‘การตักเตือนโดยอาศัยความรัก’
ราว ๆ ปีสากลศักราช 60-61 ทาสที่หลบหนีคนหนึ่งได้ออกจากกรุงโรม และเริ่มเดินทางกลับบ้านระยะทาง 1,400 กิโลเมตร ถึงเมืองโกโลซาย เมืองหนึ่งในเอเชียน้อยทางตะวันตกเฉียงใต้. เขานำข่าวสารที่เขียนด้วยมือติดตัวไปด้วยสำหรับผู้เป็นเจ้าของของเขา ไม่ใช่ใครอื่นที่เขียนนอกจากอัครสาวกเปาโล. ปัจจุบัน จดหมายนั้นเป็นส่วนหนึ่งของคัมภีร์ไบเบิล และมีชื่อตามผู้รับจดหมายนั้นคือ ฟิเลโมน.
จดหมายถึงฟิเลโมนเป็นผลงานชิ้นเอกของการหาเหตุผลที่ผ่อนหนักผ่อนเบา โน้มน้าวใจ. แต่สำคัญยิ่งกว่านั้น จดหมายนั้นมีบทเรียนที่ใช้การได้หลายเรื่องสำหรับคริสเตียนในทุกวันนี้ ซึ่งเรื่องหนึ่งก็คือคุณค่าของการตักเตือนกันและกันบนพื้นฐานของความรัก. ขอให้เราพิจารณาจดหมายที่สั้น แต่ทว่ามีพลังฉบับนี้อย่างใกล้ชิด.
ผู้ที่หลบหนีไปกลับมา
ฟิเลโมนเป็นคริสเตียน เป็นสมาชิกซึ่งเป็นที่รักมากคนหนึ่งในประชาคมโกโลซาย. (ฟิเลโมน 4, 5) ประชาคมที่นั่นใช้บ้านของเขาเป็นสถานที่ประชุมนั่นเอง! (ข้อ 2) นอกจากนี้ ฟิเลโมนคุ้นเคยเป็นส่วนตัวกับอัครสาวกเปาโล อาจเป็นได้ที่อัครสาวกมีส่วนช่วยในการที่เขาเข้ามาเป็นคริสเตียน. จริงอยู่ เปาโลชี้แจงว่าท่านมิได้ประกาศด้วยตัวเองในเมืองโกโลซาย. (โกโลซาย 2:1) อย่างไรก็ดี ท่านได้ใช้เวลาสองปีในเมืองเอเฟโซ ประกาศถึงขีดที่ “ชนชาวมณฑลอาเซีย[ซึ่งรวมทั้งเมืองโกโลซายด้วย] . . . ได้ยินพระคำของพระผู้เป็นเจ้า.” (กิจการ 19:10) ฟิเลโมนดูเหมือนจะอยู่ในบรรดาผู้ฟังที่ตอบรับ.
ไม่ว่าจะอย่างไรก็ตาม เช่นเดียวกับคนรวยหลายคนในยุคนั้น ฟิเลโมนเป็นเจ้าของทาส. ในสมัยโบราณ การเป็นทาสไม่ได้ทำให้เสื่อมเกียรติเสมอไป. ในท่ามกลางพวกยิว การขายตัวเองหรือสมาชิกในครอบครัวไปเป็นทาสนั้นเป็นวิธีการอันเป็นที่ยอมรับในการชำระหนี้สิน. (เลวีติโก 25:39, 40) สารานุกรมมาตรฐานนานาชาติเกี่ยวกับคัมภีร์ไบเบิล (ภาษาอังกฤษ) อธิบายเกี่ยวกับยุคโรมันว่า “คนจำนวนมากขายตัวเองไปเป็นทาสด้วยเหตุผลหลายประการ อันดับแรกก็เพื่อเข้าสู่ชีวิตที่สบายขึ้นและปลอดภัยยิ่งกว่าความเป็นอยู่ฐานะบุคคลยากจนที่เกิดมาเป็นอิสระ เพื่อได้งานพิเศษทำ และเพื่อไต่เต้าขึ้นสูงทางสังคม. . . . คนที่ไม่ใช่ชาติโรมันหลายคนได้ขายตัวให้กับพลเมืองชาติโรมันด้วยความคาดหวังที่มีเหตุผลอันควร ตามที่กฎหมายของโรมันวางกฎไว้อย่างละเอียดถี่ถ้วน ในการมาเป็นพลเมืองชาวโรมันด้วยตัวเองเมื่อถูกปล่อยเป็นอิสระ.”
แต่เกิดปัญหาขึ้น เมื่อทาสคนหนึ่งของฟิเลโมน ชายชื่อโอเนซิโม ได้ทิ้งเขาไป และหนีไปยังกรุงโรม บางทีอาจขโมยเงินจากฟิเลโมนไปเป็นทุนในการหนีของเขาด้วยซ้ำ. (ข้อ 18) ในกรุงโรม โอเนซิโมได้พบกับอัครสาวกเปาโล ผู้ซึ่งถูกจำจองอยู่ที่นั่น.
ทาสที่ “เมื่อก่อนหาเป็นประโยชน์ . . . ไม่” ผู้ซึ่งได้หนีจากสภาพทาสนั้นบัดนี้ได้กลายเป็นคริสเตียนแล้ว. เขาเสนอตัวเองรับใช้เปาโล และให้บริการที่เป็นประโยชน์แก่อัครสาวกที่ถูกคุมขัง. ไม่น่าแปลกใจที่โอเนซิโมได้ประจำอยู่ใน “ดวงจิต” ของเปาโล และเป็น “พี่น้องที่รัก” ของเปาโล!—ข้อ 11, 12, 16.
อัครสาวกเปาโลคงอยากให้โอเนซิโมอยู่กับท่านต่อไป แต่ฟิเลโมนมีสิทธิตามกฎหมายในฐานะเจ้าของของโอเนซิโม. ด้วยเหตุนี้ โอเนซิโมจึงมีพันธะที่จะกลับไปทำการรับใช้นายที่ถูกต้องตามกฎหมายของเขา. ครั้นแล้ว ฟิเลโมนจะต้อนรับเขาอย่างไร? เขาจะเรียกร้องเอาสิทธิของตนอย่างโกรธแค้นที่จะลงโทษอย่างหนักไหม? เขาจะสงสัยความสัตย์จริงแห่งคำอ้างของโอเนซิโมที่ว่าเป็นเพื่อนคริสเตียนนั้นไหม?
การจัดการเรื่องราวด้วยความรัก
เปาโลได้รับการกระตุ้นให้เขียนถึงฟิเลโมนเกี่ยวกับเรื่องโอเนซิโม. ท่านเขียนจดหมายด้วยตัวเอง ไม่ได้ใช้เลขานุการดังที่เคยเป็นกิจวัตรของท่าน. (ข้อ 19) จงใช้เวลาไม่กี่นาทีอ่านจดหมายสั้น ๆ ถึงฟิเลโมนทั้งฉบับ. คุณจะสังเกตว่าภายหลังการแนะนำตัวท่านเองและขอให้ฟิเลโมนกับครอบครัวของท่านมี “พระคุณ [ความกรุณาอันไม่พึงได้รับ, ล.ม.] และสันติสุข” แล้ว เปาโลได้ชมเชยฟิเลโมนเนื่องด้วย ‘ความรักและความเชื่อของเขาต่อพระเยซูเจ้าและต่อบรรดาสิทธชน.’—ข้อ 1-7.
เปาโลอาจใช้อำนาจฐานะอัครสาวกได้อย่างง่าย ๆ และ ‘บัญชาฟิเลโมนในข้อความอันสมควร [ให้ทำสิ่งที่เหมาะสม, ล.ม.]’ แต่เปาโลกลับ ‘วิงวอนเพราะเห็นแก่ [ตักเตือนโดยอาศัย, ล.ม.] ความรัก.’ ท่านได้ยืนยันข้อเท็จจริงที่ว่าโอเนซิโมได้เข้ามาเป็นพี่น้องคริสเตียนจริง ๆ ผู้ซึ่งได้พิสูจน์ตัวว่าเป็นประโยชน์ต่อเปาโล. อัครสาวกได้ยอมรับว่า “ข้าพเจ้าใคร่จะหน่วงเขา [โอเนซิโม] ไว้ เพื่อเขาจะได้ปรนนิบัติข้าพเจ้าแทนท่านในการซึ่งข้าพเจ้าถูกจำจองอยู่เพราะกิตติคุณนั้น. แต่ว่า” เปาโลกล่าวต่อไปว่า “นอกจากข้าพเจ้าจะรู้น้ำใจของท่านเสียก่อน ข้าพเจ้าจะไม่ทำอะไรไปเพื่อคุณการดีของท่านนั้นจะไม่เป็นการขืนใจแต่จะเป็นตามน้ำใจ.”—ข้อ 8-14.
ด้วยเหตุนี้ อัครสาวกจึงเร้าใจฟิเลโมนให้ยอมรับอดีตทาสของเขาคืนมาฐานะพี่น้องคนหนึ่ง. เปาโลเขียนว่า “จงรับเขาไว้ [ด้วยความกรุณา, ล.ม.] เหมือนรับตัวข้าพเจ้าเอง.” ไม่ใช่การที่โอเนซิโมจะต้องพ้นจากสภาพทาส. เปาโลมิได้รณรงค์เพื่อเปลี่ยนระเบียบของสังคมที่มีอยู่ในสมัยของท่าน. (เปรียบเทียบเอเฟโซ 6:9; โกโลซาย 4:1; 1 ติโมเธียว 6:2.) ถึงอย่างไรก็ดี ความสัมพันธ์ระหว่างทาสกับนายก็คงจะคลี่คลายลงอย่างไม่ต้องสงสัยเนื่องจากความผูกพันแบบคริสเตียนซึ่งบัดนี้มีอยู่ระหว่างโอเนซิโมกับฟิเลโมน. ฟิเลโมนคงจะถือว่าโอเนซิโม “ดีกว่าทาสอีก คือว่าเป็นพี่น้องที่รัก.”—ข้อ 15-17.
แต่จะว่าอย่างไรเกี่ยวกับหนี้สินที่โอเนซิโมอาจได้ก่อขึ้น บางทีเป็นผลสืบเนื่องจากการขโมย? อีกครั้งหนึ่ง เปาโลได้อาศัยมิตรภาพของท่านกับฟิเลโมน โดยกล่าวว่า “ถ้าเขาได้กระทำผิดต่อท่านประการใด หรือเป็นหนี้อะไรท่าน ท่านจงคิดเอาจากข้าพเจ้าเถิด.” เปาโลแสดงความมั่นใจว่าฟิเลโมนจะเผยให้เห็นน้ำใจให้อภัย กระทำเกินกว่าที่เปาโลขอร้อง. เนื่องจากเปาโลหวังว่าจะถูกปล่อยตัวในไม่ช้า ท่านถึงกับจัดแจงที่จะได้การต้อนรับอันอบอุ่นจากฟิเลโมนในอนาคตอันใกล้. หลังจากฝากคำคำนับอีกบ้างและขอให้ฟิเลโมนมี “พระคุณของพระเยซูคริสต์เจ้า” แล้ว เปาโลก็ได้จบจดหมายของท่าน.—ข้อ 18-25.
บทเรียนสำหรับคริสเตียนในทุกวันนี้
พระธรรมฟิเลโมนมีบทเรียนที่ใช้การได้มากมายสำหรับคริสเตียนในทุกวันนี้. ประการหนึ่ง พระธรรมนั้นทำให้เราระลึกถึงความจำเป็นในการให้อภัย แม้แต่เมื่อเพื่อนร่วมความเชื่อได้กระทำผิดอย่างร้ายแรงต่อเรา. พระเยซูคริสต์ตรัสว่า “ถ้าท่านยกความผิดของมนุษย์ พระบิดาของท่านผู้สถิตในสวรรค์จะทรงโปรดยกความผิดของท่านด้วย.”—มัดธาย 6:14.
คนเหล่านั้นซึ่งอยู่ในตำแหน่งที่มีอำนาจภายในประชาคมคริสเตียนในทุกวันนี้อาจได้รับประโยชน์เป็นพิเศษจากพระธรรมฟิเลโมน. เป็นที่น่าสังเกตว่าเปาโลละเว้นจากการใช้อำนาจฐานะอัครสาวกของท่านสั่งฟิเลโมนให้ทำสิ่งที่เหมาะสม. นอกจากนี้ เปาโลมิได้เรียกร้องว่าต้องยอมให้โอเนซิโมอยู่ต่อไปในกรุงโรมเพื่อปรนนิบัติเปาโล. เปาโลนับถือต่อสิทธิในทรัพย์สินของคนอื่น. ท่านหยั่งรู้เข้าใจว่าถึงแม้วิธีการแบบใช้อำนาจอาจยังผลด้วยการยินยอมก็ตาม คงจะดีกว่าสำหรับฟิเลโมนที่จะกระทำจากหัวใจ. ท่านได้ทำการอ้อนวอนโดยอาศัยความรักเพื่อที่จะก่อให้เกิดการตอบสนองด้วยใจจริง.
เพราะฉะนั้น ผู้ปกครองคริสเตียนในทุกวันนี้ไม่ควรเป็น “เหมือนเจ้านายกดขี่คนเหล่านั้นซึ่งเป็นมรดกของพระเจ้า” โดยการใช้อำนาจของเขาในทางผิด หรือโดยใช้ท่าทีเกรี้ยวกราด แบบเผด็จการในการปฏิบัติกับฝูงแกะ. (1 เปโตร 5:1-3, ล.ม.) พระเยซูตรัสว่า “ท่านทั้งหลายรู้อยู่ว่าผู้ครอบครองชาวต่างประเทศย่อมกดขี่บังคับบัญชาเขา และผู้ใหญ่ทั้งหลายก็เอาอำนาจเข้าข่ม. แต่ในพวกท่านหาเป็นอย่างนั้นไม่.” (มัดธาย 20:25, 26) โดยทั่วไป ผู้ดูแลพบว่าสมาชิกในฝูงตอบรับต่อการอ้อนวอนด้วยความรักยิ่งกว่าการออกคำสั่งมากนัก. คนเหล่านั้นที่เป็นทุกข์เนื่องจากความซึมเศร้านั้นหยั่งรู้ค่าผู้ดูแลซึ่งด้วยความกรุณาใช้เวลารับฟังปัญหาของเขาและให้คำแนะนำที่แสดงความเข้าใจ.
จดหมายของเปาโลเตือนผู้ปกครองต่อไปให้ระลึกถึงคุณค่าของการชมเชยและความผ่อนหนักผ่อนเบา. ท่านเริ่มด้วยการยอมรับว่า ‘ความรักใคร่อันอ่อนโยนของสิทธชนได้รับการทำให้ฟื้นคืนมาอีกโดยทาง’ ฟิเลโมน. (ข้อ 7, ล.ม.) ไม่ต้องสงสัยว่าการชมเชยอย่างจริงใจเช่นนี้ทำให้ฟิเลโมนมีแนวโน้มที่จะตอบรับมากกว่า. ทำนองเดียวกันในทุกวันนี้ บ่อยครั้งอาจทำให้การรับคำแนะนำและข้อเสนอง่ายขึ้นด้วยคำชมเชยที่จริงใจ อบอุ่น. และคำแนะนำดังกล่าวไม่ควรเป็นแบบโผงผางหรือขาดความผ่อนหนักผ่อนเบา แต่ “ปรุงด้วยเกลือให้มีรส” อย่างใจกว้างเพื่อที่ผู้ฟังจะรับได้ง่ายขึ้น.—โกโลซาย 4:6.
อัครสาวกเปาโลแสดงความมั่นใจต่อไปอีกว่าฟิเลโมนจะทำสิ่งที่ถูกต้อง โดยบอกว่า “ข้าพเจ้ามีความไว้ใจว่าท่านจะเชื่อฟัง จึงได้เขียนจดหมายฝากมายังท่าน เพราะรู้ว่าท่านจะกระทำเกินกว่าที่ข้าพเจ้าพูดอีก.” (ข้อ 21) ผู้ปกครองทั้งหลาย คุณแสดงความมั่นใจอย่างเดียวกันในตัวเพื่อนคริสเตียนของคุณไหม? เรื่องนี้ช่วยเขาให้กระทำสิ่งที่ถูกต้องมิใช่หรือ?
เป็นที่น่าสนใจ บิดามารดามักประสบอยู่เนือง ๆ ว่าการแสดงความไว้วางใจในลูก ๆ ของตนมีผลกระทบในทางดีด้วย. โดยการยอมรับคุณค่าของความเชื่อฟังโดยเต็มใจ—ความปรารถนาที่จะกระทำนอกเหนือจากเพียงแต่บรรลุข้อเรียกร้องเท่านั้น—บิดามารดาก็สามารถให้เกียรติแก่ลูก ๆ ของตนได้บ้าง. เมื่อเป็นไปได้ คำสั่งหรือคำขอร้องของบิดามารดาควรเป็นไปด้วยน้ำเสียงที่กรุณา ด้วยความรัก. ควรแสดงความเห็นอกเห็นใจ ให้เหตุผล. บิดามารดาควรชมเชยลูก ๆ อย่างอบอุ่นเมื่อคำชมเชยดังกล่าวเป็นสิ่งสมควร และหลีกเลี่ยงการติเตียนพวกเขาจนเกินไป โดยเฉพาะอย่างยิ่งต่อธารกำนัล.
ในทำนองเดียวกัน สามีอาจแสดงคุณลักษณะของความมีเหตุผลและความกรุณา พร้อมที่จะยกย่องภรรยาของตน. ทั้งนี้ทำให้การยินยอมอ่อนน้อมของภรรยาเป็นที่น่าเพลิดเพลินและเป็นแหล่งแห่งความสดชื่นและความยินดี!—สุภาษิต 31:28; เอเฟโซ 5:28.
ไม่ได้มีการชี้แจงอย่างแน่ชัดว่าฟิเลโมนตอบรับอย่างไรต่อจดหมายของเปาโล. แต่เราพอจะนึกภาพออกว่าความไว้วางใจที่เปาโลมีในเขานั้นไม่ผิดคน. ขอให้ผู้ปกครอง บิดามารดา และสามีคริสเตียนทั้งหลายในทุกวันนี้ประสบผลสำเร็จเช่นเดียวกันในการปฏิบัติของเขา ไม่ใช่โดยการบังคับ ออกคำสั่ง หรือบีบคั้น แต่โดย ‘การตักเตือนโดยอาศัยความรัก.’
[รูปภาพหน้า 23]
แทนที่จะอ้างถึงอำนาจของท่านฐานะอัครสาวก เปาโลตักเตือนฟิเลโมนโดยอาศัยความรักแบบคริสเตียน