การสมรสควรเป็นการผูกพันที่ยั่งยืนตลอดไป
ดังที่เราเห็นจากตอนจบของภาพยนตร์หลายเรื่อง การแต่งงานเป็นเป้าหมายที่น่าปรารถนา. บ่อยครั้ง ผู้ชายกับผู้หญิงได้มาอยู่ด้วยกันในที่สุด, แต่งงาน, และ “มีความสุขตลอดไป.” ในภาพยนตร์ เรื่องก็มักจบลงเพียงเท่านี้.
ในความเป็นจริง การแต่งงานไม่ใช่ตอนจบ แต่เป็นตอนเริ่มต้น ของชีวิตใหม่ร่วมกัน. และเราหวังว่า “เบื้องปลายแห่งสิ่งใด ๆ ก็ดีกว่าเบื้องต้นแห่งสิ่งนั้น ๆ” อย่างที่ท่านผู้ประกาศ 7:8 กล่าวไว้.
ความผูกพันที่ยั่งยืนตลอดไป
จำเป็นต้องมองการณ์ไกล. เพื่อการสมรสจะยั่งยืนนานและน่าพอใจ ความผูกพันนั้นต้องมีรากฐานที่แน่นหนา. หาไม่แล้ว ชีวิตหลังงานแต่งงานอาจมีความเครียดมากกว่าช่วงก่อนงานแต่งงานมากทีเดียว. คริสเตียนไม่อาจจะตัดสินใจร่วมชีวิตกับใครโดยคิดว่า ‘ถ้าไปไม่รอด จะหย่าเมื่อไรก็ได้.’ เขาต้องถือว่าการสมรสเป็นการผูกพันที่ยั่งยืนตลอดไป.
พระเยซูทรงทำให้กระจ่างชัดว่าการสมรสควรยั่งยืนถาวรเมื่อพระองค์ตอบคนที่ถามพระองค์ว่าการหย่าเหมาะสมหรือไม่. พระองค์ตรัสว่า “พวกท่านไม่ได้อ่านหรือว่า, พระผู้ทรงสร้างมนุษย์แต่เดิมได้ทรงสร้างให้เป็นชายและหญิง, และตรัสว่า, ‘เพราะเหตุนั้นบุรุษจึงต้องละบิดามารดาของตนไปผูกพันอยู่กับภรรยา, และเขาทั้งสองจะเป็นเนื้ออันเดียวกัน?’ เขาจึงไม่เป็นสองต่อไป, แต่เป็นเนื้ออันเดียวกัน. เหตุฉะนั้นซึ่งพระเจ้าได้ผูกพันกันแล้ว. อย่าให้มนุษย์ทำให้พรากจากกันเลย.”—มัดธาย 19:4-6.
หลังวันแต่งงาน
มีการกล่าวอย่างถูกต้องว่า ในชีวิตของคริสเตียนนั้น การแต่งงานสำคัญเป็นอันดับสองรองจากการอุทิศตัวแด่พระเจ้า. การอุทิศตัวแด่พระเจ้าเป็นการผูกมัดคนเรากับพระผู้สร้างตลอดไป และการรับบัพติสมาก็ทำให้คนอื่นทราบถึงการอุทิศตัวนั้น. การสมรสเป็นการประกาศให้คนรู้ทั่วกันว่าเขาได้ทำข้อผูกมัดกับอีกคนหนึ่ง—ตลอดไป. เป็นไปไม่ได้ที่จะอุทิศตัวแด่พระเจ้าหรือสร้างสายสัมพันธ์การสมรสโดยมีข้อแม้. ดังนั้น คนที่กำลังคิดจะแต่งงานควรพิจารณาให้ดีว่าคู่ของตนมีความเชื่อ, เป้าหมาย, เจตคติ, และทัศนะเช่นไร.
ในการเตรียมงานแต่งงาน เป็นสิ่งสำคัญที่จะต้องมีความกรุณา, การคำนึงถึงผู้อื่น, และบรรยากาศของความร่วมมือกัน. คุณลักษณะเช่นนี้ยิ่งมีความสำคัญหลังจากวันนั้น เพื่อจะทำให้ชีวิตสมรสประสบความสำเร็จ. คนที่เพิ่งแต่งงานกันใหม่ ๆ นั้นรักกันมาก แต่หลังจากวันแต่งงานผ่านไป พวกเขาต้องจำไว้ว่าวันแล้ววันเล่าความรักจะ “ไม่แสวงหาผลประโยชน์สำหรับตนเอง.” เมื่อแสดงความรักอย่างสม่ำเสมอปีแล้วปีเล่า “ความรักไม่ล้มเหลวเลย.” (1 โกรินโธ 13:5, 8, ล.ม.) ด้วยความรักที่มั่นคง คุณลักษณะต่าง ๆ เช่น ความอดกลั้นไว้นาน, ความกรุณา, ความดี, ความอ่อนโยน, และการรู้จักบังคับตน ซึ่งเป็นผลแห่งพระวิญญาณของพระเจ้า จะสำแดงออกมาได้ง่ายขึ้น. คุณลักษณะเหล่านี้เป็นสิ่งจำเป็นเพื่อจะทำให้ชีวิตสมรสประสบความสำเร็จ.—ฆะลาเตีย 5:22, 23.
สิ่งที่ยากคือการแสดงคุณลักษณะเช่นนี้ต่อ ๆ ไป หลังจากวันแต่งงาน. อย่างไรก็ตาม เคล็ดลับของความสำเร็จในการแสดงคุณลักษณะที่ดีเหล่านี้คือ: รักคนที่คุณแต่งงานด้วย และเต็มใจเสียสละ.
พระเยซูตรัสว่าพระบัญญัติที่ใหญ่ที่สุดสำหรับมนุษย์คือที่จะรักพระยะโฮวา และพระองค์ตรัสว่า พระบัญญัติที่ใหญ่เป็นอันดับสองคือ “จงรักเพื่อนบ้านเหมือนรักตนเอง.” (มัดธาย 22:39) เพื่อนบ้านที่ใกล้ชิดที่สุดสำหรับคนที่แต่งงานแล้วคือคู่สมรสของเขา เพราะไม่มีอะไรในโลกนี้ที่จะทำให้คนสองคนผูกพันกันได้เท่ากับสายสมรส.
อย่างไรก็ดี แค่ความผูกพันทางกายไม่ได้รับประกันว่าจะมีความเป็นหนึ่งเดียวกันทางอารมณ์ความรู้สึก. ความผูกพันทางร่างกายของคนสองคน ไม่ได้ทำให้เกิดความผูกพันทางความคิดจิตใจเสมอไป. เพื่อความสัมพันธ์ทางเพศจะก่อความพึงพอใจสูงสุด ยังต้องมีความผูกพันอย่างที่สอง นั่นคือความผูกพันทางใจและทางความคิด. ส่วนใหญ่แล้ว จำเป็นต้องมีการเสียสละเพื่ออีกคนหนึ่งเพื่อการสมรสจะประสบความสำเร็จได้. ใครล่ะควรจะเสียสละ? สามีไหม? หรือภรรยา?
การแสดงความรักและให้เกียรติ
พระคำของพระเจ้าบัญชาว่า “ในการให้เกียรติกัน จงนำหน้า.” (โรม 12:10, ล.ม.) ถ้าคุณทำได้ จงเสียสละก่อนที่คู่ของคุณจะขอร้อง. เพราะสิ่งที่ได้มาหลังจากการร้องขอซ้ำแล้วซ้ำอีกก็ไม่ค่อยมีคุณค่าแล้ว. แทนที่จะเป็นอย่างนั้น คู่สมรสแต่ละฝ่ายควรพัฒนานิสัยที่จะริเริ่มให้เกียรติอีกฝ่ายหนึ่ง.
เพื่อเป็นตัวอย่าง สามีได้รับพระบัญชาว่า “จงให้เกียรติยศแก่ภรรยาเหมือนหนึ่งเป็นภาชนะที่อ่อนแอกว่า . . . เพื่อจะได้ไม่มีสิ่งหนึ่งสิ่งใดขัดขวางคำอธิษฐานของท่าน.” (1 เปโตร 3:7) ถ้าสามีไม่ได้ให้เกียรติภรรยา แม้แต่คำอธิษฐานที่เขาทูลต่อพระเจ้าก็จะได้รับผลเสีย. แต่การให้เกียรติภรรยาหมายถึงอะไร? นั่นหมายถึงการคำนึงถึงเธอตลอดเวลา, ฟังความคิดเห็นของเธอ, ให้เธอเลือกก่อนในเรื่องต่าง ๆ เป็นส่วนใหญ่. และภรรยาก็อาจให้เกียรติสามีได้ในลักษณะเดียวกัน โดยพยายามเป็นเพื่อนร่วมงานที่คอยให้ความช่วยเหลือ.—เยเนซิศ 21:12; สุภาษิต 31:10-31.
พระคำของพระเจ้าแถลงว่า “สามีทั้งหลายจึงควรรักภรรยาของตนเหมือนรักร่างกายของตนเอง. ผู้ที่รักภรรยาของตนก็รักตัวเอง เพราะไม่มีชายคนใดเคยเกลียดชังเนื้อหนังของตนเอง; แต่เขาเลี้ยงดูและทะนุถนอมเนื้อหนังนั้น ดังที่พระคริสต์ได้ทรงกระทำกับประชาคม.” พระคริสต์ทรงรักสาวกของพระองค์มากขนาดไหน? พระองค์ทรงเต็มพระทัยสละชีวิตเพื่อพวกเขา. คัมภีร์ไบเบิลบอกด้วยว่า “ให้พวกท่าน [สามี] ทุกคนต่างก็รักภรรยาของตนเหมือนรักตัวเอง.” (เอเฟโซ 5:28-33, ล.ม.) และพระคำของพระเจ้าบอกภรรยาทั้งหลาย “ให้รักสามีของตน, . . . ยอมอยู่ใต้สามีของตน เพื่อจะไม่มีผู้ใดพูดลบหลู่พระคำของพระเจ้า.”—ติโต 2:4, 5, ล.ม.
อดทนกับความผิดพลาด
เนื่องจากทุกคนเป็นคนไม่สมบูรณ์มาตั้งแต่กำเนิด ทุกคนจึงทำผิดพลาด. (โรม 3:23; 5:12; 1 โยฮัน 1:8-10) แต่แทนที่จะทำให้ความผิดพลาดกลายเป็นเรื่องใหญ่ จงเชื่อฟังคำแนะนำของคัมภีร์ไบเบิลที่ว่า “ยิ่งกว่าอะไรหมดก็จงรักซึ่งกันและกันให้มาก ด้วยว่าความรักก็ปกปิดความผิดไว้มากหลาย.” (1 เปโตร 4:8) วิธีที่ดีที่สุดที่จะจัดการกับความผิดพลาดเล็ก ๆ น้อย ๆ คือเลิกคิดถึงเรื่องนั้นและมองข้ามไปเสีย. นี่อาจเป็นวิธีที่ดีเพื่อจัดการกับความผิดพลาดที่ร้ายแรงกว่าด้วย. โกโลซาย 3:12-14 (ล.ม.) กล่าวว่า “จงสวมตัวท่านด้วยความเมตตารักใคร่อันอ่อนละมุน, ความกรุณา, จิตใจอ่อนน้อม, ความอ่อนโยน, และความอดกลั้นไว้นาน. จงทนต่อกันและกันอยู่เรื่อยไปและจงอภัยให้กันและกันอย่างใจกว้างถ้าแม้นผู้ใดมีสาเหตุจะบ่นว่าคนอื่น. พระยะโฮวาทรงให้อภัยท่านอย่างใจกว้างฉันใด ท่านทั้งหลายจงกระทำฉันนั้น. แต่นอกจากสิ่งเหล่านี้ทั้งหมด จงสวมตัวท่านด้วยความรัก เพราะความรักเป็นเครื่องผูกพันอันสมบูรณ์ที่ทำให้เป็นหนึ่งเดียว.”
เราควรให้อภัยความผิดพลาดและข้อบกพร่องธรรมดา ๆ ของคู่สมรสบ่อยสักแค่ไหน? เปโตรเคยถามพระเยซูว่า “‘พระองค์เจ้าข้า พี่น้องของข้าพเจ้าจะทำผิดต่อข้าพเจ้ากี่ครั้งแล้วข้าพเจ้าจึงจะต้องอภัยเขา? ถึงเจ็ดครั้งหรือ?’ พระเยซูตรัสแก่เขาว่า ‘เราบอกเจ้าว่า ไม่ใช่ถึงเจ็ดครั้ง แต่ถึงเจ็ดสิบเจ็ดครั้ง.’” (มัดธาย 18:21, 22, ล.ม.) เนื่องจากตอนนั้นพระเยซูตรัสถึงความสัมพันธ์กับผู้อื่นที่ไม่ใช่คู่สมรส การให้อภัยจึงนับว่าจำเป็นมากกว่านั้นสักเท่าใดระหว่างคู่สมรส!
แม้ว่าสถาบันการสมรสถูกโจมตีอย่างหนักในระยะหลัง ๆ แต่ในที่สุด การสมรสก็จะอยู่รอดได้เนื่องจากพระเจ้าเป็นผู้ก่อตั้งการสมรสขึ้น และทุกสิ่งที่พระองค์ทรงบัญชาเป็นสิ่งที่ “ดีนัก.” (เยเนซิศ 1:31) การสมรสจะไม่มีวันล้าสมัย. และการสมรสก็ประสบความสำเร็จได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งท่ามกลางคนที่นับถือและยึดมั่นพระบัญชาของพระเจ้า. แต่ปัญหาคือ: คนสองคนจะซื่อสัตย์ต่อคำสัญญาที่ตนได้ให้ไว้ในวันแต่งงานที่จะรักและทะนุถนอมกันและกันไหม? นั่นอาจเป็นข้อท้าทายทีเดียว และคุณอาจต้องสู้เพื่อจะเอาชนะได้. แต่ผลที่เกิดขึ้นจะคุ้มค่ากับความพยายาม!
[กรอบหน้า 10]
การหย่าและการแยกกันอยู่
พระเจ้า ผู้ทรงริเริ่มการสมรส ทรงมุ่งหมายให้สายสมรสยั่งยืนตลอดไป. แต่มีเหตุผลใด ๆ ตามหลักพระคัมภีร์ไหมที่ทำให้คนเราหย่าคู่สมรสของตนและแต่งงานใหม่ได้? พระเยซูตรัสถึงเรื่องนี้โดยแจ้งว่า “ฝ่ายเราบอกท่านทั้งหลายว่า, ผู้ใดหย่าภรรยาของตนเพราะเหตุต่าง ๆ เว้นแต่ผิดกับชายอื่น, แล้วไปมีภรรยาใหม่, ก็ผิดประเวณี.” (มัดธาย 19:9) การไม่ซื่อสัตย์ทางเพศของคู่สมรสเป็นมูลเหตุเพียงอย่างเดียวสำหรับการหย่าซึ่งทำให้ฝ่ายที่ไม่ผิดแต่งงานใหม่ได้.
นอกจากนั้น ข้อความในคัมภีร์ไบเบิลที่ 1 โกรินโธ 7:10-16 ซึ่งแม้จะสนับสนุนให้คู่สมรสอยู่ด้วยกัน แต่ก็ยอมให้มีการแยกกันอยู่. หลังจากที่ได้พยายามอย่างเต็มที่เพื่อรักษาสายสมรสของตนไว้ บางคนรู้สึกว่าเขาไม่มีทางเลือกนอกจากจะแยกกันอยู่. มีมูลเหตุตามหลักพระคัมภีร์อะไรบ้างที่ทำให้การแยกกันอยู่เป็นที่ยอมรับได้?
มูลเหตุอย่างหนึ่งคือจงใจไม่อุปการะเลี้ยงดู. เมื่อแต่งงานกัน สามียอมรับหน้าที่หาเลี้ยงภรรยาและบุตร. ผู้ชายที่จงใจไม่จัดหาสิ่งจำเป็นทางวัตถุ “ก็ปฏิเสธความเชื่อเสียแล้ว, และซ้ำชั่วยิ่งกว่าคนที่ไม่ได้เชื่อเลย.” (1 ติโมเธียว 5:8) ดังนั้น การแยกกันอยู่ก็เป็นไปได้.
มูลเหตุอีกอย่างหนึ่งคือการทำร้ายร่างกายอย่างรุนแรง. ดังนั้น ถ้าคู่สมรสทำร้ายร่างกายภรรยาของเขาบ่อย ๆ ผู้ถูกทำร้ายอาจขอแยกทางได้. (ฆะลาเตีย 5:19-21; ติโต 1:7) “คนใดที่รักความรุนแรงนั้นจิตวิญญาณของ [พระเจ้า] ทรงเกลียดชังอย่างแน่นอน.”—บทเพลงสรรเสริญ 11:5, ล.ม.
อีกมูลเหตุหนึ่งสำหรับการแยกกันอยู่คือมีอันตรายที่ชัดเจนต่อสภาพฝ่ายวิญญาณของผู้เชื่อถือ กล่าวคือสัมพันธภาพของเขากับพระเจ้า. เมื่อคู่สมรสต่อต้าน บางทีอาจถึงกับกักขัง ทำให้ไม่สามารถติดตามการนมัสการแท้ได้และเป็นอันตรายต่อสภาพฝ่ายวิญญาณของผู้เชื่อถือ บางคนก็พบว่าจำเป็นต้องแยกทาง.a—มัดธาย 22:37; กิจการ 5:27-32.
อย่างไรก็ตาม ถ้ามีการหย่าภายใต้สภาพการณ์เหล่านี้ เขาจะไม่มีอิสระจะแต่งงานใหม่. ตามที่คัมภีร์ไบเบิลบอก มูลเหตุที่ถูกต้องเพียงอย่างเดียวสำหรับการหย่าซึ่งอนุญาตให้แต่งงานใหม่ได้คือการเล่นชู้หรือ “ผิดประเวณี.”—มัดธาย 5:32.
[เชิงอรรถ]
a ดูหอสังเกตการณ์ ฉบับ 1 พฤศจิกายน 1988 หน้า 19, 20 สำหรับการพิจารณาเรื่องการแยกกันอยู่.
[ภาพหน้า 9]
ควรถือว่าการสมรสเป็นการจัดเตรียมที่ยั่งยืนถาวร
[ภาพหน้า 10]
พระเยซูตรัสว่าเราควรให้อภัย “เจ็ดสิบเจ็ดครั้ง”