ตอบรับคำสัญญาต่าง ๆ ของพระเจ้าด้วยการแสดงความเชื่อ
“พระองค์ [พระยะโฮวา] ได้ทรงประทานคำทรงสัญญาอันประเสริฐและยอดเยี่ยมจริง ๆ ให้แก่เราอย่างไม่อั้น.”—2 เปโตร 1:4, ล.ม.
1. อะไรทำให้เราสามารถแสดงความเชื่อแท้?
พระยะโฮวาทรงประสงค์ให้เราแสดงความเชื่อในคำสัญญาต่าง ๆ ของพระองค์. กระนั้น “ที่เชื่อนั้นไม่ใช่ทุกคน.” (2 เธซะโลนิเก 3:2) คุณลักษณะนี้เป็นผลแห่งพระวิญญาณบริสุทธิ์ หรือพลังปฏิบัติการของพระเจ้า. (ฆะลาเตีย 5:22, 23, ล.ม.) ฉะนั้น เฉพาะคนเหล่านั้นที่รับการทรงนำโดยพระวิญญาณของพระยะโฮวาจึงสามารถแสดงความเชื่อได้.
2. อัครสาวกเปาโลนิยามคำ “ความเชื่อ” ไว้อย่างไร?
2 แต่ความเชื่อคืออะไร? อัครสาวกเปาโลเรียกความเชื่อว่า “เป็นการแสดงออกเด่นชัดถึงสิ่งที่เป็นจริง ถึงแม้ไม่ได้เห็นสิ่งนั้นก็ตาม.” หลักฐานของสิ่งที่เป็นจริงที่ยังไม่เห็นเหล่านี้แน่นหนามากจนถึงกับความเชื่อเท่าเทียมกับหลักฐานนั้น. อนึ่ง มีคำกล่าวว่าความเชื่อคือ “ความคาดหมายที่แน่นอนในสิ่งซึ่งหวังไว้” เพราะคนเหล่านั้นที่มีคุณลักษณะดังกล่าวมีการค้ำประกันว่า ทุกสิ่งที่พระเจ้ายะโฮวาทรงสัญญานั้นแน่นอนถึงขนาดเท่ากับว่าสำเร็จแล้ว.—เฮ็บราย 11:1, ล.ม.
ความเชื่อและคำสัญญาต่าง ๆ ของพระยะโฮวา
3. คริสเตียนผู้ถูกเจิมจะประสบอะไรถ้าพวกเขาแสดงความเชื่อ?
3 ที่จะให้พระเจ้าพอพระทัย เราต้องแสดงความเชื่อในคำสัญญาต่าง ๆ ของพระองค์. อัครสาวกเปโตรชี้ถึงเรื่องนี้ในจดหมายฉบับที่สองซึ่งท่านเขียนโดยการดลใจ ประมาณปีสากลศักราช 64. ท่านชี้ว่าถ้าเพื่อนคริสเตียนผู้ถูกเจิมแสดงความเชื่อ พวกเขาจะเห็นความสำเร็จสมจริงแห่ง “คำสัญญาอันประเสริฐและยอดเยี่ยม” ของพระเจ้า. ผลก็คือเขาจะเป็น “ผู้มีส่วนในลักษณะของพระเจ้า” ในฐานะที่เป็นทายาทร่วมกับพระเยซูคริสต์ในราชอาณาจักรฝ่ายสวรรค์. ด้วยความเชื่อผนวกเข้ากับการช่วยเหลือของพระเจ้ายะโฮวา บุคคลเหล่านี้ได้หลุดพ้นสภาพเป็นทาสของนิสัยและกิจปฏิบัติอันเสื่อมทรามของโลกนี้. (2 เปโตร 1:2-4, ล.ม.) และนึกดูซิ! ทุกวันนี้ คนเหล่านั้นที่แสดงความเชื่อแท้ต่างก็มีเสรีภาพอันหาค่ามิได้อย่างเดียวกัน.
4. เราควรเพิ่มคุณสมบัติอะไรเข้ากับความเชื่อของเรา?
4 ความเชื่อในคำสัญญาต่าง ๆ ของพระยะโฮวาและความสำนึกในพระคุณที่พระเจ้าทรงประทานเสรีภาพแก่พวกเรา น่าจะกระตุ้นเรากระทำสุดกำลังเพื่อเป็นคริสเตียนที่วางแบบอย่างอันดี. เปโตรตักเตือนดังนี้: “โดยการที่ท่านทั้งหลายมีส่วนในการตอบรับความพยายามอย่างจริงจังทุกอย่าง จงเพิ่มความเชื่อของท่านทั้งหลายด้วยคุณความดี เพิ่มคุณความดีด้วยความรู้ เพิ่มความรู้ด้วยการรู้จักบังคับตน เพิ่มการรู้จักบังคับตนด้วยความอดทน เพิ่มความอดทนด้วยความเลื่อมใสในพระเจ้า เพิ่มความเลื่อมใสในพระเจ้าด้วยความรักชอบฉันพี่น้อง.” (2 เปโตร 1:5-7, ล.ม.) ด้วยเหตุนี้ เปโตรจัดเรียงรายการซึ่งเราน่าจะท่องจำ. ขอให้เราพิจารณาคุณสมบัติเหล่านี้ด้วยความเอาใจใส่.
พื้นฐานสำคัญของความเชื่อ
5, 6. คุณความดีคืออะไร และเราจะเพิ่มคุณความดีเข้ากับความเชื่อของเราโดยวิธีใด?
5 เปโตรบอกว่าคุณความดี, ความรู้, การรู้จักบังคับตน, ความอดทน, ความเลื่อมใสในพระเจ้า, ความรักชอบฉันพี่น้อง, และความรัก แต่ละอย่างควรเพิ่มเข้ากับอย่างอื่น ๆ และเพิ่มเข้ากับความเชื่อของเรา. เราต้องขะมักเขม้นที่จะสร้างคุณสมบัติเหล่านี้เป็นพื้นฐานสำคัญแก่ความเชื่อของเรา. ยกตัวอย่าง: คุณความดีไม่ใช่คุณสมบัติที่เราแสดงต่างหากจากความเชื่อ. ดับเบิลยู. อี. ไวน์. นักแต่งปทานุกรมได้ตั้งข้อสังเกตเกี่ยวกับ 2 เปโตร 1:5 ว่า “คุณความดีถูกนำเข้ามาเสริมเป็นคุณสมบัติสำคัญในการแสดงความเชื่อ.” แต่ละอย่างในคุณสมบัติอื่น ๆ ซึ่งเปโตรระบุไว้ ต้องเป็นส่วนประกอบแห่งความเชื่อของเราเช่นกัน.
6 ประการแรก เราต้องเพิ่มความเชื่อของเราด้วยคุณความดี. การมีคุณความดีหมายถึงการทำสิ่งซึ่งนับว่าดีในคลองพระเนตรของพระเจ้า. คำกรีกที่นำมาแปลว่า “คุณความดี” ในข้อนี้ ฉบับแปลบางฉบับใช้ “ความดี.” (ฉบับนิว อินเตอร์แนชันแนล; เดอะ เจรูซาเลม ไบเบิล; ฉบับทูเดย์ อิงลิช) คุณความดีเป็นเครื่องกระตุ้นใจเราให้ละเว้นการทำชั่วหรือการทำให้เพื่อนมนุษย์ได้รับความเสียหาย. (บทเพลงสรรเสริญ 97:10) นอกจากนี้ คุณความดีกระตุ้นให้เรากล้ากระทำการดีซึ่งเอื้อประโยชน์แก่ผู้อื่นในด้านวิญญาณ, ด้านร่างกาย, และจิตใจ.
7. ทำไมเราควรเอาความรู้เพิ่มเข้ากับความเชื่อและคุณความดีของเรา?
7 เหตุใดเปโตรได้เตือนเราเพิ่มความเชื่อและความดีของเราด้วยความรู้? ขณะที่ความเชื่อของเราเผชิญกับการท้าทายที่เราไม่เคยชิน เราจะต้องมีความรู้เพื่อแยกแยะว่าไหนถูกไหนผิด. (เฮ็บราย 5:14) โดยการศึกษาพระคัมภีร์และประสบการณ์ในการใช้พระวจนะของพระเจ้าในเชิงปฏิบัติ และด้วยการใช้สติปัญญาอย่างมีประสิทธิผลในชีวิตประจำวัน เราก็เพิ่มพูนความรู้ของเรา. เมื่อเป็นเช่นนี้ ความรู้จะเสริมเราให้ธำรงอยู่ในความเชื่อและกระทำคุณความดีอยู่เรื่อยไปขณะที่ตกอยู่ในการทดลอง.—สุภาษิต 2:6-8; ยาโกโบ 1:5-8.
8. การรู้จักบังคับตนคืออะไร และสิ่งนี้เชื่อมโยงอย่างไรกับความอดทน?
8 ที่เราจะรับมือกับการทดลองด้วยความเชื่อได้นั้น เราต้องเพิ่มการรู้จักบังคับตน เข้ากับความรู้. คำกรีกสำหรับ “การรู้จักบังคับตน” หมายถึงความสามารถที่จะรั้งตัวเองไว้. ผลแห่งพระวิญญาณบริสุทธิ์ของพระเจ้าผลนี้ช่วยเราให้ยับยั้งความคิด, คำพูด, และการกระทำ. โดยพากเพียรที่จะบังคับตัว อย่างไม่ละลด เราก็ได้เพิ่มความอดทน เข้ากับการรู้จักบังคับตน. “ความอดทน” คำภาษากรีกแสดงถึงความมั่นคงไม่ท้อถอย ไม่ทำหน้าละห้อยเมื่อผจญความยากลำบากซึ่งไม่อาจหลบหลีกได้. เนื่องด้วยความยินดีที่มีอยู่ตรงหน้า พระเยซูทรงยอมทนหลักทรมาน. (เฮ็บราย 12:2) กำลังที่พระเจ้าประทานร่วมกับความอดทนเสริมความเชื่อของเรา และช่วยเราให้มีใจยินดีเมื่อเกิดความทุกข์ลำบาก ช่วยเราต้านทานการล่อใจ และหลีกเลี่ยงการอะลุ้มอล่วยเมื่อถูกข่มเหง.—ฟิลิปปอย 4:13.
9. (ก) ความเลื่อมใสในพระเจ้าคืออะไร? (ข) ทำไมจึงเพิ่มความเลื่อมใสในพระเจ้าด้วยความรักชอบฉันพี่น้อง? (ค) เราจะเพิ่มความรักเข้ากับความรักชอบฉันพี่น้องได้อย่างไร?
9 พวกเราต้องเพิ่มความอดทนของเราด้วยความเลื่อมใสในพระเจ้า—ความเคารพด้วยใจยำเกรง, การนมัสการและการรับใช้พระยะโฮวา. ความเชื่อของเรายิ่งมากขึ้นขณะที่เราแสดงความเลื่อมใสและเห็นวิธีที่พระยะโฮวาทรงดำเนินงานกับไพร่พลของพระองค์. แต่ที่จะแสดงความเลื่อมใสในพระเจ้า เราต้องมีความรักชอบฉันพี่น้อง. ที่แท้แล้ว “ผู้ที่ไม่รักพี่น้องของตนที่แลเห็นแล้ว, จะรักพระเจ้าที่ยังไม่ได้แลเห็นอย่างไรได้.” (1 โยฮัน 4:20) หัวใจของเราน่าจะกระตุ้นให้เราแสดงความรักแท้ต่อคนอื่นที่เป็นผู้รับใช้ของพระยะโฮวา และสนใจสวัสดิภาพของพวกเขาทุกเวลา. (ยาโกโบ 2:14-17) แต่ทำไมจึงกำชับให้เราเพิ่มความรัก เข้ากับความรักชอบฉันพี่น้อง? เห็นได้ชัดว่า เปโตรหมายถึงการที่เราต้องแสดงความรักต่อมนุษยชาติทั้งปวง ไม่เฉพาะพี่น้องของเราเท่านั้น. โดยเฉพาะอย่างยิ่งความรักอย่างนี้ แสดงออกด้วยการเผยแพร่ข่าวดีและการช่วยประชาชนในทางฝ่ายวิญญาณ.—มัดธาย 24:14; 28:19, 20.
ผลกระทบที่ต่างกัน
10. (ก) เราจะปฏิบัติอย่างไรถ้าเราเอาความเชื่อของเราเพิ่มด้วยคุณความดี, ความรู้, การรู้จักบังคับตน, ความอดทน, ความเลื่อมใสในพระเจ้า, ความรักชอบฉันพี่น้อง, และความรัก? (ข) อะไรจะเกิดขึ้นถ้าผู้ที่อ้างตัวเป็นคริสเตียนขาดคุณสมบัติเหล่านี้?
10 ถ้าเราเพิ่มความเชื่อด้วยคุณความดี, ความรู้, การรู้จักบังคับตน, ความอดทน, ความเลื่อมใสในพระเจ้า, ความรักชอบฉันพี่น้อง, และความรักแล้ว เราจะคิด, พูด, และกระทำในแนวทางที่พระเจ้าทรงพอพระทัย. ในทางตรงกันข้าม หากผู้ใดได้ชื่อเป็นคริสเตียนแต่ไม่แสดงคุณลักษณะเหล่านี้ ผู้นั้นย่อมตาบอดด้านวิญญาณ. เขา ‘หลับตามองไม่เห็นความสว่าง’ ที่มาจากพระเจ้าและลืมไปว่าตนถูกชำระแล้วจากบาปต่าง ๆ ในอดีต. (2 เปโตร 1:8-10; 2:20-22) ขออย่าให้เราพลาดในวิถีทางนั้น แล้วสูญเสียความเชื่อในคำสัญญาต่าง ๆ ของพระเจ้า.
11. เราคาดหวังอะไรได้อย่างถูกต้องจากเหล่าผู้ถูกเจิมที่ภักดี?
11 คริสเตียนผู้ถูกเจิมที่ซื่อสัตย์เชื่อคำสัญญาต่าง ๆ ของพระยะโฮวา และบากบั่นพยายามให้การทรงเรียกและเลือกสรรพวกเขาเป็นที่แน่ใจได้. แม้นมีอุปสรรคใด ๆ กีดขวางแนวทางของเขา พวกเราคาดหมายได้ว่าเขาจะสำแดงคุณสมบัติต่าง ๆ แห่งความเลื่อมใสในพระเจ้าให้ปรากฏ. ชนผู้ถูกเจิมที่ซื่อสัตย์เหล่านี้ย่อม ‘จะได้รับโอกาสอย่างอุดมที่จะเข้าสู่ราชอาณาจักรชั่วนิรันดรของพระเยซูคริสต์’ โดยการปลุกให้ฟื้นจากตายเข้าสู่ชีวิตสภาพวิญญาณในสวรรค์.—2 เปโตร 1: 11, ล.ม.
12. เราพึงเข้าใจถ้อยคำที่พระธรรม 2 เปโตร 1:12-15 อย่างไร?
12 เปโตรตระหนักว่าในไม่ช้าท่านจะสิ้นชีวิต และท่านคาดหมายว่าในที่สุดจะถูกปลุกให้เป็นขึ้นจากตายเข้าสู่ชีวิตฝ่ายสวรรค์. แต่ตราบใดที่ท่านยังมีชีวิตอยู่ใน “พลับพลานี้”—ร่างกายของท่านเมื่อเป็นมนุษย์—ท่านพยายามปลูกฝังความเชื่อไว้กับเพื่อนร่วมความเชื่อ และปลุกใจพวกเขาโดยสะกิดใจเขาในเรื่องสิ่งจำเป็นต่าง ๆ เพื่อรับความโปรดปรานจากพระเจ้า. หลังจากท่านได้ล่วงลับจากไปแล้ว พี่น้องชายหญิงฝ่ายวิญญาณก็สามารถเสริมความเชื่อของตนได้มากยิ่งขึ้นโดยการระลึกถึงคำเตือนสติของท่าน .—2 เปโตร 1:12-15, ล.ม.
ความเชื่อในคำกล่าวเชิงพยากรณ์
13. โดยวิธีใดพระเจ้าได้ทรงจัดเตรียมพยานหลักฐานเสริมความเชื่อในเรื่องการเสด็จมาของพระคริสต์?
13 พระเจ้าเองทรงให้การเป็นพยานเพื่อเสริมความเชื่อให้มั่นคง ในเรื่องความแน่นอนแห่งการเสด็จมาของพระเยซู “ด้วยอำนาจและสง่าราศีอันเลอเลิศ.” (มัดธาย 24:30; 2 เปโตร 1:16-18) เนื่องจากเขาขาดหลักฐาน พวกนักศาสนาชาวนอกรีตเล่าเรื่องพระเจ้าของเขาทำนองนิทาน แต่ว่าเปโตร, ยาโกโบ, และโยฮันได้เป็นประจักษ์พยานถึงความเลิศประเสริฐของพระคริสต์ในคราวจำแลงพระกาย. (มัดธาย 17:1-5) อัครสาวกเหล่านี้เห็นพระองค์อุดมด้วยสง่าราศี และได้ยินพระสุรเสียงของพระเจ้าโดยตรงที่ทรงรับรองพระเยซูเป็นพระบุตรที่รักของพระองค์. การรับรองและการปรากฏพระกายอันเรืองรองสุกใสครั้งนั้นแสดงว่าพระคริสต์ได้รับเกียรติยศและสง่าราศีบริบูรณ์. เพราะเหตุนิมิตนี้จากพระเจ้า เปโตรให้ชื่อบริเวณนั้นซึ่งคงเป็นส่วนแห่งภูเขาเฮระโมนว่า “ภูเขาบริสุทธิ์.”—เทียบกับเอ็กโซโด 3:4, 5.
14. การจำแลงพระกายของพระเยซูน่าจะส่งผลกระทบความเชื่อของเราอย่างไร?
14 การจำแลงพระกายของพระเยซูน่าจะมีผลกระทบความเชื่อของเราอย่างไร? เปโตรกล่าวว่า “เหตุฉะนั้น เรามีคำกล่าวเชิงพยากรณ์แน่นอนยิ่งขึ้น; และท่านทั้งหลายกระทำดีในการเอาใจใส่ต่อคำนั้นเสมือนตะเกียงส่องสว่างในที่มืด ในหัวใจของท่านทั้งหลาย จนกระทั่งรุ่งอรุณและดาวประจำรุ่งผุดขึ้น.” (2 เปโตร 1:19, ล.ม.) ดูเหมือนว่า “คำกล่าวเชิงพยากรณ์” หมายรวมไม่เฉพาะคำพยากรณ์ว่าด้วยเรื่องพระมาซีฮาในคัมภีร์ภาคภาษาฮีบรู แต่รวมคำตรัสของพระเยซูด้วยที่ว่าพระองค์จะเสด็จ “ด้วยอำนาจและสง่าราศีอันเลอเลิศ.” การจำแลงพระกายทำให้คำกล่าว “แน่นอนยิ่งขึ้น” อย่างไร? เหตุการณ์คราวนั้นยืนยันคำกล่าวเชิงพยากรณ์เกี่ยวกับการเสด็จของพระคริสต์พร้อมด้วยสง่าราศีแห่งอำนาจปกครองราชอาณาจักร.
15. การเอาใจใส่คำกล่าวเชิงพยากรณ์หมายรวมถึงอะไร?
15 ที่จะเสริมความเชื่อของเราให้มั่นคง เราจะต้องใส่ใจต่อคำกล่าวเชิงพยากรณ์. ทั้งนี้รวมเอาการศึกษาคำกล่าวนั้น พิจารณาคำกล่าวนั้น ณ การประชุมคริสเตียน และใช้คำแนะนำจากคำกล่าวนั้นในภาคปฏิบัติ. (ยาโกโบ 1:22-27) เราต้องให้คำกล่าวเชิงพยากรณ์นี้เป็นดุจ “ตะเกียงส่องสว่างในที่มืด” ฉายความสว่างในหัวใจของเรา. (เอเฟโซ 1:18) เฉพาะเมื่อทำเช่นนี้ คำกล่าวเชิงพยากรณ์จะนำทางเราจนกระทั่ง “รุ่งอรุณ” หรือ “ดาวประจำรุ่ง” คือพระเยซูคริสต์จะทรงสำแดงพระองค์ให้ปรากฏแจ้งด้วยสง่าราศี. (วิวรณ์ 22:16) การเผยพระองค์ให้ประจักษ์เช่นนั้นย่อมหมายถึงความพินาศแก่คนที่ขาดความเชื่อ และเป็นพระพรแก่ผู้ที่สำแดงความเชื่อ.—2 เธซะโลนิเก 1:6-10.
16. ทำไมเราจึงสามารถมีความเชื่อได้ว่าคำสัญญาเชิงพยากรณ์ทุกประการในพระวจนะของพระเจ้าจะสำเร็จสมจริง?
16 ผู้พยากรณ์ของพระเจ้าหาใช่เป็นเพียงคนฉลาดที่กล่าวทำนายการณ์ล่วงหน้าได้แม่นยำ เพราะเปโตรพูดดังนี้: “ไม่มีคำพยากรณ์ในพระคัมภีร์ที่เกิดจากการแปลความหมายตามอำเภอใจแต่อย่างใด. เพราะไม่มีคราวใดที่มีการนำคำพยากรณ์ออกมาตามน้ำใจของมนุษย์ แต่มนุษย์ได้กล่าวมาจากพระเจ้า ตามที่เขาได้รับการทรงนำโดยพระวิญญาณบริสุทธิ์.” (2 เปโตร 1:20, 21, ล.ม.) อย่างที่ดาวิดทรงกล่าวว่า “พระวิญญาณของพระยะโฮวาทรงตรัสแก่ข้าพเจ้า.” (2 ซามูเอล 23:1, 2) และเปาโลได้เขียนดังนี้: “พระคัมภีร์ทุกตอนได้รับการดลบันดาลจากพระเจ้า.” (2 ติโมเธียว 3:16, ล.ม.) เนื่องจากเหล่าผู้พยากรณ์ของพระเจ้าได้รับการดลบันดาลโดยพระวิญญาณของพระองค์ เราสามารถเชื่อได้ว่าคำสัญญาทุกข้อในพระวจนะของพระองค์จะสำเร็จสมจริงทุกประการ.
พวกเขาเชื่อในคำสัญญาของพระเจ้า
17. ความเชื่อของเฮเบลได้อาศัยคำสัญญาอะไรเป็นหลัก?
17 คำสัญญาต่าง ๆ ของพระยะโฮวาเป็นพื้นฐานสำหรับความเชื่อของ ‘พยานหมู่ใหญ่’ ของพระองค์ก่อนสมัยพยานฯคริสเตียน. (เฮ็บราย 11:1–12:1) ตัวอย่างเช่น เฮเบลมีความเชื่อในคำสัญญาของพระเจ้าเกี่ยวกับ “พงศ์พันธุ์” ซึ่งจะบดขยี้หัว “งู.” มีพยานหลักฐานที่แสดงว่าคำพิพากษาของพระเจ้ากำหนดโทษบิดามารดาของเฮเบลก็กำลังสำเร็จเป็นจริง. ภายนอกสวนเอเดน อาดามกับครอบครัวของเขาต้องหากินด้วยเหงื่อไหลโซมหน้า เพราะแผ่นดินที่ถูกแช่งสาปนั้นงอกพืชและต้นไม้ต่างจำพวกที่มีหนาม. เฮเบลคงได้แลเห็นความปรารถนาของฮาวาใคร่จะอยู่กับสามี และอาดามเองก็แสดงอำนาจเหนือนาง. ฮาวาคงได้เล่าเรื่องความเจ็บปวดระหว่างตั้งครรภ์อย่างแน่นอน. และมีคะรูปพร้อมด้วยกระบี่เพลิงอันมีเปลววับวาบคอยเฝ้าทางที่เข้าไปในสวนเอเดนนั้น. (เยเนซิศ 3:14-19, 24) ทั้งหมดนี้ประกอบกันเป็น “การแสดงออกเด่นชัด” ทำให้เฮเบลแน่ใจว่าการช่วยให้รอดจะมาทางพงศ์พันธุ์แห่งคำสัญญา. ปฏิบัติด้วยความเชื่อ เฮเบลจึงได้ถวายเครื่องบูชาแด่พระเจ้าซึ่งปรากฏว่ามีคุณค่ามากยิ่งกว่าเครื่องบูชาของคายิน.—เฮ็บราย 11:1, 4.
18, 19. อับราฮามกับซาราได้แสดงความเชื่อในทางใดบ้าง?
18 ปฐมบรรพบุรุษ เช่น อับราฮาม, ยิศฮาค, และยาโคบ ต่างก็มีความเชื่อในคำสัญญาของพระยะโฮวาเช่นเดียวกัน. อับราฮามแสดงความเชื่อในคำสัญญาของพระเจ้าที่ว่าทุกครอบครัวบนแผ่นดินโลกจะได้รับพระพรสืบเนื่องจากท่าน และเผ่าพันธุ์ของท่านจะได้รับแผ่นดินผืนหนึ่ง. (เยเนซิศ 12:1-9; 15:18-21) ยิศฮาคบุตรชายของท่าน และยาโคบหลานชายเป็น “ผู้รับมรดกด้วยกันในคำทรงสัญญาอันเดียวกัน.” โดยความเชื่อ อับราฮาม “ได้อาศัยในตำบลซึ่งเป็นที่ทรงสัญญาไว้นั้น,เหมือนท่านเป็นคนแขกเมือง” และได้คอยอยู่ “เพื่อจะได้เมืองที่มีราก [แท้, ล.ม.]” ซึ่งภายใต้ราชอาณาจักรของพระเจ้าทางภาคสวรรค์นั้น ท่านจะถูกปลุกขึ้นจากตายและมีชีวิตอยู่บนแผ่นดินโลก. (เฮ็บราย 11:8-10) คุณมีความเชื่ออย่างนั้นไหม?
19 ซารา ภรรยาของอับราฮามมีอายุประมาณ 90 ปีและเลยวัยที่จะให้กำเนิดบุตร เมื่อนางแสดงความเชื่อในคำสัญญาของพระเจ้าและพระองค์ทรงบันดาลให้นาง “ตั้งครรภ์” และกำเนิดยิศฮาค. โดยวิธีนี้ จากอับราฮามชายอายุหนึ่งร้อยปี ซึ่ง “เท่ากับคนที่ตายแล้ว” ในด้านการสืบพันธุ์ ในที่สุด “คนเป็นอันมากดุจดาวในท้องฟ้า . . . ได้บังเกิด.”—เฮ็บราย 11:11, 12; เยเนซิศ 17:15-17; 18:11; 21:1-7.
20. ถึงแม้ปฐมบรรพบุรุษไม่ได้เห็นความสำเร็จครบถ้วนแห่งคำสัญญาที่พระเจ้าได้กระทำต่อพวกเขา กระนั้น พวกเขาทำประการใด?
20 ปฐมบรรพบุรุษเหล่านั้นที่สัตย์ซื่อสิ้นชีวิตไปโดยที่เขาไม่ได้เห็นคำสัญญาของพระเจ้าสำเร็จเป็นจริงครบทุกประการ. กระนั้น เขา “แลเห็น [สิ่งต่าง ๆ ที่ทรงสัญญาไว้, ล.ม.], และยินดีต้อนรับไว้แต่ไกล, และได้แถลงต่อหน้าสาธารณชนว่าเขาทั้งหลายเป็นแขกเมืองเที่ยวสัญจรอยู่ในโลก.” หลายชั่วอายุคนได้ผ่านไปก่อนลูกหลานของอับราฮามเข้าไปครอบครองแผ่นดินแห่งคำสัญญา. อย่างไรก็ดี เหล่าปฐมบรรพบุรุษผู้เกรงกลัวพระเจ้าก็ได้แสดงความเชื่อในคำสัญญาต่าง ๆ ของพระยะโฮวาตลอดชีวิต. เพราะเหตุที่พวกเขาไม่ละความเชื่อ ในไม่ช้านี้ เขาจะถูกปลุกขึ้นมาสู่ชีวิตในอาณาเขตทางแผ่นดินโลกนี้แห่ง “เมือง” ที่พระเจ้าทรงจัดเตรียมไว้พร้อมสำหรับพวกเขาคือราชอาณาจักรพระมาซีฮา. (เฮ็บราย 11:13-16) ในทำนองคล้าย ๆ กัน ความเชื่อสามารถทำให้เราซื่อสัตย์ภักดีต่อพระยะโฮวาอยู่เสมอ ถึงแม้เราไม่ได้เห็นความสมจริงแห่งคำสัญญาอันวิเศษของพระองค์ทุกประการในทันทีทันใด. อนึ่ง ความเชื่อของเราจะกระตุ้นเราให้เชื่อฟังพระเจ้า อย่างที่อับราฮามเคยเชื่อฟัง. และอับราฮามได้ละมรดกฝ่ายวิญญาณไว้ให้ลูกหลานของท่านฉันใด พวกเราก็สามารถสนับสนุนบุตรของเราให้แสดงความเชื่อในคำสัญญาอันวิเศษยิ่งของพระยะโฮวาฉันนั้น.—เฮ็บราย 11:17-21.
ความเชื่อเป็นสิ่งสำคัญสำหรับคริสเตียน
21. เพื่อจะเป็นที่ชอบพระทัยพระเจ้าในเวลานี้ การแสดงความเชื่อของเราต้องมีสิ่งใดรวมอยู่ด้วย?
21 แน่นอน มีมากยิ่งกว่าความเชื่อที่ทำให้เรามั่นใจในความสำเร็จสมจริงแห่งคำสัญญาของพระยะโฮวา. ตลอดประวัติศาสตร์ของมนุษย์ ปรากฏให้เห็นว่าจำเป็นต้องสำแดงความเชื่อในพระเจ้าในหลายแนวทางต่างกันหากเราจะเป็นที่พอพระทัยของพระองค์. เปาโลได้ชี้ให้เห็นดังนี้: “ถ้าไม่มีความเชื่อ เป็นไปไม่ได้ที่จะเป็นที่ชอบพระทัย [พระเจ้ายะโฮวา] เพราะผู้ที่เข้าเฝ้าพระเจ้าต้องเชื่อว่าพระองค์ทรงพระชนม์อยู่และพระองค์มาเป็นผู้ประทานบำเหน็จให้แก่คนเหล่านั้นที่แสวงหาพระองค์อย่างจริงใจ.” (เฮ็บราย 11:6, ล.ม.) เพื่อเป็นที่ชอบพระทัยพระยะโฮวาในเวลานี้ คนเราต้องแสดงความเชื่อในพระเยซูคริสต์และเครื่องบูชาไถ่ที่พระเจ้าทรงจัดไว้โดยพระองค์นั้น. (โรม 5:8; ฆะลาเตีย 2:15, 16) พระเยซูเองก็ได้ตรัสว่า “พระเจ้าทรงรักโลก [แห่งมนุษยชาติ] มากจนถึงกับได้ประทานพระบุตรผู้ได้รับกำเนิดองค์เดียวของพระองค์ เพื่อทุกคนที่แสดงความเชื่อในพระบุตรนั้นจะไม่พินาศ แต่มีชีวิตนิรันดร์. ผู้ที่แสดงความเชื่อในพระบุตรก็มีชีวิตนิรันดร์; ผู้ที่ไม่เชื่อฟังพระบุตรจะไม่เห็นชีวิต แต่พระพิโรธของพระเจ้าคงอยู่กับผู้นั้นต่อไป.”—โยฮัน 3:16, 36, ล.ม.
22. ราชอาณาจักรพระมาซีฮาจะนำมาซึ่งความสำเร็จสมจริงตามคำสัญญาอะไร?
22 พระเยซูทรงมีบทบาทสำคัญในการทำให้คำสัญญาของพระเจ้าเกี่ยวกับราชอาณาจักร ซึ่งคริสเตียนเฝ้าอธิษฐานขอนั้นสำเร็จสมจริง. (ยะซายา 9:6, 7; ดานิเอล 7:13, 14; มัดธาย 6:9, 10) ดังที่เปโตรระบุไว้ การจำแลงพระกายครั้งนั้นยืนยันคำกล่าวเชิงพยากรณ์เรื่องการเสด็จมาของพระเยซูด้วยขัตติยอำนาจและสง่าราศีว่าเป็นความจริง. ราชอาณาจักรพระมาซีฮาจะทำให้คำสัญญาของพระเจ้าอีกประการหนึ่งสำเร็จสมจริง เพราะเปโตรเขียนว่า “มีฟ้าสวรรค์ใหม่และแผ่นดินโลกใหม่ ซึ่งเรากำลังรอท่าอยู่ตามคำสัญญาของพระองค์ และซึ่งความชอบธรรมจะดำรงอยู่ที่นั่น.” (2 เปโตร 3:13, ล.ม.) คำพยากรณ์คล้าย ๆ กันได้สมจริงไปแล้วเมื่อเชลยชาวยิวในบาบูโลนได้กลับคืนสู่แผ่นดินบ้านเกิดของเขาในปี 537 ก่อนสากลศักราช ภายใต้การปกครองโดยซะรูบาเบลเป็นผู้ว่าราชการและยะโฮซูอะเป็นปุโรหิตใหญ่. (ยะซายา 65:17) ถึงกระนั้น เปโตรได้ชี้ถึงกาลข้างหน้าเมื่อ “ฟ้าสวรรค์ใหม่”—ราชอาณาจักรพระมาซีฮาทางภาคสวรรค์—จะปกครอง “แผ่นดินโลกใหม่” สังคมมนุษย์ที่ชอบธรรมที่อาศัยอยู่บนแผ่นดินโลก.—เทียบกับบทเพลงสรรเสริญ 96:1.
23. ต่อจากนี้เราจะพิจารณาคำถามอะไรเกี่ยวกับคุณความดี?
23 ในฐานะเป็นผู้รับใช้ที่ภักดีของพระยะโฮวาและสาวกของพระเยซูคริสต์ พระบุตรที่รักของพระเจ้า พวกเราตั้งใจเฝ้ารอโลกใหม่ตามคำสัญญาของพระเจ้า. เรารู้ว่าโลกใหม่อยู่ใกล้ และเรามีความเชื่อว่าคำสัญญาอันดียิ่งทุกประการของพระยะโฮวาจะต้องได้สำเร็จสมจริง. ที่เราจะดำเนินอย่างเป็นที่ชอบพระทัยพระเจ้าของเรา เราจึงต้องเสริมความเชื่อให้เข้มแข็งโดยการเพิ่มด้วยคุณความดี, ความรู้, การรู้จักบังคับตน, ความอดทน, ความเลื่อมใสในพระเจ้า, ความรักชอบฉันพี่น้อง, และความรัก.a มาถึงจุดนี้ อาจมีคำถามว่า เราจะสำแดงคุณความดีได้อย่างไร? และการมีคุณความดีนั้นจะเป็นประโยชน์แก่เราและผู้อื่นอย่างไร โดยเฉพาะเพื่อนคริสเตียนของเรา ผู้ซึ่งตอบรับคำสัญญาของพระเจ้าโดยที่ได้สำแดงความเชื่อ?
[เชิงอรรถ]
a ในวารสารหอสังเกตการณ์ ฉบับนี้ เราพิจารณาเรื่องความเชื่อและคุณความดี. ส่วนความรู้, การรู้จักบังคับตน, ความอดทน, ความเลื่อมใสในพระเจ้า, ความรักชอบฉันพี่น้อง, และความรัก จะนำขึ้นมาพิจารณากันอย่างละเอียดในฉบับต่อ ๆ ไป.
คุณจะตอบอย่างไร?
▫ “ความเชื่อ” อาจได้รับการนิยามอย่างไร?
▫ ตามคำกล่าวที่ 2 เปโตร 1:5-7 ความเชื่อของเราต้องเพิ่มด้วยคุณสมบัติอะไรบ้าง?
▫ การจำแลงพระกายของพระเยซูน่าจะมีผลกระทบเช่นไรต่อความเชื่อของพวกเรา?
▫ เฮเบล, อับราฮาม, ซารา, และคนอื่น ๆ ในคราวโบราณได้วางตัวอย่างในด้านความเชื่อไว้เช่นไร?
[รูปภาพหน้า 15]
คุณทราบไหมว่าการจำแลงพระกายของพระเยซูส่งผลกระทบความเชื่อของคนเราได้อย่างไร?