ใครถูกเรียกให้เป็นฝ่ายสวรรค์?
พระยะโฮวาทรงรักเผ่าพันธุ์มนุษย์. ความรักของพระองค์แสนประเสริฐ กระทั่งทรงโปรดให้พระเยซูคริสต์ พระบุตรของพระองค์ มาเป็นค่าไถ่ซื้อคืนสิ่งที่อาดามบรรพชนของเราได้สูญเสียไป! และอะไรล่ะที่สูญเสียไป? ชีวิตมนุษย์สมบูรณ์ซึ่งจะยืนยงอยู่ชั่วนิรันดร์พร้อมด้วยสิทธิและโอกาสต่าง ๆ ในวันข้างหน้า. (โยฮัน 3:16) อนึ่ง ค่าไถ่ก็เป็นการแสดงความรักของพระเยซูต่อมนุษย์เช่นเดียวกัน.—มัดธาย 20:28.
ความรักของพระเจ้าปรากฏให้เห็นเมื่อทรงเปิดโอกาสให้มีความหวังสองประการซึ่งพระเจ้าประทานแก่มนุษย์ โดยอาศัยบารมีคุณแห่งเครื่องบูชาไถ่ของพระเยซู. (1 โยฮัน 2:1, 2) ก่อนการสิ้นพระชนม์ของพระเยซูขณะเป็นมนุษย์ ความหวังอย่างเดียวเปิดให้แก่คนเหล่านั้นที่พระเจ้าโปรดปราน นั้นคือความหวังที่จะมีชีวิตในอุทยานบนแผ่นดินโลก. (ลูกา 23:43) อย่างไรก็ดี หลังจากเทศกาลเพ็นเตคอสเต ปีสากลศักราช 33 พระยะโฮวาได้ทรงประทานความหวังฝ่ายสวรรค์แก่ “แกะฝูงน้อย.” (ลูกา 12:32) ทว่ามีอะไรเกิดขึ้นเมื่อไม่นานมานี้? ตั้งแต่ปี 1931 การแพร่ข่าวราชอาณาจักรได้มุ่งไปที่ “แกะอื่น” แล้วนับจากปี 1935 เรื่อยมา โดยพระคริสต์ พระเจ้าได้ทรงชักนำ “ชนฝูงใหญ่” ที่เป็นเยี่ยงแกะให้มาหาพระองค์. (โยฮัน 10:16; วิวรณ์ 7:9) พระเจ้าทรงยังหัวใจของเขาให้รับรองเอาความหวังเกี่ยวกับชีวิตนิรันดร์ในอุทยานบนแผ่นดินโลก. คนเหล่านี้ปรารถนาจะลิ้มรสอาหารที่เพียบด้วยคุณค่า อยากดูแลสรรพสัตว์ด้วยความรัก และมีการสมาคมคบหากับเพื่อนมนุษย์ผู้ชอบธรรมตลอดไป.
บรรดามหาปุโรหิตและกษัตริย์ที่มีความเมตตาสงสาร
เนื่องจากความรักได้กระตุ้นพระเยซูให้สละชีวิตของพระองค์เป็นค่าไถ่ แน่นอน พระองค์ย่อมเป็นมหากษัตริย์ฝ่ายสวรรค์ที่มีพระทัยเมตตาสงสาร. แต่ไม่ใช่พระเยซูเพียงพระองค์เดียวจะยกฐานะมนุษย์เพื่อบรรลุความสมบูรณ์เต็มที่ในรัชสมัยการปกครองหนึ่งพันปีของพระองค์. พระยะโฮวาทรงเตรียมการเพื่อว่าจะมีกษัตริย์องค์อื่น ๆ ร่วมปกครองซึ่งมีความเมตตาสงสารในสวรรค์. ใช่แล้ว “เขาจะเป็นปุโรหิตของพระเจ้าและของพระคริสต์ และจะครอบครองเป็นกษัตริย์ร่วมกับพระองค์ตลอดพันปี.”—วิวรณ์ 20:1-6 ล.ม.
พระคริสต์จะมีกษัตริย์ร่วมปกครองกี่องค์ และบุคคลเหล่านี้ได้รับการเลือกสรรอย่างไรเพื่อมีสิทธิพิเศษอันน่าเกรงขามเช่นนั้น? อัครสาวกโยฮันได้เห็นชนจำนวน 144,000 คนอยู่บนภูเขาซีโอนทางภาคสวรรค์กับพระเมษโปดกคือพระเยซูคริสต์. ด้วยการ “ถูกไถ่ออกจากท่ามกลางมนุษย์” พวกเขาย่อมทราบว่าการเหล่านี้หมายถึงอะไรเมื่อคนเราประสบการทดลอง ทนแบกภาระหนักอันสืบเนื่องจากความไม่สมบูรณ์ รับความทุกข์ทรมานและตายฐานะเป็นมนุษย์. (วิวรณ์ 14:1-5; โยบ 14:1) ดังนั้น บุคคลเหล่านี้จะเป็นกษัตริย์และปุโรหิตที่มีใจเมตตาสงสารสักปานใด!
พยานหลักฐานของพระวิญญาณ
ชนจำพวก 144,000 “ได้รับการเจิมจากพระองค์ผู้บริสุทธิ์” คือพระยะโฮวา. (1 โยฮัน 2:20, ฉบับแปลใหม่) เป็นการเจิมเพื่อให้มีความหวังฝ่ายสวรรค์. พระเจ้าทรง ‘ประทับตราเขาไว้และประทานพระวิญญาณไว้ในหัวใจของเขาเป็นมัดจำ.’—2 โกรินโธ 1:21, 22.
ใช่แล้ว คนเหล่านั้นที่รับการทรงเรียกฝ่ายสวรรค์มีพยานหลักฐานจากพระวิญญาณของพระเจ้าสำหรับการนั้น. เปาโลเขียนไว้ที่พระธรรมโรม 8:5-17, (ล.ม.) ว่า “เพราะท่านทั้งหลายมิได้รับวิญญาณแห่งการเป็นทาสซึ่งทำให้เกิดความกลัวอีก แต่ท่านทั้งหลายได้รับวิญญาณแห่งการรับเป็นบุตร ซึ่งโดยวิญญาณนั้น เราร้องว่า ‘อับบา พระบิดา!’ พระวิญญาณเองเป็นพยานร่วมกับวิญญาณของเราว่าเราเป็นบุตรของพระเจ้า. ดังนั้น ถ้าเราเป็นบุตรแล้ว เราก็เป็นทายาทด้วย แน่นอน ทายาทของพระเจ้า แต่เป็นทายามร่วมกับพระคริสต์ หากว่าเราทนทุกข์ด้วยกัน เราก็จะได้สง่าราศีด้วยกัน.” โดยพระวิญญาณหรือพลังปฏิบัติการของพระเจ้านี้เองพวกผู้ถูกเจิมจึงร้องเรียก “อับบา พระบิดา!”
พยานหลักฐานสำคัญที่ว่าบุคคลนั้น ๆ รับการเจิมเพื่อการทรงเรียกให้เป็นฝ่ายสวรรค์ได้แก่วิญญาณหรือความรู้สึกที่เห็นได้ชัดอันแสดงถึงสภาพเป็นบุตร. (ฆะลาเตีย 4:6, 7) บุคคลดังกล่าวแน่ใจจริง ๆ ว่าตนได้รับการกำเนิดจากพระเจ้าให้เป็นบุตรฝ่ายวิญญาณ เป็นหนึ่งในบรรดาทายาทร่วมจำนวน 144,000 แห่งราชอาณาจักรฝ่ายสวรรค์. เขาสามารถให้การได้ว่าความหวังของตนอันเป็นฝ่ายสวรรค์นั้นหาใช่ความปรารถนาของตนเองหรือเป็นจินตนาการของตัวเอง แทนที่จะเป็นอย่างนั้นความหวังของเขาเป็นมาแต่พระยะโฮวาอันเป็นผลจากการกระทำแห่งพระวิญญาณของพระเจ้าต่อเขา.—1 เปโตร 1:3, 4.
ภายใต้อิทธิพลแห่งพระวิญญาณบริสุทธิ์ของพระเจ้า วิญญาณ หรือทัศนะที่เด่นชัด ของพวกผู้ถูกเจิมนั้นดำเนินงานเป็นพลังกระตุ้น. ทัศนะดังกล่าวกระตุ้นเขาให้ตอบรับด้วยความแน่ใจต่อสิ่งที่กล่าวในพระวจนะของพระเจ้าเกี่ยวด้วยความหวังฝ่ายสวรรค์. อนึ่ง บุคคลเหล่านี้ตอบรับด้วยท่าทีมั่นใจต่อการดำเนินงานของพระยะโฮวาต่อพวกเขาโดยทางพระวิญญาณบริสุทธิ์. ดังนั้น เขาแน่ใจว่าเขาเป็นบุตรฝ่ายวิญญาณของพระเจ้าและเป็นผู้รับมรดก.
เมื่อผู้ถูกเจิมเหล่านี้อ่านพระวจนะของพระเจ้าที่พูดเรื่องบุตรฝ่ายวิญญาณและความหวังฝ่ายสวรรค์ ความโน้มเอียงของเขาในทันทีนั้นก็จะบอกกับตัวเองว่า ‘เรื่องนี้หมายถึงฉันเอง!’ ใช่แล้ว เขาตอบรับด้วยใจปีติยินดีเมื่อพระวจนะของพระบิดาสัญญาบำเหน็จฝ่ายสวรรค์. เขาพูดว่า ‘เรื่องนั้นหมายถึงตัวฉันเอง!’ เมื่อเขาอ่านว่า “ดูก่อนพวกที่รัก บัดนี้เราทั้งหลายเป็นบุตรของพระเจ้า.” (1 โยฮัน 3:2) และเมื่อผู้ถูกเจิมอ่านว่าพระเจ้าทรงให้กำเนิดผู้คนเพื่อ “จะได้เป็นอย่างผลแรกแห่งสรรพสิ่งที่พระองค์ทรงสร้างนั้น” ความโน้มเอียงทางใจของเขาจะตอบรับทำนองนี้ ‘ใช่แล้ว พระองค์ให้กำเนิดแก่ฉันเพื่อจุดมุ่งหมายนี้.’ (ยาโกโบ 1:18) พวกเขารู้ว่าเขาได้รับ “บัพติสมาเข้าส่วนในพระเยซูคริสต์” และเข้าส่วนในความตายของพระองค์. (โรม 6:3) ดังนั้น เขาจึงมีความมั่นใจว่าเขาเป็นส่วนแห่งพระกายของพระคริสต์ด้านวิญญาณ และคาดหมายจะเผชิญความตายเหมือนพระองค์และจะถูกปลุกขึ้นเพื่อรับชีวิตฝ่ายสวรรค์.
ที่จะได้อยู่ในราชอาณาจักรฝ่ายสวรรค์ ผู้ถูกเจิมต้อง ‘กระทำสุดกำลังเพื่อให้การทรงเรียกและการเลือกสรรนั้นเป็นสิ่งที่แน่นอน.’ (2 เปโตร 1:5-11) พวกเขาดำเนินชีวิตด้วยความเชื่อและเจริญขึ้นเรื่อย ๆ ฝ่ายวิญญาณ เช่นเดียวกันกับพวกที่มีความหวังทางแผ่นดินโลก. ดังนั้น มีอะไรอีกจะเป็นพยานของพระวิญญาณ?
เหตุผลที่เขารับประทานขนมปังและดื่มเหล้าองุ่น
คริสเตียนผู้ถูกเจิมไม่ใช่ว่าอยากไปสวรรค์เนื่องจากไม่พอใจวิถีชีวิตในโลกปัจจุบัน. (เทียบกับยูดา 3, 4, 16.) แทนที่จะเป็นเช่นนั้น พระวิญญาณบริสุทธิ์เป็นพยานร่วมกับจิตใจของเขาว่าเขาเป็นบุตรของพระเจ้า. นอกจากนั้น เขาแน่ใจว่าเขาถูกรับเข้าอยู่ในคำสัญญาไมตรีใหม่. ผู้ร่วมในคำสัญญาไมตรีนี้คือพระเจ้ายะโฮวาและยิศราเอลฝ่ายวิญญาณ. (ยิระมะยา 31:31-34; ฆะลาเตีย 6:15, 16; เฮ็บราย 12:22-24) คำสัญญาไมตรีนี้ซึ่งดำเนินการได้โดยที่พระเยซูทรงสละพระโลหิตของพระองค์ ได้เลือกประชาชนสำหรับพระนามของพระยะโฮวา และทำให้คริสเตียนผู้ถูกเจิมเหล่านี้เข้ามาเป็น “พงศ์พันธุ์” ของอับราฮาม. (ฆะลาเตีย 3:26-29; กิจการ 15:14) คำสัญญาไมตรีใหม่ยังคงจะบังคับใช้ต่อไปจนกว่ายิศราเอลฝ่ายวิญญาณทุกคนได้รับการปลุกขึ้นจากตายสู่ชีวิตอมตะในสวรรค์.
ยิ่งกว่านั้น คนเหล่านั้นซึ่งถูกเรียกให้เป็นฝ่ายสวรรค์จึงไม่สงสัยที่ตนได้เข้ามาอยู่ใต้คำสัญญาไมตรีสำหรับราชอาณาจักรฝ่ายสวรรค์เช่นกัน. พระเยซูทรงอ้างถึงคำสัญญาไมตรีนี้ระหว่างพระองค์เองกับเหล่าสาวกเมื่อตรัสว่า “ท่านทั้งหลายเป็นผู้ที่ได้แนบสนิทอยู่กับเราขณะเราถูกทดลอง และเราทำคำสัญญาไมตรีกับท่านทั้งหลาย เช่นเดียวกับพระบิดาของเราได้ทำคำสัญญาไมตรีกับเราในเรื่องราชอาณาจักร เพื่อว่าท่านจะกินและดื่มที่โต๊ะของเราในราชอาณาจักร และนั่งบัลลังก์พิพากษายิศราเอลสิบสองตระกูล.” (ลูกา 22:28-30, ล.ม.) คำสัญญาไมตรีนี้เริ่มนำมาใช้กับสาวกของพระเยซูเมื่อพวกเขาได้รับการเจิมด้วยพระวิญญาณบริสุทธิ์ ณ วันเพ็นเตคอสเต ปีสากลศักราช 33. คำสัญญานี้ยังคงมีผลบังคับชั่วกาลนานระหว่างพระคริสต์กับบรรดากษัตริย์ที่ร่วมสมทบกับพระองค์.—วิวรณ์ 22:5.
ผู้ที่ได้รับการทรงเรียกฝ่ายสวรรค์มั่นใจว่า ตนเข้ามาอยู่ภายใต้คำสัญญาไมตรีใหม่และคำสัญญาไมตรีสำหรับราชอาณาจักร. เหตุฉะนั้น จึงเหมาะสมที่พวกเขาจะรับประทานขนมปังและเหล้าองุ่นอันเป็นสัญลักษณ์ ณ การฉลองอาหารมื้อเย็นขององค์พระผู้เป็นเจ้าหรือการระลึกถึงการวายพระชนม์ของพระเยซูคริสต์ซึ่งทำทุกปี. ขนมปังไม่มีเชื้อหมายถึงร่างกายมนุษย์ของพระเยซูที่ปราศจากบาป และเหล้าองุ่นเล็งถึงพระโลหิตที่สมบูรณ์พร้อมของพระองค์ซึ่งหลั่งออกตอนสิ้นพระชนม์และได้ทำให้คำสัญญาไมตรีมีผลบังคับใช้.—1 โกรินโธ 11:23-26.
ถ้าพระยะโฮวาทรงปลูกฝังความหวังในเรื่องชีวิตฝ่ายสวรรค์ภายในตัวคุณอย่างไม่อาจปฏิเสธได้ คุณย่อมรอด้วยความมั่นใจ. คุณเสนอคำอธิษฐานด้วยการกล่าวถึงความหวังนั้น. คุณจะหมกมุ่นอยู่กับความหวังดังกล่าวและคุณไม่อาจขจัดความหวังนั้นให้พ้นความคิดจิตใจของคุณได้. คุณหมกมุ่นกับความปรารถนาฝ่ายวิญญาณ. แต่ถ้าคุณยังสองจิตสองใจและไม่แน่ใจ คุณก็ไม่ควรรับประทานเครื่องหมายที่ใช้แทน ณ อาหารมื้อเย็นของพระผู้เป็นเจ้า.
ทำไมมีการสันนิษฐานผิด?
บางคนอาจรับเครื่องหมายวันอนุสรณ์อย่างไม่สมควร เพราะเขาไม่ยอมรับว่าการเจิมนั้น “จะเป็นตามใจปรารถนาหรือตามใจผู้วิ่งไปนั้นก็หามิได้ แต่เป็นตามพระทัยพระเจ้า.” (โรม 9:16) มิใช่ใคร ๆ ตัดสินใจเอาเองว่าตนอยากให้พระเจ้ารับไว้ภายใต้คำสัญญาไมตรีใหม่ และเข้ามาเป็นทายาทร่วมกับพระคริสต์ในราชอาณาจักรฝ่ายสวรรค์. สิทธิในการเลือกอยู่ที่พระยะโฮวา. ในชาติยิศราเอลโบราณ พระเจ้าได้ทรงเลือกผู้ปฏิบัติหน้าที่ปุโรหิตสำหรับพระองค์ และพระองค์ทรงสำเร็จโทษโคราเพราะความโอหังของเขาที่พยายามจะแย่งตำแหน่งปุโรหิตซึ่งพระเจ้าทรงกำหนดไว้เฉพาะครอบครัวของอาโรน. (เอ็กโซโด 28:1; อาฤธโม 16:4-11, 31–35; 2 โครนิกา 26:18; เฮ็บราย 5:4, 5) ในทำนองเดียวกัน พระยะโฮวาย่อมไม่พอพระทัยถ้าบางคนแสดงตัวว่าเป็นหนึ่งในกลุ่มที่ถูกเรียกให้ปกครองเป็นกษัตริย์และปุโรหิตในเมื่อพระเจ้ามิได้ทรงเรียกเขา.—เปรียบเทียบ 1 ติโมเธียว 5:24, 25.
บางคนอาจจะหลงเข้าใจไปว่าตนได้รับการทรงเรียกฝ่ายสวรรค์เพราะเกิดความรู้สึกอย่างรุนแรงสืบเนื่องจากปัญหาหนัก ๆ รุมเร้า. การเสียชีวิตของคู่สมรส หรือความทุกข์ร้อนบางอย่างอาจเป็นเหตุให้เขาหมดความสนใจต่อชีวิตในโลกนี้. หรือเพื่อนสนิทของเขาอาจแสดงตัวเป็นผู้ถูกเจิม และเขาปรารถนาจุดหมายปลายทางอย่างเดียวกัน. ปัจจัยต่าง ๆ ดังกล่าวอาจส่งเสริมให้เขาเกิดความคิดว่าชีวิตในสวรรค์เหมาะกับเขา. แต่นี้หาใช่วิธีที่พระเจ้าประทานวิญญาณแห่งการเป็นบุตรแก่ใคร ๆ. หากคนใดประสงค์จะไปสวรรค์เพราะสภาพการณ์ที่ไม่พึงปรารถนาหรือความเดือดร้อนทางใจอันเกี่ยวข้องกับชีวิตบนแผ่นดินโลกเช่นนั้นก็แสดงว่าผู้นั้นขาดความกตัญญูต่อพระประสงค์ของพระเจ้าสำหรับแผ่นดินโลก.
แง่คิดต่าง ๆ ด้านศาสนาซึ่งเคยมีมาก่อนอาจทำให้บางคนรวบรัดอย่างผิด ๆ ว่าตัวเองได้รับการทรงเรียกฝ่ายสวรรค์. อาจเป็นได้ว่า ครั้งหนึ่งเขาเคยร่วมในศาสนาเท็จซึ่งสอนเรื่องความหวังอย่างเดียวสำหรับคนซื่อสัตย์นั้นคือชีวิตฝ่ายสวรรค์. ด้วยเหตุนี้ คริสเตียนพึงระวังตัวอย่ายอมให้อารมณ์หรือทัศะผิด ๆ ในอดีตชักพาให้เขวไป.
การตรวจสอบถี่ถ้วนเป็นสิ่งจำเป็น
อัครสาวกเปาโลได้เน้นจุดสำคัญจริง ๆ เมื่อท่านเขียนดังนี้ “ถ้าคนหนึ่งคนใดมากินขนมปังนี้และดื่มจากจอกของพระผู้เป็นเจ้าตามอย่างไม่สมควร คนนั้นก็ผิดต่อพระกายและต่อพระโลหิตขององค์พระผู้เป็นเจ้า. จงให้ทุกคนพินิจดูใจของตนเสียก่อน แล้วจึงกินขนมปังนี้ และดื่มจากจอกนี้. ด้วยว่าคนที่กินและดื่มตามอย่างไม่สมควร ก็กินและดื่มให้เป็นที่ปรับโทษแก่ตนเองเพราะมิได้สังเกตพระกายขององค์พระผู้เป็นเจ้า.” (1 โกรินโธ 11:27-29) ฉะนั้น คริสเตียนที่รับบัพติสมาแล้วซึ่งเริ่มคิดตอนหลัง ๆ นี้ว่าตนได้รับการทรงเรียกฝ่ายสวรรค์จึงควรพิจารณาเรื่องนี้อย่างรอบคอบและพร้อมด้วยการอธิษฐาน.
บุคคลดังกล่าวอาจถามตัวเองด้วยว่า ‘คนอื่นชักจูงฉันให้รับเอาความคิดเกี่ยวด้วยชีวิตฝ่ายสวรรค์หรือเปล่า?’ ถ้าเช่นนั้นก็ไม่สมควร เพราะพระเจ้าไม่ได้มอบหมายผู้ใดให้กะเกณฑ์ผู้อื่นรับเอาสิทธิพิเศษนั้น. ความโอนเอียงในทางเพ้อฝันย่อมไม่ใช่ข้อบ่งชี้ว่าได้รับการเจิมโดยพระเจ้าและพระองค์ก็ไม่เคยเจิมทายาทราชอาณาจักรโดยบันดาลให้เขาได้ยินเสียงบอกข่าวการเจิมนั้นเลย.
บางคนอาจถามตัวเองดังนี้: ‘ก่อนเข้ามาเป็นคริสเตียน ฉันเคยใช้ยาเสพย์ติดให้โทษไหม? เวลานี้ฉันยังใช้ยาซึ่งออกฤทธิ์กระทบทางจิตไหม? ฉันเคยรับการรักษาทางจิตประสาทหรือมีปัญหาด้านจิตใจไหม?’ บางคนบอกว่าทีแรกก็ข่มห้ามความคิดที่เคยมุ่งอยู่กับความหวังฝ่ายสวรรค์. บ้างก็บอกว่ามีอยู่ระยะหนึ่งพระเจ้าได้ทรงยับยั้งไม่ให้เขาตั้งความหวังว่าจะอยู่บนแผ่นดิน แล้วในที่สุดพระองค์ก็ประทานความหวังฝ่ายสวรรค์แก่เขา. แต่วิธีการดังกล่าวขัดกันกับวิธีดำเนินงานของพระเจ้า. ยิ่งกว่านั้น ความเชื่อไม่ใช่สิ่งเลื่อนลอย แต่เป็นความแน่ใจ.—เฮ็บราย 11:6.
บางคนอาจถามตัวเองว่า ‘ฉันอยากเด่นดังไหม? ฉันทะเยอทะยานอยากอยู่ในตำแหน่งมีอำนาจปกครองเวลานี้ หรือเป็นหนึ่งในบรรดากษัตริย์และปุโรหิตเหล่านั้นที่ได้สมทบกับพระคริสต์?’ ในศตวรรษแรกสากลศักราช เมื่อประกาศคำเชิญโดยทั่วไปให้แสวงหาทางเข้าสู่ราชอาณาจักรฝ่ายสวรรค์ ก็ใช่ว่าคริสเตียนผู้ถูกเจิมทุกคนมีหน้าที่รับผิดชอบฐานะคณะกรรมการปกครองหรือเป็นผู้ปกครองหรือผู้รับใช้ที่รับการแต่งตั้ง. หลายคนเป็นสตรีและไม่มีอำนาจพิเศษแต่อย่างใด หรือการเจิมด้วยพระวิญญาณก็ใช่ว่าจะทำให้เขาเข้าใจพระวจนะของพระเจ้าเป็นพิเศษ เพราะเปาโลเองแลเห็นความจำเป็นที่จะแนะนำตักเตือนผู้ถูกเจิมบางคนเหมือนกัน. (1 โกรินโธ 3:1-3; เฮ็บราย 5:11-14) บรรดาผู้รับการทรงเรียกฝ่ายสวรรค์ไม่ได้ถือว่าตัวเองเป็นคนเด่นดัง. อีกทั้งไม่ได้เรียกร้องความสนใจเพราะเหตุที่เขาเป็นผู้ถูกเจิม. ตรงกันข้าม เขาสำแดงความถ่อมใจอย่างที่พึงคาดหมายได้จากผู้ที่มี “น้ำใจเยี่ยงพระคริสต์.” (1 โกรินโธ 2:16) อนึ่ง ชนเหล่านี้ตระหนักดีว่าคริสเตียนทุกคนจะต้องบรรลุข้อเรียกร้องที่ชอบธรรมของพระเจ้าไม่ว่าความหวังของเขาเป็นฝ่ายสวรรค์หรือฝ่ายแผ่นดินโลก.
การอ้างว่าได้รับการทรงเรียกฝ่ายสวรรค์ ก็ใช่ว่าพระเจ้าจะทรงดลบันดาลให้ผู้นั้นรู้อะไรเป็นพิเศษ. พระเจ้าทรงมีร่องทางการสื่อสาร ซึ่งพระองค์ทรงจัดเตรียมส่งอาหารฝ่ายวิญญาณให้แก่องค์การของพระองค์บนแผ่นดินโลก. (มัดธาย 24:45-47) ฉะนั้น ไม่ควรที่ใคร ๆ จะคิดว่าการเป็นคริสเตียนผู้ถูกเจิมทำให้เขามีสติปัญญาเลิศกว่าชนฝูงใหญ่ผู้ซึ่งมีความหวังฝ่ายแผ่นดินโลก. (วิวรณ์ 7:9) การเจิมด้วยพระวิญญาณบริสุทธิ์หาใช่เป็นข้อบ่งชี้โดยถือเอาความชำนาญในการให้คำพยาน การตอบคำถามเกี่ยวด้วยข้อคัมภีร์ต่าง ๆ หรือการบรรยายที่ยึดหลักพระคัมภีร์เช่นนั้นไม่ เพราะคริสเตียนผู้ซึ่งมีความหวังฝ่ายแผ่นดินโลกก็ได้ทำด้านต่าง ๆ เหล่านี้เป็นอย่างดีเหมือนกัน. พวกเขาก็คล้าย ๆ กันกับชนผู้ถูกเจิมคือดำเนินชีวิตตามวิถีคริสเตียน. ด้วยเหตุผลนี้แหละซิมโซนและคนอื่น ๆ ก่อนสมัยคริสเตียนเคยได้รับพระวิญญาณของพระเจ้าจึงเปี่ยมด้วยความกระตือรือร้นพร้อมด้วยความเข้าใจ. กระนั้น ไม่มีแม้แต่คนเดียวใน “พยานหมู่ใหญ่” มีความหวังฝ่ายสวรรค์.—เฮ็บราย 11:32-38; 12:1; เอ็กโซโด 35:30, 31; ผู้วินิจฉัย 14:6, 19; 15:14; 1 ซามูเอล 16:13; ยะเอศเคล 2:2.
รำลึกถึงพระองค์ผู้ทรงเลือกสรร
ถ้าเพื่อนร่วมความเชื่อซักถามเรื่องการทรงเรียกฝ่ายสวรรค์ ผู้ปกครองที่ได้รับการแต่งตั้งหรือคริสเตียนอาวุโสคนอื่นจะพิจารณาเรื่องนี้กับเขา. แต่คนหนึ่งไม่สามารถตัดสินใจแทนอีกคนหนึ่งได้ และพระยะโฮวาต่างหากที่ได้ทรงปลูกฝังความหวังฝ่ายสวรรค์. ใครก็ตามซึ่งได้ทรงเรียกไว้สำหรับฝ่ายสวรรค์จริง ๆ ไม่จำเป็นต้องถามเพื่อนคริสเตียนว่าตนมีความหวังดังกล่าวหรือไม่. ผู้ถูกเจิม “ได้รับการบังเกิดใหม่ ไม่ใช่จากเมล็ดพืชที่เปื่อยเน่าได้ แต่จากเมล็ดพืชที่เปื่อยเน่าไม่ได้โดยทางพระคำของพระเจ้าผู้ทรงพระชนม์อยู่ และทรงดำรงอยู่เป็นนิตย์.” (1 เปโตร 1:23, ล.ม.) โดยพระวิญญาณและพระวจนะของพระองค์ พระเจ้าทรงเพาะ “เมล็ดพืช” ซึ่งทำให้บุคคลผู้นั้นเป็น “คนถูกสร้างใหม่” พร้อมกับมีความหวังฝ่ายสวรรค์. (2 โกรินโธ 5:17) จริงทีเดียว พระยะโฮวาเป็นฝ่ายที่เลือกสรร.
ดังนั้น เมื่อศึกษาพระคัมภีร์กับคนใหม่ ไม่สมควรที่จะพูดเป็นเชิงแนะให้เขาตัดสินใจว่าเขาได้รับการทรงเรียกฝ่ายสวรรค์หรือไม่. แต่สมมุติว่าคริสเตียนผู้ถูกเจิมไม่พิสูจน์ตัวซื่อสัตย์และจำเป็นต้องมีคนแทนล่ะ? เมื่อเป็นเช่นนั้นก็คงมีเหตุผลเชื่อได้ที่จะสรุปว่าพระเจ้าจะเรียกบางคนให้เป็นฝ่ายสวรรค์ซึ่งผู้นั้นเป็นตัวอย่างที่ดีในงานรับใช้พระบิดาทางภาคสวรรค์อย่างซื่อสัตย์มานานหลายปีแล้ว.
ทุกวันนี้ สาระสำคัญแห่งข่าวสารของพระเจ้าไม่ใช่เพื่อผู้คนจะเข้ามาเป็นสมาชิกจำพวกเจ้าสาวของพระคริสต์. แทนที่จะเป็นอย่างนั้น “พระวิญญาณและเจ้าสาวกล่าวอยู่ตลอดเวลาว่า ‘เชิญมาเถิด!’” นี้ คือคำเชิญให้มารับชีวิตในอุทยานทางแผ่นดินโลก. (วิวรณ์ 22:1, 2, 17, ล.ม.) ขณะที่ชนจำพวกผู้ถูกเจิมนำหน้าในกิจกรรมด้านนี้ พวกเขาสำแดงตน “ด้วยใจถ่อม” และอุตส่าห์กระทำ ‘การที่พระเจ้าทรงเรียกและเลือกเขาไว้นั้นให้ถึงที่สำเร็จแน่นอน.’—เอเฟโซ 4:1-3; 2 เปโตร 1:5-11.