พยานคริสเตียนให้การสนับสนุนพระบรมเดชานุภาพของพระเจ้า
“‘ท่านทั้งหลายจะประกาศเผยแพร่พระบารมีคุณ’ ของพระองค์ผู้ได้ทรงเรียกท่านทั้งหลายให้ออกจากความมืดเข้าสู่ความสว่างอันมหัศจรรย์ของพระองค์.”—1 เปโตร 2:9, ล.ม.
1. มีการให้คำพยานอย่างมีประสิทธิผลเช่นไรเกี่ยวกับพระยะโฮวาก่อนยุคคริสเตียน?
ก่อนยุคคริสเตียนมีรายชื่อเหล่าพยานมากมายได้ให้การเป็นพยานด้วยความกล้าว่าพระยะโฮวาเป็นพระเจ้าแท้องค์เดียว. (เฮ็บราย 11:4–12:1) ด้วยความเชื่ออันแน่วแน่ พวกเขาปฏิบัติตามกฎหมายของพระยะโฮวาอย่างไม่สะทกสะท้าน และไม่ยอมอะลุ้มอล่วยในเรื่องการนมัสการ. พวกเขาให้คำพยานอันทรงพลังถึงสากลบรมเดชานุภาพของพระยะโฮวา.—บทเพลงสรรเสริญ 18:21-23; 47:1, 2.
2. (ก) ใครคือพยานยิ่งใหญ่ของพระยะโฮวา? (ข) ใครเข้ามาแทนที่ชาติยิศราเอลฐานะเป็นพยานของพระยะโฮวา? เราทราบอย่างไร?
2 พยานคนสุดท้ายและสำคัญที่สุดก่อนยุคคริสเตียนได้แก่โยฮันบัพติสโต. (มัดธาย 11:11) ท่านได้รับสิทธิพิเศษให้ประกาศการเสด็จมาของผู้นั้นที่ถูกเลือกสรร และท่านได้แนะนำพระเยซูฐานะองค์มาซีฮาตามคำสัญญา. (โยฮัน 1:29-34) พระเยซูทรงเป็นพยานองค์ยิ่งใหญ่ของพระยะโฮวา “เป็น พยานที่ซื่อสัตย์และสัตย์จริง.” (วิวรณ์ 3:14, ล.ม.) เนื่องจากชาวยิศราเอลโดยกำเนิดปฏิเสธพระเยซู พระยะโฮวาจึงทรงปฏิเสธเขาและได้ตั้งชาติใหม่ขึ้น คือยิศราเอลฝ่ายวิญญาณของพระเจ้า ให้เป็นพยานของพระองค์. (ยะซายา 42:8-12; โยฮัน 1:11, 12; ฆะลาเตีย 6:16) เปโตรยกคำพยากรณ์เกี่ยวกับชาติยิศราเอล และชี้ให้เห็นว่าข้อนี้ใช้กับ “ยิศราเอลของพระเจ้า” ซึ่งเป็นประชาคมคริสเตียน เมื่อท่านพูดว่า “ท่านทั้งหลายเป็น ‘เชื้อสายที่ทรงเลือกไว้ เป็นคณะปุโรหิตหลวง เป็นชาติบริสุทธิ์ เป็นไพร่พลที่เป็นสมบัติพิเศษ เพื่อท่านทั้งหลายจะประกาศเผยแพร่พระบารมีคุณ’ ของพระองค์ผู้ได้ทรงเรียกท่านทั้งหลายให้ออกจากความมืดเข้าสู่ความสว่างอันมหัศจรรย์ของพระองค์.”—1 เปโตร 2:9, ล.ม.; เอ็กโซโด 19:5, 6; ยะซายา 43:21; 60:2.
3. หน้าที่รับผิดชอบสำคัญของยิศราเอลของพระเจ้า และของ “ชนฝูงใหญ่” คืออะไร?
3 ถ้อยแถลงของเปโตรแสดงว่าหน้าที่รับผิดชอบสำคัญของยิศราเอลของพระเจ้าคือการให้คำพยานอย่างเปิดเผยเกี่ยวด้วยพระเกียรติของพระยะโฮวา. ในสมัยของเรา ชาติฝ่ายวิญญาณนี้ได้มี “ชนฝูงใหญ่” แห่งเหล่าพยานซึ่งกล่าวยกย่องสรรเสริญพระเจ้าอย่างเปิดเผยเช่นกันเข้ามาสมทบด้วย. พวกเขาร้องเสียงดังเพื่อได้ยินกันทั่วว่า “ความรอดนั้นเราได้เนื่องมาจากพระเจ้าของเราผู้ประทับบนราชบัลลังก์ และเนื่องมาจากพระเมษโปดก.” (วิวรณ์ 7:9, 10, ล.ม.; ยะซายา 60:8-10) ยิศราเอลของพระเจ้าและสหายของเขาจะทำงานให้คำพยานลุล่วงไปได้อย่างไร? พวกเขาจำต้องมีความเชื่อและการเชื่อฟัง.
เหล่าพยานปลอม
4. เหตุใดชาวยิวสมัยพระเยซูจึงเป็นพยานปลอม?
4 ความเชื่อและการเชื่อฟังเกี่ยวข้องกับการดำรงชีวิตตามหลักการของพระเจ้า. ความสำคัญของเรื่องนี้เห็นได้จากสิ่งที่พระเยซูตรัสถึงผู้นำทางศาสนาชาวยิวสมัยนั้น. คนเหล่านี้ “นั่งบนที่นั่งของโมเซ” ฐานะครูสอนพระบัญญัติ. พวกเขาได้ส่งมิชชันนารีออกไปชักนำคนไม่เชื่อพระเจ้าให้เลื่อมใสในศาสนาเสียด้วยซ้ำ. กระนั้น พระเยซูตรัสแก่เขาดังนี้: “ด้วยพวกเจ้าเที่ยวไปตามทางทะเลและทางบกทั่วไปเพื่อจะได้แม้แต่คนเดียวเข้าจารีต เมื่อได้แล้วก็ทำให้เขาเป็นลูกแห่งนรกยิ่งกว่าเจ้าเองถึงสองเท่า.” นักศาสนาพวกนี้เป็นพยานปลอม—โอ้อวด, หน้าซื่อใจคด และไม่มีความรัก. (มัดธาย 23:1-12, 15) ณ โอกาสหนึ่ง พระเยซูได้ตรัสแก่ชาวยิวบางคนว่า “เจ้าทั้งหลายมาจากพญามารซึ่งเป็นพ่อของเจ้าและเจ้าประสงค์จะทำตามความปรารถนาแห่งพ่อของเจ้า.” ทำไมพระองค์ตรัสเช่นนั้นกับสมาชิกในชาติซึ่งพระเจ้าทรงเลือกสรร? เพราะเขาไม่เอาใจใส่ฟังถ้อยคำแห่งพยานองค์ยิ่งใหญ่ของพระยะโฮวา.—โยฮัน 8:41, 44, 47, ล.ม.
5. เราทราบอย่างไรว่าคริสต์ศาสนจักรให้คำพยานเท็จเกี่ยวกับพระเจ้า?
5 ในทำนองเดียวกัน ตลอดศตวรรษต่าง ๆ ตั้งแต่สมัยพระเยซูเรื่อยมา ผู้คนหลายร้อยล้านในคริสต์ศาสนจักรได้อ้างตัวเป็นสาวกของพระองค์. แต่พวกเขาไม่ได้ทำตามพระทัยประสงค์ของพระเจ้า ฉะนั้น เขาจึงไม่เป็นที่ยอมรับจากพระเยซู. (มัดธาย 7:21-23; 1 โกรินโธ 13:1-3) คริสต์ศาสนจักรได้ส่งมิชชันนารีออกไป และแน่นอนมีจำนวนไม่น้อยเป็นคนจริงใจ. แต่ว่าเขาได้สอนประชาชนให้นมัสการพระเจ้าแห่งตรีเอกานุภาพผู้ซึ่งทรมานคนบาปในไฟนรก และพวกที่เปลี่ยนมานับถือศาสนาส่วนใหญ่แทบไม่ได้แสดงหลักฐานความเป็นคริสเตียนเสียเลย. ตัวอย่างเช่น ประเทศรวันดาในแอฟริกาเป็นทุ่งนาอันอุดมสมบูรณ์สำหรับมิชชันนารีของศาสนาโรมันคาทอลิก. ถึงกระนั้น เมื่อเร็ว ๆ นี้ชาวคาทอลิกในรวันดาได้เต็มใจร่วมการสงครามระหว่างเผ่าพันธุ์ภายในประเทศอย่างเต็มที่. ผลผลิตจากทุ่งนาของมิชชันนารีเหล่านั้นแสดงว่าไม่ได้รับคำพยานของคริสเตียนแท้จากคริสต์ศาสนจักร.—มัดธาย 7:15-20.
การดำเนินชีวิตตามหลักการของพระเจ้า
6. ความประพฤติที่เหมาะสมเป็นส่วนสำคัญของการให้คำพยานในทางใดบ้าง?
6 การประพฤติผิดของพวกที่อ้างตัวเป็นคริสเตียนทำให้ “ทางแห่งความจริง” เป็นที่ตำหนิติเตียน. (2 เปโตร 2:2) คริสเตียนแท้ย่อมดำเนินชีวิตตามหลักการของพระเจ้า. เขาไม่ขโมย, ไม่โกหก, ไม่หลอกลวง, หรือประพฤติผิดศีลธรรม. (โรม 2:22) เขาจะไม่ฆ่าเพื่อนบ้านของตนอย่างแน่นอน. สามีคริสเตียนเอาใจใส่ดูแลครอบครัวด้วยความรัก. ฝ่ายภรรยาย่อมจะร่วมมือสนับสนุนการดูแลเอาใจใส่นั้นด้วยความนับถือ. บุตรได้รับการอบรมจากบิดามารดา และด้วยเหตุนี้ จึงเป็นการเตรียมตัวเพื่อจะเป็นคริสเตียนที่รู้จักรับผิดชอบเมื่อโตเป็นผู้ใหญ่. (เอเฟโซ 5:21–6:4) จริงอยู่ พวกเราทุกคนเป็นมนุษย์ไม่สมบูรณ์ และทำผิดพลาด. แต่คริสเตียนแท้ให้ความนับถือต่อมาตรฐานของคัมภีร์ไบเบิลและบากบั่นตั้งใจปฏิบัติตามมาตรฐานเหล่านั้นจริง ๆ. การทำเช่นนั้นเป็นที่สังเกตเห็นได้ และเป็นการให้คำพยานที่ดี. บางครั้ง คนซึ่งแต่ก่อนเคยต่อต้านความจริง ครั้นได้เห็นการประพฤติอย่างถูกต้องของคริสเตียน ถึงกับยอมรับความจริง.—1 เปโตร 2:12, 15; 3:1.
7. เป็นสิ่งสำคัญเพียงใดที่คริสเตียนพึงแสดงความรักต่อกันและกัน?
7 พระเยซูทรงชี้ลักษณะที่สำคัญยิ่งของความประพฤติแบบคริสเตียนเมื่อพระองค์ตรัสว่า “โดยเหตุนี้คนทั้งปวงจะรู้ว่าเจ้าทั้งหลายเป็นสาวกของเรา ถ้าเจ้ามีความรักระหว่างพวกเจ้าเอง.” (โยฮัน 13:35, ล.ม.) โลกที่อยู่ใต้อำนาจของซาตานมีลักษณะเฉพาะคือ “การอธรรม, การชั่วร้าย, ความโลภ, ความปองร้าย เต็มไปด้วยความริษยา, การฆ่าฟันกัน, วิวาทกัน, ล่อลวงกัน, ผูกพยาบาทกัน เป็นคนซุบซิบส่อเสียด, พูดนินทาเขา, เกลียดชังพระเจ้า, เย่อหยิ่ง, จองหอง, อวดตัว, กิจการชั่วอย่างใหม่, ไม่เชื่อฟังคำบิดามารดา.” (โรม 1:29, 30) ในสภาพแวดล้อมดังกล่าว องค์การหนึ่งที่แผ่คลุมไปทั่วโลกมีความรักเป็นลักษณะเฉพาะย่อมแสดงหลักฐานแน่นหนาถึงการมีพระวิญญาณของพระเจ้าปฏิบัติการอยู่—ซึ่งเป็นการให้คำพยานอย่างมีประสิทธิผล. พยานพระยะโฮวาประกอบกันเป็นองค์การดังกล่าว.—1 เปโตร 2:17.
เหล่าพยานเป็นนักศึกษาคัมภีร์ไบเบิล
8, 9. (ก) ผู้ประพันธ์เพลงสรรเสริญได้รับการเสริมกำลังอย่างไรจากการที่ท่านได้ศึกษาข้อบัญญัติต่าง ๆ ของพระเจ้าและคิดรำพึงในเรื่องพระบัญญัติ? (ข) การศึกษาคัมภีร์ไบเบิลและการคิดรำพึงในสิ่งนี้เสริมกำลังเราในทางใดบ้างเพื่อให้คำพยานได้ต่อ ๆ ไป?
8 เพื่อบรรลุผลในการให้คำพยานที่ดี คริสเตียนจำต้องรู้และรักหลักการต่าง ๆ ที่ชอบธรรมของพระยะโฮวา และเกลียดการทุจริตของโลกนี้จริง ๆ. (บทเพลงสรรเสริญ 97:10) โลกมีแรงจูงใจให้สนับสนุนแนวคิดตามแบบโลก และที่จะต้านทานวิญญาณของโลกก็อาจไม่ง่ายนัก. (เอเฟโซ 2:1-3; 1 โยฮัน 2:15, 16) อะไรจะช่วยเรารักษาทัศนคติที่ถูกต้องไว้ได้? การศึกษาคัมภีร์ไบเบิลเป็นประจำและทำอย่างมีความหมาย. ผู้ประพันธ์เพลงสรรเสริญบท 119 ได้กล่าวซ้ำหลายครั้งถึงความรักของตนต่อข้อกฎหมายของพระยะโฮวา. ท่านอ่านข้อกฎหมายและคิดรำพึงมิได้ขาด “วันยังค่ำ.” (บทเพลงสรรเสริญ 119:92, 93, 97-105) ผลที่ตามมา ท่านสามารถเขียนอย่างนี้ “ข้าพเจ้าเบื่อหน่ายเกลียดชังความเท็จ; แต่รักใคร่กฎหมายของพระองค์.” ยิ่งกว่านั้น ความรักอันลึกซึ้งกระตุ้นท่านให้ลงมือปฏิบัติ. ท่านกล่าวว่า “ข้าพเจ้าถวายความสรรเสริญแก่พระองค์วันละเจ็ดครั้ง, เพราะเหตุกฎอันชอบธรรมของพระองค์.”—บทเพลงสรรเสริญ 119:163, 164.
9 ในทำนองเดียวกัน การศึกษาและการคิดรำพึงเรื่องพระคำของพระเจ้าเป็นประจำจะเข้าถึงหัวใจและกระตุ้นเราให้ปรารถนาจะ ‘สรรเสริญพระองค์’—ให้คำพยานเรื่องพระยะโฮวา—อยู่เสมอ ๆ กระทั่ง “วันละเจ็ดครั้ง.” (โรม 10:10) ประสานกันกับข้อนี้ ผู้ประพันธ์เพลงสรรเสริญบทแรกกล่าวว่า บุคคลที่รำพึงถึงพระคำของพระยะโฮวา “เป็นดุจดังต้นไม้ที่ปลูกไว้ริมทางน้ำ, ซึ่งเกิดผลตามฤดู, ใบก็ไม่รู้เหี่ยวแห้ง; และบรรดากิจการที่เขากระทำนั้นก็เจริญขึ้น.” (บทเพลงสรรเสริญ 1:3) อัครสาวกเปาโลได้ชี้เช่นกันถึงพลังแห่งพระคำของพระเจ้าเมื่อท่านเขียนว่า “พระคัมภีร์ทุกตอนมีขึ้นโดยการดลใจจากพระเจ้าและเป็นประโยชน์เพื่อการสั่งสอน เพื่อการว่ากล่าว เพื่อจัดการเรื่องราวให้เรียบร้อย เพื่อตีสอนด้วยความชอบธรรม เพื่อคนของพระเจ้าจะเป็นผู้ที่มีคุณสมบัติครบถ้วน เตรียมพร้อมสำหรับการดีทุกอย่าง.”—2 ติโมเธียว 3:16, 17, ล.ม.
10. อะไรปรากฏชัดเกี่ยวกับไพร่พลของพระยะโฮวาสมัยสุดท้ายนี้?
10 การทวีจำนวนอย่างรวดเร็วในจำพวกผู้นมัสการแท้สมัยศตวรรษที่ยี่สิบนี้บ่งชี้ว่าพระยะโฮวาได้ทรงอวยพระพร. โดยปราศจากข้อสงสัยใด ๆ ในฐานะเป็นกลุ่ม เหล่าพยานสมัยปัจจุบันที่สนับสนุนพระบรมเดชานุภาพของพระเจ้าได้ปลูกฝังความรักต่อกฎหมายของพระยะโฮวาลงในหัวใจของเขา. เช่นเดียวกับท่านผู้ประพันธ์เพลงสรรเสริญ เขาได้รับแรงกระตุ้นให้เชื่อฟังพระบัญญัติของพระองค์ และให้คำพยานถึงสง่าราศีของพระยะโฮวาด้วยความซื่อสัตย์ “ทั้งวันทั้งคืน.”—วิวรณ์ 7:15, ล.ม.
พระราชกิจอันยิ่งใหญ่ของพระยะโฮวา
11, 12. การอัศจรรย์ต่าง ๆ ซึ่งพระเยซูและเหล่าสาวกได้กระทำไปนั้นทำให้อะไรสัมฤทธิผล?
11 ในศตวรรษแรก พระวิญญาณบริสุทธิ์ได้ให้พยานคริสเตียนที่สัตย์ซื่อมีอำนาจทำการอัศจรรย์ต่าง ๆ ซึ่งให้หลักฐานยืนยันว่าคำพยานของพวกเขาเป็นความจริง. เมื่อโยฮันบัพติสโตถูกจำคุก ท่านได้ส่งสาวกไปถามพระเยซูดังนี้: “ท่านเป็นผู้ที่จะมานั้นหรือ, หรือจะต้องคอยผู้อื่น?” พระเยซูไม่ได้ตอบว่าใช่หรือไม่ใช่ พระองค์กลับกล่าวว่า “จงไปแจ้งแก่โยฮันซึ่งท่านได้ยินและเห็น คือว่าคนตาบอดก็เห็นได้, คนง่อยก็เดินได้, คนโรคเรื้อนก็หายสะอาด, คนหูหนวกก็ยินได้, คนตายแล้วก็เป็นขึ้นมา, และข่าวประเสริฐก็ประกาศแก่คนอนาถา. บุคคลผู้ใดไม่สะดุดกะดากเพราะเราก็เป็นสุข.” (มัดธาย 11:3-6) การงานที่เต็มไปด้วยอิทธิฤทธิ์เหล่านี้เป็นคำพยานให้โยฮันรู้ว่า ตามจริงแล้ว พระเยซูคือ “ผู้ที่จะมานั้น.”—กิจการ 2:22.
12 ในทำนองเดียวกัน สาวกของพระเยซูบางคนได้รักษาคนป่วยให้หาย และปลุกคนตายให้ฟื้นด้วยซ้ำ. (กิจการ 5:15, 16; 20:9-12) การอัศจรรย์ต่าง ๆ เหล่านั้นเป็นเหมือนคำพยานจากพระเจ้าโดยตรงเพื่อประโยชน์ของพวกเขา. (เฮ็บราย 2:4) และการอัศจรรย์ต่าง ๆ ดังกล่าวแสดงถึงอำนาจยิ่งใหญ่ของพระยะโฮวา. ยกตัวอย่าง เป็นความจริงที่ซาตาน “ผู้ครองโลก” มีวิธีการต่าง ๆ ที่จะก่อให้เกิดความตาย. (โยฮัน 14:30; เฮ็บราย 2:14) แต่เมื่อเปโตรได้ปลุกโดระกาหญิงที่ซื่อสัตย์ให้เป็นขึ้นจากตาย ท่านสามารถทำได้ด้วยอาศัยอำนาจของพระยะโฮวาเท่านั้น เพราะพระองค์แต่ผู้เดียวทรงสามารถกอบกู้ชีวิตได้.—บทเพลงสรรเสริญ 16:10; 36:9; กิจการ 2:25-27; 9:36-43.
13. (ก) โดยวิธีใดที่การอัศจรรย์ต่าง ๆ ที่กล่าวในคัมภีร์ไบเบิลยังคงเป็นพยานบ่งชี้ฤทธิ์อำนาจของพระยะโฮวา? (ข) การสำเร็จเป็นจริงของคำพยากรณ์มีส่วนสำคัญอย่างไรในการพิสูจน์ความเป็นพระเจ้าของพระยะโฮวา?
13 สมัยนี้ การอัศจรรย์อย่างนั้นไม่ได้เกิดขึ้นอีก. วัตถุประสงค์ของการอัศจรรย์สัมฤทธิผลไปแล้ว. (1 โกรินโธ 13:8) กระนั้นก็ดี พวกเรายังคงมีประวัติบันทึกเกี่ยวกับเรื่องนั้นอยู่ในคัมภีร์ไบเบิล ซึ่งมีผู้เห็นเหตุการณ์หลายคนเป็นพยาน. เมื่อคริสเตียนสมัยนี้อ้างถึงเรื่องราวทางประวัติศาสตร์เหล่านี้ การอัศจรรย์นั้นยังคงเป็นคำพยานที่มีประสิทธิผลถึงฤทธิ์อำนาจของพระยะโฮวา. (1 โกรินโธ 15:3-6) นอกจากนี้ ย้อนไปในสมัยยะซายา พระยะโฮวาทรงชี้ไปที่คำพยากรณ์อันถูกต้องแม่นยำในฐานะเป็นข้อพิสูจน์เด่นชัดว่าพระองค์เป็นพระเจ้าแท้. (ยะซายา 46:8-11) คำพยากรณ์มากมายในคัมภีร์ไบเบิลที่เขียนขึ้นโดยได้รับการดลใจจากพระเจ้ากำลังสำเร็จเป็นจริงในทุกวันนี้—หลายประการสำเร็จเป็นจริงกับประชาคมคริสเตียน. (ยะซายา 60:8-10; ดานิเอล 12:6-12; มาลาคี 3:17, 18; มัดธาย 24:9; วิวรณ์ 11:1-13) ทั้งชี้อย่างถูกต้องแม่นยำว่าเรามีชีวิตอยู่ใน “สมัยสุดท้าย” ความสำเร็จเป็นจริงของคำพยากรณ์เหล่านี้พิสูจน์ว่าพระยะโฮวาเป็นพระเจ้าแท้แต่องค์เดียว.—2 ติโมเธียว 3:1.
14. ประวัติพยานพระยะโฮวาสมัยปัจจุบันเป็นคำพยานที่ทรงพลังในทางใดว่าพระยะโฮวาทรงเป็นพระผู้เป็นเจ้าองค์บรมมหิศร?
14 ท้ายสุด พระยะโฮวายังทำสิ่งที่วิเศษ การอันยิ่งใหญ่ เพื่อไพร่พลของพระองค์. โดยการชี้นำของพระวิญญาณของพระยะโฮวา แสงแห่งความจริงของคัมภีร์ไบเบิลเจิดจ้ายิ่งขึ้น. (บทเพลงสรรเสริญ 86:10; วิวรณ์ 4:5, 6) รายงานการเพิ่มทวีทั่วโลกเป็นพยานหลักฐานว่า พระยะโฮวาทรง “เร่งกระทำการนี้ในเวลาอันควร.” (ยะซายา 60:22, ล.ม.) เมื่อเกิดการกดขี่ข่มเหงอย่างร้ายกาจประเทศแล้วประเทศเล่าตลอดสมัยสุดท้ายนี้ ไพร่พลของพระยะโฮวาอดทนได้อย่างกล้าหาญ เพราะเขาได้รับการเสริมกำลังจากพระวิญญาณบริสุทธิ์. (บทเพลงสรรเสริญ 18:1, 2, 17, 18; 2 โกรินโธ 1:8-10) ใช่แล้ว ประวัติสมัยใหม่ของพยานพระยะโฮวานั่นเองเป็นคำพยานอันมีพลังว่า พระยะโฮวาทรงเป็นพระผู้เป็นเจ้าองค์บรมมหิศร.—ซะคาระยา 4:6.
ข่าวดีจะต้องได้ประกาศออกไป
15. ประชาคมคริสเตียนจะต้องให้คำพยานอย่างกว้างไกลเพียงใด?
15 พระยะโฮวาได้ทรงตั้งชาติยิศราเอลเป็นพยานของพระองค์แก่ชนนานาชาติ. (ยะซายา 43:10) อย่างไรก็ดี มีชาวยิศราเอลเพียงไม่กี่คนได้รับบัญชาจากพระเจ้าให้ออกไปประกาศเผยแพร่แก่คนชาติอื่น และปกติแล้ว การออกไปเช่นนั้นก็เพื่อประกาศการพิพากษาของพระยะโฮวา. (ยิระมะยา 1:5; โยนา 1:1, 2) อย่างไรก็ดี คำพยากรณ์ในคัมภีร์ภาคภาษาฮีบรูชี้ให้เห็นว่า วันหนึ่งพระยะโฮวาจะทรงหันไปใฝ่พระทัยชาติต่าง ๆ ในขอบเขตกว้างขวาง และพระองค์ทรงกระทำการนี้ผ่านทางยิศราเอลฝ่ายวิญญาณของพระเจ้า. (ยะซายา 2:2-4; 62:2) ก่อนพระเยซูเสด็จสู่สวรรค์ พระองค์ทรงสั่งสาวกของพระองค์ดังนี้: “จงไปและทำให้ชนจากทุกชาติเป็นสาวก.” (มัดธาย 28:19, ล.ม.) ขณะที่พระเยซูทรงเพ่งเล็ง “แกะยิศราเอลที่หลงหาย” พระองค์ก็ยังคงส่งพวกสาวกไปหา “ชนทุกชาติ” จนกระทั่ง “ถึงที่สุดปลายแห่งแผ่นดินโลก.” (มัดธาย 15:24; กิจการ 1:8, ล.ม.) มนุษยชาติทั้งมวลจะต้องได้ยินคำพยานจากคริสเตียน.
16. หน้าที่มอบหมายอะไรซึ่งประชาคมคริสเตียนศตวรรษแรกได้ทำสำเร็จ และได้ทำไปกว้างไกลแค่ไหน?
16 เปาโลได้แสดงให้เห็นว่าท่านเข้าใจเรื่องนี้ดี. ประมาณปีสากลศักราช 61 ท่านสามารถพูดได้ว่าข่าวดี “ได้แผ่ไปทั่วโลกเกิดผลและทวีขึ้น.” ข่าวดีหาได้ถูกจำกัดไว้เฉพาะชาติเดียวหรือนิกายเดียว เช่น นิกายที่ “ไหว้ทูตสวรรค์.” ตรงกันข้าม ข่าวดีนี้ “ได้ประกาศแล้วแก่มนุษย์ทุกคนที่อยู่ใต้ฟ้า” อย่างทั่วถึง. (โกโลซาย 1:6, 23; 2:13, 14, 16-18) ฉะนั้น ยิศราเอลของพระเจ้าในศตวรรษแรกได้ทำสำเร็จตามการมอบหมายที่ให้ “‘ประกาศเผยแพร่พระบารมีคุณ’ ของพระองค์ผู้ได้ทรงเรียกท่านทั้งหลายให้ออกจากความมืดเข้าสู่ความสว่างอันมหัศจรรย์ของพระองค์.”
17. คำพยากรณ์ที่มัดธาย 24:14 ยังคงจะสำเร็จเป็นจริงในขอบข่ายใหญ่โตอย่างไร?
17 ถึงกระนั้น งานประกาศในศตวรรษแรกเป็นเพียงการส่อถึงสิ่งที่จะสัมฤทธิผลในสมัยสุดท้าย. ด้วยมองการณ์ไกลถึงสมัยของเราโดยเฉพาะ พระเยซูตรัสดังนี้: “ข่าวดีแห่งราชอาณาจักรนี้จะได้รับการประกาศทั่วทั้งแผ่นดินโลกที่มีคนอาศัยอยู่ เพื่อให้คำพยานแก่ทุกชาติ; และครั้นแล้วอวสานจะมาถึง.” (มัดธาย 24:14, ล.ม.; มาระโก 13:10) คำพยากรณ์ข้อนี้สำเร็จเป็นจริงหรือยัง? สำเร็จแล้ว. จากจุดเริ่มต้นเล็ก ๆ ในปี 1919 เวลานี้งานประกาศข่าวดีได้แผ่ขยายไปถึง 230 กว่าประเทศ. ผู้คนในเขตหนาวจัดแถบขั้วโลกเหนือและในประเทศต่าง ๆ ในเขตร้อนระอุได้ยินการประกาศข่าวดี. มีการให้คำพยานทั่วทวีปใหญ่ ๆ อีกทั้งมีการเสาะหาหมู่เกาะห่างไกลเพื่อให้คำพยานแก่ผู้คนที่อาศัยอยู่ตามที่เหล่านั้น. แม้แต่ท่ามกลางความวุ่นวาย เช่น สงครามในบอสเนียและเฮอร์เซโกวีนา การประกาศข่าวดีก็ยังคงทำกันอยู่. ดังที่เคยเป็นมาแล้วในศตวรรษแรก การให้คำพยานบังเกิดผล “ทั่วโลก.” มีการประกาศข่าวดีไปอย่างกว้างขวาง “แก่มนุษย์ทุกคนที่อยู่ใต้ฟ้า.” ผลเป็นอย่างไร? ประการแรก ชนที่เหลือแห่งยิศราเอลของพระเจ้าถูกรวบรวมมาจาก “ทุกตระกูลและทุกภาษาและทุกชนชาติและทุกชาติ.” ประการที่สอง “ชนฝูงใหญ่” จำนวนหลายล้านจาก “ชาติและตระกูลและชนชาติและภาษาทั้งปวง” ก็เริ่มเข้ามาสมทบ. (วิวรณ์ 5:9; 7:9, ล.ม.) คำพยากรณ์ที่มัดธาย 24:14 ยังคงจะสำเร็จเป็นจริงต่อไปในขอบข่ายใหญ่โต.
18. มีอะไรบ้างที่สัมฤทธิผลเนื่องจากการประกาศข่าวดีตลอดทั่วโลก?
18 งานประกาศข่าวดีตลอดทั่วโลกช่วยพิสูจน์ว่าการเสด็จประทับของพระเยซูฐานะเป็นกษัตริย์ได้เริ่มแล้ว. (มัดธาย 24:3) ยิ่งกว่านั้น นี่เป็นวิธีการสำคัญยิ่งที่จะเก็บเกี่ยว “ผล . . . ของแผ่นดินโลก” เนื่องจากงานนี้ชี้นำผู้คนไปยังราชอาณาจักรของพระยะโฮวา ความหวังแท้แหล่งเดียวสำหรับมนุษยชาติ. (วิวรณ์ 14:15, 16, ล.ม.) เนื่องจากคริสเตียนแท้เพียงพวกเดียวมีส่วนร่วมในงานประกาศข่าวดี งานสำคัญนี้จึงช่วยแยกคริสเตียนแท้ออกจากคริสเตียนปลอม. (มาลาคี 3:18) โดยวิธีนี้ จึงยังผลให้คนเหล่านั้นที่ทำการเผยแพร่รวมทั้งผู้ตอบรับประสบความรอด. (1 ติโมเธียว 4:16) ที่สำคัญอย่างยิ่ง การประกาศข่าวดีนำมาซึ่งคำสรรเสริญและพระเกียรติแด่พระเจ้ายะโฮวา ผู้ทรงบัญชาว่าจะต้องทำงานนี้ ผู้ทรงให้การสนับสนุนผู้เผยแพร่ และผู้ทรงบันดาลให้เกิดผล.—2 โกรินโธ 4:7.
19. คริสเตียนทุกคนได้รับการหนุนใจให้มีความตั้งใจแน่วแน่อะไรขณะที่เขาเข้าสู่ปีรับใช้ใหม่?
19 ไม่แปลกที่อัครสาวกเปาโลได้รับการกระตุ้นให้กล่าวดังนี้: “ถ้าข้าพเจ้ามิได้ประกาศ, วิบัติจะเกิดแก่ข้าพเจ้า.” (1 โกรินโธ 9:16) คริสเตียนสมัยปัจจุบันรู้สึกอย่างเดียวกัน. นับว่าเป็นสิทธิพิเศษอย่างใหญ่หลวงและเป็นหน้าที่รับผิดชอบสำคัญที่จะเป็น “ผู้ร่วมทำการด้วยกันกับพระเจ้า” โดยการฉายแสงสว่างแห่งความจริงในโลกที่ถูกปิดคลุมไว้ในความมืด. (1 โกรินโธ 3:9; ยะซายา 60:2, 3) งานซึ่งมีจุดเริ่มต้นเล็ก ๆ ในปี 1919 เวลานี้บรรลุขอบเขตน่าทึ่ง. คริสเตียนเกือบห้าล้านคนกำลังให้คำพยานสนับสนุนพระบรมเดชานุภาพของพระเจ้า ขณะที่พวกเขาใช้เวลามากกว่าหนึ่งพันล้านชั่วโมงต่อปีเสนอข่าวสารเกี่ยวกับความรอดแก่คนอื่น ๆ. ช่างเป็นความยินดีเสียจริง ๆ ที่เรามีส่วนร่วมงานนี้ซึ่งทำให้พระนามของพระยะโฮวาเป็นที่นับถืออันบริสุทธิ์! ขณะที่เราย่างเข้าสู่ปีรับใช้ 1996 ขอให้พวกเราตั้งใจที่จะไม่เลื่อยล้า. ในทางตรงกันข้าม เราจะยิ่งเชื่อฟังคำกล่าวของเปาโลต่อติโมเธียวมากกว่าแต่ก่อนที่ว่า “จงประกาศพระคำ จงทำอย่างรีบด่วน.” (2 ติโมเธียว 4:2, ล.ม.) ขณะที่เราทำเช่นนั้น เราจะอธิษฐานด้วยสิ้นสุดหัวใจเพื่อพระยะโฮวาจะโปรดอวยพระพรความพยายามของเราเรื่อย ๆ ไป.
คุณจำได้ไหม?
▫ ใครเข้ามาแทนที่ชาวยิศราเอลฐานะเป็น “พยาน” ของพระยะโฮวาท่ามกลางนานาชาติ?
▫ ความประพฤติแบบคริสเตียนส่งเสริมการให้คำพยานอย่างไร?
▫ เหตุใดการศึกษาคัมภีร์ไบเบิลและการคิดรำพึงในสิ่งที่เรียนจึงสำคัญสำหรับพยานคริสเตียน?
▫ ประวัติพยานพระยะโฮวาสมัยปัจจุบันได้ให้หลักฐานในทางใดว่าพระยะโฮวาเป็นพระเจ้าแท้?
▫ มีอะไรที่สัมฤทธิผลเนื่องจากการประกาศข่าวดี?
[รูปภาพหน้า 15]
แทนที่จะถูกจำกัดไว้เฉพาะที่ เวลานี้กลับมีการประกาศข่าวดี “แก่มนุษย์ทุกคนที่อยู่ใต้ฟ้า”