วันสำเร็จการศึกษาของนักเรียนกิเลียดรุ่นที่ 132
จงเป็นนักสู้เพื่อความจริง
วันที่ 10 มีนาคม 2012 เป็นวันพิเศษอีกวันหนึ่งสำหรับทุกคนที่ศูนย์การศึกษาของพยานพระยะโฮวาในแพตเทอร์สัน นิวยอร์ก. ชายหญิงหลายพันคนที่แต่งกายสุภาพงดงาม รวมทั้งแขกจากหลายประเทศมาชุมนุมกันที่นี่เพื่อเข้าร่วมวันสำเร็จการศึกษาของนักเรียนโรงเรียนว็อชเทาเวอร์ไบเบิลแห่งกิเลียดรุ่นที่ 132. ผู้ร่วมงานนับพันคนอยู่ในห้องประชุมใหญ่ของศูนย์การศึกษาแพตเทอร์สัน และอีกส่วนหนึ่งชมการถ่ายทอดสัญญาณภาพและเสียงทางจอโทรทัศน์ในที่อื่น ๆ. จำนวนผู้เข้าร่วมประชุมทั้งหมดคือ 9,042 คน.
ทุกคนตื่นเต้นกับการประชุมครั้งนี้. ชั้นเรียนนี้ต่างจากชั้นเรียนรุ่นก่อน ๆ ของโรงเรียนกิเลียด เพราะนักเรียนทุกคนที่จบการศึกษาเคยเป็นผู้รับใช้เต็มเวลาประเภทพิเศษมาก่อน ทั้งสมาชิกครอบครัวเบเธล ไพโอเนียร์พิเศษ ผู้ดูแลเดินทาง และมิชชันนารี แต่พวกเขาไม่เคยเข้าโรงเรียนกิเลียด. จะมีการกล่าวอะไรกับนักเรียนที่มีประสบการณ์เหล่านี้?
ผู้เข้าร่วมการประชุมไม่ต้องรอนานเพื่อจะทราบคำตอบ. บราเดอร์แกร์ริต เลิช สมาชิกคนหนึ่งในคณะกรรมการปกครองของพยานพระยะโฮวาเป็นประธานกล่าวเปิดการประชุม. เขาถามคำถามที่กระตุ้นความคิดว่า “คุณเป็นนักสู้ไหม?” เขาอธิบายว่าคริสเตียนเป็นนักสู้เพื่อความจริงและคอยปกป้องคำสอนทุกอย่างของคริสเตียน. การปกป้องและเชิดชูความจริงไม่ใช่แค่การสอนผู้คนให้รู้จักความจริงเท่านั้น แต่ต้องช่วยพวกเขาให้รักความจริงด้วย.
บราเดอร์เลิชถามว่า “เรารู้ได้อย่างไรว่าเรามีความจริง?” เขากล่าวว่าหลักฐานไม่ได้อยู่ที่จำนวนผู้ตอบรับความจริง. แม้ว่าทุกวันนี้มีหลายล้านคนตอบรับการนมัสการอันบริสุทธิ์ แต่ในวันเพนเทคอสต์ปีสากลศักราช 33 มีคนน้อยมากที่ตอบรับความจริง. เขากล่าวถึงหลักฐานห้าอย่างที่แสดงว่าเรามีความจริงคือ (1) เราปฏิบัติตามคำสอนของพระเยซูเสมอ (2) เรามีความรักต่อกัน (3) เรายึดมั่นกับมาตรฐานทางศีลธรรมที่สูงส่งของพระเจ้า (4) เรารักษาความเป็นกลางในโลกที่มีแต่ความขัดแย้ง และ (5) เราเป็นประชาชนที่ใช้พระนามของพระเจ้า.
“จงเชื่อฟังและทำตามคำสั่ง”
หลังจากนั้น ผู้ฟังพากันประหลาดใจเมื่อบราเดอร์เจฟฟรีย์ แจ็กสัน สมาชิกคนหนึ่งของคณะกรรมการปกครองเดินมาที่โต๊ะบรรยายพร้อมกับกระเป๋าเดินทางใบหนึ่ง! หัวเรื่องคำบรรยายของเขาคือ “จงเชื่อฟังและทำตามคำสั่ง” ซึ่งอาศัยยะซายา 50:5. ข้อคัมภีร์นี้เป็นคำกล่าวเชิงพยากรณ์ถึงพระเยซูคริสต์ว่า “ข้าพเจ้าไม่ได้ขัดขืน, ข้าพเจ้าไม่ได้หันหลังให้.”
บราเดอร์แจ็กสันแนะนำว่านักเรียนควรตอบรับทันทีเมื่อได้รับคำสั่งและการชี้นำจากพระเจ้าผ่านทางพระวิญญาณบริสุทธิ์ คัมภีร์ไบเบิล และองค์การของพระองค์. ในอุปมาโวหารเรื่องเงินตะลันต์ซึ่งบันทึกไว้ที่มัดธาย 25:14-30 อาจกล่าวได้ว่าทาสทุกคนได้รับเงินเท่ากัน เพราะพวกเขาได้รับตามความสามารถของตน. นายคาดหมายว่าพวกเขาจะทำงานอย่างสุดความสามารถ. นายชมเชยทาสสองคนและเรียกพวกเขาว่าทาส “ที่ดีและซื่อสัตย์.” ความซื่อสัตย์ไม่ได้ขึ้นอยู่กับผลงานเสมอไป แต่ขึ้นอยู่กับการเชื่อฟังและปฏิบัติตามคำสั่ง.
นายเรียกทาสคนที่สามว่า “ทาสชั่วและเกียจคร้าน” และ “ไร้ค่า.” เพราะอะไร? เพราะเขาเอาเงินตะลันต์ที่นายให้ไปฝังดินไว้. เงินหนึ่งตะลันต์ไม่ใช่เงินหนึ่งเหรียญ แต่เป็นหน่วยวัดน้ำหนักซึ่งเทียบเท่ากับเงิน 6,000 เดนาริอน และหนักเท่ากับ 20 กิโลกรัม. นั่นเท่ากับน้ำหนักของกระเป๋าเดินทางใบหนึ่งที่ผู้เดินทางไปต่างประเทศได้รับอนุญาตให้นำขึ้นเครื่องบินได้. ไม่ใช่เรื่องง่ายเลยที่จะฝังของชิ้นใหญ่อย่างนี้. ดังนั้น ที่จริงแล้วทาสคนนี้ได้ทำงานบางอย่าง คือนำเงินที่หนักถึงหนึ่งตะลันต์ไปฝังดิน แต่นั่นไม่ใช่สิ่งที่นายสั่งให้เขาทำ. ในทำนองเดียวกัน มิชชันนารีอาจมีงานล้นมือ แต่เป็นงานอะไรล่ะ? เขาใช้เวลามากกับการเขียนประสบการณ์ส่งไปให้เพื่อน ๆ อ่าน ท่องอินเทอร์เน็ต สังสรรค์กับพี่น้อง หรือทำงานส่วนตัวบางอย่างไหม? พอตกเย็นเขาอาจรู้สึกหมดเรี่ยวแรงเนื่องจากกิจกรรมเหล่านี้ แต่เขาไม่ได้ทำสิ่งที่เขาได้รับคำสั่งให้ทำ. บราเดอร์แจ็กสันกล่าวทิ้งท้ายว่า “จงทำตามคำสั่งเสมอ!”
“อย่าสงสัยพระยะโฮวา”
นี่เป็นหัวเรื่องคำบรรยายของบราเดอร์แอนโทนี มอร์ริส สมาชิกคณะกรรมการปกครองอีกคนหนึ่ง. เขากล่าวว่า “คัมภีร์ไบเบิลไม่เคยสอนว่าความเชื่อกับความสงสัยเป็นของคู่กัน. ความเชื่อจะขจัดความสงสัยให้หมดไป.” ซาตานสามารถเพาะความสงสัยไว้ในใจของฮาวา ผู้หญิงที่เป็นมนุษย์สมบูรณ์ได้สำเร็จ ดังนั้น มันสามารถเพาะความสงสัยไว้ในใจเราด้วย. บราเดอร์มอร์ริสกล่าวว่า “จงเลี้ยงความเชื่อให้อิ่มหนำ แล้วความสงสัยจะอดตายในที่สุด.” จากนั้น ผู้บรรยายได้ยกตัวอย่างของเปโตรซึ่ง “เดินบนน้ำ” แต่เมื่อ “เห็นพายุ” เขาก็กลัวและเริ่มจม. พระเยซูทรงยื่นพระหัตถ์จับเปโตรไว้ แล้วตรัสกับเขาว่า “เจ้าสงสัยทำไม?” (มัดธาย 14:29-31) บราเดอร์มอร์ริสกล่าวว่า “เมื่อพวกคุณซึ่งเป็นมิชชันนารีทำงานรับใช้เต็มเวลาอย่างขยันขันแข็ง คนอื่น ๆ อาจประทับใจงานทุกอย่างที่คุณทำเหมือนเห็นคุณเดินบนน้ำ แต่เมื่อใดที่มีพายุโหมกระหน่ำ ขอคุณอย่าสงสัยเป็นอันขาด.”
บราเดอร์มอร์ริสกล่าวต่อไปโดยให้ข้อสังเกตว่าแม้การรับมือกับปัญหาที่เปรียบเหมือนพายุอาจเป็นเรื่องยาก แต่ในที่สุดพายุนั้นก็จะผ่านไป. เมื่อพูดถึงความยากลำบาก เขาชวนให้นักเรียนคิดถึงประสบการณ์ของเปาโลกับซีลัสตอนที่ถูกจำคุกในเมืองฟิลิปปอย. กิจการ 16:25 เล่าว่า “เมื่อเวลาประมาณเที่ยงคืน เปาโลกับซีลัสอธิษฐานและร้องเพลงสรรเสริญพระเจ้าและพวกนักโทษก็ฟัง.” ขอให้สังเกตว่า พวกเขาไม่เพียงอธิษฐาน แต่ร้องเพลงด้วย. พวกเขาร้องเพลงเสียงดังจนนักโทษคนอื่น ๆ ในคุกได้ยิน. บราเดอร์มอร์ริสกล่าวว่า พวกเราส่วนใหญ่ไม่ได้มีเสียงดีเหมือนนักร้อง แต่เราไม่ควรรู้สึกอายที่จะร้องเพลง โดยเฉพาะในช่วงที่ประสบปัญหาหรือมีความทุกข์ยาก. บราเดอร์มอร์ริสกล่าวปิดท้ายคำบรรยายของเขาโดยอ่านเนื้อเพลงจากหนังสือเพลงสรรเสริญพระยะโฮวา บท 135 ซึ่งมีชื่อว่า “เพียรอดทนจนถึงที่สุด.”
คำบรรยายอื่น ๆ ที่ให้กำลังใจ
“คุณปรารถนาจะมีอายุยั่งยืนไหม?” คือหัวเรื่องคำบรรยายของบราเดอร์โรเบิร์ต ลูซีโอนี จากแผนกจัดซื้อ. คำบรรยายนี้อาศัยคำกล่าวของกษัตริย์ดาวิดที่บทเพลงสรรเสริญ 34:12. คำบรรยายของบราเดอร์ลูซีโอนีพูดถึงวิธีรับมือกับความยุ่งยากในขณะที่พยายามรักษาสายสัมพันธ์ที่ใกล้ชิดกับพระยะโฮวาไว้ต่อไป. มีแง่คิดหลายอย่างที่เราเรียนได้จากเรื่องราวที่บันทึกใน 1 ซามูเอล บท 30. ตอนนั้นดาวิดกับพรรคพวกของท่านและครอบครัวของพวกเขาหนีการตามล่าของกษัตริย์ซาอูลไปลี้ภัยอยู่ที่เมืองซิคลัก. เมื่อชาวอะมาเล็คบุกมาจับครอบครัวของพวกเขาไป พรรคพวกของดาวิดได้กล่าวโทษท่านและคิดจะเอาหินขว้างท่าน. ดาวิดทำอย่างไร? ดาวิดไม่ท้อแท้ แต่ท่าน “ตั้งใจให้แข็งกล้าขึ้น, ด้วยพึ่งในพระยะโฮวาพระเจ้าของตน.” (1 ซามูเอล 30:6) ท่านทูลถามพระยะโฮวา ทำตามการชี้นำของพระเจ้า และช่วยครอบครัวที่ถูกจับไปกลับมาได้. ผู้บรรยายรับรองกับนักเรียนว่าถ้าพวกเขาวางใจในพระยะโฮวาเช่นเดียวกับดาวิดและทำตามการชี้นำของพระองค์ พวกเขาจะมีอายุยั่งยืนเพื่อได้เห็นสิ่งดี. พวกเขาจะมีความสุขในงานมิชชันนารีซึ่งเป็นสิทธิพิเศษอันล้ำค่าที่พวกเขาได้รับ.
“คิดถึงยามเช้าอันสดใสซึ่งจะมาแทนที่กลางคืนอันมืดมิด” เป็นหัวเรื่องคำบรรยายของบราเดอร์ไมเคิล เบอร์เนตต์ ผู้สอนคนหนึ่งของโรงเรียนกิเลียด. ชาวอิสราเอลแบ่งเวลากลางคืน ตั้งแต่ดวงอาทิตย์ตกจนถึงดวงอาทิตย์ขึ้นเป็นสามช่วงหรือสามยาม และแต่ละยามมีสี่ชั่วโมง. ยามสุดท้ายคือตั้งแต่ตีสองจนถึงหกโมงเช้า เป็นช่วงที่มืดและหนาวที่สุดและเป็นช่วงที่เผลอหลับได้ง่ายที่สุด. ผู้ประพันธ์เพลงสรรเสริญคิดรำพึงถึงพระดำรัสของพระยะโฮวาตลอดช่วงยามสุดท้ายเพื่อเขาจะไม่เผลอหลับไป. (บทเพลงสรรเสริญ 119:148) บราเดอร์เบอร์เนตต์บอกนักเรียนว่า “คุณต้องตื่นตัวอยู่เสมอ. จะมีบางช่วงที่คุณรู้สึกหดหู่ท้อแท้เหมือนอยู่ในความมืด และความเย็นชาของผู้คนจะทำให้คุณเหน็บหนาว. คุณต้องเตรียมตัวเพื่อรับมือกับสถานการณ์เช่นนั้น.” จากนั้น ผู้บรรยายได้เตือนนักเรียนว่าพวกเขาควรศึกษาพระคัมภีร์ให้ลึกซึ้งและค้นคว้าเรื่องต่าง ๆ อย่างละเอียดเพื่อจะตื่นตัวอยู่เสมอในงานรับใช้. บราเดอร์เบอร์เนตต์อธิบายเรื่องนี้โดยยกตัวอย่างว่า “คุณอธิษฐานถึงพระยะโฮวาทุกวันเพราะคุณอยากเป็นเพื่อนกับพระองค์. ฉะนั้น ถ้าคุณคิดว่าพระยะโฮวาเป็นเพื่อน คุณก็ต้องให้พระองค์พูดคุยกับคุณทุกวันผ่านทางคัมภีร์ไบเบิล. เวลาที่ยากลำบากซึ่งเปรียบเหมือนกลางคืนล่วงเลยไปมากแล้ว ดังนั้น จงวางแผนให้ดีว่าคุณจะทำอะไรเมื่อถึงรุ่งเช้า. การทำเช่นนั้นจะช่วยให้คุณคิดถึงยามเช้าอันสดใสซึ่งจะมาแทนที่กลางคืนอันมืดมิด.”
“รับการฝึกอบรมเพื่องานที่รออยู่ข้างหน้า” เป็นหัวเรื่องคำบรรยายที่อาศัย 1 เปโตร 5:10 ซึ่งบรรยายโดยบราเดอร์มาร์ก นูแมร์ ผู้สอนอีกคนหนึ่งของโรงเรียนกิเลียด. เขาถามนักเรียนว่า “ทำไมผู้เผยแพร่ที่มีประสบการณ์อย่างพวกคุณจึงได้รับเชิญให้มาอบรมที่ศูนย์การศึกษาว็อชเทาเวอร์?” คำตอบคือ “เพราะพวกคุณเป็นผู้เชี่ยวชาญในงานเผยแพร่. ผู้เชี่ยวชาญในสาขาวิชาต่าง ๆ หลายคนยอมละงานของตนเพื่อรับการอบรมซึ่งจะช่วยให้เขามีความรู้ความสามารถมากขึ้น. ตลอดห้าเดือนที่ผ่านมา พระยะโฮวาทรงช่วยให้คุณ ‘มั่นคง’ และ ‘เข้มแข็ง’ โดยให้การศึกษาเกี่ยวกับพระคำและองค์การของพระองค์แก่คุณอย่างลึกซึ้งและถี่ถ้วน เพื่อคุณจะสามารถแบกหน้าที่รับผิดชอบอันหนักหน่วงซึ่งรออยู่ข้างหน้าได้. ท่อนไม้ที่มั่นคงแข็งแรงสามารถรองรับน้ำหนักของบ้านได้โดยไม่โค้งงอ บิดเบี้ยว หรือแตกร้าว. ผลจากการฝึกอบรมจะปรากฏให้เห็นขณะที่คุณทำงานร่วมกับพี่น้องชายหญิง. แรงกดดันที่หนักหน่วงจะบีบคั้นคุณให้ละทิ้งหลักการของพระเจ้าไหม หรือคุณจะยึดมั่นกับสิ่งที่คุณได้เรียนจากพระคำของพระเจ้าเสมอ? สิ่งที่แข็งแรงจะแบกรับของหนักได้. ความแข็งแรงทนทานของท่อนไม้อยู่ที่ความเหนียวของเส้นใยในเนื้อไม้. ความเข้มแข็งของคุณก็ขึ้นอยู่กับคุณลักษณะภายในซึ่งเป็นตัวตนที่แท้จริงของคุณ. พระยะโฮวาทรงนำคุณมาที่นี่เพื่อฝึกคุณให้เข้มแข็ง ซื่อสัตย์ และวางใจได้สำหรับงานที่รออยู่ข้างหน้า. พระเจ้าทรงทำส่วนของพระองค์แล้ว เราจึงอธิษฐานขอให้คุณทำส่วนของคุณและยอมให้ ‘พระบรมครู’ ฝึกคุณจนสามารถทำงานที่พระองค์มอบหมายได้สำเร็จ.”
ประสบการณ์และการสัมภาษณ์
ในวันสำเร็จการศึกษาของโรงเรียนกิเลียด ปกติแล้วนักเรียนจะเล่าประสบการณ์ต่าง ๆ ที่น่าตื่นเต้นและเสริมความเชื่อ และครั้งนี้ก็เช่นกัน. มีการสาธิตประสบการณ์จากการประกาศของนักเรียนเมื่อไม่นานมานี้. ตัวอย่างเช่น ระหว่างเดินทางมาอบรมที่โรงเรียนกิเลียด คู่สมรสจากฝรั่งเศสรอขึ้นเครื่องบินอยู่ที่สนามบินแห่งหนึ่งนานหกชั่วโมง. ในร้านอาหารของสนามบิน พวกเขาได้สนทนากับชายสองคนซึ่งกำลังรอขึ้นเครื่องเช่นกัน. เมื่อชายคนหนึ่งบอกว่าเขามาจากประเทศมาลาวี พวกเขาก็พูดกับชายคนนั้นเป็นภาษาชิเชวา. ชายคนนั้นแปลกใจมากและถามว่าทำไมพวกเขาพูดภาษาชิเชวาได้. พี่น้องของเราอธิบายว่าพวกเขาเคยเป็นมิชชันนารีอยู่ที่มาลาวี. เมื่อชายอีกคนหนึ่งบอกว่าเขามาจากแคเมอรูน สามีภรรยาคู่นี้ก็เปลี่ยนมาพูดภาษาฝรั่งเศสทันทีซึ่งทำให้เขาทึ่งมาก. ชายทั้งสองมีความรู้สึกที่ดีต่อพยานพระยะโฮวา และมิชชันนารีทั้งสองได้ให้คำพยานกับพวกเขา.
จากนั้น บราเดอร์นิโคลัส อาห์ลาดิสจากแผนกบริการการแปลได้สัมภาษณ์นักเรียนสองคู่. สามีภรรยาคู่แรกย้ายจากออสเตรเลียมาเป็นมิชชันนารีที่ติมอร์ตะวันออกซึ่งเคยประสบภัยสงคราม. อีกคู่หนึ่งย้ายจากเกาหลีมารับใช้ที่ฮ่องกง. ทั้งสองคู่กระตือรือร้นที่จะกลับไปยังเขตงานของพวกเขาในต่างแดนและนำความรู้ที่ได้เรียนจากโรงเรียนนี้ไปใช้.
หลังจากมีการมอบประกาศนียบัตรแก่นักเรียน ตัวแทนนักเรียนได้ขึ้นมาอ่านจดหมายขอบคุณสำหรับการฝึกอบรมที่พวกเขาได้รับ. จากนั้น บราเดอร์เลิชกล่าวปิดท้ายการประชุมโดยใช้ภาพเปรียบเทียบที่น่าประทับใจต่าง ๆ เช่น ความจริงงดงามดั่งสายรุ้ง เสมือนหนึ่งแหล่งน้ำกลางทะเลทราย และประดุจสมอเรือในท้องทะเลที่บ้าคลั่ง. เขากล่าวว่า “การได้รู้จักความจริงเป็นพระพรอันยิ่งใหญ่. จงเป็นนักสู้เพื่อความจริง และช่วยคนอื่น ๆ ให้เป็นนักสู้เช่นกัน.”
[ตาราง/ภาพหน้า 31]
สถิติชั้นเรียน
นักเรียนมาจาก 12 ประเทศ
เฉลี่ยอายุ 36 ปี
เฉลี่ยจำนวนปีที่รับบัพติสมา 20 ปี
เฉลี่ยจำนวนปีที่รับใช้เต็มเวลา 15 ปี
[แผนที่]
(ดูรายละเอียดจากวารสาร)
นักเรียนได้รับมอบหมายไปยังประเทศต่าง ๆ ดังแสดงไว้ข้างล่าง
เขตมอบหมายของนักเรียน
เบลีซ
เบนิน
กัมพูชา
แคเมอรูน
เคปเวิร์ด
โกตดิวัวร์
สาธารณรัฐโดมินิกัน
ติมอร์ตะวันออก
เอกวาดอร์
กาบอง
จอร์เจีย
กินี
ฮ่องกง
ไลบีเรีย
มาดากัสการ์
มาลาวี
เปรู
ซามัว
เซาโตเมและปรินซิเป
สหรัฐอเมริกา
ซิมบับเว
[ภาพหน้า 31]
ผู้สำเร็จการศึกษารุ่นที่ 132 ของโรงเรียนว็อชเทาเวอร์ไบเบิลแห่งกิเลียด
รายชื่อข้างล่างนี้นับจากแถวหน้าไปแถวหลัง และเรียงลำดับจากซ้ายไปขวา.
(1) Iap R.; Iap J.; Ng T.; Ng P.; Laurino F.; Laurino B.; Won S.; Won S.
(2) Morales N.; Morales M.; Zanutto J.; Zanutto M.; Rumph I.; Rumph J.; Germain D.; Germain N.
(3) Atchadé Y.; Atchadé Y.; Thomas C.; Thomas E.; Estigène C.; Estigène P.
(4) Ehrman D.; Ehrman A.; Bray J.; Bray A.; Amorim M.; Amorim D.; Seo Y.; Seo Y.
(5) Simon J.; Simon C.; Seale C.; Seale D.; Erickson J.; Erickson R.
(6) McCluskey, D.; McCluskey T.; Brown A.; Brown V.; Mariano D.; Mariano C.; Loyola Y.; Loyola C.
(7) Rutgers P.; Rutgers N.; Foucault P.; Foucault C.; Wunjah J.; Wunjah E.