จงระวังผู้สอนเท็จ!
“จะมีผู้สอนเท็จในท่ามกลางท่านทั้งหลาย.”—2 เปโตร 2:1, ล.ม.
1. ยูดาตั้งใจเขียนเรื่องอะไร และเหตุใดท่านเปลี่ยนเรื่อง?
ช่างเป็นเรื่องน่าตกใจอะไรเช่นนี้! ผู้สอนเท็จในประชาคมคริสเตียนศตวรรษแรก! (มัดธาย 7:15; กิจการ 20:29, 30) ยูดาน้องชายต่างบิดาของพระเยซูตื่นตัวต่อความเป็นไปในเรื่องนี้. ท่านกล่าวว่าท่านตั้งใจจะเขียนถึงเพื่อนร่วมความเชื่อ “ในเรื่องความรอดที่พวกเรายึดถือร่วมกัน” แต่ท่านชี้แจงดังนี้: “ข้าพเจ้าเห็นว่าจำเป็นที่จะเขียนถึงท่านเพื่อกระตุ้นเตือนให้ท่านทำการต่อสู้อย่างทรหดเพื่อความเชื่อ.” เหตุใดยูดาจึงเปลี่ยนเรื่อง? ท่านกล่าวว่าเนื่องจาก “บางคนได้เล็ดลอดเข้ามา [ในประชาคม] . . . พลิกแพลงเอาพระกรุณาอันไม่พึงได้รับของพระเจ้าของเราไปใช้เป็นข้อแก้ตัวสำหรับความประพฤติอันหละหลวม.”—ยูดา 3, 4, ล.ม.
2. เหตุใด 2 เปโตรบท 2 และพระธรรมยูดาจึงคล้ายกันมาก?
2 ดูเหมือนว่า ยูดาเขียนไม่นานหลังจากเปโตรเขียนจดหมายฉบับที่สองของท่าน. คงไม่มีข้อสงสัยเลยว่ายูดาคุ้นเคยกับจดหมายฉบับนี้. ที่แน่ ๆ คือ ท่านแสดงความคิดเห็นคล้าย ๆ กันหลายประการในจดหมายของท่านเองซึ่งเป็นคำกระตุ้นเตือนที่มีพลัง. ฉะนั้น ขณะที่เราตรวจดู 2 เปโตรบท 2 เราจะสังเกตว่าบทนี้คล้ายคลึงกับจดหมายของยูดาสักเพียงใด.
ผลของคำสอนเท็จ
3. อะไรซึ่งเคยเกิดขึ้นในอดีตที่เปโตรกล่าวว่าจะเกิดขึ้นอีก?
3 หลังจากเปโตรได้กระตุ้นพวกพี่น้องของท่านให้เอาใจใส่คำพยากรณ์ ท่านกล่าวดังนี้: “อย่างไรก็ดี เกิดมีผู้พยากรณ์เท็จในท่ามกลาง [ยิศราเอลโบราณ] อย่างที่จะมีผู้สอนเท็จในท่ามกลางท่านทั้งหลายด้วย.” (2 เปโตร 1:14–2:1, ล.ม.) ไพร่พลพระเจ้าในกาลโบราณได้รับคำพยากรณ์แท้ แต่พวกเขาก็ต้องต่อสู้กับคำสอนอันเสื่อมเสียของพวกผู้พยากรณ์เท็จด้วย. (ยิระมะยา 6:13, 14; 28:1-3, 15) ยิระมะยาเขียนว่า “ในพวกผู้พยากรณ์แห่งยะรูซาเลมเราได้เห็นสิ่งเลวร้าย การเล่นชู้และการดำเนินในความเท็จ.”—ยิระมะยา 23:14, ล.ม.
4. เหตุใดผู้สอนเท็จสมควรพินาศ?
4 ในการอธิบายถึงสิ่งที่ผู้สอนเท็จจะทำในประชาคมคริสเตียน เปโตรกล่าวดังนี้: “คนเหล่านี้แหละจะนำนิกายที่ก่อความพินาศเข้ามาอย่างเงียบ ๆ และจะปฏิเสธแม้แต่ผู้เป็นเจ้าของ [พระเยซูคริสต์] ที่ได้ทรงซื้อเขาไว้ จะนำความพินาศโดยฉับพลันมาสู่ตัวเขาเอง.” (2 เปโตร 2:1, ล.ม.; ยูดา 4) ผลบั้นปลายของการแตกเป็นนิกายต่าง ๆ ในศตวรรษแรกได้แก่คริสต์ศาสนจักรที่เรารู้จักในทุกวันนี้. เปโตรชี้ให้เห็นว่าทำไมผู้สอนเท็จสมควรอย่างยิ่งที่จะถูกทำลาย: “หลายคนจะปฏิบัติตามการประพฤติที่หละหลวมของเขา และเพราะเหตุคนเหล่านี้ ทางแห่งความจริงจะถูกกล่าวร้าย.”—2 เปโตร 2:2, ล.ม.
5. ผู้สอนเท็จต้องรับผิดชอบสำหรับอะไร?
5 คิดดูซิ! เนื่องด้วยอิทธิพลของผู้สอนเท็จ หลายคน ในประชาคมต่าง ๆ จะเข้าไปพัวพันในการประพฤติที่หละหลวม. คำกรีกที่ได้รับการแปลว่า “การประพฤติที่หละหลวม” บ่งถึงการขาดความเหนี่ยวรั้งด้านศีลธรรม, การขาดความยับยั้งชั่งใจ, ความหยาบโลน, การยั่วตัณหา, การประพฤติแบบไร้ยางอาย. เปโตรกล่าวก่อนหน้านี้ว่า คริสเตียนได้ “พ้นจากความเสื่อมเสียซึ่งมีอยู่ในโลกโดยราคะตัณหา” แล้ว. (2 เปโตร 1:4, ล.ม.) แต่บางคนกำลังจะหวนกลับไปสู่ความเสื่อมเสียนั้นอีก และผู้สอนเท็จในประชาคมคงจะเป็นสาเหตุใหญ่! ด้วยเหตุนี้ จะทำให้แนวทางแห่งความจริงเสื่อมเสียชื่อเสียง. ช่างน่าเศร้าจริง ๆ! แน่นอน นี่เป็นเรื่องซึ่งพยานพระยะโฮวาทุกคนในปัจจุบันควรเอาใจใส่ให้ดี. เราไม่ควรลืมว่า ด้วยการประพฤติ เราสามารถนำคำสรรเสริญ หรือไม่ก็นำคำตำหนิมาสู่พระยะโฮวาพระเจ้าและไพร่พลของพระองค์.—สุภาษิต 27:11; โรม 2:24.
การนำคำสอนเท็จเข้ามา
6. ผู้สอนเท็จมีแรงจูงใจอะไร และพวกเขาแสวงหาเพื่อได้สิ่งที่เขาต้องการโดยวิธีใด?
6 นับว่าสุขุมที่เราสังเกตถึงวิธีที่ผู้สอนเท็จนำความคิดที่เสื่อมเสียของตนเข้ามา. ก่อนอื่นเปโตรกล่าวว่า พวกนี้ทำอย่างเงียบ ๆ หรือในวิธีที่แยบยล ไม่กระโตกกระตาก. ท่านบอกอีกว่า “ด้วยความโลภ เขาจะหาผลประโยชน์ส่วนตัวจากท่านทั้งหลายด้วยคำหลอกลวง.” (ล.ม.) ความปรารถนาอันเห็นแก่ตัวจูงใจผู้สอนเท็จ ดังที่ฉบับแปลเดอะ เจรูซาเลม ไบเบิล เน้นไว้ในการแปลข้อนี้ว่า “พวกเขาจะพยายามอย่างร้อนรนที่จะซื้อท่านเอาไว้สำหรับตัวพวกเขาด้วยถ้อยคำพราวเล่ห์เพทุบาย.” คล้ายกันนั้น ฉบับแปลของเจมส์ มอฟฟัตต์ แปลข้อนี้ว่า “ด้วยตัณหา พวกเขาจะหลอกใช้ท่านด้วยคำพูดโน้มน้าวอันมีเล่ห์เหลี่ยม.” (2 เปโตร 2:1, 3) โวหารสำนวนของผู้สอนเท็จอาจฟังแล้วน่าเชื่อถือสำหรับคนที่ไม่ตื่นตัวฝ่ายวิญญาณ แต่คำพูดของคนพวกนี้คิดเตรียมไว้อย่างละเอียดถี่ถ้วนเพื่อ “ซื้อ” ผู้คน ลวงพวกเขาให้รับใช้ตามเป้าประสงค์อันเห็นแก่ตัวของผู้หลอกลวง.
7. ปรัชญาอะไรซึ่งเป็นที่นิยมในศตวรรษแรก?
7 ไม่ต้องสงสัยเลยว่า ผู้สอนเท็จแห่งศตวรรษแรกได้รับอิทธิพลจากความคิดแบบโลกที่มีอยู่ในตอนนั้น. ในช่วงที่เปโตรเขียนจดหมายนั้น ปรัชญาซึ่งเรียกกันว่าลัทธิไญยนิยมกำลังเป็นที่นิยม. ผู้ถือลัทธิไญยนิยมเชื่อว่าสิ่งฝ่ายวัตถุทั้งสิ้นล้วนชั่วร้าย และเฉพาะแต่สิ่งที่เกี่ยวข้องกับวิญญาณเท่านั้นที่นับว่าดี. ด้วยเหตุนี้ บางคนในพวกนี้กล่าวว่าคนเราจะทำอะไรก็ได้ด้วยกายเนื้อหนัง. พวกเขาชักเหตุผลว่า ในที่สุดคนเราก็จะไม่ได้มีกายนี้อีก. เพราะฉะนั้น พวกเขาสรุปว่าบาปทางกายรวมทั้งในเรื่องเพศด้วยไม่ใช่เรื่องสำคัญ. ดูเหมือนว่า ทัศนะเช่นนั้นเริ่มมีผลกระทบบางคนที่อ้างว่านับถือศาสนาคริสเตียนแท้.
8, 9. (ก) การหาเหตุผลอย่างบิดเบือนเช่นไรซึ่งมีผลต่อคริสเตียนในยุคแรกบางคน? (ข) ตามที่ยูดาเขียน บางคนในประชาคมต่าง ๆ กำลังทำอะไร?
8 ผู้คงแก่เรียนด้านคัมภีร์ไบเบิลคนหนึ่งให้ข้อสังเกตว่า “มีบางคนในคริสตจักรที่บิดเบือนหลักคำสอนเรื่องพระคุณ” หรือ “พระกรุณาอันไม่พึงได้รับ.” (เอเฟโซ 1:5-7, ล.ม.) ตามที่เขาชี้แจง บางคนหาเหตุผลทำนองนี้: “คุณบอกว่า [พระกรุณาอันไม่พึงได้รับ] ของพระเจ้ามีอุดมจนปกปิดบาปทุกอย่างได้มิใช่หรือ? . . . ถ้าอย่างนั้นเราก็ทำบาปกันต่อไปได้ เพราะ [พระกรุณาอันไม่พึงได้รับ] ของพระเจ้าสามารถลบล้างบาปทุกอย่างได้. ที่จริง ยิ่งเราทำบาปมากเท่าไร [พระกรุณาอันไม่พึงได้รับ] ของพระเจ้าก็ยิ่งมีโอกาสดำเนินงานมากขึ้น.” คุณเคยได้ยินการหาเหตุผลใดที่บิดเบือนยิ่งกว่านี้ไหม?
9 อัครสาวกเปาโลตอบโต้ความคิดผิด ๆ ในเรื่องพระเมตตาของพระเจ้าเมื่อท่านถามดังนี้: “เราจะคงอยู่ในความบาปต่อไปเพื่อจะให้พระคุณมีปรากฏมากยิ่งขึ้นหรือ” ท่านถามต่อไปอีกว่า “เราทั้งหลายจะกระทำความชั่วเพราะมิได้อยู่ใต้พระบัญญัติแต่อยู่ใต้พระคุณหรือ” เปาโลตอบคำถามแต่ละข้ออย่างหนักแน่นว่า “อย่าให้เป็นอย่างนั้นเลย.” (โรม 6:1, 2, 15) เห็นได้ชัดว่าเป็นดังที่ยูดาสังเกต คือบางคนกำลัง “พลิกแพลงเอาพระกรุณาอันไม่พึงได้รับของพระเจ้าของเราไปใช้เป็นข้อแก้ตัวสำหรับความประพฤติอันหละหลวม.” อย่างไรก็ตาม เปโตรชี้ว่าสำหรับคนเช่นนั้น ‘ความพินาศจะไม่ม่อยหลับ.’—ยูดา 4, ล.ม.; 2 เปโตร 2:3, ล.ม.
ตัวอย่างเตือนใจ
10, 11. เปโตรยกสามตัวอย่างอะไรบ้างเพื่อเป็นข้อเตือนใจ?
10 เพื่อเน้นว่าพระเจ้าจะทรงจัดการผู้ทำผิดโดยเจตนา เปโตรได้ให้ตัวอย่างเตือนใจจากพระคัมภีร์สามตัวอย่าง. ตัวอย่างแรก ท่านเขียนดังนี้: “พระเจ้ามิได้ทรงยับยั้งไว้จากการลงโทษพวกทูตสวรรค์ที่ได้ทำบาปนั้น.” ยูดากล่าวว่า ทูตสวรรค์เหล่านี้ “ไม่ได้รักษาตำแหน่งดั้งเดิมของตน แต่ได้ละทิ้งสถานที่อยู่อันควรของตน” ในสวรรค์. พวกเขาลงมายังแผ่นดินโลกก่อนน้ำท่วมและรับเอากายเนื้อหนังเพื่อมีเพศสัมพันธ์กับบุตรสาวมนุษย์. เพื่อเป็นการลงโทษการประพฤติที่วิปริตและไม่บังควร พวกเขาถูกเหวี่ยงเข้าสู่ “ทาร์ทารัส” หรือตามบันทึกของยูดา พวกเขาถูก“จองจำไว้ด้วยเครื่องพันธนาการอันถาวร ภายใต้ความมืดทึบสำหรับการพิพากษาแห่งวันใหญ่.”—2 เปโตร 2:4, ล.ม.; ยูดา 6, ล.ม.; เยเนซิศ 6:1-3.
11 จากนั้น เปโตรอ้างถึงผู้คนในสมัยของโนฮา. (เยเนซิศ 7:17-24) ท่านกล่าวว่าในสมัยของโนฮานั้นพระเจ้า “มิได้ทรงยับยั้งไว้จากการลงโทษโลกในสมัยโบราณ . . . เมื่อพระองค์ทรงบันดาลให้น้ำมาท่วมโลกแห่งคนที่ดูหมิ่นพระเจ้า.” สุดท้าย เปโตรเขียนว่าพระเจ้าทรงวาง “แบบอย่างไว้สำหรับคนที่ดูหมิ่นพระเจ้าเกี่ยวกับสิ่งที่จะเกิดขึ้น” โดย “ทำลายเมืองโซโดมและโกโมร์ราห์ให้เป็นเถ้าถ่าน.” ยูดาให้รายละเอียดเพิ่มเติมว่า คนเหล่านั้นแต่ละคน “ได้กระทำผิดประเวณีอย่างมากล้น และมุ่งตามเนื้อหนังเพื่อใช้อย่างผิดธรรมดา.” (2 เปโตร 2:5, 6, ล.ม.; ยูดา 7, ล.ม.) ผู้ชายไม่เพียงแต่มีเพศสัมพันธ์อย่างผิด ๆ กับผู้หญิง แต่มีราคะตัณหาในตัวผู้ชายด้วยกัน และอาจเป็นได้ว่าแม้กระทั่งกับสัตว์เดียรัจฉานด้วยซ้ำ.—เยเนซิศ 19:4, 5; เลวีติโก 18:22-25.
12. ตามที่เปโตรบอก การประพฤติชอบธรรมได้รับบำเหน็จอย่างไร?
12 กระนั้น ในเวลาเดียวกันเปโตรก็กล่าวว่าพระยะโฮวาทรงเป็นผู้ประทานบำเหน็จแก่คนที่รับใช้พระองค์อย่างซื่อสัตย์. ตัวอย่างเช่น ท่านเล่าถึงวิธีที่พระเจ้า “ทรงคุ้มครองโนฮาผู้ประกาศความชอบธรรมให้ปลอดภัยพร้อมกับคนอื่นอีกเจ็ดคนเมื่อพระองค์ทรงบันดาลให้น้ำมาท่วมโลก.” ท่านยังบอกด้วยถึงการช่วยให้รอดของพระยะโฮวาต่อ “โลตผู้ชอบธรรม” ในสมัยเมืองซะโดม โดยลงท้ายดังนี้: “พระยะโฮวาทรงทราบวิธีที่จะช่วยคนที่เลื่อมใสในพระเจ้าให้รอดพ้นจากการทดลอง แต่ทรงทราบวิธีที่จะสงวนคนอธรรมไว้สำหรับวันแห่งการพิพากษา เพื่อจะถูกตัดขาด.”—2 เปโตร 2:5, 7-9, ล.ม.
การกระทำซึ่งสมควรถูกลงโทษ
13. ใครโดยเฉพาะที่ถูกสงวนไว้เพื่อการพิพากษา และดูเหมือนว่าพวกเขาจมอยู่ในความเพ้อฝันอะไร?
13 เปโตรระบุชัดเลยว่าใครโดยเฉพาะที่ถูกสงวนไว้สำหรับการพิพากษาของพระเจ้า ซึ่งก็คือ: “คนเหล่านั้นที่ดำเนินตามเนื้อหนังด้วยความปรารถนาที่จะทำให้เนื้อหนังเป็นมลทิน และผู้ซึ่งดูถูกตำแหน่งผู้เป็นนาย.” เราแทบจะรู้สึกได้ถึงความขุ่นเคืองของเปโตรเมื่อท่านกล่าวว่า “โดยบังอาจและเอาแต่ใจตัวเอง พวกเขาไม่สะทกสะท้านต่อผู้มีสง่าราศี แต่พูดหยาบคาย.” ยูดาเขียนว่า “คนเหล่านี้ . . . ปล่อยตัวเพ้อฝันก็ทำให้เนื้อหนังเป็นมลทิน . . . และพูดหยาบคายต่อเหล่าผู้มีสง่าราศี.” (2 เปโตร 2:10, ล.ม.; ยูดา 8, ล.ม.) ความเพ้อฝันของพวกเขาอาจหมายรวมถึงจินตนาการทางเพศที่ไม่บริสุทธิ์สะอาดซึ่งกระตุ้นให้เขามุ่งแสวงหาความเพลิดเพลินทางเพศที่ผิดศีลธรรม. อย่างไรก็ตาม พวกเขา “ดูถูกตำแหน่งผู้เป็นนาย” และพูด “หยาบคายต่อเหล่าผู้มีสง่าราศี” ในความหมายใด?
14. ผู้สอนเท็จ “ดูถูกตำแหน่งผู้เป็นนาย” และพูด “หยาบคายต่อเหล่าผู้มีสง่าราศี” ในความหมายเช่นไร?
14 พวกเขาทำเช่นนั้นโดยที่ดูถูกอำนาจที่พระเจ้าแต่งตั้ง. คริสเตียนผู้ปกครองเป็นตัวแทนขององค์ทรงสง่าราศีอันได้แก่พระยะโฮวาพระเจ้าและพระบุตรของพระองค์ ซึ่งยังผลทำให้พวกเขาได้รับการประทานสง่าราศีในระดับหนึ่ง. จริงอยู่ พวกเขาอาจทำผิดพลาดเช่นที่เปโตรเองเคยพลาด แต่พระคัมภีร์กระตุ้นเตือนสมาชิกประชาคมให้ยอมอยู่ใต้อำนาจผู้มีสง่าราศีเหล่านี้. (เฮ็บราย 13:17) ข้อบกพร่องของพวกเขาไม่ใช่เหตุผลที่จะพูดไม่ดีเกี่ยวกับพวกเขา. เปโตรกล่าวว่าพวกทูตสวรรค์มิได้ “นำข้อกล่าวหามาว่า [ผู้สอนเท็จ] ด้วยถ้อยคำหยาบคาย” แม้ว่าสมควรอย่างยิ่งที่จะตำหนิเขาอย่างนั้น. เปโตรดำเนินเรื่องต่อไป: “แต่คนเหล่านี้ เหมือนสัตว์ที่หาเหตุผลไม่เป็น เกิดมาโดยธรรมชาติเพื่อจะถูกจับทำลายเสีย ในสิ่งที่เขาไม่รู้และพูดหยาบคาย จะประสบพินาศกรรม.”—2 เปโตร 2:10-13, ล.ม.
“ขณะที่กินเลี้ยงกับท่านทั้งหลาย”
15. อะไรคือวิธีการของผู้สอนเท็จ และพวกเขามุ่งล่อลวงตรงจุดไหน?
15 ไม่เพียงแต่คนที่เสื่อมทรามเหล่านี้ “ถือว่า การอยู่อย่างฟุ่มเฟือยในยามกลางวันเป็นความเพลิดเพลิน” และพวกเขาเป็น “ความด่างพร้อยและตำหนิ” คนพวกนี้ยังเจ้าเล่ห์อีกด้วย. พวกเขาดำเนินการ “อย่างเงียบ ๆ” โดยใช้ “คำหลอกลวง” ดังที่เปโตรชี้ในตอนต้น. (2 เปโตร 2:1, 3, 13, ล.ม.) ฉะนั้น พวกเขาอาจจะไม่ได้ท้าทายอย่างโจ่งแจ้งต่อความพยายามของผู้ปกครองในการค้ำชูมาตรฐานทางศีลธรรมของพระเจ้า หรือมุ่งติดตามการแสวงหาความเพลิดเพลินทางเพศของตนอย่างเปิดเผย. แทนที่จะเป็นเช่นนั้น เปโตรกล่าวว่าพวกเขาหมกมุ่นอยู่กับความ “สำราญอย่างไม่มีการเหนี่ยวรั้งในคำสอนหลอกลวงของพวกเขา ขณะที่กินเลี้ยงกับท่านทั้งหลาย.” และยูดาเขียนดังนี้: “คนเหล่านี้เป็นหินโสโครกในงานเลี้ยงผูกรักของท่านทั้งหลาย.” (ยูดา 12, ล.ม.) ใช่แล้ว เช่นเดียวกับหินโสโครกอาจครูดท้องเรือเสียหาย ทำให้คนเรือที่ไม่ตื่นตัวจมน้ำ ผู้สอนเท็จก็ทำให้คนที่ไม่ตื่นตัวเสื่อมเสีย คือคนที่พวกเขาแสร้งทำทีว่ารักอย่างหน้าซื่อใจคดใน “งานเลี้ยงผูกรัก.”
16. (ก) “งานเลี้ยงผูกรัก” คืออะไร และคนที่ผิดศีลธรรมอาจดำเนินการในสภาพแวดล้อมคล้าย ๆ กันเช่นไรในปัจจุบัน? (ข) ผู้สอนเท็จเพ่งความสนใจไปที่ใคร ดังนั้นคนเหล่านั้นต้องทำอะไร?
16 ดูเหมือนว่า “งานเลี้ยงผูกรัก” ดังกล่าวก็คืองานเลี้ยงสังสรรค์ซึ่งคริสเตียนในศตวรรษแรกมาพบกันเพื่อรับประทานอาหารและคบหาสมาคมกัน. ในบางโอกาสพยานพระยะโฮวาในทุกวันนี้ก็พบปะสังสรรค์กันด้วย อาจเนื่องในโอกาสงานเลี้ยงสมรส, ไปปิกนิก, หรือสังสรรค์กันในตอนเย็น. ปัจเจกบุคคลที่เสื่อมทรามบางคนอาจใช้โอกาสเช่นนี้ล่อลวงเหยื่ออย่างไร? เปโตรเขียนดังนี้: “เขามีตาเต็มไปด้วยการเล่นชู้. . . . และเขาล่อลวงจิตวิญญาณที่ไม่มั่นคง.” คนพวกนี้ “มีหัวใจที่ฝึกมาแล้วในความโลภ” ซึ่งเพ่งเล็งไปยังคนที่ไม่ค่อยมั่นคงทางฝ่ายวิญญาณซึ่งไม่ได้ทำให้ความจริงเป็นของตนเองอย่างแท้จริง. ดังนั้น จงให้สิ่งที่เกิดขึ้นในสมัยของเปโตรเป็นการเตือนเราและระวัง! จงต้านทานการเข้าหาอย่างไม่บริสุทธิ์แบบใดก็ตาม และอย่าปล่อยให้ตัวเองถูกหลอกโดยเสน่ห์หรือความดึงดูดทางกายของคนที่เข้ามาตีสนิทอย่างผิดศีลธรรม!—2 เปโตร 2:14, ล.ม.
“ทางของบาลาอัม”
17. “ทางของบาลาอัม” คืออะไร และทางนั้นส่งผลกระทบชนยิศราเอล 24,000 คนอย่างไร?
17 คนที่ “ถูกแช่งสาป” เหล่านี้ได้รู้จักความจริงมาชั่วระยะหนึ่งแล้ว. พวกเขาอาจยังคงดูเหมือนเอาการเอางานดีในประชาคม. แต่เปโตรกล่าวว่า “โดยละทิ้งทางตรง เขาจึงถูกนำไปผิดทาง. เขาได้ติดตามทางของบาลาอัม บุตร ของบะโอระ ผู้ได้รักบำเหน็จแห่งการกระทำผิด.” (2 เปโตร 2:14, 15, ล.ม.) ทางของผู้พยากรณ์บาลาอัมคือให้คำแนะนำเกี่ยวด้วยวิถีแห่งการล่อลวงที่ผิดศีลธรรมเพื่อผลประโยชน์สำหรับตนเอง. เขาบอกกษัตริย์บาลาคแห่งโมอาบว่าพระเจ้าจะแช่งชาติยิศราเอลหากสามารถล่อให้ชาวยิศราเอลทำผิดประเวณี. ผลคือ ไพร่พลพระเจ้ามากมายถูกล่อลวงโดยหญิงชาวโมอาบ และ 24,000 คนถูกประหารเพราะการประพฤติผิดศีลธรรมของเขา.—อาฤธโม 25:1-9; 31:15, 16; วิวรณ์ 2:14.
18. บาลาอัมดื้ออย่างไร และผลที่เขาได้รับบอกเป็นนัยเช่นไรสำหรับผู้สอนเท็จ?
18 เปโตรชี้ว่าบาลาอัมถูกขัดขวางเมื่อลาของเขาพูดกับเขา กระนั้น บาลาอัม “รักบำเหน็จแห่งการกระทำผิด” มากจนแม้เกิดเหตุการณ์เช่นนั้น เขาก็ยังไม่ยอมเลิก “แนวทางบ้าคลั่ง” ของเขา. (2 เปโตร 2:15, 16, ล.ม.) ช่างชั่วเสียจริง ๆ! วิบัติแก่ใครก็ตามที่เป็นเหมือนบาลาอัมซึ่งพยายามทำให้ไพร่พลพระเจ้าเสื่อมเสียโดยการล่อใจให้พวกเขาทำผิดศีลธรรม! บาลาอัมตายเพราะความชั่วของเขา เป็นภาพตัวอย่างถึงสิ่งที่จะเกิดขึ้นแก่ทุกคนที่ติดตามแนวทางของเขา.—อาฤธโม 31:8.
การล่อลวงอันชั่วร้ายของพวกเขา
19, 20. (ก) คนที่เป็นเหมือนบาลาอัมเปรียบได้กับอะไร และเพราะเหตุใด? (ข) คนเหล่านี้ล่อลวงใคร และโดยวิธีใด? (ค) ทำไมเราอาจกล่าวได้ว่าการล่อลวงของพวกเขานั้นชั่วร้าย และเราจะปกป้องตัวเราเองและคนอื่นจากคนพวกนี้ได้โดยวิธีใด?
19 ในการอธิบายคนที่เป็นเหมือนบาลาอัม เปโตรเขียนดังนี้: “คนเหล่านี้เป็นบ่อน้ำพุ [หรือบ่อน้ำ] ที่ไร้น้ำ และเป็นหมอก [หรือเมฆ] ที่ถูกพายุร้ายพัดพาไป.” สำหรับคนเดินทางในทะเลทรายผู้กระหายน้ำ บ่อน้ำที่ไร้น้ำอาจหมายถึงความตาย. ไม่แปลกเลยที่มีการ “สงวนความมืดทึบไว้” แล้วสำหรับคนที่มีลักษณะเช่นนั้น! เปโตรกล่าวต่อไปอีกว่า “เพราะเขาพูดคำอวดดีที่ไม่มีประโยชน์ และโดยความปรารถนาของเนื้อหนัง และโดยนิสัยหละหลวม เขาล่อลวงคนเหล่านั้นซึ่งกำลังหนีไปจากคนที่ประพฤติตัวในความผิด.” เปโตรกล่าวว่า พวกเขาล่อลวงคนขาดประสบการณ์โดย “สัญญาว่าจะให้คนเหล่านั้นมีเสรีภาพ” ขณะที่ “เขาเองก็ยังอยู่ในฐานะเป็นทาสของความเสื่อมเสีย.”—2 เปโตร 2:17-19, ล.ม.; ฆะลาเตีย 5:13.
20 การล่อลวงของผู้สอนที่เสื่อมเสียเช่นนั้นชั่วร้ายจริง ๆ. เพื่อเป็นตัวอย่าง พวกเขาอาจกล่าวว่า ‘พระเจ้าทราบว่าเราอ่อนแอและอยู่ใต้อำนาจกิเลส. ดังนั้น ถ้าเราปล่อยตัวและสนองความปรารถนาทางเพศของเรา พระเจ้าจะทรงเมตตา. ถ้าเราสารภาพบาปของเรา พระองค์จะทรงยกโทษให้เราดังที่พระองค์ได้ทำเมื่อเราเข้ามาในความจริงเป็นครั้งแรก.’ พึงระลึกว่าพญามารใช้วิธีเข้าหาฮาวาคล้าย ๆ กันนี้ทีเดียว โดยสัญญากับเธอว่าเธอสามารถทำบาปได้โดยไม่ถูกลงโทษ. ในกรณีของฮาวา มันอ้างว่าบาปต่อพระเจ้าจะทำให้เธอรู้แจ้งเห็นจริงและได้รับเสรีภาพ. (เยเนซิศ 3:4, 5) หากเราบังเอิญพบกับคนที่เสื่อมทรามเช่นนั้นสมทบอยู่กับประชาคม เราจำเป็นต้องป้องกันตัวเองและคนอื่นโดยรายงานเรื่องเกี่ยวกับคนนั้นต่อผู้มีหน้าที่รับผิดชอบในประชาคมคริสเตียน.—เลวีติโก 5:1, ล.ม.
ได้รับการปกป้องโดยความรู้ถ่องแท้
21-23. (ก) ผลของการไม่ได้ใช้ความรู้ถ่องแท้คืออะไร? (ข) เปโตรพูดถึงปัญหาอะไรอีกซึ่งจะพิจารณาในบทความถัดไป?
21 เปโตรกล่าวปิดท้ายจดหมายส่วนนี้ของท่านโดยพรรณนาถึงผลของการไม่ได้ใช้ความรู้ ซึ่งท่านกล่าวก่อนหน้านี้ว่าสำคัญต่อ “ชีวิตและความเลื่อมใสในพระเจ้า.” (2 เปโตร 1:2, 3, 8, ล.ม.) ท่านเขียนดังนี้: “แน่นอน ถ้าหากหลังจากหลุดพ้นจากมลทินของโลกโดยความรู้อันถ่องแท้ เกี่ยวกับพระเยซูคริสต์องค์พระผู้เป็นเจ้า พระผู้ช่วยให้รอดแล้ว เขาได้เข้าไปพัวพันอีกกับสิ่งเหล่านี้ทีเดียวและแพ้ สภาพในที่สุดก็เลวร้ายยิ่งกว่าตอนต้นสำหรับเขา.” (2 เปโตร 2:20, ล.ม.) ช่างน่าเศร้าเสียจริง! คนเช่นนั้นในสมัยของเปโตรได้สลัดทิ้งความหวังอันประเสริฐในการได้รับอมตชีพในสวรรค์เพื่อความเพลิดเพลินทางเพศเพียงชั่วครู่.
22 เหตุฉะนั้น เปโตรกล่าวว่า “สำหรับพวกเขา ดีกว่าที่จะไม่รู้จักทางแห่งความชอบธรรมอย่างถ่องแท้ แทนที่หลังจากรู้จักทางนั้นอย่างถ่องแท้แล้ว หันหลังให้พระบัญญัติบริสุทธิ์ที่ทรงประทานแก่เขา. คำกล่าวของสุภาษิตแท้ก็ตกแก่เขาคือ: ‘สุนัขได้กลับกินของซึ่งมันได้สำรอกออกมา และสุกรที่ล้างแล้วก็กลับลงไปเกลือกกลั้วในปลักอีก.’”—2 เปโตร 2:21, 22, ล.ม.; สุภาษิต 26:11.
23 เห็นได้ชัดว่า ปัญหาอีกอย่างหนึ่งซึ่งเริ่มมีผลต่อคริสเตียนในยุคแรกนั้นคล้ายคลึงกับปัญหาที่มีผลกระทบต่อบางคนในปัจจุบัน. ย้อนกลับไปตอนนั้นปรากฏว่าบางคนกำลังบ่นว่าการประทับตามคำสัญญาของพระคริสต์ดูเหมือนไม่มาแล้ว. ให้เราพิจารณาวิธีที่เปโตรให้ความเอาใจใส่ต่อเรื่องนี้.
คุณจำได้ไหม?
▫ เปโตรอ้างถึงสามตัวอย่างอะไรบ้างเพื่อเป็นข้อเตือนใจ?
▫ ผู้สอนเท็จ “ดูถูกตำแหน่งผู้เป็นนาย” อย่างไร?
▫ ทางของบาลาอัมคืออะไร และคนที่ติดตามทางนั้นอาจพยายามล่อลวงคนอื่นอย่างไร?
▫ ผลของการไม่ได้ใช้ความรู้ถ่องแท้คืออะไร?
[รูปภาพหน้า 17]
บาลาอัมเป็นตัวอย่างที่ให้คำเตือน