จงคำนึงถึงวันของพระยะโฮวาเสมอ
“ในสมัยสุดท้ายจะมีคนเยาะเย้ย.”—2 เปโตร 3:3, ล.ม.
1. คริสเตียนในสมัยปัจจุบันคนหนึ่งมีความสำนึกถึงความเร่งด่วนเช่นไร?
ผู้รับใช้เต็มเวลานานกว่า 66 ปีคนหนึ่งเขียนดังนี้: “ผมตื่นตัวอยู่เสมอถึงความเร่งด่วน. ในความคิดของผม อาร์มาเก็ดดอนจะมาภายในวันสองวันนี้. (วิวรณ์ 16:14, 16) เช่นเดียวกับพ่อและปู่ ผมดำเนินชีวิตเหมือนกับที่ท่านอัครสาวก [เปโตร] กระตุ้นเตือนที่ว่า ‘คอยท่าและคำนึงถึงวันของพระยะโฮวาเสมอ.’ ผมมองดูโลกใหม่ที่ทรงสัญญาในฐานะเป็น ‘สิ่งที่เป็นจริง ถึงแม้ไม่ได้เห็นสิ่งนั้นก็ตาม.’”—2 เปโตร 3:11, 12, ล.ม.; เฮ็บราย 11:1, ล.ม.; ยะซายา 11:6-9; วิวรณ์ 21:3, 4.
2. การคำนึงถึงวันของพระยะโฮวาเสมอหมายความเช่นไร?
2 ถ้อยคำของเปโตรที่ว่า ‘คำนึงถึงเสมอ’ ในเรื่องวันของพระยะโฮวาหมายความว่าเราจะไม่ละเรื่องนี้จากความคิดจิตใจของเรา. เราไม่ควรลืมว่าวันที่พระยะโฮวาจะทำลายระบบนี้ซึ่งเป็นเหตุการณ์ที่จะเกิดขึ้นก่อนการสถาปนาโลกใหม่ตามคำสัญญาของพระองค์ใกล้เข้ามาแล้วจริง ๆ. วันของพระยะโฮวาควรเป็นจริงสำหรับเราถึงขนาดที่เราเห็นวันนั้นได้อย่างชัดเจน อยู่ตรงหน้าเรานี่เอง. วันของพระยะโฮวาเป็นจริงอย่างนั้นแหละสำหรับผู้พยากรณ์ของพระเจ้าในกาลโบราณ และพวกเขากล่าวถึงวันนั้นอยู่บ่อยครั้งว่ามาใกล้แล้ว.—ยะซายา 13:6; โยเอล 1:15; 2:1; โอบัดยา 15; ซะฟันยา 1:7, 14.
3. เห็นได้ชัดว่าอะไรกระตุ้นให้เปโตรแนะนำเกี่ยวกับวันของพระยะโฮวา?
3 เหตุใดเปโตรกระตุ้นเตือนเราให้มองดูวันของพระยะโฮวา ราวกับว่าวันนั้นอาจจะมาถึงภายใน “วันสองวันนี้”? เนื่องจากเห็นได้ชัดว่า บางคนเริ่มเย้ยหยันความคิดเกี่ยวกับการประทับของพระคริสต์ตามคำสัญญาซึ่งจะเป็นเวลาที่คนทำผิดถูกลงโทษ. (2 เปโตร 3:3, 4) ดังนั้น ในบท 3 ของจดหมายฉบับที่สองของท่าน ซึ่งเราจะพิจารณากันในตอนนี้ เปโตรตอบข้อกล่าวหาของผู้เยาะเย้ยเหล่านี้.
คำวิงวอนอย่างอบอุ่นที่พึงจำ
4. เปโตรต้องการให้เราระลึกถึงอะไร?
4 ความรักใคร่ของเปโตรต่อพี่น้องของท่านเห็นได้จากการที่ท่านเรียกพวกเขาหลายต่อหลายครั้งในบทนี้ว่า “พวกที่รัก.” ในการวิงวอนอย่างอบอุ่นต่อพวกเขาเพื่อจะไม่ลืมสิ่งที่ท่านเคยสอน เปโตรเริ่มโดยกล่าวดังนี้: “พวกที่รัก . . . ข้าพเจ้ากระตุ้นความสามารถในการคิดอย่างแจ่มชัดของท่าน โดยการเตือนความทรงจำ เพื่อท่านทั้งหลายจะได้จดจำคำกล่าวที่พวกผู้พยากรณ์บริสุทธิ์ได้กล่าวไว้แต่ก่อน และพระบัญญัติขององค์พระผู้เป็นเจ้า พระผู้ช่วยให้รอด โดยทางพวกอัครสาวกของท่านทั้งหลาย.”—2 เปโตร 3:1, 2, 8, 14, 17, ล.ม.; ยูดา 17.
5. ผู้พยากรณ์บางคนกล่าวอย่างไรเกี่ยวกับวันของพระยะโฮวา?
5 “คำกล่าวที่พวกผู้พยากรณ์บริสุทธิ์ได้กล่าวไว้แต่ก่อน” ที่เปโตรกระตุ้นเตือนผู้อ่านให้ระลึกถึงนั้นคืออะไร? ไม่ใช่อะไรอื่นนอกจากเรื่องเกี่ยวกับการประทับของพระคริสต์ด้วยฤทธานุภาพแห่งราชอาณาจักรและการพิพากษาคนที่ดูหมิ่นพระเจ้า. ก่อนหน้านี้ เปโตรได้ชี้ชวนให้พิจารณาคำกล่าวเหล่านี้. (2 เปโตร 1:16-19; 2:3-10, ล.ม.) ยูดาอ้างถึงฮะโนคที่เป็นผู้พยากรณ์คนแรกซึ่งมีการบันทึกเอาไว้ที่เตือนเกี่ยวกับการพิพากษาของพระเจ้าอย่างเป็นผลร้ายต่อคนชั่ว. (ยูดา 14, 15) ยังมีผู้พยากรณ์คนอื่น ๆ อีกหลังจากฮะโนค และเปโตรไม่ต้องการให้เราลืมสิ่งที่ผู้พยากรณ์เหล่านั้นเขียน.—ยะซายา 66:15, 16; ซะฟันยา 1:15-18; ซะคาระยา 14:6-9.
6. คำกล่าวอะไรของพระคริสต์และเหล่าอัครสาวกที่ทำให้เรากระจ่างในเรื่องวันของพระยะโฮวา?
6 นอกจากนี้ เปโตรบอกผู้อ่านของท่านให้ระลึกถึง “พระบัญญัติขององค์พระผู้เป็นเจ้า พระผู้ช่วยให้รอด.” ส่วนหนึ่งของพระบัญญัติของพระเยซูได้แก่คำกระตุ้นเตือนที่ว่า “จงเอาใจใส่ตัวเอง เพื่อว่าหัวใจของเจ้าจะไม่เพียบลง . . . และโดยไม่ทันรู้ตัววันนั้นจะมาถึงเจ้าอย่างกะทันหัน ดุจบ่วงแร้ว.” “จงคอยดูอยู่ ตื่นตัวเสมอ เพราะเจ้าทั้งหลายไม่รู้ว่าเมื่อไรจะถึงเวลากำหนด.” (ลูกา 21:34-36, ล.ม.; มาระโก 13:33, ล.ม.) เปโตรกระตุ้นเตือนเราให้เอาใจใส่ต่อคำกล่าวของอัครสาวกคนอื่น ๆ ด้วย. ตัวอย่างเช่น อัครสาวกเปาโลเขียนดังนี้: “วันของพระยะโฮวาจะมาเหมือนขโมยที่มาในเวลากลางคืน. ดังนั้น อย่าให้เราหลับเหมือนคนอื่น แต่ให้เราตื่นตัวอยู่และรักษาสติของเรา.”—1 เธซะโลนิเก 5:2, 6, ล.ม.
ความปรารถนาของผู้เยาะเย้ย
7, 8. (ก) คนชนิดใดที่เยาะเย้ยข่าวสารคำเตือนของพระเจ้า? (ข) ผู้เยาะเย้ยอ้างว่าอย่างไร?
7 ดังที่กล่าวไปแล้ว เหตุผลที่เปโตรเตือนก็เนื่องจากมีบางคนเริ่มเยาะเย้ยคำเตือนเหล่านั้น เหมือนที่ชาวยิศราเอลในยุคก่อนนั้นได้หัวเราะเยาะผู้พยากรณ์ของพระยะโฮวา. (2 โครนิกา 36:16) เปโตรอธิบายดังนี้: “เพราะท่านทั้งหลายทราบข้อนี้ก่อนคือว่า ในสมัยสุดท้ายจะมีคนเยาะเย้ยโดยใช้การหัวเราะเยาะของเขา ดำเนินตามความปรารถนาของตนเอง.” (2 เปโตร 3:3, ล.ม.) ยูดากล่าวว่าความปรารถนาของผู้เยาะเย้ยเหล่านี้เกี่ยวข้องกับ “สิ่งต่าง ๆ ที่ดูหมิ่นพระเจ้า.” ท่านเรียกพวกเขาว่า “คนเยี่ยงเดียรัจฉาน ไม่มีความสนใจในสิ่งฝ่ายวิญญาณ.”—ยูดา 17-19, ล.ม.
8 ผู้สอนเท็จซึ่งเปโตรกล่าวว่า “ดำเนินตามเนื้อหนังด้วยความปรารถนาที่จะทำให้เนื้อหนังเป็นมลทิน” ดูเหมือนจะเป็นกลุ่มเดียวกับผู้เยาะเย้ยเหล่านี้ซึ่งไม่มีความสนใจในสิ่งฝ่ายวิญญาณ. (2 เปโตร 2:1, 10, 14, ล.ม.) พวกเขาถามคริสเตียนที่ซื่อสัตย์อย่างเย้ยหยันว่า “การประทับของพระองค์ที่ทรงสัญญาไว้นี้อยู่ที่ไหนล่ะ? อ้าว ตั้งแต่สมัยที่บรรพบุรุษของเราได้ล่วงหลับไปในความตาย สิ่งทั้งปวงก็ดำเนินต่อไปเหมือนทีเดียว อย่างที่เป็นอยู่ตั้งแต่ตอนเริ่มต้นการทรงสร้าง.”—2 เปโตร 3:4, ล.ม.
9. (ก) เหตุใดผู้เยาะเย้ยจึงพยายามเซาะกร่อนความสำนึกถึงความเร่งด่วนซึ่งปรากฏอยู่โดยตลอดในพระคำของพระเจ้า? (ข) การคำนึงถึงวันของพระยะโฮวาเสมอเป็นการป้องกันเราอย่างไร?
9 ทำไมจึงเยาะเย้ยอย่างนี้? ทำไมจึงพูดในเชิงว่าการประทับของพระคริสต์อาจไม่มีวันที่จะเกิดขึ้น และพระเจ้าไม่เคยยุ่งเกี่ยวในกิจการของมนุษย์และจะไม่มีวันทำอย่างนั้น? เหตุผลคือ โดยการเซาะกร่อนความรู้สึกในเรื่องความเร่งด่วนซึ่งปรากฏอยู่โดยตลอดในพระคำของพระเจ้า ผู้เยาะเย้ยซึ่งเป็นเยี่ยงเดียรัจฉานเหล่านี้พยายามกล่อมผู้คนให้ตกสู่สภาพไม่แยแสฝ่ายวิญญาณ และโดยวิธีนี้ทำให้พวกเขาตกเป็นเหยื่อของการล่อลวงที่เห็นแก่ตัวได้อย่างง่ายดาย. นับเป็นการกระตุ้นอย่างมีพลังสำหรับเราในทุกวันนี้ที่จะตื่นตัวอยู่เสมอทางฝ่ายวิญญาณ! ขอให้เราคำนึงถึงวันของพระยะโฮวาเสมอและระลึกเสมอว่าพระเนตรของพระองค์เฝ้ามองเราอยู่! โดยวิธีนี้ เราจะถูกกระตุ้นให้รับใช้พระยะโฮวาด้วยความกระตือรือร้นและรักษาความบริสุทธิ์ทางศีลธรรมเอาไว้เสมอ.—บทเพลงสรรเสริญ 11:4; ยะซายา 29:15; ยะเอศเคล 8:12; 12:27; ซะฟันยา 1:12.
จงใจและน่ารังเกียจ
10. เปโตรพิสูจน์อย่างไรว่าผู้เยาะเย้ยเป็นฝ่ายผิด?
10 คนที่เยาะเย้ยเช่นนี้เพิกเฉยข้อเท็จจริงที่สำคัญ. พวกเขาจงใจเพิกเฉยและพยายามทำให้ผู้อื่นลืมข้อเท็จจริงนี้. ทำไม? ก็เพื่อพวกเขาจะสามารถล่อลวงผู้คนได้ง่ายขึ้น. เปโตรเขียนว่า “เพราะว่า ตามความประสงค์ของเขา ข้อเท็จจริงเรื่องนี้พ้นจากการสังเกตของเขา.” ข้อเท็จจริงอะไร? “คือว่า โดยคำตรัสของพระเจ้า มีฟ้าสวรรค์ในครั้งโบราณ และแผ่นดินโลกตั้งเป็นปึกแผ่นออกจากน้ำ และในท่ามกลางน้ำ และโดยวิธีนี้ โลกในสมัยนั้นประสบพินาศกรรมคราวถูกน้ำท่วม.” (2 เปโตร 3:5, 6, ล.ม.) ใช่แล้ว พระยะโฮวาทรงกำจัดความชั่วออกไปจากแผ่นดินโลกในคราวน้ำท่วมใหญ่สมัยโนฮา ซึ่งเป็นข้อเท็จจริงที่พระเยซูก็ทรงเน้นด้วย. (มัดธาย 24:37-39; ลูกา 17:26, 27; 2 เปโตร 2:5) ดังนั้น ตรงกันข้ามกับสิ่งที่ผู้เยาะเย้ยกล่าว ทุกสิ่งมิได้ ดำเนินต่อไป “เหมือนทีเดียว อย่างที่เป็นอยู่ตั้งแต่ตอนเริ่มต้นการทรงสร้าง.”
11. การคาดการณ์เร็วเกินไปในเรื่องอะไรของคริสเตียนในยุคแรกทำให้บางคนเยาะเย้ยพวกเขา?
11 ผู้เยาะเย้ยอาจได้หัวเราะเยาะคริสเตียนที่ซื่อสัตย์เพราะการคาดหวังบางอย่างของพวกเขายังไม่สำเร็จเป็นจริง. ก่อนพระเยซูสิ้นพระชนม์ไม่นาน สาวกของพระองค์ “คิดว่าแผ่นดินของพระเจ้าจะปรากฏโดยพลัน.” จากนั้น หลังจากการคืนพระชนม์ของพระองค์ พวกเขาถามว่าราชอาณาจักรจะถูกตั้งในตอนนั้นเลยหรือไม่. นอกจากนี้ ประมาณสิบปีก่อนเปโตรเขียนจดหมายฉบับที่สอง บางคน “เป็นทุกข์เป็นร้อน” เนื่องด้วย “คำพูด” หรือ “จดหมาย” ซึ่งเข้าใจกันว่ามาจากอัครสาวกเปาโลหรือเพื่อนร่วมงานของท่าน “อ้างว่าวันขององค์พระผู้เป็นเจ้าถึงแล้ว.” (ลูกา 19:11; 2 เธซะโลนิเก 2:2; กิจการ 1:6) อย่างไรก็ตาม การคาดหมายเช่นนั้นของเหล่าสาวกของพระเยซูไม่ใช่ความเท็จ หากแต่เป็นการคาดการณ์เร็วเกินไป. วันของพระยะโฮวาจะมาแน่นอน!
พระคำของพระเจ้าไว้วางใจได้
12. พระคำของพระเจ้าได้รับการพิสูจน์อย่างไรว่าไว้วางใจได้ในเรื่องคำพยากรณ์เกี่ยวกับ “วันของพระยะโฮวา”?
12 ดังที่กล่าวไปแล้ว ผู้พยากรณ์ในยุคก่อนคริสเตียนมักเตือนว่าวันแห่งการแก้แค้นของพระยะโฮวาใกล้จะถึงแล้ว. “วันของพระยะโฮวา” ในขอบข่ายเล็ก ๆ มาถึงในปี 607 ก่อนสากลศักราช เมื่อพระยะโฮวาทรงพิพากษาสำเร็จโทษไพร่พลที่ดื้อดึงของพระองค์. (ซะฟันยา 1:14-18) ต่อมา ชาติอื่น ๆ รวมทั้งบาบูโลนและอียิปต์ด้วย ต่างก็ประสบกับ “วันของพระยะโฮวา” เช่นเดียวกันนั้น. (ยะซายา 13:6-9; ยิระมะยา 46:1-10; โอบัดยา 15) อวสานของระบบยิวในศตวรรษที่หนึ่งก็มีบอกไว้ล่วงหน้าด้วย และเหตุการณ์นั้นเกิดขึ้นเมื่อกองทัพโรมันล้างผลาญยูเดียในปีสากลศักราช 70. (ลูกา 19:41-44; 1 เปโตร 4:7) แต่เปโตรชี้ไปยัง “วันของพระยะโฮวา” ในอนาคต ซึ่งความยิ่งใหญ่ของวันนั้นจะทำให้เหตุการณ์น้ำท่วมโลกกลายเป็นเรื่องเล็กน้อย!
13. ตัวอย่างอะไรในประวัติศาสตร์ซึ่งแสดงถึงความแน่นอนของอวสานแห่งระบบนี้?
13 เปโตรเริ่มพรรณนาเกี่ยวกับการทำลายที่กำลังจะมาโดยบอกว่า “แต่ว่าโดยคำตรัสอย่างเดียวกันนั้น.” ท่านเพิ่งกล่าวไปว่า “โดยคำตรัสของพระเจ้า” แผ่นดินโลกตอนก่อนถูกน้ำท่วมตั้ง “ออกจากน้ำ และในท่ามกลางน้ำ.” สภาพแบบนี้เองซึ่งมีพรรณนาไว้ในบันทึกเรื่องการทรงสร้าง ที่ทำให้เกิดน้ำท่วมใหญ่ได้เมื่อน้ำได้เทลงมาตามพระบัญชาหรือคำตรัสของพระเจ้า. เปโตรกล่าวต่อไปอีกว่า “โดยคำตรัส [ของพระเจ้า] อย่างเดียวกันนั้น ฟ้าสวรรค์และแผ่นดินโลกที่อยู่เดี๋ยวนี้ถูกเก็บไว้สำหรับไฟเผา และสงวนไว้จนถึงวันแห่งการพิพากษาและวันพินาศแห่งบรรดาคนที่ดูหมิ่นพระเจ้า.” (2 เปโตร 3:5-7, ล.ม.; เยเนซิศ 1:6-8) เรามีพระคำที่วางใจได้ของพระยะโฮวาซึ่งบอกเราในเรื่องนี้! พระองค์จะนำอวสานมาสู่ “ฟ้าสวรรค์และแผ่นดินโลก” ซึ่งก็คือระบบนี้ ด้วยพระพิโรธอันร้อนแรงแห่งวันใหญ่ของพระองค์! (ซะฟันยา 3:8) แต่ว่าเมื่อไร?
ความกระตือรือร้นที่จะได้เห็นอวสานมาถึง
14. เหตุใดเรามั่นใจได้ว่าเรากำลังมีชีวิตอยู่ใน “สมัยสุดท้าย”?
14 สาวกของพระเยซูต้องการทราบว่าอวสานจะมาเมื่อไร ดังนั้นพวกเขาถามพระองค์ดังนี้: “จะมีอะไรเป็นสัญลักษณ์แห่งการประทับของพระองค์และช่วงอวสานของระบบ?” เห็นได้ชัดว่าพวกเขาถามเกี่ยวกับเวลาที่ระบบยิวจะสิ้นสุด แต่คำตอบของพระเยซูรวมจุดอยู่ที่เวลาเมื่อ “ฟ้าสวรรค์และแผ่นดินโลก” ในปัจจุบันจะถูกทำลายเป็นประการสำคัญ. พระเยซูทรงพยากรณ์ถึงสิ่งต่าง ๆ อย่างเช่น สงครามใหญ่, การขาดแคลนอาหาร, แผ่นดินไหว, โรคภัย, และอาชญากรรม. (มัดธาย 24:3-14, ล.ม.; ลูกา 21:5-36) ตั้งแต่ปี 1914 เราได้เห็นสัญลักษณ์ดังกล่าวที่พระเยซูให้ไว้สำหรับ “ช่วงอวสานของระบบ” สำเร็จเป็นจริง รวมทั้งสิ่งต่าง ๆ ที่อัครสาวกเปาโลอ้างถึงว่าจะบ่งชี้ “สมัยสุดท้าย” ก็สำเร็จเช่นเดียวกัน. (2 ติโมเธียว 3:1-5, ล.ม.) ที่จริง หลักฐานมีท่วมท้นว่าเรากำลังมีชีวิตอยู่ในเวลาอวสานของระบบนี้!
15. คริสเตียนมักโน้มเอียงจะทำอะไรซึ่งตรงกันข้ามกับคำเตือนของพระเยซู?
15 พยานพระยะโฮวากระหายใคร่รู้อยู่ตลอดมาว่าเมื่อไรวันของพระยะโฮวาจะมาปรากฏ. ด้วยความกระตือรือร้น บางครั้งพวกเขาพยายามคาดคะเนว่าวันนั้นอาจมาเมื่อไร. แต่โดยทำเช่นนั้น พวกเขาไม่ได้เอาใจใส่คำเตือนที่ว่าเรา “ไม่รู้ว่าเมื่อไรจะถึงเวลากำหนด” เช่นเดียวกับสาวกรุ่นแรกของพระเยซู. (มาระโก 13:32, 33, ล.ม.) ผู้เยาะเย้ยจึงได้หัวเราะเยาะคริสเตียนที่ซื่อสัตย์เพราะการคาดการณ์ที่เร็วเกินไปของพวกเขา. (2 เปโตร 3:3, 4) อย่างไรก็ตาม เปโตรยืนยันว่าวันของพระยะโฮวาจะ มาตามกำหนดเวลาของพระองค์.
จำต้องมีทัศนะของพระยะโฮวา
16. คำเตือนอะไรซึ่งนับว่าสุขุมที่เราจะเอาใจใส่?
16 เราจำต้องมีทัศนะของพระยะโฮวาในเรื่องเวลา ดังที่เปโตรเตือนใจเราดังต่อไปนี้: “อย่างไรก็ดี ดูก่อนพวกที่รัก อย่าให้ข้อเท็จจริงข้อนี้พ้นจากการสังเกตของท่านทั้งหลาย คือว่าวันเดียวสำหรับพระยะโฮวาเป็นเหมือนพันปี และพันปีก็เป็นเหมือนวันเดียว.” เมื่อเทียบกันแล้ว ช่วงชีวิตของเราซึ่งมีประมาณ 70 หรือ 80 ปีนั้นช่างสั้นเหลือเกิน! (2 เปโตร 3:8, ล.ม.; บทเพลงสรรเสริญ 90:4, 10) ดังนั้น หากความสำเร็จแห่งคำสัญญาของพระเจ้าดูเหมือนว่าเนิ่นช้า จำเป็นที่เราจะต้องยอมรับคำเตือนของผู้พยากรณ์ของพระเจ้าที่ว่า “ถึงแม้ [เวลากำหนดนั้น] จะเนิ่นช้าก็จงคอยท่า; ด้วยว่าจะสำเร็จเป็นแน่. จะไม่ล่าช้าเลย.”—ฮะบาฆูค 2:3, ล.ม.
17. แม้ว่าสมัยสุดท้ายได้ดำเนินมานานกว่าที่หลายคนคาดไว้ เรามั่นใจได้ในเรื่องอะไร?
17 เหตุใดสมัยสุดท้ายของระบบนี้ยังคงดำเนินต่อไปนานกว่าที่หลายคนคาดเอาไว้? ด้วยเหตุผลที่ดี อย่างที่เปโตรอธิบายถัดจากนั้นที่ว่า “พระยะโฮวาไม่ได้ทรงเฉื่อยช้าในเรื่องคำสัญญาของพระองค์เหมือนบางคนถือว่าช้านั้น แต่พระองค์อดกลั้นพระทัยกับท่านทั้งหลาย เพราะพระองค์ไม่ประสงค์จะให้คนหนึ่งคนใดถูกทำลาย แต่ทรงปรารถนาจะให้คนทั้งปวงกลับใจเสียใหม่.” (2 เปโตร 3:9, ล.ม.) พระยะโฮวาทรงพิจารณาว่าอะไรที่เป็นประโยชน์ที่สุดสำหรับมนุษยชาติทั้งสิ้น. พระองค์ทรงห่วงใยในชีวิตของผู้คน ดังที่พระองค์ตรัสว่า “เราไม่พอใจในความตายของคนอธรรม แต่พอใจในการที่คนอธรรมหันจากทางของเขาและมีชีวิตอยู่.” (ยะเอศเคล 33:11, ฉบับแปลใหม่) ดังนั้น เรามั่นใจได้ว่าอวสานจะมาตรงตามเวลากำหนดเพื่อทำให้สำเร็จตามวัตถุประสงค์ของพระผู้สร้างของเราผู้ทรงรอบรู้ทุกสิ่งและเปี่ยมด้วยความรัก!
อะไรจะล่วงลับไป?
18, 19. (ก) เหตุใดพระยะโฮวาทรงปลงพระทัยจะทำลายระบบนี้? (ข) เปโตรพรรณนาอย่างไรถึงอวสานของระบบนี้ และอะไรที่จะถูกทำลายจริง ๆ?
18 เนื่องจากพระยะโฮวาทรงมีความรักอย่างแท้จริงต่อผู้ที่รับใช้พระองค์ พระองค์จะกวาดล้างคนที่ทำให้พวกเขาทุกข์ยากออกไปให้หมดสิ้น. (บทเพลงสรรเสริญ 37:9-11, 29) ในการให้ข้อสังเกตดังที่เปาโลแสดงให้เห็นไปแล้วที่ว่าการทำลายนี้จะมาอย่างไม่คาดคิด เปโตรเขียนดังนี้: “วันของพระยะโฮวาจะมาเหมือนอย่างขโมย ในวันนั้นฟ้าสวรรค์จะล่วงลับไปด้วยเสียงแฉ่ ๆ แต่ธาตุต่าง ๆ จะถูกละลายไปเพราะร้อนจัด และแผ่นดินโลกกับการกระทำต่าง ๆ ในโลกจะถูกเปิดเผย.” (2 เปโตร 3:10, ล.ม.; 1 เธซะโลนิเก 5:2) ฟ้าสวรรค์และแผ่นดินโลกจริง ๆ ไม่ถูกทำลายให้พินาศในคราวน้ำท่วมโลก เมื่อถึงวันของพระยะโฮวาก็จะเป็นเช่นเดียวกัน. ถ้าอย่างนั้น อะไรล่ะที่จะ “ล่วงลับไป” หรือถูกทำลาย?
19 รัฐบาลมนุษย์ซึ่งได้ครอบงำเหนือมนุษยชาติเหมือน “ฟ้าสวรรค์” จะถึงกาลอวสาน และ “แผ่นดินโลก” หรือสังคมมนุษย์ที่ดูหมิ่นพระเจ้าก็เช่นกัน. เสียง “แฉ่ ๆ” อาจบ่งบอกถึงการผ่านไปอย่างรวดเร็วของฟ้าสวรรค์. “ธาตุต่าง ๆ” ซึ่งประกอบขึ้นเป็นสังคมอันเสื่อมทรามของมนุษย์จะ “ถูกละลายไป” หรือถูกทำลาย. และ “แผ่นดินโลก” รวมทั้ง “การกระทำต่าง ๆ ในโลกจะถูกเปิดเผย.” พระยะโฮวาจะทรงเปิดโปงการกระทำที่ชั่วร้ายของมนุษย์ ขณะที่พระองค์ทรงนำระบบโลกทั้งสิ้นไปถึงอวสานตามที่ควรได้รับ.
จงจดจ่ออยู่กับความหวังของคุณ
20. ชีวิตของเราควรได้ผลกระทบอย่างไรจากความรู้ในเรื่องเหตุการณ์ที่รออยู่เบื้องหน้า?
20 เนื่องจากเหตุการณ์อันน่าพิศวงเหล่านี้ใกล้เข้ามาแล้วจริง ๆ เปโตรกล่าวว่าเราควรจะฝักใฝ่อยู่ “ในการประพฤติอันบริสุทธิ์ และการกระทำด้วยความเลื่อมใสในพระเจ้า คอยท่าและคำนึงถึงวันของพระยะโฮวาเสมอ.” ไม่มีอะไรที่จะสงสัยได้ในเรื่องนี้! “ฟ้าสวรรค์จะถูกไฟละลายไป และธาตุทั้งหลายก็จะละลายไปเพราะร้อนจัด!” (2 เปโตร 3:11, 12, ล.ม.) ข้อเท็จจริงที่ว่าเหตุการณ์อันน่าตื่นเต้นเหล่านี้อาจ เกิดขึ้นพรุ่งนี้ก็เป็นได้ น่าจะมีผลต่อทุกสิ่งที่เราทำหรือวางแผนว่าจะทำ.
21. อะไรจะเข้ามาแทนที่ฟ้าสวรรค์และแผ่นดินโลกที่มีอยู่ในปัจจุบัน?
21 บัดนี้ เปโตรบอกเราว่าอะไรจะมาแทนที่ระบบเก่า โดยกล่าวว่า “แต่ว่ามีฟ้าสวรรค์ใหม่และแผ่นดินโลกใหม่ ซึ่งเรากำลังรอท่าอยู่ตามคำสัญญาของพระองค์ และซึ่งความชอบธรรมจะดำรงอยู่ที่นั่น.” (2 เปโตร 3:13, ล.ม.; ยะซายา 65:17) ช่างโล่งใจเสียจริง ๆ! พระคริสต์และผู้ร่วมปกครอง 144,000 คนจะประกอบกันขึ้นเป็น “ฟ้าสวรรค์” แห่งรัฐบาล “ใหม่” และผู้คนที่รอดชีวิตผ่านอวสานของโลกนี้จะประกอบกันขึ้นเป็น “แผ่นดินโลกใหม่.”—1 โยฮัน 2:17; วิวรณ์ 5:9, 10; 14:1, 3.
จงสำนึกในความเร่งด่วน และรักษาไว้ซึ่งความบริสุทธิ์ด้านศีลธรรม
22. (ก) อะไรจะช่วยเราหลีกเลี่ยงด่างพร้อยหรือมลทินทางฝ่ายวิญญาณ? (ข) เปโตรเตือนถึงอันตรายอะไร?
22 เปโตรกล่าวต่อไปอีกดังนี้: “เหตุฉะนั้น พวกที่รัก เนื่องจากท่านทั้งหลายกำลังคอยท่าสิ่งเหล่านี้อยู่ ก็จงกระทำด้วยสุดกำลัง เพื่อในที่สุดพระองค์จะพบท่านปราศจากด่างพร้อยและมลทิน และมีสันติสุข. ยิ่งกว่านั้น จงถือว่าความอดกลั้นพระทัยขององค์พระผู้เป็นเจ้าของเราเป็นความรอด.” การคอยท่าอย่างกระตือรือร้นและถือว่าการที่วันของพระยะโฮวาดูเหมือนล่าช้านั้นเป็นการแสดงความอดกลั้นของพระเจ้า จะช่วยเราหลีกเลี่ยงจากด่างพร้อยหรือมลทินใด ๆ ทางฝ่ายวิญญาณ. กระนั้น ยังมีอันตรายอีก! เปโตรเตือนว่าในจดหมายของ “เปาโลน้องที่รักของเรา . . . มีบางเรื่องในจดหมายเหล่านั้นที่เข้าใจยาก ซึ่งคนที่ไม่ได้รับการสั่งสอนและไม่มั่นคงนั้นได้บิดเบือนเสียเหมือนที่เขาบิดเบือนส่วนอื่น ๆ ของพระคัมภีร์ จนกระทั่งยังความพินาศมาสู่ตัวเอง.”—2 เปโตร 3:14-16, ล.ม.
23. คำเตือนทิ้งท้ายของเปโตรมีใจความเช่นไร?
23 เห็นได้ชัดว่า ผู้สอนเท็จได้บิดเบือนจดหมายของเปาโลเกี่ยวกับพระกรุณาอันไม่พึงได้รับของพระเจ้า โดยใช้พระกรุณานี้เป็นข้อแก้ตัวสำหรับการประพฤติหละหลวม. เปโตรอาจคิดถึงเรื่องนี้อยู่เมื่อท่านเขียนคำเตือนในตอนจบของจดหมายที่ว่า “เหตุฉะนั้น ท่านทั้งหลายผู้เป็นที่รัก เนื่องจากมีความรู้ล่วงหน้าเช่นนี้ ท่านจงระวังระไวเพื่อท่านจะไม่ถูกล่อไปกับเขาโดยความผิดของชนที่ฝ่าฝืนกฎหมายและพลาดไปจากความมั่นคงของท่านเอง.” จากนั้นท่านลงท้ายจดหมายของท่านโดยกระตุ้นเตือนดังนี้: “จงเติบโตต่อ ๆ ไปในพระกรุณาอันไม่พึงได้รับและในความรู้เกี่ยวกับพระเยซูคริสต์องค์พระผู้เป็นเจ้า พระผู้ช่วยให้รอดของเรา.”—2 เปโตร 3:17, 18, ล.ม.
24. ไพร่พลพระยะโฮวาทุกคนควรมีเจตคติเช่นไร?
24 เห็นได้ชัด เปโตรต้องการชูกำลังพี่น้องของท่าน. ท่านปรารถนาให้ทุกคนมีเจตคติเหมือนกับที่พยานฯ ผู้ซื่อสัตย์วัย 82 ปีแสดงให้เห็นดังได้กล่าวในตอนต้น ซึ่งบอกว่า “ผมดำเนินชีวิตเหมือนกับที่ท่านอัครสาวกกระตุ้นเตือนที่ว่า ‘คอยท่าและคำนึงถึงวันของพระยะโฮวาเสมอ.’ ผมมองดูโลกใหม่ที่ทรงสัญญาในฐานะเป็น ‘สิ่งที่เป็นจริง ถึงแม้ไม่ได้เห็นสิ่งนั้นก็ตาม.’” ขอให้เราทุกคนดำเนินชีวิตแบบเดียวกันนั้น.
คุณจะตอบอย่างไร?
▫ การ “คำนึงถึง” วันของพระยะโฮวาเสมอหมายความเช่นไร?
▫ ผู้เยาะเย้ยจงใจเพิกเฉยอะไร และทำไม?
▫ เพราะอะไรผู้เยาะเย้ยจึงได้หัวเราะเยาะคริสเตียน?
▫ เราต้องรักษาทัศนะเช่นไรไว้ให้มั่นคง?
[รูปภาพหน้า 23]
จงคำนึงอยู่เสมอถึงวันของพระยะโฮวา . . .
[รูปภาพหน้า 24]
. . . และโลกใหม่ที่จะติดตามมา