บัดนี้ ยิ่งกว่าแต่ก่อน จงตื่นตัวอยู่!
“อย่าให้เราหลับเหมือนคนอื่น แต่ให้เราตื่นอยู่และรักษาสติของเรา.”—1 เธซะโลนิเก 5:6, ล.ม.
1, 2. (ก) ปอมเปอีและเฮอร์คิวเลเนียมเป็นเมืองแบบใด? (ข) สัญญาณเตือนอะไรที่ชาวเมืองปอมเปอีและเฮอร์คิวเลเนียมหลายคนเพิกเฉย และพร้อมด้วยผลประการใด?
ในศตวรรษแรกแห่งสากลศักราช ปอมเปอีและเฮอร์คิวเลเนียมเป็นเมืองโรมันที่เจริญมั่งคั่งซึ่งตั้งอยู่ใกล้ภูเขาไฟเวซูเวียส. เมืองทั้งสองเป็นที่พักตากอากาศยอดนิยมของชาวโรมันที่มั่งคั่ง. โรงละครกลางแจ้งในเมืองเหล่านี้จุผู้ชมได้มากกว่าพันคน และที่ปอมเปอีมีโรงมหรสพขนาดใหญ่ มีที่นั่งซึ่งจุผู้คนได้เกือบทั้งเมือง. ผู้ขุดค้นซากเมืองปอมเปอีนับจำนวนร้านเหล้าได้ 118 แห่ง ซึ่งบางแห่งใช้เป็นบ่อนการพนันและซ่องโสเภณี. จิตรกรรมฝาผนังและสิ่งประดิษฐ์อื่น ๆ ที่ขุดค้นพบให้หลักฐานว่ามีการผิดศีลธรรมและการนิยมวัตถุกันอย่างแพร่หลาย.
2 ภูเขาไฟเวซูเวียสเริ่มปะทุในวันที่ 24 สิงหาคม ส.ศ. 79. นักวิทยาภูเขาไฟเชื่อว่าในการระเบิดครั้งแรก ซึ่งได้พ่นหินพัมมิซและเถ้าภูเขาไฟตกลงมายังเมืองทั้งสองนั้น ยังคงพอเปิดโอกาสให้ชาวเมืองหนีออกไปได้. ที่จริง ดูเหมือนหลายคนได้ทำเช่นนั้น. แต่คนที่คิดว่าคงไม่อันตรายเท่าไรหรือเพิกเฉยสัญญาณเตือนได้เลือกจะอยู่ในเมืองนั้นต่อไป. ต่อมาในเวลาประมาณเที่ยงคืนของวันนั้น แก๊สที่ร้อนจัด, หินพัมมิซ, และหินภูเขาไฟปริมาณมหาศาลพวยพุ่งออกมาแผดเสียงดังกึกก้องถล่มเมืองเฮอร์คิวเลเนียม ยังผลให้ผู้คนทั้งหมดที่เหลืออยู่ในเมืองเสียชีวิตเพราะหายใจไม่ออก. เช้าตรู่วันรุ่งขึ้น แก๊สและวัตถุที่เกิดจากการระเบิดของภูเขาไฟได้ถล่มชาวเมืองปอมเปอีเช่นกัน และไม่มีผู้ใดรอดชีวิต. ช่างเป็นผลอันน่าเศร้าจริง ๆ จากการไม่ใส่ใจสัญญาณเตือน!
อวสานของระบบยิว
3. มีความคล้ายกันอย่างไรระหว่างความพินาศของกรุงเยรูซาเลมกับของเมืองปอมเปอีและเฮอร์คิวเลเนียม?
3 จุดจบอันน่าตกตะลึงของเมืองปอมเปอีและเฮอร์คิวเลเนียมยังเทียบไม่ได้กับความพินาศอย่างใหญ่หลวงของกรุงเยรูซาเลมเมื่อเก้าปีก่อนหน้านั้น ถึงแม้ความหายนะนั้นเกิดจากน้ำมือของมนุษย์. นี่เป็นเหตุการณ์ที่ได้รับการพรรณนาว่าเป็น “หนึ่งในการปิดล้อมกรุงที่น่าสยดสยองที่สุดในประวัติศาสตร์” ซึ่งมีรายงานว่าชาวยิวเสียชีวิตมากกว่าหนึ่งล้านคน. อย่างไรก็ตาม เช่นเดียวกับความหายนะของเมืองปอมเปอีและเฮอร์คิวเลเนียม ความพินาศของกรุงเยรูซาเลมไม่ได้เกิดขึ้นโดยไม่มีการเตือนล่วงหน้า.
4. พระเยซูทรงให้หมายสำคัญเชิงพยากรณ์อะไรเพื่อเตือนเหล่าสาวกว่าอวสานของระบบใกล้เข้ามาแล้ว และสิ่งนั้นสำเร็จเป็นจริงครั้งแรกอย่างไรในศตวรรษแรก?
4 พระเยซูคริสต์ได้พยากรณ์ถึงความพินาศของกรุงเยรูซาเลม และพระองค์บอกล่วงหน้าถึงเหตุการณ์ที่จะเกิดขึ้นก่อนหน้านั้น ซึ่งจะก่อความวิตกกังวล เช่น สงคราม, การขาดแคลนอาหาร, แผ่นดินไหว, และการละเลยกฎหมาย. จะมีผู้พยากรณ์เท็จเกิดขึ้น ขณะที่ข่าวดีเรื่องราชอาณาจักรของพระเจ้าจะได้รับการประกาศไปทั่วโลก. (มัดธาย 24:4-7, 11-14) แม้คำตรัสของพระเยซูได้สำเร็จเป็นจริงครั้งใหญ่ในสมัยของเรา แต่ถ้อยคำเหล่านั้นได้สำเร็จเป็นจริงไปแล้วในขอบเขตที่เล็กกว่าในศตวรรษแรก. ประวัติศาสตร์บันทึกว่ามีการกันดารอาหารอย่างรุนแรงในแคว้นยูเดีย. (กิจการ 11:28) โยเซฟุส นักประวัติศาสตร์ชาวยิว รายงานว่าเกิดแผ่นดินไหวในบริเวณกรุงเยรูซาเลมไม่นานก่อนความพินาศของกรุงนั้น. เมื่อความพินาศของกรุงเยรูซาเลมใกล้เข้ามา มีการจลาจลเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง, ชาวยิวที่อยู่คนละกลุ่มการเมืองสู้รบกันเอง, และมีการสังหารหมู่ในหลายเมืองที่ชาวยิวกับชาวต่างชาติอาศัยอยู่. ถึงกระนั้น ข่าวดีเรื่องราชอาณาจักรก็ได้รับการประกาศ “แก่มนุษย์ทุกคนที่อยู่ใต้ฟ้า.”—โกโลซาย 1:23.
5, 6. (ก) คำพยากรณ์อะไรของพระเยซูที่สำเร็จเป็นจริงในปี ส.ศ. 66? (ข) เหตุใดจึงมีผู้คนมากมายเสียชีวิตเมื่อกรุงเยรูซาเลมถูกทำลายในที่สุดในปี ส.ศ. 70?
5 ในที่สุด ชาวยิวก็ได้กบฏต่อโรมในปี ส.ศ. 66. ในคราวที่เซสติอุส กัลลุสนำกองทัพมาตั้งล้อมกรุงเยรูซาเลม เหล่าสาวกของพระเยซูระลึกถึงคำตรัสของพระเยซูที่ว่า “เมื่อท่านเห็นกองทัพมาตั้งล้อมรอบกรุงยะรูซาเลม, เมื่อนั้นท่านจงรู้ว่าความพินาศของกรุงนั้นก็ใกล้เข้ามาแล้ว. เวลานั้นให้คนทั้งหลายที่อยู่ในแขวงยูดายหนีไปยังภูเขา และคนทั้งหลายที่อยู่ในกรุงให้ออกไป และคนที่อยู่บ้านนอกอย่าให้เข้ามาในกรุง.” (ลูกา 21:20, 21) เวลาที่จะหนีออกไปจากกรุงเยรูซาเลมมาถึงแล้ว แต่จะหนีได้อย่างไร? โดยไม่ได้คาดหมาย กัลลุสถอนทัพกลับไป เปิดโอกาสให้คริสเตียนในกรุงเยรูซาเลมและแคว้นยูเดียทำตามคำตรัสของพระเยซู และหนีไปยังภูเขา.—มัดธาย 24:15, 16.
6 สี่ปีต่อมา ในช่วงเทศกาลปัศคา กองทัพโรมันกลับมาใหม่ภายใต้การนำของนายพลทิทุส ผู้ซึ่งหมายมั่นจะกำจัดการกบฏของพวกยิวให้สิ้นซาก. กองทัพของเขาล้อมกรุงเยรูซาเลมและตั้ง “ค่ายรอบ” เพื่อไม่ให้มีใครหนีรอดไปได้. (ลูกา 19:43, 44) ทั้ง ๆ ที่ถูกคุกคามด้วยสงคราม ชาวยิวจากทั่วจักรวรรดิโรมันต่างพากันมายังกรุงเยรูซาเลมเพื่อฉลองปัศคา. ตอนนี้ พวกเขาหนีไปไหนไม่ได้. ตามที่โยเซฟุสกล่าว ผู้มาเยือนที่เคราะห์ร้ายเหล่านี้คือพวกที่เสียชีวิตเป็นส่วนใหญ่ในการปิดล้อมของชาวโรมัน.a ในที่สุดเมื่อกรุงเยรูซาเลมถูกทำลาย มีประมาณหนึ่งในเจ็ดของชาวยิวทั้งหมดในจักรวรรดิโรมันที่สูญเสียชีวิต. ความพินาศของกรุงเยรูซาเลมและการทำลายพระวิหารของกรุงนั้นหมายถึงการสิ้นสุดของรัฐยิวและระบบศาสนาที่อาศัยพระบัญญัติของโมเซ.b—มาระโก 13:1, 2.
7. เหตุใดคริสเตียนที่ซื่อสัตย์จึงรอดชีวิตจากการทำลายกรุงเยรูซาเลม?
7 ในปี ส.ศ. 70 คริสเตียนชาวยิวคงถูกฆ่าหรือไม่ก็ถูกจับไปเป็นเชลยพร้อมกับคนอื่น ๆ ที่อยู่ในกรุงเยรูซาเลม. อย่างไรก็ตาม หลักฐานทางประวัติศาสตร์บ่งชี้ว่า พวกเขาได้เชื่อฟังคำเตือนของพระเยซูที่ให้ไว้ 37 ปีก่อนหน้านั้น. พวกเขาออกไปจากกรุงและไม่กลับเข้ามาอีก.
คำเตือนที่เหมาะกับเวลาจากเหล่าอัครสาวก
8. เปโตรมองเห็นถึงความจำเป็นในเรื่องใด และท่านคงนึกถึงคำตรัสอะไรของพระเยซู?
8 ในปัจจุบัน ความพินาศในขอบเขตที่ใหญ่กว่านั้นมากกำลังใกล้เข้ามา ซึ่งจะนำอวสานมาสู่ระบบนี้ทั้งสิ้น. หกปีก่อนความพินาศของกรุงเยรูซาเลม อัครสาวกเปโตรให้คำแนะนำที่เร่งด่วนและเหมาะกับเวลาซึ่งใช้ได้กับคริสเตียนในสมัยของเราเป็นพิเศษที่ว่า จงตื่นตัวอยู่เสมอ! เปโตรเห็นความจำเป็นที่คริสเตียนต้องกระตุ้น “ความสามารถในการคิดอย่างแจ่มชัด” เพื่อพวกเขาจะไม่เพิกเฉยต่อ “พระบัญญัติขององค์พระผู้เป็นเจ้า” พระเยซูคริสต์. (2 เปโตร 3:1, 2, ล.ม.) ในการกระตุ้นคริสเตียนให้ตื่นตัว เปโตรคงจะนึกถึงสิ่งที่ท่านเคยได้ยินพระเยซูตรัสกับพวกอัครสาวกไม่กี่วันก่อนพระองค์สิ้นพระชนม์ว่า “จงคอยดูอยู่ จงตื่นตัวเสมอ เพราะเจ้าทั้งหลายไม่รู้ว่าเวลากำหนดคือเมื่อไร.”—มาระโก 13:33, ล.ม.
9. (ก) บางคนเริ่มมีเจตคติเช่นไรที่เป็นอันตราย? (ข) เหตุใดเจตคติที่แคลงใจสงสัยจึงเป็นอันตรายอย่างยิ่ง?
9 ในทุกวันนี้ บางคนอาจถามเชิงเยาะเย้ยว่า “การประทับของพระองค์ที่ทรงสัญญาไว้นี้อยู่ที่ไหนล่ะ?” (2 เปโตร 3:3, 4, ล.ม.) ดูเหมือนว่าคนเหล่านั้นรู้สึกว่าสิ่งต่าง ๆ ก็ดำเนินไปเหมือนอย่างที่เคยเป็นมา ไม่เห็นมีอะไรเปลี่ยนแปลงอย่างแท้จริงตั้งแต่แรกสร้างโลก. การแคลงใจสงสัยอย่างนั้นเป็นอันตราย. ความสงสัยสามารถบ่อนทำลายความสำนึกถึงความเร่งด่วนของเรา ชักจูงเราให้ค่อย ๆ กลายเป็นคนทำตามใจตัวเองโดยไม่รู้ตัว. (ลูกา 21:34) นอกจากนี้ ดังที่เปโตรชี้ให้เห็น คนที่เยาะเย้ยเหล่านั้นลืมเหตุการณ์น้ำท่วมในสมัยโนฮาที่ทำลายระบบของโลกทั้งสิ้น. โลกได้เปลี่ยนแปลงไปอย่างแท้จริงในครั้งนั้น!—เยเนซิศ 6:13, 17; 2 เปโตร 3:5, 6.
10. เปโตรหนุนใจผู้ที่อาจกลายเป็นคนขาดความอดทนด้วยถ้อยคำอะไร?
10 เปโตรช่วยผู้อ่านจดหมายของท่านให้ปลูกฝังความอดทนโดยเตือนพวกเขาให้ระลึกถึงเหตุผลที่บ่อยครั้งพระเจ้าไม่ปฏิบัติการในทันที. แรกทีเดียว เปโตรกล่าวว่า “วันเดียวสำหรับพระยะโฮวาเป็นเหมือนพันปี และพันปีก็เป็นเหมือนวันเดียว.” (2 เปโตร 3:8, ล.ม.) เนื่องจากพระยะโฮวาทรงพระชนม์อยู่เป็นนิตย์ พระองค์สามารถนำเอาปัจจัยทุกอย่างมาพิจารณาและเลือกเวลาที่เหมาะที่สุดสำหรับการลงมือปฏิบัติการ. จากนั้น เปโตรชี้ถึงความปรารถนาของพระยะโฮวาที่ต้องการให้ผู้คนทุกหนแห่งกลับใจ. ความอดกลั้นพระทัยของพระเจ้าหมายถึงความรอดสำหรับผู้คนมากมายซึ่งคงจะถูกทำลายหากพระองค์ลงมือปฏิบัติการในทันที. (1 ติโมเธียว 2:3, 4; 2 เปโตร 3:9) อย่างไรก็ตาม ความอดกลั้นพระทัยของพระยะโฮวาไม่ได้หมายความว่าพระองค์จะไม่ลงมือปฏิบัติการเลย. เปโตรกล่าวว่า “วันของพระยะโฮวาจะ มาเหมือนอย่างขโมย.”—2 เปโตร 3:10, ล.ม.
11. อะไรจะช่วยเราให้ตื่นตัวทางฝ่ายวิญญาณอยู่เสมอ และการทำเช่นนั้นจะเป็นเหมือนกับ “เร่ง” วันของพระยะโฮวาอย่างไร?
11 การเปรียบเทียบของเปโตรนั้นน่าสนใจ. ที่จะจับขโมยนั้นไม่ง่าย แต่คนยามที่ตื่นตัวเสมอตลอดคืนคงจะสังเกตเห็นขโมยได้มากกว่าคนยามที่งีบหลับเป็นพัก ๆ. คนยามจะตื่นตัวอยู่เสมอได้อย่างไร? การเดินไปมาคงจะช่วยให้ตื่นตัวได้ดีกว่าการนั่งอยู่ตลอดทั้งคืน. ในทำนองเดียวกัน การรักษากิจกรรมฝ่ายวิญญาณจะช่วยเราที่เป็นคริสเตียนให้ตื่นตัวอยู่เสมอ. ด้วยเหตุนี้ เปโตรจึงกระตุ้นเราให้จดจ่ออยู่กับ “การประพฤติอันบริสุทธิ์ และการกระทำด้วยความเลื่อมใสในพระเจ้า.” (2 เปโตร 3:11, ล.ม.) การกระทำอย่างนั้นจะช่วยเราให้ “คำนึงถึงวันของพระยะโฮวาเสมอ.” คำภาษากรีกที่ได้รับการแปลว่า “คำนึงถึง . . . เสมอ” อาจแปลตามตัวอักษรได้ว่า “เร่ง.” (2 เปโตร 3:12, ล.ม., เชิงอรรถ) แน่ล่ะ เราไม่สามารถเปลี่ยนแปลงเวลากำหนดของพระยะโฮวา. วันของพระองค์จะมาตามเวลาที่พระองค์ทรงกำหนด. แต่เวลาจากปัจจุบันไปจนถึงตอนนั้นจะดูเหมือนว่าผ่านไปอย่างรวดเร็วยิ่งขึ้น ถ้าเราหมกมุ่นอยู่ในงานรับใช้พระองค์.—1 โกรินโธ 15:58.
12. เราแต่ละคนจะฉวยประโยชน์จากความอดกลั้นพระทัยของพระยะโฮวาได้อย่างไร?
12 ด้วยเหตุนี้ ใครก็ตามที่รู้สึกว่าวันของพระยะโฮวามาช้าจึงได้รับการสนับสนุนให้ใส่ใจในคำแนะนำของเปโตรที่ให้คอยท่าเวลากำหนดของพระยะโฮวาด้วยความอดทน. อันที่จริง เราสามารถใช้เวลาที่มีมากขึ้นจากการอดกลั้นพระทัยของพระเจ้านั้นอย่างฉลาดสุขุม. ตัวอย่างเช่น เราสามารถพัฒนาคุณลักษณะต่าง ๆ แบบคริสเตียนที่สำคัญได้ต่อไป รวมทั้งสามารถแบ่งปันข่าวดีให้กับผู้คนได้อีกมากมาย ซึ่งเราคงจะทำไม่ได้หากพระเจ้าไม่ทรงอดกลั้นพระทัยไว้. ถ้าเราตื่นตัวอยู่เสมอ พระยะโฮวาจะพบว่าเรา “ปราศจากด่างพร้อยและมลทิน และมีสันติสุข” ในตอนอวสานของระบบนี้. (2 เปโตร 3:14, 15, ล.ม.) ช่างจะเป็นบำเหน็จอะไรเช่นนั้น!
13. ถ้อยคำอะไรของเปาโลที่ไปถึงคริสเตียนในเทสซาโลนีกาเหมาะกับทุกวันนี้เป็นพิเศษ?
13 ในจดหมายฉบับแรกที่เขียนไปถึงคริสเตียนในเทสซาโลนีกา เปาโลพูดถึงความจำเป็นที่จะตื่นตัวอยู่เสมอเช่นกัน. ท่านแนะนำว่า “อย่าให้เราหลับเหมือนคนอื่น แต่ให้เราตื่นอยู่และรักษาสติของเรา.” (1 เธซะโลนิเก 5:2, 6, ล.ม.) เนื่องจากในปัจจุบัน ความพินาศของระบบโลกทั้งสิ้นกำลังใกล้เข้ามา เป็นสิ่งจำเป็นสักเพียงไรที่จะตื่นตัวอยู่เสมอ! ผู้นมัสการพระยะโฮวามีชีวิตอยู่ในโลกที่เต็มไปด้วยผู้คนที่ขาดความสนใจในสิ่งฝ่ายวิญญาณ และนี่อาจมีผลกระทบต่อพวกเขา. ด้วยเหตุนี้ เปาโลจึงแนะนำว่า “จงให้เรารักษาสติ และสวมเกราะหน้าอกแห่งความเชื่อและความรัก และเอาความหวังเกี่ยวกับความรอดมาสวมเป็นหมวกเกราะ.” (1 เธซะโลนิเก 5:8, ล.ม.) การศึกษาพระคำของพระเจ้าและการคบหากับพี่น้องของเราเป็นประจำ ณ การประชุมต่าง ๆ จะช่วยให้เราทำตามคำแนะนำของเปาโลและสำนึกถึงความเร่งด่วนอยู่เสมอ.—มัดธาย 16:1-3.
หลายล้านคนกำลังเฝ้าระวังอยู่
14. สถิติอะไรที่แสดงว่ามีผู้คนมากมายในทุกวันนี้กำลังปฏิบัติตามคำแนะนำของเปโตรที่ให้ตื่นตัวอยู่เสมอ?
14 มีหลายคนไหมในทุกวันนี้ที่กำลังเอาใจใส่คำกระตุ้นที่มีขึ้นโดยการดลใจที่ให้ตื่นตัวอยู่เสมอ? ใช่แล้ว. ในปีการรับใช้ 2002 ยอดผู้ประกาศราชอาณาจักร 6,304,645 คน ซึ่งเพิ่มขึ้น 3.1 เปอร์เซ็นต์จากปี 2001 เป็นหลักฐานแสดงว่าพวกเขาตื่นตัวฝ่ายวิญญาณ โดยใช้เวลา 1,202,381,302 ชั่วโมงในการพูดคุยกับคนอื่น ๆ เรื่องราชอาณาจักรของพระเจ้า. สำหรับคนเหล่านี้ กิจกรรมดังกล่าวไม่ใช่งานที่ทำแค่พอเป็นพิธี. นั่นเป็นส่วนสำคัญในชีวิตของพวกเขา. เจตคติของพวกเขาหลายคนเห็นได้ชัดจากตัวอย่างของเอดวาร์โดและโนเอมีในเอลซัลวาดอร์.
15. ประสบการณ์อะไรจากเอลซัลวาดอร์แสดงว่าหลายคนกำลังตื่นตัวฝ่ายวิญญาณ?
15 หลายปีมาแล้ว เอดวาร์โดและโนเอมีได้ใส่ใจถ้อยคำของเปาโลที่ว่า “ฉากของโลกนี้กำลังเปลี่ยนไป.” (1 โกรินโธ 7:31, ล.ม.) พวกเขาทำชีวิตของตนให้เรียบง่ายและเข้าสู่งานรับใช้เต็มเวลาประเภทไพโอเนียร์. เมื่อเวลาผ่านไป ทั้งสองได้รับพระพรมากมายในหลายทาง และกระทั่งมีส่วนร่วมในงานหมวดและภาค. แม้ว่าต้องประสบปัญหาร้ายแรง เอดวาร์โดและโนเอมีมั่นใจว่าตนตัดสินใจอย่างถูกต้องที่ได้สละความสะดวกสบายฝ่ายวัตถุเพื่อเข้าสู่งานรับใช้เต็มเวลา. หลายคนในจำนวนผู้ประกาศ 29,269 คน รวมทั้งไพโอเนียร์ 2,454 คนในเอลซัลวาดอร์ได้แสดงน้ำใจเสียสละคล้าย ๆ กันนั้น ซึ่งเป็นเหตุผลหนึ่งที่ประเทศนี้มีจำนวนผู้ประกาศเพิ่มขึ้น 2 เปอร์เซ็นต์ในปีที่ผ่านมา.
16. พี่น้องหนุ่มคนหนึ่งในโกตดิวัวร์ได้แสดงเจตคติแบบใด?
16 ในโกตดิวัวร์ เจตคติอย่างเดียวกันนั้นมีการแสดงออกโดยคริสเตียนวัยหนุ่มคนหนึ่ง ซึ่งเขียนถึงสำนักงานสาขาดังนี้: “ผมกำลังรับใช้ในฐานะผู้ช่วยงานรับใช้. แต่ผมไม่สามารถบอกพี่น้องให้เป็นไพโอเนียร์ได้ ในขณะที่ตัวเองไม่ได้วางตัวอย่างที่ดีในเรื่องนี้. ดังนั้น ผมจึงลาออกจากงานที่มีรายได้ดีและตอนนี้ทำงานส่วนตัว ซึ่งทำให้ผมมีเวลามากขึ้นในงานรับใช้.” ตอนนี้ ชายหนุ่มคนนี้เป็นหนึ่งในไพโอเนียร์ 983 คนที่รับใช้ในโกตดิวัวร์ ซึ่งมีรายงานว่ามีผู้ประกาศ 6,701 คนในปีที่ผ่านมา เพิ่มขึ้น 5 เปอร์เซ็นต์.
17. เด็กสาวพยานฯ คนหนึ่งในเบลเยียมแสดงอย่างไรว่าการมีอคติไม่ได้ทำให้เธอหวั่นกลัว?
17 การมีจิตใจคับแคบ, อคติ, และความลำเอียงยังคงสร้างปัญหาให้กับผู้ประกาศราชอาณาจักรจำนวน 24,961 คนในเบลเยียม. ถึงกระนั้น พวกเขายังคงกระตือรือร้นและไม่หวั่นกลัว. เมื่อเด็กสาวพยานฯ อายุ 16 ปีคนหนึ่งได้ยินว่ามีการเรียกพยานพระยะโฮวาว่าเป็นนิกายอันตรายในชั้นเรียนด้านศีลธรรม เธอขออนุญาตที่จะแสดงถึงจุดยืนของพยานพระยะโฮวา. โดยการใช้วีดิทัศน์พยานพระยะโฮวา—องค์การเบื้องหลังชื่อนี้ และจุลสารพยานพระยะโฮวา—พวกเขาเป็นใคร? เธอสามารถอธิบายว่าจริง ๆ แล้วพวกพยานฯ เป็นใคร. ข้อมูลที่เธอนำเสนอได้รับการตอบรับอย่างดี และในสัปดาห์ต่อมา นักเรียนได้รับข้อสอบซึ่งคำถามทุกข้อเกี่ยวข้องกับศาสนาคริสเตียนพยานพระยะโฮวา.
18. มีหลักฐานอะไรที่แสดงว่าปัญหาทางเศรษฐกิจไม่ได้ทำให้ผู้ประกาศในอาร์เจนตินาและโมซัมบิกหันเหไปจากงานรับใช้พระยะโฮวา?
18 คริสเตียนส่วนใหญ่ต้องประสบปัญหาหนักระหว่างสมัยสุดท้ายนี้. กระนั้น พวกเขาพยายามที่จะไม่ให้ปัญหาต่าง ๆ มาทำให้พวกเขาหันเหไปจากงานรับใช้. ทั้ง ๆ ที่ประสบปัญหาทางเศรษฐกิจอย่างที่ทราบกันทั่วไป แต่อาร์เจนตินาก็ยังรายงานยอดใหม่จำนวนพยานฯ 126,709 คนในปีที่ผ่านมา. ความยากจนยังคงมีทั่วไปในโมซัมบิก. แต่กระนั้น มีรายงานว่ามีผู้เข้าร่วมในงานให้คำพยาน 37,563 คน เพิ่มขึ้น 4 เปอร์เซ็นต์. ชีวิตช่างลำบากยากแค้นสำหรับหลายคนในแอลเบเนีย กระนั้น ประเทศนี้ก็ยังรายงานการเพิ่มทวีที่ยอดเยี่ยมถึง 12 เปอร์เซ็นต์ บรรลุยอดผู้ประกาศ 2,708 คน. เห็นได้ชัดว่า สภาพการณ์ที่ยากลำบากไม่ได้กีดขวางพระวิญญาณของพระยะโฮวา เมื่อผู้รับใช้ของพระองค์ให้ผลประโยชน์แห่งราชอาณาจักรอยู่ในอันดับแรก.—มัดธาย 6:33.
19. (ก) หลักฐานอะไรแสดงว่ายังคงมีคนเยี่ยงแกะอีกมากมายที่กระหายความจริงในคัมภีร์ไบเบิล? (ข) มีรายละเอียดอะไรอื่นอีกจากรายงานประจำปีที่แสดงว่าผู้รับใช้ของพระยะโฮวากำลังตื่นตัวฝ่ายวิญญาณ? (ดูแผนภูมิในหน้า 12-15.)
19 รายงานการศึกษาพระคัมภีร์ตลอดทั่วโลกในปีที่ผ่านมาเฉลี่ยต่อเดือน 5,309,289 รายแสดงว่ายังมีคนเยี่ยงแกะอีกมากมายที่กระหายความจริงในคัมภีร์ไบเบิล. เกี่ยวกับยอดใหม่ 15,597,746 คนของผู้ที่เข้าร่วมการประชุมอนุสรณ์นั้น คนเหล่านี้ส่วนใหญ่ยังไม่ได้รับใช้พระยะโฮวาอย่างจริงจัง. ขอให้พวกเขาเติบโตต่อ ๆ ไปในความรู้และความรักต่อพระยะโฮวาและสังคมพี่น้อง. เป็นเรื่องน่าตื่นเต้นที่เห็นว่า “ชนฝูงใหญ่” แห่ง “แกะอื่น” ยังคงบังเกิดผลต่อไปขณะที่รับใช้พระผู้สร้าง “ทั้งวันทั้งคืนในพระวิหารของพระองค์” ร่วมกับพี่น้องของพวกเขาที่ได้รับการเจิมด้วยพระวิญญาณ.—วิวรณ์ 7:9, 15, ล.ม.; โยฮัน 10:16.
บทเรียนจากโลต
20. เราได้เรียนอะไรจากตัวอย่างของโลตและภรรยาของท่าน?
20 แน่นอน แม้แต่ผู้รับใช้ที่ซื่อสัตย์ของพระเจ้าก็อาจสูญเสียความสำนึกถึงความเร่งด่วนไปได้ชั่วขณะ. ขอให้คิดถึงโลต หลานชายของอับราฮาม. ท่านได้ทราบจากทูตสวรรค์สององค์ที่มาหาท่านว่า พระเจ้าจะทำลายเมืองโซโดมและโกโมร์ราห์ในอีกไม่ช้า. โลตซึ่ง “มีทุกข์เป็นอันมากเพราะการประพฤติลามกของคนชั่วเหล่านั้น” คงไม่ประหลาดใจที่ได้ยินข่าวนี้. (2 เปโตร 2:7) ถึงกระนั้น เมื่อทูตสวรรค์สององค์นั้นมาพาท่านออกไปจากโซโดม ท่าน “ยังรีรอ.” ทูตสวรรค์แทบจะต้องฉุดลากท่านและครอบครัวออกจากเมืองนั้น. ต่อมา ภรรยาของโลตไม่ใส่ใจคำเตือนของทูตสวรรค์ที่ห้ามหันกลับไปมอง. การถือว่าคำเตือนเป็นเรื่องไม่สำคัญทำให้เธอเสียชีวิต. (เยเนซิศ 19:14-17, 26, ฉบับแปลใหม่) พระเยซูเตือนว่า “จงระลึกถึงภรรยาของโลตนั้นเถิด.”—ลูกา 17:32.
21. ทำไมจึงสำคัญที่จะต้องตื่นตัวในเวลานี้ยิ่งกว่าแต่ก่อน?
21 ความหายนะของเมืองปอมเปอีและเฮอร์คิวเลเนียม, เหตุการณ์ต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับการทำลายกรุงเยรูซาเลม, รวมทั้งตัวอย่างเรื่องน้ำท่วมในสมัยโนฮากับตัวอย่างของโลต เหตุการณ์ทั้งหมดนี้แสดงให้เห็นถึงความสำคัญของการเอาใจใส่คำเตือนอย่างจริงจัง. ในฐานะผู้รับใช้ของพระยะโฮวา เราเข้าใจดีเกี่ยวกับสัญลักษณ์ของสมัยสุดท้าย. (มัดธาย 24:3) เราได้แยกตัวเองออกจากศาสนาเท็จ. (วิวรณ์ 18:4) เช่นเดียวกับคริสเตียนในศตวรรษแรก เราต้อง “คำนึงถึงวันของพระยะโฮวาเสมอ.” (2 เปโตร 3:12, ล.ม.) ถูกแล้ว บัดนี้เราต้องตื่นตัวยิ่งกว่าแต่ก่อน! เราแต่ละคนอาจทำอะไรได้บ้างและเราจะพัฒนาคุณลักษณะอะไรบ้างเพื่อจะตื่นตัวอยู่เสมอ? จะมีการพิจารณาเรื่องเหล่านี้ในบทความถัดไป.
[เชิงอรรถ]
a กรุงเยรูซาเลมในศตวรรษแรกไม่น่าจะมีพลเมืองมากกว่า 120,000 คน. ยูเซบิอุสคำนวณว่าผู้อาศัยในแคว้นยูเดียประมาณ 300,000 คนเดินทางมายังกรุงเยรูซาเลมเพื่อฉลองปัศคาในปี ส.ศ. 70. ผู้ที่เสียชีวิตนอกนั้นคงต้องมาจากส่วนอื่น ๆ ของจักรวรรดิ.
b แน่นอน จากทัศนะของพระยะโฮวาแล้ว พระบัญญัติของโมเซถูกแทนที่ด้วยคำสัญญาไมตรีใหม่ในปี ส.ศ. 33.—เอเฟโซ 2:15.
คุณจะตอบอย่างไร?
• เหตุการณ์อะไรที่ทำให้คริสเตียนชาวยิวสามารถรอดพ้นจากการทำลายล้างกรุงเยรูซาเลม?
• คำแนะนำในจดหมายของอัครสาวกเปโตรและเปาโลช่วยเราให้ตื่นตัวอยู่เสมออย่างไร?
• ใครในทุกวันนี้ให้หลักฐานว่าพวกเขาตื่นตัวอย่างเต็มที่?
• เราได้บทเรียนอะไรจากเรื่องราวของโลตและภรรยาของท่าน?
[แผนภูมิหน้า 12-15]
รายงานเกี่ยวกับปีรับใช้ 2002 ของพยานพระยะโฮวาตลอดทั่วโลก
(รายละเอียดดูจากวารสาร)
[ภาพหน้า 9]
ในปี ส.ศ. 66 คริสเตียนที่อาศัยในกรุงเยรูซาเลมได้เอาใจใส่คำเตือนของพระเยซู
[ภาพหน้า 10]
การรักษากิจกรรมฝ่ายวิญญาณช่วยคริสเตียนให้ตื่นตัวอยู่เสมอ