พลังของพระเจ้ายืนยันให้เรามั่นใจ
‘พลังของพระเจ้ายืนยันให้เรามั่นใจว่าเราเป็นลูกของพระเจ้า’—โรม 8:16
1-3. มีเหตุการณ์อะไรเกิดขึ้นที่ทำให้วันเพนเทคอสต์เป็นวันพิเศษ? เหตุการณ์นั้นเกิดขึ้นจริงตามคำพยากรณ์อย่างไร? (ดูภาพแรก)
ตอนนั้นเป็นเช้าวันอาทิตย์ในกรุงเยรูซาเล็ม เป็นวันที่พิเศษและน่าตื่นเต้น ผู้คนกำลังฉลองเทศกาลเพนเทคอสต์ซึ่งเป็นเทศกาลศักดิ์สิทธิ์ที่มีการฉลองในตอนเริ่มต้นของฤดูเกี่ยวข้าวสาลี เช้าวันนั้นที่วิหาร มีมหาปุโรหิตมาถวายเครื่องบูชาเหมือนเคย จากนั้นเวลาประมาณ 9 โมง มหาปุโรหิตก็จะถวายขนมปังใส่เชื้อ 2 ก้อนที่ทำจากข้าวสาลีที่เก็บเกี่ยวรุ่นแรก มหาปุโรหิตแกว่งขนมปังนั้นไปมาเพื่อถวายให้พระยะโฮวา ตอนนั้นเป็นปี ค.ศ. 33—เลวี. 23:15-20
2 ก่อนหน้านั้นมากกว่าพันปีแล้วที่มหาปุโรหิตจะถวายเครื่องบูชายื่นถวายแบบนี้ทุกปี เครื่องบูชานี้เชื่อมโยงกับเหตุการณ์สำคัญมากที่จะเกิดขึ้นในวันเพนเทคอสต์ปี 33 ซึ่งเป็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นกับสาวก 120 คนของพระเยซูที่กำลังอธิษฐานด้วยกันที่ห้องชั้นบนในกรุงเยรูซาเล็ม (กิจ. 1:13-15) ที่จริง ก่อนหน้านั้น 800 ปี ผู้พยากรณ์โยเอลได้เขียนคำพยากรณ์ถึงเหตุการณ์นี้ (โยเอล 2:28-32; กิจ. 2:16-21) มีอะไรที่สำคัญเกิดขึ้น?
3 อ่านกิจการ 2:2-4 ในวันเพนเทคอสต์ปี 33 พระเจ้าให้พลังบริสุทธิ์เพื่อเจิมสาวกของพระองค์ 120 คน (กิจ. 1:8) หลังจากนั้น ก็มีฝูงชนมามุงดูพวกเขา และพวกเขาก็เริ่มพูดถึงสิ่งดีต่าง ๆ ที่พวกเขาเพิ่งเห็นและได้ยิน อัครสาวกเปโตรจึงอธิบายให้ฝูงชนฟังว่าเพิ่งเกิดอะไรขึ้น และสิ่งที่เกิดขึ้นนั้นสำคัญอย่างไร จากนั้น เขาก็บอกฝูงชนว่า “จงกลับใจ และให้พวกท่านทุกคนรับบัพติสมาในพระนามพระเยซูคริสต์เพื่อบาปของพวกท่านจะได้รับการอภัย และพวกท่านจะได้รับพระวิญญาณบริสุทธิ์เป็นของประทาน” ในวันนั้น มีประมาณ 3,000 คนรับบัพติสมา คนกลุ่มนี้ก็ได้รับพลังของพระเจ้าด้วย—กิจ. 2:37, 38, 41
4. (ก) ทำไมเราควรสนใจสิ่งที่เกิดขึ้นในวันเพนเทคอสต์? (ข) มีเหตุการณ์อะไรที่อาจเกิดขึ้นอีกในวันเดียวกันนั้นเมื่อหลายปีมาแล้ว? (ดูอ้างอิงท้ายเรื่อง)
4 มหาปุโรหิตและเครื่องบูชาที่เขาเอามาถวายในวันเพนเทคอสต์เป็นสัญลักษณ์ถึงอะไร? มหาปุโรหิตเป็นสัญลักษณ์ถึงพระเยซู ส่วนขนมปังเป็นสัญลักษณ์ถึงสาวกของพระเยซูที่เป็นผู้ถูกเจิม สาวกกลุ่มนี้ถูกเลือกจากมนุษย์ที่ผิดบาป พวกเขารวมกันถูกเรียกว่า “ผลแรก” (ยโก. 1:18) พระเจ้ายอมรับคนกลุ่มนี้เป็นลูกของพระองค์ และเลือกพวกเขาให้มาปกครองเป็นกษัตริย์กับพระเยซูในรัฐบาลของพระเจ้าซึ่งอยู่ในสวรรค์ (1 เป. 2:9) โดยทางรัฐบาลนี้ พระเจ้าจะอวยพรทุกคนที่เชื่อฟัง ดังนั้น ไม่ว่าเราจะได้อยู่บนสวรรค์กับพระเยซู หรืออยู่ในอุทยานบนโลก วันเพนเทคอสต์ปี 33 ก็เป็นวันที่สำคัญมากสำหรับพวกเรา[1]
เกิดอะไรขึ้นเมื่อมีการเจิมเพื่อแต่งตั้งพวกเขา?
5. เรารู้ได้อย่างไรว่าการเจิมเพื่อแต่งตั้งผู้ถูกเจิมไม่จำเป็นต้องเป็นวิธีเดียวกันเสมอ?
5 พวกสาวกที่อยู่ในห้องชั้นบนจะไม่มีวันลืมสิ่งที่เกิดขึ้นในวันนั้น มีสิ่งที่เป็นเหมือนเปลวไฟอยู่บนหัวของพวกเขาทุกคน พระยะโฮวาทำให้พวกเขามีความสามารถในการพูดภาษาต่างประเทศได้ พวกเขามั่นใจว่าพวกเขาถูกเจิมโดยพลังบริสุทธิ์แล้ว (กิจ. 2:6-12) ถึงอย่างนั้น เหตุการณ์ที่น่าตื่นเต้นแบบนี้ก็ไม่ได้เกิดกับคริสเตียนที่ถูกเจิมทุกคน ตัวอย่างเช่น คัมภีร์ไบเบิลก็ไม่ได้บอกว่ามีสิ่งที่เป็นเหมือนเปลวไฟบนหัวของคนประมาณ 3,000 คนในกรุงเยรูซาเล็มที่ถูกเจิมหลังจากนั้น ที่จริง คนกลุ่มนี้ถูกเจิมตอนที่เขารับบัพติสมา (กิจ. 2:38) แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าคริสเตียนทุกคนจะถูกเจิมตอนที่พวกเขารับบัพติสมาด้วย ชาวซะมาเรียบางคนถูกเจิมหลังจากที่พวกเขารับบัพติสมาแล้ว (กิจ. 8:14-17) และก็ยังมีกรณีพิเศษของคอร์เนลิอุสและคนอื่น ๆ ที่อยู่ในบ้านของเขา คนพวกนี้ถูกเจิมก่อนที่พวกเขาจะรับบัพติสมาด้วยซ้ำ—กิจ. 10:44-48
6. ผู้ถูกเจิมทุกคนจะได้รับอะไร? เรื่องนี้จะมีผลกระทบกับเขาอย่างไร?
6 เห็นได้ชัดว่า การเจิมเพื่อแต่งตั้งผู้ถูกเจิมไม่จำเป็นต้องเป็นวิธีเดียวกันเสมอ ผู้ถูกเจิมบางคนรู้ทันทีหลังจากที่พระยะโฮวาเจิมเขา ส่วนบางคนก็มารู้ทีหลัง แต่ไม่ว่าจะเป็นแบบไหน อัครสาวกเปาโลได้อธิบายถึงสิ่งที่เกิดขึ้นกับพวกเขาทุกคนว่า ‘เมื่อพวกคุณเชื่อแล้ว พระเจ้าก็ใช้พระคริสต์ให้ประทับตราพวกคุณด้วยพลังบริสุทธิ์ของพระองค์ตามที่ได้สัญญาไว้ การประทับตรานั้นเป็นการรับรองล่วงหน้าว่าเราจะได้รับมรดกแน่นอน’ (เอเฟ. 1:13, 14) พระยะโฮวาใช้พลังของพระองค์เพื่อทำให้คริสเตียนที่ถูกเจิมมั่นใจจริง ๆ ว่าพวกเขาถูกเลือกให้ไปสวรรค์ ในวิธีนี้ พลังของพระเจ้าได้ ‘รับรองล่วงหน้า’ หรือแสดงหลักฐานให้พวกเขารู้ว่า พวกเขาจะมีชีวิตอยู่ตลอดไปบนสวรรค์ ไม่ใช่บนโลก—อ่าน 2 โครินท์ 1:21, 22; 5:5
7. คริสเตียนผู้ถูกเจิมแต่ละคนต้องทำอะไรเพื่อจะได้รับรางวัลในสวรรค์?
7 การที่คริสเตียนถูกเจิมหมายความว่าเขาจะได้รับรางวัลแน่นอนไหม? ไม่ เขามั่นใจว่าเขาถูกเชิญไปสวรรค์ แต่เขาจะได้ไปแน่ ๆ ก็ต่อเมื่อเขาซื่อสัตย์กับพระยะโฮวาเสมอ เปโตรอธิบายว่า “ด้วยเหตุนี้ พี่น้องทั้งหลาย จงพยายามจนสุดกำลังเพื่อให้การทรงเรียกและทรงเลือกพวกท่านเป็นสิ่งแน่นอนสำหรับพวกท่านเอง เพราะถ้าพวกท่านทำสิ่งเหล่านี้ต่อ ๆ ไป พวกท่านจะไม่มีวันล้มพลาดเลย ที่จริง โดยวิธีนี้ท่านทั้งหลายจะได้เข้าราชอาณาจักรนิรันดร์ของพระเยซูคริสต์องค์พระผู้เป็นเจ้าและพระผู้ช่วยให้รอดของเราอย่างมีเกียรติ” (2 เป. 1:10, 11) ดังนั้น คริสเตียนแต่ละคนต้องไม่ยอมให้อะไรมาทำให้เขาเลิกรับใช้พระยะโฮวา ถึงแม้ว่าเขาจะถูกเชิญหรือถูกเรียกให้ไปสวรรค์ แต่ถ้าเขาไม่ซื่อสัตย์ เขาก็จะไม่ได้รับรางวัล—ฮีบรู 3:1; วิ. 2:10
เขารู้ได้อย่างไรว่าตัวเขาถูกเจิม?
8, 9. (ก) ทำไมจึงเป็นเรื่องยากที่คนส่วนใหญ่จะเข้าใจว่าเกิดอะไรขึ้นกับคนที่ถูกเจิม? (ข) ใครคนหนึ่งจะรู้ได้อย่างไรว่าเขาถูกเชิญไปสวรรค์?
8 ผู้รับใช้ของพระเจ้าส่วนใหญ่ในทุกวันนี้รู้สึกว่ายากที่จะเข้าใจว่าเกิดอะไรขึ้นตอนที่ใครคนหนึ่งถูกพระเจ้าเจิม เป็นเรื่องธรรมดาที่จะรู้สึกอย่างนั้น เพราะเขาเองไม่ได้ถูกเจิม และพระเจ้าก็สร้างมนุษย์ให้อยู่ตลอดไปในโลก ไม่ใช่บนสวรรค์ (เย. 1:28; เพลง. 37:29) แต่พระยะโฮวาได้เลือกบางคนให้ไปปกครองเป็นกษัตริย์หรือปุโรหิตในสวรรค์ ดังนั้น ทันทีที่พวกเขาถูกเจิม ความหวังและวิธีที่พวกเขาคิดก็เปลี่ยนไป พวกเขารอคอยที่จะมีชีวิตบนสวรรค์—อ่านเอเฟโซส์ 1:18
9 แต่ใครคนหนึ่งจะรู้ได้อย่างไรว่าเขาถูกเชิญให้ไปสวรรค์? ขอสังเกตสิ่งที่เปาโลพูดกับพี่น้องผู้ถูกเจิมในกรุงโรมที่ถูก “เรียกให้เป็นผู้บริสุทธิ์” เปาโลบอกพวกเขาว่า “ท่านทั้งหลายไม่ได้รับจิตใจอย่างทาสซึ่งทำให้กลัวอีก แต่พวกท่านได้รับจิตใจอย่างผู้ที่ถูกรับเป็นบุตร ซึ่งโดยจิตใจเช่นนั้น เราจึงร้องว่า ‘อับบา พระบิดา!’ พระวิญญาณนั้นเป็นพยานยืนยันร่วมกับจิตใจของเราว่าเราเป็นบุตรของพระเจ้า” (โรม 1:7; 8:15, 16) โดยทางพลังบริสุทธิ์ พระเจ้าทำให้คนคนนั้นมั่นใจว่าเขาถูกเชิญให้ไปปกครองเป็นกษัตริย์ในสวรรค์ร่วมกับพระเยซู—1 เทส. 2:12
10. จาก 1 โยฮัน 2:27 หมายความว่าอย่างไรที่บอกว่าไม่จำเป็นต้องให้ใครมาสอนผู้ถูกเจิม?
10 คนที่ได้รับคำเชิญจากพระเจ้าไม่จำเป็นต้องให้คนอื่นมาบอกว่าเขาถูกเจิม พระยะโฮวาจะเป็นผู้ทำให้เขามั่นใจ อัครสาวกโยฮันบอกคริสเตียนผู้ถูกเจิมว่า “พวกท่านได้รับการเจิมจากพระองค์ผู้บริสุทธิ์ พวกท่านต่างก็มีความรู้กันทุกคน” และเขายังพูดอีกว่า “ท่านทั้งหลาย การเจิมที่พวกท่านได้รับจากพระองค์นั้นยังอยู่กับพวกท่าน และไม่จำเป็นต้องให้ใครมาสอนพวกท่าน การเจิมที่พวกท่านได้รับจากพระองค์นั้นสอนทุกสิ่งแก่พวกท่าน และการเจิมนั้นเป็นเรื่องจริง ไม่ใช่เรื่องเท็จ การเจิมนั้นสอนพวกท่านให้เป็นอันหนึ่งอันเดียวกับพระองค์ต่อ ๆ ไป” (1 โย. 2:20, 27) ผู้ถูกเจิมจำเป็นต้องได้รับการสอนจากพระยะโฮวาเหมือนกับคนอื่น ๆ แต่พวกเขาไม่จำเป็นต้องให้ใครมายืนยันว่าเขาถูกเจิม พระยะโฮวาได้ใช้พลังที่มีอำนาจมากที่สุดของพระองค์ คือพลังบริสุทธิ์ของพระองค์ช่วยให้พวกเขามั่นใจเต็มที่ว่าเขาเป็นผู้ถูกเจิม
พวกเขา “เกิดใหม่”
11, 12. คนที่เป็นผู้ถูกเจิมอาจสงสัยอะไร? แต่เขาไม่สงสัยเรื่องอะไรเลย?
11 ตอนที่คริสเตียนถูกเจิมโดยพลังบริสุทธิ์ พวกเขาเปลี่ยนแปลงอย่างมาก ที่จริง พระเยซูบอกว่าพวกเขา “เกิดใหม่” หรือเกิดจากเบื้องบน[2] (โย. 3:3, 5) ท่านอธิบายว่า “อย่าประหลาดใจที่เราบอกเจ้าว่า เจ้าทั้งหลายจะต้องเกิดใหม่ ลมอยากจะพัดไปทางไหนก็พัดไปทางนั้น เจ้าได้ยินเสียงลมแต่ไม่รู้ว่ามันพัดมาจากที่ไหนและจะพัดไปที่ไหน ทุกคนที่เกิดจากพระวิญญาณก็เป็นเช่นนั้นแหละ” (โย. 3:7, 8) เห็นได้ชัดว่า เป็นไปไม่ได้เลยที่จะอธิบายให้คนที่ไม่ได้ถูกเจิมเข้าใจว่าคนที่ถูกเจิมรู้สึกอย่างไรจริง ๆ
12 บางคนที่ถูกเจิมอาจสงสัยว่า ‘ทำไมพระยะโฮวาถึงเลือกฉัน ไม่ได้เลือกคนอื่น?’ เขาอาจถึงกับสงสัยว่าเขาเป็นคนดีพอที่จะรับหน้าที่รับผิดชอบนี้หรือ แต่เขาจะไม่สงสัยเลยว่าพระยะโฮวาเลือกเขา เขารู้สึกดีใจจริง ๆ และขอบคุณพระเจ้าที่ให้สิทธิพิเศษนี้ ที่จริง ผู้ถูกเจิมรู้สึกเหมือนที่เปโตรรู้สึก เขาบอกว่า “ขอให้พระองค์ผู้เป็นพระเจ้าและพระบิดาของพระเยซูคริสต์เจ้าของเราได้รับการสรรเสริญ เพราะพระเมตตาอันใหญ่หลวง พระองค์จึงทรงให้เราบังเกิดใหม่เพื่อให้มีความหวังที่มีชีวิตโดยทรงปลุกพระเยซูคริสต์ให้เป็นขึ้นจากตาย และได้รับทรัพย์สมบัติที่ไม่เน่าเปื่อย ไม่มีมลทิน และไม่ร่วงโรย ทรัพย์สมบัตินั้นถูกเก็บไว้ในสวรรค์สำหรับพวกท่าน” (1 เป. 1:3, 4) ตอนที่ผู้ถูกเจิมอ่านข้อคัมภีร์นี้ พวกเขามั่นใจเต็มที่ว่าพระเจ้าผู้เป็นพ่อของเขากำลังพูดกับเขาเป็นส่วนตัว
13. วิธีที่ผู้ถูกเจิมคิดเปลี่ยนไปอย่างไรหลังจากที่เขาถูกเจิมโดยพลังบริสุทธิ์? ใครทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างนั้น?
13 ก่อนที่พระยะโฮวาจะเชิญพวกเขาไปสวรรค์ พวกเขามีความหวังที่จะอยู่บนโลกตลอดไป พวกเขาอาจรอคอยเวลาที่พระยะโฮวาจะทำให้โลกเป็นอุทยานและกำจัดความชั่วทั้งหมดออกไป บางที พวกเขาอาจนึกภาพตัวเองกำลังต้อนรับสมาชิกครอบครัวหรือเพื่อนของเขาที่ฟื้นขึ้นจากตาย หรือพวกเขาอาจรอคอยเวลาที่ได้อยู่ในบ้านที่สร้างเอง และได้กินผลไม้จากต้นไม้ที่ปลูกเอง (ยซา. 65:21-23) แต่ทำไมหลังจากถูกเจิมพวกเขาถึงคิดต่างออกไป? พวกเขาเปลี่ยนความคิดเพราะรู้สึกโศกเศร้าหรือทนทุกข์มากจนไม่อยากอยู่บนโลกไหม? หรือจู่ ๆ พวกเขาก็คิดว่าการอยู่บนโลกตลอดไปนั้นน่าเบื่อ และคงไม่มีความสุขไหม? หรือพวกเขาแค่อยากรู้ว่าการได้ขึ้นสวรรค์มันเป็นอย่างไร? ไม่ใช่แบบนั้นเลย แต่พระเจ้าต่างหากเป็นผู้ตัดสินใจให้พวกเขา ตอนที่พระองค์เชิญพวกเขา พระองค์ได้ใช้พลังบริสุทธิ์เปลี่ยนความคิดของพวกเขา และเปลี่ยนความรู้สึกที่พวกเขามีต่อความหวัง
14. ผู้ถูกเจิมรู้สึกอย่างไรกับชีวิตบนโลกที่เขามีอยู่ในตอนนี้?
14 ดังนั้น หมายความว่าผู้ถูกเจิมอยากตายเร็ว ๆ เพื่อจะได้ขึ้นไปบนสวรรค์ไหม? เปาโลอธิบายว่าพวกเขารู้สึกอย่างไร เปาโลเปรียบเทียบร่างกายของมนุษย์ว่าเป็นเหมือน “เต็นท์” เขาพูดว่า “ที่จริง เราซึ่งอยู่ในเต็นท์นี้คร่ำครวญและเป็นทุกข์ ไม่ใช่เพราะอยากจะเปลื้องเต็นท์นี้ออก แต่เพราะอยากจะสวมเต็นท์อีกหลังหนึ่ง เพื่อชีวิตนิรันดร์จะมาแทนกายที่ตายได้” (2 โค. 5:4) คริสเตียนผู้ถูกเจิมไม่ได้อยากตาย พวกเขามีความสุขกับชีวิต พวกเขาอยากใช้ชีวิตในแต่ละวันรับใช้พระยะโฮวากับครอบครัวและเพื่อน ๆ ของเขา แต่ไม่ว่าพวกเขาจะทำอะไรก็ตาม พวกเขาจะไม่ลืมว่าพระเจ้าสัญญาอะไรกับเขาในอนาคต—1 โค. 15:53; 2 เป. 1:4; 1 โย. 3:2, 3; วิ. 20:6
พระยะโฮวาเชิญคุณด้วยไหม?
15. อะไรไม่ได้เป็นหลักฐานยืนยันว่าคน ๆ นั้นถูกเจิมด้วยพลังบริสุทธิ์?
15 บางที คุณอาจสงสัยว่าพระยะโฮวาเชิญคุณให้รับใช้บนสวรรค์หรือไม่ ถ้าคุณรู้สึกว่ามีความหวังนี้ ขอให้ลองคิดถึงคำถามสำคัญ ๆ เหล่านี้ คุณรู้สึกไหมว่าคุณกระตือรือร้นเป็นพิเศษในงานประกาศ? คุณชอบมากเวลาศึกษาคัมภีร์ไบเบิลและเรียนรู้เกี่ยวกับ “สิ่งลึกซึ้งของพระเจ้า” ไหม? (1 โค. 2:10) คุณรู้สึกไหมว่าพระยะโฮวาช่วยให้งานประกาศของคุณเกิดผลอย่างมาก? คุณอยากทำสิ่งที่พระยะโฮวาพอใจมากกว่าสิ่งอื่น ๆ ทั้งหมดไหม? คุณรักคนอื่นมากและรู้สึกว่าตัวคุณมีความรับผิดชอบที่จะช่วยพวกเขาให้รู้จักและรับใช้พระยะโฮวาไหม? คุณเคยเห็นหลักฐานด้วยตัวคุณเองไหมว่าพระยะโฮวาได้ช่วยคุณเป็นส่วนตัวหลายครั้งจริง ๆ? ถ้าคุณตอบทุกคำถามว่า “ใช่” หมายความว่าคุณได้รับเชิญไปสวรรค์ไหม? ไม่จริง ทำไมเราถึงพูดได้อย่างนั้น? เพราะผู้รับใช้พระยะโฮวาทุกคนรู้สึกแบบนั้นได้ ไม่ว่าเขาจะเป็นผู้ถูกเจิมหรือไม่ พระยะโฮวาสามารถให้พลังบริสุทธิ์กับผู้รับใช้ของพระองค์ทุกคนไม่ว่าพวกเขาจะมีความหวังไปสวรรค์หรืออยู่บนโลก ที่จริง ถ้าคุณสงสัยว่าคุณจะได้ไปสวรรค์หรือไม่ แสดงว่าคุณไม่ได้ถูกเชิญให้ไป คนที่พระยะโฮวาเลือกให้รับใช้บนสวรรค์จะไม่สงสัยเกี่ยวกับเรื่องนี้เลย พวกเขามั่นใจจริง ๆ!
16. เรารู้ได้อย่างไรว่าคนที่ได้รับพลังบริสุทธิ์จากพระเจ้าไม่ใช่ทุกคนจะได้ไปสวรรค์?
16 ในคัมภีร์ไบเบิลมีตัวอย่างของผู้รับใช้ที่ซื่อสัตย์หลายคนที่ได้รับพลังบริสุทธิ์จากพระยะโฮวาแต่ไม่ได้มีความหวังไปสวรรค์ ตัวอย่างหนึ่งคือโยฮันผู้ให้บัพติสมา พระเยซูเคยบอกไว้ว่าไม่มีใครที่ใหญ่กว่าโยฮัน แต่ท่านก็บอกด้วยว่าโยฮันจะไม่ได้ปกครองเป็นกษัตริย์ในสวรรค์ (มัด. 11:10, 11) ดาวิดก็เป็นอีกคนหนึ่งที่ได้รับการชี้นำจากพลังบริสุทธิ์ (1 ซามู. 16:13) พลังนี้ช่วยดาวิดให้มีความเข้าใจที่ลึกซึ้งเกี่ยวกับพระยะโฮวา และยังช่วยชี้นำเขาให้บันทึกส่วนต่าง ๆ ในคัมภีร์ไบเบิล (มโก. 12:36) ถึงแม้จะเป็นอย่างนั้น อัครสาวกเปโตรก็บอกว่าดาวิด “ไม่ได้ขึ้นสวรรค์” (กิจ. 2:34) เห็นได้ชัดว่า พระยะโฮวาใช้พลังบริสุทธิ์ของพระองค์เพื่อช่วยพวกเขาให้มีพลังทำสิ่งที่น่าทึ่งได้ แต่พระองค์ไม่ได้ใช้พลังนี้เพื่อเชิญพวกเขาให้ไปสวรรค์ นี่หมายความว่าพวกเขายังซื่อสัตย์ไม่พอจึงไม่คู่ควรที่จะอยู่บนสวรรค์ไหม? ไม่ พระองค์จะปลุกพวกเขาให้ฟื้นขึ้นจากตายเพื่อมีชีวิตอยู่ในอุทยานบนโลก—โย. 5:28, 29; กิจ. 24:15
17, 18. (ก) ผู้รับใช้ของพระยะโฮวาในทุกวันนี้ส่วนใหญ่มีความหวังอะไร? (ข) เราจะหาคำตอบของคำถามอะไรบ้างในบทความถัดไป?
17 ผู้รับใช้ของพระเจ้าในทุกวันนี้ส่วนใหญ่ไม่ได้ไปสวรรค์ เหมือนกับที่อับราฮาม ดาวิด โยฮันผู้ให้บัพติสมา และผู้คนทั้งผู้ชายและผู้หญิงอีกมากมายในสมัยคัมภีร์ไบเบิล พวกเขารอคอยที่จะมีชีวิตอยู่บนโลกและให้รัฐบาลของพระเจ้าปกครองพวกเขา (ฮีบรู 11:10) จะมีคนจำนวน 144,000 คนปกครองร่วมกับพระเยซูบนสวรรค์ ในคัมภีร์ไบเบิลยังพูดถึงผู้ “ที่ยังเหลืออยู่” ของพวกผู้ถูกเจิม พวกเขายังอยู่บนโลกในช่วงสุดท้ายนี้ (วิ. 12:17) คนส่วนใหญ่ในกลุ่ม 144,000 คนได้ตายและไปสวรรค์แล้ว
18 ดังนั้น ถ้ามีบางคนบอกว่าเขาเป็นผู้ถูกเจิม คนที่มีความหวังบนโลกควรมองเรื่องนี้อย่างไร? หรือถ้ามีบางคนในประชาคมเราเริ่มกินขนมปังและดื่มเหล้าองุ่นในวันประชุมอนุสรณ์ เราควรมีท่าทีกับคนนั้นอย่างไร? และถ้าจำนวนคนที่บอกว่าเขาเป็นผู้ถูกเจิมมีเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ ล่ะ? เราควรเป็นห่วงกังวลอะไรไหม? ขอเราหาคำตอบของคำถามเหล่านี้ในบทความถัดไป
^ [1] (ข้อ 4) เทศกาลเพนเทคอสต์คงมีการฉลองในช่วงเวลาเดียวกันของปีกับตอนที่โมเซได้รับกฎหมายที่ภูเขาไซนาย (เอ็ก. 19:1) ดังนั้น เป็นไปได้ว่าตอนที่โมเซนำชาติอิสราเอลทำสัญญาเกี่ยวกับกฎหมายก็น่าจะเป็นวันเดียวกับที่พระเยซูให้ผู้ถูกเจิมทำสัญญาใหม่ด้วย
^ [2] (ข้อ 11) สำหรับข้อมูลเกี่ยวกับความหมายของการเกิดใหม่ ขอดูหอสังเกตการณ์ 1 เมษายน 2009 หน้า 3-11