ให้เรายึดความเชื่ออันมีค่ายิ่งของเราไว้ให้มั่น!
“ถึงคนเหล่านั้นที่ได้รับความเชื่อซึ่งมีสิทธิพิเศษเท่าเทียมกับของเรา.”—2 เปโตร 1:1, ล.ม.
1. พระเยซูตรัสอะไรเป็นการเตือนบรรดาอัครสาวก แต่เปโตรอวดอ้างเช่นไร?
ในคืนวันนั้นก่อนการวายพระชนม์ของพระเยซู พระองค์ตรัสว่าอัครสาวกทุกคนจะทิ้งพระองค์. คนหนึ่งในพวกเขาคือเปโตรพูดอย่างอวดดีว่า “แม้คนทั้งปวง จะสะดุดกะดากใจเพราะพระองค์, ข้าพเจ้าจะสะดุดกะดากใจหามิได้เลย.” (มัดธาย 26:33) แต่พระเยซูทรงทราบว่าจะไม่เป็นอย่างนั้น. นั่นเป็นเหตุที่พระองค์ตรัสกับเปโตรในโอกาสนั้นว่า “เราได้อธิษฐานเผื่อเจ้า เพื่อความเชื่อของเจ้าจะไม่หมดไป; และเจ้า เมื่อหันกลับแล้ว จงชูกำลังพี่น้องของเจ้า.”—ลูกา 22:32, ล.ม.
2. ขัดกันกับความมั่นใจเกินไปของเปโตร การกระทำอะไรที่เผยว่าความเชื่อของท่านนั้นอ่อนแอ?
2 เปโตรซึ่งมั่นใจเกินไปในความเชื่อของท่านได้ปฏิเสธพระเยซูในคืนนั้นเอง. สามครั้งสามครา ท่านถึงกับปฏิเสธว่าไม่รู้จักพระคริสต์เสียด้วยซ้ำ! (มัดธาย 26:69-75) เมื่อท่าน “หันกลับแล้ว” ไม่ต้องสงสัยเลยว่า ถ้อยคำของผู้เป็นนายที่ว่า “จงชูกำลังพี่น้องของเจ้า” คงดังชัดก้องอยู่ที่หูของท่าน. ช่วงชีวิตที่เหลือของเปโตรได้รับผลกระทบอย่างลึกซึ้งจากคำเตือนนั้น ดังเห็นได้จากจดหมายสองฉบับที่ท่านเขียนซึ่งได้รับการรักษาไว้ในคัมภีร์ไบเบิล.
เหตุที่เปโตรเขียนจดหมายของท่าน
3. เหตุใดเปโตรเขียนจดหมายฉบับแรกของท่าน?
3 ประมาณ 30 ปีหลังการวายพระชนม์ของพระเยซู เปโตรเขียนจดหมายฉบับแรกไปถึงพี่น้องของท่านในปนโต, ฆะลาเตีย, กัปปะโดเกีย, เอเชีย, และบิตุเนีย เขตซึ่งปัจจุบันเป็นส่วนที่อยู่ทางเหนือและตะวันตกของตุรกี. (1 เปโตร 1:1) ไม่ต้องสงสัยว่าชาวยิว ซึ่งบางคนในพวกเขาอาจได้เข้ามาเป็นคริสเตียนในวันเพนเตคอสเตปีสากลศักราช 33 คงรวมอยู่ด้วยในหมู่คนที่เปโตรเขียนถึง. (กิจการ 2:1, 7-9) หลายคนเป็นชาวต่างชาติซึ่งกำลังตกอยู่ในการทดลองอย่างรุนแรงด้วยน้ำมือของผู้ต่อต้าน. (1 เปโตร 1:6, 7; 2:12, 19, 20; 3:13-17; 4:12-14) ดังนั้น เปโตรเขียนไปถึงพี่น้องเหล่านี้เพื่อให้กำลังใจพวกเขา. จุดประสงค์ของท่านคือเพื่อช่วยพวกเขาให้ได้รับ “ผลแห่งความเชื่อ [ของพวกเขา] คือความรอดแห่งจิตวิญญาณ [ของพวกเขา].” ด้วยเหตุนี้ ในคำเตือนก่อนจบจดหมาย ท่านกระตุ้นเตือนดังนี้: “จงยืนหยัดต่อต้าน [พญามาร] มั่นคงในความเชื่อ.”—1 เปโตร 1:9; 5:8-10, ล.ม.
4. เหตุใดเปโตรเขียนจดหมายฉบับที่สองของท่าน?
4 ต่อมา เปโตรเขียนจดหมายฉบับที่สองถึงคริสเตียนเหล่านี้อีก. (2 เปโตร 3:1) ทำไม? เพราะเกิดมีภัยคุกคามที่ร้ายกว่าเดิมเสียอีก. มีบางคนที่ผิดศีลธรรมพยายามแพร่ความประพฤติอันเป็นมลทินของตนในหมู่เพื่อนร่วมความเชื่อและจะทำให้บางคนหลงผิด! (2 เปโตร 2:1-3) นอกจากนั้น เปโตรเตือนเกี่ยวกับผู้เยาะเย้ยด้วย. ท่านได้เขียนในจดหมายฉบับแรกของท่านว่า “อวสานของสิ่งสารพัดใกล้เข้ามาแล้ว” และบัดนี้ ดูเหมือนว่ามีบางคนกำลังเย้ยหยันความคิดนั้น. (1 เปโตร 4:7, ล.ม.; 2 เปโตร 3:3, 4) ให้เราตรวจสอบดูจดหมายฉบับที่สองของเปโตร และดูว่าจดหมายนี้ช่วยชูกำลังแก่พี่น้องให้ยืนหยัดต่อไปในความเชื่ออย่างไร. ในบทความแรกนี้ เราจะพิจารณา 2 เปโตร บท 1.
จุดประสงค์ของบท 1
5. เปโตรเตรียมผู้อ่านของท่านอย่างไรให้พร้อมสำหรับการพิจารณาปัญหา?
5 เปโตรไม่ได้มุ่งไปที่ปัญหาร้ายแรงในทันที. แทนที่จะทำเช่นนั้น ท่านปูพื้นฐานไว้สำหรับการพิจารณาปัญหาเหล่านี้โดยการเสริมความหยั่งรู้ค่าของผู้อ่านในสิ่งที่พวกเขาได้รับเมื่อเข้ามาเป็นคริสเตียน. ท่านชี้ชวนให้พวกเขาระลึกถึงคำสัญญาอันยอดเยี่ยมของพระเจ้าและความน่าเชื่อถือของคำพยากรณ์ในคัมภีร์ไบเบิล. ท่านทำเช่นนี้โดยเล่าเรื่องการจำแลงพระกาย นิมิตซึ่งท่านเองได้เห็นเกี่ยวกับการที่พระคริสต์รับอำนาจแห่งราชอาณาจักร.—มัดธาย 17:1-8; 2 เปโตร 1:3, 4, 11, 16-21.
6, 7. (ก) เราอาจได้บทเรียนอะไรจากคำนำของจดหมายของเปโตร? (ข) หากเราให้คำแนะนำ การยอมรับแบบใดที่บางครั้งอาจเป็นประโยชน์?
6 เราได้บทเรียนไหมจากวิธีเกริ่นนำของเปโตร? คำแนะนำจะยอมรับได้ง่ายขึ้นมิใช่หรือ หากเราทบทวนกับผู้ฟังถึงจุดเด่นของความหวังอันยิ่งใหญ่เรื่องราชอาณาจักรซึ่งพวกเราต่างก็ถือว่ามีค่ายิ่ง? และจะว่าอย่างไรเกี่ยวกับการใช้ประสบการณ์ส่วนตัว? ดูเหมือนว่า หลังการวายพระชนม์ของพระเยซู เปโตรคงเล่าถึงการได้เห็นนิมิตเกี่ยวกับพระคริสต์ในรัศมีภาพแห่งราชอาณาจักรอยู่บ่อยครั้ง.—มัดธาย 17:9.
7 พึงจำไว้ด้วยว่า เป็นไปได้มากที่ว่าเมื่อถึงเวลาที่เปโตรเขียนจดหมายฉบับที่สองของท่านนั้น กิตติคุณมัดธายและจดหมายของเปาโลถึงชาวฆะลาเตียได้แพร่ไปทั่วแล้ว. ดังนั้น ทั้งข้อผิดพลาดเนื่องด้วยเป็นมนุษย์ไม่สมบูรณ์ของเปโตรและประวัติความเชื่อของท่านอาจเป็นที่ทราบกันดีในท่ามกลางคนร่วมสมัยกับท่าน. (มัดธาย 16:21-23; ฆะลาเตีย 2:11-14) อย่างไรก็ตาม เรื่องนี้ไม่ได้ทำให้ท่านไม่กล้าพูด. ที่จริง นี่อาจเป็นเหตุให้จดหมายของท่านเป็นที่ดึงดูดใจยิ่งขึ้นสำหรับคนที่สำนึกถึงข้ออ่อนแอของตนเอง. เหตุฉะนั้น เมื่อช่วยคนที่มีปัญหา อาจก่อผลดีมิใช่หรือที่จะยอมรับว่าเราเองก็มักจะพลาดพลั้งเหมือนกัน?—โรม 3:23; ฆะลาเตีย 6:1.
คำทักทายซึ่งชูกำลัง
8. เปโตรคงได้ใช้คำ “ความเชื่อ” ในความหมายใด?
8 ตอนนี้ขอให้พิจารณาคำทักทายของเปโตร. ท่านกล่าวถึงเรื่องความเชื่อในทันที เรียกผู้อ่านของท่านว่าเป็น “คนเหล่านั้นที่ได้รับความเชื่อซึ่งมีสิทธิพิเศษเท่าเทียมกับของเรา.” (2 เปโตร 1:1, ล.ม.) คำ “ความเชื่อ” ในที่นี้คงหมายถึง “ความเชื่อถืออย่างมั่นคง” และพาดพิงถึงข้อเชื่อหรือคำสอนของคริสเตียนโดยรวม ซึ่งบางครั้งในพระคัมภีร์เรียกว่า “ความจริง.” (ฆะลาเตีย 5:7; 2 เปโตร 2:2; 2 โยฮัน 1) คำ “ความเชื่อ” มักถูกใช้ในความหมายนี้มากกว่าในความหมายทั่วไปซึ่งเกี่ยวข้องกับการไว้วางใจหรือความมั่นใจในบุคคลหรือสิ่งใดสิ่งหนึ่ง.—กิจการ 6:7; 2 โกรินโธ 13:5; ฆะลาเตีย 6:10; เอเฟโซ 4:5; ยูดา 3.
9. เหตุใดคำทักทายของเปโตรคงต้องทำให้ชาวต่างชาติรู้สึกอบอุ่นเป็นพิเศษ?
9 ผู้อ่านชาวต่างชาติคงรู้สึกว่าคำทักทายของเปโตรนั้นอบอุ่นเป็นพิเศษ. ชาวยิวไม่ข้องแวะกับชาวต่างชาติ ที่จริงดูถูกคนเหล่านี้ด้วยซ้ำไป และอคติต่อคนต่างชาติยังคงมีอยู่ในหมู่ชาวยิวที่ได้เข้ามาเป็นคริสเตียน. (ลูกา 10:29-37; โยฮัน 4:9; กิจการ 10:28) กระนั้น เปโตรซึ่งเป็นชาวยิวโดยกำเนิดและเป็นอัครสาวกคนหนึ่งของพระเยซูคริสต์กล่าวว่า ผู้อ่านของท่าน—ทั้งชาวยิวและชาวต่างชาติ—ร่วมความเชื่อเดียวกันและมีสิทธิพิเศษเท่าเทียมกับที่ท่านมี.
10. เราอาจได้บทเรียนอะไรจากคำทักทายของเปโตร?
10 ขอให้พิจารณาบทเรียนที่ดีซึ่งคำทักทายของเปโตรสอนเราในทุกวันนี้. พระเจ้าไม่ทรงลำเอียง; พระองค์ไม่ทรงโปรดเชื้อชาติหรือสัญชาติหนึ่งมากกว่าอีกเชื้อชาติหรืออีกสัญชาติหนึ่ง. (กิจการ 10:34, 35; 11:1, 17; 15:3-9) ดังที่พระเยซูเองทรงสอนไว้ คริสเตียนทุกคนเป็นพี่น้องกัน และไม่ควรมีใครรู้สึกว่าตัวเองเหนือกว่า. นอกจากนั้น คำทักทายของเปโตรเน้นว่าเราเป็นสังคมพี่น้องทั่วโลกอย่างแท้จริงซึ่งมีความเชื่อที่ “มีสิทธิพิเศษเท่าเทียม” กับที่เปโตรและเพื่อนอัครสาวกมี.—มัดธาย 23:8; 1 เปโตร 5:9.
ความรู้และคำสัญญาของพระเจ้า
11. หลังคำทักทายของท่าน เปโตรเน้นเรื่องสำคัญอะไรบ้าง?
11 ต่อจากคำทักทายของท่าน เปโตรเขียนดังนี้: “ขอให้พระกรุณาอันไม่พึงได้รับและสันติสุขเพิ่มพูนแก่ท่านทั้งหลาย.” พระกรุณาอันไม่พึงได้รับและสันติสุขจะเพิ่มพูนให้แก่เราโดยวิธีใด? เปโตรให้คำตอบโดยบอกดังนี้: “โดยความรู้ถ่องแท้เกี่ยวกับพระเจ้าและพระเยซูองค์พระผู้เป็นเจ้าของเรา.” จากนั้นท่านกล่าวว่า “อำนาจของพระองค์ได้ประทานทุกสิ่งที่เกี่ยวกับชีวิต และความเลื่อมใสในพระเจ้าให้เราอย่างไม่อั้น.” แต่เราจะได้รับสิ่งสำคัญเหล่านี้ได้อย่างไร? “โดยทางความรู้ถ่องแท้เกี่ยวกับพระองค์ผู้ทรงเรียกเราด้วยสง่าราศีและคุณความดี.” ฉะนั้น เปโตรเน้นถึงสองครั้งให้เห็นความสำคัญของความรู้ถ่องแท้เกี่ยวกับพระเจ้าและพระบุตรของพระองค์.—2 เปโตร 1:2, 3, ล.ม.; โยฮัน 17:3.
12. (ก) เพราะเหตุใดเปโตรเน้นความสำคัญของความรู้ถ่องแท้? (ข) เพื่อจะได้รับคำสัญญาของพระเจ้า เราต้องทำอะไรก่อน?
12 “ผู้สอนเท็จ” ซึ่งเปโตรเตือนเราให้ระวังในบท 2 ใช้ “คำหลอกลวง” เพื่อทำให้คริสเตียนหลงผิด. โดยวิธีนี้เอง คนพวกนี้พยายามล่อลวงคริสเตียนให้หันกลับไปสู่การผิดศีลธรรมซึ่งเขาได้รับการช่วยให้หลุดพ้นมาแล้ว. ผลของการที่คนใด ๆ ซึ่งได้รับการช่วยโดย “ความรู้อันถ่องแท้เกี่ยวกับพระเยซูคริสต์องค์พระผู้เป็นเจ้า” และต่อมาพ่ายแพ้ต่อการล่อใจเช่นนั้นย่อมได้แก่ความหายนะ. (2 เปโตร 2:1-3, 20, ล.ม.) เห็นได้ชัดว่าเปโตรกะจะพิจารณาปัญหานี้ในภายหลัง ท่านจึงได้เน้นตั้งแต่ตอนต้นจดหมายของท่านในเรื่องบทบาทของความรู้ถ่องแท้ในการรักษาฐานะที่สะอาดกับพระเจ้า. เปโตรกล่าวว่าพระเจ้า “ได้ทรงประทานคำทรงสัญญาอันประเสริฐและยอดเยี่ยมจริง ๆ ให้แก่เราอย่างไม่อั้น เพื่อโดยสิ่งเหล่านี้ ท่านทั้งหลายจะเป็นผู้มีส่วนในลักษณะของพระเจ้า.” กระนั้น เพื่อจะได้รับคำสัญญานี้ ซึ่งเป็นองค์ประกอบหนึ่งแห่งความเชื่อของเรา เปโตรกล่าวว่าก่อนอื่นเราต้อง “พ้นจากความเสื่อมเสียซึ่งมีอยู่ในโลกโดยราคะตัณหา.”—2 เปโตร 1:4, ล.ม.
13. ทั้งคริสเตียนผู้ถูกเจิมและ “แกะอื่น” แน่วแน่จะยึดมั่นในสิ่งใด?
13 คุณมีทัศนะอย่างไรเกี่ยวกับคำสัญญาของพระเจ้า? เป็นทัศนะแบบเดียวกับชนที่เหลือแห่งคริสเตียนผู้ถูกเจิมไหม? ในปี 1991 เฟรเดอริก แฟรนซ์ ซึ่งเวลานั้นเป็นนายกสมาคมว็อชเทาเวอร์ ไบเบิล แอนด์ แทร็กต์ ผู้ได้ทำงานรับใช้เต็มเวลานานกว่า 75 ปี ได้สรุปถึงความรู้สึกของคนที่มีความหวังจะปกครองกับพระคริสต์ดังนี้: “เรายึดมั่นจนถึงชั่วโมงนี้ และเราจะยึดมั่นจนกระทั่งพระเจ้าได้ทรงพิสูจน์แล้วอย่างแท้จริงว่าพระองค์ทรงซื่อตรงต่อ ‘คำทรงสัญญาอันประเสริฐและยอดเยี่ยม’ ของพระองค์.” บราเดอร์แฟรนซ์รักษาความเชื่อมั่นในคำสัญญาของพระเจ้าเรื่องการปลุกให้เป็นขึ้นจากตายสู่สวรรค์ และท่านยึดมั่นอยู่กับความเชื่อจนเสียชีวิตเมื่ออายุได้ 99 ปี. (1 โกรินโธ 15:42-44; ฟิลิปปอย 3:13, 14; 2 ติโมเธียว 2:10-12) ในทำนองเดียวกัน หลายล้านคนก็กำลังยึดมั่นอยู่กับความเชื่อ เพ่งเล็งเสมอที่คำสัญญาของพระเจ้าเกี่ยวด้วยอุทยานทางแผ่นดินโลกนี้ที่ซึ่งผู้คนจะอยู่ตลอดไปอย่างมีความสุข. คุณเป็นคนหนึ่งในชนเหล่านี้ไหม?—ลูกา 23:43; 2 เปโตร 3:13; วิวรณ์ 21:3, 4.
ตอบสนองต่อคำสัญญาของพระเจ้า
14. เหตุใดเปโตรจัดให้คุณความดีเป็นคุณลักษณะประการแรกที่ควรเพิ่มเข้ากับความเชื่อ?
14 เราหยั่งรู้ค่าสิ่งที่พระเจ้าได้ทรงสัญญาไหม? หากเป็นเช่นนั้น เปโตรชี้ว่าเราควรแสดงให้เห็นถึงความหยั่งรู้ค่านั้น. “ถูกแล้ว ด้วยเหตุผลนี้ทีเดียวแหละ” (เพราะพระเจ้าได้ทรงประทานคำสัญญาอันประเสริฐยิ่งแก่เรา) เราจึงควรพยายามอย่างจริงจังที่จะกระตือรือร้นในความเชื่อ. เราไม่อาจจะพอใจกับเพียงแค่ได้อยู่ในความเชื่อ หรือเพียงแค่คุ้นเคยกับความจริงในคัมภีร์ไบเบิล. นั่นยังไม่พอ! อาจเป็นได้ที่ในสมัยของเปโตร บางคนในประชาคมต่าง ๆ พูดกันมากในเรื่องความเชื่อแต่กลับเข้าไปพัวพันกับการประพฤติผิดศีลธรรม. ความประพฤติของพวกเขาจำต้องประกอบด้วยคุณความดี เปโตรจึงกระตุ้นเตือนดังนี้: “จงเพิ่มความเชื่อของท่านทั้งหลายด้วยคุณความดี”—2 เปโตร 1:5, ล.ม.; ยาโกโบ 2:14-17.
15. (ก) เหตุใดความรู้จึงถูกจัดอยู่ถัดจากคุณความดีให้เป็นคุณลักษณะที่จะเพิ่มเข้ากับความเชื่อ? (ข) คุณลักษณะอื่นอะไรอีกที่เราจะเพิ่มเข้าไปเพื่อจะยึดมั่นอยู่กับความเชื่อ?
15 หลังจากเอ่ยถึงคุณความดีแล้ว เปโตรกล่าวถึงคุณลักษณะอีกหกประการที่ต้องเพิ่มเข้ากับความเชื่อของเรา. แต่ละอย่างล้วนแต่จำเป็นหากเราต้องการจะ “ยืนมั่นในความเชื่อ.” (1 โกรินโธ 16:13, ล.ม.) เนื่องจากพวกออกหาก ‘บิดเบือนพระคัมภีร์’ และแพร่ “คำสอนหลอกลวง” เปโตรจึงได้กล่าวในลำดับต่อมาถึงความสำคัญของความรู้ โดยบอกให้ “เพิ่มคุณความดีด้วยความรู้.” จากนั้นท่านกล่าวต่อไปว่า “เพิ่มความรู้ด้วยการรู้จักบังคับตน เพิ่มการรู้จักบังคับตนด้วยความอดทน เพิ่มความอดทนด้วยความเลื่อมใสในพระเจ้า เพิ่มความเลื่อมใสในพระเจ้าด้วยความรักใคร่ฉันพี่น้อง เพิ่มความรักใคร่ฉันพี่น้องด้วยความรัก.”—2 เปโตร 1:5-7; 2:12, 13; 3:16, ล.ม.
16. จะเกิดอะไรขึ้นหากได้มีการเพิ่มคุณลักษณะต่าง ๆ ที่เปโตรกล่าวมาเข้ากับความเชื่อ แต่จะเกิดอะไรขึ้นหากไม่ได้ทำอย่างนั้น?
16 จะเกิดอะไรขึ้นถ้าเพิ่มคุณลักษณะทั้งเจ็ดนี้เข้ากับความเชื่อของเรา? เปโตรตอบว่า “ถ้าสิ่งเหล่านี้มีอยู่ในท่านทั้งหลาย และมีอยู่ล้นเหลือ นั่นจะป้องกันท่านไว้จากการอยู่เฉย ๆ หรือไม่เกิดผลเกี่ยวกับความรู้ถ่องแท้ ในเรื่องพระเยซูคริสต์องค์พระผู้เป็นเจ้าของเรา.” (2 เปโตร 1:8, ล.ม.) ในทางตรงข้าม เปโตรกล่าวว่า “ถ้าสิ่งเหล่านี้ไม่มีอยู่ในผู้ใด เขาเป็นคนตาบอด ปิดตาต่อความสว่าง และลืมการที่เขาได้รับการชำระจากความบาปที่เขากระทำนานมาแล้ว.” (2 เปโตร 1:9, ล.ม.) สังเกตว่าเปโตรเปลี่ยนคำที่ใช้จาก “ท่านทั้งหลาย” และ “ของเรา” มาใช้คำ “ผู้ใด” และ “เขา.” แม้ว่าน่าผิดหวังที่บางคนตาบอด, หลงลืม, และไม่สะอาด แต่เปโตรพูดอย่างกรุณาโดยไม่ได้พูดแบบที่ส่อว่าผู้อ่านเป็นเช่นนั้น.—2 เปโตร 2:2.
ชูกำลังพี่น้องของท่าน
17. อะไรที่อาจได้กระตุ้นเปโตรวิงวอนอย่างอ่อนโยนให้ทำ “สิ่งเหล่านี้”?
17 อาจเนื่องด้วยตระหนักว่าโดยเฉพาะคนใหม่ ๆ อาจถูกหลอกได้ง่าย เปโตรให้กำลังใจพวกเขาอย่างอ่อนโยนดังนี้: “พี่น้องทั้งหลาย จงกระทำสุดกำลังเพื่อให้การทรงเรียกและการเลือกสรรท่านนั้นเป็นสิ่งที่แน่นอนสำหรับท่านเอง เพราะถ้าท่านทั้งหลายทำสิ่งเหล่านี้ต่อ ๆ ไป ท่านจะไม่ล้มเหลวเลย.” (2 เปโตร 1:10; 2:18, ล.ม.) คริสเตียนผู้ถูกเจิมที่เพิ่มคุณลักษณะเจ็ดประการนี้เข้ากับความเชื่อของตนจะได้รับรางวัลอันยิ่งใหญ่ ดังเปโตรกล่าวว่า “ท่านทั้งหลายจะได้รับโอกาสอย่างอุดมที่จะเข้าสู่ราชอาณาจักรชั่วนิรันดรของพระเยซูคริสต์ องค์พระผู้เป็นเจ้าและพระผู้ช่วยให้รอดของเรา.” (2 เปโตร 1:11, ล.ม.) “แกะอื่น” จะได้รับมรดกชั่วนิรันดร์ในอาณาเขตทางแผ่นดินโลกนี้แห่งราชอาณาจักรของพระเจ้า.—โยฮัน 10:16; มัดธาย 25:33, 34.
18. เหตุใดเปโตรจึงมักจะ ‘เตือนพี่น้องของท่านเสมอ’?
18 เปโตรปรารถนาอย่างแท้จริงให้พี่น้องของท่านได้รับรางวัลอันยิ่งใหญ่เช่นนั้น. ท่านเขียนว่า “ด้วยเหตุนี้ข้าพเจ้ามักจะเตือนท่านทั้งหลายเสมอถึงสิ่งเหล่านี้ แม้ว่าท่านทราบสิ่งเหล่านี้แล้ว และตั้งมั่นคงอยู่ในความจริง.” (2 เปโตร 1:12, ล.ม.) เปโตรใช้คำกรีก สเตริʹโซ ซึ่งในข้อนี้แปลว่า “ตั้งมั่นคง” แต่แปลเป็น “ชูกำลัง” ในคำเตือนก่อนหน้านี้ของพระเยซูต่อเปโตรที่ว่า “จงชูกำลังพี่น้องของเจ้า.” (ลูกา 22:32, ล.ม.) การใช้คำนี้อาจแนะให้เห็นว่าเปโตรจำได้ถึงคำเตือนอันมีพลังที่ท่านได้รับจากองค์พระผู้เป็นเจ้าของท่าน. บัดนี้เปโตรกล่าวว่า “ตราบเท่าที่ข้าพเจ้าอยู่ในพลับพลานี้ [กายมนุษย์] ข้าพเจ้าก็ถือว่าสมควรที่จะกระตุ้นท่านโดยการเตือนสติ โดยทราบแล้วว่า การถอดพลับพลาของข้าพเจ้าจะอุบัติขึ้นในไม่ช้า”—2 เปโตร 1:13, 14, ล.ม.
19. ปัจจุบันเราต้องได้รับความช่วยเหลืออะไร?
19 แม้ว่าเปโตรกล่าวอย่างกรุณาว่า ผู้อ่านของท่านนั้น “ตั้งมั่นคงอยู่ในความจริง” แต่ท่านตระหนักว่าความเชื่อของพวกเขาอาจอับปางลงได้. (1 ติโมเธียว 1:19) เนื่องจากท่านทราบว่าไม่ช้าท่านก็จะตาย ท่านชูกำลังพี่น้องโดยเอ่ยถึงสิ่งที่พวกเขาจะระลึกขึ้นได้ในภายหลังเพื่อรักษาไว้ซึ่งความเข้มแข็งฝ่ายวิญญาณ. (2 เปโตร 1:15; 3:12, 13) ในทำนองเดียวกัน เราในปัจจุบันจำเป็นต้องรับข้อเตือนใจอยู่บ่อย ๆ เพื่อรักษาตัวมั่นคงในความเชื่อ. ไม่ว่าเราเป็นใครหรืออยู่ในความจริงมานานเท่าใด เราไม่อาจละเลยการอ่านคัมภีร์ไบเบิลเป็นประจำ, การศึกษาส่วนตัว, และการเข้าร่วมการประชุมประจำประชาคม. บางคนแก้ตัวที่ไม่ไปประชุม โดยบอกว่าเขาเหนื่อยเกินไป หรือรายการประชุมก็ซ้ำ ๆ เดิมนั่นแหละ หรืออาจบอกว่าวิธีนำเสนอไม่ค่อยน่าสนใจ แต่เปโตรทราบว่าไม่ว่าใครก็อาจสูญเสียความเชื่อได้อย่างรวดเร็วหากกลายเป็นคนมั่นใจมากเกินไป.—มาระโก 14:66-72; 1 โกรินโธ 10:12; เฮ็บราย 10:25.
รากฐานอันมั่นคงสำหรับความเชื่อของเรา
20, 21. การจำแลงพระกายช่วยเสริมความเชื่อของเปโตรและผู้อ่านจดหมายของท่านรวมทั้งเราในทุกวันนี้ด้วยอย่างไร?
20 ความเชื่อของเราเพียงแต่อิงนิยายที่เสกสรรปั้นแต่งขึ้นอย่างชาญฉลาดไหม? เปโตรตอบอย่างหนักแน่นว่า “เปล่า มิใช่โดยการติดตามนิยายที่เขาแต่งขึ้นด้วยความฉลาดแกมโกงนั้นหรอกที่เราทำให้ท่านทั้งหลายรู้จักอำนาจและการประทับของพระเยซูคริสต์องค์พระผู้เป็นเจ้าของเรา แต่โดยการที่เราได้เป็นประจักษ์พยานเกี่ยวกับความเลอเลิศของพระองค์.” เปโตร, ยาโกโบ, และโยฮันอยู่ด้วยกับพระเยซูตอนที่พวกเขาเห็นนิมิตเกี่ยวกับการที่พระองค์รับอำนาจแห่งราชอาณาจักร. เปโตรอธิบายดังนี้: “พระองค์ทรงได้รับเกียรติยศและสง่าราศีจากพระเจ้า พระบิดา คราวเมื่อคำตรัสเช่นคำเหล่านี้มาถึงพระองค์โดยสง่าราศีอันเลอเลิศว่า ‘ผู้นี้เป็นบุตรผู้เป็นที่รักของเรา ผู้ซึ่งเราเองได้รับรองไว้.’ ถูกแล้ว เราได้ยินคำตรัสเหล่านี้จากสวรรค์ขณะที่เราได้อยู่กับพระองค์ในภูเขาบริสุทธิ์.”—2 เปโตร 1:16-18, ล.ม.
21 เมื่อเปโตร, ยาโกโบ, และโยฮันเห็นนิมิตนั้น ราชอาณาจักรได้กลายเป็นจริงสำหรับพวกเขาอย่างแน่นอน! เปโตรให้ข้อสังเกตว่า “เหตุฉะนั้น เรามีคำกล่าวเชิงพยากรณ์แน่นอนยิ่งขึ้น; และท่านทั้งหลายกระทำดีในการเอาใจใส่ต่อคำนั้น.” ใช่แล้ว ผู้อ่านจดหมายของเปโตร ซึ่งก็รวมถึงเราในปัจจุบันด้วย มีเหตุผลที่มีน้ำหนักที่จะเอาใจใส่คำพยากรณ์ต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับราชอาณาจักรของพระเจ้า. เราจำต้องเอาใจใส่แบบไหน? เปโตรตอบดังนี้: “เสมือนตะเกียงส่องสว่างในที่มืด ในหัวใจของท่านทั้งหลาย จนกระทั่งรุ่งอรุณและดาวประจำรุ่งผุดขึ้น.”—2 เปโตร 1:19, ล.ม.; ดานิเอล 7:13, 14; ยะซายา 9:6, 7.
22. (ก) หัวใจของเราจำเป็นต้องเฝ้าระวังระไวต่อสิ่งใดเสมอ? (ข) เราเอาใจใส่ต่อคำกล่าวเชิงพยากรณ์ได้โดยวิธีใด?
22 หัวใจเราคงจะอยู่ในความมืดหากปราศจากการส่องสว่างของคำพยากรณ์. แต่โดยการเอาใจใส่ต่อคำพยากรณ์นั้น หัวใจของคริสเตียนก็จะตื่นอยู่จนถึงอรุณรุ่งของวันเมื่อ “ดาวประจำรุ่ง” ซึ่งก็คือพระเยซูคริสต์ ผุดขึ้นในสง่าราศีแห่งราชอาณาจักร. (วิวรณ์ 22:16) เราในทุกวันนี้เอาใจใส่ต่อคำพยากรณ์อย่างไร? โดยศึกษาคัมภีร์ไบเบิล, เตรียมตัวสำหรับการประชุมและมีส่วนร่วมด้วย, และ ‘ไตร่ตรองสิ่งเหล่านี้ และฝังตัวในสิ่งเหล่านี้.’ (1 ติโมเธียว 4:15, ล.ม.) หากคำพยากรณ์เป็นเช่นตะเกียงซึ่งส่องสว่างใน “ที่มืด” (หัวใจของเรา) ถ้าอย่างนั้นเราก็ต้องให้คำพยากรณ์มีผลกระทบต่อเราอย่างลึกซึ้ง ไม่ว่าจะเป็นความปรารถนา, อารมณ์, แรงกระตุ้นต่าง ๆ, และเป้าหมายทั้งหลายของเรา. เราจำต้องเป็นนักศึกษาคัมภีร์ไบเบิล เพราะเปโตรกล่าวลงท้ายบทหนึ่งดังนี้: “ไม่มีคำพยากรณ์ในพระคัมภีร์ที่เกิดจากการแปลความหมายตามอำเภอใจแต่อย่างใด. เพราะไม่มีคราวใดที่มีการนำคำพยากรณ์ออกมาตามน้ำใจของมนุษย์ แต่มนุษย์ได้กล่าวมาจากพระเจ้า ตามที่เขาได้รับการทรงนำโดยพระวิญญาณบริสุทธิ์.”—2 เปโตร 1:20, 21, ล.ม.
23. บทแรกของ 2 เปโตรเตรียมผู้อ่านไว้สำหรับอะไร?
23 ในบทแรกของจดหมายฉบับที่สองของท่าน เปโตรได้ให้การกระตุ้นใจอันมีพลังแก่เราเพื่อจะยึดความเชื่ออันมีค่ายิ่งของเราไว้ให้มั่น. ตอนนี้เราได้รับการเตรียมไว้พร้อมที่จะเอาใจใส่เรื่องสำคัญที่จะตามมา. บทความถัดไปจะพิจารณาบท 2 ของ 2 เปโตร ซึ่งท่านอัครสาวกพิจารณาเกี่ยวกับปัญหาที่ต้องเอาใจใส่ในเรื่องอิทธิพลที่ผิดศีลธรรมซึ่งได้แทรกซึมเข้ามาในประชาคมต่าง ๆ.
คุณจำได้ไหม?
▫ เหตุใดเปโตรเน้นความสำคัญของความรู้ถ่องแท้?
▫ อะไรอาจเป็นเหตุผลที่คุณความดีถูกจัดให้เป็นคุณลักษณะประการแรกที่จะเพิ่มเข้ากับความเชื่อ?
▫ เหตุใดเปโตรมักจะเตือนพวกพี่น้องของท่านเสมอ?
▫ เปโตรวางพื้นฐานอันมั่นคงอะไรไว้เพื่อความเชื่อของเรา?
[รูปภาพหน้า 9]
ข้อบกพร่องของเปโตรไม่ได้ทำให้ท่านละทิ้ง ความเชื่อของท่าน