บท 15
การสร้างครอบครัวที่ถวายเกียรติแด่พระเจ้า
1-3. ทำไมบางคนไม่สามารถแก้ปัญหาที่มักจะเกิดขึ้นในชีวิตสมรสและในการเป็นบิดามารดาได้ แต่ทำไมคัมภีร์ไบเบิลช่วยได้?
สมมุติว่า คุณวางแผนจะสร้างบ้านของคุณเอง. คุณซื้อที่ดิน. ด้วยความคาดหวังอย่างแรงกล้า คุณเห็นภาพบ้านหลังใหม่ของคุณ. แต่จะว่าอย่างไรหากคุณไม่มีเครื่องมือและไม่มีความชำนาญในการก่อสร้าง? คุณคงจะรู้สึกข้องขัดใจสักเพียงไร!
2 คู่สมรสหลายคู่เข้าสู่ชีวิตสมรสโดยวาดมโนภาพครอบครัวที่มีความสุข แต่ก็ไม่มีทั้งเครื่องมือและความชำนาญในการสร้างครอบครัวเช่นนั้น. ไม่นานหลังจากวันแต่งงาน รูปแบบพฤติกรรมที่ไม่ดีก็เผยออกมา. การโต้แย้งและการทะเลาะวิวาทกันกลายเป็นกิจวัตรประจำวัน. เมื่อบุตรเกิดมา ผู้ที่เพิ่งเป็นบิดาและมารดาพบว่าตนเองขาดความชำนาญในการเป็นบิดามารดาพอ ๆ กับขาดความชำนาญในการทำให้ชีวิตสมรสเป็นสุข.
3 อย่างไรก็ตาม น่ายินดีที่คัมภีร์ไบเบิลสามารถช่วยได้. หลักการในพระคัมภีร์เป็นเสมือนเครื่องมือที่ทำให้คุณสามารถสร้างครอบครัวที่มีความสุข. (สุภาษิต 24:3) ให้เรามาดูว่าเรื่องนี้จะบรรลุผลได้อย่างไร.
เครื่องมือสำหรับสร้างชีวิตสมรสที่มีความสุข
4. ทำไมพึงคาดหมายปัญหาในชีวิตสมรส และมีการจัดเตรียมมาตรฐานอะไรไว้ในคัมภีร์ไบเบิล?
4 ไม่ว่าคู่สมรสดูเหมือนเข้ากันได้ดีสักเพียงไร เขาก็ยังต่างกันทางโครงสร้างด้านอารมณ์, ประสบการณ์ในวัยเด็ก, และภูมิหลังของครอบครัว. ฉะนั้น พึงคาดหมายปัญหาบางอย่างภายหลังการสมรส. จะจัดการกับปัญหาเหล่านั้นโดยวิธีใด? เมื่อช่างก่อสร้างสร้างบ้าน เขาจะตรวจดูแบบแปลน. แบบแปลนเหล่านี้เป็นแนวชี้แนะที่ต้องปฏิบัติตาม. คัมภีร์ไบเบิลจัดเตรียมแนวชี้แนะของพระเจ้าสำหรับการสร้างครอบครัวที่มีความสุข. ขอให้เราพิจารณาแนวชี้แนะเหล่านี้บางประการ.
5. คัมภีร์ไบเบิลเน้นความสำคัญของความภักดีในชีวิตสมรสอย่างไร?
5 ความภักดี. พระเยซูตรัสว่า “ซึ่งพระเจ้าได้ผูกพันกันแล้ว อย่าให้มนุษย์ทำให้พรากจากกันเลย.”a (มัดธาย 19:6) อัครสาวกเปาโลเขียนว่า “จงให้การสมรสนั้นเป็นที่นับถือแก่คนทั้งปวง, และให้ที่นอนปราศจากมลทิน ด้วยว่าคนเหล่านั้นที่เล่นชู้กันและคนล่วงประเวณี พระเจ้าจะทรงพิพากษา.” (เฮ็บราย 13:4) เพราะฉะนั้น ผู้ที่สมรสแล้วควรสำนึกถึงพันธะซึ่งมีต่อพระยะโฮวาที่จะคงไว้ซึ่งความซื่อสัตย์ต่อคู่สมรสของตน.—เยเนซิศ 39:7-9.
6. ความภักดีจะช่วยรักษาชีวิตสมรสไว้อย่างไร?
6 ความภักดีทำให้ชีวิตสมรสมีศักดิ์ศรีและความมั่นคง. คู่ชีวิตที่ภักดีทราบว่า ไม่ว่าจะเกิดอะไรขึ้น เขาจะช่วยเหลือซึ่งกันและกัน. (ท่านผู้ประกาศ 4:9-12) ช่างต่างกันเพียงไรกับคนเหล่านั้นซึ่งละทิ้งชีวิตสมรสทันทีเมื่อเกิดปัญหาขึ้น! บุคคลดังกล่าวด่วนสรุปว่า เขา ‘เลือกคู่ผิด,’ เขา ‘ไม่ได้รักกันอีกต่อไปแล้ว,’ คู่คนใหม่เป็นวิธีแก้. แต่การสรุปเช่นนี้ไม่ได้ให้โอกาสทั้งสองฝ่ายปรับปรุงตัว. แทนที่จะเป็นเช่นนั้น ฝ่ายที่ไม่ภักดีอาจนำปัญหาเดียวกันไปให้คู่คนใหม่. เมื่อคนเรามีบ้านที่สวยงาม แต่พบว่าหลังคารั่ว แน่นอน เขาคงจะพยายามซ่อมหลังคา. เขาไม่ได้เพียงแต่ย้ายไปอยู่บ้านอีกหลังหนึ่ง. ในทำนองคล้ายกัน การเปลี่ยนคู่สมรสไม่ใช่วิธีแก้ปัญหาซึ่งเป็นต้นเหตุของการขัดแย้งกันในชีวิตสมรส. เมื่อเกิดปัญหา อย่าพยายามหาทางทำให้ชีวิตสมรสสิ้นสุดลง แต่จงบากบั่นที่จะรักษาชีวิตสมรสไว้. ความภักดีดังกล่าวถือว่า ชีวิตสมรสเป็นสิ่งมีค่าควรแก่การปกป้อง, รักษา, และทะนุถนอม.
7. ทำไมบ่อยครั้งการสื่อความเป็นเรื่องยากสำหรับคนที่สมรสแล้ว แต่การสวมใส่ “บุคลิกภาพใหม่” ช่วยได้อย่างไร?
7 การสื่อความ. สุภาษิตข้อหนึ่งในคัมภีร์ไบเบิลกล่าวว่า “แผนการล้มเหลวเมื่อไม่มีการพูดคุยกันเป็นความลับเฉพาะ.” (สุภาษิต 15:22, ล.ม.) กระนั้น การสื่อความเป็นเรื่องยากสำหรับคู่สมรสบางคู่. ทำไมจึงเป็นเช่นนั้น? เพราะคนเรามีลักษณะการสื่อความที่ต่างกัน. นี่เป็นข้อเท็จจริงซึ่งบ่อยครั้งนำไปสู่ความเข้าใจผิดและความข้องขัดใจมากทีเดียว. การเลี้ยงดูอาจมีบทบาทในเรื่องนี้. ยกตัวอย่าง บางคนอาจได้รับการเลี้ยงดูในครอบครัวที่บิดามารดาทะเลาะกันเสมอ. ตอนนี้ในฐานะผู้ใหญ่ที่สมรสแล้ว เขาอาจไม่รู้วิธีพูดกับคู่สมรสของตนด้วยท่าทีกรุณาและด้วยความรัก. ถึงอย่างไรก็ตาม บ้านของคุณไม่จำต้องเลวลงจนเป็น ‘เรือนที่เต็มด้วยการวิวาท.’ (สุภาษิต 17:1, ฉบับแปลใหม่) คัมภีร์ไบเบิลเน้นการสวมใส่ “บุคลิกภาพใหม่” และไม่ยอมให้มีความขมขื่นอย่างประสงค์ร้าย, การร้องโวยวาย, และคำพูดหยาบหยาม.—เอเฟโซ 4:22-24, 31, ล.ม.
8. อะไรอาจช่วยได้เมื่อคุณไม่ลงรอยกับคู่สมรส?
8 คุณจะทำประการใดได้เมื่อมีความไม่ลงรอยกัน? หากอารมณ์เริ่มพลุ่งขึ้น คงเป็นการฉลาดสุขุมที่จะปฏิบัติตามคำแนะนำในสุภาษิต 17:14 (ฉบับแปลใหม่) ที่ว่า “จงเลิกเสียก่อนเกิดการวิวาท.” ถูกแล้ว คุณอาจเลื่อนการสนทนาไปก่อนจนกว่าคุณและคู่สมรสสงบสติอารมณ์ลงแล้ว. (ท่านผู้ประกาศ 3:1, 7) ไม่ว่าเกิดอะไรขึ้น จงพยายามที่จะ “ว่องไวในการฟัง, ช้าในการพูด, ช้าในการโกรธ.” (ยาโกโบ 1:19) เป้าหมายของคุณควรเป็นการแก้ไขสถานการณ์ ไม่ใช่เพื่อเอาชนะการโต้เถียง. (เยเนซิศ 13:8, 9) จงเลือกถ้อยคำและวิธีพูดซึ่งจะทำให้คุณและคู่สมรสสงบลง. (สุภาษิต 12:18; 15:1, 4; 29:11) โดยเฉพาะอย่างยิ่ง อย่าคงอยู่ในสภาพที่มึนตึงต่อกัน แต่แสวงหาความช่วยเหลือโดยทูลขอพระเจ้าในคำอธิษฐานที่ถ่อมใจด้วยกัน.—เอเฟโซ 4:26, 27; 6:18.
9. ทำไมจึงกล่าวได้ว่า การสื่อความเริ่มต้นที่หัวใจ?
9 สุภาษิตข้อหนึ่งในคัมภีร์ไบเบิลกล่าวว่า “หัวใจของคนฉลาดสุขุมเป็นเหตุให้ปากของเขาแสดงออกซึ่งความหยั่งเห็นเข้าใจ และเพิ่มคำแนะนำชักชวนให้แก่ริมฝีปากของเขา.” (สุภาษิต 16:23, ล.ม.) ดังนั้น จริง ๆ แล้ว ปัจจัยสำคัญในการสื่อความที่ประสบผลสำเร็จนั้นอยู่ที่หัวใจ ไม่ใช่ที่ปาก. เจตคติของคุณต่อคู่สมรสเป็นเช่นไร? คัมภีร์ไบเบิลสนับสนุนคริสเตียนให้แสดง “ความเห็นอกเห็นใจ.” (1 เปโตร 3:8, ล.ม.) คุณทำเช่นนี้ได้ไหมเมื่อคู่สมรสของคุณประสบความกังวลทุกข์ร้อน? ถ้าทำได้ นั่นจะช่วยคุณรู้ว่าจะตอบอย่างไร.—ยะซายา 50:4.
10, 11. สามีจะเอาคำแนะนำใน 1 เปโตร 3:7 ไปใช้ได้อย่างไร?
10 การให้เกียรติและความนับถือ. สามีคริสเตียนได้รับการกำชับให้อยู่กับภรรยา “ตามความรู้ ให้เกียรติแก่เขาทั้งหลายเหมือนหนึ่งเป็นภาชนะที่อ่อนแอกว่า คือเพศหญิง.” (1 เปโตร 3:7, ล.ม.) การให้เกียรติภรรยาหมายรวมถึงการยอมรับส่วนดีของเธอ. สามีซึ่งอยู่กับภรรยา “ตามความรู้” คำนึงมากถึงความรู้สึก, คุณลักษณะเด่น, เชาวน์ปัญญา, และศักดิ์ศรีของเธอ. เขาน่าจะเรียนรู้ด้วยว่า พระยะโฮวาทรงมองดูผู้หญิงอย่างไรและพระองค์ต้องการให้ปฏิบัติกับพวกเธออย่างไร.
11 สมมุติว่า ในบ้านของคุณมีภาชนะที่มีประโยชน์มากชิ้นหนึ่งซึ่งบอบบางเป็นพิเศษ. คุณจะไม่จับต้องภาชนะนั้นด้วยความระมัดระวังยิ่งหรอกหรือ? เปโตรได้ใช้ถ้อยคำ “ภาชนะที่อ่อนแอกว่า” ในทำนองคล้ายกัน และนี่ควรกระตุ้นสามีคริสเตียนให้ปฏิบัติต่อภรรยาผู้เป็นที่รักอย่างนุ่มนวล.
12. ภรรยาสามารถแสดงอย่างไรว่า เธอนับถือสามีอย่างสุดซึ้ง?
12 แต่คัมภีร์ไบเบิลให้คำแนะนำอะไรแก่ภรรยา? เปาโลเขียนไว้ว่า “ภรรยาควรแสดงความนับถืออย่างสุดซึ้งต่อสามีของตน.” (เอเฟโซ 5:33, ล.ม.) เช่นเดียวกับที่ภรรยาจำต้องรู้สึกว่าเธอได้รับเกียรติและความรักอย่างสุดซึ้งจากคู่สมรส สามีก็จำต้องรู้สึกว่าเขาได้รับความนับถือจากภรรยา. ภรรยาที่มีความนับถือจะไม่โพนทะนาความผิดพลาดของสามีอย่างไร้ความคิด ไม่ว่าเขาเป็นคริสเตียนหรือไม่. เธอจะไม่ทำลายศักดิ์ศรีของเขาโดยการวิพากษ์วิจารณ์และดูถูกเขาไม่ว่าเป็นส่วนตัวหรือต่อหน้าคนทั่วไป.—1 ติโมเธียว 3:11; 5:13.
13. จะแสดงความคิดเห็นด้วยท่าทีที่สร้างสันติได้อย่างไร?
13 นี่มิได้หมายความว่า ภรรยาออกความเห็นไม่ได้. หากมีอะไรรบกวนจิตใจเธอ เธอก็พูดออกมาด้วยความนับถือได้. (เยเนซิศ 21:9-12) การถ่ายทอดความคิดให้สามีของเธอฟังอาจเปรียบเหมือนการโยนลูกบอลให้เขา. เธออาจโยนลูกบอลให้เขาเบา ๆ เพื่อเขาจะรับได้ง่าย หรือเธออาจขว้างลูกบอลแรงจนทำให้เขาบาดเจ็บ. เป็นการดีกว่าสักเพียงไรเมื่อคู่สมรสทั้งสองฝ่ายหลีกเลี่ยงการประณามกัน แต่แทนที่จะทำเช่นนั้น พูดกันด้วยท่าทีกรุณาและนุ่มนวล!—มัดธาย 7:12; โกโลซาย 4:6; 1 เปโตร 3:3, 4.
14. คุณควรทำประการใดหากคู่ของคุณไม่ค่อยสนใจในการนำหลักการของคัมภีร์ไบเบิลมาใช้ในชีวิตสมรส?
14 ดังที่เราได้เห็น หลักการในคัมภีร์ไบเบิลสามารถช่วยคุณให้สร้างชีวิตสมรสที่มีความสุข. แต่จะว่าอย่างไรหากคู่สมรสของคุณไม่ค่อยสนใจในสิ่งที่คัมภีร์ไบเบิลกล่าวไว้? คุณก็ยังอาจบรรลุผลสำเร็จได้หากคุณใช้ความรู้ของพระเจ้าในการทำตามบทบาทของคุณ. เปโตรเขียนว่า “ท่านทั้งหลายที่เป็นภรรยา จงยอมอยู่ใต้อำนาจสามีของท่าน เพื่อว่า ถ้าคนใดไม่เชื่อฟังพระคำ แม้นไม่เอ่ยปาก เขาก็อาจถูกโน้มน้าวโดยการประพฤติของภรรยา เนื่องจากได้เห็นประจักษ์ถึงการประพฤติอันบริสุทธิ์ของท่านทั้งหลายพร้อมกับความนับถืออันสุดซึ้ง.” (1 เปโตร 3:1, 2, ล.ม.) แน่นอน อาจนำหลักการเดียวกันนี้มาใช้ได้กับสามีซึ่งมีภรรยาที่ไม่แยแสต่อคัมภีร์ไบเบิล. ไม่ว่าคู่ของคุณจะทำอะไร จงให้หลักการในคัมภีร์ไบเบิลทำให้คุณ เป็นคู่ชีวิตที่ดีขึ้น. ความรู้ของพระเจ้าสามารถทำให้คุณเป็นบิดาหรือมารดาที่ดีขึ้นด้วย.
การอบรมบุตรตามความรู้ของพระเจ้า
15. บางครั้งวิธีการอบรมเด็กแบบผิดพลาดถูกถ่ายทอดโดยวิธีใด แต่อาจเปลี่ยนแบบแผนนี้ได้อย่างไร?
15 การมีเพียงเลื่อยหรือค้อนไม่ได้ทำให้คนเราเป็นช่างไม้ที่ชำนาญ. เช่นเดียวกัน การเพียงแต่มีบุตรก็ไม่ได้ทำให้คนเราเป็นบิดามารดาที่ชำนาญ. ไม่ว่าโดยตั้งใจหรือไม่ตั้งใจ บ่อยครั้งบิดามารดาอบรมบุตรตามแบบที่เขาเองได้รับการอบรมมา. ด้วยเหตุนี้ บางครั้งวิธีการอบรมบุตรแบบผิดพลาดถูกถ่ายทอดจากคนรุ่นหนึ่งไปยังคนรุ่นถัดไป. สุภาษิตฮีบรูโบราณกล่าวว่า “พ่อรับประทานองุ่นเปรี้ยวและลูกก็เข็ดฟัน.” กระนั้น พระคัมภีร์แสดงให้เห็นว่า คนเราไม่จำต้องติดตามแนวทางที่บิดามารดาวางไว้. เขาสามารถเลือกทางที่ต่างออกไป ทางที่ได้รับการโน้มนำจากกฎหมายของพระยะโฮวา.—ยะเอศเคล 18:2, 14, 17, ฉบับแปลใหม่.
16. ทำไมจึงสำคัญที่จะจัดหาให้ครอบครัวของคุณ และนี่หมายรวมถึงอะไรบ้าง?
16 พระยะโฮวาทรงคาดหมายให้บิดามารดาคริสเตียนให้การชี้นำและความเอาใจใส่ที่เหมาะสมแก่บุตรของตน. เปาโลเขียนว่า “ถ้าแม้นผู้ใดไม่จัดหามาเลี้ยงคนเหล่านั้นซึ่งเป็นของตนเอง และโดยเฉพาะคนเหล่านั้นซึ่งเป็นสมาชิกแห่งครอบครัวของตน ผู้นั้นก็ได้ปฏิเสธเสียซึ่งความเชื่อและนับว่าเลวร้ายกว่าคนที่ไม่มีความเชื่อเสียด้วยซ้ำ.” (1 ติโมเธียว 5:8, ล.ม.) ช่างเป็นถ้อยคำที่มีพลังเสียจริง ๆ! การปฏิบัติหน้าที่ของคุณฐานะผู้จัดหา ซึ่งหมายรวมถึงการเอาใจใส่ต่อความจำเป็นด้านร่างกาย, ด้านวิญญาณ, และด้านอารมณ์ของลูก ๆ เป็นสิทธิพิเศษและหน้าที่รับผิดชอบของบุคคลที่เลื่อมใสในพระเจ้า. คัมภีร์ไบเบิลเสนอหลักการที่สามารถช่วยบิดามารดาให้สร้างสภาพแวดล้อมที่มีความสุขสำหรับบุตรของตน. จงพิจารณาหลักการเหล่านี้บางข้อ.
17. อะไรเป็นสิ่งจำเป็นเพื่อลูกของคุณจะมีกฎหมายของพระเจ้าอยู่ในหัวใจของเขา?
17 วางตัวอย่างที่ดี. บิดามารดาที่เป็นชาวยิศราเอลได้รับพระบัญชาว่า “จงอุตส่าห์สั่งสอนบุตรทั้งหลายของเจ้าด้วยถ้อยคำเหล่านี้ [พระคำของพระเจ้า], และเมื่อเจ้าทั้งหลายจะนั่งอยู่ในเรือน หรือเดินในหนทาง, หรือนอนลง, และตื่นขึ้น.” บิดามารดาต้องสอนมาตรฐานของพระเจ้าให้แก่บุตรของตน. แต่คำตักเตือนนี้เริ่มต้นด้วยข้อความที่ว่า “ถ้อยคำเหล่านี้, ซึ่งเราสั่งไว้แก่เจ้าทั้งหลายในวันนี้, ก็ให้ตั้งอยู่ในใจของเจ้าทั้งหลาย.” (พระบัญญัติ 6:6, 7) ถูกแล้ว บิดามารดาไม่สามารถให้สิ่งที่เขาไม่มี. กฎหมายของพระเจ้าต้องจารึกไว้บนหัวใจของคุณเองก่อน หากคุณต้องการให้กฎหมายนั้นเขียนไว้บนหัวใจบุตรของคุณ.—สุภาษิต 20:7; เทียบกับลูกา 6:40.
18. ในการแสดงความรัก พระยะโฮวาทรงวางแบบอย่างอันยอดเยี่ยมไว้อย่างไรสำหรับบิดามารดา?
18 ให้ความมั่นใจในความรักของคุณ. ณ การรับบัพติสมาของพระเยซู พระยะโฮวาทรงแถลงว่า “ท่านเป็นบุตรที่รักของเรา, เราชอบใจท่านมาก.” (ลูกา 3:22) โดยวิธีนี้ พระยะโฮวาทรงยอมรับพระบุตร แสดงความพอพระทัยอย่างเปิดเผยต่อพระบุตร และทรงให้ความมั่นใจในความรักของพระองค์. ภายหลัง พระเยซูได้ตรัสกับพระบิดาของพระองค์ว่า “พระองค์ได้ทรงรักข้าพเจ้าก่อนสร้างโลก.” (โยฮัน 17:24) ดังนั้น ในฐานะบิดามารดาผู้เลื่อมใสพระเจ้า จงแสดงออกซึ่งความรักของคุณต่อพวกเขาโดยทางวาจาและทางกาย และทำเช่นนี้บ่อย ๆ. จงจำไว้เสมอว่า “ความรักก่อร่างสร้างขึ้น.”—1 โกรินโธ 8:1, ล.ม.
19, 20. มีอะไรรวมอยู่ด้วยในการตีสอนบุตรอย่างเหมาะสม และบิดามารดาสามารถได้รับประโยชน์อย่างไรจากแบบอย่างของพระยะโฮวา?
19 การตีสอน. คัมภีร์ไบเบิลเน้นความสำคัญของการตีสอนด้วยความรัก. (สุภาษิต 1:8) บิดามารดาซึ่งเลี่ยงความรับผิดชอบในการชี้นำลูกของตนในขณะนี้คงจะเผชิญกับผลที่ทำให้หัวใจสลายในวันข้างหน้าอย่างแน่นอน. กระนั้น บิดามารดาได้รับการเตือนให้ระวังการทำเกินควรด้วย. เปาโลเขียนว่า “ฝ่ายบิดา ก็อย่ายั่วบุตรของตนให้ขัดเคืองใจ, เกรงว่าเขาจะท้อใจ.” (โกโลซาย 3:21) บิดามารดาต้องไม่ว่ากล่าวบุตรมากเกินไปหรือพร่ำบ่นเกี่ยวกับข้อบกพร่องและหาเรื่องตำหนิความพยายามของเขา.
20 พระเจ้ายะโฮวา พระบิดาของเราทางภาคสวรรค์ ทรงวางแบบอย่างในการให้การตีสอน. การว่ากล่าวของพระองค์ไม่เคยมากเกินควร. พระเจ้าตรัสกับไพร่พลของพระองค์ว่า “เราจะตีสอนเจ้าตามขนาด [ที่เหมาะสม, ล.ม.].” (ยิระมะยา 46:28, ฉบับแปลใหม่) บิดามารดาควรเลียนแบบพระยะโฮวาในเรื่องนี้. การตีสอนที่เลยขอบเขตอันควรหรือเกินจุดประสงค์ที่ตั้งใจไว้ในการว่ากล่าวและสั่งสอนนั้นย่อมเป็นการยั่วโทสะอย่างแน่นอน.
21. บิดามารดาจะรู้ได้อย่างไรว่า การตีสอนของเขาบังเกิดผลหรือไม่?
21 บิดามารดาจะรู้ได้อย่างไรว่า การตีสอนของเขาบังเกิดผลหรือไม่? เขาอาจถามตัวเองว่า ‘การตีสอนของฉันทำให้อะไรบรรลุผล?’ การตีสอนควรเป็นการสั่งสอน. ลูกของคุณควรเข้าใจเหตุผลที่มีการตีสอน. บิดามารดาควรคำนึงถึงผลกระทบภายหลังการว่ากล่าวของเขาด้วย. จริงอยู่ การตีสอนจะทำให้เด็กแทบทุกคนขัดเคืองใจในตอนแรก. (เฮ็บราย 12:11) แต่การตีสอนไม่ควรทำให้เด็กรู้สึกตกใจกลัวหรือรู้สึกว่าถูกทอดทิ้ง หรือทำให้เขารู้สึกว่า เขาเป็นคนชั่วมาแต่กำเนิด. ก่อนทำการว่ากล่าวไพร่พลของพระองค์ พระยะโฮวาตรัสว่า “อย่ากลัวเลย เพราะเราอยู่กับเจ้า.” (ยิระมะยา 46:28, ฉบับแปลใหม่) ถูกแล้ว การว่ากล่าวควรดำเนินในวิธีที่บุตรของคุณสำนึกว่า คุณอยู่กับเขาในฐานะบิดามารดาที่มีความรักซึ่งให้การหนุนใจ.
การรับ “การชี้นำที่รอบคอบ”
22, 23. คุณจะรับการชี้นำได้อย่างไรซึ่งจำเป็นต่อการสร้างครอบครัวที่มีความสุข?
22 เรารู้สึกขอบคุณที่พระยะโฮวาได้จัดเตรียมเครื่องมือที่เราจำเป็นต้องมีเพื่อสร้างครอบครัวที่มีความสุข. แต่เพียงการมีเครื่องมือยังไม่พอ. เราต้องฝึกหัดใช้เครื่องมือนั้นอย่างเหมาะสม. เพื่อเป็นตัวอย่าง ช่างก่อสร้างอาจพัฒนานิสัยที่ไม่ดีในการใช้เครื่องมือ. เขาอาจใช้เครื่องมือบางอย่างผิดจุดมุ่งหมาย. ภายใต้สภาพการณ์เหล่านี้ วิธีการของเขาคงจะให้ผลงานที่ด้อยคุณภาพ. ในทำนองคล้ายกัน ตอนนี้คุณอาจสำนึกถึงนิสัยที่ไม่ดีซึ่งได้เล็ดลอดเข้ามาในครอบครัวของคุณ. นิสัยบางอย่างอาจฝังรากลึกและยากที่จะเปลี่ยน. อย่างไรก็ดี จงปฏิบัติตามคำแนะนำของคัมภีร์ไบเบิลที่ว่า “ผู้ฉลาดจะฟังและรับคำสั่งสอนมากขึ้น และคนที่มีความเข้าใจคือผู้นั้นซึ่งรับการชี้นำที่รอบคอบ.”—สุภาษิต 1:5, ล.ม.
23 คุณสามารถรับการชี้นำที่รอบคอบได้โดยการรับเอาความรู้ของพระเจ้าต่อ ๆ ไป. จงตื่นตัวต่อหลักการในคัมภีร์ไบเบิลที่เกี่ยวข้องกับชีวิตครอบครัว และทำการปรับปรุงที่จำเป็น. จงสังเกตคริสเตียนผู้อาวุโสซึ่งวางตัวอย่างที่ดีฐานะคู่สมรสและบิดามารดา. จงสนทนากับเขา. ยิ่งกว่าอะไรทั้งหมด จงฝากความกังวลของคุณไว้กับพระยะโฮวาในคำอธิษฐาน. (บทเพลงสรรเสริญ 55:22; ฟิลิปปอย 4:6, 7) พระองค์สามารถช่วยคุณให้มีชีวิตครอบครัวที่มีความสุขซึ่งถวายเกียรติแด่พระองค์.
[เชิงอรรถ]
a มูลเหตุเดียวตามหลักพระคัมภีร์สำหรับการหย่าที่อนุญาตให้สมรสใหม่ได้คือ “การผิดประเวณี”—เพศสัมพันธ์นอกสายสมรส.—มัดธาย 19:9.
ทดสอบความรู้ของคุณ
ความภักดี, การสื่อความ, การให้เกียรติ, และความนับถือ
มีส่วนส่งเสริมชีวิตสมรสที่มีความสุขอย่างไร?
บิดามารดาสามารถทำให้ลูกมั่นใจในความรักของตนได้ในทางใดบ้าง?
มีปัจจัยอะไรบ้างรวมอยู่ในการตีสอนที่เหมาะสม?
[รูปภาพเต็มหน้า 147]