จงปฏิบัติตามแบบอย่างของกษัตริย์
“ท่านจะได้ลอกเขียนพระบัญญัติเหล่านี้ .. . และพระบัญญัตินั้นจะต้องอยู่กับท่าน และท่านจะต้องอ่านพระบัญญัตินั้นมิได้ขาดจนสิ้นชีวิต.”—พระบัญญัติ 17:18, 19.
1. คริสเตียนอาจต้องการจะเป็นเหมือนใคร?
คุณคงไม่นึกเปรียบตัวคุณเองกับกษัตริย์หรือราชินี. คริสเตียนที่ซื่อสัตย์และนักศึกษาคัมภีร์ไบเบิลคนไหนล่ะที่จะนึกภาพว่าตัวเขากำลังลงมือทำด้วยอำนาจอย่างที่กษัตริย์มี แบบเดียวกับกษัตริย์ที่ดีอย่างเช่น ดาวิด, โยซียา, ฮิศคียา, หรือยะโฮซาฟาด? ถึงกระนั้น คุณสามารถเป็นเหมือนกษัตริย์เหล่านี้อย่างน้อยก็ในแง่มุมพิเศษอย่างหนึ่ง และควรเป็นอย่างนั้นด้วย. นั่นคืออะไร? และเหตุใดคุณควรต้องการจะเป็นเหมือนกษัตริย์เหล่านั้นในแง่ดังกล่าว?
2, 3. พระยะโฮวาทรงมองเห็นล่วงหน้าเช่นไรเกี่ยวกับกษัตริย์ที่เป็นมนุษย์ และกษัตริย์นั้นต้องทำอะไร?
2 ในสมัยของโมเซ นานก่อนที่พระเจ้าทรงเห็นชอบให้มีกษัตริย์ที่เป็นมนุษย์ปกครองชาวอิสราเอล พระองค์ทรงมองเห็นล่วงหน้าว่าจะเกิดความปรารถนาที่จะมีกษัตริย์ในหมู่ไพร่พลของพระองค์. ด้วยเหตุนั้น พระองค์ทรงดลใจโมเซให้บันทึกพระบัญชาที่เกี่ยวข้องกับเรื่องนี้ไว้ในสัญญาไมตรีแห่งพระบัญญัติ. บันทึกดังกล่าวคือพระบัญชาสำหรับกษัตริย์.
3 พระเจ้าตรัสว่า “เมื่อเจ้าทั้งหลายเข้าไปปกครองในแผ่นดินซึ่งพระยะโฮวาพระเจ้าของเจ้าจะประทานให้นั้น, . . . จะกล่าวว่า, เราจะตั้งกษัตริย์ให้ครอบครองพวกเรา, เหมือนอย่างชาวประเทศอื่น ๆ ทั้งปวงที่อยู่ล้อมรอบนั้น; ก็จงตั้งผู้ซึ่งพระยะโฮวาพระเจ้าของเจ้าจะทรงเลือกไว้ให้เป็นกษัตริย์ . . . . เมื่อผู้นั้นนั่งบนที่นั่งในแผ่นดินของท่านแล้ว, ท่านจะได้ลอกเขียนพระบัญญัติเหล่านี้ .. . และพระบัญญัตินั้นจะต้องอยู่กับท่าน และท่านจะต้องอ่านพระบัญญัตินั้นมิได้ขาดจนสิ้นชีวิต; เพื่อจะได้เรียนการที่จะเกรงกลัวพระยะโฮวาพระเจ้าของตน, และจะได้รักษาบรรดาถ้อยคำในพระบัญญัติ, และข้อกฎหมายเหล่านี้, และประพฤติตาม.”—พระบัญญัติ 17:14-19.
4. พระบัญชาของพระเจ้าสำหรับกษัตริย์รวมถึงอะไรด้วย?
4 ถูกแล้ว กษัตริย์ที่พระยะโฮวาทรงเลือกให้ปกครองผู้นมัสการของพระองค์ต้องคัดลอกพระคัมภีร์ฉบับส่วนตัวดังที่คุณจะพบได้ในคัมภีร์ไบเบิล. จากนั้น กษัตริย์ต้องอ่านพระคัมภีร์ที่เขาคัดลอกนั้นทุกวัน ซ้ำแล้วซ้ำอีก. การทำอย่างนี้ไม่ใช่เพื่อฝึกความจำ. นี่เป็นการศึกษา และการศึกษานี้มีจุดประสงค์ที่เป็นประโยชน์. กษัตริย์ที่จะได้รับความพอพระทัยจากพระยะโฮวาจำเป็นต้องศึกษาเช่นนั้นเรื่อยไปเพื่อพัฒนาและรักษาไว้ซึ่งเจตคติที่ถูกต้องในหัวใจ. นอกจากนั้น เขาจำเป็นต้องศึกษาข้อเขียนที่มีขึ้นโดยการดลใจเหล่านั้นด้วยเพื่อจะเป็นกษัตริย์ที่มีความหยั่งเห็นเข้าใจและประสบความสำเร็จ.—2 กษัตริย์ 22:8-13; สุภาษิต 1:1-4.
ร่ำเรียนเหมือนกษัตริย์
5. กษัตริย์ดาวิดมีคัมภีร์ไบเบิลส่วนไหนบ้างที่ต้องคัดลอกและอ่าน และท่านรู้สึกอย่างไรเกี่ยวกับเรื่องนี้?
5 คุณคิดว่าดาวิดจำเป็นต้องทำอะไรเมื่อท่านขึ้นเป็นกษัตริย์ปกครองอิสราเอล? สิ่งที่ท่านต้องทำคือ คัดลอกเพนทาทุก (เยเนซิศ, เอ็กโซโด, เลวีติโก, อาฤธโม, พระบัญญัติ). ขอให้นึกภาพถึงความประทับใจอย่างลึกซึ้งในจิตใจและหัวใจของดาวิดที่ท่านได้ใช้ดวงตาและมือของท่านเองในการคัดลอกพระบัญญัติ. ดูเหมือนว่า โมเซเขียนพระธรรมโยบและบทเพลงสรรเสริญบท 90 และ 91 ด้วย. ดาวิดได้คัดลอกพระธรรมเหล่านี้ด้วยไหม? อาจเป็นอย่างนั้น. นอกจากนั้น ท่านคงมีพระธรรมยะโฮซูอะ, วินิจฉัย, และประวัตินางรูธด้วย. ดังนั้น คุณคงเห็นแล้วว่ากษัตริย์ดาวิดมีคัมภีร์ไบเบิลที่จะอ่านและจดจำไม่น้อยทีเดียว. และคุณมีเหตุผลที่จะเชื่อว่าท่านได้ทำอย่างนั้น เพราะสังเกตได้จากคำพรรณนาของท่านเกี่ยวกับพระบัญญัติของพระเจ้า ซึ่งในปัจจุบันจะพบได้ที่บทเพลงสรรเสริญ 19:7-11.
6. เราจะแน่ใจได้อย่างไรว่าพระเยซูทรงสนใจในพระคัมภีร์เช่นเดียวกับดาวิดผู้เป็นบรรพบุรุษ?
6 พระเยซูบุตรดาวิด ซึ่งยิ่งใหญ่กว่าดาวิด ปฏิบัติตามแบบอย่างเดียวกันนี้. เป็นกิจวัตรของพระเยซูที่จะไปธรรมศาลาในท้องถิ่นทุกสัปดาห์. ที่นั่น พระองค์ได้ยินการอ่านและการอธิบายพระคัมภีร์. ยิ่งกว่านั้น ในบางโอกาสพระเยซูเองทรงอ่านพระคำของพระเจ้าด้วยเสียงอันดังต่อหน้าผู้คนและอธิบายความหมายของข้อพระคัมภีร์เหล่านั้น. (ลูกา 4:16-21) คุณสามารถสังเกตเห็นได้ไม่ยากว่าพระองค์ทรงคุ้นเคยเนื้อความในพระคัมภีร์. ขอเพียงแต่อ่านเรื่องราวในพระธรรมกิตติคุณ แล้วสังเกตดูว่าบ่อยเพียงไรที่พระเยซูตรัสว่า “มีคำเขียนไว้ว่า” หรือที่พระองค์ทรงอ้างถึงเนื้อความบางตอนจากพระคัมภีร์ในวิธีอื่น ๆ. ในคำเทศน์บนภูเขาตามที่มัดธายได้บันทึกไว้ พระเยซูทรงยกข้อความจากพระคัมภีร์ภาคภาษาฮีบรู 21 ครั้ง.—มัดธาย 4:4-10; 7:29; 11:10; 21:13; 26:24, 31; โยฮัน 6:31, 45; 8:17.
7. พระเยซูทรงแตกต่างกับพวกหัวหน้าศาสนาอย่างไร?
7 พระเยซูทรงปฏิบัติตามคำแนะนำที่บทเพลงสรรเสริญ 1:1-3 ที่ว่า “ความสุขย่อมมีแก่ผู้ที่ไม่ดำเนินตามคำชักชวนของคนชั่ว . . . ความยินดีของผู้นั้นอยู่ในพระบัญญัติของพระยะโฮวา; และเขาคิดรำพึงอยู่ในพระธรรมของพระองค์ทั้งกลางวันและกลางคืน . . . . บรรดากิจการที่เขากระทำนั้นก็เจริญขึ้น.” ช่างต่างกันจริง ๆ กับพวกหัวหน้าศาสนาในสมัยของพระองค์ ซึ่ง “นั่งบนที่นั่งของโมเซ” แต่ละเลย “พระบัญญัติของพระยะโฮวา”!—มัดธาย 23:2-4.
8. เหตุใดพวกหัวหน้าศาสนาชาวยิวจึงไม่ได้รับประโยชน์จากการอ่านและการศึกษาคัมภีร์ไบเบิล?
8 แต่บางคนอาจรู้สึกงงในข้อความตอนหนึ่งซึ่งดูเหมือนจะสามารถตีความได้ว่าพระเยซูกำลังชักชวนไม่ให้ศึกษาคัมภีร์ไบเบิล. ที่โยฮัน 5:39, 40 เราอ่านข้อความที่พระเยซูตรัสแก่บางคนในสมัยของพระองค์ว่า “ท่านทั้งหลายย่อมค้นดูในพระคัมภีร์ที่เขียนไว้นั้น, เพราะท่านทั้งหลายคิดว่าในพระคัมภีร์นั้นมีชีวิตนิรันดร์ แต่พระคัมภีร์นั้นเป็นพยานถึงเรา แต่ท่านทั้งหลายไม่ยอมมาหาเราเพื่อจะได้ชีวิต.” โดยตรัสเช่นนั้น พระเยซูไม่ได้ชักชวนชาวยิวที่ฟังพระองค์ให้เลิกศึกษาพระคัมภีร์. แทนที่จะเป็นอย่างนั้น พระองค์ทรงเปิดโปงความไม่จริงใจหรือความไม่เสมอต้นเสมอปลายของพวกเขา. พวกเขาตระหนักว่าพระคัมภีร์สามารถนำพวกเขาไปสู่ชีวิตนิรันดร์ แต่ข้อพระคัมภีร์เดียวกันนั้นที่พวกเขากำลังค้นดูก็น่าจะนำพวกเขาไปถึงพระมาซีฮาด้วย ซึ่งก็คือพระเยซู. อย่างไรก็ตาม พวกเขาไม่ยอมรับพระองค์. การศึกษาของพวกเขาจึงไร้ประโยชน์ เพราะพวกเขาเป็นคนที่ไม่จริงใจและสอนไม่ได้.—พระบัญญัติ 18:15; ลูกา 11:52; โยฮัน 7:47, 48.
9. อัครสาวกและเหล่าผู้พยากรณ์ก่อนหน้านั้นวางตัวอย่างที่ดีเช่นไร?
9 ช่างเป็นภาพที่ต่างกันจริง ๆ เมื่อเทียบกับบรรดาสาวกของพระเยซู รวมถึงเหล่าอัครสาวก! พวกเขาศึกษา “คำจารึกอันศักดิ์สิทธิ์ซึ่งสามารถทำให้ [คนเรา] ได้ปัญญาถึงที่รอด.” (2 ติโมเธียว 3:15, ล.ม.) ในเรื่องนี้ พวกเขาเป็นเหมือนกับผู้พยากรณ์ที่อยู่ก่อนหน้านั้นซึ่ง “อุตส่าห์สืบเสาะและค้นคว้าอย่างถี่ถ้วน.” ผู้พยากรณ์เหล่านี้ไม่ถือว่าการสืบค้นเช่นนั้นเป็นเพียงการศึกษาอย่างขะมักเขม้นในช่วงสั้น ๆ ไม่กี่เดือนหรือสักปีหนึ่ง. อัครสาวกเปโตรกล่าวว่า “พวกเขาตรวจดูต่อ ๆ ไป” โดยเฉพาะอย่างยิ่งเกี่ยวกับพระคริสต์และสง่าราศีที่เกี่ยวข้องกับบทบาทของพระองค์ในการช่วยมนุษยชาติให้รอด. ในจดหมายฉบับแรกของเปโตร ท่านยกข้อความ 34 ครั้งจากคัมภีร์ไบเบิลสิบพระธรรม.—1 เปโตร 1:10, 11, ล.ม.
10. เหตุใดเราแต่ละคนควรสนใจในการศึกษาคัมภีร์ไบเบิล?
10 ดังนั้น จึงเห็นได้ชัดว่าการศึกษาอย่างถี่ถ้วนในพระคำของพระเจ้าเป็นข้อเรียกร้องที่กษัตริย์แห่งอิสราเอลโบราณต้องปฏิบัติ. พระเยซูทรงปฏิบัติตามแบบอย่างนี้. และการศึกษาพระคำของพระเจ้าเป็นสิ่งที่ผู้ที่จะปกครองเป็นกษัตริย์ร่วมกับพระคริสต์ในสวรรค์ต้องทำ. (ลูกา 22:28-30; โรม 8:17; 2 ติโมเธียว 2:12; วิวรณ์ 5:10; 20:6) แบบอย่างดังกล่าวซึ่งกำหนดไว้สำหรับกษัตริย์เป็นข้อเรียกร้องที่จำเป็นเช่นเดียวกันสำหรับทุกคนในปัจจุบันที่คอยท่าจะได้รับพระพรบนแผ่นดินโลกภายใต้การปกครองแห่งราชอาณาจักร.—มัดธาย 25:34, 46.
งานสำหรับกษัตริย์และสำหรับคุณ
11. (ก) คริสเตียนต้องระวังแนวคิดเช่นไรที่เป็นอันตรายในเรื่องการศึกษา? (ข) เราควรถามตัวเองด้วยคำถามอะไร?
11 เราสามารถกล่าวได้อย่างหนักแน่นและตรงไปตรงมาว่า คริสเตียนแท้แต่ละคนควรตรวจสอบคัมภีร์ไบเบิลเป็นส่วนตัว. นั่นไม่ใช่สิ่งซึ่งจำเป็นต้องทำเฉพาะตอนแรก ๆ ที่คุณเริ่มศึกษาคัมภีร์ไบเบิลกับพยานพระยะโฮวา. เราแต่ละคนควรตั้งใจไว้ว่าจะไม่เป็นเหมือนกับบางคนในสมัยของอัครสาวกเปาโล ซึ่งเมื่อเวลาผ่านไปได้ระยะหนึ่งก็เริ่มเฉื่อยชาในการศึกษาส่วนตัว. พวกเขาเรียนรู้ “สิ่งพื้นฐานแห่งคำแถลงอันศักดิ์สิทธิ์ของพระเจ้า” เช่น “หลักคำสอนพื้นฐานเกี่ยวกับพระคริสต์.” ถึงกระนั้น พวกเขาไม่ได้ศึกษาต่อ ๆ ไป และด้วยเหตุนั้นจึงไม่ได้ “รุดหน้าสู่ความอาวุโส.” (เฮ็บราย 5:12–6:3, ล.ม.) ด้วยเหตุนั้น ไม่ว่าจะเพิ่งสมทบกับประชาคมคริสเตียนหรือสมทบมาหลายสิบปีแล้ว เราอาจถามตัวเองได้ว่า ‘ฉันรู้สึกอย่างไรในเรื่องการศึกษาส่วนตัวในพระคำของพระเจ้า? เปาโลอธิษฐานขอให้คริสเตียนในสมัยของท่าน “เพิ่มพูนในความรู้ถ่องแท้เกี่ยวกับพระเจ้า.” ฉันแสดงให้เห็นไหมว่าฉันมีความปรารถนาอย่างเดียวกันนั้น?’—โกโลซาย 1:9, 10, ล.ม.
12. เหตุใดจึงสำคัญที่จะมีความรักต่อพระคำของพระเจ้าเรื่อยไป?
12 ปัจจัยสำคัญอย่างหนึ่งเพื่อคุณจะมีนิสัยศึกษาส่วนตัวที่ดีคือ การพัฒนาความรักต่อพระคำของพระเจ้า. บทเพลงสรรเสริญ 119:14-16 ชี้ถึงการใคร่ครวญอย่างมีความหมายเป็นประจำในพระคำของพระเจ้าว่าเป็นวิธีที่จะทำให้คุณมีความยินดีในพระคำนั้น. อีกครั้งหนึ่ง นั่นเป็นความจริงไม่ว่าคุณเป็นคริสเตียนมานานเท่าใดแล้ว. เพื่อเน้นจุดนี้ให้เห็นชัด ขอให้นึกถึงตัวอย่างของติโมเธียว. แม้ว่าคริสเตียนผู้ปกครองผู้นี้ได้รับใช้ในฐานะ “ทหารที่ดีของพระคริสต์เยซู” อยู่แล้ว แต่เปาโลกระตุ้นท่านให้ทำสุดความสามารถในการ “ใช้คำแห่งความจริงอย่างถูกต้อง.” (2 ติโมเธียว 2:3, 15, ล.ม.; 1 ติโมเธียว 4:15) เห็นได้ชัด การทำ “สุดความสามารถ” ของคุณหมายรวมถึงการมีนิสัยที่ดีในการศึกษา.
13. (ก) อาจหาเวลามากขึ้นสำหรับการศึกษาคัมภีร์ไบเบิลได้อย่างไร? (ข) การปรับเปลี่ยนอะไรที่คุณเองเห็นว่าสามารถทำได้เพื่อจะมีเวลามากขึ้นสำหรับการศึกษา?
13 ขั้นตอนอย่างหนึ่งที่นำไปสู่นิสัยที่ดีในการศึกษาได้แก่การกันเวลาไว้เป็นประจำสำหรับการศึกษาคัมภีร์ไบเบิล. คุณได้ทำอย่างไรในเรื่องนี้? ไม่ว่าคำตอบอย่างตรงไปตรงมาของคุณเป็นเช่นไร คุณคิดไหมว่าคุณจะได้ประโยชน์จากการใช้เวลามากขึ้นในการศึกษาส่วนตัว? คุณอาจนึกสงสัยว่า ‘ฉันจะจัดเวลาสำหรับการศึกษาส่วนตัวได้อย่างไร?’ บางคนได้เพิ่มเวลาศึกษาคัมภีร์ไบเบิลอย่างได้ผลโดยตื่นเช้ากว่าเดิมสักเล็กน้อย. พวกเขาอาจอ่านคัมภีร์ไบเบิล 15 นาที หรือศึกษาตามแผนซึ่งได้วางไว้สำหรับการศึกษาส่วนตัว. อีกวิธีหนึ่งที่อาจทำได้ คุณจะปรับเปลี่ยนตารางเวลาประจำสัปดาห์ของคุณสักเล็กน้อยได้ไหม? ตัวอย่างเช่น หากตามปกติคุณชอบอ่านหนังสือพิมพ์หรือดูข่าวโทรทัศน์ในช่วงเย็น เป็นไปได้ไหมที่จะงดเว้นกิจวัตรดังกล่าวสัปดาห์ละวัน? คุณสามารถใช้เวลาในวันนั้นเพื่อศึกษาคัมภีร์ไบเบิลได้มากขึ้น. หากคุณงดดูข่าวสัปดาห์ละวันและใช้เวลาประมาณ 30 นาทีเพื่อศึกษาส่วนตัว คุณจะได้เวลาศึกษาเพิ่มขึ้นปีละ 25 ชั่วโมง. ลองนึกดูซิว่าการอ่านหรือศึกษาคัมภีร์ไบเบิลเพิ่มขึ้นอีก 25 ชั่วโมงจะให้ประโยชน์สักเพียงไร! ข้อแนะอีกอย่างหนึ่ง: ในสัปดาห์ต่อจากนี้ ขอลองวิเคราะห์กิจกรรมที่คุณทำเมื่อสิ้นสุดแต่ละวัน. ตรวจดูว่าคุณจะงดเว้นหรือลดเวลาในการทำบางสิ่งบางอย่างเพื่อจะมีเวลาอ่านหรือศึกษาคัมภีร์ไบเบิลมากขึ้นได้หรือไม่.—เอเฟโซ 5:15, 16.
14, 15. (ก) เหตุใดการตั้งเป้าจึงเป็นเรื่องสำคัญในการศึกษาส่วนตัว? (ข) อาจตั้งเป้าอะไรได้บ้างสำหรับการอ่านคัมภีร์ไบเบิล?
14 อะไรจะทำให้การศึกษาเป็นเรื่องง่ายขึ้นและน่าปรารถนายิ่งขึ้นสำหรับคุณ? การตั้งเป้า. คุณอาจตั้งเป้าที่ปฏิบัติได้จริงเช่นไรในการศึกษา? สำหรับหลายคนแล้ว การตั้งเป้าอย่างแรกที่น่าชมเชยคือการอ่านคัมภีร์ไบเบิลทั้งเล่มให้จบ. จนถึงตอนนี้ คุณอาจได้อ่านบางส่วนของคัมภีร์ไบเบิลตามวาระโอกาสและได้รับประโยชน์จากการอ่านอย่างนั้น. ตอนนี้ คุณจะตั้งใจแน่วแน่ที่จะอ่านคัมภีร์ไบเบิลทั้งเล่มได้ไหม? เพื่อจะทำให้ได้อย่างนั้น คุณอาจตั้งเป้าในขั้นแรกสุดที่จะอ่านพระธรรมกิตติคุณทั้งสี่ ต่อจากนั้นก็ตั้งเป้าที่สอง เช่น การอ่านพระคัมภีร์คริสเตียนภาคภาษากรีกส่วนที่เหลือทั้งหมด. เมื่อคุณได้รับความยินดีและผลประโยชน์จากการอ่านส่วนดังกล่าวแล้ว เป้าถัดไปของคุณอาจได้แก่การอ่านอย่างต่อเนื่องในพระธรรมเล่มต่าง ๆ ที่โมเซเขียน แล้วก็อ่านพระธรรมเกี่ยวกับประวัติศาสตร์ไปเรื่อย ๆ จนถึงพระธรรมเอศเธระ. เมื่ออ่านส่วนนี้จบ คุณจะเห็นว่าเป็นเรื่องที่คุณทำได้แน่นอนที่จะอ่านส่วนที่เหลือของคัมภีร์ไบเบิลให้จบ. สตรีผู้หนึ่ง ซึ่งเข้ามาเป็นคริสเตียนเมื่ออายุประมาณ 65 ปี จดวันที่ซึ่งเธอเริ่มอ่านคัมภีร์ไบเบิลไว้ที่ปกในของพระคัมภีร์ แล้วก็จดวันที่ซึ่งเธออ่านทั้งเล่มจบไว้คู่กัน. ถึงตอนนี้ วันที่ซึ่งเธอได้จดไว้มีอยู่ห้าคู่แล้ว! (พระบัญญัติ 32:45-47) และแทนที่จะอ่านจากจอคอมพิวเตอร์หรือจากกระดาษที่พิมพ์ออกมา เธออ่านจากคัมภีร์ไบเบิลโดยตรง.
15 บางคนที่บรรลุเป้าในการอ่านคัมภีร์ไบเบิลทั้งเล่มแล้วได้ทำขั้นต่อไปเพื่อทำให้การศึกษาอย่างต่อเนื่องเกิดผลและก่อประโยชน์มากขึ้น. วิธีหนึ่งคือก่อนที่จะอ่านพระธรรมแต่ละเล่มในคัมภีร์ไบเบิลตามลำดับ เขาจะศึกษาเนื้อหาของพระธรรมเล่มนั้นก่อน. ในหนังสือ“พระคัมภีร์ทุกตอนมีขึ้นโดยการดลใจจากพระเจ้าและเป็นประโยชน์” และการหยั่งเห็นเข้าใจพระคัมภีร์ (ภาษาอังกฤษ) เราสามารถพบข้อมูลที่ดีเยี่ยมเกี่ยวกับภูมิหลังทางประวัติศาสตร์, ลีลาการเขียน, และประโยชน์ที่อาจได้จากพระธรรมแต่ละเล่มในคัมภีร์ไบเบิล.a
16. เราควรหลีกเลี่ยงการทำตามแบบอย่างเช่นไรในการศึกษาคัมภีร์ไบเบิล?
16 ระหว่างศึกษา จงหลีกเลี่ยงวิธีที่หลายคนซึ่งเรียกกันว่าผู้คงแก่เรียนมักจะใช้. พวกเขาเน้นมากเกินไปในเรื่องการวิเคราะห์ข้อพระคัมภีร์ราวกับว่าคัมภีร์ไบเบิลมาจากความคิดของมนุษย์. บางคนพยายามกำหนดลงไปว่าพระธรรมแต่ละเล่มเขียนขึ้นโดยมุ่งถึงผู้อ่านกลุ่มหนึ่งโดยเฉพาะ หรือพยายามนึกภาพว่าผู้เขียนพระธรรมแต่ละเล่มซึ่งเป็นมนุษย์น่าจะมีจุดประสงค์และมีความคิดเช่นไร. การหาเหตุผลอย่างมนุษย์เช่นนั้นอาจยังผลทำให้มองว่าพระธรรมในคัมภีร์ไบเบิลเป็นเพียงหนังสือประวัติศาสตร์ หรือถือว่าเป็นหนังสือที่แสดงถึงพัฒนาการในการเข้าหาศาสนา. ผู้คงแก่เรียนคนอื่น ๆ ทุ่มเทตัวเองในการศึกษาถ้อยคำ เหมือนกับเป็นการศึกษานิรุกติศาสตร์แห่งวรรณคดีคัมภีร์ไบเบิล. พวกเขาหมกมุ่นในการศึกษาที่มาของคำและในการอ้างอิงความหมายในภาษาฮีบรูและกรีกมากกว่าจะเอาใจใส่ความหมายสำคัญของข่าวสารจากพระเจ้า. คุณคิดว่าวิธีการเช่นนั้นจะก่อให้เกิดความเชื่อที่ลึกซึ้งและกระตุ้นใจไหม?—1 เธซะโลนิเก 2:13.
17. เหตุใดเราควรถือว่าคัมภีร์ไบเบิลเป็นข่าวสารสำหรับทุกคน?
17 ข้อสรุปของผู้คงแก่เรียนเหล่านั้นเป็นความจริงไหม? จริงหรือที่พระธรรมแต่ละเล่มมุ่งประเด็นสำคัญไปที่จุดเดียว หรือเขียนขึ้นโดยมุ่งถึงผู้อ่านเพียงกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งเท่านั้น? (1 โกรินโธ 1:19-21) ข้อเท็จจริงก็คือ พระธรรมต่าง ๆ ซึ่งเป็นพระคำของพระเจ้ามีคุณค่าถาวรสำหรับผู้คนทุกยุคทุกสมัยและไม่ว่าจะมีภูมิหลังเช่นไร. แม้แต่พระธรรมซึ่งเดิมเขียนถึงคนเพียงคนเดียว เช่น ถึงติโมเธียวหรือติโต หรือเขียนถึงคนกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งโดยเฉพาะ เช่น ถึงชาวกาลาเทียหรือชาวฟิลิปปี (ฟิลิปปอย) เราทุกคนสามารถศึกษาพระธรรมเหล่านี้และสมควรจะทำอย่างนั้น. พระธรรมเหล่านี้สำคัญสำหรับเราทุกคน และพระธรรมเล่มหนึ่งอาจมีจุดที่เป็นใจความหลักหลายจุดและให้ประโยชน์แก่ผู้อ่านเป็นจำนวนมาก. ที่จริง ข่าวสารในคัมภีร์ไบเบิลใช้ได้ทั่วโลก ซึ่งนั่นเป็นเหตุผลที่มีการแปลคัมภีร์ไบเบิลเป็นภาษาต่าง ๆ ทั่วโลก.—โรม 15:4.
ผลประโยชน์สำหรับคุณและคนอื่น ๆ
18. ขณะที่คุณอ่านพระคำของพระเจ้า คุณควรคิดใคร่ครวญในเรื่องใด?
18 ขณะที่คุณศึกษา คุณจะพบว่าเป็นประโยชน์มากที่จะพยายามเข้าใจคัมภีร์ไบเบิล และพยายามดูว่ารายละเอียดต่าง ๆ เกี่ยวข้องกันอย่างไร. (สุภาษิต 2:3-5; 4:7) สิ่งที่พระยะโฮวาได้ทรงเปิดเผยโดยทางพระคำของพระองค์เกี่ยวข้องอย่างใกล้ชิดกับพระประสงค์ของพระองค์. ดังนั้น ขณะที่คุณอ่าน จงโยงข้อเท็จจริงและคำแนะนำต่าง ๆ เข้ากับพระประสงค์ของพระเจ้า. คุณอาจใคร่ครวญว่าเหตุการณ์, แนวคิด, หรือคำพยากรณ์ที่คุณอ่านนั้นเกี่ยวข้องอย่างไรกับพระประสงค์ของพระยะโฮวา. ถามตัวเองว่า ‘เรื่องนี้บอกอะไรเกี่ยวกับพระยะโฮวา? เรื่องนี้เกี่ยวข้องอย่างไรกับการทำให้พระประสงค์ของพระเจ้าสำเร็จโดยทางราชอาณาจักรของพระองค์?’ คุณอาจคิดใคร่ครวญด้วยว่า ‘ฉันจะใช้ข้อมูลนี้อย่างไรได้บ้าง? ฉันจะใช้ข้อมูลนี้ในการสอนหรือในการแนะนำผู้อื่นโดยอาศัยพระคัมภีร์ได้ไหม?’—ยะโฮซูอะ 1:8.
19. ใครได้รับประโยชน์เมื่อคุณเล่าสิ่งที่คุณเรียนรู้ให้ผู้อื่นฟัง? จงอธิบาย.
19 การคำนึงถึงผู้อื่นให้ประโยชน์ในอีกแง่หนึ่งด้วย. ในขณะที่คุณอ่านและศึกษาคัมภีร์ไบเบิลอยู่นั้น คุณเรียนรู้สิ่งใหม่ ๆ และได้รับความเข้าใจใหม่ที่ลึกซึ้งยิ่งขึ้น. จงพยายามนำเรื่องเหล่านี้ไปสนทนากับคนในครอบครัวหรือคนอื่น ๆ. หากคุณทำอย่างนี้ในเวลาที่เหมาะและอย่างไม่อวดตัว การพูดคุยกันเช่นนั้นย่อมจะเกิดผลดีอย่างแน่นอน. การบอกเล่าอย่างจริงใจและกระตือรือร้นเกี่ยวกับสิ่งที่คุณได้เรียนรู้หรือแง่มุมที่คุณเห็นว่าน่าสนใจคงจะทำให้ผู้อื่นประทับใจยิ่งขึ้นในเรื่องนั้น. นอกจากนี้ การทำเช่นนั้นจะเป็นประโยชน์ต่อตัวคุณเองด้วย. เป็นประโยชน์อย่างไร? พวกผู้เชี่ยวชาญได้สังเกตว่าคนเราจะจำสิ่งที่เขาเรียนรู้หรืออ่านได้นานกว่าหากเขาใช้หรือกล่าวซ้ำเรื่องนั้นในขณะที่เรื่องนั้นยังใหม่สดอยู่ในความคิดของเขา เช่นเมื่อเล่าเรื่องนั้นให้คนอื่นฟัง.b
20. เหตุใดจึงให้ประโยชน์ที่จะอ่านคัมภีร์ไบเบิลซ้ำแล้วซ้ำอีก?
20 แต่ละครั้งที่คุณอ่านพระธรรมเล่มหนึ่งในคัมภีร์ไบเบิล คุณจะเรียนรู้ข้อมูลใหม่ ๆ อย่างแน่นอน. คุณจะประทับใจในเนื้อความบางตอนที่ก่อนหน้านั้นอาจไม่ได้มีความหมายเท่าไรนักสำหรับคุณ. คุณจะได้ความเข้าใจในเนื้อความตอนนั้นมากขึ้น. ข้อเท็จจริงนี้น่าจะเน้นให้เห็นว่าแทนที่จะเป็นเพียงวรรณคดีของมนุษย์ พระธรรมต่าง ๆ ในคัมภีร์ไบเบิลเป็นทรัพย์ที่เหมาะสำหรับคุณที่จะศึกษาและได้รับประโยชน์ซ้ำแล้วซ้ำอีก. จงจำไว้ว่า กษัตริย์ เช่น ดาวิดต้อง “อ่านพระบัญญัตินั้นมิได้ขาดจนสิ้นชีวิต.”
21. คุณอาจคาดหมายผลตอบแทนเช่นไรจากการศึกษาพระคำของพระเจ้ามากขึ้น?
21 ถูกแล้ว ผู้ที่ใช้เวลาในการศึกษาคัมภีร์ไบเบิลอย่างลึกซึ้งได้รับประโยชน์อย่างใหญ่หลวง. พวกเขาได้รับอัญมณีฝ่ายวิญญาณและความเข้าใจอันลึกซึ้ง. สัมพันธภาพของพวกเขากับพระเจ้าใกล้ชิดและแน่นแฟ้นยิ่งขึ้น. พวกเขายังกลายเป็นทรัพย์ที่มีค่ายิ่งขึ้นต่อคนอื่น ๆ ในครอบครัว, ต่อพี่น้องในประชาคมคริสเตียน, และต่อคนที่จะเข้ามาเป็นผู้นมัสการพระยะโฮวาในภายหลัง.—โรม 10:9-14; 1 ติโมเธียว 4:16.
[เชิงอรรถ]
a คู่มือศึกษาทั้งสองเล่มจัดพิมพ์โดยพยานพระยะโฮวาและมีในหลายภาษา.
คุณจำได้ไหม?
• มีข้อเรียกร้องให้กษัตริย์ชาติอิสราเอลทำอะไร?
• พระเยซูและเหล่าอัครสาวกวางตัวอย่างเช่นไรในเรื่องการศึกษาคัมภีร์ไบเบิล?
• คุณสามารถปรับเปลี่ยนอะไรได้บ้างเพื่อเพิ่มเวลาในการศึกษาส่วนตัว?
• คุณควรศึกษาพระคำของพระเจ้าโดยมีเจตคติเช่นไร?
[กรอบหน้า 15]
“ในมือของเรา”
“หากเราต้องการ . . . ดัชนีศัพท์ในคัมภีร์ไบเบิล ไม่มีสื่อชนิดใดที่ดีไปกว่าอินเทอร์เน็ต. แต่หากเราต้องการจะอ่าน, ศึกษา, คิด, ใคร่ครวญเนื้อความในคัมภีร์ไบเบิล เราควรถือคัมภีร์ไบเบิลไว้ในมือของเรา เพราะนั่นเป็นวิธีเดียวที่จะรับเอาคัมภีร์ไบเบิลเข้าสู่จิตใจและหัวใจของเรา”—เกอร์ทรูด ฮิมเมลฟาร์บ ศาสตราจารย์เกียรติคุณผู้มีชื่อเสียง มหาวิทยาลัยซิตี นิวยอร์ก.