‘ฉันควรรับบัพติสมาไหม?’
ในบรรดาการตัดสินใจที่เราต้องทำในชีวิตนั้น บางทีไม่มีเรื่องใดที่สำคัญยิ่งไปกว่าเรื่องนี้คือ ‘ฉันควรรับบัพติสมาไหม?’ ทำไมนั่นเป็นเรื่องสำคัญเพียงนั้น? เพราะการตัดสินใจของเราเกี่ยวกับคำถามนี้มีผลกระทบโดยตรงต่อไม่เพียงแต่แนวทางชีวิตของเราขณะนี้เท่านั้น หากแต่ต่อสวัสดิภาพถาวรของเราด้วย.
คุณเคยเผชิญกับการตัดสินใจเช่นนี้ไหม? บางทีคุณได้ศึกษาพระคัมภีร์กับพยานพระยะโฮวามาแล้วระยะหนึ่ง. หรือไม่ก็บิดามารดาได้สอนพระคัมภีร์ให้แก่คุณตั้งแต่เป็นทารก. ตอนนี้คุณได้บรรลุถึงขั้นที่ต้องตัดสินใจว่าควรทำประการใด. เพื่อที่จะทำการตัดสินใจอย่างถูกต้อง คุณจะต้องเข้าใจว่าการรับบัพติสมาเกี่ยวข้องกับอะไร และใครควรรับบัพติสมา.
สิ่งที่การรับบัพติสมาเกี่ยวข้องด้วย
ค่อนข้างจะเหมือนการแต่งงาน การรับบัพติสมาเป็นการกระทำที่ทำให้ความสัมพันธ์เป็นเรื่องจริงจัง. ในกรณีของการแต่งงาน ชายและหญิงที่เกี่ยวข้องด้วยได้พัฒนาความสัมพันธ์อันใกล้ชิดอยู่แล้ว. การแต่งงานเพียงแต่ทำให้คนทั่วไปทราบสิ่งที่ได้มีการตกลงกันเป็นส่วนตัว กล่าวคือการที่เขาทั้งสองคนเข้าสู่การอยู่ร่วมกันในสายสมรสจริง ๆ. นั่นเปิดโอกาสให้คู่สมรสได้รับสิทธิพิเศษและนำมาซึ่งหน้าที่รับผิดชอบซึ่งเขาทั้งสองต้องดำเนินตามในชีวิตร่วมกัน.
สถานการณ์คล้ายกันทีเดียวกับการรับบัพติสมา. ขณะที่เราศึกษาพระคัมภีร์ เราเรียนรู้สิ่งต่าง ๆ ที่พระยะโฮวาได้ทรงกระทำเพื่อเราด้วยความรัก. พระองค์ได้ประทานให้เราไม่เฉพาะแต่ชีวิตและทุกสิ่งที่เราจำเป็นต้องมีเพื่อค้ำจุนชีวิตเท่านั้น แต่ประทานพระบุตรที่รักองค์เดียวของพระองค์ด้วยเพื่อเปิดทางไว้สำหรับมนุษยชาติผู้ผิดบาปให้เข้าสู่สัมพันธภาพกับพระองค์ และได้รับชีวิตถาวรบนแผ่นดินโลกที่เป็นอุทยาน. เมื่อเราคิดถึงเรื่องทั้งหมดนี้ เราไม่ถูกกระตุ้นให้ทำอะไรบางอย่างหรอกหรือ?
เราสามารถทำอะไรได้บ้าง? พระเยซูคริสต์ พระบุตรของพระเจ้าตรัสสั่งเราว่า “ถ้าผู้ใดต้องการตามเรามา ก็ให้ผู้นั้นปฏิเสธตัวเอง และรับเอาเสาทรมานของตนแล้วติดตามเราเรื่อยไป.” (มัดธาย 16:24, ล.ม.) ถูกแล้ว เราสามารถเป็นสาวกของพระเยซูคริสต์ได้ ติดตามแบบอย่างของพระองค์ในการส่งเสริมผลประโยชน์ของพระยะโฮวา พระบิดาของพระองค์. แต่อย่างไรก็ตาม เพื่อจะทำเช่นนั้น เราต้อง ‘ปฏิเสธตัวเอง’ นั่นคือตัดสินใจด้วยความสมัครใจที่จะเอาพระทัยประสงค์ของพระเจ้าขึ้นหน้าความประสงค์ของเราเอง นี้เกี่ยวข้องกับการถวายหรืออุทิศชีวิตของเราเพื่อกระทำตามพระทัยประสงค์ของพระองค์. เพื่อประกาศการตัดสินใจเป็นส่วนตัวและความสมัครใจเช่นนี้ จึงมีการกระทำอย่างเปิดเผย. การรับบัพติสมาในน้ำเป็นเครื่องหมายแสดงอย่างเปิดเผยถึงการอุทิศตัวของเราแด่พระเจ้า.
ใครควรรับบัพติสมา?
พระเยซูคริสต์ทรงสั่งพวกสาวกของพระองค์ให้ ‘ไปและทำให้ชนจากทุกชาติเป็นสาวก ให้เขารับบัพติสมาในนามแห่งพระบิดา, และพระบุตร, และพระวิญญาณบริสุทธิ์, สอนเขาให้ถือรักษาสิ่งสารพัดซึ่งพระองค์ได้สั่งพวกเขาไว้.’ (มัดธาย 28:19, 20, ล.ม.) เห็นได้ชัดว่ามีการเรียกร้องวุฒิภาวะของจิตใจและหัวใจระดับหนึ่งจากคนเหล่านั้นที่จะรับบัพติสมา. โดยการศึกษาพระวจนะของพระเจ้าเป็นส่วนตัว พวกเขาได้หยั่งรู้ถึงความจำเป็นที่จะ ‘กลับใจและหันกลับ’ จากแนวทางชีวิตแต่ก่อนของเขา. (กิจการ 3:19, ล.ม.) ครั้นแล้ว เขาแลเห็นความจำเป็นที่จะรับเอางานเผยแพร่กิตติคุณที่พระเยซูคริสต์ได้ทรงกระทำ เข้ามาเป็นสาวกของพระองค์. ทั้งหมดนี้ได้เกิดขึ้นก่อนขั้นตอนการรับบัพติสมา.
คุณได้มาถึงขั้นนี้ในพัฒนาการทางฝ่ายวิญญาณของคุณไหม? คุณปรารถนาที่จะรับใช้พระเจ้าไหม? ถ้าเช่นนั้น จงพิจารณาด้วยการอธิษฐานเกี่ยวกับเรื่องราวในพระคัมภีร์ของขันทีชาวเอธิโอเปีย ตามที่บันทึกในกิจการบท 8. เมื่อมีการอธิบายคำพยากรณ์ว่าด้วยพระเยซูมาซีฮาแก่ชายคนนี้ เขาได้สำรวจดูจิตใจและหัวใจของเขา แล้วถามว่า “มีอะไรขัดข้องไม่ให้ข้าพเจ้ารับบัพติสมา?” ดูเหมือนว่าไม่มีอะไรขัดขวางเขาไว้ ดังนั้นเขาจึงได้รับบัพติสมา.—กิจการ 8:26-38.
ทุกวันนี้หลายคนถามคำถามอย่างเดียวกัน “มีอะไรขัดข้องไม่ให้ข้าพเจ้ารับบัพติสมา?” ผลก็คือ 300,945 คนที่ได้อุทิศตัวก่อนหน้าไม่นานได้รับบัพติสมาในปี 1991. นี้นำมาซึ่งความยินดีแก่ไพร่พลของพระยะโฮวาทุกคน และผู้ปกครองในประชาคมยินดีช่วยคนอื่นที่มีหัวใจถูกต้องให้ก้าวหน้าและบรรลุคุณวุฒิในการรับบัพติสมา.
อย่างไรก็ดี อาจเป็นได้ที่ผู้ปกครองในประชาคมของคุณแนะให้คุณคอยก่อน. หรือว่า หากคุณเป็นหนุ่มสาว บิดามารดาของคุณอาจแนะนำให้คุณรอก่อน. ถ้าเช่นนั้นจะว่าอย่างไร? อย่าได้ท้อใจ. จงจดจำไว้ว่าการเข้าสู่สัมพันธภาพเฉพาะตัวกับพระผู้สูงสุดนั้นเป็นเรื่องสำคัญทีเดียว. ต้องบรรลุมาตรฐานอันสูงส่งและรักษาไว้ต่อไป. ดังนั้น จงฟังข้อเสนอแนะที่ได้รับแล้วนำไปใช้อย่างสิ้นสุดหัวใจ. หากคุณไม่เข้าใจเหตุผลที่ได้รับนั้นอย่างเต็มที่ อย่ารู้สึกอาย แต่จงถามคำถามจนกว่าคุณเข้าใจอย่างแท้จริงว่าคุณต้องทำอะไรเพื่อเตรียมตัว.
อีกด้านหนึ่ง บางคนอาจลังเลที่จะรับเอาขั้นตอนสำคัญดังที่เขาเรียกนั้น. คุณเป็นคนหนึ่งในพวกนั้นไหม? แน่ละ อาจมีเหตุผลชัดแจ้งที่คุณต้องเลื่อนการอุทิศตัวและการรับบัพติสมาออกไป. แต่ถ้าคุณมีคุณสมบัติและยังรีรออยู่ นับว่าดีที่จะถามตัวเองว่า “มีอะไรขัดข้องไม่ให้ข้าพเจ้ารับบัพติสมา?” จงวิเคราะห์ดูสภาพการณ์ของคุณด้วยการอธิษฐานแล้วดูซิว่ามีเหตุผลอันถูกต้องจริง ๆ หรือไม่สำหรับคุณที่จะเลื่อนการตอบรับต่อคำเชิญของพระยะโฮวาให้เข้าสู่สัมพันธภาพเฉพาะตัวกับพระองค์.
‘ฉันยังเด็กอยู่’
หากคุณเป็นเยาวชน คุณอาจคิดว่า ‘ฉันยังเด็กอยู่.’ เป็นความจริงที่ว่าตราบใดที่เยาวชนยังคงเชื่อฟังและตอบรับต่อบิดามารคริสเตียนของเขาและนำพระคัมภีร์มาใช้สุดความสามารถของเขาแล้ว เขาก็จะมีความมั่นใจได้ว่าพระยะโฮวาทรงถือว่าเขา “ไม่เป็นมลทิน.” ที่จริง พระคัมภีร์บอกเราว่าความพอพระทัยของพระเจ้าต่อบิดามารดาผู้ชอบธรรมนั้นแผ่ไปถึงเด็ก ๆ ที่อยู่ใต้บังคับ. (1 โกรินโธ 7:14) อย่างไรก็ดี ไม่มีการให้ขีดจำกัดอายุไว้ในพระคัมภีร์ในเรื่องที่ว่าการอยู่ใต้บังคับนี้สิ้นสุดลงเมื่อไร. เพราะฉะนั้น นับว่าสำคัญที่หนุ่มสาวคริสเตียนจะพิจารณาคำถามที่ว่า ‘ฉันควรรับบัพติสมาไหม?’ นั้นอย่างจริงจัง.
พระคัมภีร์สนับสนุนหนุ่มสาวว่า ‘ในปฐมวัยของเขา จงระลึกถึงพระองค์ผู้ได้ทรงสร้างตัวเขานั้น.’ (ท่านผู้ประกาศ 12:1) ในเรื่องนี้ เรามีตัวอย่างของหนูน้อยซามูเอล ผู้ซึ่ง “เมื่อยังเป็นกุมารอยู่ . . . ได้ปฏิบัติเฉพาะพระพักตรพระยะโฮวา.” ยังมีตัวอย่างของติโมเธียวอีกด้วย ผู้ซึ่งตั้งแต่เป็นทารกได้เกิดความฝังใจในความจริงที่มารดากับยายได้สอนเขานั้น.—1 ซามูเอล 2:18; 2 ติโมเธียว 1:5; 3:14, 15.
เช่นเดียวกันในทุกวันนี้ เยาวชนหลายคนได้อุทิศชีวิตของเขาเพื่อรับใช้พระยะโฮวา. อะคิฟูสะ วัย 15 ปีกล่าวว่าส่วนหนึ่งในการประชุมวิธีปฏิบัติงานได้ช่วยเขาให้ทำการตัดสินใจที่จะรับบัพติสมา. อะยุมิรับบัพติสมาเมื่อเธออายุสิบปี. เธอต้องการรับใช้พระยะโฮวาเพราะเธอมารักพระองค์จริง ๆ บัดนี้เธออายุ 13 ปี และเธอเพิ่งได้เห็นนักศึกษาของเธอ ผู้ซึ่งมารักพระยะโฮวาเช่นกัน รับบัพติสมาเมื่ออายุ 12 ปี. ฮิคะรุน้องชายของอะยุมิได้รับบัพติสมาเมื่ออายุสิบปีเช่นกัน. เขาจำได้ว่า “บางคนบอกว่า ผมยังอายุน้อยเกินไป แต่ผมรู้ว่าผมรู้สึกอย่างไร. ครั้นผมตัดสินใจแล้วว่าจะอุทิศชีวิตเพื่อรับใช้พระองค์ด้วยทุกสิ่งทุกอย่างที่ผมมี ผมตั้งใจจะรับบัพติสมา.”
ตัวอย่างของบิดามารดาเป็นปัจจัยสำคัญด้วย ดังที่เห็นได้จากประสบการณ์ของซิสเตอร์วัยสาวคนหนึ่ง. บิดาของเธอได้ห้ามมารดามิให้ศึกษาพระคัมภีร์กับเธอและน้องชายน้องสาวของเธอ. เขาจะทุบตีพวกเขาและเผาหนังสือของพวกเขา. แต่เนื่องจากความอดทนและความเชื่อของมารดา พวกเด็ก ๆ สามารถแลเห็นความสำคัญของการรับใช้พระเจ้ายะโฮวา. เด็กสาวคนนี้ได้รับบัพติสมาตอนอายุ 13 ปี และน้องชายกับน้องสาวได้ติดตามตัวอย่างของเธอ.
‘ฉันแก่เกินไป’
ท่านผู้ประพันธ์บทเพลงสรรเสริญกล่าวว่า “คนแก่กับฝูงเด็ก . . . พากันสรรเสริญพระนามของพระยะโฮวา.” (บทเพลงสรรเสริญ 148:12, 13) ถูกแล้ว คนแก่ต้องยอมรับความจำเป็นในการยืนหยัดอยู่ฝ่ายพระยะโฮวาด้วย. แต่คนแก่บางคนมีแนวโน้มที่จะหลีกเลี่ยงทำการเปลี่ยนแปลง. พวกเขารู้สึกว่านั่นเป็นการ “ฝึกควายแก่ให้ไถนา.” กระนั้น ขอให้หวนระลึกว่าอับราฮามผู้ซื่อสัตย์อายุ 75 ปีเมื่อพระยะโฮวาตรัสสั่งท่านว่า “จงออกจากแผ่นดินและจากญาติพี่น้องของตนไปยังแผ่นดินที่เราจะชี้ให้เจ้า.” (กิจการ 7:3; เยเนซิศ 12:1, 4) โมเซอายุ 80 ปีเมื่อพระยะโฮวาทรงมอบหมายให้ท่าน “พาพลไพร่ของเราออกจากประเทศอายฆุบโต.” (เอ็กโซโด 3:10) คนเหล่านี้และคนอื่น ๆ ทั้งหมดมีสภาพชีวิตที่ตั้งรกรากอยู่แล้วคราวเมื่อพระยะโฮวาทรงขอให้พิสูจน์แสดงความรักของพวกเขาและการอุทิศตัวต่อพระองค์. พวกเขามิได้ลังเลที่จะตอบรับคำเชิญชวนของพระยะโฮวา.
จะว่าอย่างไรในทุกวันนี้? ชิซูมุเคยเป็นศาสนิกชนมาเป็นเวลา 78 ปีเมื่อเขาเริ่มศึกษาพระคัมภีร์. ครอบครัวของเขาได้ต่อต้าน ไม่ยอมให้เขาศึกษาแม้แต่ในบ้านของเขาเองด้วยซ้ำ. ภายหลังหนึ่งปีเท่านั้น เขามองเห็นความจำเป็นที่จะอุทิศตัวแด่พระยะโฮวา และเขาได้รับบัพติสมา. ทำไมเขาทำการเปลี่ยนแปลง? เขากล่าวว่า “ผมถูกหลอกลวงเป็นเวลาหลายปีเนื่องจากศาสนาเท็จ และผมต้องการได้รับความจริงจากพระยะโฮวาต่อไปตลอดกาล.”
‘สิ่งที่ทำให้ท่านทั้งหลายรอดเดี๋ยวนี้’
เวลาที่เหลืออยู่น้อยลงทุกที. ชีวิตอยู่ในอันตราย รวมทั้งชีวิตของคุณด้วย. นับว่าเร่งด่วนที่คุณพิจารณาอย่างจริงจังเรื่องการอุทิศตัวแด่พระยะโฮวา และแสดงเครื่องหมายการอุทิศนั้นโดยการรับบัพติสมาในน้ำ. อัครสาวกเปโตรเน้นเรื่องนี้โดยกล่าวว่า “สิ่งที่ . . . ทำให้ท่านทั้งหลายรอดด้วยเดี๋ยวนี้ กล่าวคือการรับบัพติสมา.” ท่านได้อธิบายต่อไปว่าการรับบัพติสมา “ไม่ใช่การชำระราคีแห่งเนื้อหนัง” (คนเราคงได้ทำเช่นนั้นอยู่แล้วก่อนเขามีคุณสมบัติในการรับบัพติสมา) “แต่การทูลขอพระเจ้าเพื่อสติรู้สึกผิดชอบอันดี.”—1 เปโตร 3:21, ล.ม.
เนื่องจากบรรลุข้อเรียกร้องของพระยะโฮวา สาวกที่ได้รับบัพติสมาแล้วจึงได้มาซึ่งสติรู้สึกผิดชอบอันดี. โดยทำสุดความสามารถของเขาเรื่อยไปในการรับใช้พระยะโฮวา เขาประสบสันติสุขในจิตใจและความอิ่มใจ. (ยาโกโบ 1:25) ยิ่งกว่าอะไรทั้งหมด เขาสามารถคอยท่าพระพรอันไม่รู้สิ้นสุดในระเบียบการใหม่ที่จะมีมาด้วยความมั่นใจ. ขอให้พระพรนั้นเป็นส่วนของคุณขณะที่คุณตอบรับในทางบวกต่อคำถามที่ว่า ‘ฉันควรรับบัพติสมาไหม?’
[รูปภาพหน้า 21]
ขณะเป็นเด็ก ซามูเอลรับใช้จำเพาะพระพักตรพระยะโฮวา
[รูปภาพหน้า 22]
โมเซอายุ 80 ปีเมื่อได้รับการมอบหมายจากพระยะโฮวา
[รูปภาพหน้า 23]
ทุกวันนี้ทั้งคนหนุ่มและคนแก่ที่รับบัพติสมาสามารถคอยท่าพระพรอันไม่รู้สิ้นสุดในระบบใหม่ของพระเจ้าได้