ใครจะหนีพ้น “ยุคแห่งความยากลำบาก”?
“ทุกคนที่ออกพระนามพระยะโฮวาจะรอด.”—โยเอล 2:32.
1. ตามที่กล่าวในพระธรรมดานิเอลและมาลาคี อะไรคือลักษณะพิเศษของคนเหล่านั้นที่อยู่ในข่ายจะรับความรอด ระหว่าง “ยุคแห่งความยากลำบาก”?
ด้วยการตั้งใจคอยสมัยของเรา ผู้พยากรณ์ดานิเอลเขียนไว้ว่า “และเมื่อนั้นจะเป็นยุคแห่งความยากลำบากแน่ ๆ ซึ่งไม่เคยมีความยากลำบากใด ๆ เท่า นับตั้งแต่เกิดเป็นชาติมาจนถึงเวลานั้น. และในสมัยนั้น ชนร่วมชาติของเจ้าจะหนีรอด คือทุกคนที่มีชื่อจารึกไว้ในสมุดนั้น.” (ดานิเอล 12:1) ช่างเป็นถ้อยคำที่ปลอบประโลมใจอะไรเช่นนี้! ไพร่พลซึ่งพระยะโฮวาพอพระทัยย่อมจะคงอยู่ในความทรงจำของพระองค์ ดังที่แถลงไว้ในมาลาคี 3:16 เช่นกัน: “ในครั้งนั้น คนทั้งหลายที่ได้กลัวเกรงพระยะโฮวาก็ได้พลอยพูดเช่นนั้นด้วย และพระยะโฮวาได้ทรงสดับ. แล้วจึงมีหนังสือบันทึกความจำ มีนามคนทั้งหลายที่ได้ยำเกรงพระยะโฮวา และที่ได้ระลึกถึงพระนามของพระองค์นั้นบันทึกลงต่อพระพักตร์พระองค์.”
2. มีผลอะไรตามมาเนื่องด้วยการคำนึงถึงพระนามของพระยะโฮวา?
2 การคิดคำนึงถึงพระนามของพระยะโฮวานำไปสู่ความรู้ถ่องแท้เกี่ยวกับพระองค์, เกี่ยวกับพระคริสต์, และพระประสงค์อันดีเลิศทุกประการของพระองค์เกี่ยวเนื่องกับราชอาณาจักร. เหตุฉะนั้น ไพร่พลของพระองค์เรียนที่จะยกย่องพระองค์ด้วยความเคารพยำเกรง มีสัมพันธภาพอันแนบแน่นกับพระองค์อย่างที่ได้อุทิศแล้ว และรักพระองค์ ‘ด้วยสิ้นสุดหัวใจและด้วยความคิดจิตใจทั้งหมด และด้วยสุดกำลัง.’ (มาระโก 12:33; วิวรณ์ 4:11) พระยะโฮวาได้ทรงจัดเตรียมอย่างกรุณารักใคร่โดยทางเครื่องบูชาของพระเยซูคริสต์ เพื่อคนถ่อมแห่งแผ่นดินโลกจะได้รับชีวิตนิรันดร์. ด้วยเหตุนี้ คนถ่อมทั้งหลายจะสะท้อนถ้อยคำของเหล่าทูตสวรรค์ซึ่งกล่าวสรรเสริญพระเจ้าในคราวพระเยซูประสูติได้อย่างมั่นใจว่า “รัศมีภาพจงมีแก่พระเจ้าในที่สูงสุด และบนแผ่นดินโลกจงมีความสุขความสำราญท่ามกลางมนุษย์ทั้งปวงซึ่งพระองค์ทรงรักใคร่.”—ลูกา 2:14.
3. ก่อนจะมีสันติภาพบนแผ่นดินโลก ปฏิบัติการอะไรของพระยะโฮวาจำต้องเกิดขึ้น?
3 ความสุขสำราญนั้นใกล้เข้ามายิ่งเสียกว่าที่คนส่วนใหญ่คิด. แต่ก่อนอื่น ต้องมีการสำเร็จโทษโลกที่เสื่อมทรามนี้ตามการพิพากษาตัดสินของพระยะโฮวา. ซะฟันยาผู้พยากรณ์ของพระองค์แถลงว่า “วันใหญ่แห่งพระยะโฮวาใกล้จวนเข้าแลเร็วรีบเข้ามาแล้ว.” วันนั้นเป็นวันแบบไหน? ผู้พยากรณ์กล่าวสืบไปว่า “คือสำเนียงวันของพระยะโฮวา [ก็ขมขื่น, ล.ม.] แลคนเรี่ยวแรงจะร้องมหันตทุกข์ที่นั่น. วันนั้นเป็นวันแห่งความพิโรธ เป็นวันแห่งความทุกข์ลำบาก เป็นวันแห่งการชำรุดร้าง เป็นวันแห่งความมืดมัว เป็นวันแห่งเมฆแลพยับอับแสง เป็นวันแห่งแตรแลเสียงพิลึกต่อเมืองทั้งหลายที่มีกำแพงล้อมรอบ แลต่อหอรบอันสูงทั้งปวง. แลเราจะให้บังเกิดความทุกข์ลำบากแก่คนทั้งปวง แลเขาจะดำเนินไปดุจคนตาบอด ด้วยเขาทั้งหลายได้กระทำบาปชั่วต่อพระยะโฮวา.”—ซะฟันยา 1:14-17; อ่านฮะบาฆูค 2:3; 3:1-6, 16-19 ด้วย.
4. ทุกวันนี้ใครตอบรับคำเชิญชวนที่ให้รู้จักและรับใช้พระเจ้า?
4 เป็นที่น่ายินดี ทุกวันนี้ชนหลายล้านคนตอบรับคำเชิญให้มารู้จักและรับใช้พระเจ้า. สำหรับคริสเตียนผู้ถูกเจิมซึ่งถูกรับเข้าอยู่ภายใต้คำสัญญาไมตรีใหม่ก็ได้มีคำพยากรณ์กล่าวถึงดังนี้: “‘เขาทั้งหลายจะรู้จักเราทุกตัวคน ตั้งแต่คนเล็กที่สุดของเขาจนถึงผู้ใหญ่ที่สุด’ พระยะโฮวาได้ตรัส.” (ยิระมะยา 31:34) บุคคลดังกล่าวเป็นกองหน้าในงานให้คำพยานสมัยปัจจุบัน. และเวลานี้ ยิ่งชนที่เหลือผู้ถูกเจิมสิ้นชีวิตทางโลกนี้ ก็ยิ่งมี “ชนฝูงใหญ่” จำพวก “แกะอื่น” มากขึ้นที่เสนอตัวเพื่อมา ‘ถวายการรับใช้อันศักดิ์สิทธิ์แด่พระเจ้าทั้งกลางวันกลางคืน’ ในการจัดเตรียมอันเป็นเสมือนพระวิหารของพระองค์. (วิวรณ์ 7:9, 15; โยฮัน 10:16) คุณเป็นคนหนึ่งไหมที่ได้รับสิทธิพิเศษอันล้ำค่าเช่นนี้?
วิธีที่ “สิ่งน่าปรารถนา” เข้ามา
5, 6. ก่อนนานาชาติทั้งปวงถูกเขย่าให้พินาศ เกิดมีงานช่วยชีวิตแบบไหนขึ้นมา?
5 บัดนี้ ให้เราหันมาพิจารณาฮาฆี 2:7 (ล.ม.) ซึ่งพระยะโฮวาทรงพยากรณ์เกี่ยวกับสถานสำหรับการนมัสการพระองค์ฝ่ายวิญญาณ. พระองค์ตรัสว่า “และเราจะเขย่าทุกชาติ และสิ่งน่าปรารถนาแห่งทุกชาติจะต้องเข้ามา; และเราจะทำให้นิเวศนี้เต็มไปด้วยสง่าราศี.” คำพยากรณ์หลายข้อในพระคัมภีร์ชี้ให้เห็นว่า ‘การเขย่านานาชาติ’ พาดพิงถึงการสำเร็จโทษที่มาจากพระยะโฮวาต่อนานาประเทศ. (นาฮูม 1:5, 6; วิวรณ์ 6:12-17) ด้วยเหตุนั้น การปฏิบัติของพระยะโฮวาตามที่พยากรณ์ไว้ที่ฮาฆี 2:7 จะมาถึงจุดสุดยอดด้วยการที่ประเทศทั้งหลายถูกเขย่าให้หมดสภาพ—ถูกทำลายจนสิ้นเชิง. แต่จะว่าอย่างไรเกี่ยวกับ “สิ่งน่าปรารถนาแห่งทุกชาติ”? คนเหล่านั้นต้องคอยจนกว่าการเขย่าเพื่อทำลายครั้งสุดท้ายไหม แล้วเขาถึงจะเข้ามา? คงไม่ใช่เช่นนั้น.
6 โยเอล 2:32 กล่าวว่า “ทุกคนที่ออกพระนามพระยะโฮวา จะรอด เหตุว่าในภูเขาซีโอนและในกรุงยะรูซาเลมจะมีผู้หนีพ้นภัยได้ ตามที่พระยะโฮวาได้ตรัสไว้แล้ว และในพวกคนที่เหลืออยู่นั้นจะมีผู้เหล่านั้นซึ่งพระยะโฮวาได้ทรงเรียกไว้แล้ว. พระยะโฮวาทรงชักนำพวกเขาออกมา และเขาออกพระนามพระองค์ด้วยความเชื่อในเครื่องบูชาของพระเยซูก่อน แรงสั่นสะเทือนขั้นสุดยอดของความทุกข์ใหญ่. (เทียบกับโยฮัน 6:44; กิจการ 2:38, 39.) น่ายินดี เวลานี้ชนฝูงใหญ่อันมีค่าซึ่งมีจำนวนมากกว่าสี่ล้านพากัน ‘เข้ามา’ ยังสถานแห่งการนมัสการพระยะโฮวาด้วยคาดการณ์ล่วงหน้าว่า ‘พระองค์จะเขย่านานาประเทศทั้งปวง’ ณ อาร์มาเก็ดดอน.—วิวรณ์ 7:9, 10, 14.
7. มีอะไรรวมอยู่ด้วยใน ‘การร้องออกพระนามของพระยะโฮวา’?
7 ผู้เหลือรอดเหล่านี้ออกพระนามของพระยะโฮวาโดยวิธีใด? ยาโกโบ 4:8 แนะเราให้รู้เครื่องแสดงอย่างหนึ่งดังนี้: “ท่านทั้งหลายจงเข้ามาใกล้พระเจ้า และพระองค์จะสถิตอยู่ใกล้ท่าน. คนบาปทั้งหลาย จงชำระมือของตนเสีย และคนสองใจ จงกระทำใจของตนให้บริสุทธิ์.” เช่นเดียวกับชนที่เหลือผู้ถูกเจิมที่นำทาง พวกที่คาดหมายจะอยู่ในจำพวกชนฝูงใหญ่ผู้รอดชีวิตผ่านอาร์มาเก็ดดอนจำต้องตัดสินใจอย่างแน่วแน่เช่นกัน. ถ้าคุณหวังจะรอด คุณต้องรับรองเอาพระวจนะของพระเจ้าที่สามารถชำระเราให้บริสุทธิ์นั้นไว้ด้วยความซาบซึ้ง แล้วนำเอาหลักการต่าง ๆ อันชอบธรรมตามมาตรฐานของพระองค์ไปใช้กับชีวิตของคุณ. คุณต้องแน่วแน่ในการอุทิศชีวิตของคุณแก่พระยะโฮวา แสดงเครื่องหมายโดยการรับบัพติสมาในน้ำ. การที่คุณออกพระนามของพระยะโฮวาด้วยความเชื่อหมายรวมถึงการให้คำพยานเกี่ยวกับพระองค์ด้วย. ดังนั้น ที่พระธรรมโรมบท 10 ข้อ 9 และ 10 (ล.ม.) เปาโลเขียนว่า “ถ้าท่านประกาศอย่างเปิดเผย ‘คำนั้นด้วยปากของคุณเอง’ ว่าพระเยซูเป็นองค์พระผู้เป็นเจ้า และสำแดงความเชื่อในหัวใจของท่านว่า พระเจ้าทรงบันดาลให้พระองค์คืนพระชนม์แล้ว ท่านก็จะรอด. เพราะด้วยหัวใจ คนเราสำแดงความเชื่อเพื่อความชอบธรรม แต่ด้วยปาก คนเราประกาศอย่างเปิดเผยเพื่อความรอด.” แล้วในข้อ 13 อัครสาวกได้อ้างคำพยากรณ์ของโยเอลโดยกล่าวเน้นว่า “ทุกคนที่ร้องเรียกพระนามของพระยะโฮวาก็จะรอด.”
‘แสวงหา, แสวงหา, แสวงหา’
8. (ก) ตามที่ผู้พยากรณ์ซะฟันยากล่าว ที่จะได้ความรอดนั้น พระยะโฮวาทรงเรียกร้องอะไร? (ข) คำว่า “ชะรอย” ในซะฟันยา 2:3 ให้คำเตือนอะไรแก่พวกเรา?
8 ที่พระธรรมซะฟันยาบท 2 ข้อ 2 และ 3 เราอ่านสิ่งที่พระยะโฮวาทรงกำหนดไว้สำหรับความรอดดังนี้: “ก่อนพระพิโรธอันแรงกล้าของพระยะโฮวาตกแก่เจ้าทั้งหลาย ก่อนวันแห่งความพิโรธของพระยะโฮวามาถึงเจ้า จงแสวงหาพระยะโฮวา เจ้าทั้งหลายที่มีใจถ่อมบนแผ่นดินโลก ผู้ได้ปฏิบัติตามคำตัดสินของพระองค์เอง. จงแสวงหาความชอบธรรม แสวงหาความถ่อมใจ ชะรอยเจ้าอาจถูกกำบังไว้ในวันแห่งความพิโรธของพระยะโฮวา.” สังเกตคำ “ชะรอย.” นี้ไม่ใช่ในกรณีที่ว่า รอดครั้งหนึ่งก็จะรอดตลอดไป. การที่เราถูกปิดกำบังไว้ในวันนั้นย่อมขึ้นอยู่กับการกระทำสามสิ่งเหล่านี้อยู่เสมอ. เราต้องแสวงหาพระยะโฮวา แสวงหาความชอบธรรม และแสวงหาความถ่อมใจ.
9. บรรดาผู้ที่แสวงหาความถ่อมใจได้รับบำเหน็จอย่างไร?
9 รางวัลสำหรับการแสวงหาความถ่อมใจนั้นช่างวิเศษเสียจริง ๆ! เราอ่านที่เพลงสรรเสริญบท 37 ข้อ 9 ถึง 11 ดังนี้: “เหล่าคนที่คอยท่าพระยะโฮวาอยู่ เขาจะได้แผ่นดินเป็นมรดก. เพราะว่ายังอีกหน่อยหนึ่ง คนชั่วจะไม่มี . . . แต่คนทั้งหลายที่มีใจถ่อมลงจะได้แผ่นดินเป็นมรดก และเขาจะชื่นชมยินดีด้วยความสงบสุขอันบริบูรณ์.” แล้วการแสวงหาความชอบธรรมล่ะ? ข้อ 29 บอกว่า “คนสัตย์ธรรมจะได้แผ่นดินเป็นมรดก และจะอาศัยอยู่ที่นั่นต่อไปเป็นนิตย์.” และสำหรับการแสวงหาพระยะโฮวานั้น เราได้คำตอบจากข้อ 39 และ 40 ว่า “ความรอดของคนสัตย์ธรรมมาแต่พระยะโฮวา พระองค์เป็นป้อมของเขาในยามยากลำบาก. พระยะโฮวาทรงช่วยเขา และจะทรงช่วยเขาให้พ้นภัย. พระองค์ได้ช่วยเขาให้รอดจากคนชั่ว เพราะเขาได้พึ่งพำนักในพระองค์.”
10. ใครเป็นบุคคลที่น่าสังเกตในการปฏิเสธที่จะแสวงหาพระยะโฮวาและที่จะแสวงหาความถ่อมใจ?
10 คริสต์ศาสนจักรนิกายต่าง ๆ ไม่ได้แสวงหาพระยะโฮวา. พวกนักเทศน์นักบวชของเขาถึงกับปฏิเสธพระนามอันเลิศของพระองค์เสียด้วยซ้ำ เขาได้ลบพระนามนั้นออกจากคัมภีร์ฉบับแปลหลายฉบับโดยพลการ. เขาพอใจนมัสการองค์พระผู้เป็นเจ้าหรือพระเจ้านิรนาม และให้เกียรติแก่พระตรีเอกานุภาพแบบนอกรีต. ยิ่งกว่านั้น คริสต์ศาสนจักรไม่แสวงหาความชอบธรรม. ศิษยานุศิษย์มากมายในคริสต์จักรยอมรับเอาหรือไม่ก็เป็นผู้ส่งเสริมรูปแบบการดำเนินชีวิตที่เสื่อมทางศีลธรรม. แทนที่จะแสวงหาความถ่อมใจอย่างพระเยซูทรงกระทำ พวกเขาโอ้อวดตัวเอง อาทิ ในโทรทัศน์ ในด้านความเป็นอยู่อันหรูหราโอ่อ่า และบ่อยครั้งไม่ถูกต้องทางศีลธรรม. ผู้เลี้ยงเบียดบังเอาจากฝูงแกะมาเลี้ยงตัวเองจนอ้วนพี. ดังถ้อยคำในยาโกโบ 5:5 ระบุว่า พวกเขา “ได้เลี้ยงตัวด้วยอาหารอย่างฟุ่มเฟือย และได้ประพฤติตามความสนุกสนานแห่งโลก.” ขณะที่วันของพระยะโฮวากระชั้นเข้ามา พวกเขาจะเห็นเป็นที่แน่นอนว่าถ้อยคำโดยดลบันดาลนำมาใช้ได้กับตัวเองทีเดียวที่ว่า “ทรัพย์สมบัติ จะไม่เป็นประโยชน์ในวันพระพิโรธ.”—สุภาษิต 11:4.
11. ใครคือคนละเลยกฎหมาย และเขาได้กองสุมความผิดฐานกระทำให้โลหิตตกมากมายเช่นนั้นโดยวิธีใด?
11 ดังที่อัครสาวกเปาโลกล่าวในจดหมายฉบับที่สองซึ่งท่านเขียนถึงชาวเธซะโลนิเก ในศตวรรษแรกคริสเตียนบางคนรู้สึกตื่นเต้น คิดว่าวันของพระยะโฮวาได้มาถึงแล้วตอนนั้น. แต่เปาโลเตือนว่าการออกหากครั้งใหญ่ต้องมาเสียก่อน และ “คนนอกกฎหมาย” จะต้องถูกเปิดโปง. (2 เธซะโลนิเก 2:1-3) บัดนี้ ในศตวรรษที่ 20 เราสามารถหยั่งรู้ว่าการออกหากนั้นมีขอบข่ายกว้างขวางสักเพียงไร และพวกนักเทศน์นักบวชแห่งคริสต์ศาสนจักรละเลยกฎหมายมากเพียงไรในสายพระเนตรของพระยะโฮวา. ในยุคสุดท้ายนี้นับตั้งแต่ปี 1914 นักเทศน์นักบวชได้กองสุมการผิดฐานทำให้โลหิตตกมากมาย โดย ‘ได้ตีผาลเป็นดาบ.’ (โยเอล 3:10) อนึ่ง พวกเขายังคงสั่งสอนหลักข้อเชื่อที่ผิดเสมอมา เช่น ความเป็นอมตะแห่งจิตวิญญาณมีประจำตัวมนุษย์มาแต่กำเนิด, ไฟชำระ, การทรมานในไฟนรก, การให้เด็กทารกรับบัพติสมา, ตรีเอกานุภาพ, และอื่น ๆ อีกทำนองนั้น. พวกเขาจะอยู่ที่ไหนกันเมื่อพระยะโฮวาทรงสำเร็จโทษตามการตัดสินของพระองค์? สุภาษิต 19:5 บอกว่า “ผู้ที่พูดมุสาจะหนีไม่พ้น.”
12. (ก) อะไรคือ “ท้องฟ้าอากาศ” และ “แผ่นดินโลก” ของมนุษย์ซึ่งในไม่ช้าจะถูกทำลายเสียสิ้น? (ข) เราเรียนอะไรจากความพินาศที่กำลังจะเกิดขึ้นกับโลกชั่วนี้?
12 ที่ 2 เปโตร 3:10 (ล.ม.) เราอ่านว่า “วันของพระยะโฮวาจะมาเหมือนอย่างขโมย ในวันนั้นฟ้าสวรรค์จะล่วงลับไปด้วยเสียงแฉ่ ๆ แต่ธาตุต่าง ๆ จะถูกละลายไปเพราะร้อนจัด และแผ่นดินโลกกับการงานต่าง ๆ ในโลกจะถูกเปิดเผย.” การปกครองที่ทุจริตเสื่อมทรามซึ่งแผ่คลุมเหมือนฟ้าสวรรค์อยู่เหนือมนุษยชาติ รวมมวลธาตุต่าง ๆ ซึ่งประกอบกันเป็นสังคมมนุษย์ที่เสื่อมโทรมก็จะถูกกวาดล้างให้หมดไปจากพื้นพิภพของพระเจ้า. ผู้ผลิตและพ่อค้าอาวุธที่ยังความพินาศ, คนฉ้อโกง, คนถือเคร่งที่หน้าซื่อใจคดพร้อมกับนักเทศน์นักบวช, ผู้ส่งเสริมความต่ำทราม, ความรุนแรง, และอาชญากรรม—ทั้งหมดนี้จะสูญหายไปสิ้น. เขาจะละลายหายไปเนื่องด้วยพระพิโรธของพระยะโฮวา. แต่ในข้อ 11 และ 12 เปโตรกล่าวเพิ่มคำเตือนสำหรับคริสเตียนดังนี้: “โดยเหตุที่สิ่งทั้งปวงเหล่านี้จะต้องถูกละลายไปทั้งสิ้น ท่านทั้งหลายควรเป็นคนชนิดใดในการประพฤติอันบริสุทธิ์ และการกระทำด้วยความเลื่อมใสในพระเจ้า คอยท่าและคำนึงถึงวันของพระยะโฮวาเสมอ.”
มิคาเอลเริ่มปฏิบัติการ!
13, 14. ใครเป็นบุคคลสำคัญซึ่งชันสูตรเชิดชูการปกครองของพระยะโฮวา และท่านองค์นี้ได้ทรงดำเนินการอย่างแข็งขันมาตั้งแต่ปี 1914 โดยวิธีใด?
13 ใคร ๆ จะหนีให้พ้นได้อย่างไรในวันของพระยะโฮวาอันเป็น “ยุคแห่งความทุกข์ลำบาก”? ผู้แทนของพระเจ้าเพื่อเตรียมการช่วยให้พ้นภัยนั้นคืออัครทูตสวรรค์มิคาเอล ซึ่งชื่อนี้หมายความว่า “ใครเสมอเหมือนพระเจ้า?” เช่นนั้นนับว่าเหมาะเจาะทีเดียว พระองค์คือผู้นั้นซึ่งชันสูตรเชิดชูการปกครองของพระยะโฮวา ทรงยกย่องพระยะโฮวาเป็นพระเจ้าเที่ยงแท้แต่องค์เดียว และเป็นองค์บรมมหิศรที่ทรงสิทธิชอบธรรมแห่งเอกภพ.
14 ช่างเป็นเหตุการณ์น่าทึ่งอะไรเช่นนั้นตามคำพรรณนาที่วิวรณ์บท 12 ข้อ 7 ถึง 17 เกี่ยวเนื่องกับ “วันขององค์พระผู้เป็นเจ้า” ตั้งแต่ปี 1914! (วิวรณ์ 1:10) อัครทูตสวรรค์มิคาเอลจัดการเหวี่ยงซาตานผู้ทรยศจากสวรรค์ลงมาอยู่ที่แผ่นดินโลก. ภายหลัง ดังการพรรณนาที่วิวรณ์บท 19 ข้อ 11 ถึง 16 ผู้หนึ่งซึ่งมีนามว่า “สุจริตและสัตย์จริง” ‘ทรงเหยียบเครื่องหีบน้ำองุ่นแห่งพระนิเคราะห์อันเฉียบขาดของพระเจ้าผู้ทรงฤทธานุภาพทุกประการ.’ นักรบฝ่ายสวรรค์ผู้เกรียงไกรองค์นี้ได้รับพระนามว่า “พระมหากษัตริย์แห่งมหากษัตริย์ทั้งปวง และเจ้านายแห่งเจ้านายทั้งปวง.” สุดท้าย วิวรณ์บท 20 ข้อ 1 และ 2 บอกเรื่องทูตสวรรค์องค์สำคัญซึ่งเหวี่ยงซาตานลงในเหวลึกและกักมันไว้ที่นั่นหนึ่งพันปี. เห็นได้ชัดว่า ข้อคัมภีร์เหล่านี้ทุกข้อชี้ถึงพระเยซูคริสต์ผู้ได้ทรงชันสูตรเชิดชูพระบรมเดชานุภาพของพระยะโฮวา เป็นผู้ที่พระยะโฮวาทรงสถาปนาให้ประทับบัลลังก์อันรุ่งโรจน์ทางภาคสวรรค์ในปี 1914.
15. อีกไม่นานมิคาเอลจะ “ยืนขึ้น” ในลักษณะพิเศษเช่นไร?
15 มิคาเอลได้ “ยืนอยู่” ดังที่กล่าวในดานิเอล 12:1, (ล.ม.) เพื่อเห็นแก่ไพร่พลของพระยะโฮวา นับตั้งแต่พระองค์ได้รับตำแหน่งกษัตริย์ในปี 1914. แต่อีกไม่นาน มิคาเอลจะ “ยืนขึ้น” ในความหมายพิเศษ—ฐานะตัวแทนพระยะโฮวาในการกำจัดความชั่วร้ายทั้งมวลให้สิ้นไปจากแผ่นดิน และทรงเป็นผู้ช่วยสังคมแห่งไพร่พลของพระเจ้าทั่วโลกให้รอด. “ยุคแห่งความยากลำบาก” จะหนักหนาเพียงใดนั้นก็ได้ระบุไว้แล้วโดยคำตรัสของพระเยซูที่มัดธาย 24:21, 22 ดังนี้: “ในคราวนั้นจะมีความทุกข์ลำบากใหญ่ยิ่งซึ่งไม่เคยมีตั้งแต่เดิมโลกมาจนบัดนี้ หรือในเบื้องหน้าจะไม่มีต่อไปอีก. ถ้ามิได้ให้วันเหล่านั้นย่นสั้นเข้า จะไม่มีมนุษย์รอดได้เลย; แต่เพราะทรงเห็นแก่ผู้ถูกเลือกสรร วันเหล่านั้นจึงสั้นเข้า.”
16. คนประเภทไหนจะได้รับการช่วยชีวิตรอดในช่วงความทุกข์ครั้งใหญ่?
16 พวกเราเป็นสุขเพียงใดที่จะมีบางคนได้รับการช่วยให้รอดในครั้งนั้น! แต่จะไม่เป็นเหมือนชาวยิวทรยศเหล่านั้นซึ่งถูกปิดล้อมไว้ในกรุงยะรูซาเลม ปีสากลศักราช 70 ในพวกนั้นมีบางคนถูกพาตัวไปเป็นทาสที่กรุงโรม. แต่ผู้ที่หนีพ้นไปได้ใน“สมัยสุดท้าย” จะเป็นเหมือนกับประชาคมคริสเตียนซึ่งได้หนีออกไปจากกรุงยะรูซาเลมแล้วเมื่อการล้อมกรุงครั้งสุดท้ายเริ่มขึ้น. พวกเขาจะเป็นไพร่พลของพระเจ้าเอง คือชนฝูงใหญ่หลายล้านคนพร้อมด้วยผู้ถูกเจิมที่ยังคงมีชีวิตอยู่บนแผ่นดินโลก. (ดานิเอล 12:4) ชนฝูงใหญ่ “ออกมาจากความทุกข์ลำบากครั้งใหญ่.” เพราะเหตุใด? เพราะ “เขาได้ชำระเสื้อยาวของเขาและทำให้ขาวในพระโลหิตของพระเมษโปดก.” เขาสำแดงความเชื่อในฤทธิ์แห่งค่าไถ่โดยการหลั่งพระโลหิตของพระเยซู และแสดงความเชื่อเช่นนั้นให้ปรากฏ โดยการรับใช้พระเจ้าอย่างซื่อสัตย์. แม้แต่ในเวลานี้ พระยะโฮวา “ผู้ประทับบนพระที่นั่ง” ทรงกางพลับพลาให้การคุ้มภัยพวกเขาอยู่แล้ว ขณะที่พระเมษโปดก หรือพระเยซูคริสต์ทรงบำรุงเลี้ยง และนำเขาไปถึงน้ำพุแห่งชีวิต.—วิวรณ์ 7:14, 15.
17. โดยวิธีใดชนฝูงใหญ่ได้รับการสนับสนุนเป็นพิเศษให้ลงมือกระทำเพื่อจะถูกปิดกำบังไว้ในวันแห่งความทุกข์ลำบากซึ่งใกล้เข้ามา?
17 ในการแสวงหาพระยะโฮวา, แสวงหาความชอบธรรม, และความอ่อนสุภาพนั้น ชนฝูงใหญ่นับล้าน ๆ คนจะต้องไม่ปล่อยให้ความรักต่อความจริงแต่แรกนั้นเย็นชาลง! ถ้าคุณเป็นหนึ่งในคนเหล่านี้ที่เป็นเยี่ยงแกะ คุณต้องทำอะไร? ดังที่ระบุในโกโลซายบท 3 ข้อ 5 ถึง 14 คุณต้อง “ถอดทิ้งบุคลิกลักษณะเก่ากับกิจปฏิบัติต่าง ๆ ของมันเสีย” โดยสิ้นเชิง. โดยแสวงหาการช่วยเหลือจากพระเจ้า จงพยายาม ‘สวมบุคลิกใหม่ที่อาศัยความรู้ถ่องแท้.’ ด้วยความถ่อมใจ จงเสริมสร้างและธำรงไว้ซึ่งความกระตือรือร้นเพื่อการสรรเสริญพระยะโฮวา และประกาศให้คนทั้งหลายได้รู้จักพระทัยประสงค์อันประเสริฐยิ่งของพระองค์. ด้วยเหตุนี้ คุณอาจได้รับการคุ้มครองใน “ยุคแห่งความยากลำบาก” วันแห่ง “ความพิโรธกล้าของพระยะโฮวา.”
18, 19. ความอดทนในทางใดเป็นสิ่งจำเป็นเพื่อความรอด?
18 วันนั้นมาใกล้แล้ว! มาอย่างกระชั้นชิดพวกเราทีเดียว. การรวบรวมผู้คนแห่งจำพวกชนฝูงใหญ่ได้ดำเนินมานานกว่า 57 ปี. บุคคลเหล่านี้ที่ล่วงลับไปก็มีมากและคอยการถูกปลุกขึ้นมาสู่ชีวิต. แต่พวกเราได้รับคำรับรองโดยคำพยากรณ์ในพระธรรมวิวรณ์ที่ว่า ชนฝูงใหญ่ฐานะเป็นกลุ่ม จะออกมาจากความทุกข์ใหญ่เป็นแกนของสังคม “แผ่นดินโลกใหม่.” (วิวรณ์ 21:1) คุณจะอยู่ที่นั่นไหม? มีทางเป็นไปได้ เพราะพระเยซูตรัสไว้ที่มัดธาย 24:13 ว่า “ผู้ใดทนได้จนถึงที่สุด ผู้นั้นจะรอด.”
19 ความบีบคั้นซึ่งไพร่พลของพระยะโฮวาประสบอยู่ในระบบโลกเก่านี้อาจจะมากขึ้นเรื่อย ๆ. และเมื่อความทุกข์ครั้งใหญ่อันยังความยากลำบากเกิดขึ้น คุณก็อาจทนรับการยากลำบากหลายอย่าง. แต่จงแนบสนิทกับพระยะโฮวาและองค์การของพระองค์. ตื่นตัวอยู่เสมอ! “‘จงคอยท่าเรา’ เป็นคำตรัสของพระยะโฮวา ‘จนถึงวันที่เราจะลุกขึ้นตีชิง เพราะการตัดสินความของเราคือที่จะรวบรวมนานาชาติ ที่เราจะรวบรวมอาณาจักรทั้งหลาย เพื่อจะกล่าวโทษเขาและหลั่งความพิโรธอันร้อนแรงของเราลงเหนือเขา; เพราะโดยไฟแห่งความกระตือรือร้นของเรา แผ่นดินโลกทั้งสิ้นจะถูกผลาญเสียสิ้น.’”—ซะฟันยา 3:8, ล.ม.
20. ขณะที่ “ยุคแห่งความยากลำบาก” อันน่าตื่นเต้นอย่างยิ่งกระชั้นเข้ามาทุกที พวกเราต้องทำอะไร?
20 เพื่อเป็นการคุ้มครองและการชูใจแก่พวกเรา พระยะโฮวาทรงกรุณาเตรียมการช่วยเหลือไพร่พลของพระองค์ด้วย “ภาษาบริสุทธิ์” ซึ่งรวมเอาข่าวแห่งราชอาณาจักรซึ่งกำลังมา “เพื่อเขาทุกคนจะได้ร้องออกพระนามของพระยะโฮวา เพื่อจะรับใช้พระองค์เคียงบ่าเคียงไหล่กัน.” (ซะฟันยา 3:9, ล.ม.) ขณะที่ “ยุคแห่งความยากลำบาก” ที่ตื่นเต้นสุดขีดยิ่งกระชั้นใกล้เข้ามา ขอให้พวกเรารับใช้ด้วยความกระตือรือร้น ช่วยคนถ่อมใจทั้งหลายให้ ‘ร้องออกพระนามของพระยะโฮวา’ เพื่อความรอดเถิด.
คุณจำได้ไหม?
▫ พระยะโฮวาจะทรงกระทำอะไรก่อนการนำสันติภาพมาสู่แผ่นดินโลก?
▫ ตามที่กล่าวในพระธรรมโยเอล คนเราต้องทำอะไรเพื่อจะรอด?
▫ ตามคำกล่าวในซะฟันยา คนถ่อมใจจะได้รับการคุ้มครองพ้นจากพระพิโรธอันแรงกล้าของพระยะโฮวาโดยวิธีใด?
▫ ใครคือ “คนนอกกฎหมาย” และโดยวิธีใดเขาได้กองสุมความผิดฐานทำให้โลหิตตก?
▫ ความอดทนเป็นสิ่งสำคัญเพียงไรในเรื่องความรอด?