บทสิบสอง
ความหมายของการรับบัพติสมาของคุณ
1. เหตุใดการรับบัพติสมาในน้ำควรเป็นเรื่องที่เราแต่ละคนพึงสนใจ?
ในปี ส.ศ. 29 พระเยซูทรงรับบัพติสมา โดยมีโยฮันผู้ให้บัพติสมาเป็นผู้จุ่มตัวพระองค์ในแม่น้ำจอร์แดน. พระยะโฮวาเองทรงเฝ้าดูและแสดงความพอพระทัย. (มัดธาย 3:16, 17) โดยวิธีนี้พระเยซูได้วางแบบอย่างไว้ให้เหล่าสาวกทุกคนของพระองค์ปฏิบัติตาม. สามปีครึ่งต่อมา พระเยซูทรงบัญชาแก่เหล่าสาวกของพระองค์ว่า “อำนาจทั้งสิ้นได้มอบให้กับเราแล้ว ทั้งในสวรรค์และบนแผ่นดินโลก. เหตุฉะนั้น จงไปและทำให้ชนจากทุกชาติเป็นสาวก ให้เขารับบัพติสมาในนามแห่งพระบิดาและพระบุตรและพระวิญญาณบริสุทธิ์.” (มัดธาย 28:18, 19, ล.ม.) คุณได้รับบัพติสมาตามอย่างที่พระเยซูทรงบัญชาไหม? ถ้ายัง คุณเตรียมตัวจะทำเช่นนั้นไหม?
2. เกี่ยวกับเรื่องการรับบัพติสมา มีคำถามอะไรที่ต้องได้รับคำตอบ?
2 ไม่ว่าคุณรับบัพติสมาแล้วหรือคุณกำลังเตรียมตัวจะรับบัพติสมา ความเข้าใจที่ชัดเจนในเรื่องการรับบัพติสมานับว่าสำคัญสำหรับทุกคนที่ต้องการจะรับใช้พระยะโฮวาและมีชีวิตในโลกใหม่อันชอบธรรมของพระองค์. คำถามที่ควรได้รับคำตอบมีดังต่อไปนี้: การรับบัพติสมาของคริสเตียนในปัจจุบันมีความหมายอย่างเดียวกับการรับบัพติสมาของพระเยซูไหม? การรับบัพติสมา “ในนามแห่งพระบิดาและพระบุตรและพระวิญญาณบริสุทธิ์” หมายความอย่างไร? มีอะไรเกี่ยวข้องอยู่ด้วยในการดำเนินชีวิตประสานกับสิ่งที่การรับบัพติสมาด้วยน้ำของคริสเตียนแสดงนัยถึง?
การรับบัพติสมาที่กระทำโดยโยฮัน
3. การรับบัพติสมาของโยฮันจำกัดไว้สำหรับใคร?
3 ประมาณหกเดือนก่อนที่พระเยซูจะรับบัพติสมา โยฮันผู้ให้บัพติสมาออกไปประกาศในถิ่นทุรกันดารแห่งยูเดียว่า “จงกลับใจเสียใหม่ เพราะว่าราชอาณาจักรฝ่ายสวรรค์มาใกล้แล้ว.” (มัดธาย 3:1, 2, ล.ม.) ผู้คนได้ยินสิ่งที่โยฮันกล่าวและเอาใจใส่คำเตือนนี้. พวกเขาได้สารภาพบาปของตนอย่างเปิดเผย, กลับใจเสียใหม่, ครั้นแล้วก็ไปหาโยฮันเพื่อรับบัพติสมาจากท่านในแม่น้ำจอร์แดน. การรับบัพติสมานั้นสำหรับชาวยิวเท่านั้น.—ลูกา 1:13-16; กิจการ 13:23, 24.
4. เหตุใดชาวยิวในศตวรรษแรกจำต้องกลับใจโดยด่วน?
4 คนยิวเหล่านั้นจำต้องกลับใจอย่างเร่งด่วน. เมื่อปี 1513 ก่อน ส.ศ. ณ ภูเขาไซนาย บรรพบุรุษของพวกเขาได้เข้าสู่สัญญาไมตรีแห่งชาติ ซึ่งก็คือข้อตกลงอันสำคัญยิ่งที่ทำอย่างเป็นทางการกับพระยะโฮวาพระเจ้า. แต่เนื่องจากบาปร้ายแรงของตน พวกเขาไม่ได้ดำเนินชีวิตสมกับหน้าที่รับผิดชอบที่มีต่อสัญญาไมตรีนั้น ฉะนั้น พวกเขาถูกกล่าวโทษโดยสัญญาไมตรีนั้น. เมื่อมาถึงสมัยพระเยซู สถานการณ์ของพวกเขาถึงขั้นวิกฤติ. “วันใหญ่อันน่าสะพรึงกลัวของพระยะโฮวา” ดังที่มาลาคีบอกไว้ล่วงหน้านั้นมาใกล้แล้ว. ในปี ส.ศ. 70 “วัน” นั้นมาถึงเมื่อกองทัพโรมันทำลายกรุงเยรูซาเลม, พระวิหาร, และฆ่าชาวยิวกว่าล้านคน. โยฮันผู้ให้บัพติสมา ผู้ซึ่งมีใจแรงกล้าต่อการนมัสการแท้ ถูกส่งมาล่วงหน้าก่อนที่พินาศกรรมนั้นจะมาถึง “เพื่อเตรียมชนชาติหนึ่งให้พร้อมสำหรับพระยะโฮวา.” พวกเขาจำต้องกลับใจจากบาปที่พวกตนได้ละเมิดต่อสัญญาไมตรีแห่งพระบัญญัติของโมเซ และเตรียมใจให้พร้อมจะรับเอาพระบุตรของพระเจ้าคือพระเยซู ซึ่งพระยะโฮวาทรงใช้ให้มาหาพวกเขา.—มาลาคี 4:4-6, ล.ม.; ลูกา 1:17, ล.ม.; กิจการ 19:4.
5. (ก) เมื่อพระเยซูเสด็จมาเพื่อรับบัพติสมา เหตุใดโยฮันทักท้วงในเรื่องนี้? (ข) การรับบัพติสมาของพระเยซูเป็นสัญลักษณ์แสดงถึงอะไร?
5 ในบรรดาผู้ที่มาหาโยฮันเพื่อรับบัพติสมานั้นก็ได้แก่พระเยซูเอง. แต่เพราะเหตุใด? ด้วยรู้ว่าพระเยซูไม่มีบาปจะสารภาพ โยฮันกล่าวว่า “ข้าพเจ้าต้องการจะรับบัพติศมาจากพระองค์ ควรหรือที่พระองค์จะเสด็จมาหาข้าพเจ้า?” แต่การรับบัพติสมาของพระเยซูเป็นสัญลักษณ์แสดงถึงอะไรบางอย่างที่ต่างออกไป. ดังนั้น พระเยซูทรงตอบว่า “บัดนี้จงยอมเถิด, เพราะว่าควรเราจะกระทำให้ความชอบธรรมสำเร็จทั้งสิ้น.” (มัดธาย 3:13-15) เนื่องจากพระเยซูปราศจากบาป การรับบัพติสมาของพระองค์จึงไม่ใช่สัญลักษณ์ที่แสดงถึงการกลับใจจากบาป อีกทั้งพระองค์ไม่จำเป็นต้องอุทิศตัวแด่พระเจ้า เนื่องจากพระองค์เป็นสมาชิกคนหนึ่งในชาติที่ได้อุทิศแด่พระยะโฮวาอยู่แล้ว. แทนที่จะเป็นเช่นนั้น การรับบัพติสมาของพระองค์ตอนที่มีพระชนมายุ 30 พรรษานั้นนับว่ามีความหมายที่ไม่มีใดเหมือน และเป็นสัญลักษณ์แสดงถึงการเสนอตัวต่อพระบิดาฝ่ายสวรรค์ของพระองค์เพื่อทำตามพระทัยประสงค์ของพระบิดาที่ยังมีอยู่ข้างหน้า.
6. การทำตามพระทัยประสงค์ของพระเจ้ามีความสำคัญขนาดไหนต่อพระเยซู?
6 พระประสงค์ของพระเจ้าสำหรับพระเยซูคริสต์นั้นรวมไปถึงการงานที่เกี่ยวข้องกับราชอาณาจักร. (ลูกา 8:1) นอกจากนั้นยังเกี่ยวข้องกับการสละชีวิตมนุษย์สมบูรณ์ของพระองค์เป็นค่าไถ่ และเป็นพื้นฐานสำหรับสัญญาไมตรีใหม่. (มัดธาย 20:28; 26:26-28; เฮ็บราย 10:5-10) พระเยซูทรงถือว่าสิ่งที่การรับบัพติสมาด้วยน้ำเป็นสัญลักษณ์แสดงถึงนั้นเป็นเรื่องสำคัญอย่างยิ่ง. พระองค์มิได้ปล่อยให้สิ่งใด ๆ มาชักจูงพระองค์ให้หันไปสนใจผลประโยชน์อื่น ๆ. จนกระทั่งพระองค์ทรงจบชีวิตทางแผ่นดินโลก พระองค์ทรงยึดมั่นอยู่กับการทำตามพระทัยประสงค์ของพระเจ้า โดยทำให้การประกาศเรื่องราชอาณาจักรของพระเจ้าเป็นงานหลักของพระองค์.—โยฮัน 4:34.
การรับบัพติสมาในน้ำของเหล่าสาวกคริสเตียน
7. ตั้งแต่วันเพนเตคอสเตปี ส.ศ. 33 คริสเตียนได้รับพระบัญชาให้ทำอะไรเกี่ยวกับการรับบัพติสมา?
7 เหล่าสาวกรุ่นแรกของพระเยซูได้รับบัพติสมาในน้ำโดยโยฮัน แล้วได้รับการชี้นำให้ไปหาพระเยซูในฐานะผู้มีหวังจะได้เป็นสมาชิกแห่งราชอาณาจักรฝ่ายสวรรค์. (โยฮัน 3:25-30) ภายใต้การชี้นำของพระเยซู สาวกเหล่านี้ได้ให้บัพติสมาแก่คนอื่นด้วย ซึ่งมีนัยสำคัญแบบเดียวกับการบัพติสมาของโยฮัน. (โยฮัน 4:1, 2) อย่างไรก็ดี เริ่มตั้งแต่วันเพนเตคอสเตปี ส.ศ. 33 พวกเขาเริ่มปฏิบัติตามพระบัญชาที่จะให้รับบัพติสมา “ในนามแห่งพระบิดาและพระบุตรและพระวิญญาณบริสุทธิ์.” (มัดธาย 28:19, ล.ม.) คุณจะได้ประโยชน์มากทีเดียวเมื่อทบทวนความหมายของคำบัญชานั้น.
8. การรับบัพติสมา “ในนามแห่งพระบิดา” หมายความอย่างไร?
8 การรับบัพติสมา “ในนามแห่งพระบิดา” หมายความอย่างไร? นี่หมายถึงการยอมรับพระนาม, ตำแหน่ง, อำนาจ, พระประสงค์และกฎหมายของพระองค์. จงพิจารณาว่ามีอะไรเกี่ยวพันอยู่ด้วย. (1) ในเรื่องของพระนามของพระองค์ บทเพลงสรรเสริญ 83:18 บอกว่า “พระองค์ผู้เดียว, ผู้ทรงพระนามว่าพระยะโฮวา เป็นพระเจ้าใหญ่ยิ่งทรงครอบครองทั่วแผ่นดินโลก.” (2) ในเรื่องตำแหน่งของพระองค์ 2 กษัตริย์ 19:15 (ล.ม.) บอกว่า “โอ้พระยะโฮวา . . . พระองค์เป็นพระเจ้าเที่ยงแท้แต่องค์เดียว.” (3) ในเรื่องอำนาจของพระองค์ วิวรณ์ 4:11 (ล.ม.) บอกเราว่า “พระยะโฮวาเจ้าข้า พระเจ้าของพวกข้าพเจ้า พระองค์คู่ควรจะได้รับสง่าราศีและเกียรติยศและฤทธิ์เดช เพราะพระองค์ได้ทรงสร้างสิ่งทั้งปวง และเนื่องด้วยพระทัยประสงค์ของพระองค์สิ่งเหล่านั้นจึงได้ดำรงอยู่และถูกสร้างขึ้น.” (4) เราต้องยอมรับเช่นกันว่า พระยะโฮวาทรงเป็นผู้ประสาทชีวิต ผู้ทรงประสงค์จะช่วยเราให้พ้นจากบาปและความตาย: “ความรอดย่อมมาแต่พระยะโฮวา.” (บทเพลงสรรเสริญ 3:8; 36:9) (5) เราจำต้องยอมรับว่า พระยะโฮวาทรงเป็นผู้ประทานกฎหมายสูงสุด: “พระยะโฮวาทรงเป็นผู้พิพากษาของเรา, พระยะโฮวาทรงเป็นผู้บัญญัติกฎหมายของเรา, พระยะโฮวาทรงเป็นพระมหากษัตริย์ของเรา พระองค์เองจะช่วยเราให้รอด.” (ยะซายา 33:22, ล.ม.) เนื่องจากพระองค์ทรงเป็นเช่นนั้นทุกประการ เราจึงได้รับการกระตุ้นเตือนดังนี้: “จงรักพระองค์ผู้เป็นพระเจ้าด้วยสุดใจสุดจิตต์ของเจ้า, และด้วยสิ้นสุดความคิดของเจ้า.”—มัดธาย 22:37.
9. การรับบัพติสมา “ในนามแห่ง . . . พระบุตร” หมายความอย่างไร?
9 การรับบัพติสมา “ในนามแห่ง . . . พระบุตร” หมายความอย่างไร? นั่นหมายถึงการยอมรับพระนาม, ตำแหน่ง, และอำนาจของพระเยซูคริสต์. พระนามเยซูหมายถึง “พระยะโฮวาทรงเป็นความรอด.” พระเยซูได้รับตำแหน่งนี้จากข้อที่ว่าพระองค์เป็นพระบุตรผู้ได้รับกำเนิดองค์เดียวของพระเจ้า เป็นสิ่งแรกแห่งการทรงสร้างของพระเจ้า. (มัดธาย 16:16; โกโลซาย 1:15, 16) เกี่ยวกับพระบุตรองค์นี้ โยฮัน 3:16 (ล.ม.) บอกเราว่า “พระเจ้าทรงรักโลก [แห่งมนุษยชาติที่จะไถ่ถอนได้] มากถึงกับทรงประทานพระบุตรผู้ได้รับกำเนิดองค์เดียวของพระองค์ เพื่อทุกคนที่สำแดงความเชื่อในพระองค์นั้นจะไม่ถูกทำลายแต่มีชีวิตนิรันดร์.” เนื่องจากพระเยซูสิ้นพระชนม์อย่างซื่อสัตย์ พระเจ้าทรงบันดาลให้พระองค์คืนพระชนม์และประทานอำนาจให้พระองค์เพิ่มขึ้น. ตามที่อัครสาวกเปาโลกล่าว พระเจ้าทรง “ยก [พระเยซู] ขึ้นให้ดำรงตำแหน่งสูง” ในเอกภพ เป็นรองแต่พระยะโฮวาเท่านั้น. เพราะเหตุนั้น “ทุกหัวเข่า . . . จะได้กราบลงในพระนามของพระเยซู และลิ้นทุกลิ้นจะรับอย่างเปิดเผยว่าพระเยซูคริสต์เป็นองค์พระผู้เป็นเจ้าเพื่อถวายเกียรติยศแด่พระเจ้าพระบิดา.” (ฟิลิปปอย 2:9-11, ล.ม.) ทั้งนี้หมายถึงการเชื่อฟังพระบัญชาของพระเยซู ซึ่งมาจากพระยะโฮวาเอง.—โยฮัน 15:10.
10. การรับบัพติสมา “ในนามแห่ง . . . พระวิญญาณบริสุทธิ์” หมายความอย่างไร?
10 การรับบัพติสมา “ในนามแห่ง . . . พระวิญญาณบริสุทธิ์” หมายความอย่างไร? นั่นหมายถึงการยอมรับบทบาทและการดำเนินงานของพระวิญญาณบริสุทธิ์. และพระวิญญาณบริสุทธิ์คืออะไร? พระวิญญาณบริสุทธิ์คือพลังปฏิบัติการที่พระยะโฮวาทรงใช้เพื่อทำให้พระประสงค์ของพระองค์บรรลุผลสำเร็จ. พระเยซูทรงบอกกับเหล่าสาวกว่า “เราจะทูลขอพระบิดา และพระองค์ก็จะประทานผู้ช่วยอีกผู้หนึ่งให้แก่เจ้าทั้งหลาย เพื่อจะอยู่กับพวกเจ้าตลอดไป คือพระวิญญาณแห่งความจริง.” (โยฮัน 14:16, 17, ล.ม.) สิ่งนี้จะช่วยพวกเขาให้ทำอะไรได้? พระเยซูตรัสแก่พวกเขาอีกด้วยว่า “เจ้าทั้งหลายจะได้รับฤทธิ์เมื่อพระวิญญาณบริสุทธิ์มาบนเจ้า และเจ้าทั้งหลายจะเป็นพยานฝ่ายเรา ทั้งในเยรูซาเลมและทั่วยูเดียกับซะมาเรียและจนถึงที่สุดปลายแผ่นดินโลก.” (กิจการ 1:8, ล.ม.) นอกจากนี้ โดยทางพระวิญญาณบริสุทธิ์ พระยะโฮวาทรงดลใจให้เขียนคัมภีร์ไบเบิลดังนี้: “ไม่มีคราวใดที่มีการนำคำพยากรณ์ออกมาตามความมุ่งหมายของมนุษย์ แต่มนุษย์ได้กล่าวคำซึ่งมาจากพระเจ้า ตามที่เขาได้รับการทรงนำโดยพระวิญญาณบริสุทธิ์.” (2 เปโตร 1:21, ล.ม.) ดังนั้น เรายอมรับบทบาทของพระวิญญาณบริสุทธิ์เมื่อเราศึกษาคัมภีร์ไบเบิล. อีกวิธีหนึ่งที่แสดงว่าเรายอมรับพระวิญญาณบริสุทธิ์คือ โดยขอพระยะโฮวาทรงช่วยให้เราเกิด “ผลแห่งพระวิญญาณ” ซึ่งได้แก่ “ความรัก, ความยินดี, สันติสุข, ความอดกลั้นไว้นาน, ความกรุณา, ความดี, ความเชื่อ, ความอ่อนโยน, การรู้จักบังคับตน.”—ฆะลาเตีย 5:22, 23, ล.ม.
11. (ก) อะไรเป็นนัยสำคัญอันแท้จริงของการรับบัพติสมาในสมัยของเรา? (ข) การรับบัพติสมาเปรียบเหมือนการตายและการเป็นขึ้นมาอีกอย่างไร?
11 ผู้คนรุ่นแรกที่รับบัพติสมาตามพระบัญชาของพระเยซูได้แก่คนยิวและผู้ที่เปลี่ยนมาถือศาสนายิว ซึ่งเริ่มขึ้นในปี ส.ศ. 33. ไม่นานหลังจากนั้น สิทธิพิเศษแห่งการเป็นสาวกคริสเตียนได้แผ่ไปถึงชาวซะมาเรีย. ครั้นแล้ว ในปี ส.ศ. 36 สิทธิพิเศษนั้นก็ได้มีไปถึงชนต่างประเทศที่ไม่ได้รับสุหนัต. ก่อนจะรับบัพติสมา ชาวซะมาเรียและชนต่างชาติต้องอุทิศตัวของเขาเองแด่พระยะโฮวาเพื่อรับใช้พระองค์ฐานะเป็นเหล่าสาวกแห่งพระบุตรของพระองค์. สิ่งนี้ยังคงเป็นนัยสำคัญของการรับบัพติสมาในน้ำสืบต่อมาจนถึงสมัยของเรา. การถูกจุ่มตัวมิดในน้ำเป็นสัญลักษณ์อันเหมาะสมที่แสดงถึงการอุทิศตัวของบุคคลนั้นเอง เนื่องจากการรับบัพติสมาเป็นเสมือนการฝัง. การที่คุณถูกจุ่มตัวมิดในน้ำแสดงว่าคุณได้ตายจากวิถีชีวิตแบบเดิม. เมื่อคุณถูกยกขึ้นจากน้ำจึงเป็นสัญลักษณ์ที่แสดงว่าคุณถูกทำให้มีชีวิตอยู่เพื่อทำตามพระทัยประสงค์ของพระเจ้า. “บัพติสมาเดียว” นี้ ใช้ได้กับทุกคนที่เข้ามาเป็นคริสเตียนแท้. เมื่อรับบัพติสมาพวกเขาก็มาเป็นคริสเตียนพยานพระยะโฮวา ผู้รับใช้ซึ่งได้รับการแต่งตั้งจากพระเจ้า.—เอเฟโซ 4:5, ล.ม.; 2 โกรินโธ 6:3, 4.
12. การรับบัพติสมาในน้ำของคริสเตียนตรงกับอะไรและอย่างไร?
12 ในสายพระเนตรของพระเจ้า การรับบัพติสมาเช่นนั้นมีคุณค่าอย่างใหญ่หลวงสำหรับการช่วยชีวิต. ตัวอย่างเช่น หลังจากกล่าวถึงการสร้างนาวาของโนฮา ซึ่งได้คุ้มครองท่านและครอบครัวให้ผ่านพ้นมหาอุทกภัยแล้ว อัครสาวกเปโตรเขียนไว้ว่า “ที่ตรงกันกับสิ่งนี้ก็ทำให้ท่านทั้งหลายรอดในขณะนี้ ด้วย กล่าวคือการรับบัพติสมา (ไม่ใช่การชำระราคีแห่งเนื้อหนัง แต่การทูลขอพระเจ้าเพื่อสติรู้สึกผิดชอบอันดี) โดยการคืนพระชนม์ของพระเยซูคริสต์.” (1 เปโตร 3:21, ล.ม.) นาวานั้นเป็นหลักฐานชัดแจ้งว่าโนฮาได้ทำงานที่พระเจ้าทรงมอบหมายแก่ท่านด้วยความซื่อสัตย์. หลังจากที่สร้างนาวาเสร็จ “โลกในสมัยนั้นประสบพินาศกรรมคราวถูกน้ำท่วม.” (2 เปโตร 3:6, ล.ม.) แต่โนฮาและครอบครัวของท่าน “แปดจิตวิญญาณ ถูกพาผ่านพ้นน้ำโดยปลอดภัย.”—1 เปโตร 3:20, ล.ม.
13. โดยการรับบัพติสมาในน้ำ คริสเตียนได้รับการช่วยให้รอดจากอะไร?
13 ปัจจุบัน คนเหล่านั้นที่อุทิศตัวแด่พระยะโฮวาบนพื้นฐานของความเชื่อในพระคริสต์ผู้ฟื้นคืนพระชนม์ ต่างก็รับบัพติสมาอันเป็นสัญลักษณ์แสดงถึงการอุทิศตัว. พวกเขาลงมือทำตามพระทัยประสงค์ที่พระเจ้าทรงมีต่อสมัยของเราและได้รับการช่วยให้พ้นจากโลกชั่วในปัจจุบัน. (ฆะลาเตีย 1:3, 4) พวกเขามิได้บ่ายหน้าไปสู่พินาศกรรมพร้อมกับระบบชั่วในปัจจุบัน. พวกเขาได้รับการช่วยให้รอดพ้นจากพินาศกรรมนี้และได้สติรู้สึกผิดชอบอันดีซึ่งพระเจ้าทรงประทานให้. อัครสาวกโยฮันให้คำรับรองแก่ผู้รับใช้ของพระเจ้าดังนี้: “โลกนี้กับความใคร่ของโลกกำลังผ่านพ้นไป แต่ผู้ที่ประพฤติตามพระทัยของพระเจ้าคงจะตั้งอยู่เป็นนิตย์.”—1 โยฮัน 2:17.
การดำเนินชีวิตสมกับหน้าที่รับผิดชอบของเรา
14. เหตุใดการรับบัพติสมาเองมิใช่หลักประกันความรอด?
14 คงไม่ถูกต้องหากจะลงความเห็นว่า การรับบัพติสมานั้นเองเป็นการรับประกันความรอด. การรับบัพติสมามีคุณค่าเฉพาะเมื่อบุคคลนั้นได้อุทิศตัวแด่พระยะโฮวาอย่างแท้จริงโดยทางพระเยซูคริสต์ และหลังจากนั้นก็ดำเนินตามพระทัยประสงค์ของพระเจ้าด้วยความซื่อสัตย์จนถึงที่สุด. “ผู้ใดที่ได้อดทนจนถึงที่สุดผู้นั้นจะได้รับการช่วยให้รอด.”—มัดธาย 24:13, ล.ม.
15. (ก) พระเจ้าทรงมีพระทัยประสงค์เช่นไรในเวลานี้ต่อคริสเตียนที่รับบัพติสมาแล้ว? (ข) การเป็นสาวกคริสเตียนควรมีความสำคัญในชีวิตของเราอย่างไร?
15 พระทัยประสงค์ของพระเจ้าสำหรับพระเยซูรวมถึงวิธีที่พระองค์ทรงใช้ชีวิตฐานะเป็นมนุษย์. พระองค์ต้องสละชีวิตเป็นเครื่องบูชา. ในกรณีของเรา เราต้องถวายร่างกายของเราแด่พระเจ้า และต้องดำเนินชีวิตอย่างเสียสละตัวเองเพื่อทำตามพระทัยประสงค์ของพระองค์. (โรม 12:1, 2) แน่ละ เราคงไม่ได้ทำตามพระทัยประสงค์ของพระเจ้าอย่างแท้จริง หากบางครั้งบางคราวเราจงใจประพฤติตนอย่างโลกรอบ ๆ ตัวเรา หรือถ้าเรามุ่งดำเนินชีวิตด้วยการแสวงหาสิ่งต่าง ๆ อย่างเห็นแก่ตัว โดยถวายการรับใช้แด่พระเจ้าแบบพอเป็นพิธีเท่านั้น. (1 เปโตร 4:1-3; 1 โยฮัน 2:15, 16) เมื่อชาวยิวคนหนึ่งถามว่าเขาต้องทำอะไรเพื่อจะได้ชีวิตนิรันดร์ พระเยซูทรงยอมรับว่าการดำเนินชีวิตที่สะอาดทางศีลธรรมนั้นเป็นสิ่งสำคัญ. แต่แล้วพระองค์ทรงชี้ถึงบางสิ่งที่สำคัญยิ่งกว่านั้นคือ การเป็นสาวกคริสเตียน หรือผู้ติดตามพระเยซู. นั่นต้องเป็นสิ่งสำคัญที่สุดในชีวิต. จะให้สิ่งนี้มาอยู่ในอันดับรองจากการมุ่งติดตามสิ่งฝ่ายวัตถุไม่ได้.—มัดธาย 19:16-21.
16. (ก) คริสเตียนทุกคนมีหน้าที่รับผิดชอบอะไรเกี่ยวกับราชอาณาจักร? (ข) ดังแสดงให้เห็นในหน้า 116-117 มีวิธีใดบ้างที่จะบังเกิดผลในงานราชอาณาจักร? (ค) การที่เรามีส่วนร่วมอย่างสิ้นสุดหัวใจในงานให้คำพยานนั้นให้หลักฐานเรื่องอะไร?
16 อีกครั้งหนึ่ง สิ่งที่ควรได้รับการเน้นคือพระทัยประสงค์ของพระเจ้าสำหรับพระเยซูหมายรวมถึงกิจกรรมอันสำคัญยิ่งซึ่งเกี่ยวข้องกับราชอาณาจักรของพระเจ้า. พระเยซูเองได้รับการเจิมให้เป็นกษัตริย์. แต่ขณะที่อยู่บนแผ่นดินโลก พระองค์ก็ยังให้คำพยานด้วยใจแรงกล้าในเรื่องราชอาณาจักรด้วย. เรามีงานให้คำพยานอย่างเดียวกันนั้นที่ต้องทำ และเรามีเหตุผลทุกประการที่จะเข้าร่วมในงานนี้อย่างสิ้นสุดหัวใจ. โดยการทำเช่นนั้น เราแสดงถึงความหยั่งรู้ค่าต่อพระบรมเดชานุภาพของพระยะโฮวารวมทั้งความรักที่เรามีต่อเพื่อนมนุษย์. (มัดธาย 22:36-40) นอกจากนั้น เรายังแสดงว่า เราร่วมสามัคคีกับเพื่อนผู้นมัสการซึ่งมีอยู่ทั่วโลก พวกเขาทั้งหมดเป็นผู้ประกาศราชอาณาจักร. ในความเป็นเอกภาพทั่วลูกโลก เรารุดหน้าไปพร้อมกันสู่เป้าหมายแห่งการมีชีวิตชั่วนิรันดร์ในส่วนที่อยู่ทางแผ่นดินโลกของราชอาณาจักรนั้น.
การอภิปรายทบทวน
• มีความคล้ายคลึงและแตกต่างกันอย่างไรระหว่างการรับบัพติสมาของพระเยซูและการรับบัพติสมาในน้ำในปัจจุบัน?
• การรับบัพติสมา “ในนามแห่งพระบิดาและพระบุตรและพระวิญญาณบริสุทธิ์” หมายความอย่างไร?
• อะไรเกี่ยวข้องอยู่ด้วยในการดำเนินชีวิตสมกับหน้าที่รับผิดชอบแห่งการรับบัพติสมาในน้ำแบบคริสเตียน?
[ภาพหน้า 116, 117]
การประกาศราชอาณาจักรในวิธีต่าง ๆ
ไปตามบ้าน
แก่ญาติ
แก่เพื่อนที่ทำงาน
แก่เพื่อนนักเรียน
ตามถนน
การกลับเยี่ยมผู้สนใจ
นำการศึกษาคัมภีร์ไบเบิลตามบ้าน