พระยะโฮวาทรงใช้ “เรื่องโง่ ๆ” เพื่อโปรดช่วยคนทั้งหลายที่มีความเชื่อให้รอด
“เพราะ . . . ตามสติปัญญาของพระเจ้าโลกไม่รู้จักพระเจ้าได้โดยปัญญาของตน พระเจ้าจึงทรงโปรดช่วยคนที่เชื่อให้รอดโดยคำเทศนาเรื่องโง่ ๆ.”—1 โกรินโธ 1:21, ฉบับแปลใหม่.
1. พระยะโฮวาจะทรงใช้ “เรื่องโง่ ๆ” ในแง่ไหน และเรารู้ได้อย่างไรว่า โลกนี้โดยปัญญาของเขาไม่ได้มารู้จักพระเจ้า?
อะไรนะ? พระยะโฮวาจะใช้เรื่องโง่ ๆ หรือ? จริง ๆ แล้วไม่ใช่! ทว่า พระองค์สามารถใช้และทรงใช้สิ่งที่ดูเหมือน ว่าโง่ในสายตาของโลก. พระองค์ทรงทำเช่นนั้นเพื่อช่วยคนที่รู้จักและรักพระองค์ให้รอด. โลกไม่สามารถมารู้จักพระเจ้าได้โดยปัญญาของโลก. พระเยซูคริสต์ทรงกระทำให้เรื่องนี้กระจ่างในคำทูลอธิษฐานที่ว่า “ข้าแต่พระบิดาผู้ชอบธรรม แท้จริง โลกมิได้มารู้จักพระองค์.”—โยฮัน 17:25, ล.ม.
2. เป็นไปได้อย่างไรที่ว่าอาจดูเหมือนว่าแนวทางของพระยะโฮวาและวิถีทางของโลกมุ่งไปในทิศทางเดียวกัน แต่อะไรคือข้อเท็จจริง?
2 คำตรัสของพระเยซูแสดงว่าวิถีทางของพระยะโฮวาต่างไปจากแนวทางทั้งหลายของโลก. มองเผิน ๆ อาจดูเหมือนว่าจุดมุ่งหมายของพระเจ้าและของโลกเคียงคู่กันไป. อาจดูเหมือนว่าเป้าประสงค์ต่าง ๆ ของโลกได้รับการอวยพรจากพระเจ้า. อาทิ คัมภีร์ไบเบิลแจ้งไว้ว่าพระเจ้าจะจัดตั้งระบอบการปกครองที่ชอบธรรมเพื่อให้ชีวิตมนุษย์บนแผ่นดินโลกประสบแต่สันติภาพ, ความสุข, และความอุดมมั่งคั่ง. (ยะซายา 9:6, 7; มัดธาย 6:10) ทำนองเดียวกัน โลกก็ได้ป่าวประกาศความมุ่งหมายของตัวเองที่จะให้สันติภาพ, ความเจริญมั่งคั่ง, และรัฐบาลที่ดีแก่ประชาชนโดยวิถีทางที่เรียกกันว่าระเบียบใหม่ของโลก. แต่จุดมุ่งหมายของพระเจ้าและของโลกไม่เหมือนกัน. จุดมุ่งหมายของพระยะโฮวาคือที่จะชันสูตรเชิดชูพระองค์เองในฐานะเป็นบรมมหิศรแห่งเอกภพ. พระองค์จะทรงกระทำการนี้โดยทางรัฐบาลภาคสวรรค์ซึ่งจะขจัดรัฐบาลทั้งสิ้นทางแผ่นดินโลก. (ดานิเอล 2:44; วิวรณ์ 4:11; 12:10) ฉะนั้น พระเจ้าจึงหาได้มีอะไรเกี่ยวข้องกับโลกนี้ไม่. (โยฮัน 18:36; 1 โยฮัน 2:15-17) ด้วยเหตุนี้แหละ คัมภีร์ไบเบิลพูดถึงปัญญาสองชนิด—“สติปัญญาของพระเจ้า” และ “ปัญญาของโลก.”—1 โกรินโธ 1:20, 21.
ข้อบกพร่องพื้นฐานของปัญญาฝ่ายโลก
3. ถึงแม้ปัญญาของโลกอาจดูน่าประทับใจ ทำไมระเบียบใหม่ของโลกตามที่มนุษย์สัญญานั้นจะไม่สนองความต้องการได้?
3 สำหรับคนเหล่านั้นที่ไม่อาศัยสติปัญญาของพระเจ้าเป็นเครื่องชี้นำ ปัญญาของโลกดูเหมือนเป็นสิ่งน่าประทับใจ. มีปรัชญาต่าง ๆ ฝ่ายโลกที่ฟังดูเลิศหรูจับใจ. สถาบันการศึกษาระดับสูงหลายพันแห่งถ่ายทอดความรู้จากผู้ซึ่งคนเป็นอันมากถือว่าเป็นปัญญาชนอันสูงส่งที่สุดแห่งมนุษยชาติ. ห้องสมุดที่กว้างใหญ่เพียบพร้อมด้วยความรู้เกี่ยวกับประสบการณ์ของมนุษย์ซึ่งส่ำสมมานานหลายศตวรรษ. ถึงกระนั้น ระเบียบใหม่ของโลกซึ่งบรรดาผู้นำฝ่ายโลกเสนอ จะเป็นแค่การปกครองโดยมนุษย์ผู้ไม่สมบูรณ์, มีบาปติดตัว, และกำลังจะตาย. ดังนั้น ระเบียบใหม่นั้นจะไม่สมบูรณ์ จะทำซ้ำความผิดพลาดอันมหันต์หลายอย่างในอดีต และจะไม่สนองความต้องการทุกสิ่งทุกประการของมนุษย์.—โรม 3:10-12; 5:12.
4. ระเบียบใหม่ของโลกตามที่เสนอนั้นถูกครอบงำด้วยสิ่งใด และผลเป็นประการใด?
4 ระเบียบใหม่ของโลกตามการเสนอของมนุษย์นั้นไม่ใช่เป็นเพียงถูกครอบงำโดยจุดอ่อนของมนุษย์เท่านั้น แต่โดยอำนาจชักจูงของบรรดาวิญญาณชั่วด้วย—ใช่แล้ว พญามารซาตานและพวกภูตผี. ซาตานได้ครอบงำใจผู้คน เพื่อไม่ให้เขาเชื่อ “กิตติคุณอันประกอบด้วยสง่าราศี คือกิตติคุณของพระคริสต์.” (2 โกรินโธ 4:3, 4; เอเฟโซ 6:12) ดังนั้น ทั้งโลกจึงระทมทุกข์สืบเนื่องมาจากความโกลาหลวุ่นวายครั้งแล้วครั้งเล่า. โลกรบพุ่งต่อสู้และเป็นทุกข์เดือดร้อนในความพยายามอันก่อมหันตภัยเพื่อจะปกครองตัวเองโดยปราศจากการช่วยเหลือของพระเจ้า และไม่คำนึงถึงพระทัยประสงค์ของพระองค์. (ยิระมะยา 10:23; ยาโกโบ 3:15, 16) ฉะนั้น เป็นอย่างที่อัครสาวกเปาโลพูด “โดยปัญญาของโลก ๆ ย่อมไม่รู้จักพระเจ้า.”—1 โกรินโธ 1:21.
5. อะไรคือข้อบกพร่องพื้นฐานแห่งปัญญาของโลก?
5 ทีนี้ อะไรล่ะคือข้อบกพร่องพื้นฐานแห่งสติปัญญาของโลก รวมทั้งแผนการของเขาสำหรับระเบียบใหม่ของโลก? นั่นคือโลกเพิกเฉยต่อสิ่งซึ่งไม่อาจจะเพิกเฉยได้เลยหากจะประสบความสำเร็จ—พระบรมเดชานุภาพสูงสุดของพระเจ้ายะโฮวา. โลกนี้ปฏิเสธอย่างโอหังที่จะรับรองพระบรมเดชานุภาพของพระเจ้า. โลกจงใจปัดพระยะโฮวาออกไปจากแผนการทุกอย่างและพึ่งแต่ความสามารถและวางใจในโครงการของตัวเอง. (เทียบกับดานิเอล 4:31-34; โยฮัน 18:37.) คัมภีร์ไบเบิลชี้ชัดว่า “ความยำเกรงพระยะโฮวาเป็นบ่อเกิด [ที่เริ่มต้น, ฉบับแปลใหม่] แห่งปัญญา.” (สุภาษิต 9:10; บทเพลงสรรเสริญ 111:10) แต่โลกก็ยังหาได้เรียนข้อเรียกร้องพื้นฐานเพื่อจะได้ปัญญานี้ไม่. ดังนั้น เมื่อไม่ได้รับการสนับสนุนจากพระเจ้า โลกจะประสบความสำเร็จได้อย่างไร?—บทเพลงสรรเสริญ 127:1.
การประกาศราชอาณาจักร—โง่หรือใช้ได้ผลจริง?
6, 7. (ก) คนเหล่านั้นที่ยอมให้ปัญญาของพระเจ้านำทางได้ประกาศเรื่องอะไร แต่โลกมองดูพวกเขาอย่างไร? (ข) นักเทศน์นักบวชแห่งคริสต์ศาสนจักรเทศนาสั่งสอนตามปัญญาของใคร พร้อมด้วยผลเช่นไร?
6 ในทางตรงกันข้าม บุคคลที่รู้จักพระเจ้าย่อมแสดงออกซึ่งสติปัญญาของพระเจ้าและพอใจให้สติปัญญานำทางของตน. ดังพระเยซูทรงพยากรณ์ว่าพวกเขาจะทำการประกาศ “ข่าวดีเรื่องราชอาณาจักร . . . ไปทั่วแผ่นดินโลกที่มีผู้คนอยู่อาศัย.” (มัดธาย 24:14; 28:19, 20) การประกาศดังกล่าวใช้ได้ผลจริงในเวลานี้ ไหม เมื่อแผ่นดินของเราเต็มไปด้วยการต่อสู้พิพาทกัน, ภาวะมลพิษ, ความยากจน, และความทุกข์ที่เกิดขึ้นกับมนุษย์? สำหรับคนที่โลกถือว่าฉลาดมีปัญญา การประกาศเรื่องราชอาณาจักรของพระเจ้าเช่นนั้นดูเหมือนเป็นเรื่องโง่แท้ ๆ ขาดลักษณะใช้ได้ผลจริง. พวกเขามองผู้ประกาศแห่งราชอาณาจักรของพระเจ้าประหนึ่งตัวเพรียงที่เกาะติดใต้ท้องเรือเป็นตัวถ่วงรัฐนาวา และถ่วงความก้าวหน้าไปสู่การปกครองทางการเมืองที่ยอดเยี่ยม. ทั้งนี้พวกเขาได้รับการสนับสนุนจากนักเทศน์นักบวชแห่งคริสต์ศาสนจักร ซึ่งเทศนาตามปัญญาของโลกและไม่ได้บอกประชาชนถึงสิ่งที่เขาจำต้องรู้เกี่ยวกับโลกใหม่ของพระเจ้าและรัฐบาลราชอาณาจักร ทั้งที่เรื่องนี้เป็นคำสอนหลักของพระคริสต์ทีเดียว.—มัดธาย 4:17; มาระโก 1:14, 15.
7 เอ็ช. จี. เวลส์ นักประวัติศาสตร์เรียกร้องให้สนใจในความล้มเหลวของนักเทศน์นักบวชแห่งคริสต์ศาสนจักร. เขาเขียนอย่างนี้: “เป็นที่น่าสังเกตว่า พระเยซูทรงให้คำสอนที่พระองค์ตรัสว่าราชอาณาจักรฝ่ายสวรรค์เป็นเรื่องเด่นจริง ๆ ส่วนคริสต์จักรส่วนใหญ่แล้วแทบจะไม่ให้ความสำคัญอะไรเลยต่อราชอาณาจักรฝ่ายสวรรค์ในกิจปฏิบัติและคำสอนของเขา.” แต่ถ้าผู้คนในยุคนี้จะมีโอกาสได้ชีวิต เขาต้องได้ยินเรื่องราชอาณาจักรของพระเจ้าที่ถูกสถาปนาแล้วเสียก่อน และที่จะเป็นเช่นนั้น บางคนต้องประกาศข่าวดีเกี่ยวกับเรื่องนี้.—โรม 10:14, 15.
8. ทำไมการประกาศข่าวดีของพระเจ้าเป็นสิ่งพึงกระทำอย่างจริงจังที่สุดในเวลานี้ แต่การกระทำแบบไหนจะไม่ได้เป็นประโยชน์ยั่งยืน?
8 การประกาศข่าวดีของพระเจ้าจึงเป็นการกระทำที่ใช้ได้ผลอย่างจริงจังในสมัยนี้. เป็นเช่นนี้เพราะข่าวราชอาณาจักรจัดเตรียมความหวังอันทำให้หัวใจมนุษย์เต็มตื้นด้วยความยินดีในระหว่างยุคสุดท้าย เมื่อ ‘วิกฤตกาลยากที่จะจัดการได้อยู่ที่นี่แล้ว.’ (2 ติโมเธียว 3:1-5; โรม 12:12; ติโต 2:13) ในขณะที่ชีวิตในโลกนี้ไม่แน่นอนและสั้น ชีวิตในโลกใหม่ของพระเจ้าจะยั่งยืนนิรันดร์ อยู่ท่ามกลางความยินดี, ความอุดมบริบูรณ์, และสันติสุขบนแผ่นดินโลกนี้แหละ. (บทเพลงสรรเสริญ 37:3, 4, 11) ดังที่พระเยซูคริสต์ตรัสว่า “ถ้าผู้ใดจะได้สิ่งของสิ้นทั้งโลก แต่ต้องเสียชีวิตของตนจะเป็นประโยชน์อะไร หรือใครจะเอาอะไรมาแลกกับชีวิตของตน?” ถ้าคนเราเสียสิทธิการมีชีวิตอยู่ในโลกใหม่ของพระเจ้า โลกนี้ที่กำลังล่วงผ่านไปจะเป็นประโยชน์อะไร? การชื่นชอบของแต่ละคนกับทรัพย์สิ่งของในปัจจุบันเช่นนั้นก็ไร้ประโยชน์, ไม่เป็นแก่นสาร, และอันตรธานไปอย่างรวดเร็ว.—มัดธาย 16:26; ท่านผู้ประกาศ 1:14; มาระโก 10:29, 30.
9. (ก) เมื่อคนที่ได้รับคำชวนให้มาเป็นสาวกของพระเยซูได้ขอผัดเลื่อนเวลาไว้ก่อน พระเยซูได้แนะนำเขาให้ทำอะไร? (ข) คำตอบของพระเยซูน่าจะส่งผลกระทบพวกเราอย่างไร?
9 ชายผู้หนึ่งซึ่งพระเยซูชวนให้มาเป็นสาวกได้ทูลพระองค์ว่า “ขอโปรดให้ข้าพเจ้าไปฝังศพบิดาของข้าพเจ้าก่อน.” พระเยซูทรงแนะนำเขาอย่างไร? ด้วยทรงทราบอยู่ว่าชายผู้นั้นจะผัดเลื่อนงานอันสำคัญยิ่งเพียงเพื่อคอยจนกว่าบิดามารดาของตนสิ้นชีวิตไปตามอายุขัย พระเยซูตรัสตอบเขาว่า “ให้คนตายฝังคนตายเถิด แต่ท่านจงออกไปประกาศราชอาณาจักรของพระเจ้าตามที่ต่าง ๆ.” (ลูกา 9:59, 60, ล.ม.) คนเหล่านั้นที่แสดงออกซึ่งสติปัญญาโดยการเชื่อฟังพระคริสต์ไม่สามารถผละจากหน้าที่มอบหมายให้ประกาศข่าวราชอาณาจักรเสียได้. สติปัญญาฝ่ายพระเจ้าทำให้เขาสำนึกว่าโลกนี้รวมทั้งผู้มีอำนาจปกครองโลกถูกกำหนดกาลอวสานแล้ว. (1 โกรินโธ 2:6; 1 โยฮัน 2:17) ผู้สนับสนุนพระบรมเดชานุภาพของพระเจ้ารู้ว่าความหวังแท้สำหรับมนุษยชาตินั้นขึ้นอยู่กับการเข้าแทรกแซงของพระเจ้าและวิธีการปกครองของพระองค์. (ซะคาระยา 9:10) ดังนั้น ในขณะที่คนเหล่านั้นซึ่งรับเอาสติปัญญาแห่งโลกไม่เชื่อเรื่องราชอาณาจักรของพระเจ้าและไม่ต้องการรัฐบาลฝ่ายสวรรค์ ประชาชนที่ยอมติดตามการนำแห่งสติปัญญาของพระเจ้าได้กระทำสิ่งอันเป็นประโยชน์แก่เพื่อนมนุษย์ คือตระเตรียมเขาไว้สำหรับชีวิตนิรันดรในโลกใหม่แห่งคำสัญญาของพระยะโฮวา.—โยฮัน 3:16; 2 เปโตร 3:13.
“คนทั้งหลายที่กำลังจะพินาศเห็นเป็นเรื่องโง่”
10. (ก) เมื่อเซาโลแห่งเมืองตาระโซเปลี่ยนศาสนาแล้ว ท่านได้ยึดเอางานอะไร และท่านมีทัศนะเช่นไรต่องานนั้น? (ข) คนกรีกสมัยโบราณเลื่องชื่อในด้านใด แต่พระเจ้าทรงถือว่าปัญญาของพวกเขาเป็นอย่างไร?
10 เซาโลแห่งเมืองตาระโซ ต่อมามีชื่อว่าเปาโล อัครสาวกของพระเยซูคริสต์ได้ยึดอยู่กับงานช่วยชีวิตนี้. สมเหตุสมผลไหมที่จะคิดว่าเมื่อพระเยซูคริสต์ทรงบันดาลใจเซาโลเปลี่ยนศาสนา พระองค์ได้มอบหมายท่านให้เข้าร่วมกิจกรรมอันไร้สาระ? เปาโลไม่คิดเช่นนั้น. (ฟิลิปปอย 2:16) สมัยนั้น ผู้คนถือกันว่าชาวกรีกเป็นคนมีภูมิปัญญาสูงที่สุดในโลก. พวกเขาอวดอ้างนักปรัชญาคนสำคัญ ๆ และคนมีปัญญาในหมู่ชนของตน. ถึงแม้เปาโลพูดภาษากรีก แต่ท่านไม่ได้เอาอย่างปรัชญาและความรู้แบบกรีก. เพราะเหตุใด? เพราะปัญญาดังกล่าวของโลกนี้โง่เขลาจำเพาะพระเจ้า.a เปาโลแสวงหาปัญญาของพระเจ้า ซึ่งกระตุ้นท่านให้ประกาศข่าวดีตามบ้านเรือน. พระเยซูคริสต์ ผู้ประกาศองค์ใหญ่ยิ่งเป็นประวัติการณ์ได้ทรงวางแบบอย่าง และทรงแนะนำท่านที่จะทำงานอย่างเดียวกัน.—ลูกา 4:43; กิจการ 20:20, 21; 26:15-20; 1 โกรินโธ 9:16.
11. โดยเนื้อแท้แล้ว เปาโลกล่าวอย่างไรเกี่ยวด้วยงานที่ท่านได้รับมอบหมายและในเรื่องปัญญาของโลก?
11 เปาโลพูดเรื่องนี้เกี่ยวข้องกับงานมอบหมายที่ให้ท่านทำการประกาศ: “เพราะว่าพระคริสต์ . . . ได้ทรงใช้ให้ไปประกาศกิตติคุณ แต่มิใช่ด้วยคำฉลาดในเชิงคำพูด เกรงว่าเรื่องกางเขน [หลักทรมาน, ล.ม.] ของพระคริสต์จะหมดฤทธิ์เดช. ด้วยว่าคนทั้งหลายที่กำลังจะพินาศนั้นเห็นว่าเรื่องหลักทรมาน [เครื่องบูชาไถ่ของพระเยซู] เป็นเรื่องโง่ แต่พวกเราทั้งหลายที่กำลังจะรอดก็เห็นว่าเป็นฤทธิ์เดชของพระเจ้า. ด้วยมีคำเขียนไว้แล้วว่า ‘เราจะทำลายปัญญาของคนมีปัญญา และจะให้ความฉลาดของคนฉลาดสูญไป.’ คนมีปัญญา [อาทิ นักปรัชญา] หายไปไหนแล้ว? อาลักษณ์หายไปไหนแล้ว? นักตั้งปัญหาสมัยนี้หายไปไหนแล้ว? พระเจ้ามิได้ทรงกระทำปัญญาของโลกให้กลายเป็นการโฉดเขลาไปหรือ? เพราะตามสติปัญญาของพระเจ้าเห็นว่าโดยปัญญาของโลก ๆ ย่อมไม่รู้จักพระเจ้าได้แล้ว พระเจ้าจึงทรงโปรดช่วยคนทั้งหลายที่เชื่อนั้นให้รอดโดยคำเทศนาที่เขาถือว่าโง่.”—1 โกรินโธ 1:17-21.
12. พระยะโฮวาทรงสัมฤทธิ์ผลอะไรโดย “คำเทศนาที่เขาถือว่าโง่” และคนเหล่านั้นที่ต้องการ “สติปัญญาจากเบื้องบน” พึงแสดงปฏิกิริยาอย่างไร?
12 อาจดูเป็นเรื่องไม่น่าเชื่อ คนเหล่านั้นที่โลกว่าโง่เขลากลับเป็นผู้ที่พระยะโฮวาทรงใช้ให้เป็นผู้ประกาศของพระองค์. ใช่แล้ว โดยการประกาศสั่งสอนที่เขาถือเป็นเรื่องโง่เขลานี้เอง พระเจ้าได้ทรงโปรดช่วยคนทั้งหลายที่เชื่อให้รอด. พระยะโฮวาทรงจัดเตรียมปัจจัยต่าง ๆ ไว้ เพื่อว่าผู้ประกาศ “เรื่องอันโง่เขลา” เช่นนี้จะอวดอ้างตัวเองไม่ได้ และคนอื่นก็จะไม่ได้ยกย่องบุคคลเหล่านั้นโดยตรงที่ได้นำข่าวดีไปประกาศแก่ตน. ทั้งนี้ก็เพื่อ “มิให้มนุษย์สักคนเดียวอวดได้เฉพาะพระเจ้า.” (1 โกรินโธ 1:28-31; 3:6, 7) จริง ผู้ประกาศเองมีบทบาทสำคัญ แต่ข่าวสารที่เขาได้รับมอบให้ประกาศนั้นเป็นการเอื้ออำนวยคนเราให้พบทางรอดหากเขามีความเชื่อในข่าวนั้น. คนเหล่านั้นซึ่งต้องการ “สติปัญญาที่มาจากเบื้องบน” จะไม่ดูถูกข่าวที่ผู้ประกาศนำไปบอก เพราะเขาดูเหมือนคนโง่และต่ำต้อย ถูกข่มเหง และไปตามบ้านเรือน. แทนที่จะทำเช่นนั้น คนถ่อมใจจะให้ความนับถือผู้ประกาศราชอาณาจักรประหนึ่งเป็นบุคคลที่รับมอบหมายมาแต่พระยะโฮวาและมาในพระนามพระเจ้า. พวกเขาให้ความสำคัญมากต่อข่าวที่ผู้ประกาศนำมาบอกเล่าและโดยทางสิ่งพิมพ์.—ยาโกโบ 3:17; 1 เธซะโลนิเก 2:13.
13. (ก) พวกยิวและพวกกรีกมีทัศนะเช่นไรต่อการป่าวประกาศเรื่องพระคริสต์ถูกตรึง? (ข) ประชาชนจากกลุ่มใดบ้างที่มีน้อยคนถูกเรียกมาเป็นสาวกของพระเยซู เพราะเหตุใด?
13 ในการชี้แจงวิธีการของพระเจ้าต่อ เปาโลกล่าวดังนี้: “ฝ่ายพวกยูดายขอเห็นนิมิต และพวกเฮเลน [กรีก] เสาะหาปัญญา แต่พวกเราป่าวประกาศเรื่องพระคริสต์ผู้ถูกตรึงไว้ที่กางเขน [เสาทรมาน, ล.ม.] แล้วนั้น สิ่งที่ให้พวกยูดายสะดุด และพวกต่างประเทศถือว่าเป็นการโฉดเขลา แต่คนทั้งหลายที่พระเจ้าทรงเลือกแล้วนั้น ทั้งพวกยูดายและพวกเฮเลนก็ถือว่าพระคริสต์เป็นฤทธิ์เดชและพระปัญญาของพระเจ้า. เพราะความเขลาของพระเจ้าก็ยังมีปัญญามากกว่าปัญญามนุษย์ และพระกำลังอ่อนของพระเจ้าก็ยังมีกำลังมากยิ่งกว่ากำลังมนุษย์. ดูก่อนพี่น้องทั้งหลาย จงพิจารณาดูคนทั้งหลายในพวกท่านที่พระเจ้าได้ทรงเรียกมาแล้ว คือว่า คนที่โลกนิยมว่ามีปัญญา, คนมีอำนาจ, คนตระกูลสูงมีน้อยคนนัก แต่พระเจ้าได้ทรงเลือกสิ่งที่โลกถือว่าโฉดเขลา เพื่อจะให้คนมีปัญญาอับอาย; และได้ทรงเลือกสิ่งที่โลกถือว่าอ่อนกำลัง เพื่อจะให้คนมีกำลังมากอับอาย.”—1 โกรินโธ 1:22-27; เทียบกับยะซายา 55:8, 9.
14. (ก) หากถูกถามถึงหนังสือรับรองแล้ว พยานพระยะโฮวาจะชี้ไปที่ไหน? (ข) ทำไมเปาโลไม่ยอมเอาใจพวกกรีกด้วยการอวดอ้างปัญญาของโลก?
14 เมื่อพระเยซูประทับบนแผ่นดินโลก พวกยิวขอหมายสำคัญจากท้องฟ้า. (มัดธาย 12:38, 39; 16:1) แต่พระเยซูทรงปฏิเสธที่จะให้หมายสำคัญใด ๆ ทั้งสิ้น. ทำนองเดียวกัน พยานพระยะโฮวาสมัยนี้หาได้แสดงหนังสือรับรองอันเป็นเสมือนหมายสำคัญไม่. แทนการทำเช่นนั้น พวกเขาชี้ไปที่การมอบหมายให้ตนประกาศข่าวดี ดังบันทึกเป็นข้อคัมภีร์ที่ยะซายา 61:1, 2; มาระโก 13:10; และวิวรณ์ 22:17. ชาวกรีกครั้งโบราณเสาะหาปัญญา การศึกษาสิ่งต่าง ๆ เกี่ยวกับโลกนี้. ขณะที่เปาโลได้รับการศึกษาทางด้านสติปัญญาของโลก ท่านปฏิเสธที่จะอวดความรู้ในทางใด ๆ เพื่อเอาใจพวกกรีก. (กิจการ 22:3) ท่านพูดและเขียนสำนวนภาษากรีกที่สามัญชนเข้าใจได้ แทนที่จะใช้ภาษากรีกแบบคลาสสิก. เปาโลได้กำชับชาวโกรินโธดังนี้: “ดูก่อนพี่น้องทั้งหลาย เมื่อข้าพเจ้าได้มาหาท่าน ข้าพเจ้ามิได้เป็นพยานของพระเจ้า [บอกข้อลึกลับอันศักดิ์สิทธิ์, ล.ม.] ให้แก่ท่านด้วยถ้อยคำอันไพเราะหรือด้วยปัญญา . . . คำพูดและคำเทศนาของข้าพเจ้าไม่ใช่เป็นคำเกลี้ยกล่อมด้วยสติปัญญา แต่เป็นคำซึ่งได้แสดงพระวิญญาณและพระเดชานุภาพ เพื่อความเชื่อของท่านทั้งหลายจะไม่ได้อาศัยด้วยปัญญามนุษย์ แต่ด้วยฤทธิ์เดชของพระเจ้า.”—1 โกรินโธ 2:1-5.
15. เปโตรได้เตือนพวกช่างเยาะเย้ยข่าวดีให้นึกถึงสิ่งใด และสภาพการณ์ปัจจุบันคล้ายคลึงกับสมัยโนฮาอย่างไร?
15 ในสมัยสุดท้ายนี้ พวกช่างเยาะเย้ยข่าวดีเรื่องโลกใหม่ของพระเจ้าที่เคลื่อนใกล้เข้ามาพร้อมกับกาลอวสานของโลกนี้ได้รับการเตือนโดยอัครสาวกเปโตรว่าโลกสมัยโนฮา “ประสบพินาศกรรมคราวถูกน้ำท่วม.” (2 เปโตร 3:3-7) เมื่อเผชิญกับอวสานโดยน้ำท่วมเช่นนั้น โนฮาทำอย่างไร? คนเป็นอันมากคิดแต่เพียงว่าท่านเป็นคนสร้างเรือใหญ่. แต่เปโตรกล่าวว่าเมื่อพระเจ้าบันดาลน้ำมาท่วมโลกคราวโบราณ พระองค์ “ได้ทรงคุ้มครองโนฮาผู้ประกาศความชอบธรรม ให้ปลอดภัยพร้อมกับคนอื่นอีกเจ็ดคน” (2 เปโตร 2: 5) ด้วยสติปัญญาฝ่ายโลก ไม่สงสัยเลยที่ผู้คนซึ่งไม่เลื่อมใสในพระเจ้าสมัยก่อนน้ำท่วมโลกได้เยาะเย้ยสิ่งที่โนฮาประกาศและเรียกท่านว่าคนโง่, คนไม่มองดูความจริง, และเป็นคนที่ใช้การไม่ได้. ทุกวันนี้ คริสเตียนแท้เผชิญสภาพการณ์คล้ายคลึงกัน เนื่องจากพระเยซูทรงเปรียบยุคของเราเหมือนสมัยโนฮา. แต่ถึงแม้คนจะเยาะเย้ย การประกาศข่าวดีเกี่ยวกับราชอาณาจักรไม่ใช่เรื่องพูดกันเล่น ๆ. เหมือนการประกาศซึ่งโนฮาได้ทำจนสำเร็จนั้น การประกาศในสมัยนี้หมายถึงความรอดสำหรับผู้ประกาศ และสำหรับคนเหล่านั้นที่ฟังเขาด้วย.—มัดธาย 24:37-39; 1 ติโมเธียว 4:16.
‘ยอมเป็นคนโง่จึงจะเป็นคนมีปัญญา’
16. จะเกิดอะไรขึ้นกับปัญญาของโลกนี้ ณ อาร์มาเก็ดดอน และใครจะรอดชีวิตผ่านเข้าไปในโลกใหม่ของพระเจ้า?
16 อีกไม่นาน ณ อาร์มาเก็ดดอน พระเจ้ายะโฮวาจะทรงทำให้ “ปัญญาของโลก” เสื่อมสูญไป. พระองค์จะทรงขจัด ‘ความปราดเปรื่องของคนมีปัญญา’ ซึ่งได้ทำนายว่าวิธีการแห่งระเบียบใหม่ของโลกจะยังให้เกิดสภาพการณ์ที่ดีกว่าเดิมสำรับมวลมนุษย์. “สงครามแห่งวันใหญ่ของพระเจ้าองค์ทรงฤทธิ์ทุกประการ” จะลบล้างการอ้างเหตุผลอันหลอกลวง, หลักปรัชญา, และปัญญาของโลกทั้งสิ้นให้หมดไป. (1 โกรินโธ 1:19; วิวรณ์ 16:14-16) ชนเพียงจำพวกเดียวเท่านั้นผู้ซึ่งจะรอดผ่านสงครามและได้รับชีวิตในโลกใหม่ของพระเจ้า คือคนเหล่านั้นที่เชื่อฟังสิ่งที่โลกเรียกว่าเป็นเรื่องโง่—ข่าวดีเรื่องราชอาณาจักรอันรุ่งโรจน์ของพระยะโฮวา.
17. พยานพระยะโฮวายอมเป็น ‘คนโง่’ อย่างไร และบรรดาผู้ประกาศข่าวดีที่อยู่ฝ่ายพระเจ้ามุ่งมั่นจะทำอะไร?
17 โดยการนำแห่งพระวิญญาณของพระองค์ พยานพระยะโฮวาไม่มีความละอายจะประกาศสิ่งซึ่งโลกเรียกว่าเป็นเรื่องโง่เขลา. แทนที่จะมุ่งเป็นคนฉลาดมีปัญญาแบบโลก พวกเขาได้มาเป็น ‘คนโง่.’ อย่างไร? โดยทำการประกาศข่าวราชอาณาจักรเพื่อตนจะมีปัญญา ดังเปาโลเขียนว่า “ถ้าผู้ใดในพวกท่านคิดว่าตัวเป็นคนมีปัญญาในสมัยนี้ จงให้ผู้นั้นยอมเป็นคนโง่ จึงจะเป็นคนมีปัญญาได้.” (1 โกรินโธ 3:18-20) เหล่าผู้ประกาศข่าวดีที่เป็นฝ่ายพระยะโฮวาต่างก็รู้จักคุณค่าข่าวการช่วยชีวิต และจะประกาศข่าวนี้ต่อ ๆ ไปอย่างไม่ละลด จนกว่าโลกนี้และปัญญาของโลกถึงอวสาน ณ สงครามอาร์มาเก็ดดอน. ไม่ช้า พระเจ้ายะโฮวาจะทรงชันสูตรเชิดชูพระบรมเดชานุภาพของพระองค์ และจะประทานชีวิตนิรันดร์แก่บรรดาผู้ซึ่งขณะนี้เชื่อและลงมือกระทำ “โดยคำเทศนาที่เขาถือว่าโง่.”
[เชิงอรรถ]
a ทั้งที่มีการโต้วาทีด้านปรัชญาและการสำรวจค้นคว้าของพวกปราชญ์แห่งประเทศกรีซสมัยโบราณ วรรณกรรมของพวกเขาแสดงให้เห็นว่าเขาไม่พบรากฐานแท้สำหรับความหวัง. ศาสตราจารย์ เจ. อาร์. เอส. สเตอเรตต์ และแซมมุเอล แองกัสชี้แจงว่า “ไม่มีวรรณกรรมใด ๆ บรรจุเรื่องความเศร้าโศกอาดูร, ความเศร้าเสียใจอาลัยแห่งชีวิต, การโรยราแห่งความรัก, การหลอกลวงแห่งความหวัง, และความเหี้ยมโหดแห่งความตายยิ่งกว่าวรรณกรรมกรีก.”—พจนานุกรมพระคัมภีร์ ฟุงก์แอนด์แวกเนลล์ นิว “สแตนดาร์ด” ปี 1936 หน้า 313.
คุณจะตอบอย่างไร?
▫ มีปัญญาอยู่สองอย่างอะไรบ้าง?
▫ อะไรคือข้อบกพร่องพื้นฐานแห่งปัญญาของโลก?
▫ เหตุใดการประกาศข่าวดีเป็นสิ่งให้ประโยชน์อย่างยิ่งพึงกระทำ?
▫ ไม่ช้าจะเกิดอะไรขึ้นกับปัญญาทั้งสิ้นของโลก?
▫ เหตุใดพยานพระยะโฮวาไม่ละอายจะประกาศสิ่งที่โลกเรียกว่าเป็นเรื่องโง่?
[รูปภาพหน้า 23]
พวกกรีกเสาะหาปัญญาแบบโลก และมักจะมองงานประกาศของเปาโลเป็นเรื่องโง่