จงเข้าร่วมประสานกันในความรัก
“จงเข้าร่วมประสานกันในความรัก.”—โกโลซาย 2:2, ล.ม.
1, 2. ในทุกวันนี้มีการรับรู้ถึงอิทธิพลอะไรโดยเฉพาะที่ก่อให้เกิดการแตกแยก?
ฟังซิ! เสียงดังก้องทั่วท้องฟ้าประกาศว่า “วิบัติแก่แผ่นดินโลกและทะเล เพราะพญามารได้ลงมาถึงพวกเจ้าแล้ว มีความโกรธยิ่งนัก ด้วยรู้ว่ามันมีระยะเวลาอันสั้น.” (วิวรณ์ 12:12, ล.ม.) เมื่อแต่ละปีล่วงผ่านไป ข่าวสารนี้ยิ่งส่อลางร้ายมากขึ้นสำหรับผู้คนบนแผ่นดินโลก.
2 ศัตรูสำคัญของพระยะโฮวาเป็นที่รู้จักมานานว่าเป็นผู้ต่อต้าน (ซาตาน) และผู้พูดใส่ร้าย (พญามาร). แต่เวลานี้ผู้หลอกลวงตนนี้รับเอาบทบาทชั่วร้ายอีกแบบหนึ่ง คือมันกลายเป็นพระเจ้าที่อาฆาตมาดร้าย! เพราะเหตุใด? เพราะว่ามิคาเอลอัครทูตสวรรค์และทูตสวรรค์อื่นที่อยู่ฝ่ายพระองค์ได้ขับไล่มันออกจากสวรรค์เมื่อมีสงครามในสวรรค์ซึ่งเริ่มในปี 1914. (วิวรณ์ 12:7-9) พญามารรู้ว่าเวลาเหลือน้อยที่จะพิสูจน์คำท้าทายที่ว่า มันสามารถชักจูงมนุษย์ทั้งปวงให้เลิกนมัสการพระเจ้าได้. (โยบ 1:11; 2:4, 5) ครั้นหมดหนทางแล้ว ซาตานกับบริวารของมันก็เหมือนฝูงผึ้งที่โกรธ ซึ่งระบายความโกรธออกไปยังมนุษยชาติที่ปั่นป่วนวุ่นวาย.—ยะซายา 57:20.
3. สืบเนื่องจากการตกต่ำของซาตานจึงเกิดผลอะไรในสมัยของเรา?
3 เหตุการณ์เหล่านี้ที่ไม่ประจักษ์แก่ตามนุษย์ชี้ถึงสาเหตุการเสื่อมเสียทางศีลธรรมที่มีทั่วไปท่ามกลางมนุษยชาติเวลานี้. นอกจากนั้น ยังชี้ถึงสาเหตุที่มนุษย์พยายามอย่างบ้าคลั่งที่จะเชื่อมรอยแตกแยกระหว่างชาติต่าง ๆ ซึ่งไม่อาจอยู่ร่วมกันได้อย่างสามัคคี. เผ่าพันธุ์ต่าง ๆ และชนกลุ่มน้อยต่อสู้กันอย่างเหี้ยมโหด เป็นเหตุให้ผู้คนนับล้านพลัดถิ่นและไร้ที่อาศัย. ไม่แปลกเลยที่การละเลยกฎหมายเพิ่มทวีอย่างไม่เคยมีมาก่อน! ดังพระเยซูตรัสไว้ล่วงหน้าว่า ‘ความรักของคนเป็นอันมากเยือกเย็นลง.’ ทั่วทุกหนทุกแห่ง ความไม่ปรองดองและการขาดความรักเป็นลักษณะเด่นของมนุษยชาติที่ไม่สงบในเวลานี้.—มัดธาย 24:12.
4. เพราะเหตุใดไพร่พลของพระเจ้าตกอยู่ในอันตรายเป็นพิเศษ?
4 เมื่อคำนึงถึงสถานการณ์ของโลก คำอธิษฐานของพระเยซูเผื่อสาวกของพระองค์นั้นยิ่งมีความหมายมากขึ้น ที่ว่า “ข้าพเจ้าทูลขอพระองค์ มิให้นำพวกเขาไปจากโลก แต่ขอทรงพิทักษ์เขาไว้เพราะตัวชั่วร้ายนั้น. พวกเขาไม่เป็นส่วนของโลกเหมือนข้าพเจ้าไม่เป็นส่วนของโลก.” (โยฮัน 17:15, 16, ล.ม.) ทุกวันนี้ “ตัวชั่วร้ายนั้น” ระบายความโกรธโดยเฉพาะอย่างยิ่งกับบุคคลเหล่านั้น “ซึ่งปฏิบัติตามข้อบัญญัติต่าง ๆ ของพระเจ้าและมีงานเป็นพยานถึงพระเยซู.” (วิวรณ์ 12:17, ล.ม.) หากไม่เป็นเพราะพระยะโฮวาทรงเฝ้าเอาพระทัยใส่ดูแลด้วยความรัก เหล่าพยานฯที่สัตย์ซื่อของพระองค์คงถูกทำลายหมดแล้ว. ชีวิตของเราขึ้นอยู่กับการใช้ประโยชน์จากการจัดเตรียมทุกอย่างของพระเจ้าเพื่อความปลอดภัยและสวัสดิภาพฝ่ายวิญญาณของเรา. ทั้งนี้รวมเอาการบากบั่นของเราเพื่อให้สอดคล้องกับการดำเนินงานแห่งฤทธิ์เดชของพระเจ้าผ่านทางพระคริสต์ ดังอัครสาวกได้กระตุ้นเตือนที่โกโลซาย 1:29.
5, 6. อัครสาวกเปาโลมีความรู้สึกเช่นไรต่อคริสเตียนชาวโกโลซาย และทำไมข้อคัมภีร์ประจำปี 1995 จึงเหมาะสม?
5 แม้เปาโลอาจไม่เคยเห็นหน้าพี่น้องในเมืองโกโลซายก็ตาม แต่ท่านรักพี่น้องเหล่านั้น. ท่านพูดกับเขาดังนี้: “เพราะข้าพเจ้าต้องการให้ท่านทั้งหลายรู้ว่า ข้าพเจ้าตะเกียกตะกายมากเพียงใดเพื่อท่านทั้งหลาย.” (โกโลซาย 2:1, ล.ม.) เนื่องจากสาวกของพระเยซูไม่เป็นส่วนของโลก “ตัวชั่วร้ายนั้น” จึงพยายามไม่ลดละที่จะทำลายความสามัคคีระหว่างพี่น้อง โดยการเพาะวิญญาณของโลกในท่ามกลางพวกเขา. ข่าวที่เอปาฟรัศนำมาจากเมืองโกโลซายแสดงว่าสิ่งนั้นได้เกิดขึ้นบ้างแล้ว.
6 ความห่วงใยประการสำคัญที่เปาโลมีต่อพี่น้องคริสเตียนอาจสรุปได้ด้วยถ้อยคำนี้: “จงร่วมประสานสามัคคีกันด้วยความรัก.” ถ้อยคำของท่านมีความหมายเป็นพิเศษในปัจจุบัน ในโลกซึ่งไม่มีเอกภาพและขาดความรักเช่นนี้. หากเราปฏิบัติตามคำแนะนำของเปาโลอย่างจริงจัง เราจะได้รับการดูแลจากพระยะโฮวา. นอกจากนั้น เราจะได้ประสบฤทธิ์แห่งพระวิญญาณของพระองค์ในชีวิตของเรา ซึ่งจะช่วยเราต้านทานความกดดันต่าง ๆ ของโลก. คำแนะนำที่สุขุมจริง ๆ! ดังนั้น โกโลซาย 2:2 จะเป็นข้อคัมภีร์ประจำปี 1995 ของเรา.
7. น่าจะพบเห็นการเข้าประสานกันลักษณะไหนท่ามกลางคริสเตียนแท้?
7 ในจดหมายซึ่งมีไปถึงชาวโกรินโธฉบับก่อนหน้านั้น อัครสาวกเปาโลได้ใช้ร่างกายมนุษย์เป็นตัวอย่างประกอบ. ท่านเขียนดังนี้: “ไม่ให้มีการแก่งแย่งกัน” ภายในประชาคมคริสเตียนผู้ถูกเจิม แต่ “ให้อวัยวะทั้งสิ้นมีความเอื้อเฟื้อซึ่งกันและกัน.” (1 โกรินโธ 12:12, 24, 25) นับว่าเป็นตัวอย่างประกอบที่น่าทึ่งจริง ๆ! แขนขาของเราเป็นอวัยวะที่ต้องอาศัยซึ่งกันและกัน แต่ละส่วนต่อติดกันกับส่วนอื่น ๆ ในร่างกายของเรา. หลักการอย่างเดียวกันนี้ใช้ได้กับสังคมพี่น้องทั่วโลก ซึ่งประกอบด้วยผู้ถูกเจิมและผู้คนอีกหลายล้านที่มีความหวังจะอยู่บนแผ่นดินโลกที่เป็นอุทยานตลอดไป. เราต้องไม่ตัดตัวเองออกจากกลุ่มเพื่อนคริสเตียน แล้วแยกตัวเป็นเอกเทศ! โดยการดำเนินงานผ่านทางพระเยซูคริสต์ พระวิญญาณของพระเจ้าซึมซาบล้นเหลือในตัวเรา เนื่องด้วยเราได้คบหาสมาคมกับพี่น้องของเรานั่นเอง.
ความสามัคคีเกี่ยวโยงกับความรู้
8, 9. (ก) อะไรเป็นสิ่งสำคัญต่อการที่เราจะส่งเสริมความสามัคคีในประชาคม? (ข) คุณได้รับความรู้เกี่ยวด้วยพระคริสต์โดยวิธีใด?
8 จุดสำคัญประการหนึ่งที่เปาโลพูดถึงคือความสามัคคีของคริสเตียนเกี่ยวโยงกับความรู้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งความรู้เกี่ยวด้วยพระคริสต์. เปาโลเขียนว่า คริสเตียนควร “เข้าร่วมประสานกันในความรักและด้วยประสงค์ความมั่งคั่งทั้งสิ้นในเรื่องความมั่นใจอันครบถ้วนแห่งความเข้าใจของเขา, ด้วยประสงค์จะได้ความรู้ถ่องแท้เรื่องความลับอันศักดิ์สิทธิ์ของพระเจ้า ได้แก่พระคริสต์.” (โกโลซาย 2:2, ล.ม.) เรารับเอาความรู้ ซึ่งก็คือข้อเท็จจริงต่าง ๆ นับตั้งแต่เราเริ่มต้นศึกษาพระคำของพระเจ้า. เมื่อส่วนแห่งการรับความเข้าใจว่าข้อเท็จจริงเหล่านี้หลายข้อลงรอยกับพระประสงค์ของพระเจ้า เราจึงได้มาเข้าใจบทบาทอันสำคัญยิ่งของพระเยซู. “คลังสติปัญญาและความรู้ทุกอย่างทรงปิดซ่อนไว้ในพระองค์นั้น.”—โกโลซาย 2:3.
9 นั่นเป็นความรู้สึกของคุณที่มีต่อพระเยซูและบทบาทของพระองค์ในพระประสงค์ของพระเจ้าไหม? หลายคนในคริสต์ศาสนจักรพร้อมจะพูดถึงพระเยซูทันที โดยอ้างว่าตนได้รับรองพระองค์แล้วและได้รับการช่วยให้รอด. แต่เขารู้จักพระองค์จริง ๆ ไหม? ไม่หรอก เพราะส่วนใหญ่เขาเชื่อคำสอนเรื่องตรีเอกานุภาพซึ่งไม่มีในคัมภีร์ไบเบิล. คุณไม่เพียงแต่รู้ความจริงเกี่ยวกับเรื่องนี้ แต่คุณคงจะมีความรู้ที่กว้างขวางอย่างแท้จริงเกี่ยวกับสิ่งที่พระเยซูได้ตรัสและที่พระองค์ได้ทำ. ผู้คนหลายล้านได้รับการช่วยเพื่อให้ได้มาซึ่งความรู้เกี่ยวด้วยพระคริสต์ โดยการศึกษาที่อาศัยข้อมูลมากมายจากหนังสือบุรุษผู้ใหญ่ยิ่งเท่าที่โลกเคยเห็น. กระนั้น เราจะต้องให้ความรู้เรื่องพระเยซูและแนวทางต่าง ๆ ของพระองค์ลึกซึ้งยิ่งขึ้นเรื่อย ๆ.
10. ความรู้ที่ปิดซ่อนไว้มีไว้พร้อมสำหรับเราในทางใด?
10 คำพูดที่ว่า “คลังสติปัญญาและความรู้ทุกอย่างทรงปิดซ่อนไว้” ในพระเยซู ไม่ได้หมายความว่า ความรู้นั้นเกินที่เราจะเข้าใจได้. แทนที่จะเป็นเช่นนั้น คลังความรู้นั้นเปรียบเสมือนเหมืองแร่เปิด. เราไม่ต้องสำรวจหาเป็นบริเวณกว้าง โดยไม่รู้ว่าจะลงมือขุดตรงไหน. เรารู้อยู่แล้วว่า ความรู้ถ่องแท้นั้นเริ่มต้นกับสิ่งที่คัมภีร์ไบเบิลเปิดเผยเรื่องพระเยซูคริสต์. ขณะที่เราเข้าใจมากขึ้นเกี่ยวด้วยบทบาทของพระเยซูในพระประสงค์ของพระยะโฮวา เราก็ได้พบคลังสติปัญญาแท้และความรู้ถ่องแท้. ดังนั้น สิ่งที่เราพึงทำคือขุดลึกลงไปเรื่อย ๆ แล้วเก็บเอาเพชรพลอยหรือสินแร่มีค่าที่มีอยู่ในแหล่งแร่ที่เราขุดแล้ว.—สุภาษิต 2:1-5.
11. เราอาจเพิ่มพูนความรู้และสติปัญญาได้อย่างไรโดยการใคร่ครวญถึงเรื่องพระคริสต์? (ใช้ตัวอย่างที่พระเยซูทรงล้างเท้าอัครสาวก หรือตัวอย่างอื่น.)
11 ยกตัวอย่าง เราอาจรู้แล้วว่าพระเยซูทรงล้างเท้าอัครสาวกของพระองค์. (โยฮัน 13:1-20) แต่เราได้ใคร่ครวญบทเรียนที่พระองค์สั่งสอนและทัศนะที่พระองค์แสดงออกไหม? ด้วยการใคร่ครวญเช่นนั้น เราอาจตักเอาสมบัติล้ำค่าแห่งสติปัญญาขึ้นมาได้ ซึ่งสามารถทำให้เรา ใช่แล้วกระตุ้นเรา ให้ปรับเปลี่ยนแนวทางที่เราปฏิบัติต่อพี่น้องชายหญิงซึ่งลักษณะนิสัยของเขาเคยทำให้เรารู้สึกหงุดหงิดรำคาญใจมานาน. หรือเมื่อเราได้รับมอบหมายให้ทำงานบางอย่างที่เราไม่ค่อยชอบ การตอบรับของเราอาจจะต่างออกไป ครั้นเราเข้าใจความหมายของพระธรรมโยฮัน 13:14, 15 อย่างเต็มที่. นี่เป็นวิธีที่ความรู้และสติปัญญาส่งผลกระทบตัวเรา. อาจก่อผลเช่นไรต่อผู้อื่นขณะที่เราเลียนแบบพระคริสต์มากยิ่งขึ้นตามความรู้ถ่องแท้ที่เพิ่มพูนขึ้นเกี่ยวกับพระองค์? เป็นไปได้ที่ฝูงแกะจะ ‘ร่วมประสานกันแน่นแฟ้นยิ่งขึ้นในความรัก.’a
ความไขว้เขวอาจทำลายความสามัคคี
12. เกี่ยวกับความรู้อะไรที่เราจะต้องระมัดระวัง?
12 ถ้าความรู้ถ่องแท้ทำให้ ‘การร่วมประสานกันในความรัก’ ของเราเป็นไปได้ง่ายขึ้น แล้วจะเป็นอย่างไรกับสิ่ง “ที่เขาเรียกผิดไปว่า ‘ความรู้’”? ผลย่อมตรงกันข้ามทีเดียว นั่นคือ การโต้เถียง, ความบาดหมาง, และการเหไปจากความเชื่อ. ดังนั้น เราต้องระมัดระวังความรู้เท็จดังกล่าว ดังที่เปาโลได้เตือนติโมเธียว. (1 ติโมเธียว 6:20, 21) เปาโลยังได้เขียนด้วยว่า “ข้าพเจ้ากล่าวเช่นนี้, เพื่อมิให้ผู้ใดล่อลวงท่านด้วยคำชักชวนอันน่าฟัง. จงระวังให้ดี, เกรงว่าจะมีผู้หนึ่งผู้ใดนำท่านทั้งหลายให้หลงด้วยหลักปรัชญาและด้วยคำล่อลวงเหลวไหล, ตามเรื่องซึ่งมนุษย์สอนกันต่อ ๆ มานั้น, ตามโลกธรรม, และไม่ใช่ตามพระคริสต์.”—โกโลซาย 2:4, 8.
13, 14. (ก) เหตุใดพวกพี่น้องชาวโกโลซายเสี่ยงอันตรายในเรื่องความรู้? (ข) ทำไมบางคนสมัยนี้อาจคิดว่าตัวเองไม่อยู่ในภาวะที่เป็นอันตรายอย่างนั้น?
13 คริสเตียนที่เมืองโกโลซายถูกห้อมล้อมไปด้วยแรงโน้มน้าวใจที่แฝงอันตรายซึ่งจริง ๆ แล้วเรียกกันอย่างผิด ๆ ว่าความรู้. ผู้คนมากมายในเมืองโกโลซายและที่อยู่รอบ ๆ พากันยกย่องเชิดชูปรัชญากรีก. นอกจากนี้ ก็ยังมีพวกส่งเสริมลัทธิยูดาย ซึ่งต้องการให้คริสเตียนถือรักษาบัญญัติของโมเซ อาทิ การถือวันเทศกาล และข้อเรียกร้องเรื่องการกินการดื่ม. (โกโลซาย 2:11, 16, 17) เปาโลไม่คัดค้านการที่พี่น้องของท่านได้ความรู้แท้ แต่พวกเขาพึงระมัดระวังไม่ให้ใคร ๆ ชักพาเขาไปเป็นเหยื่อ ด้วยการใช้ข้อโต้เถียงเพื่อโน้มน้าวใจให้รับเอาทัศนะของมนุษย์เกี่ยวด้วยชีวิตและการกระทำ. คุณย่อมเข้าใจได้ว่า หากบางคนในประชาคมยอมให้ความคิดและทัศนะซึ่งไม่เป็นตามพระคัมภีร์เข้าควบคุมแนวคิดและการตัดสินใจของตัวเอง การทำเช่นนั้นคงจะขัดขวางความสามัคคีและความรักระหว่างสมาชิกประชาคม.
14 คุณอาจคิดทำนองนี้ ‘ใช่ ฉันมองเห็นอันตรายที่ชาวโกโลซายได้เผชิญ แต่ฉันไม่ได้อยู่ในสภาพล่อแหลมที่จะถูกโน้มน้าวจากแนวความคิดทางปรัชญากรีก เช่น เรื่องจิตวิญญาณอมตะ หรือเรื่องพระเจ้าที่เป็นตรีเอกานุภาพ, และฉันไม่เห็นอันตรายใด ๆ ว่าจะถูกล่อใจด้วยวันเทศกาลแบบนอกรีตที่ปฏิบัติในศาสนาเท็จซึ่งฉันได้เลิกปฏิบัติ.’ นั่นก็ดีแล้ว. นับว่าดีที่มั่นใจแน่วแน่ในความจริงพื้นฐานที่ดีกว่าที่ได้เปิดเผยโดยพระเยซู และซึ่งหาพบได้ในพระคัมภีร์. แต่อาจเป็นไปได้ไหมที่เราจะประสบอันตรายจากปรัชญาหรือทัศนะอื่น ๆ ของมนุษย์ที่แพร่หลายทั่วไปเวลานี้?
15, 16. ทัศนะเช่นไรต่อชีวิตอาจกระทบกระเทือนแนวคิดของคริสเตียน?
15 ทัศนะเช่นว่าอย่างหนึ่งซึ่งมีมานานก็คือ “การประทับของพระองค์ที่ทรงสัญญาไว้นี้อยู่ที่ไหนล่ะ? อ้าว ตั้งแต่สมัยที่บรรพบุรุษของเราได้ล่วงหลับไปในความตาย สิ่งทั้งปวงก็ดำเนินต่อไปเหมือนทีเดียว อย่างที่เป็นอยู่ตั้งแต่ตอนเริ่มต้นการทรงสร้าง.” (2 เปโตร 3:4, ล.ม.) ความรู้สึกดังกล่าวอาจพูดออกมาเป็นถ้อยคำอย่างอื่นก็ได้ แต่แง่คิดก็เหมือนกัน. ยกตัวอย่าง บางคนอาจชักเหตุผลว่า ‘ตอนที่ฉันเริ่มเรียนความจริงเมื่อหลายสิบปีก่อน อวสาน “จวนจะถึงอยู่แล้ว.” แต่บัดนี้ก็ยังมาไม่ถึง และใครเล่าจะรู้ว่าอวสานจะมาเมื่อไร?’ จริงอยู่ ไม่มีมนุษย์คนใดล่วงรู้ว่าอวสานจะมาถึงเมื่อไร. แต่จงสังเกตที่พระเยซูทรงกระตุ้นเราให้มีแง่คิดดังนี้: “จงเฝ้าระวังและอธิษฐานอยู่, เพราะท่านไม่รู้ว่าเวลาวันนั้นจะมาถึงเมื่อไร.”—มาระโก 13:32, 33.
16 คงจะเป็นอันตรายสักเพียงใดหากรับเอาทัศนะที่ว่า เนื่องจากไม่รู้อวสานจะมาถึงเมื่อไร เราน่าจะวางแผนใช้ชีวิตให้เต็มที่และอย่าง “ปกติ”! ทัศนะเช่นนั้นอาจแสดงให้เห็นโดยการหาเหตุผลว่า ‘คงจะดีหากฉัน (หรือลูก) มุ่งสู่อาชีพการงานที่มีหน้ามีตาและมีรายได้งาม และฉันจะมีชีวิตที่สะดวกสบาย. แน่ละ ฉันก็จะเข้าร่วมการประชุมคริสเตียนและมีส่วนในงานประกาศบ้าง แต่ฉันไม่จำเป็นต้องทุ่มเทตัวเองหรือเสียสละมากมาย.’—มัดธาย 24:38-42.
17, 18. พระเยซูและเหล่าอัครสาวกกระตุ้นเตือนเราให้มีทัศนะเช่นไร?
17 อย่างไรก็ตาม จะปฏิเสธไม่ได้เลยว่าพระเยซูและเหล่าอัครสาวกได้แนะนำเราให้ดำเนินชีวิตด้วยการสำนึกถึงความเร่งด่วนที่ต้องประกาศข่าวดี ทุ่มเทกำลังความสามารถของตนและเป็นคนเต็มใจเสียสละ. เปาโลเขียนดังนี้: “ดูก่อนพี่น้องทั้งหลาย, ข้าพเจ้าขอบอกเช่นนี้ว่า, เวลานั้นก็ใกล้เข้ามาแล้ว ตั้งแต่นี้ไปให้คนเหล่านั้นที่มีภรรยาได้เป็นเหมือนไม่มี . . . และผู้ที่ซื้อก็ให้ได้เป็นเหมือนผู้ไม่มีอะไรเลย และคนที่ใช้ของในโลกนี้ให้เป็นเหมือนมิได้ใช้อย่างเต็มที่เลย ด้วยว่าความนิยมของโลกนี้ก็ล่วงไป.”—1 โกรินโธ 7:29-31; ลูกา 13:23, 24; ฟิลิปปอย 3:13-15; โกโลซาย 1:29; 1 ติโมเธียว 4:10; 2 ติโมเธียว 2:4; วิวรณ์ 22:20.
18 เปาโลไม่ได้ชี้แนะเราแม้แต่น้อยให้ถือเอาความสะดวกสบายเป็นเป้าหมายในชีวิต ท่านได้รับการดลใจให้เขียนดังนี้: “เพราะเราไม่ได้นำอะไรเข้ามาในโลกฉันใด เราไม่อาจนำอะไรออกไปจากโลกได้ฉันนั้น. ดังนั้น ถ้าเรามีเครื่องอุปโภคบริโภค เราจะอิ่มใจด้วยของเหล่านี้. . . . จงเข้าในการสู้อย่างดีเพื่อความเชื่อ, ยึดมั่นอยู่กับชีวิตนิรันดร์ตามที่ได้ทรงเลือกท่านไว้ และท่านก็ได้ให้คำประกาศอันดีอย่างเปิดเผยต่อหน้าพยานหลายคน.”—1 ติโมเธียว 6:7-12, ล.ม.
19. ประชาคมได้รับผลกระทบอย่างไรเมื่อคนในประชาคมได้รับรองเอาทัศนะต่อชีวิตอย่างที่พระเยซูทรงสนับสนุน?
19 เมื่อประชาคมหนึ่งประกอบด้วยคริสเตียนที่มีความกระตือรือร้น ซึ่งบากบั่นเต็มกำลังที่จะ “ให้คำประกาศอันดีอย่างเปิดเผย” ความสามัคคีก็ย่อมเกิดขึ้นเป็นธรรมดา. พวกเขาไม่ยอมจำนนต่อทัศนคติที่ว่า ‘คุณมีทรัพย์สิ่งของที่ดี ๆ มากมายพอใช้พอกินไปได้อีกหลายปี, เพลามือเสียบ้าง, แล้วก็กินดื่ม, หาความสำราญให้ตัวเอง.’ (ลูกา 12:19) แทนที่จะเป็นเช่นนั้น พวกเขาพร้อมใจกันในความบากบั่นพยายามอย่างเดียวกัน เต็มใจเสียสละเพื่อมีส่วนเต็มที่เท่าที่ทำได้ในงานซึ่งจะไม่มีการทำซ้ำอีก.—เทียบกับฟิลิปปอย 1:27, 28.
ระวังคำชักชวนอันน่าฟัง
20. ภายในขอบข่ายอะไรอีกที่คริสเตียนจะถูกชักนำให้เขวไปได้?
20 แน่นอน มีแนวทางอื่น ๆ ซึ่งคริสเตียนอาจ ‘ถูกหลอกด้วยคำชักชวนอันน่าฟัง’ หรือคำหลอกลวงอันไร้แก่นสาร ซึ่งขัดต่อ ‘การเข้าร่วมประสานกันในความรัก.’ สำนักงานสาขาสมาคมว็อชเทาเวอร์ ไบเบิล ในประเทศเยอรมนีเขียนรายงานดังนี้: “มีกรณีหนึ่งก่อให้เกิดการโต้เถียงกัน ผู้ประกาศแม้กระทั่งผู้ปกครองต่างก็เข้าข้างพี่น้องไม่ฝ่ายใดก็ฝ่ายหนึ่งเกี่ยวกับวิธีการรักษา.” พวกเขาเสริมว่า “เนื่องจากวิธีรักษามีหลากหลายและจำนวนผู้ป่วยก็มีมาก นี่จึงเป็นเรื่องเป็นราวที่เถียงกันได้. และหากวิธีการรักษาโรคส่อเค้าไปทางลัทธิผีปิศาจ ก็อาจจะเป็นอันตรายอีกด้วย.”—เอเฟโซ 6:12.
21. ทุกวันนี้คริสเตียนอาจสูญเสียจุดรวมความสนใจที่ถูกต้องได้อย่างไร?
21 คริสเตียนต้องการมีชีวิตต่อไปและมีสุขภาพดี เพื่อเขาจะสามารถนมัสการพระเจ้าได้. ถึงกระนั้น ในระบบนี้ เราต้องแก่ลงและเจ็บป่วยสืบเนื่องมาจากความไม่สมบูรณ์. แทนที่จะมุ่งเน้นประเด็นต่าง ๆ ด้านสุขภาพ เราน่าจะเอาใจจดจ่ออยู่กับวิธีแก้ที่แท้จริงสำหรับตัวเราและคนอื่นด้วย. (1 ติโมเธียว 4:16) พระคริสต์ทรงเป็นศูนย์รวมแห่งวิธีแก้นั้น เหมือนกับที่พระองค์เป็นจุดรวมของคำแนะนำต่าง ๆ ที่เปาโลให้แก่ชาวโกโลซาย. แต่จำไว้ว่า เปาโลได้ชี้ว่าบางคนอาจเข้ามาพร้อมกับ ‘การถกเถียงเพื่อโน้มน้าวใจ’ ด้วยหวังจะหันความสนใจของเราไปจากพระคริสต์ บางทีอาจให้เราหันไปสนใจวิธีการวินิจฉัยโรค, การรักษาพยาบาล, หรือเรื่องอาหารการกิน.—โกโลซาย 2:2-4.
22. เราพึงมีทัศนะที่สมดุลเช่นไรในเมื่อมีการอ้างกันมากมายถึงเรื่องการวินิจฉัยโรคและการรักษา?
22 ผู้คนทั่วโลกถูกกระหน่ำด้วยการโฆษณาและคำรับรองผลเกี่ยวกับการรักษาโรคและวิธีวินิจฉัยโรคสารพัดรูปแบบ. บางอย่างก็เป็นที่ยอมรับและใช้กันอย่างกว้างขวาง; บางอย่างก็ถูกวิพากษ์วิจารณ์หรือยังเป็นที่เคลือบแคลงสงสัยกันอยู่.b แต่ละคนต้องรับผิดชอบในการตัดสินใจว่าตนจะทำอย่างไรเกี่ยวกับสุขภาพของตน. แต่ผู้ที่ยอมรับคำแนะนำของเปาโลในโกโลซาย 2:4, 8 นั้นย่อมได้รับการป้องกันไว้จากการถูกหลอก ด้วย ‘การถกเถียงเพื่อโน้มน้าวใจ’ หรือ ‘คำหลอกลวงอันไร้แก่นสาร’ ซึ่งได้ชักนำหลายคนให้หลงซึ่งเป็นผู้ที่ไม่มีความหวังในเรื่องราชอาณาจักรและปรารถนาอย่างยิ่งที่จะได้รับการบรรเทา. แม้ว่าคริสเตียนคนใดมั่นใจว่าวิธีรักษาอย่างหนึ่งดูเหมือนจะดีสำหรับตัวเอง เขาก็ไม่ควรส่งเสริมวิธีนั้นแก่พวกพี่น้องคริสเตียน เพราะอาจกลายเป็นหัวเรื่องสนทนาและถกเถียงที่กระจายไปอย่างกว้างขวาง. โดยวิธีนี้ เขาสามารถแสดงให้เห็นว่าตนนับถืออย่างสูงต่อความสำคัญของความสามัคคีในประชาคม.
23. เพราะเหตุใดเราจึงมีสาเหตุจะชื่นชมยินดีเป็นพิเศษ?
23 อัครสาวกเปาโลได้ย้ำว่า ความสามัคคีของคริสเตียนเป็นพื้นฐานของความยินดีที่แท้จริง. ในสมัยของท่าน จำนวนประชาคมมีน้อยกว่าในสมัยปัจจุบันอย่างแน่นอน. กระนั้น ท่านสามารถเขียนถึงชาวโกโลซายดังนี้: “มาตรแม้นตัวของข้าพเจ้าไม่อยู่กับท่าน, แต่ใจของข้าพเจ้ายังอยู่กับท่าน, และมีความยินดีที่แลเห็นท่านทั้งหลายอยู่เรียบร้อย, และเห็นความเชื่อมั่นคงของท่านในพระคริสต์.” (โกโลซาย 2:5, ดูโกโลซาย 3:14 ด้วย.) เรามีสาเหตุที่จะชื่นชมยินดีมากกว่าสักเพียงใด! เราสามารถเห็นหลักฐานชัดแจ้งแสดงถึงความสามัคคี, ระบบระเบียบที่ดี, และความเชื่อที่มั่นคงในประชาคมของเราเอง ซึ่งสะท้อนสภาพการณ์ทั่วไปของไพร่พลของพระเจ้าทั่วโลก. ดังนั้น เท่าที่เวลาแห่งระบบปัจจุบันยังเหลืออีกไม่นาน ขอให้พวกเราแต่ละคนตั้งใจแน่วแน่ที่จะ “ร่วมประสานกันในความรัก.”
[เชิงอรรถ]
a แม้ว่าเราสามารถเรียนรู้ได้จากเรื่องราวต่าง ๆ มากมาย แต่ดูซิว่าโดยส่วนตัวแล้ว คุณสามารถเรียนรู้อะไรได้เกี่ยวกับพระเยซูจากตัวอย่างต่อไปนี้ซึ่งส่งเสริมความสามัคคีภายในประชาคมของคุณ: มัดธาย 12:1-8; ลูกา 2:51, 52; 9:51-55; 10:20; เฮ็บราย 10:5-9.
b โปรดดูหอสังเกตการณ์ ฉบับ 1 ธันวาคม 1982 หน้า 25-29.
คุณได้สังเกตไหม?
▫ คัมภีร์ข้อใดเป็นข้อคัมภีร์ประจำปี 1995 สำหรับพยานพระยะโฮวา?
▫ เพราะเหตุใดคริสเตียนชาวโกโลซายจึงต้องร่วมประสานกันในความรัก และทำไมเวลานี้เราต้องทำเช่นนั้นด้วย?
▫ ทัศนะต่อชีวิตอันแฝงด้วยอันตรายซึ่งคริสเตียนสมัยนี้จะต้องระมัดระวังคืออะไร?
▫ เหตุใดคริสเตียนควรตื่นตัวไม่ยอมให้ถูกชักพาให้หลงไปในทางผิด โดยการโต้เถียงเพื่อโน้มน้าวใจเกี่ยวกับสุขภาพและการวินิจฉัยโรค?
[รูปภาพหน้า 17]
แผนการของคุณสำหรับอนาคตรวมจุดอยู่ที่การประทับของพระเยซูไหม?