระกรุณาอันไม่พึงได้รับแก่ผู้ที่ถ่อมใจ.” (1 เปโตร 5:5, ล.ม.) วิธีหนึ่งที่เราจะคาดเอวของเราด้วยความอ่อนน้อมถ่อมใจได้แก่การให้เกียรติผู้อื่น.
2 มีการใช้คำ “เกียรติ” นี้อยู่บ่อย ๆ ในคัมภีร์ไบเบิลเพื่อชี้ถึงความนับถือ, การยกย่อง, และการคำนึงถึงซึ่งเราควรแสดงต่อผู้อื่น. เราให้เกียรติแก่ผู้อื่นโดยแสดงความกรุณาต่อเขา, แสดงความนับถือต่อศักดิ์ศรีของเขา, ฟังทัศนะของเขา, พร้อมจะทำตามคำขอร้องอันสมเหตุผลที่ขอต่อเรา. คนที่มีจิตใจอ่อนน้อมมักจะไม่รู้สึกว่าการทำดังกล่าวเป็นเรื่องยาก. อย่างไรก็ตาม คนที่มีหัวใจเย่อหยิ่งอาจรู้สึกว่ายากจะแสดงการให้เกียรติอย่างแท้จริง ก็เลยอาจพยายามได้มาซึ่งความชอบและผลประโยชน์ด้วยการป้อยอซึ่งไร้ความจริงใจ.
พระยะโฮวาทรงให้เกียรติแก่มนุษย์
3, 4. พระยะโฮวาทรงให้เกียรติแก่อับราฮามอย่างไร และเพราะเหตุใด?
3 พระยะโฮวาเองทรงวางแบบอย่างไว้ในการให้เกียรติ. พระองค์ทรงสร้างมนุษย์ให้มีเจตจำนงเสรีและมิได้ปฏิบัติต่อมนุษย์เหมือนเป็นเพียงหุ่นยนต์. (1 เปโตร 2:16) ยกตัวอย่างเช่น เมื่อพระองค์ทรงแจ้งแก่อับราฮามว่าเมืองซะโดมจะถูกทำลายเนื่องด้วยความชั่วช้าสามานย์ของเมืองนั้น อับราฮามถามว่า “พระองค์จะประหารชีวิตคนดีกับคนชั่วด้วยกันหรือ? หากมีคนชอบธรรมอยู่ในเมืองห้าสิบคน, พระองค์จะทรงทำลายเมืองนั้นไม่งดโทษไว้เพราะคนชอบธรรมห้าสิบคนซึ่งอยู่ที่นั่นหรือ?” พระยะโฮวาทรงตอบว่าพระองค์จะละเว้นเมืองนั้นเพื่อเห็นแก่คนชอบธรรม 50 คน. จากนั้นอับราฮามก็ทูลวิงวอนต่อไปอีกด้วยใจถ่อม. จะว่าอย่างไรหากมีแค่ 45 คน? 40 คน? 30 คน? 20 คน? 10 คน? พระยะโฮวาทรงรับรองกับอับราฮามว่าพระองค์จะไม่ทำลายเมืองซะโดมถ้าพบผู้ชอบธรรมแม้เพียงสิบคนที่นั่น.—เยเนซิศ 18:20-33.
4 พระยะโฮวาทรงทราบว่ามีคนชอบธรรมไม่ถึงสิบคนในเมืองซะโดม แต่ถึงกระนั้นพระองค์ทรงให้เกียรติแก่อับราฮามโดยทรงฟังความเห็นของท่านและปฏิบัติต่อท่านอย่างนับถือ. เพราะเหตุใด? เนื่องจากอับราฮาม “เชื่อวางใจในพระยะโฮวา; และที่เชื่อนั้นพระองค์ทรงนับว่าเป็นความชอบธรรมแก่ท่าน.” อับราฮามถูกเรียกว่า “มิตรสหายของพระยะโฮวา.” (เยเนซิศ 15:6; ยาโกโบ 2:23, ล.ม.) นอกจากนั้น พระยะโฮวาทรงเห็นว่าอับราฮามให้เกียรติแก่ผู้อื่น. เมื่อเกิดวิวาทกันเกี่ยวด้วยเรื่องที่ดินทำกินระหว่างคนเลี้ยงสัตว์ของอับราฮามกับคนเลี้ยงสัตว์ของโลตหลานชาย อับราฮามให้เกียรติแก่โลตโดยบอกเขาให้เลือกพื้นที่ซึ่งเขาต้องการก่อน. โลตเลือกที่ดินที่เขาคิดว่าดีที่สุด และอับราฮามก็ย้ายไปที่อื่น.—เยเนซิศ 13:5-11.
5. พระยะโฮวาทรงให้เกียรติแก่โลตอย่างไร?
5 พระยะโฮวาทรงให้เกียรติแก่โลตผู้ชอบธรรมคล้าย ๆ กัน. ก่อนที่เมืองซะโดมจะถูกทำลาย พระองค์ทรงแจ้งแก่โลตให้หนีไปยังเขตภูเขา. แต่โลตบอกว่าท่านไม่ต้องการไปที่นั่น; ท่านชอบเมืองโซอาระที่อยู่ใกล้ ๆ มากกว่า แม้ว่าเมืองนั้นอยู่ในพื้นที่ที่จะถูกทำลาย. พระยะโฮวาตรัสแก่โลตว่า “นี่แน่ะ, เราโปรดให้เจ้าตามคำของเจ้า; เราจะไม่ทำลายบ้านนี้, เพราะเห็นแก่คำที่เจ้าขอนั้น.” พระยะโฮวาทรงให้เกียรติแก่โลตผู้ซื่อสัตย์โดยทรงทำตามที่ท่านขอ.—เยเนซิศ 19:15-22; 2 เปโตร 2:6-9.
6. พระยะโฮวาทรงให้เกียรติแก่โมเซอย่างไร?
6 เมื่อพระยะโฮวาทรงส่งโมเซกลับไปอียิปต์ให้นำไพร่พลของพระองค์ออกจากการเป็นทาสและให้กล่าวแก่ฟาโรห์เกี่ยวกับการปล่อยไพร่พลของพระองค์ให้เป็นอิสระ โมเซตอบว่า “ข้าแต่พระเจ้า, ข้าพเจ้ามิใช่คนช่างพูด.” พระยะโฮวาทรงรับรองกับโมเซว่า “เราจะอยู่ที่ปากของเจ้า, และจะสอนเจ้าให้พูดคำซึ่งควรจะพูด.” แต่โมเซก็ยังคงลังเล. เมื่อเป็นอย่างนี้ พระยะโฮวาทรงรับรองกับโมเซอีกครั้งหนึ่งและจัดเตรียมให้ส่งอาโรนพี่ชายของท่านไปด้วยกันกับท่านให้เป็นผู้พูดแทน.—เอ็กโซโด 4:10-16.
7. เหตุใดพระยะโฮวาทรงเต็มพระทัยจะให้เกียรติแก่ผู้อื่น?
7 ในตัวอย่างทั้งหมดนี้ พระยะโฮวาทรงแสดงความเต็มพระทัยที่จะให้เกียรติแก่ผู้อื่น เฉพาะอย่างยิ่งผู้ที่รับใช้พระองค์. แม้ว่าสิ่งที่พวกเขาขออาจต่างไปจากพระทัยมุ่งหมายแต่เดิมของพระยะโฮวา แต่พระองค์ทรงพิจารณาคำขอของพวกเขาและยอมผ่อนปรนให้พวกเขาตราบที่คำขอนั้นไม่ขัดกับพระประสงค์ของพระองค์.
พระเยซูทรงให้เกียรติแก่ผู้อื่น
8. พระเยซูทรงให้เกียรติอย่างไรแก่หญิงคนหนึ่งที่ป่วยหนัก?
8 พระเยซูทรงเลียนแบบพระยะโฮวาในการให้เกียรติแก่ผู้อื่น. ครั้งหนึ่งเมื่ออยู่ท่ามกลางฝูงชน มีหญิงคนหนึ่งที่ตกเลือดมาเป็นเวลา 12 ปีแล้ว. พวกหมอไม่สามารถรักษาเธอได้. ตามพระบัญญัติของโมเซ ถือว่าเธอไม่สะอาดทางพิธีกรรมและไม่ควรอยู่ที่นั่น. เธอแอบมาอยู่ข้างหลังพระเยซู แตะฉลองพระองค์ และหายโรค. พระเยซูมิได้ทรงยืนกรานตามการตีความพระบัญญัติอย่างเคร่งครัดและดุว่าเธอในสิ่งที่เธอได้ทำ. แทนที่จะทำดังนั้น เนื่องจากทรงทราบสภาพของเธอ พระองค์จึงทรงให้เกียรติแก่เธอ ตรัสว่า “ลูกเอ๋ย, ความเชื่อของเจ้าได้ทำให้ตัวรอด, จงไปเป็นสุขและหายโรคเถิด.”—มาระโก 5:25-34; เลวีติโก 15:25-27.
9. พระเยซูทรงให้เกียรติอย่างไรแก่หญิงชาวต่างชาติ?
9 ในอีกโอกาสหนึ่ง หญิงชาวฟีนิเซียคนหนึ่งทูลพระเยซูว่า “พระองค์ผู้บุตรดาวิดเจ้าข้า, ขอโปรดเมตตาข้าพเจ้าเถิด, ลูกสาวของข้าพเจ้ามีผีสิงอยู่เป็นทุกข์ลำบากยิ่งนัก.” ด้วยทรงสำนึกว่าพระองค์ถูกส่งมาหาชาติยิศราเอล ไม่ใช่คนต่างชาติ พระเยซูตรัสว่า “ซึ่งจะเอาอาหารของลูก [ชนยิศราเอล] โยนให้แก่สุนัข [“ลูกสุนัข,” ล.ม.] [ชนต่างชาติ] ก็ไม่ควร.” หญิงนั้นตอบว่า “แต่สุนัขนั้นย่อมกินเดนที่ตกจากโต๊ะนายของมัน.” พระเยซูจึงตรัสว่า “หญิงเอ๋ย, ความเชื่อของเจ้าก็มาก ให้เป็นไปตามความปรารถนาของเจ้า.” ลูกสาวของเธอหายโรค. พระเยซูทรงให้เกียรติแก่คนต่างชาติผู้นี้เพราะความเชื่อของเธอ. แม้แต่การที่ทรงเลือกใช้คำว่า “ลูกสุนัข” แทนที่จะตรัสถึงสุนัขป่าก็ช่วยให้ตรัสเรื่องนี้ได้อย่างละมุนละม่อมและแสดงถึงความเห็นอกเห็นใจของพระองค์.—มัดธาย 15:21-28.
10. พระเยซูทรงสอนบทเรียนที่มีพลังเช่นไรแก่เหล่าสาวก และเหตุใดจึงจำเป็นต้องสอนบทเรียนนี้?
10 พระเยซูทรงสอนเหล่าสาวกอยู่เสมอเกี่ยวกับความจำเป็นต้องมีจิตใจอ่อนน้อมและให้เกียรติแก่ผู้อื่น เนื่องจากพวกเขายังคงมีปัญหาในเรื่องทัศนะแบบฉันก่อน. ครั้งหนึ่ง หลังจากพวกเขาโต้เถียงกัน พระเยซูตรัสถามว่า “ท่านทั้งหลายได้โต้แย้งกันด้วยข้อความอันใด?” พวกเขาก็นิ่งอยู่ เพราะ “เขาได้เถียงกันว่า คนไหนจะเป็นใหญ่.” (มาระโก 9:33, 34) แม้แต่ในคืนก่อนพระเยซูทรงวายพระชนม์ “มีการเถียงกันในพวกเขาว่าใครจะนับว่าเป็นใหญ่.” (ลูกา 22:24) ดังนั้น ระหว่างฉลองปัศคา พระเยซู “จึงเอาน้ำเทในอ่าง, แล้วทรงล้างเท้าของเหล่าสาวก.” ช่างเป็นบทเรียนที่มีพลังอะไรเช่นนี้! พระเยซูทรงเป็นพระบุตรของพระเจ้า ทั่วทั้งเอกภพทรงเป็นรองก็แต่พระยะโฮวาเท่านั้น. กระนั้น พระองค์ทรงสอนบทเรียนที่น่ายกย่องแก่เหล่าสาวกด้วยการล้างเท้าพวกเขา. พระองค์ตรัสว่า “เราได้วางแบบอย่างให้แก่ท่านทั้งหลายแล้ว, เพื่อให้ท่านทำเหมือนที่เราได้กระทำแก่ท่าน.”—โยฮัน 13:5-15.
เปาโลให้เกียรติ
11, 12. หลังจากเปาโลเข้ามาเป็นคริสเตียน ท่านเรียนรู้อะไร และท่านใช้บทเรียนนี้อย่างไรในกรณีที่เกี่ยวข้องกับฟิเลโมน?
11 ในฐานะผู้เลียนแบบพระคริสต์ อัครสาวกเปาโลให้เกียรติแก่ผู้อื่น. (1 โกรินโธ 11:1) ท่านกล่าวว่า “เราไม่ได้แสวงหาเกียรติยศจากมนุษย์. . . . ตรงกันข้าม เราได้ปฏิบัติอย่างนุ่มนวลท่ามกลางท่านทั้งหลาย เหมือนแม่ลูกอ่อนทะนุถนอมลูกของตน.” (1 เธซะโลนิเก 2:6, 7, ล.ม.) แม่ลูกอ่อนย่อมใส่ใจดูแลลูกน้อยของตน. หลังจากเปาโลเข้ามาเป็นคริสเตียน ท่านเรียนรู้ที่จะมีจิตใจอ่อนน้อมและให้เกียรติแก่เพื่อนคริสเตียนโดยปฏิบัติต่อพวกเขาอย่างอ่อนโยน. ในการทำเช่นนั้น ท่านยังได้แสดงความนับถือต่อเจตจำนงเสรีของพวกเขาด้วย ดังจะเห็นได้จากเหตุการณ์เมื่อครั้งท่านเป็นนักโทษอยู่ในกรุงโรม.
12 ทาสคนหนึ่งที่หนีเจ้านายมาชื่อว่าโอเนซิโมได้รับฟังคำสอนของเปาโล. เขาเข้ามาเป็นคริสเตียนเช่นเดียวกับสหายของเปาโล. เจ้าของทาสชื่อฟิเลโมน ซึ่งก็เป็นคริสเตียนด้วย อาศัยอยู่ในเอเชียน้อย. ในจดหมายถึงฟิเลโมน เปาโลเขียนจดหมายบอกว่าโอเนซิโมเป็นประโยชน์ต่อท่านมากเพียงใด โดยกล่าวว่า “ข้าพเจ้าใคร่จะให้เขาอยู่กับข้าพเจ้า.” ถึงกระนั้น เปาโลส่งโอเนซิโมคืนให้แก่ฟิเลโมน เพราะท่านเขียนว่า “ข้าพเจ้าจะไม่ปฏิบัติสิ่งใดลงไปนอกจากท่านจะเห็นชอบด้วยเพื่อว่าคุณความดีที่ท่านกระทำนั้นจะไม่เป็นการฝืนใจแต่จะเป็นความประสงค์ของท่านด้วย.” เปาโลมิได้ฉวยประโยชน์จากข้อเท็จจริงที่ท่านเป็นอัครสาวก แต่ท่านให้เกียรติแก่ฟิเลโมนโดยไม่ได้ขอตัวโอเนซิโมไว้ให้อยู่ในโรม. นอกจากนั้น เปาโลกระตุ้นเตือนฟิเลโมนเพื่อเขาจะให้เกียรติแก่โอเนซิโม ปฏิบัติต่อเขา “ดียิ่งกว่าทาสคือเป็นพี่น้องที่รัก.”—ฟิเลโมน 13-16, ฉบับแปลใหม่.
การให้เกียรติในสมัยของเรา
13. โรม 12:10 บอกเราให้ทำอะไร?
13 พระคำของพระเจ้าให้คำแนะนำว่า “ในการให้เกียรติแก่กันและกันนั้น จงนำหน้า.” (โรม 12:10, ล.ม.) นี่หมายความว่าเราไม่ควรรอให้ผู้อื่นให้เกียรติแก่เราก่อน แต่เราควรเป็นฝ่ายริเริ่ม. “อย่าให้ผู้ใดกระทำอะไรเพื่อประโยชน์ของตนเองเท่านั้น แต่ให้คิดถึงประโยชน์ของคนอื่นด้วย.” (1 โกรินโธ 10:24; 1 เปโตร 3:8, 9) ด้วยเหตุนั้น ผู้รับใช้ของพระยะโฮวามองหาโอกาสที่จะให้เกียรติแก่คนที่อยู่ในครอบครัว, เพื่อนคริสเตียนในประชาคม, และแม้แต่คนภายนอกประชาคม.
14. ควรให้เกียรติแก่กันอย่างไรระหว่างสามีกับภรรยา?
14 คัมภีร์ไบเบิลกล่าวว่า “พระคริสต์เป็นศีรษะของชายทุกคน, และชายเป็นศีรษะของหญิง.” (1 โกรินโธ 11:3) พระยะโฮวาทรงกำหนดให้ผู้ชายปฏิบัติต่อภรรยาเหมือนพระคริสต์ทรงปฏิบัติต่อประชาคม. ที่ 1 เปโตร 3:7 (ล.ม.) สามีได้รับพระบัญชาว่าต้อง “ให้เกียรติแก่ [ภรรยา] เหมือนหนึ่งเป็นภาชนะที่อ่อนแอกว่า คือเพศหญิง.” เขาทำอย่างนี้ได้โดยแสดงความเต็มใจอย่างแท้จริงที่จะฟังและนำเอาข้อเสนอแนะของภรรยาไปพิจารณา. (เยเนซิศ 21:12) เขาอาจยอมตามการเลือกของเธอเมื่อไม่ใช่ประเด็นสำคัญที่อาจเกิดความเสียหายได้ ตลอดจนช่วยเหลือเธอและปฏิบัติต่อเธออย่างกรุณา. ส่วน “ภรรยาควรแสดงความนับถืออย่างสุดซึ้งต่อสามีของตน.” (เอเฟโซ 5:33, ล.ม.) เธอฟังเขา ไม่ดึงดันเพื่อให้ได้อย่างใจตัวเองเสมอ ไม่ดูถูกหรือจ้ำจี้จ้ำไชเขา. เธอแสดงความอ่อนน้อมโดยไม่พยายามวางอำนาจเหนือสามี แม้แต่เมื่อเธอมีความสามารถในบางด้านมากกว่า.
15. ควรแสดงความนับถือต่อผู้สูงอายุเช่นไร และพวกเขาควรตอบรับอย่างไร?
15 ภายในประชาคมคริสเตียน มีบางคนที่สมควรได้รับเกียรติเป็นพิเศษ อย่างเช่นผู้สูงอายุ. “จงคำนับคนผมหงอกและนับถือคนแก่.” (เลวีติโก 19:32) โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ในกรณีของคนที่ได้รับใช้พระยะโฮวาอย่างซื่อสัตย์มาเนิ่นนานปี เพราะ “ผมหงอกบนศีรษะเป็นเหมือนมงกุฎแห่งสง่าราศีถ้าใจอยู่ในที่ชอบธรรม.” (สุภาษิต 16:31) ผู้ดูแลควรวางตัวอย่างโดยแสดงความเอาใจใส่ตามที่สมควรต่อเพื่อนคริสเตียนที่อายุมากกว่า. แน่ละ ผู้ที่อายุมากแล้วก็จำเป็นต้องแสดงเจตคติที่นับถือต่อคนที่อ่อนวัยกว่าด้วย โดยเฉพาะคนที่ทำหน้าที่รับผิดชอบร่วมกันในการบำรุงเลี้ยงฝูงแกะ.—1 เปโตร 5:2, 3.
16. บิดามารดาและบุตรให้เกียรติแก่กันโดยวิธีใด?
16 คนหนุ่มสาวควรให้เกียรติแก่บิดามารดาของตน: “ฝ่ายบุตรทั้งหลาย จงเชื่อฟังบิดามารดาของตนร่วมสามัคคีกันกับองค์พระผู้เป็นเจ้า เพราะว่าการนี้ชอบธรรม: ‘จงให้เกียรติบิดาและมารดาของตน’ ซึ่งเป็นบัญญัติแรกพร้อมด้วยคำสัญญา: ‘เพื่อว่าเจ้าจะอยู่ดีมีสุขและเจ้าจะอยู่ยืนยงบนแผ่นดินโลก.’” ฝ่ายบิดามารดาก็ต้องให้เกียรติแก่บุตร เพราะพวกเขาได้รับพระบัญชาว่า ‘อย่ายั่วบุตรของตนให้ขัดเคืองใจ แต่จงอบรมเขาด้วยการตีสอนและการปรับความคิดจิตใจตามหลักการของพระยะโฮวา.’—เอเฟโซ 6:1-4, ล.ม.; เอ็กโซโด 20:12.
17. ใครสมควรได้รับ “เกียรติสองเท่า”?
17 คนที่ควรได้รับเกียรติด้วยได้แก่คนที่ทำงานหนักในการรับใช้ประชาคม: “จงถือว่าผู้เฒ่าผู้แก่ซึ่งทำหน้าที่เป็นประธานอย่างดีนั้นสมควรได้รับเกียรติสองเท่า โดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้ที่พากเพียรในการพูดและการสั่งสอน.” (1 ติโมเธียว 5:17, ล.ม.) ทางหนึ่งที่เราจะให้เกียรติเช่นนี้ได้คือโดยการทำอย่างที่เฮ็บราย 13:17 (ล.ม.) กล่าวไว้: “จงเชื่อฟังคนเหล่านั้นซึ่งนำหน้าในท่ามกลางท่านทั้งหลายและจงอยู่ใต้อำนาจ.”
18. เราต้องปฏิบัติอย่างไรต่อคนภายนอกประชาคม?
18 เราต้องให้เกียรติแก่คนภายนอกประชาคมไหม? ใช่แล้ว. ตัวอย่างเช่น เราได้รับคำสั่งว่า “จงให้ทุกจิตวิญญาณยอมอยู่ใต้อำนาจที่สูงกว่า.” (โรม 13:1, ล.ม.) คนเหล่านี้ได้แก่ผู้ปกครองบ้านเมืองซึ่งพระยะโฮวาทรงอนุญาตให้ใช้อำนาจในหน้าที่จนกว่าราชอาณาจักรจะเข้ามาแทนที่พวกเขา. (ดานิเอล 2:44) ดังนั้น เรา “ให้แก่ทุกคนตามที่เขาควรจะได้รับ. ส่วยอากรควรจะให้แก่ผู้ใด, จงให้แก่ผู้นั้น ภาษีควรจะให้แก่ผู้ใด, จงให้แก่ผู้นั้น ความยำเกรงควรจะให้แก่ผู้ใด, จงให้แก่ผู้นั้น เกียรติยศควรจะให้แก่ผู้ใด, จงให้แก่ผู้นั้น.” (โรม 13:7) เราต้อง “ให้เกียรติคนทุกชนิด.”—1 เปโตร 2:17, ล.ม.
19. เราจะ “ทำการดี” ต่อผู้อื่นและให้เกียรติแก่พวกเขาได้อย่างไร?
19 ในขณะที่เป็นความจริงว่าเราต้องให้เกียรติแม้แต่คนภายนอกประชาคม พึงสังเกตสิ่งที่พระคำของพระเจ้าเน้น ที่ว่า “ตราบที่เรามีโอกาสเหมาะ ให้เราทำการดีต่อคนทั้งปวง แต่โดยเฉพาะอย่างยิ่งต่อผู้ที่สัมพันธ์กับเราในความเชื่อ.” (ฆะลาเตีย 6:10, ล.ม.) แน่นอน วิธีดีที่สุดที่เราสามารถ “ทำการดี” ต่อผู้อื่นคือการปลูกฝังและสนองความต้องการฝ่ายวิญญาณของพวกเขา. (มัดธาย 5:3) เราทำเช่นนี้ได้ด้วยการเอาใจใส่ข้อเตือนใจของอัครสาวกเปาโล ที่ว่า “จงทำสุดความสามารถเพื่อสำแดงตนให้เป็นที่พอพระทัยพระเจ้า เป็นคนงานที่ไม่มีอะไรต้องอาย ใช้คำแห่งความจริงอย่างถูกต้อง.” เมื่อเราใช้ทุกโอกาสอย่างผ่อนสั้นผ่อนยาวเพื่อให้คำพยาน ‘ทำให้งานรับใช้ของเราสำเร็จเต็มที่’ เราไม่เพียงแต่ทำดีต่อคนทั้งปวงเท่านั้น แต่ให้เกียรติแก่พวกเขาด้วย.—2 ติโมเธียว 2:15; 4:5, ล.ม.
การถวายเกียรติแด่พระยะโฮวา
20. เกิดอะไรขึ้นกับฟาโรห์และกองทัพของเขา และเพราะเหตุใด?
20 พระยะโฮวาทรงให้เกียรติแก่สิ่งทรงสร้างของพระองค์. ดังนั้น มีเหตุผลสมควรที่เราจะถวายเกียรติแด่พระองค์. (สุภาษิต 3:9; วิวรณ์ 4:11) พระคำของพระยะโฮวาบอกด้วยว่า “ผู้ที่ให้เกียรติแก่เรา เราจะให้เกียรติแก่เขา และผู้ที่ดูหมิ่นเรา ผู้นั้นจะถูกดูหมิ่น.” (1 ซามูเอล 2:30, ล.ม.) เมื่อฟาโรห์แห่งอียิปต์ได้รับแจ้งให้ปล่อยไพร่พลของพระเจ้าไป เขาตอบอย่างยโสโอหังว่า “พระยะโฮวานั้นเป็นผู้ใดเล่า, ที่เราจะต้องฟังคำของท่าน?” (เอ็กโซโด 5:2) เมื่อฟาโรห์ส่งกองทัพของเขาไปบดขยี้ชาวยิศราเอล พระยะโฮวาทรงแยกน้ำในทะเลแดงออกจากกันเพื่อชาติยิศราเอล. แต่เมื่อพวกอียิปต์ติดตามมา พระยะโฮวาทรงบันดาลให้น้ำกลับท่วมดังเดิม. “รถรบและพลรบของฟาโรห์ [พระยะโฮวา] ทรงเหวี่ยงลงทะเล.” (เอ็กโซโด 14:26-28; 15:4, ล.ม.) ดังนั้น การที่ฟาโรห์ปฏิเสธอย่างเย่อหยิ่งที่จะถวายเกียรติแด่พระยะโฮวานำเขาไปสู่จุดจบอันเป็นความหายนะ.—บทเพลงสรรเสริญ 136:15.
21. เหตุใดพระยะโฮวาไม่ทรงพอพระทัยเบละซาซัร และผลเป็นเช่นไร?
21 กษัตริย์เบละซาซัรแห่งบาบูโลนปฏิเสธที่จะถวายเกียรติแด่พระยะโฮวา. ระหว่างที่กินเลี้ยงเมามายกันอยู่นั้น เขาเย้ยหยันพระยะโฮวาด้วยการดื่มเหล้าองุ่นจากจอกทองและจอกเงินที่ใช้ในการนมัสการซึ่งนำมาจากพระวิหารแห่งกรุงยะรูซาเลม. และขณะที่เขาทำอย่างนี้ เขาก็สรรเสริญเยินยอพระนอกรีตของเขาไปด้วย. แต่ดานิเอลผู้รับใช้ของพระยะโฮวาแจ้งแก่เขาว่า “ฝ่าพระบาท . . . ยังหาได้ถ่อมพระทัยของฝ่าพระบาทลงไม่; แต่กลับได้ยกพระองค์ขึ้นข่มพระเจ้าแห่งสรวงสวรรค์.” ในคืนนั้นเอง เบละซาซัรก็ถูกปลงพระชนม์ และอาณาจักรของเขาก็ถูกเอาไปเสียจากเขา.—ดานิเอล 5:22-31.
22. (ก) เหตุใดพระพิโรธของพระยะโฮวาจึงมีแก่พวกผู้นำชาติยิศราเอลและประชาชนของพวกเขา? (ข) พระยะโฮวาทรงพอพระทัยผู้ใด และผลเป็นเช่นไร?
22 ในศตวรรษแรกแห่งสากลศักราช กษัตริย์เฮโรดมีพระราชดำรัสแก่สาธารณชน และคนทั้งหลายก็ร้องขึ้นว่า “เป็นพระสุรเสียงของพระ, มิใช่เสียงของมนุษย์!” กษัตริย์ผู้ทะนงตนมิได้คัดค้าน ด้วยเขาปรารถนาเกียรติยศนั้น. ด้วยเหตุนี้ “ทูตองค์หนึ่งของพระเจ้าบันดาลให้เกิดโรคร้ายแก่ท่าน, เพราะท่านมิได้ถวายเกียรติยศแก่พระเจ้า.” (กิจการ 12:21-23) เฮโรดให้เกียรติแก่ตนเองแต่มิได้ถวายเกียรติแด่พระยะโฮวา และถูกลงโทษถึงตาย. พวกหัวหน้าศาสนาในเวลานั้นลบหลู่พระเกียรติของพระเจ้าโดยคบคิดกันฆ่าพระเยซูพระบุตรของพระองค์. ขุนนางบางคนทราบว่าพระเยซูทรงสอนความจริงแต่ก็มิได้ติดตามพระองค์ “เพราะเขารักสง่าราศีของมนุษย์มากกว่าสง่าราศีของพระเจ้า.” (โยฮัน 11:47-53; 12:42, 43, ล.ม.) ชาตินี้โดยรวมมิได้ถวายเกียรติแด่พระยะโฮวาหรือพระเยซูผู้เป็นตัวแทนที่พระองค์ทรงแต่งตั้ง. ผลก็คือ พระยะโฮวาไม่ทรงให้เกียรติแก่พวกเขาอีกต่อไป ทรงละทิ้งพวกเขาและพระวิหารของพวกเขาให้ถูกทำลาย. แต่พระองค์ทรงปกปักรักษาชีวิตของคนที่ถวายเกียรติแด่พระองค์และพระบุตร.—มัดธาย 23:38; ลูกา 21:20-22.
23. เราต้องทำอะไรเพื่อจะมีชีวิตในโลกใหม่ของพระเจ้า? (บทเพลงสรรเสริญ 37:9-11; มัดธาย 5:5)
23 ทุกคนที่ต้องการมีชีวิตในโลกใหม่ของพระเจ้าหลังจากที่ระบบปัจจุบันนี้ถูกทำลายต้องถวายเกียรติแด่พระเจ้าและพระคริสต์เยซูพระบุตรของพระองค์ และเชื่อฟังพระองค์ทั้งสอง. (โยฮัน 5:22, 23; ฟิลิปปอย 2:9-11) คนที่ไม่ถวายเกียรติเช่นนั้น “จะถูกตัดให้สิ้นศูนย์จากแผ่นดิน.” ในทางตรงข้าม คนสัตย์ธรรมที่ถวายเกียรติและเชื่อฟังพระเจ้าและพระคริสต์ “จะได้พำนักอยู่ในแผ่นดิน.”—สุภาษิต 2:21, 22.
การทบทวน
▫ การให้เกียรติแก่ผู้อื่นหมายถึงอะไร และพระยะโฮวาทรงทำเช่นนี้อย่างไร?
▫ พระเยซูและเปาโลให้เกียรติแก่ผู้อื่นอย่างไร?
▫ ใครสมควรได้รับเกียรติในสมัยของเรานี้?
▫ เหตุใดเราต้องถวายเกียรติแด่พระยะโฮวาและพระเยซู?
[รูปภาพหน้า 17]
พระยะโฮวาทรงให้เกียรติแก่อับราฮามโดยทรงพิจารณาคำอ้อนวอนของท่าน
[รูปภาพหน้า 18]
ในชีวิตสมรสที่ประสบผลสำเร็จ สามีและภรรยาให้เกียรติแก่กันและกัน