บท 18
แผ่นดินไหวในวันขององค์พระผู้เป็นเจ้า
1, 2. (ก) การประสบแผ่นดินไหวที่รุนแรงนั้นเป็นอย่างไร? (ข) โยฮันได้พรรณนาถึงอะไรเมื่อมีการแกะดวงตราที่หก?
คุณเคยประสบกับแผ่นดินไหวที่รุนแรงไหม? มันไม่ใช่ประสบการณ์ที่น่ายินดีเลย. แผ่นดินไหวใหญ่อาจเริ่มด้วยการสั่นไหวที่ทำให้วิงเวียนพร้อมด้วยเสียงครืนครั่น. การสั่นไหวอาจหนักขึ้นเป็นระลอก ๆ ในขณะที่คุณปราดเข้าหาที่ปลอดภัย ซึ่งอาจเป็นใต้โต๊ะก็ได้. หรือแผ่นดินไหวอาจมีขึ้นพร้อมกับการสั่นไหวอย่างกะทันหัน ซึ่งก่อให้เกิดการแตกทลาย แล้วตามมาด้วยเสียงแตกของถ้วยชาม, เครื่องเรือน, และแม้แต่ตัวอาคาร. ความเสียหายอาจใหญ่หลวง พร้อมกับมีอาการไหวค้างที่ติดตามมาซึ่งก่อความเสียหายเพิ่มขึ้นและซ้ำเติมความทุกข์ให้หนักขึ้นไปอีก.
2 โดยคำนึงถึงเรื่องนี้ ขอให้พิจารณาถึงสิ่งที่โยฮันพรรณนาในการแกะดวงตราที่หกดังนี้: “ข้าพเจ้าเห็นพระองค์ทรงแกะตราดวงที่หก แล้วก็เกิดแผ่นดินไหวใหญ่.” (วิวรณ์ 6:12 ก, ล.ม.) เหตุการณ์นี้คงจะต้องตกอยู่ในช่วงเวลาเดียวกันกับการแกะดวงตราอื่น ๆ. แต่แผ่นดินไหวนี้เกิดขึ้นช่วงใดในวันขององค์พระผู้เป็นเจ้า และเป็นแผ่นดินไหวชนิดใด?—วิวรณ์ 1:10.
3. (ก) พระเยซูทรงบอกล่วงหน้าถึงเหตุการณ์อะไรบ้างในคำพยากรณ์เกี่ยวกับการประทับของพระองค์? (ข) แผ่นดินไหวที่เกิดขึ้นจริงมีความเกี่ยวข้องอย่างไรกับแผ่นดินไหวใหญ่ที่มีความหมายเป็นนัยในวิวรณ์ 6:12?
3 แผ่นดินไหวจริง ๆ และแผ่นดินไหวโดยนัยมีการกล่าวถึงหลายครั้งในคัมภีร์ไบเบิล. ในคำพยากรณ์อันยิ่งใหญ่ของพระเยซูอันเกี่ยวกับสัญลักษณ์แห่งการเสด็จประทับด้วยขัตติยอำนาจของพระองค์ พระองค์ทรงพยากรณ์ถึง “แผ่นดินไหวแห่งแล้วแห่งเล่า.” แผ่นดินไหวเหล่านี้เป็นส่วนหนึ่งของ “การเริ่มต้นของความปวดร้าวแห่งความทุกข์.” ตั้งแต่ปี 1914 เนื่องจากประชากรโลกทวีขึ้นเป็นพัน ๆ ล้านคนอย่างรวดเร็ว แผ่นดินไหวจึงมีส่วนเสริมความทุกข์ในสมัยของเราอย่างมาก. (มัดธาย 24:3, 7, 8, ล.ม.) กระนั้น ถึงแม้ว่าแผ่นดินไหวเหล่านั้นเป็นการสำเร็จเป็นจริงตามคำพยากรณ์ แผ่นดินไหวเหล่านั้นก็เป็นภัยพิบัติตามธรรมชาติ. แผ่นดินไหวเหล่านั้นเกิดขึ้นก่อนแผ่นดินไหวโดยนัยที่กล่าวถึงในวิวรณ์ 6:12. แท้จริง แผ่นดินไหวใหญ่โดยนัยนั้นจะเป็นฉากสุดท้ายอันจะก่อการทำลายล้างของการสั่นสะเทือนต่าง ๆ ที่มีต่อเนื่องกันมาซึ่งทำให้ระบบของซาตานทางโลกมนุษย์ต้องสั่นคลอนไปถึงราก.a
ความสั่นคลอนในสังคมมนุษย์
4. (ก) นับตั้งแต่เมื่อไรที่ประชาชนของพระยะโฮวาคาดการณ์ว่า เหตุพิบัติอันร้ายแรงต่าง ๆ จะเริ่มเกิดขึ้นในปี 1914? (ข) ปี 1914 จะหมายถึงอวสานของช่วงเวลาใด?
4 ตั้งแต่กลางทศวรรษ 1870 ประชาชนของพระยะโฮวาเคยคาดหมายว่าเหตุเภทภัยจะเริ่มขึ้นในปี 1914 และจะเป็นการชี้ถึงตอนสิ้นสุดเวลาของคนต่างชาติ ซึ่งเป็นระยะเวลาของ “เจ็ดวาระ” (2,520 ปี) นับจากการโค่นล้มอาณาจักรแห่งราชวงศ์ของดาวิดในกรุงเยรูซาเลมในปี 607 ก่อนสากลศักราช ไปจนถึงการขึ้นครองราชย์ของพระเยซูในเยรูซาเลมฝ่ายสวรรค์ในปีสากลศักราช 1914.—ดานิเอล 4:24, 25; ลูกา 21:24.b
5. (ก) ซี. ที. รัสเซล ได้ให้คำแถลงการณ์อะไรเมื่อวันที่ 2 ตุลาคม 1914? (ข) การเปลี่ยนแปลงทางการเมืองอย่างขนานใหญ่อะไรบ้างได้เกิดขึ้นตั้งแต่ปี 1914?
5 ดังนั้น เมื่อ ซี. ที. รัสเซลล์ มาปรากฏตัวเพื่อการนมัสการในตอนเช้าร่วมกับสมาชิกครอบครัวเบเธลที่บรุกลิน นิวยอร์ก ของเช้าวันที่ 2 ตุลาคม 1914 นั้น ท่านประกาศอย่างน่าตื่นเต้นเร้าใจว่า “เวลากำหนดของคนต่างชาติสิ้นสุดลงแล้ว กษัตริย์ทั้งหลายหมดโอกาสแล้ว.” แท้ที่จริง การเปลี่ยนแปลงอย่างใหญ่โตทั่วโลกซึ่งเริ่มในปี 1914 นั้นก่อผลกระทบไปไกลถึงขนาดที่ระบอบราชาธิปไตยซึ่งมีมาช้านานหลายระบอบสูญหายไป. การโค่นล้มอำนาจปกครองของจักรพรรดิซาร์ในการปฏิวัติบอลเชวิกในปี 1917 นั้นได้นำไปสู่การเป็นปฏิปักษ์อันยาวนานระหว่างลัทธิมากซ์และลัทธินายทุน. ความสั่นสะเทือนแห่งการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองยังคงก่อกวนสังคมมนุษย์ไปทั่วโลก. ทุกวันนี้ หลายรัฐบาลไม่อาจอยู่ได้นานเกินกว่าหนึ่งหรือสองปี. การขาดเสถียรภาพในโลกการเมืองนั้นจะเห็นได้ในกรณีของประเทศอิตาลี ซึ่งมีรัฐบาลใหม่มา 47 ครั้งในเวลาเพียง 42 ปีภายหลังสงครามโลกครั้งที่สอง. แต่ความสั่นคลอนที่มีมาล่วงหน้าเช่นนั้นเป็นเพียงขั้นเริ่มต้นของการเปลี่ยนแปลงขนานใหญ่ด้านการปกครอง. ผลที่เกิดขึ้นนะหรือ? ราชอาณาจักรของพระเจ้าจะมีอำนาจปกครองแผ่นดินโลกโดยสิทธิ์ขาด.—ยะซายา 9:6, 7.
6. (ก) เอช. จี. เวลส์ ได้พรรณนาถึงศักราชใหม่อันสำคัญไว้อย่างไร? (ข) นักปรัชญาและนักการเมืองได้เขียนเกี่ยวกับศักราชใหม่นับตั้งแต่ปี 1914 นี้ไว้ว่าอย่างไร?
6 นักประวัติศาสตร์, นักปรัชญา, และผู้นำทางการเมืองได้ชี้ถึงปี 1914 ว่าเป็นการเริ่มต้นยุคใหม่ที่สำคัญยิ่ง. สิบเจ็ดปีล่วงเลยเข้าไปในยุคนั้น นักประวัติศาสตร์ เอช. จี. เวลส์ แสดงความเห็นว่า “ผู้ทำนายจะดีใจถ้าได้ทำนายในสิ่งที่น่ายินดี. แต่หน้าที่ของเขาก็คือบอกสิ่งที่เขาเห็น. เขาเห็นโลกยังคงถูกควบคุมไว้อย่างเหนียวแน่นโดยพวกทหาร, พวกรักชาติ, พวกปล่อยเงินกู้หน้าเลือด, และพวกที่แสวงหาความร่ำรวยด้วยการทุจริต โลกที่ตกอยู่ในความหวาดระแวงและความเกลียดชัง สูญเสียเสรีภาพเฉพาะตัวที่หลงเหลืออยู่ไปอย่างรวดเร็ว ซ้ำยังทะเล่อทะล่าเข้าสู่ความขัดแย้งอันขมขื่นในเรื่องชนชั้น และเตรียมการสำหรับสงครามครั้งใหม่.” ในปี 1953 นักปรัชญาเบอร์แทรนด์ รัสเซลล์ เขียนว่า “ตั้งแต่ปี 1914 ทุกคนที่สำนึกถึงแนวโน้มของโลกต่างรู้สึกหนักใจเป็นอย่างยิ่งเมื่อเห็นสิ่งที่ดูเหมือนเป็นย่างก้าวซึ่งถูกกำหนดล่วงหน้าให้ไปสู่ความหายนะที่ใหญ่กว่าที่เคยมีมา. . . . พวกเขามองเห็นมนุษยชาติราวกับวีรบุรุษในโศกนาฏกรรมของชาวกรีก ซึ่งถูกเทพเจ้าที่ขุ่นเคืองปลุกปั่นและไม่ได้เป็นผู้กำหนดบั้นปลายอีกต่อไป.” ในปี 1980 รัฐบุรุษแฮโรลด์ แม็กมิลลัน เมื่อครุ่นคิดถึงตอนเริ่มต้นที่สงบสุขของศตวรรษที่ 20 ได้กล่าวว่า “ทุกสิ่งทุกอย่างจะดีขึ้นเรื่อย ๆ นี่คือโลกที่ผมได้เกิดมา. . . . แต่ในทันใดนั้นและโดยไม่ได้คาดคิดมาก่อน เช้าวันหนึ่งในปี 1914 ทุกสิ่งทุกอย่างก็จบสิ้นลง.”
7-9. (ก) การเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่อะไรบ้างที่ได้สั่นสะเทือนสังคมมนุษย์มาตั้งแต่ปี 1914? (ข) การเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ในสังคมมนุษย์ระหว่างการประทับของพระเยซูในที่สุดจะรวมถึงสถานการณ์อะไรในหมู่มนุษยชาติ?
7 สงครามโลกครั้งที่สองได้นำมาซึ่งคลื่นแห่งการเปลี่ยนแปลงขนาดใหญ่อีกลูกหนึ่ง. และสงครามย่อย ๆ พร้อมด้วยการก่อการร้ายสากลยังคงทำให้แผ่นดินโลกสั่นสะเทือนต่อไป. การคุกคามที่น่ากลัวของพวกก่อการร้ายและรัฐประเทศที่ใช้อาวุธที่มีอานุภาพในการทำลายล้างคราวละมาก ๆ ทำให้หลายคนกังขา.
8 ถึงกระนั้น สิ่งอื่น ๆ นอกเหนือจากสงครามก็ทำให้สังคมมนุษย์สั่นคลอนจนถึงรากนับตั้งแต่ปี 1914. การเปลี่ยนแปลงขนาดใหญ่ที่สร้างความบอบช้ำมากที่สุดอย่างหนึ่งเกิดขึ้นเนื่องจากตลาดหุ้นสหรัฐพังเมื่อวันที่ 29 ตุลาคม 1929. การพังครั้งนั้นทำให้เศรษฐกิจโลกตกต่ำครั้งใหญ่ ซึ่งมีผลกระทบต่อประเทศทุนนิยมทั้งหลาย. ภาวะตกต่ำในคราวนั้นตกต่ำที่สุดระหว่างปี 1932 และ 1934 แต่เราก็ยังคงรู้สึกถึงผลกระทบของมันอยู่. นับแต่ปี 1929 โลกที่ป่วยทางเศรษฐกิจได้รับการเยียวยาด้วยแผนการเฉพาะหน้า. รัฐบาลต่าง ๆ หลงละเลิงอยู่กับการจ่ายเงินมากกว่ารายรับ. วิกฤตการณ์น้ำมันในปี 1973 และภาวะตกต่ำของราคาหลักทรัพย์ในตลาดหลักทรัพย์ในปี 1987 ได้ทำให้จักรวรรดิทางการเงินสั่นคลอนหนักขึ้นไปอีก. ในขณะเดียวกัน ประชาชนนับล้าน ๆ ก็พากันจับจ่ายซื้อของด้วยเงินเชื่อเสียเป็นส่วนใหญ่. มีผู้คนนับไม่ถ้วนที่ตกเป็นเหยื่อของกลอุบายทางการเงิน แผนสะสมกำไรแบบฉวยโอกาสต่อเนื่อง อีกทั้งสลากกินแบ่งและการพนันแบบอื่น ๆ ซึ่งหลายอย่างได้รับการสนับสนุนจากรัฐบาลซึ่งควรปกป้องประชาชน. แม้แต่ผู้เผยแพร่กิตติคุณทางโทรทัศน์ของคริสต์ศาสนจักรยังยื่นมือขอส่วนแบ่งหลายล้านดอลลาร์!—เทียบกับยิระมะยา 5:26-31.
9 ก่อนหน้านี้ ความยุ่งยากทางเศรษฐกิจได้เปิดทางให้มุสโสลินีและฮิตเลอร์ยึดครองอำนาจ. บาบิโลนใหญ่ไม่ปล่อยเวลาให้เสียไป โดยรีบแสวงหาการสนับสนุนจากทั้งสองฝ่าย และรัฐวาติกันได้ทำสนธิสัญญากับอิตาลีในปี 1929 และกับเยอรมนีในปี 1933. (วิวรณ์ 17:5) สมัยอันมืดมนที่ติดตามมานั้นแน่นอนว่าเป็นส่วนหนึ่งแห่งความสำเร็จเป็นจริงของคำพยากรณ์ที่พระเยซูตรัสเกี่ยวกับการประทับของพระองค์ซึ่งจะรวมถึง “ความทุกข์เดือดร้อนของนานาชาติ ซึ่งไม่รู้ทางออก . . . ขณะที่มนุษย์จะสลบเนื่องด้วยความกลัวและการคอยท่าเหตุการณ์ซึ่งจะเกิดขึ้นบนแผ่นดินโลกที่มีผู้คนอาศัยอยู่.” (ลูกา 21:7-9, 25-31, ล.ม.)c ใช่แล้ว แผ่นดินไหวต่าง ๆ ที่เริ่มเขย่าสังคมมนุษย์ในปี 1914 นั้นยังคงดำเนินต่อไป พร้อมกับมีอาการไหวค้างที่รุนแรง.
พระยะโฮวาทรงเขย่า
10. (ก) เหตุใดจึงมีการสั่นสะเทือนมากมายในเรื่องต่าง ๆ ของมนุษย์? (ข) พระยะโฮวาทรงกระทำอะไรอยู่ อันเป็นการเตรียมการเพื่อสิ่งใด?
10 ความสั่นคลอนดังกล่าวในกิจการของมนุษย์เป็นผลสืบเนื่องมาจากการที่มนุษย์ไม่สามารถกำหนดก้าวเท้าของตนเองได้. (ยิระมะยา 10:23) ยิ่งกว่านั้น ซาตาน งูตัวแรกเดิม “ที่ชักนำทั้งโลกให้หลงผิด” กำลังสร้างพิบัติด้วยความพยายามเฮือกสุดท้ายเพื่อหันเหมนุษยชาติทั้งหลายออกจากการนมัสการพระยะโฮวา. เทคโนโลยีสมัยใหม่ทำให้โลกหดแคบเข้าจนเหมือนอยู่ในละแวกใกล้เคียงกันหมด ที่ซึ่งความเกลียดชังทางด้านเชื้อชาติและผิวพรรณกำลังทำให้สังคมมนุษย์สั่นคลอนไปถึงราก และสหประชาชาติ ตามที่เรียกกัน ก็ไม่สามารถหาทางแก้ที่ได้ผล. มนุษย์มีอำนาจเหนือมนุษย์ด้วยกันย่อมเป็นผลเสียหายแก่เขาอย่างที่ไม่เคยมีมาก่อน. (วิวรณ์ 12:9, 12, ล.ม.; ท่านผู้ประกาศ 8:9, ล.ม.) อย่างไรก็ตาม พระยะโฮวาพระเจ้า องค์บรมมหิศร ผู้ทรงสร้างฟ้าสวรรค์และแผ่นดินโลก ทรงเขย่าให้หวั่นไหวด้วยพระองค์เองเป็นเวลาเกือบ 90 ปีในการเตรียมการเพื่อแก้ไขปัญหาของแผ่นดินโลกชนิดครั้งเดียวและตลอดกาล. เป็นเช่นนั้นอย่างไร?
11. (ก) การเขย่าอะไรที่ได้มีพรรณนาไว้ในฮาฆี 2:6, 7? (ข) คำพยากรณ์ของฮาฆีสำเร็จเป็นจริงอย่างไร?
11 ที่ฮาฆี 2:6, 7 (ล.ม.) เราอ่านว่า “เพราะนี่คือคำตรัสของพระยะโฮวาแห่งพลโยธา ‘อีกครั้งหนึ่ง—อีกสักประเดี๋ยว—แล้วเราจะเขย่าฟ้าสวรรค์และแผ่นดินโลกและทะเลและพื้นดินแห้ง. และเราจะเขย่าชาติทั้งปวง และสิ่งน่าปรารถนาแห่งชาติทั้งปวงจะต้องเข้ามา; และเราจะทำให้นิเวศนี้เต็มไปด้วยสง่าราศี’ พระยะโฮวาแห่งพลโยธาได้ตรัส.” ตั้งแต่ปี 1919 โดยเฉพาะ พระยะโฮวาทรงให้พยานของพระองค์ประกาศคำพิพากษาของพระองค์ในท่ามกลางส่วนประกอบต่าง ๆ แห่งสังคมมนุษย์บนแผ่นดินโลก. ระบบโลกของซาตานได้รับคำเตือนนี้ซึ่งมีไปทั่วโลก.d ในขณะที่มีการประกาศคำเตือนออกไปอย่างไม่ละลด ผู้ที่เกรงกลัวพระเจ้า คือ “สิ่งน่าปรารถนา” ถูกกระตุ้นให้แยกตัวออกจากนานาชาติ. ทั้งนี้มิใช่เพราะพวกเขาถูกเขย่าออกจากองค์การที่สั่นคลอนของซาตาน. แต่ขณะพวกเขาสังเกตเข้าใจสถานการณ์ เขาจึงตัดสินใจมีส่วนร่วมกับชนจำพวกโยฮันผู้ถูกเจิมในการบรรจุราชนิเวศเพื่อการนมัสการของพระยะโฮวาด้วยสง่าราศี. สิ่งนี้จะสำเร็จอย่างไร? ก็ด้วยงานประกาศข่าวดีเรื่องราชอาณาจักรของพระเจ้าซึ่งได้รับการสถาปนาแล้วด้วยความกระตือรือร้น. (มัดธาย 24:14) ราชอาณาจักรนี้ ซึ่งประกอบด้วยพระเยซูและสาวกผู้ถูกเจิมของพระองค์ จะยืนหยัดตลอดไปเพื่อสง่าราศีของพระยะโฮวา ในฐานะ “ราชอาณาจักรซึ่งหวั่นไหวไม่ได้.”—เฮ็บราย 12:26-29, ล.ม.
12. หากคุณเริ่มตอบรับต่อการประกาศที่มีบอกไว้ล่วงหน้าที่มัดธาย 24:14 คุณควรทำอะไรก่อนที่แผ่นดินไหวใหญ่ในวิวรณ์ 6:12 นั้นจะเกิดขึ้น?
12 คุณเป็นคนหนึ่งไหมที่เริ่มตอบรับต่อการประกาศนั้น? บางที คุณอาจอยู่ในจำนวนหลายล้านคนซึ่งเมื่อไม่กี่ปีมานี้ได้เข้าร่วมในการฉลองอนุสรณ์เพื่อระลึกถึงการสิ้นพระชนม์ของพระเยซูไหม? ถ้าเช่นนั้น จงก้าวหน้าต่อไปในการศึกษาความจริงในคัมภีร์ไบเบิล. (2 ติโมเธียว 2:15; 3:16, 17) จงละทิ้งวิถีชีวิตอันเสื่อมทรามทั้งสิ้นในสังคมทางแผ่นดินโลกของซาตานที่ไม่มีอนาคต! จงเข้ามาในสังคมโลกใหม่แห่งคริสเตียนและมีส่วนร่วมอย่างเต็มที่ในกิจกรรมของสังคมนี้ก่อนที่ “แผ่นดินไหว” แห่งการทำลายล้างครั้งสุดท้ายจะบดขยี้โลกทั้งสิ้นของซาตานให้ย่อยยับ. แต่แผ่นดินไหวใหญ่ที่ว่านั้นคืออะไร? ให้เรามาดูกัน.
แผ่นดินไหวใหญ่!
13. แผ่นดินไหวใหญ่นั้นเป็นสิ่งใหม่ทั้งสิ้นอย่างไรในบรรดาเหตุการณ์ที่มนุษย์เคยประสบมา?
13 ใช่แล้ว สมัยสุดท้ายอันวิกฤติเป็นช่วงเวลาของแผ่นดินไหวต่าง ๆ—ทั้งตามตัวอักษรและโดยนัย. (2 ติโมเธียว 3:1) แต่ไม่มีครั้งใดในการสั่นไหวเหล่านี้จะเป็นแผ่นดินไหวใหญ่ครั้งสุดท้ายตามที่โยฮันเห็นในคราวแกะดวงตราที่หก. เวลาสำหรับความสั่นคลอนต่าง ๆ ที่มีล่วงหน้านั้นสิ้นสุดลง. ตอนนี้ถึงคราวของแผ่นดินไหวใหญ่ ซึ่งเป็นประสบการณ์ใหม่โดยสิ้นเชิงสำหรับมนุษย์. แผ่นดินไหวนั้นใหญ่ถึงขนาดที่การเปลี่ยนแปลงและแรงสั่นสะเทือนที่มันก่อนั้นจะไม่สามารถวัดได้ด้วยมาตราริคเตอร์หรือเครื่องวัดอื่นใดที่มนุษย์ทำขึ้น. คราวนี้จะไม่ใช่การสั่นสะเทือนที่เกิดขึ้นในท้องถิ่นเท่านั้น แต่เป็นการสั่นไหวที่ก่อความหายนะซึ่งจะทำลายล้าง “แผ่นดินโลก” นี้ทั้งสิ้น กล่าวคือ สังคมมนุษย์ที่เสื่อมทรามทั้งหมด.
14. (ก) คำพยากรณ์อะไรซึ่งบอกล่วงหน้าถึงแผ่นดินไหวใหญ่และผลสืบเนื่องของมัน? (ข) คำพยากรณ์ของโยเอลและวิวรณ์ 6:12, 13 คงต้องอ้างถึงอะไร?
14 ผู้พยากรณ์คนอื่น ๆ ของพระยะโฮวาได้พยากรณ์ถึงแผ่นดินไหวและความหายนะอันใหญ่หลวงซึ่งเป็นผลสืบเนื่องมาจากแผ่นดินไหวนั้น. ตัวอย่างเช่น ประมาณปี 820 ก่อนสากลศักราช โยเอลได้กล่าวถึงการมาของ “วันใหญ่ยิ่งอันน่ากลัวของพระยะโฮวา” โดยแจ้งว่า แล้ว “ดวงอาทิตย์จะกลับมืดไป, และดวงจันทร์ก็จะกลับเป็นเลือด.” ต่อมา ท่านได้กล่าวเพิ่มเติมว่า “มหาชนมากมายหลั่งไหลเข้ามายังหุบเขาแห่งการพิพากษา; ด้วยว่าวันของพระยะโฮวาใกล้จะถึงหุบเขาแห่งการพิพากษาแล้ว. ดวงอาทิตย์และดวงจันทร์ก็มืดไป และดาวทั้งหลายก็อับแสง. และพระยะโฮวาจะทรงแผดพระสุรเสียงจากซีโอน, และจะทรงเปล่งเสียงจากยะรูซาเลม; และท้องฟ้าและแผ่นดินโลกจะหวั่นไหว; แต่พระยะโฮวาจะเป็นที่พำนักแห่งพลไพร่ของพระองค์, เป็นป้อมสำหรับเชื้อวงศ์ยิศราเอล.” (โยเอล 2:31; 3:14-16) ความหวั่นไหวขนาดนี้คงหมายถึงการลงโทษตามคำพิพากษาของพระยะโฮวาในระหว่างความทุกข์ลำบากครั้งใหญ่เท่านั้น. (มัดธาย 24:21) ฉะนั้น โดยเหตุผลแล้ว เรื่องราวที่คล้ายคลึงกันที่วิวรณ์ 6:12, 13 ก็จะหมายถึงเหตุการณ์เดียวกัน.—ดูยิระมะยา 10:10; ซะฟันยา 1:14, 15 ด้วย.
15. ผู้พยากรณ์ฮะบาฆูคได้บอกล่วงหน้าถึงการเขย่าครั้งยิ่งใหญ่อะไร?
15 ประมาณ 200 ปีหลังจากโยเอล ผู้พยากรณ์ฮะบาฆูคได้กล่าวในคำอธิษฐานถึงพระเจ้าของท่านว่า “โอ้พระยะโฮวา ข้าพเจ้าได้ยินรายงานเรื่องพระองค์ โอ้พระยะโฮวา ข้าพเจ้าเกิดความกลัวต่อพระราชกิจของพระองค์. ในท่ามกลางปีทั้งหลายขอทรงให้พระราชกิจนั้นเป็นขึ้น! ในท่ามกลางปีทั้งหลายขอพระองค์ทรงทำให้เป็นที่รู้กัน. ระหว่างความปั่นป่วน ขอทรงระลึกถึงการแสดงความเมตตา.” “ความปั่นป่วน” นั้นจะเป็นอะไรกัน? ฮะบาฆูคพรรณนาต่อไปอย่างเห็นจริงเห็นจังถึงความทุกข์ลำบากครั้งใหญ่ โดยกล่าวถึงพระยะโฮวาว่า “พระองค์ทรงยืนนิ่ง เพื่อพระองค์จะเขย่าแผ่นดินโลก. พระองค์ทอดพระเนตร ครั้นแล้วทรงทำให้ประชาชาติกระโดด. . . . พระองค์เสด็จไปทั่วแผ่นดินโลกพร้อมกับกล่าวประจาน. โดยความกริ้วพระองค์ทรงตีกระหน่ำชาติทั้งหลาย. ถึงกระนั้น ส่วนข้าพเจ้า ข้าพเจ้าจะปลาบปลื้มในพระยะโฮวาพระองค์เอง; ข้าพเจ้าจะชื่นชมยินดีในพระเจ้าแห่งความรอดของข้าพเจ้า.” (ฮะบาฆูค 3:1, 2, 6, 12, 18, ล.ม.) พระยะโฮวาจะทรงก่อความหวั่นไหวอันใหญ่หลวงจริง ๆ ในแผ่นดินโลกทั้งสิ้น เมื่อพระองค์ทรงตีกระหน่ำชนประเทศทั้งหลาย!
16. (ก) ผู้พยากรณ์ยะเอศเคลได้บอกล่วงหน้าถึงอะไรเกี่ยวกับเวลาเมื่อซาตานทำการโจมตีครั้งสุดท้ายต่อประชาชนของพระเจ้า? (ข) อะไรเป็นผลที่เกิดขึ้นเนื่องจากแผ่นดินไหวใหญ่ซึ่งวิวรณ์ 6:12 บอกไว้?
16 ยะเอศเคลก็เช่นกันได้พยากรณ์ว่า เมื่อโกกแห่งมาโกก (ซาตานผู้ตกต่ำ) โจมตีประชาชนของพระเจ้าเป็นครั้งสุดท้าย พระยะโฮวาจะทรงบันดาลความ “กระเทือนหวั่นไหวใหญ่ในแผ่นดินแห่งยิศราเอล.” (ยะเอศเคล 38:18, 19) แม้ว่าอาจมีแผ่นดินไหวจริง ๆ เข้ามาเกี่ยวด้วย แต่เราก็ควรจำไว้ว่า พระธรรมวิวรณ์ถูกเสนอในรูปของสัญลักษณ์. คำพยากรณ์นี้และคำพยากรณ์อื่น ๆ ที่อ้างถึงก็ล้วนแต่เป็นสัญลักษณ์ทั้งสิ้น. ดังนั้น การแกะดวงตราที่หกจึงเป็นการเปิดเผยถึงจุดสุดยอดแห่งความสั่นสะเทือนทั้งสิ้นของระบบของโลกนี้ นั่นคือแผ่นดินไหวใหญ่ซึ่งมนุษย์ทั้งปวงที่ต่อต้านพระบรมเดชานุภาพของพระยะโฮวาพระเจ้าจะถูกทำลาย.
ช่วงเวลาแห่งความมืดมิด
17. แผ่นดินไหวใหญ่นั้นมีผลกระทบต่อดวงอาทิตย์, ดวงจันทร์ และดวงดาวทั้งหลายอย่างไร?
17 ดังที่โยฮันแสดงให้เห็นต่อไป แผ่นดินไหวใหญ่จะควบคู่กับเหตุการณ์ที่น่าสะพรึงกลัวซึ่งพัวพันแม้กระทั่งฟ้าสวรรค์. ท่านกล่าวว่า “ดวงอาทิตย์กลายเป็นสีดำเหมือนผ้ากระสอบสีดำ ดวงจันทร์ทั้งดวงกลายเป็นสีเลือด และดวงดาวในท้องฟ้าตกลงมายังแผ่นดินโลกเหมือนตอนที่ต้นมะเดื่อสั่นไหวด้วยลมแรงจนผลมะเดื่อที่ยังไม่สุกหล่นลงมา.” (วิวรณ์ 6:12ข, 13, ล.ม.) ช่างเป็นปรากฏการณ์ที่น่าประหลาดอะไรเช่นนี้! คุณนึกภาพความมืดมนอันน่ากลัวที่จะเกิดขึ้นออกไหมหากคำพยากรณ์นั้นสำเร็จเป็นจริงตามตัวอักษร. จะไม่มีแสงแดดที่ให้ความอบอุ่นความสบายในตอนกลางวันอีกต่อไป! จะไม่มีแสงจันทร์สีเงินยวงส่องเป็นเพื่อนในยามค่ำคืนอีกต่อไป! และดวงดาวนับไม่ถ้วนก็จะไม่ฉายแสงระยิบระยับบนท้องฟ้าที่เหมือนกำมะหยี่ที่อยู่ข้างหลังอีกต่อไป. แทนที่จะเป็นเช่นนั้น จะมีแต่ความมืดมนหนาวเย็นไร้ความปรานี.—เทียบกับมัดธาย 24:29.
18. ในแง่ใดที่ “ฟ้าสวรรค์มืดไป” สำหรับกรุงเยรูซาเลม ในปี 607 ก่อนสากลศักราช?
18 ในความหมายฝ่ายวิญญาณแล้ว ความมืดมนเช่นนั้นเคยมีพยากรณ์ไว้สำหรับชาติอิสราเอลโบราณ. ยิระมะยาเตือนว่า “ประเทศนี้จะต้องเริดร้างไปเสียหมด, ถึงกระนั้นเราจะไม่ได้ทำให้สำเร็จที่สุด. เพราะเหตุนี้แผ่นดินโลกจะโศกเศร้า, แลท้องฟ้าข้างบนจะมืด.” (ยิระมะยา 4:27, 28) ในปี 607 ก่อนสากลศักราช เมื่อคำพยากรณ์นั้นสำเร็จเป็นจริง สิ่งต่าง ๆ มืดมนจริง ๆ สำหรับประชาชนของพระยะโฮวา. กรุงเยรูซาเลม นครหลวงของพวกเขา ตกเป็นของชาวบาบิโลน. พระวิหารของพวกเขาถูกทำลาย และแผ่นดินของเขาก็ร้างเปล่า. สำหรับพวกเขาแล้ว ไม่มีความสว่างที่ปลอบประโลมใจจากสวรรค์. แทนที่จะเป็นเช่นนั้น เป็นตามที่ยิระมะยาได้กล่าวอย่างสลดใจต่อพระยะโฮวาว่า “พระองค์ได้ประหารโดยไม่ได้มีความเมตตา. พระองค์ได้ทรงคลุมพระกายไว้เสียด้วยเมฆ, เพื่อว่าการอธิษฐานของพวกข้าพเจ้าจะได้ไม่บรรลุไปถึงพระองค์ได้.” (บทเพลงร้องทุกข์ 3:43, 44) สำหรับกรุงเยรูซาเลมแล้ว ความมืดในสวรรค์เช่นนั้นหมายถึงความตายและการทำลายล้าง.
19. (ก) ยะซายาผู้พยากรณ์ของพระเจ้าได้พรรณนาไว้อย่างไรถึงความมืดมิดในฟ้าสวรรค์ซึ่งเกี่ยวข้องกับบาบิโลนโบราณนั้น? (ข) คำพยากรณ์ของยะซายาได้สำเร็จเป็นจริงเมื่อไรและอย่างไร?
19 ต่อมา ความมืดที่คล้ายคลึงกันในฟ้าสวรรค์แสดงถึงความหายนะสำหรับบาบิโลนโบราณ. เกี่ยวกับเรื่องนี้ ผู้พยากรณ์ของพระเจ้าได้รับการดลใจให้เขียนว่า “ดูเถิด, วันแห่งพระยะโฮวานั้นกำลังจะมาถึงอย่างดุเดือดด้วยความพิโรธและความกริ้วอย่างร้ายแรง, เพื่อจะทำให้แผ่นดินร้างเปล่า, และผลาญคนบาปที่อยู่ในนั้นให้สิ้นศูนย์ไป. ด้วยดวงดาราทั้งหลายในท้องฟ้า, และกลุ่มดาวทั้งหลายจะรุบรู่, พอดวงอาทิตย์โผล่ขึ้นมาก็จะมืดไป, และดวงจันทร์ก็จะอับแสง. และเราจะลงโทษมนุษย์โลกเพราะความชั่วร้ายของเขา, และคนโหดร้ายเพราะความอสัตย์อธรรมของเขา.” (ยะซายา 13:9-11) คำพยากรณ์นี้สำเร็จเป็นจริงในปี 539 ก่อนสากลศักราช เมื่อบาบิโลนพ่ายแพ้ต่อชาวมาดายและเปอร์เซีย. คำพยากรณ์นั้นได้พรรณนาอย่างชัดเจนถึงความมืดมิด ความสิ้นหวัง ไม่มีแสงสว่างแห่งการปลอบประโลมสำหรับบาบิโลนขณะที่เมืองนั้นหลุดจากตำแหน่งมหาอำนาจโลกตลอดกาล.
20. บั้นปลายอันน่ากลัวอะไรซึ่งรอคอยระบบสิ่งต่าง ๆ นี้อยู่เมื่อแผ่นดินไหวครั้งยิ่งใหญ่นั้นเกิดขึ้น?
20 ในทำนองเดียวกัน เมื่อเกิดแผ่นดินไหวใหญ่ ระบบทั้งสิ้นของโลกนี้จะถูกครอบคลุมในความสิ้นหวังอันมืดมนโดยสิ้นเชิง. ดวงสว่างที่ส่องแสงสดใสแห่งระบบของซาตานบนแผ่นดินโลกจะไม่ส่องแสงแห่งความหวังออกไป. ทุกวันนี้ ผู้นำทางการเมืองของโลก โดยเฉพาะในคริสต์ศาสนจักร ต่างขึ้นชื่อในเรื่องของการทุจริต โกหก และการใช้ชีวิตที่ผิดศีลธรรมอยู่แล้ว. (ยะซายา 28:14-19) พวกเขาไม่เป็นที่ไว้เนื้อเชื่อใจอีกต่อไป. แสงริบหรี่ของพวกเขาจะดับวูบเมื่อพระยะโฮวาทรงลงโทษตามคำพิพากษา. อิทธิพลซึ่งมีลักษณะคล้ายดวงจันทร์ที่พวกเขามีต่อกิจการของโลกจะถูกเปิดโปงว่าเป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องกับการนองเลือดและความตาย. ดาวดวงเด่นทางโลกนี้จะดับเหมือนอุกกาบาตและจะกระจัดกระจายไปเหมือนผลมะเดื่อดิบในพายุกล้าสนั่น. ทั้งลูกโลกจะสะเทือนหวั่นไหวใน “ความทุกข์ลำบากใหญ่อย่างที่ไม่เคยเกิดขึ้นตั้งแต่เริ่มมีโลกจนกระทั่งบัดนี้ ใช่ และจะไม่เกิดขึ้นอีก.” (มัดธาย 24:21, ล.ม.) ช่างเป็นภาพล่วงหน้าที่น่ากลัวอะไรเช่นนี้!
“ฟ้าสวรรค์” ก็หายลับไป
21. ในนิมิตของท่าน โยฮันได้เห็นสิ่งใดที่เกี่ยวข้องกับ “ฟ้าสวรรค์” และ “ภูเขาทุกลูกและเกาะทุกเกาะ”?
21 นิมิตของโยฮันดำเนินต่อไปดังนี้: “ฟ้าสวรรค์ก็หายลับไปเหมือนม้วนหนังสือที่ถูกม้วน ภูเขาทุกลูกและเกาะทุกเกาะก็ถูกย้ายที่.” (วิวรณ์ 6:14, ล.ม.) เห็นได้ชัดว่า ไม่ใช่ฟ้าสวรรค์จริง ๆ หรือภูเขาและเกาะจริง ๆ. แต่สิ่งเหล่านี้เป็นสัญลักษณ์แสดงถึงสิ่งใด?
22. ในอะโดมนั้น “ฟ้าสวรรค์” ชนิดใดซึ่งถูก “ม้วนเหมือนดังม้วนหนังสือ”?
22 เกี่ยวกับ “ฟ้าสวรรค์” นั้น เราได้รับการช่วยให้เข้าใจโดยคำพยากรณ์ที่คล้ายคลึงกันซึ่งบอกถึงพระพิโรธของพระยะโฮวาที่มีต่อชาติทั้งปวงดังนี้: “เดือนดาวหายลับไปจากท้องฟ้า, และฟ้าสวรรค์จะม้วนเหมือนดังม้วนหนังสือ.” (ยะซายา 34:4) อะโดมโดยเฉพาะต้องทนรับทุกข์. โดยวิธีใด? อะโดมถูกเหยียบย่ำโดยชาวบาบิโลนไม่นานหลังจากความพินาศของกรุงเยรูซาเลมในปี 607 สากลศักราช. ในเวลานั้น ไม่มีเหตุการณ์เด่น ๆ ที่ได้รับการบันทึกว่าเกิดขึ้นในฟ้าสวรรค์จริง ๆ. แต่มีเหตุการณ์ยับเยินใน “ฟ้าสวรรค์” ของอะโดม.e อำนาจการปกครองโดยมนุษย์ของอะโดมนั้นถูกลดฐานะจากตำแหน่งอันสูงส่งดุจฟ้าสวรรค์. (ยะซายา 34:5) อำนาจเหล่านี้ถูก “ม้วน” เก็บ เหมือนดังม้วนหนังสือเก่าที่ไม่เป็นประโยชน์แก่ใครอีกต่อไป.
23. อะไรคือ “ฟ้าสวรรค์” ซึ่งจะ ‘ลับไปดุจม้วนหนังสือที่ถูกม้วนเข้า’ นั้น และถ้อยคำของเปโตรยืนยันความเข้าใจเช่นนี้อย่างไร?
23 ดังนั้น “ฟ้าสวรรค์” ซึ่งจะ “หายลับไปเหมือนม้วนหนังสือ” จึงหมายถึงรัฐบาลที่ต่อต้านพระเจ้าซึ่งปกครองโลกนี้. รัฐบาลเหล่านี้จะถูกขจัดออกไปอย่างเด็ดขาดโดยผู้ขี่ม้าขาวซึ่งพิชิตศัตรูทั้งสิ้น. (วิวรณ์ 19:11-16, 19-21) เรื่องนี้ได้รับการยืนยันโดยสิ่งที่อัครสาวกเปโตรกล่าวเมื่อท่านตั้งตาคอยเหตุการณ์ซึ่งให้สัญลักษณ์ไว้โดยการแกะดวงตราที่หก ดังนี้: “ฟ้าสวรรค์และแผ่นดินโลกที่อยู่เดี๋ยวนี้ถูกเก็บไว้สำหรับไฟเผา และสงวนไว้จนถึงวันแห่งการพิพากษาและวันพินาศแห่งบรรดาคนที่ดูหมิ่นพระเจ้า.” (2 เปโตร 3:7, ล.ม.) แต่ข้อความที่ว่า “ภูเขาทุกลูกและเกาะทุกเกาะก็ถูกย้ายที่” ล่ะจะว่าอย่างไร?
24. (ก) ในคำพยากรณ์ของพระคัมภีร์ เมื่อไรที่มีการกล่าวว่าภูเขาและเกาะทั้งหลายจะถูกโยกคลอนหรือสั่นไหว? (ข) ‘ภูเขาสั่นสะท้าน’ อย่างไรในคราวที่กรุงนีนะเวล่มจม?
24 ในคำพยากรณ์ในคัมภีร์ไบเบิล มีการกล่าวถึงภูเขาและเกาะต่าง ๆ ว่าสะเทือนหวั่นไหว หรือมิฉะนั้นก็ถูกทำให้สั่นคลอนในช่วงเวลาของการเปลี่ยนแปลงอย่างขนานใหญ่ทางการเมือง. ตัวอย่างเช่น เมื่อผู้พยากรณ์นาฮูมพยากรณ์ถึงการพิพากษาของพระยะโฮวาต่อกรุงนีนะเว ท่านเขียนว่า “เนื่องจากพระองค์เสด็จไป ภูเขาก็สั่นสะท้าน, และเนินเขาก็ย่อยยับหายไป; พื้นแผ่นดินก็ปั่นป่วนไปต่อพระพักตร์ของพระองค์.” (นาฮูม 1:5) ไม่มีประวัติบันทึกว่าภูเขาจริง ๆ มีการแตกทลายแต่อย่างใดเมื่อกรุงนีนะเวล่มจมจริงในปี 632 ก่อนสากลศักราช. แต่มหาอำนาจโลกซึ่งเคยมีกำลังดุจดังภูผากลับพังทลายลงในบัดดล.—เทียบกับ ยิระมะยา 4:24.
25. ณ จุดอวสานแห่งระบบนี้ซึ่งกำลังจะมาถึง “ภูเขาทุกลูกและเกาะทุกเกาะ” จะถูกย้ายจากที่อย่างไร?
25 ฉะนั้น โดยเหตุผลแล้ว “ภูเขาทุกลูกและเกาะทุกเกาะ” ที่กล่าวถึงในตอนแกะดวงตราที่หกนั้นก็คงเป็นรัฐบาลต่าง ๆ ทางการเมืองของโลกนี้และองค์การที่ขึ้นอยู่ด้วย ซึ่งดูมั่นคงสำหรับมนุษยชาติเป็นจำนวนมาก. รัฐบาลและองค์การเหล่านี้จะถูกเขย่าจนหลุดออกจากที่ ซึ่งจะยังความตกใจและหวาดกลัวมายังคนเหล่านั้นที่เคยวางใจในสถาบันเหล่านี้. ดังที่คำพยากรณ์นั้นดำเนินเรื่องต่อไป จะไม่มีข้อสงสัยว่า วันใหญ่แห่งพระพิโรธของพระยะโฮวาและพระบุตรของพระองค์ กล่าวคือแผ่นดินไหวครั้งสุดท้ายซึ่งจะขจัดองค์การของซาตานออกไปจนหมดสิ้นนั้น มาแล้วพร้อมด้วยการแก้แค้น!
“จงถล่มลงมาอยู่เหนือพวกเราและบังพวกเราไว้”
26. เหล่ามนุษยชาติซึ่งต่อต้านพระบรมเดชานุภาพของพระเจ้าจะปฏิบัติอย่างไรด้วยความหวาดกลัว และพวกเขาจะกล่าวถ้อยคำอะไรที่แสดงออกซึ่งความหวาดกลัวสุดขีด?
26 โยฮันกล่าวต่อไปว่า “กษัตริย์ทั้งหลายบนแผ่นดินโลก ผู้มีตำแหน่งสูง พวกนายทหารชั้นผู้ใหญ่ คนร่ำรวย คนที่เข้มแข็ง รวมทั้งทุกคนที่เป็นทาสและเป็นไท ต่างก็ซ่อนตัวในถ้ำและโขดหินตามภูเขา. พวกเขาพูดกับภูเขาและโขดหินว่า ‘จงถล่มลงมาอยู่เหนือพวกเราและบังพวกเราไว้จากพระพักตร์พระองค์ผู้ประทับบนราชบัลลังก์นั้นและจากพระพิโรธของพระเมษโปดก เพราะวันใหญ่แห่งพระพิโรธของพระองค์ทั้งสองมาถึงแล้ว ใครจะยืนมั่นอยู่ได้เล่า?’”—วิวรณ์ 6:15-17, ล.ม.
27. ชนอิสราเอลที่ไม่ซื่อสัตย์ในกรุงซะมาเรียได้ร้องออกมาอย่างไร และถ้อยคำเหล่านั้นมาสำเร็จเป็นจริงอย่างไร?
27 เมื่อโฮเซอาประกาศถึงการพิพากษาของพระยะโฮวาที่มีต่อซะมาเรีย เมืองหลวงของอาณาจักรฝ่ายเหนือของอิสราเอลนั้น ท่านกล่าวว่า “สถานสูงอันเป็นที่เคารพของอาเว็นซึ่งนำให้พวกยิศราเอลหลงผิดไปนั้นก็จะถูกทำลายเสียด้วย; ต้นหนามและกอเสี้ยนจะงอกขึ้นบนแท่นบูชาของเขา; และเขาจะร้องขอต่อภูเขาว่า, ‘จงพังกลบเราเสีย’, และขอต่อเนินเขาว่า, ‘จงตกทับเราทีเถิด.’” (โฮเซอา 10:8) ถ้อยคำเหล่านี้สำเร็จเป็นจริงอย่างไร? ในคราวที่ซะมาเรียพ่ายแพ้ชาวอัสซีเรียผู้โหดร้ายในปี 740 ก่อนสากลศักราช ไม่มีที่ใดที่ชาวอิสราเอลจะหนีไปได้. คำกล่าวของโฮเซอาแสดงถึงความรู้สึกที่หมดหนทาง ความหวาดกลัวอย่างน่าสังเวช และความหมดอาลัยตายอยากที่ประชาชนผู้พ่ายแพ้รู้สึก. ไม่ว่าจะเป็นภูเขาจริง ๆ หรือสถาบันที่ใหญ่โตดุจภูเขาของซะมาเรียก็ไม่อาจป้องกันพวกเขาไว้ได้ แม้ว่าภูเขาหรือสถาบันเหล่านี้จะดูมั่นคงถาวรในอดีตก็ตาม.
28. (ก) พระเยซูได้ทรงให้คำเตือนอะไรแก่พวกผู้หญิงแห่งกรุงเยรูซาเลม? (ข) คำเตือนของพระเยซูสำเร็จเป็นจริงอย่างไร?
28 ในทำนองเดียวกัน ขณะที่พวกทหารโรมันนำพระเยซูไปยังที่พระองค์จะถูกตรึง พระองค์ทรงหันพระพักตร์ไปมองดูเหล่าสตรีแห่งอิสราเอลแล้วตรัสว่า “จะมีเวลาหนึ่งที่เขาทั้งหลายจะว่า ‘ผู้หญิงเหล่านั้นที่เป็นหมัน, และครรภ์ที่มิได้ปฏิสนธิ, และหัวนมที่มิได้ให้ดูดเลยก็เป็นสุข.’ คราวนั้นเขาจะเริ่มว่าแก่ภูเขาทั้งหลายว่า, ‘จงพังลงทับเรา’ และแก่เนินเขาว่า ‘จงบังเราไว้.’” (ลูกา 23:29, 30) การทำลายกรุงเยรูซาเลมโดยชาวโรมันในปีสากลศักราช 70 มีพยานหลักฐานสนับสนุนเป็นอย่างดี และเป็นที่เห็นเด่นชัดว่า คำตรัสของพระเยซูมีความหมายคล้ายคลึงกับคำกล่าวของโฮเซอา. ไม่มีที่จะซ่อนในตอนนั้นสำหรับชาวยิวซึ่งยังอยู่ในยูเดีย. ไม่ว่าที่ใดในกรุงเยรูซาเลมที่พวกเขาพยายามจะซ่อนตัว หรือแม้แต่เมื่อพวกเขาหนีไปยังป้อมมาซาดาบนยอดเขา พวกเขาก็ไม่สามารถหลบหนีการลงโทษอันรุนแรงตามการพิพากษาของพระยะโฮวาไปได้.
29. (ก) เมื่อวันแห่งพระพิโรธของพระยะโฮวามาถึง สภาพอับจนของคนเหล่านั้นซึ่งสนับสนุนระบบนี้จะเป็นอย่างไร? (ข) คำพยากรณ์อะไรของพระเยซูจะสำเร็จในคราวที่พระยะโฮวาทรงสำแดงพระพิโรธของพระองค์?
29 บัดนี้ การแกะดวงตราที่หกได้แสดงให้เห็นว่า สิ่งที่คล้ายคลึงกันนี้จะเกิดขึ้นในวันแห่งพระพิโรธของพระยะโฮวาซึ่งกำลังจะมาถึง. ในการเขย่าระบบทางแผ่นดินโลกนี้ครั้งสุดท้าย คนเหล่านั้นที่ให้การสนับสนุนระบบนี้จะหาที่หลบซ่อนอย่างไม่คิดชีวิต แต่จะไม่พบสักแห่งเดียว. ศาสนาเท็จ บาบิโลนใหญ่ ได้ทำให้คนเหล่านั้นผิดหวังแล้วอย่างน่าสังเวช. ไม่ว่าจะเป็นถ้ำในภูเขาจริง ๆ หรือองค์การทางการเมืองและทางการค้าซึ่งเปรียบประดุจภูเขาโดยนัยก็ไม่สามารถให้ความมั่นคงทางการเงินหรือความช่วยเหลืออื่นใด. ไม่มีอะไรจะมาปิดบังพวกเขาจากพระพิโรธของพระยะโฮวาไว้ได้. พระเยซูทรงพรรณนาถึงความตกใจกลัวของพวกเขาเป็นอย่างดีดังนี้: “ครั้นแล้วสัญลักษณ์แห่งบุตรมนุษย์จะปรากฏในฟ้าสวรรค์ และครั้นแล้วตระกูลทั้งปวงแห่งแผ่นดินโลกจะทุบตีตัวเองด้วยความคร่ำครวญ และเขาทั้งหลายจะเห็นบุตรมนุษย์เสด็จมาบนเมฆแห่งฟ้าสวรรค์ด้วยฤทธิ์และสง่าราศีเป็นอันมาก.”—มัดธาย 24:30, ล.ม.
30. (ก) อะไรคือความหมายของคำถามที่ว่า “ใครจะยืนมั่นอยู่ได้เล่า?” (ข) จะมีผู้ใดสามารถยืนอยู่ได้ไหมในเวลาแห่งการพิพากษาของพระยะโฮวา?
30 ใช่แล้ว คนที่ไม่ยอมรับรองอำนาจของผู้ขี่ม้าสีขาวที่ได้ชัยชนะจะถูกบังคับให้ยอมรับความผิดพลาดของพวกเขา. มนุษย์ที่ยินยอมเป็นส่วนแห่งพงศ์พันธุ์ของงูจะเผชิญกับความพินาศเมื่อโลกของซาตานล่วงพ้นไป. (เยเนซิศ 3:15; 1 โยฮัน 2:17) สถานการณ์ของโลกในเวลานั้นจะทำให้หลายคนถามว่า “ใครจะยืนมั่นอยู่ได้เล่า?” พวกเขาจะทึกทักเอาว่า ไม่มีผู้ใดจะอยู่ในฐานะอันเป็นที่ชอบพระทัยเฉพาะพระพักตร์พระยะโฮวาได้ในวันแห่งการพิพากษาของพระองค์. แต่พวกเขาจะผิดถนัด ดังที่พระธรรมวิวรณ์แสดงให้เห็นต่อไป.
[เชิงอรรถ]
a ก่อนจะมีแผ่นดินไหวจริง มักจะมีการรบกวนในเปลือกโลกซึ่งทำให้สุนัขเห่าหรือแสดงกิริยาหวาดกลัวและทำให้สัตว์อื่น ๆ และปลาแตกตื่น แต่มนุษย์อาจไม่รู้ จนกระทั่งแผ่นดินไหวจริง ๆ เกิดขึ้น.—โปรดดูตื่นเถิด! (ภาษาอังกฤษ) ฉบับ 8 กรกฎาคม 1982 หน้า 14.
b สำหรับการอธิบายโดยละเอียด โปรดดูที่หน้า 22, 24.
c เป็นเวลากว่า 35 ปี คือจากปี 1895 ถึง 1931 มีการลงถ้อยคำจากลูกา 21:25, 28, 31 บนหน้าปกวารสารหอสังเกตการณ์ (ภาษาอังกฤษ) โดยมีภาพเบื้องหลังเป็นรูปประภาคารที่ส่องแสงสว่างในขณะมีพายุฝนฟ้าคะนองอยู่เหนือท้องทะเลที่ปั่นป่วน.
d ตัวอย่างเช่น ในการรณรงค์เป็นพิเศษเมื่อปี 1931 พยานพระยะโฮวาได้จัดส่งหนังสือเล่มเล็ก ราชอาณาจักร ความหวังของโลก (ภาษาอังกฤษ) ให้แก่นักเทศน์นักบวช, นักการเมือง, และนักธุรกิจเป็นส่วนตัวตลอดทั่วโลก.
e ในการใช้คำว่า “ฟ้าสวรรค์” ในทำนองคล้ายคลึงกันนั้น คำพยากรณ์เกี่ยวกับ “ฟ้าสวรรค์ใหม่” ในยะซายา 65:17, 18 มีการสำเร็จเป็นจริงเป็นครั้งแรกในระบบการปกครองใหม่ ที่มีซะรูบาเบลเป็นผู้สำเร็จราชการและยะโฮซูอะเป็นมหาปุโรหิต ซึ่งมีการตั้งขึ้นในแผ่นดินแห่งคำสัญญาภายหลังพวกยิวกลับจากการเป็นเชลยที่บาบิโลน.—2 โครนิกา 36:23; เอษรา 5:1, 2; ยะซายา 44:28.
[กรอบ/ภาพหน้า 105]
การรู้ล่วงหน้าเกี่ยวกับปี 1914
“ในปี 606 ก่อนสากลศักราช ที่ราชอาณาจักรของพระเจ้าสิ้นสุดลง มงกุฎถูกถอด และโลกทั้งสิ้นถูกมอบไว้ในมือคนต่างชาติ. 2,520 ปีตั้งแต่ปี 606 ก่อนสากลศักราชจะสิ้นสุดในปีคริสต์ศักราช 1914.”f—สามโลก (ภาษาอังกฤษ), พิมพ์ในปี 1877 หน้า 83.
“หลักฐานในคัมภีร์ไบเบิลชัดเจนและแน่นหนาที่ว่า ‘เวลาของคนต่างชาติ’ คือช่วงเวลา 2,520 ปี นับตั้งแต่ปี 606 ก่อนคริสต์ศักราช จนถึงและรวมปี 1914.”—การศึกษาพระคัมภีร์ (ภาษาอังกฤษ) เล่ม 2 เขียนโดย ซี. ที. รัสเซลล์ และพิมพ์ในปี 1889, หน้า 79.
ชาลส์ เทซ รัสเซลล์กับเพื่อนนักศึกษาคัมภีร์ไบเบิลรู้หลายสิบปีก่อนหน้าว่า ปี 1914 จะแสดงถึงอวสานแห่งเวลาของคนต่างชาติหรือเวลากำหนดของนานาชาติ. (ลูกา 21:24) ขณะที่พวกเขาไม่เข้าใจเต็มที่ในเวลานั้นว่าสิ่งนี้หมายความอย่างไร พวกเขาก็เชื่อมั่นว่า ปี 1914 จะเป็นวันเวลาอันสำคัญแห่งประวัติศาสตร์โลก และพวกเขาก็เป็นฝ่ายถูก. ขอสังเกตข้อความจากหนังสือพิมพ์ที่ยกมา:
“สงครามอันน่าสยดสยองที่ระเบิดขึ้นในยุโรปได้ทำให้คำพยากรณ์อันน่าทึ่งสำเร็จเป็นจริง.เป็นเวลาถึงยี่สิบห้าปีผ่านไป โดยทางผู้ประกาศศาสนาและโดยทางสิ่งพิมพ์ ‘นักศึกษาคัมภีร์ไบเบิลนานาชาติ’ ซึ่งเป็นที่รู้จักกันอย่างดีว่าพวก ‘รุ่งอรุณแห่งสมัยพันปี’ ได้ประกาศแก่โลกว่า วันแห่งพระพิโรธดังที่มีพยากรณ์ในคัมภีร์ไบเบิลนั้นจะเริ่มในปี 1914. พวกผู้เดินทางประกาศกิตติคุณหลายร้อยคนร้องว่า ‘จงระวังปี 1914!’”—เดอะ เวิลด์ หนังสือพิมพ์ฉบับหนึ่งในนิวยอร์ก วันที่ 30 สิงหาคม 1914.
[เชิงอรรถ]
f อย่างประจวบเหมาะ พวกนักศึกษาพระคัมภีร์ไม่ตระหนักว่า ไม่มีปีที่ศูนย์ระหว่าง “ปีก่อนคริสต์ศักราช” กับ “ปีคริสต์ศักราช.” ต่อมา เมื่อมีการค้นคว้าที่ทำให้จำเป็นต้องเปลี่ยนปี 606 เป็นปี 607 ปีที่ศูนย์ก็ได้ถูกตัดออกไป การบอกให้ทราบล่วงหน้าถึง “ปี 1914” จึงยังถูกต้อง.—ดู “ความจริงจะทำให้ท่านเป็นอิสระ” (ภาษาอังกฤษ) พิมพ์โดยพยานพระยะโฮวา ในปี 1943 หน้า 239.
[กรอบหน้า 106]
ปี 1914—หัวเลี้ยวหัวต่อ
หนังสือประวัติศาสตร์โลกของนักการเมือง—พลังและความหมายของประวัติศาสตร์ (ภาษาเดนมาร์ก) พิมพ์เมื่อปี 1987 ในโคเปนเฮเกน ให้ข้อสังเกตไว้ที่หน้า 40 ดังต่อไปนี้:
“ความเชื่อในศตวรรษที่ 19 เรื่องความเจริญก้าวหน้าถูกจู่โจมถึงตายเมื่อปี 1914. ในปีก่อนที่สงครามระเบิดขึ้นนั้น ปีเตอร์ มุนช์ นักประวัติศาสตร์และนักการเมืองชาวเดนมาร์กได้เขียนไว้อย่างที่มองในแง่ดีว่า ‘พยานหลักฐานทุกอย่างส่อให้เห็นว่า จะไม่เกิดสงครามระหว่างมหาอำนาจต่าง ๆ ในยุโรปเลย. “ภัยสงคราม” ก็จะหายไปในอนาคตด้วย ดังที่เคยได้หายไปครั้งแล้วครั้งเล่าตั้งแต่ปี 1871.’
“ตรงกันข้าม เราอ่านจากชีวประวัติที่เขาเขียนทีหลังว่า ‘การระเบิดของสงครามในปี 1914 เป็นหัวเลี้ยวหัวต่ออันสำคัญยิ่งแห่งประวัติศาสตร์มนุษยชาติ. จากศักราชอันสดใสแห่งความก้าวหน้า ซึ่งเป้าหมายต่าง ๆ สามารถดำเนินตามได้อย่างที่มีเหตุผลว่าจะปลอดภัย เราได้ย่างเข้าสู่สมัยแห่งความหายนะ ความหวาดกลัว และความเกลียดชัง พร้อมกับความไม่ปลอดภัยซึ่งมีอยู่ทุกหนทุกแห่ง. ในเวลานั้นไม่มีใครบอกได้ และกระทั่งเดี๋ยวนี้ก็ไม่มีใครบอกได้ว่า ความมืดมนซึ่งแผ่คลุมพวกเราในเวลานั้นจะหมายถึงความพินาศอันถาวรของโครงสร้างทางวัฒนธรรมทั้งสิ้นที่มนุษย์ได้ก่อขึ้นเพื่อตนเองมาเป็นเวลาหลายพันปีหรือไม่.’”
[ภาพหน้า 110]
‘ภูเขาทุกลูกก็ถูกย้ายที่’
[ภาพหน้า 111]
พวกเขาต่างก็ซ่อนตัวในถ้ำ