พระยะโฮวาทรงเป็นพระเจ้าผู้อดกลั้นไว้นาน
“พระยะโฮวา พระเจ้าผู้ทรงเมตตาและอุดมด้วยพระคุณ ช้าในการโกรธและบริบูรณ์ด้วยความรักกรุณา.”—เอ็กโซโด 34:6, ล.ม.
1, 2. (ก) ใครในอดีตได้รับประโยชน์จากการอดกลั้นไว้นานของพระยะโฮวา? (ข) คำว่า “การอดกลั้นไว้นาน” หมายความอย่างไร?
ประชาชนในสมัยของโนฮา, ชาวอิสราเอลที่เดินทางผ่านถิ่นทุรกันดารกับโมเซ, ชาวยิวที่มีชีวิตเมื่อพระเยซูทรงดำเนินบนแผ่นดินโลก—ทั้งหมดล้วนมีชีวิตในสภาพการณ์ที่แตกต่างกัน. แต่ทุกคนได้รับประโยชน์จากคุณลักษณะอันเปี่ยมด้วยความกรุณาของพระยะโฮวาอย่างเดียวกัน—ความอดกลั้นไว้นาน. สำหรับบางคนแล้ว นี่หมายถึงชีวิตของเขาเลยทีเดียว. และความอดกลั้นไว้นานของพระยะโฮวาอาจหมายถึงชีวิตของเราด้วย.
2 ความอดกลั้นไว้นานคืออะไร? พระยะโฮวาทรงแสดงความอดกลั้นไว้นานเมื่อไร และเพราะเหตุใด? ได้มีการให้คำนิยามสำหรับ “ความอดกลั้นไว้นาน” ว่าเป็น “ความเพียรอดทนต่อความผิดหรือการยั่วโทสะ อีกทั้งไม่ยอมละทิ้งความหวังที่ว่าจะมีการปรับเปลี่ยนเพื่อทำให้สัมพันธภาพที่มีปัญหาดีขึ้น.” ด้วยเหตุนั้น คุณลักษณะนี้มีจุดมุ่งหมาย. คุณลักษณะนี้มองโดยเฉพาะอย่างยิ่งที่สวัสดิภาพของผู้ที่ก่อให้เกิดความหงุดหงิดรำคาญใจ. อย่างไรก็ตาม การอดกลั้นไว้นานไม่ได้หมายความถึงการยอมให้แก่สิ่งผิด. เมื่อการอดกลั้นไว้นานบรรลุผลสำเร็จตามจุดมุ่งหมาย หรือเมื่อไม่มีเป้าหมายที่ต้องอดทนกับสถานการณ์นั้นอีกต่อไป การอดกลั้นไว้นานก็สิ้นสุดลง.
3. จุดมุ่งหมายของความอดกลั้นไว้นานของพระยะโฮวาคืออะไร และความอดกลั้นไว้นานนี้มีขีดจำกัดเช่นไร?
3 ในขณะที่มนุษย์สามารถแสดงความอดกลั้นไว้นาน พระยะโฮวาทรงเป็นแบบอย่างอันล้ำเลิศที่แสดงคุณลักษณะนี้. นับตั้งแต่บาปเข้ามาแทรกในความสัมพันธ์ระหว่างพระยะโฮวากับมนุษย์ผู้เป็นสิ่งทรงสร้างของพระองค์ พระผู้สร้างของเราก็ได้แสดงความเพียรอดทนและจัดให้มีวิธีเพื่อคนที่กลับใจจะสามารถพัฒนาสัมพันธภาพของตนกับพระองค์. (2 เปโตร 3:9; 1 โยฮัน 4:10) แต่เมื่อความอดกลั้นไว้นานของพระองค์บรรลุจุดมุ่งหมายแล้ว พระเจ้าจะทรงดำเนินการต่อผู้ที่ตั้งใจทำผิด นำอวสานมาสู่ระบบชั่วในปัจจุบัน.—2 เปโตร 3:7.
สอดคล้องกับคุณสมบัติพื้นฐานของพระเจ้า
4. (ก) แนวคิดเกี่ยวกับความอดกลั้นไว้นานมีแสดงในพระคัมภีร์ภาคภาษาฮีบรูอย่างไร? (ดูเชิงอรรถด้วย.) (ข) ผู้พยากรณ์นาฮูมพรรณนาอย่างไรเกี่ยวกับพระยะโฮวา และคำพรรณนาดังกล่าวเผยอะไรเกี่ยวกับความอดกลั้นไว้นานของพระยะโฮวา?
4 ในพระคัมภีร์ภาคภาษาฮีบรู มีการแสดงแนวคิดเกี่ยวกับความอดกลั้นไว้นานด้วยคำฮีบรูสองคำซึ่งมีความหมายตามตัวอักษรว่า “ความยาวของรูจมูก” และฉบับแปลโลกใหม่ แปลคำนี้ว่า “โกรธช้า.”a เมื่อกล่าวถึงความอดกลั้นไว้นานของพระเจ้า ผู้พยากรณ์นาฮูมกล่าวว่า “พระยะโฮวาทรงพิโรธช้าและทรงฤทธิ์ยิ่งใหญ่ และพระยะโฮวาจะไม่ทรงยับยั้งการลงโทษไว้เลย.” (นาฮูม 1:3, ล.ม.) ดังนั้น ความอดกลั้นไว้นานของพระยะโฮวาไม่ได้ส่อถึงความอ่อนแอ และหาใช่ว่าไม่มีขีดจำกัด. ข้อเท็จจริงที่ว่าพระเจ้าองค์ทรงฤทธานุภาพทุกประการทรงพิโรธช้าและทรงฤทธิ์ยิ่งใหญ่ในเวลาเดียวกันแสดงว่า ความอดกลั้นไว้นานของพระองค์เป็นผลมาจากการยับยั้งไว้อย่างมีจุดมุ่งหมาย. พระองค์ทรงมีอำนาจจะลงโทษ แต่พระองค์ทรงจงใจละเว้นการลงโทษในทันทีเพื่อให้โอกาสผู้ทำผิดได้เปลี่ยนแปลง. (ยะเอศเคล 18:31, 32) ด้วยเหตุนั้น ความอดกลั้นไว้นานของพระยะโฮวาจึงเป็นการแสดงออกอย่างหนึ่งซึ่งความรักของพระองค์ และแสดงให้เห็นความสุขุมของพระองค์ในการใช้ฤทธิ์อำนาจ.
5. ความอดกลั้นไว้นานของพระยะโฮวาประสานกับความยุติธรรมของพระองค์อย่างไร?
5 ความอดกลั้นไว้นานของพระยะโฮวายังสอดคล้องกับความยุติธรรมและความชอบธรรมของพระองค์ด้วย. พระองค์ทรงเปิดเผยพระองค์เองแก่โมเซในฐานะ “พระเจ้าผู้ทรงเมตตาและอุดมด้วยพระคุณ ช้าในการโกรธ [หรือ อดกลั้นไว้นาน] และบริบูรณ์ด้วยความรักกรุณาและความจริง.” (เอ็กโซโด 34:6, ล.ม.) หลายปีต่อมา โมเซร้องเพลงสรรเสริญพระยะโฮวาว่า “ทางทั้งปวงของพระองค์ยุติธรรม. พระเจ้าแห่งความซื่อสัตย์ ซึ่งกับพระองค์นั้นไม่มีความอยุติธรรม; พระองค์ทรงชอบธรรมและซื่อตรง.” (พระบัญญัติ 32:4, ล.ม.) ถูกแล้ว ความเมตตา, ความอดกลั้นไว้นาน, ความยุติธรรม, และความซื่อตรงของพระยะโฮวาประสานกลมกลืนกันเป็นอย่างดี.
ความอดกลั้นไว้นานของพระยะโฮวาก่อนมหาอุทกภัย
6. หลักฐานอันน่าทึ่งอะไรเกี่ยวกับความอดกลั้นไว้นานที่พระยะโฮวาทรงแสดงต่อลูกหลานของอาดามและฮาวา?
6 การขืนอำนาจของอาดามและฮาวาในสวนเอเดนก่อผลเสียหายร้ายแรงถาวรต่อสัมพันธภาพอันล้ำค่าที่ทั้งสองมีกับพระยะโฮวา พระผู้สร้างผู้เปี่ยมด้วยความรัก. (เยเนซิศ 3:8-13, 23, 24) การตีตัวออกห่างนี้ส่งผลต่อลูกหลานของเขาซึ่งรับมรดกแห่งบาป, ความไม่สมบูรณ์, และความตาย. (โรม 5:17-19) แม้ว่ามนุษย์คู่แรกเป็นผู้ที่จงใจทำบาป พระยะโฮวาทรงอนุญาตให้ทั้งสองมีบุตร. ต่อมา ด้วยความรักพระองค์ทรงจัดให้มีวิธีที่ลูกหลานของอาดามและฮาวาจะกลับคืนดีกับพระองค์ได้. (โยฮัน 3:16, 36) อัครสาวกเปาโลอธิบายดังนี้: “พระเจ้าได้ทรงสำแดงความรักของพระองค์แก่เราทั้งหลาย คือขณะเมื่อเราทั้งหลายยังเป็นคนบาป พระคริสต์ได้ทรงยอมตายแทนเรา. เดี๋ยวนี้เมื่อเราเป็นคนชอบธรรมแล้วโดยพระโลหิตของพระองค์, เราก็จะพ้นจากพระพิโรธของพระเจ้าโดยพระองค์แน่ยิ่งกว่านั้นอีก. ด้วยว่าถ้าเมื่อเราทั้งหลายยังเป็นศัตรูเราได้กลับเป็นไมตรีกันกับพระเจ้าโดยความตายแห่งพระบุตรของพระองค์, ครั้นเรากลับเป็นไมตรีแล้ว, เราจะรอดโดยชีวิตของพระองค์แน่ยิ่งกว่านั้นอีกมาก.”—โรม 5:8-10.
7. พระยะโฮวาทรงแสดงความอดกลั้นไว้นานอย่างไรก่อนมหาอุทกภัย และเหตุใดการทำลายคนชั่วอายุที่มีชีวิตก่อนมหาอุทกภัยจึงเป็นเรื่องที่มีเหตุผลสมควร?
7 ความอดกลั้นไว้นานของพระยะโฮวาเห็นได้ในสมัยของโนฮา. กว่าหนึ่งศตวรรษก่อนมหาอุทกภัย “พระเจ้าทรงทอดพระเนตรดูแผ่นดินก็เห็นว่าชั่วไปทั้งหมด, ด้วยบรรดาเนื้อหนังทำชั่วอุลามกทั่วไปทั้งแผ่นดิน.” (เยเนซิศ 6:12) ถึงกระนั้น พระยะโฮวาทรงแสดงความอดกลั้นไว้นานต่อมนุษยชาติอยู่ชั่วเวลาหนึ่ง. พระองค์ตรัสว่า “วิญญาณของเราจะไม่สถิตอยู่กับมนุษย์นานเป็นนิตย์, เพราะมนุษย์เป็นแต่เนื้อหนัง: เขาจะดำรงชีวิตอยู่ได้ก็เพียงร้อยยี่สิบปี.” (เยเนซิศ 6:3) เวลา 120 ปีดังกล่าวทำให้โนฮาผู้ซื่อสัตย์มีเวลาจะสร้างครอบครัว และเมื่อได้รับพระบัญชาจากพระเจ้าก็ได้สร้างนาวาและเตือนคนร่วมสมัยถึงมหาอุทกภัยที่กำลังจะเกิดขึ้น. อัครสาวกเปโตรเขียนดังนี้: “พระเจ้าทรงโปรดงดโทษไว้นาน [ทรงอดกลั้นไว้นาน], คือครั้งโนฮา, เมื่อท่านกำลังจัดแจงต่อนาวา, ในนาวานั้นได้รอดจากน้ำน้อยคน คือแปดคน.” (1 เปโตร 3:20) จริงอยู่ คนอื่นนอกเหนือจากคนในครอบครัวของโนฮา “ไม่แยแส” คำประกาศของท่าน. (มัดธาย 24:38, 39, ล.ม.) แต่โดยการที่โนฮาสร้างนาวาและได้รับใช้อาจจะหลายสิบปีในฐานะ “ผู้ประกาศความชอบธรรม” พระยะโฮวาทรงให้โอกาสแก่ผู้คนในสมัยของโนฮามากพอที่จะกลับใจจากแนวทางอันรุนแรงและหันมารับใช้พระองค์. (2 เปโตร 2:5; เฮ็บราย 11:7) การทำลายคนชั่วอายุนั้นที่ชั่วร้ายในท้ายที่สุดเป็นเรื่องที่มีเหตุผลเต็มเปี่ยม.
แบบอย่างความอดกลั้นไว้นานต่อชาติอิสราเอล
8. พระยะโฮวาทรงแสดงความอดกลั้นไว้นานอย่างไรต่อชาติอิสราเอล?
8 พระยะโฮวาทรงอดกลั้นไว้นานต่อชาติอิสราเอลนานกว่า 120 ปีมาก. ตลอดช่วงเวลามากกว่า 1,500 ปีแห่งประวัติศาสตร์ของพวกเขาในฐานะไพร่พลที่ถูกเลือกสรรของพระเจ้า ช่วงเวลาส่วนใหญ่ชาวอิสราเอลได้ทดสอบความอดกลั้นไว้นานของพระเจ้าจนถึงขีดสุด. ไม่กี่สัปดาห์หลังการช่วยให้รอดพ้นจากอียิปต์อย่างมหัศจรรย์ พวกเขาหันไปบูชารูปเคารพ แสดงความไม่นับถืออย่างร้ายแรงต่อพระผู้ช่วยให้รอดของพวกเขา. (เอ็กโซโด 32:4; บทเพลงสรรเสริญ 106:21) ในช่วงหลายทศวรรษต่อจากนั้น ชาวอิสราเอลบ่นเกี่ยวกับอาหารที่พระยะโฮวาทรงจัดให้พวกเขาในทะเลทรายด้วยวิธีอัศจรรย์, บ่นต่อว่าโมเซและอาโรน, พูดต่อต้านพระยะโฮวา, และทำผิดประเวณีกับคนนอกรีต, ถึงกับร่วมในการนมัสการบาละด้วยซ้ำ. (อาฤธโม 11:4-6; 14:2-4; 21:5; 25:1-3; 1 โกรินโธ 10:6-11) พระยะโฮวาทรงสามารถทำลายไพร่พลของพระองค์ได้อย่างถูกต้องเที่ยงธรรม แต่แทนที่จะทำอย่างนั้น พระองค์ทรงแสดงความอดกลั้นไว้นาน.—อาฤธโม 14:11-21.
9. พระยะโฮวาทรงพิสูจน์อย่างไรว่าทรงเป็นพระเจ้าที่อดกลั้นไว้นานในช่วงที่ปกครองโดยผู้วินิจฉัยและช่วงที่ปกครองโดยกษัตริย์?
9 ในสมัยของผู้วินิจฉัย ชาวอิสราเอลหันเหไปบูชารูปเคารพครั้งแล้วครั้งเล่า. เมื่อพวกเขาทำอย่างนั้น พระยะโฮวาทรงละทิ้งพวกเขาให้พ่ายแพ้ศัตรู. แต่เมื่อพวกเขากลับใจและร้องขอความช่วยเหลือจากพระองค์ พระองค์ทรงแสดงความอดกลั้นไว้นานและแต่งตั้งผู้วินิจฉัยให้ช่วยพวกเขา. (วินิจฉัย 2:17, 18) ในช่วงเวลาอันยาวนานแห่งการปกครองด้วยระบอบกษัตริย์ มีกษัตริย์เพียงไม่กี่องค์ที่แสดงความเลื่อมใสโดยเฉพาะแด่พระยะโฮวา. และแม้แต่เมื่อกษัตริย์ที่ซื่อสัตย์ปกครอง ประชาชนก็มักนำเอาการนมัสการเท็จเข้ามาปะปนกับการนมัสการแท้. เมื่อพระยะโฮวาทรงแต่งตั้งผู้พยากรณ์เพื่อเตือนเกี่ยวกับความไม่ซื่อสัตย์ ประชาชนก็มักชอบฟังปุโรหิตที่เสื่อมทรามและผู้พยากรณ์เท็จเสียมากกว่า. (ยิระมะยา 5:31; 25:4-7) ที่จริง ชาวอิสราเอลข่มเหงผู้พยากรณ์ที่ซื่อสัตย์ของพระยะโฮวาและถึงกับฆ่าผู้พยากรณ์บางคนด้วยซ้ำ. (2 โครนิกา 24:20, 21; กิจการ 7:51, 52) อย่างไรก็ตาม พระยะโฮวาทรงแสดงความอดกลั้นไว้นานอยู่เรื่อยมา.—2 โครนิกา 36:15.
ความอดกลั้นไว้นานของพระยะโฮวาไม่หมดไป
10. ความอดกลั้นไว้นานของพระยะโฮวามาถึงขีดสุดเมื่อไร?
10 อย่างไรก็ตาม ประวัติศาสตร์ชี้ว่าความอดกลั้นไว้นานของพระเจ้ามีขีดจำกัด. ในปี 740 ก่อนสากลศักราช พระองค์ทรงปล่อยให้พวกอัสซีเรียมีชัยเหนืออาณาจักรอิสราเอลสิบตระกูลและนำประชากรของอาณาจักรนี้ไปเป็นเชลย. (2 กษัตริย์ 17:5, 6) และเมื่อถึงปลายศตวรรษต่อมา พระองค์ทรงปล่อยให้พวกบาบูโลนรุกรานอาณาจักรยูดาสองตระกูลและทำลายกรุงยะรูซาเลมพร้อมกับพระวิหาร.—2 โครนิกา 36:16-19.
11. พระยะโฮวาทรงแสดงความอดกลั้นไว้นานอย่างไรแม้แต่เมื่อพระองค์กำลังสำเร็จโทษตามการพิพากษา?
11 ถึงกระนั้น แม้แต่ในขณะที่กำลังสำเร็จโทษอิสราเอลและยูดาตามการพิพากษา พระยะโฮวาไม่ทรงลืมที่จะแสดงความอดกลั้นไว้นาน. โดยทางผู้พยากรณ์ยิระมะยา พระยะโฮวาทรงบอกล่วงหน้าถึงการฟื้นฟูไพร่พลผู้ถูกเลือกสรรของพระองค์. พระองค์ตรัสว่า “ครั้นเมื่อครบถ้วนเจ็ดสิบปี, ที่เมืองบาบูโลนแล้ว, เราจะไปเยี่ยมเจ้าทั้งหลาย, แลจะกระทำให้คำดีของเรา (ซึ่งได้กล่าวไว้) แก่พวกเจ้าให้สำเร็จ, คือว่าจะกระทำให้พวกเจ้ากลับมาถึงที่นี่. แลเราจะเป็นผู้ที่พวกเจ้าจะพบได้ . . . เราจะกระทำให้ความเชลยของพวกเจ้านั้นหันกลับ, แลเราจะประชุมพวกเจ้าจากบรรดาเมืองทั้งปวง, แลจากบรรดาประเทศทั้งหลายที่เราได้ไล่พวกเจ้าไปอยู่นั้น.”—ยิระมะยา 29:10, 14.
12. การกลับมายังแผ่นดินยูดาของชนที่เหลือชาวยิวปรากฏว่าเป็นการจัดเตรียมของพระเจ้าเกี่ยวข้องกับการเสด็จมาของพระมาซีฮาอย่างไร?
12 ชนที่เหลือจากหมู่ชาวยิวที่ตกเป็นเชลยได้กลับมายูดาจริง ๆ และได้ฟื้นฟูการนมัสการพระยะโฮวา ณ พระวิหารที่สร้างขึ้นใหม่ในกรุงยะรูซาเลม. ในความสำเร็จตามพระประสงค์ของพระยะโฮวา ชนที่เหลือนี้จะกลายเป็นดุจ “น้ำค้างมาจากพระยะโฮวา” ซึ่งนำความสดชื่นและความเจริญรุ่งเรืองมาให้. พวกเขาจะกล้าหาญและแข็งแรงดุจ “สิงโตอยู่ท่ามกลางหมู่สัตว์ในป่า” อีกด้วย. (มีคา 5:7, 8) วลีหลังอาจมีความสำเร็จเป็นจริงในยุคแมกคาบี เมื่อชาวยิวภายใต้การปกครองของตระกูลแมกคาบีขับไล่ศัตรูออกจากแผ่นดินที่พระเจ้าทรงสัญญาไว้และอุทิศพระวิหารซึ่งถูกทำให้เป็นมลทินอีกครั้งหนึ่ง. ด้วยเหตุนั้น แผ่นดินและพระวิหารได้รับการรักษาไว้เพื่อชนที่เหลือผู้ซื่อสัตย์อีกกลุ่มหนึ่งจะสามารถต้อนรับพระบุตรของพระเจ้าเมื่อพระองค์มาปรากฏที่นั่นในฐานะพระมาซีฮา.—ดานิเอล 9:25; ลูกา 1:13-17, 67-79; 3:15, 21, 22.
13. แม้แต่หลังจากพวกยิวได้สังหารพระบุตรของพระองค์ พระยะโฮวาทรงแสดงความอดกลั้นไว้นานต่อพวกเขาต่อไปอย่างไร?
13 แม้แต่หลังจากพวกยิวได้สังหารพระบุตรของพระองค์ พระยะโฮวายังแสดงความอดกลั้นไว้นานต่อพวกเขาต่อไปอีกสามปีครึ่ง ให้โอกาสเฉพาะพวกเขาในการถูกเรียกให้เป็นส่วนแห่งพงศ์พันธุ์ฝ่ายวิญญาณของอับราฮาม. (ดานิเอล 9:27)b ก่อนและหลังปีสากลศักราช 36 ชาวยิวบางคนตอบรับการเรียกนี้ และด้วยเหตุนั้น ดังที่เปาโลได้กล่าวถึงเรื่องนี้ในเวลาต่อมา “ยังมีพวกที่เหลืออยู่ตามที่พระเจ้าได้ทรงกรุณาเลือกไว้.”—โรม 11:5.
14. (ก) ในปีสากลศักราช 36 ได้มีการขยายสิทธิพิเศษแห่งการเป็นส่วนในพงศ์พันธุ์ฝ่ายวิญญาณของอับราฮามแก่ใคร? (ข) เปาโลแสดงความรู้สึกอย่างไรเกี่ยวกับวิธีที่พระยะโฮวาเลือกสมาชิกแห่งชาติอิสราเอลฝ่ายวิญญาณ?
14 ในปีสากลศักราช 36 เป็นครั้งแรกที่ได้มีการขยายสิทธิพิเศษแห่งการเป็นส่วนในพงศ์พันธุ์ฝ่ายวิญญาณของอับราฮามแก่คนที่ไม่ใช่ชาวยิวหรือผู้เปลี่ยนมาถือศาสนายิว. ใครก็ตามที่ตอบรับได้กลายมาเป็นผู้รับพระกรุณาอันไม่พึงได้รับและความอดกลั้นไว้นานของพระยะโฮวาด้วย. (ฆะลาเตีย 3:26-29; เอเฟโซ 2:4-7) เปาโลออกปากกล่าวแสดงความหยั่งรู้ค่าอย่างลึกซึ้งต่อสติปัญญาและพระประสงค์ที่อยู่เบื้องหลังความอดกลั้นไว้นานอันเปี่ยมด้วยความเมตตาของพระยะโฮวา ซึ่งพระองค์ทรงแสดงออกเพื่อทำให้จำนวนทั้งหมดของคนที่ถูกเรียกเข้ามาเป็นอิสราเอลฝ่ายวิญญาณครบถ้วน ดังนี้: “โอพระปัญญาและความรู้ของพระเจ้ามีอเนกอนันต์มากเท่าใด พระดำริของพระองค์เหลือที่จะเข้าใจได้, และทางทั้งหลายของพระองค์เหลือที่จะสืบเสาะได้!”—โรม 11:25, 26, 33; ฆะลาเตีย 6:15, 16.
อดกลั้นไว้นานเพื่อเห็นแก่พระนามของพระองค์
15. เหตุผลประการสำคัญที่พระเจ้าทรงอดกลั้นไว้นานคืออะไร และจำเป็นต้องให้เวลาในการจัดการประเด็นอะไร?
15 เหตุใดพระยะโฮวาจึงทรงแสดงความอดกลั้นไว้นาน? เหตุผลประการสำคัญคือเพื่อทำให้พระนามอันบริสุทธิ์ของพระองค์ได้รับการสรรเสริญและพิสูจน์ความถูกต้องแห่งพระบรมเดชานุภาพของพระองค์. (1 ซามูเอล 12:20-22) ประเด็นด้านศีลธรรมที่ซาตานยกขึ้นมาเกี่ยวกับวิธีที่พระยะโฮวาใช้พระบรมเดชานุภาพของพระองค์จำเป็นต้องใช้เวลาเพื่อจัดการให้เรียบร้อยต่อหน้าสิ่งทรงสร้างทั้งสิ้น. (โยบ 1:9-11; 42:2, 5, 6) ดังนั้น เมื่อไพร่พลของพระยะโฮวาถูกข่มเหงในอียิปต์ พระองค์ทรงมีรับสั่งแก่ฟาโรห์ว่า “เหตุที่เราให้เจ้ามีชีวิตอยู่ก็เพื่อจะให้เจ้าเห็นฤทธานุภาพของเราและนามของเราจะได้มีผู้ประกาศไปทั่วโลก.”—เอ็กโซโด 9:16, ฉบับแปลใหม่.
16. (ก) ความอดกลั้นไว้นานของพระยะโฮวาทำให้การเตรียมประชาชนสำหรับพระนามของพระองค์เป็นไปได้อย่างไร? (ข) พระนามของพระยะโฮวาจะเป็นที่นับถืออันบริสุทธิ์และพระบรมเดชานุภาพของพระองค์จะได้รับการพิสูจน์ว่าถูกต้องเที่ยงธรรมโดยวิธีใด?
16 อัครสาวกเปาโลยกพระดำรัสของพระยะโฮวาที่ตรัสแก่ฟาโรห์ขึ้นมากล่าว เมื่อท่านอธิบายบทบาทของความอดกลั้นไว้นานของพระเจ้าในการทำให้พระนามอันบริสุทธิ์ของพระองค์ได้รับการสรรเสริญ. และต่อจากนั้น เปาโลเขียนว่า “แล้วถ้าพระเจ้าประสงค์จะสำแดงความพิโรธของพระองค์ และบันดาลให้ฤทธิ์เดชของพระองค์ปรากฏ, แต่ยังได้ทรงอดกลั้นพระทัยไว้ช้านานแก่ผู้เหล่านั้นที่เป็นเครื่องภาชนะแห่งความพิโรธซึ่งทรงจัดเตรียมไว้สำหรับความพินาศ และเพื่อจะได้ทรงสำแดงสง่าราศีอันอุดมของพระองค์แก่ผู้เหล่านั้นที่เป็นเครื่องภาชนะแห่งความเมตตา, ซึ่งพระองค์ได้ทรงจัดเตรียมไว้ก่อนให้สมกับสง่าราศีนั้น, คือเราทั้งหลายที่พระองค์ได้ทรงเรียกมาแล้ว, มิใช่ออกจากพวกยูดายพวกเดียว, แต่ออกจากพวกต่างประเทศด้วย, ก็จะว่าอะไรเล่า? เหมือนพระองค์ตรัสไว้แล้วในคัมภีร์โฮซียาว่า, ‘เราจะเรียกเขาเหล่านั้นว่าเป็น “พลไพร่ของเรา,” ซึ่งเมื่อก่อนหาได้เป็นพลไพร่ของเราไม่.’ ” (โรม 9:17, 22-25) เนื่องจากพระยะโฮวาทรงแสดงความอดกลั้นไว้นาน พระองค์ทรงสามารถนำ “ประชาชนสำหรับพระนามของพระองค์” ออกจากชาติทั้งหลาย. (กิจการ 15:14, ล.ม.) ภายใต้การนำแห่งประมุขของพวกเขา คือพระเยซูคริสต์ “เหล่าผู้บริสุทธิ์” เป็นรัชทายาทของราชอาณาจักรที่พระยะโฮวาจะทรงใช้เพื่อทำให้พระนามอันยิ่งใหญ่ของพระองค์เป็นที่นับถืออันบริสุทธิ์และเพื่อพระบรมเดชานุภาพของพระองค์จะได้รับการพิสูจน์ว่าถูกต้องเที่ยงธรรม.—ดานิเอล 2:44; 7:13, 14, 27; วิวรณ์ 4:9-11; 5:9, 10.
ความอดกลั้นไว้นานของ พระยะโฮวายังผลเป็นความรอด
17, 18. (ก) โดยทำเช่นไร เราอาจตำหนิพระยะโฮวาโดยไม่รู้ตัวเกี่ยวกับการที่พระองค์ทรงแสดงความอดกลั้นไว้นาน? (ข) เราได้รับการสนับสนุนให้มีทัศนะอย่างไรต่อความอดกลั้นไว้นานของพระยะโฮวา?
17 นับตั้งแต่มนุษยชาติตกเข้าสู่บาปแรกเดิมซึ่งก่อให้เกิดความหายนะจนกระทั่งบัดนี้ พระยะโฮวาได้ทรงแสดงพระองค์เองว่าเป็นพระเจ้าผู้ทรงอดกลั้นไว้นาน. ความอดกลั้นไว้นานของพระองค์ก่อนมหาอุทกภัยทำให้มีเวลาสำหรับการประกาศเตือนอย่างเหมาะสมและมีเวลาพอสำหรับการสร้างนาวาที่ช่วยให้รอด. แต่ความอดทนของพระองค์มาถึงขีดสุด และมหาอุทกภัยก็เกิดขึ้น. คล้ายกันในทุกวันนี้ พระยะโฮวากำลังแสดงความอดกลั้นไว้นานอย่างมาก และนานกว่าที่บางคนได้คาดไว้. อย่างไรก็ตาม นั่นไม่ใช่เหตุผลที่จะสิ้นหวัง. การแสดงความสิ้นหวังย่อมเท่ากับการตำหนิพระเจ้าที่ทรงอดกลั้นไว้นาน. เปาโลถามดังนี้: “ท่านประมาทพระกรุณาอันอุดมและการที่ทรงอดทนไว้ช้านานและการทรงอดกลั้นพระทัยไว้, ไม่รู้ว่าพระกรุณาของพระเจ้านั้นเป็นที่จะนำท่านให้กลับใจเสียใหม่หรือ?”—โรม 2:4.
18 ไม่มีใครในพวกเรารู้ได้ว่าเราจำเป็นต้องอาศัยความอดกลั้นไว้นานของพระเจ้าขนาดไหนเพื่อจะแน่ใจว่าเราได้รับการยอมรับสำหรับความรอด. เปาโลแนะนำเราให้ “อุสส่าห์ประพฤติให้ความรอดของตนบริบูรณ์ด้วยความเกรงกลัวตัวสั่น.” (ฟิลิปปอย 2:12) อัครสาวกเปโตรเขียนถึงเพื่อนคริสเตียนว่า “[พระยะโฮวา] ไม่ได้ทรงเฉื่อยช้าในคำสัญญาของพระองค์, เหมือนบางคนคิดว่าช้านั้น แต่พระองค์ได้ทรงอดกลั้นพระทัยไว้เพราะเห็นแก่ท่านทั้งหลาย เป็นช้านาน, ไม่ทรงประสงค์จะให้คนหนึ่งคนใดพินาศเลย, แต่ทรงปรารถนาจะให้คนทั้งปวงกลับใจเสียใหม่.”—2 เปโตร 3:9.
19. เราจะใช้ความอดกลั้นไว้นานของพระยะโฮวาให้เป็นประโยชน์ได้อย่างไร?
19 ดังนั้น อย่าให้เราขาดความอดทนต่อแนวทางของพระยะโฮวาในการจัดการเรื่องต่าง ๆ. แทนที่จะเป็นอย่างนั้น ให้เราปฏิบัติตามคำแนะนำต่อจากนั้นของเปโตรและ “ถือว่าความอดกลั้นพระทัยขององค์พระผู้เป็นเจ้าของเราเป็นความรอด.” ความรอดของใคร? ของเราเอง และยิ่งกว่านั้น ความรอดของผู้อื่นอีกนับไม่ถ้วนซึ่งยังจำเป็นต้องได้ยิน “ข่าวดีแห่งราชอาณาจักร.” (2 เปโตร 3:15, ล.ม.; มัดธาย 24:14, ล.ม.) เรื่องนี้จะช่วยเราให้หยั่งรู้ค่าว่าพระยะโฮวาทรงมีความอดกลั้นไว้นานด้วยพระทัยกว้างขวางมากเพียงไร และกระตุ้นเราให้เราแสดงความอดกลั้นไว้นานในการปฏิบัติต่อผู้อื่น.
[เชิงอรรถ]
a ในภาษาฮีบรู คำที่หมายถึง “จมูก” หรือ “รูจมูก” (อาฟ ) มักใช้ในความหมายโดยนัยสำหรับความโกรธ. ที่เป็นอย่างนี้เพราะคนที่โกรธจัดจะหายใจแรงหรือหายใจดังฟืดฟาดออกจมูก.
b เพื่อจะได้คำอธิบายเกี่ยวกับคำพยากรณ์นี้มากขึ้น โปรดดูหนังสือจงเอาใจใส่คำพยากรณ์ของดานิเอล! หน้า 191-194 จัดพิมพ์โดยพยานพระยะโฮวา.
คุณอธิบายได้ไหม?
• คำว่า “ความอดกลั้นไว้นาน” ในคัมภีร์ไบเบิลมีความหมายเช่นไร?
• พระยะโฮวาทรงแสดงความอดกลั้นไว้นานอย่างไรก่อนมหาอุทกภัย, ภายหลังการเป็นเชลยในบาบูโลน, และในศตวรรษแรกแห่งสากลศักราช?
• พระยะโฮวาทรงแสดงความอดกลั้นไว้นานเนื่องด้วยเหตุผลสำคัญอะไร?
• เราควรมีทัศนะอย่างไรต่อความอดกลั้นไว้นานของพระยะโฮวา?
[ภาพหน้า 9]
ความอดกลั้นไว้นานของพระยะโฮวาก่อนมหาอุทกภัยทำให้ประชาชนมีโอกาสมากพอที่จะกลับใจ
[ภาพหน้า 10]
หลังจากความล่มจมของบาบูโลน ชาวยิวได้รับประโยชน์จากความอดกลั้นไว้นานของพระยะโฮวา
[ภาพหน้า 11]
ในศตวรรษแรก ทั้งชาวยิวและผู้ที่ไม่ใช่ชาวยิวได้รับประโยชน์จากความอดกลั้นไว้นานของพระยะโฮวา
[ภาพหน้า 12]
คริสเตียนในปัจจุบันใช้ความอดกลั้นไว้นานของพระยะโฮวาให้เป็นประโยชน์