พระคำของพระยะโฮวามีชีวิต
จุดเด่นจากจดหมายของยาโกโบและจดหมายของเปโตร
เกือบ 30 ปีหลังจากวันเพนเทคอสต์สากลศักราช 33 สาวกยาโกโบ น้องชายร่วมมารดาของพระเยซู เขียนจดหมายถึงอิสราเอลฝ่ายวิญญาณ “สิบสองตระกูล.” (ยโก. 1:1) จุดมุ่งหมายของท่านก็คือ เพื่อกระตุ้นเตือนพวกเขาให้รักษาความเชื่อให้เข้มแข็งและเพียรอดทนเมื่อเผชิญการทดสอบ. ท่านยังให้คำแนะนำด้วยเพื่อแก้ไขสภาพการณ์ยุ่งยากที่เกิดขึ้นในประชาคม.
ไม่นานก่อนเนโรจักรพรรดิโรมันข่มเหงคริสเตียนในสากลศักราช 64 อัครสาวกเปโตรเขียนจดหมายฉบับแรกถึงคริสเตียน สนับสนุนพวกเขาให้ยืนหยัดมั่นคงในความเชื่อ. ในจดหมายฉบับที่สอง ซึ่งเขียนหลังจากฉบับแรกไม่นาน เปโตรสนับสนุนเพื่อนร่วมความเชื่อให้เอาใจใส่พระคำของพระเจ้าและเตือนพวกเขาเกี่ยวกับวันของพระยะโฮวาที่กำลังจะมาถึง. จริงทีเดียว เราสามารถได้รับประโยชน์จากการเอาใจใส่ข่าวสารที่อยู่ในจดหมายของยาโกโบและจดหมายของเปโตร.—ฮีบรู 4:12.
พระเจ้าประทานสติปัญญาแก่คนที่ “ทูลขอ . . . ด้วยความเชื่อ”
ยาโกโบเขียนว่า “ผู้ที่ทนการทดสอบเรื่อยไปก็มีความสุข เพราะเมื่อพระองค์พอพระทัยเขา เขาจะได้รับมงกุฎแห่งชีวิต.” พระยะโฮวาประทานสติปัญญาที่จำเป็นเพื่อจะทนได้กับการทดสอบต่าง ๆ แก่คนที่ “ทูลขอต่อ ๆ ไปด้วยความเชื่อ.”—ยโก. 1:5-8, 12.
ความเชื่อและสติปัญญายังจำเป็นด้วยสำหรับคนที่ “เป็นครู” ในประชาคม. หลังจากชี้ให้เห็นแล้วว่าลิ้นเป็น “อวัยวะเล็ก ๆ” ที่สามารถ “ทำให้ทั้งกายด่างพร้อย” ยาโกโบเตือนให้ระวังแนวโน้มทางโลกที่สามารถทำให้สายสัมพันธ์ของคนเรากับพระเจ้าเสียหาย. ท่านยังกล่าวคร่าว ๆ ถึงขั้นตอนต่าง ๆ ซึ่งคนที่ป่วยฝ่ายวิญญาณควรทำตามเพื่อจะฟื้นตัว.—ยโก. 3:1, 5, 6; 5:14, 15.
คำตอบสำหรับคำถามเกี่ยวกับข้อคัมภีร์:
2:13—“ความเมตตาย่อมมีชัยเหนือการพิพากษา” อย่างไร? เมื่อต้องให้การเรื่องของตัวเราเองต่อพระเจ้า พระองค์ทรงพิจารณาดูความเมตตาที่เราได้แสดงต่อคนอื่นและทรงให้อภัยเราโดยอาศัยเครื่องบูชาไถ่ของพระบุตรพระองค์. (โรม 14:12) นี่เป็นเหตุผลอย่างหนึ่งที่เราจะให้ความเมตตาเป็นคุณลักษณะเด่นในชีวิตเรา.
4:5—ในที่นี้ยาโกโบยกข้อคัมภีร์ข้อใดขึ้นมากล่าว? ยาโกโบไม่ได้ยกข้อคัมภีร์ข้อใดข้อหนึ่งขึ้นมากล่าวโดยตรง. แต่อาจเป็นได้ว่าคำกล่าวโดยการดลใจจากพระเจ้านี้อาศัยแนวคิดทั่วไปที่อยู่ในข้อคัมภีร์อย่างเช่น เยเนซิศ 6:5; 8:21; สุภาษิต 21:10; และกาลาเทีย 5:17.
5:20—“ผู้ที่ช่วยคนบาปให้หันกลับจากทางผิด” จะช่วยชีวิตใครให้พ้นจากความตาย? คริสเตียนที่ช่วยคนที่ทำผิดให้หันกลับจากทางผิดช่วยชีวิตคนที่กลับใจให้พ้นจากความตายฝ่ายวิญญาณ และอาจช่วยให้พ้นจากการทำลายตลอดไป. คนที่ช่วยคนบาปแบบนี้จะ “ทำให้บาปมากมาย [ของคนนั้น] ถูกปิดคลุม” ด้วย.
บทเรียนสำหรับเรา:
1:14, 15. บาปเกิดมาจากความปรารถนาที่ไม่ถูกต้อง. ด้วยเหตุนั้น เราไม่ควรฟูมฟักความปรารถนาผิด ๆ ด้วยการครุ่นคิดถึงความปรารถนาเหล่านั้น. แทนที่จะทำอย่างนั้น เราจำเป็นต้อง ‘ใคร่ครวญต่อ ๆ ไป’ ในเรื่องที่เสริมสร้างและใส่เรื่องแบบนี้ไว้ในความคิดและหัวใจของเรา.—ฟิลิป. 4:8.
2:8, 9. ‘ความลำเอียง’ ตรงกันข้ามกับ “พระราชบัญญัติ” เกี่ยวกับความรัก. ดังนั้น คริสเตียนแท้ไม่ลำเอียง.
2:14-26. เรา “ได้รับความรอดเนื่องด้วยความเชื่อ” “มิใช่ได้รับเพราะการกระทำ” ตามพระบัญญัติของโมเซหรือบัญญัติที่คริสเตียนปฏิบัติ. การแสดงความเชื่อควรทำมากกว่าเพียงแค่บอกว่าเรามีความเชื่อในพระเจ้า. (เอเฟ. 2:8, 9; โย. 3:16) ความเชื่อควรกระตุ้นเราให้ทำตามพระทัยประสงค์ของพระเจ้า.
3:13-17. “สติปัญญาจากเบื้องบน” เหนือกว่าสติปัญญา “อย่างโลก อย่างเดรัจฉาน อย่างปิศาจ” อย่างแน่นอน! เราควร ‘หมั่นแสวงหาสติปัญญาของพระเจ้าเหมือนหาทรัพย์ที่ซ่อนอยู่.’—สุภา. 2:1-5, ล.ม.
3:18. เมล็ดแห่งข่าวดีเรื่องราชอาณาจักรต้องถูก “หว่านด้วยสันติ” โดย “พวกที่สร้างสันติ.” (ฉบับแปล 2002) เป็นเรื่องสำคัญที่เราต้องเป็นผู้สร้างสันติและไม่เป็นคนยโส, ชอบทะเลาะ, หรือชอบก่อความวุ่นวาย.
“จงมีความเชื่อที่มั่นคง”
เปโตรเตือนเพื่อนร่วมความเชื่อให้นึกถึง “ความหวังที่มีชีวิต” ที่จะได้รับมรดกในสวรรค์. เปโตรบอกพวกเขาว่า “ท่านทั้งหลายเป็น ‘เชื้อชาติที่ถูกเลือก เป็นปุโรหิตและเป็นกษัตริย์ เป็นชาติบริสุทธิ์.’ ” หลังจากให้คำแนะนำที่เจาะจงในเรื่องการยอมเชื่อฟังแล้ว ท่านกระตุ้นทุกคนให้ “มีความคิดจิตใจอย่างเดียวกัน แสดงความเห็นอกเห็นใจกัน มีความรักใคร่ฉันพี่น้อง ความเอ็นดูสงสาร ความถ่อมใจ.”—1 เป. 1:3, 4; 2:9; 3:8.
เนื่องจาก “อวสานของ [ระบบยิว] มาใกล้แล้ว” เปโตรแนะนำพี่น้องให้ “มีสติ คอยตื่นตัวและเอาใจใส่ในการอธิษฐาน.” ท่านบอกพวกเขาว่า “ท่านทั้งหลายจงมีสติอยู่เสมอและจงเฝ้าระวัง. . . . จงต่อสู้ [ซาตาน] จงมีความเชื่อที่มั่นคง.”—1 เป. 4:7; 5:8, 9.
คำตอบสำหรับคำถามเกี่ยวกับข้อคัมภีร์:
3:20-22—การรับบัพติสมาช่วยเราให้รอดอย่างไร? การรับบัพติสมาเป็นข้อเรียกร้องสำหรับคนที่แสวงหาความรอด. อย่างไรก็ตาม การรับบัพติสมาเองไม่ได้ทำให้เรารอด. อันที่จริง การช่วยให้รอดเป็นไปได้ “โดยการคืนพระชนม์ของพระเยซูคริสต์.” ผู้จะรับบัพติสมาต้องมีความเชื่อว่าความรอดเป็นไปได้เพียงเพราะพระเยซูทรงสิ้นพระชนม์เป็นค่าไถ่, ถูกปลุกให้คืนพระชนม์, และ “สถิตด้านขวาพระหัตถ์ของพระเจ้า” โดยทรงมีอำนาจเหนือคนเป็นและคนตาย. การรับบัพติสมาซึ่งมีรากฐานอยู่บนความเชื่อเช่นนั้นเป็นสิ่งที่ตรงกับ ‘การที่แปดคนได้รับการช่วยให้รอดจากน้ำโดยปลอดภัย.’
4:6—ใครคือ “คนตาย” ที่ “มีการประกาศข่าวดี” แก่พวกเขา? คนเหล่านี้คือคนที่ “ตายไปแล้วเนื่องด้วยการล่วงละเมิดและบาป” หรือคนที่อยู่ในสภาพตายฝ่ายวิญญาณก่อนที่พวกเขาได้ยินข่าวดี. (เอเฟ. 2:1) แต่หลังจากแสดงความเชื่อในข่าวดี พวกเขาเริ่ม “มีชีวิต” ด้วยการมีสัมพันธภาพกับพระยะโฮวา.
บทเรียนสำหรับเรา:
1:7. เพื่อความเชื่อของเราจะมีค่ามาก ความเชื่อนั้นต้องได้รับการพิสูจน์หรือทดสอบคุณภาพก่อน. ความเชื่อที่เข้มแข็งเช่นนั้นช่วย “รักษาชีวิตไว้” จริง ๆ. (ฮีบรู 10:39) เราต้องไม่ถอยกลับเมื่อความเชื่อของเราถูกทดสอบ.
1:10-12. ทูตสวรรค์ปรารถนาจะพินิจพิจารณาและเข้าใจความจริงอันลึกซึ้งที่ผู้พยากรณ์ของพระเจ้าในสมัยโบราณเขียนเกี่ยวกับประชาคมคริสเตียนที่ถูกเจิม. อย่างไรก็ตาม เรื่องเหล่านี้จะกระจ่างก็เฉพาะเมื่อพระยะโฮวาทรงเริ่มติดต่อกับประชาคมแล้ว. (เอเฟ. 3:10) เราควรทำตามแบบอย่างของทูตสวรรค์และพยายามสืบค้น “สิ่งลึกซึ้งของพระเจ้า” มิใช่หรือ?—1 โค. 2:10.
2:21. โดยดำเนินตามแบบอย่างอันยอดเยี่ยม คือพระเยซูคริสต์ เราควรเต็มใจจะทนทุกข์ถึงขนาดที่พร้อมจะเสียชีวิตเพื่อเชิดชูพระบรมเดชานุภาพของพระยะโฮวา.
5:6, 7. เมื่อเราฝากความวิตกกังวลไว้กับพระยะโฮวา พระองค์ทรงช่วยเราให้รักษาการนมัสการแท้ไว้เป็นอันดับแรกในชีวิตเรา แทนที่จะกังวลเกินควรเกี่ยวกับสิ่งที่อาจเกิดขึ้นพรุ่งนี้.—มัด. 6:33, 34.
‘วันของพระยะโฮวาจะมา’
เปโตรเขียนว่า “คำพยากรณ์ไม่เคยมีขึ้นตามใจมนุษย์ แต่มนุษย์พูดตามที่พระเจ้าทรงประสงค์ให้พูดโดยได้รับการทรงนำจากพระวิญญาณบริสุทธิ์.” การเอาใจใส่คำพยากรณ์สามารถปกป้องเราไว้จาก “ผู้สอนเท็จ” และคนอื่น ๆ ที่ชักนำให้เสื่อมเสีย.—2 เป. 1:21; 2:1-3.
เปโตรเตือนว่า “ในสมัยสุดท้ายจะมีคนชอบเยาะเย้ยมาเยาะเย้ย.” แต่ “วันของพระยะโฮวาก็จะมาเหมือนขโมย.” เปโตรปิดท้ายจดหมายด้วยคำแนะนำที่มีเหตุผลแก่คนที่ ‘เฝ้าคอยและคิดถึงเวลาที่วันนั้นจะมาถึงอยู่เสมอ.’—2 เป. 3:3, 10-12.
คำตอบสำหรับคำถามเกี่ยวกับข้อคัมภีร์:
1:19—“ดาวประกายพรึก” คือใคร, ขึ้นมาเมื่อไร, และเรารู้ได้อย่างไรว่าเหตุการณ์นี้เกิดขึ้นแล้ว? “ดาวประกายพรึก” คือพระเยซูคริสต์เมื่อพระองค์รับขัตติยอำนาจในราชอาณาจักร. (วิ. 22:16) ในปี 1914 พระเยซูทรงขึ้นมาต่อหน้าสิ่งทรงสร้างทั้งสิ้นในฐานะกษัตริย์มาซีฮา เป็นสัญญาณว่าจะมีรุ่งอรุณแห่งยุคใหม่. การเปลี่ยนรูปพระกายเป็นนิมิตที่ทำให้เห็นภาพล่วงหน้าเกี่ยวกับสง่าราศีของพระเยซูและขัตติยอำนาจแห่งราชอาณาจักร ซึ่งเน้นย้ำถึงความน่าเชื่อถือของคำพยากรณ์ของพระเจ้า. การเอาใจใส่คำพยากรณ์ของพระเจ้านั้นเสมือนเป็นตะเกียงส่องสว่างในหัวใจของเรา และด้วยเหตุนั้นเราจึงรู้ว่าดาวประกายพรึกได้ขึ้นมาแล้ว.
2:4—“ทาร์ทารัส” คืออะไร และเหล่าทูตสวรรค์ที่ขืนอำนาจถูกโยนลงไปในนั้นเมื่อไร? ทาร์ทารัสเป็นสภาพเหมือนถูกจำคุกซึ่งเฉพาะกายวิญญาณเท่านั้นที่ถูกส่งไปที่นั่น ไม่ใช่มนุษย์. ทาร์ทารัสเป็นสภาพของความมืดทึบทางจิตใจที่เกี่ยวข้องกับพระประสงค์อันเจิดจ้าของพระเจ้า. ผู้ที่อยู่ในทาร์ทารัสไม่มีความหวังสำหรับอนาคต. พระเจ้าทรงส่งทูตสวรรค์ที่ไม่เชื่อฟังไปยังทาร์ทารัสในสมัยของโนอาห์ และพวกมันจะอยู่ที่นั่นในสภาพตกต่ำอย่างนั้นจนกระทั่งพวกมันถูกทำลาย.
3:17—เปโตรหมายความอย่างไรที่กล่าวว่า “เมื่อท่านทั้งหลายรู้เรื่องนี้ก่อนแล้ว”? (ฉบับแปลใหม่) เปโตรกล่าวถึงการที่พวกเขารู้ล่วงหน้าถึงเหตุการณ์ในอนาคตซึ่งพระเจ้าบอกท่านและผู้เขียนคัมภีร์ไบเบิลคนอื่น ๆ ให้ทราบโดยการดลใจ. เนื่องจากนี่ไม่ใช่ความรู้ที่ไร้ขีดจำกัด การมีความรู้นี้จึงไม่ได้ทำให้คริสเตียนในศตวรรษแรกรู้รายละเอียดทุกอย่างเกี่ยวกับเหตุการณ์ในอนาคต. พวกเขารู้เพียงแค่เค้าโครงคร่าว ๆ ของสิ่งที่อาจจะคาดหมายได้เท่านั้น.
บทเรียนสำหรับเรา:
1:2, 5-7. นอกจากจะช่วยเราเพิ่มพูน “ความรู้ถ่องแท้เกี่ยวกับพระเจ้าและพระเยซู” การที่เราพยายามอย่างจริงจังเพื่อพัฒนาคุณลักษณะอย่างเช่นความเชื่อ, ความเพียรอดทน, และความเลื่อมใสพระเจ้าสามารถทำให้เราไม่กลายเป็นคน “อยู่เฉย ๆ” หรือไม่ “เกิดผล” ในเรื่องความรู้นั้น.—2 เป. 1:8.
1:12-15. เพื่อจะรักษาตัว “มั่นคงในความจริง” เราจำเป็นต้องได้รับการเตือนใจอยู่ตลอด อย่างที่เราได้รับโดยทางการประชุมประชาคม, การศึกษาส่วนตัว, และการอ่านคัมภีร์ไบเบิล.
2:2. เราควรระวังอย่าให้การประพฤติของเรานำคำตำหนิมาสู่พระยะโฮวาและองค์การของพระองค์.—โรม 2:24.
2:4-9. เมื่อคำนึงถึงสิ่งที่พระองค์ได้ทำในอดีต เราสามารถแน่ใจได้ว่า “พระยะโฮวาทรงรู้วิธีช่วยคนที่เลื่อมใสพระองค์ให้รอดชีวิตจากการทดสอบ แต่เก็บคนอธรรมไว้ทำลายในวันพิพากษา.”
2:10-13. แม้ว่า “ผู้ที่พระเจ้าทรงยกย่อง” คือผู้ปกครองคริสเตียน มีข้อบกพร่องและอาจผิดพลาดในบางครั้ง แต่เราต้องไม่พูดหยาบหยามพวกเขา.—ฮีบรู 13:7, 17.
3:2-4, 12. การเอาใจใส่อย่างจดจ่อต่อ “ถ้อยคำที่พวกผู้พยากรณ์บริสุทธิ์กล่าวไว้เมื่อก่อนรวมทั้งบัญญัติที่องค์พระผู้เป็นเจ้าผู้ช่วยให้รอดทรงให้ไว้” จะช่วยเราให้คำนึงอยู่เสมอว่าวันของพระยะโฮวามาใกล้แล้ว.
3:11-14. โดยเป็นคน “เฝ้าคอยและคิดถึงเวลาที่วันของพระยะโฮวามาถึงอยู่เสมอ” เราต้อง (1) “ประพฤติบริสุทธิ์” โดยรักษาตัวให้สะอาดด้านร่างกาย, จิตใจ, และฝ่ายวิญญาณ; (2) บริบูรณ์ด้วยการกระทำที่สะท้อนว่าเรา “เลื่อมใสพระเจ้า” เช่น การประกาศเรื่องราชอาณาจักรและงานทำให้คนเป็นสาวก; (3) รักษาความประพฤติและบุคลิกภาพของเราให้ “ปราศจากด่างพร้อย” ไม่แปดเปื้อนมลทินจากโลก; (4) ‘ปราศจากตำหนิ’ โดยทำทุกสิ่งด้วยแรงกระตุ้นที่บริสุทธิ์; และ (5) “มีสันติสุข”—กับพระเจ้า, กับพี่น้องคริสเตียน, และกับเพื่อนมนุษย์.