พระธรรมเล่มที่ 60—1 เปโตร
ผู้เขียน: เปโตร
สถานที่เขียน: บาบูโลน
เขียนเสร็จ: ประมาณปี ส.ศ. 62-64
1. เหตุใดคริสเตียนต้องประสบการทดลอง และเหตุใดจดหมายฉบับแรกของเปโตรจึงเหมาะกับเวลา?
ขณะที่คริสเตียนรุ่นแรกประกาศคุณความดีอันล้ำเลิศของพระเจ้าไปอย่างกว้างขวาง งานราชอาณาจักรก็เจริญและเพิ่มพูนตลอดทั่วจักรวรรดิโรมัน. อย่างไรก็ตาม เกิดการเข้าใจผิดบางอย่างเกี่ยวกับผู้มีใจแรงกล้ากลุ่มนี้. สาเหตุอย่างหนึ่งคือ ศาสนาของพวกเขามีต้นตอจากยะรูซาเลมและจากท่ามกลางพวกยิว และบางคนเอาพวกเขาไปปนกับชาวยิวหัวรุนแรงทางการเมืองซึ่งรู้สึกแค้นเคืองที่ตกอยู่ใต้ชาวโรมันและเป็นพวกที่ก่อความลำบากแก่ผู้สำเร็จราชการประจำท้องถิ่นอยู่เนือง ๆ. ยิ่งกว่านั้น ชนคริสเตียนยังแตกต่างในข้อที่ว่า พวกเขาไม่ยอมถวายเครื่องบูชาแก่จักรพรรดิหรือร่วมงานฉลองของศาสนานอกรีตในสมัยนั้น. พวกเขาถูกพูดต่อต้านและต้องประสบการทดลองมากมายเนื่องจากความเชื่อ. ในเวลาที่เหมาะและโดยการคาดการณ์ล่วงหน้าซึ่งแสดงถึงการดลใจจากพระเจ้า เปโตรจึงเขียนจดหมายฉบับแรกที่หนุนกำลังใจเหล่าคริสเตียนให้ยืนหยัดมั่นคงและแนะนำพวกเขาเกี่ยวกับวิธีปฏิบัติตนภายใต้เนโรซึ่งตอนนั้นเป็นซีซาร์. ปรากฏว่าจดหมายนี้เหมาะกับเวลาอย่างยิ่งเมื่อคำนึงถึงพายุแห่งการกดขี่ข่มเหงที่เริ่มต้นเกือบทันทีหลังจากนั้น.
2. อะไรพิสูจน์ว่าเปโตรเป็นผู้เขียนจดหมายที่ใช้ชื่อท่าน และจดหมายนี้เขียนถึงใคร?
2 ที่ว่าเปโตรเป็นผู้เขียนนั้นมียืนยันในข้อแรก. ยิ่งกว่านั้น อิเรแนอุส, เคลเมนต์แห่งอะเล็กซานเดรีย, ออริเกน, และเทอร์ทูลเลียน ต่างก็ยกข้อความจากจดหมายนี้ไปกล่าวโดยเอ่ยชื่อเปโตรว่าเป็นผู้เขียน.a ความเชื่อถือได้ของพระธรรมเปโตรฉบับต้นได้รับการยืนยันเช่นเดียวกับจดหมายที่มีขึ้นโดยการดลใจฉบับอื่น ๆ. ยูเซบิอุสบอกเราว่าพวกผู้ปกครองในคริสตจักรใช้จดหมายนี้กันอย่างไม่จำกัด; ไม่มีข้อสงสัยใด ๆ เกี่ยวกับความเชื่อถือได้ในสมัยของเขา (ประมาณปี ส.ศ. 260-340). อิกนาทิอุส, เฮอร์มาส, และบาร์นาบาส ซึ่งอยู่ในช่วงต้นศตวรรษที่สองต่างก็อ้างอิงถึงจดหมายนี้.b พระธรรมเปโตรฉบับต้นสอดคล้องเต็มที่กับส่วนอื่น ๆ ของพระคัมภีร์ที่มีขึ้นโดยการดลใจและให้ข่าวสารที่มีพลังแก่คริสเตียนทั้งที่เป็นชาวยิวและไม่ใช่ชาวยิวซึ่งอาศัยในฐานะ “ผู้อาศัยชั่วคราวที่กระจัดกระจายอยู่ในปนโต, ฆะลาเตีย, กัปปะโดเกีย, เอเชีย, และบิตุเนีย”—ซึ่งเป็นแคว้นต่าง ๆ ในเอเชียไมเนอร์.—1 เป. 1:1, ล.ม.
3. มีหลักฐานอะไรเกี่ยวกับเวลาที่เขียนพระธรรมเปโตรฉบับต้น?
3 จดหมายนี้เขียนเมื่อไร? เนื้อหาของจดหมายนี้แสดงว่าเหล่าคริสเตียนกำลังประสบการทดลอง ถ้าไม่จากพวกนอกรีตก็จากชาวยิวที่ไม่กลับใจ แต่การข่มเหงจากเนโรซึ่งเกิดขึ้นในปี ส.ศ. 64 ยังไม่เริ่ม. ปรากฏชัดว่าเปโตรเขียนจดหมายก่อนหน้านี้ อาจเป็นในช่วงระหว่างปี ส.ศ. 62 ถึงปี ส.ศ. 64. การที่มาระโกยังอยู่กับเปโตรยืนยันข้อสรุปนี้. ระหว่างเปาโลถูกควบคุมตัวครั้งแรกที่โรม (ประมาณปี ส.ศ. 59-61) มาระโกอยู่กับเปาโลแต่กำลังจะเดินทางไปเอเชียไมเนอร์; และในคราวที่เปาโลถูกควบคุมตัวครั้งที่สอง (ประมาณปี ส.ศ. 65) มาระโกก็กำลังจะไปสมทบกับเปาโลอีกที่กรุงโรม. (1 เป. 5:13; โกโล. 4:10; 2 ติโม. 4:11) ในช่วงเวลาระหว่างนั้นท่านคงได้มีโอกาสอยู่กับเปโตรในบาบูโลน.
4, 5. (ก) อะไรหักล้างข้ออ้างที่ว่าเปโตรเขียนจดหมายฉบับแรกของท่านจากโรม? (ข) อะไรแสดงว่าท่านเขียนจากเมืองบาบูโลนจริง ๆ?
4 พระธรรมเปโตรฉบับต้นเขียนที่ไหน? ขณะที่พวกผู้ให้อรรถาธิบายคัมภีร์ไบเบิลเห็นพ้องต้องกันในเรื่องความเชื่อถือได้, การเป็นส่วนของสารบบพระคัมภีร์, ผู้เขียน, และเวลาเขียนโดยประมาณ แต่พวกเขาไม่เห็นพ้องกันในเรื่องสถานที่เขียน. ตามคำยืนยันของเปโตรเอง ท่านเขียนจดหมายฉบับแรกของท่านขณะอยู่ที่บาบูโลน. (1 เป. 5:13) แต่บางคนอ้างว่าท่านเขียนจากโรมโดยบอกว่า “บาบูโลน” เป็นชื่อแฝงนัยที่หมายถึงโรม. อย่างไรก็ตาม หลักฐานมิได้สนับสนุนความเห็นดังกล่าว. ไม่มีที่ใดในคัมภีร์ไบเบิลซึ่งแสดงว่าชื่อบาบูโลนใช้หมายถึงโรมโดยเฉพาะ. เนื่องจากเปโตรได้ส่งจดหมายถึงผู้ที่อาศัยในปนโต, ฆะลาเตีย, กัปปะโดเกีย, เอเชีย, และบิตุเนียจริง ๆ จึงเป็นไปตามเหตุผลที่ว่า ที่ท่านกล่าวถึงบาบูโลนนั้นหมายถึงสถานที่ที่มีชื่อนี้จริง ๆ. (1:1) มีเหตุผลอันดีที่เปโตรอยู่ในบาบูโลน. ท่านได้รับฝาก ‘ข่าวดีเพื่อผู้ที่รับสุหนัต’ และในบาบูโลนมีประชากรยิวอยู่เป็นจำนวนมาก. (ฆลา. 2:7-9, ล.ม.) สารานุกรมจูไดกา (ภาษาอังกฤษ) เมื่ออธิบายเรื่องการผลิตทัลมุดของบาบูโลน กล่าวถึง “สำนักสำคัญ ๆ ในบาบูโลน” ของลัทธิยูดายในช่วงสากลศักราช.c
5 พระคัมภีร์ที่มีขึ้นโดยการดลใจซึ่งมีจดหมายที่เปโตรเขียนทั้งสองฉบับอยู่ด้วยไม่มีกล่าวว่าท่านไปยังโรม. เปาโลพูดถึงการอยู่ในโรมแต่ไม่เคยบอกว่าเปโตรอยู่ที่นั่น. แม้เปาโลเอ่ยชื่อ 35 คนในจดหมายถึงพี่น้องในโรมและฝากคำทักทายถึง 26 คนโดยออกชื่อ แต่ทำไมท่านไม่กล่าวถึงเปโตร? ก็เพราะตอนนั้นเปโตรไม่ได้อยู่ที่นั่น! (โรม 16:3-15) “บาบูโลน” ที่เปโตรเขียนจดหมายฉบับแรกจึงเป็นบาบูโลนจริง ๆ ที่ตั้งอยู่บนฝั่งแม่น้ำยูเฟรทิสในเมโสโปเตเมีย.
เนื้อเรื่องในเปโตรฉบับต้น
6. เปโตรเขียนถึงความหวังอะไร และ “การบังเกิดใหม่” สู่ความหวังนี้เป็นไปได้โดยอาศัยพื้นฐานอะไร?
6 การบังเกิดใหม่สู่ความหวังที่มีชีวิตอยู่โดยทางพระคริสต์ (1:1-25). ตอนแรก เปโตรนำความสนใจของผู้อ่านมาสู่การ “บังเกิดใหม่สู่ความหวังอันมีชีวิตอยู่” รวมทั้งมรดกที่ไม่มีเสื่อมค่าซึ่งถูกเก็บรักษาไว้สำหรับพวกเขาในสวรรค์. เรื่องนี้เป็นไปตามพระเมตตาของพระเจ้าโดยการคืนพระชนม์ของพระเยซูคริสต์. ดังนั้น “เหล่าผู้ถูกเลือกสรร” จึงปีติยินดียิ่งแม้ว่าต้องโศกเศร้าเนื่องจากการทดลองต่าง ๆ เพื่อว่าคุณภาพแห่งความเชื่อของพวกเขาซึ่งถูกทดสอบแล้ว “จะเป็นเหตุให้เกิดการสรรเสริญและสง่าราศีและเกียรติยศในคราวการปรากฏของพระเยซูคริสต์.” ผู้พยากรณ์ในสมัยโบราณ และแม้แต่พวกทูตสวรรค์ ต่างได้สืบค้นเกี่ยวกับความรอดนี้. ฉะนั้น เหล่าผู้ถูกเลือกสรรควรเตรียมจิตใจของเขาเพื่อการงาน และตั้งความหวังของตนไว้ในพระกรุณาอันไม่พึงได้รับนี้ เป็นคนบริสุทธิ์ในการประพฤติทุกอย่าง. นับว่าเหมาะสมมิใช่หรือเมื่อคำนึงถึงการที่พวกเขาได้รับการช่วยให้รอด ไม่ใช่ด้วยสิ่งที่เสื่อมสูญได้ แต่ “ด้วยโลหิตอันมีค่ามาก เหมือนเลือดของลูกแกะที่ปราศจากพิการและด่างพร้อย คือพระโลหิตของพระคริสต์”? “การบังเกิดใหม่” ของพวกเขาเป็นไปโดยทางพระคำของพระยะโฮวาพระเจ้าผู้ทรงพระชนม์อยู่และทรงดำรงตลอดกาล ซึ่งดำรงอยู่เป็นนิตย์และได้รับการประกาศเป็นข่าวดีแก่พวกเขา.—1:1, 3, 7, 19, 23, ล.ม.
7. (ก) ชนคริสเตียนถูกสร้างขึ้นเป็นอะไร และเพื่อวัตถุประสงค์อะไร? (ข) ในฐานะผู้อาศัยชั่วคราว พวกเขาควรประพฤติตนเช่นไร?
7 การรักษาความประพฤติที่ดีท่ามกลางนานาชาติ (2:1–3:22). ในฐานะเป็นหินที่มีชีวิต คริสเตียนถูกสร้างเป็นนิเวศฝ่ายวิญญาณเพื่อถวายเครื่องบูชาฝ่ายวิญญาณที่พระเจ้าทรงยอมรับได้โดยผ่านทางพระเยซูคริสต์ซึ่งเป็นหินรากหัวมุม ผู้ทรงกลายเป็นหินสะดุดแก่คนที่ไม่เชื่อฟัง. ผู้ที่สำแดงความเชื่อได้มาเป็น ‘คณะปุโรหิตหลวง เป็นชาติบริสุทธิ์ เพื่อประกาศเผยแพร่คุณความดีอันล้ำเลิศของพระองค์ผู้ได้ทรงเรียกพวกเขาออกจากความมืดเข้าสู่ความสว่างอันมหัศจรรย์ของพระองค์.’ ในฐานะผู้อาศัยชั่วคราวท่ามกลางนานาชาติ ให้พวกเขาละเว้นจากความปรารถนาฝ่ายเนื้อหนังและธำรงความประพฤติที่ดี. ให้พวกเขายอมอยู่ใต้อำนาจ “สิ่งซึ่งมนุษย์สร้างขึ้นทุกอย่าง” ไม่ว่าเป็นกษัตริย์หรือผู้สำเร็จราชการ. ถูกแล้ว “จงให้เกียรติคนทุกชนิด มีความรักต่อสังคมแห่งพี่น้องทั้งสิ้น จงเกรงกลัวพระเจ้า จงให้เกียรติพระมหากษัตริย์.” เช่นเดียวกัน ให้คนรับใช้ยอมอยู่ใต้อำนาจนายของตนด้วยสติรู้สึกผิดชอบอันดี อดทนภายใต้ความทุกข์ที่อยุติธรรม. แม้แต่พระคริสต์ซึ่งถึงแม้ปราศจากบาป แต่ทรงยอมถูกด่าและทนทุกข์เพื่อวาง “แบบอย่าง” เพื่อให้มีการติดตามรอยพระบาทของพระองค์ได้อย่างใกล้ชิด.—2:9, 13, 17, 21, ล.ม.
8. (ก) มีการให้คำเตือนสติที่เหมาะสมอะไรแก่ภรรยาและสามี? (ข) อะไรเป็นสิ่งจำเป็นเพื่อคนเราจะมีสติรู้สึกผิดชอบที่ดีเฉพาะพระพักตร์พระเจ้า?
8 การยอมอยู่ใต้อำนาจใช้กับภรรยาด้วย ผู้ซึ่งโดยการประพฤติที่บริสุทธิ์พร้อมด้วยความนับถืออย่างสุดซึ้งอาจชนะใจสามีที่ไม่เชื่อโดยปราศจากวาจา. ที่พวกเธอเป็นห่วงไม่ควรเป็นการประดับภายนอก แต่ควรเป็นเหมือนของนางซาราผู้เชื่อฟัง คือ “บุคคลที่ซ่อนเร้นไว้แห่งหัวใจ ด้วยเครื่องแต่งกายที่เปื่อยเน่าไม่ได้แห่งน้ำใจสงบเสงี่ยมและอ่อนโยน ซึ่งมีค่ามากในสายพระเนตรของพระเจ้า.” สามีควรให้เกียรติภรรยาในฐานะเป็น “ภาชนะที่อ่อนแอกว่า” และเนื่องจากสามีเป็น “ผู้รับมรดกความโปรดปรานอันไม่พึงได้รับแห่งชีวิตร่วมกับนาง.” คริสเตียนทุกคนควรแสดงความรักฉันพี่น้อง. “ผู้ใดรักชีวิต . . . ให้เขาหันหนีจากสิ่งที่ชั่วและทำสิ่งที่ดี; ให้เขาแสวงหาสันติสุขและติดตามสันติสุขนั้น. เพราะพระเนตรของพระยะโฮวาเพ่งดูคนชอบธรรม.” แทนที่จะกลัวมนุษย์ พวกเขาควรพร้อมจะปกป้องความหวังของตนเสมอ. ที่จะทนทุกข์เพราะการทำดี ถ้านั่นเป็นพระทัยประสงค์ของพระเจ้า ก็ดีกว่าทนทุกข์เพราะการทำชั่ว. “แม้แต่พระคริสต์ก็ทรงวายพระชนม์ครั้งเดียวสำหรับตลอดกาลเกี่ยวกับความบาป พระองค์ผู้ชอบธรรมเพื่อผู้ไม่ชอบธรรมทั้งหลาย เพื่อว่าพระองค์จะนำท่านทั้งหลายไปถึงพระเจ้า พระองค์ถูกประหารในสภาพเนื้อหนัง แต่ถูกทำให้มีชีวิตในสภาพวิญญาณ.” ความเชื่อของโนฮาซึ่งสำแดงด้วยการสร้างนาวานั้นยังผลเป็นการคุ้มครองท่านกับครอบครัวให้รอด. ในลักษณะเดียวกัน คนที่อุทิศตัวแด่พระเจ้าโดยอาศัยความเชื่อในพระคริสต์ที่คืนพระชนม์, รับบัพติสมาเป็นเครื่องหมายแสดงถึงความเชื่อนั้น, และทำตามพระทัยประสงค์ของพระเจ้าต่อ ๆ ไปก็จะได้รับการช่วยให้รอดและได้มาซึ่งสติรู้สึกผิดชอบที่ดีจากพระเจ้า.—3:4, 7, 10-12, 18, ล.ม.
9. คริสเตียนควรมีน้ำใจแบบไหน? แม้จะประสบกับอะไร?
9 ชื่นชมยินดีในการทำตามพระทัยประสงค์ของพระเจ้าในฐานะเป็นคริสเตียนแม้ต้องทนลำบาก (4:1–5:14). คริสเตียนควรมีน้ำใจเหมือนพระคริสต์ คือมีชีวิตอยู่เพื่อทำตามพระทัยประสงค์ของพระเจ้าเท่านั้นและเลิกทำตามนานาชาติ แม้ว่าชาติต่าง ๆ จะกล่าวร้ายพวกเขาเพราะไม่วิ่งร่วมกับคนเหล่านั้นต่อไป “ในแอ่งโสโครกที่มีแต่ความเสเพลอย่างเดียวกัน.” เนื่องจากอวสานของสิ่งทั้งปวงใกล้เข้ามาแล้ว พวกเขาจึงควรมีสุขภาพจิตดี, หมั่นอธิษฐาน, และมีความรักอันแรงกล้าต่อกัน, ทำทุกสิ่งเพื่อพระเจ้าจะได้รับการสรรเสริญ. ขณะที่การทดลองเกิดขึ้นท่ามกลางพวกเขา พวกเขาก็ไม่ควรแปลกใจ แต่ควรยินดีที่เป็นผู้มีส่วนร่วมในการทนทุกข์ทรมานของพระคริสต์. อย่างไรก็ตาม อย่าให้ใครต้องทนทุกข์เพราะเป็นคนทำชั่ว. เนื่องจากการพิพากษาเริ่มที่ราชนิเวศของพระเจ้า “ให้คนเหล่านั้นที่ทนทุกข์อย่างที่ประสานกับพระทัยประสงค์ของพระเจ้าฝากจิตวิญญาณของตนไว้กับพระผู้สร้างองค์สัตย์ซื่อต่อ ๆ ไป ขณะที่เขาทำดี.”—4:4, 19, ล.ม.
10. มีการให้คำแนะนำอะไรแก่พวกผู้เฒ่าผู้แก่และชายที่อายุน้อยกว่า และพระธรรมเปโตรฉบับต้นจบลงด้วยคำรับรองที่หนักแน่นอะไร?
10 ผู้เฒ่าผู้แก่ควรบำรุงเลี้ยงฝูงแกะของพระเจ้าด้วยความเต็มใจ ถูกแล้ว ด้วยใจกระตือรือร้น. การเป็นแบบอย่างแก่ฝูงแกะจะรับรองว่า พวกเขาจะได้รับมงกุฎแห่งสง่าราศีที่ร่วงโรยไม่ได้ในคราวการปรากฏของผู้บำรุงเลี้ยงองค์สำคัญ. ให้ชายที่อายุน้อยกว่ายอมอยู่ใต้อำนาจผู้เฒ่าผู้แก่ โดยที่ทุกคนมีจิตใจอ่อนน้อม “เพราะพระเจ้าทรงต่อต้านผู้ที่หยิ่งยโส แต่พระองค์ทรงประทานพระกรุณาอันไม่พึงได้รับแก่ผู้ที่ถ่อมใจ.” ให้พวกเขามั่นคงในความเชื่อและเฝ้าระวัง “สิงโตที่แผดเสียงร้อง” คือพญามาร. อีกครั้งหนึ่ง เปโตรได้ให้คำรับรองอันหนักแน่นเมื่อปิดท้ายคำกระตุ้นเตือนของท่านดังนี้ “แต่หลังจากท่านทั้งหลายทนทุกข์อยู่ชั่วขณะหนึ่ง พระเจ้าแห่งพระกรุณาทั้งมวลอันไม่พึงได้รับ ผู้ทรงเรียกท่านทั้งหลายมาสู่สง่าราศีนิรันดร์ของพระองค์ร่วมสามัคคีกับพระคริสต์ พระองค์เองจะทรงโปรดให้การฝึกอบรมท่านทั้งหลายถึงที่สำเร็จ พระองค์จะทรงทำให้ท่านทั้งหลายมั่นคง พระองค์จะทรงทำให้ท่านทั้งหลายเข้มแข็ง. ขอให้ฤทธานุภาพเป็นของพระองค์ตลอดไปเป็นนิตย์. อาเมน.”—5:5, 8, 10, 11, ล.ม.
เหตุที่เป็นประโยชน์
11. เปโตรทำตามคำแนะนำของพระเยซูและของเปาโลอย่างไรในการให้คำแนะนำพวกผู้ดูแล?
11 จดหมายฉบับแรกของเปโตรมีคำแนะนำที่ดีสำหรับผู้ดูแล. โดยทำตามคำแนะนำของพระเยซูที่โยฮัน 21:15-17 และของเปาโลที่กิจการ 20:25-35 เปโตรแสดงให้เห็นอีกครั้งว่างานของผู้ดูแลต้องเป็นงานบำรุงเลี้ยง, ต้องทำอย่างไม่เห็นแก่ตัว, ด้วยความเต็มใจ, และตั้งใจ. ผู้ดูแลเป็นรองผู้บำรุงเลี้ยง รับใช้ภายใต้พระเยซูคริสต์ซึ่งเป็น “ผู้บำรุงเลี้ยงองค์สำคัญ” และมีความรับผิดชอบต่อพระองค์ในเรื่องฝูงแกะของพระเจ้า ซึ่งเขาต้องดูแลผลประโยชน์ให้โดยเป็นแบบอย่างและด้วยความถ่อมใจทุกอย่าง.—5:2-4, ล.ม.
12. (ก) การยอมอยู่ใต้อำนาจอย่างมีขอบเขตเช่นไรที่ต้องให้แก่พวกผู้ปกครองบ้านเมืองและนาย? (ข) เปโตรเตือนสติเช่นไรในเรื่องที่ภรรยายอมอยู่ใต้อำนาจและการเป็นประมุขของสามี? (ค) คุณลักษณะแบบคริสเตียนประการใดที่มีการเน้นตลอดจดหมายฉบับนี้?
12 แง่อื่น ๆ อีกหลายอย่างของการที่คริสเตียนยอมอยู่ใต้อำนาจมีบอกไว้ในจดหมายของเปโตร และมีคำแนะนำที่ดีเยี่ยมให้ไว้. ที่ 1 เปโตร 2:13-17 มีคำแนะนำเรื่องการยอมอยู่ใต้อำนาจพวกผู้ปกครองบ้านเมืองอย่างเหมาะสม เช่น กษัตริย์และผู้สำเร็จราชการ. อย่างไรก็ตาม นั่นต้องเป็นการยอมอยู่ใต้อำนาจแบบมีขอบเขต เป็นไปเพื่อเห็นแก่องค์พระผู้เป็นเจ้าและควบคู่ไปกับความ “เกรงกลัวพระเจ้า” ซึ่งคริสเตียนเป็นทาสของพระองค์. คนรับใช้ในบ้านได้รับการกระตุ้นเตือนให้ยอมอยู่ใต้อำนาจนายและให้อดทนถ้าต้องทนทุกข์ “เนื่องด้วยสติรู้สึกผิดชอบต่อพระเจ้า.” ภรรยาก็เช่นกันได้รับคำเตือนที่มีค่าเกี่ยวกับการยอมอยู่ใต้อำนาจสามี รวมทั้งสามีที่ไม่เชื่อ มีแสดงให้เห็นว่าการประพฤติที่บริสุทธิ์และน่านับถือของพวกเธอ “มีค่ามากในสายพระเนตรของพระเจ้า” และอาจโน้มน้าวใจสามีพวกเธอมาหาความจริงอีกด้วย. ในที่นี้เปโตรใช้ตัวอย่างการที่ซารายอมอยู่ใต้อำนาจอับราฮามอย่างซื่อสัตย์เพื่อเน้นจุดสำคัญดังกล่าว. (1 เป. 2:17-20, ล.ม.; 3:1-6, ล.ม.; เย. 18:12) ส่วนสามีก็ควรใช้ความเป็นประมุขด้วยการคำนึงถึง “ภาชนะที่อ่อนแอกว่า” อย่างเหมาะสม. ในเรื่องเดียวกันนี้ เปโตรกระตุ้นเตือนว่า “ด้วยวิธีเดียวกัน ชายทั้งหลายที่อายุอ่อนกว่า จงยอมอยู่ใต้อำนาจผู้เฒ่าผู้แก่.” และจากนั้น ท่านเน้นความจำเป็นต้องมีจิตใจอ่อนน้อม ใจถ่อม ซึ่งเป็นคุณลักษณะแบบคริสเตียนที่มีการเน้นตลอดจดหมายของท่าน.—1 เป. 3:7-9; 5:5-7, ล.ม.; 2:21-25, ล.ม.
13. (ก) เปโตรอธิบายชัดแจ้งในจดหมายของท่านอย่างไรถึงพระประสงค์ของพระเจ้าในการเรียกประชาคมคริสเตียนออกมา? (ข) เปโตรชี้ไปยังมรดกที่น่ายินดีอะไร และใครจะได้รับมรดกนั้น?
13 เมื่อการทดลองและการข่มเหงที่รุนแรงเริ่มปะทุขึ้นอีก เปโตรให้การหนุนกำลังใจที่ทำให้เข้มแข็งขึ้น และจดหมายของท่านล้ำค่าเหลือประมาณสำหรับทุกคนที่เผชิญการทดลองเช่นนั้นในทุกวันนี้. จงสังเกตวิธีที่ท่านใช้พระคัมภีร์ภาคภาษาฮีบรูเพื่อยกคำตรัสของพระยะโฮวามากล่าวที่ว่า “ท่านทั้งหลายต้องเป็นคนบริสุทธิ์เพราะเราเป็นผู้บริสุทธิ์.” (1 เป. 1:16, ล.ม.; เลวี. 11:44) แล้วก็อีกครั้งหนึ่ง ในข้อความที่มีการอ้างอิงมากมายถึงข้อพระคัมภีร์ซึ่งมีขึ้นโดยการดลใจข้ออื่น ๆ ท่านแสดงให้เห็นวิธีที่ประชาคมคริสเตียนถูกสร้างขึ้นเป็นนิเวศฝ่ายวิญญาณซึ่งประกอบด้วยหินที่มีชีวิตอยู่บนรากฐานของพระคริสต์. เพื่อจุดประสงค์อะไร? เปโตรตอบว่า “ท่านทั้งหลายเป็น ‘เชื้อสายที่ทรงเลือกไว้, เป็นคณะปุโรหิตหลวง, เป็นชาติบริสุทธิ์, เป็นไพร่พลที่เป็นสมบัติพิเศษ เพื่อท่านทั้งหลายจะประกาศเผยแพร่คุณความดีอันล้ำเลิศ’ ของพระองค์ผู้ได้ทรงเรียกท่านทั้งหลายออกจากความมืดเข้าสู่ความสว่างอันมหัศจรรย์ของพระองค์.” (1 เป. 2:4-10, ล.ม.; ยซา. 28:16; เพลง. 118:22; ยซา. 8:14; เอ็ก. 19:5, 6; ยซา. 43:21; โฮ. 1:10; 2:23) “คณะปุโรหิตหลวง” นี่เอง คือคณะปุโรหิตที่ประกอบเป็นชาติที่บริสุทธิ์ครบถ้วนของพระเจ้า ที่เปโตรเสนอคำสัญญาเรื่องราชอาณาจักรอันเกี่ยวกับ “มรดกซึ่งไม่รู้เปื่อยเน่า ปราศจากมลทินและไม่เสื่อมค่า,” “มงกุฎแห่งสง่าราศีที่ร่วงโรยไม่ได้,” “สง่าราศีนิรันดร์ . . . ร่วมสามัคคีกับพระคริสต์.” ดังนั้น คนเหล่านี้จึงได้รับการหนุนใจอย่างใหญ่หลวงให้ชื่นชมยินดีต่อ ๆ ไปเพื่อพวกเขาจะ “ยินดีและชื่นชมเหลือล้นด้วยระหว่างการปรากฏแห่งสง่าราศีของพระองค์.”—1 เป. 1:4, ล.ม.; 5:4, 10, ล.ม.; 4:13, ล.ม.
[เชิงอรรถ]
a สารานุกรม ของแมกคลินทอกและสตรอง (ภาษาอังกฤษ) พิมพ์ใหม่ 1981 เล่ม 8 หน้า 15.
b พจนานุกรมคัมภีร์ไบเบิลฉบับใหม่ (ภาษาอังกฤษ) ฉบับพิมพ์ครั้งที่สอง 1986 เรียบเรียงโดย เจ. ดี. ดักลาส หน้า 918.
c เยรูซาเลม 1971 เล่ม 15 คอลัมน์ 755.