นิมิตเกี่ยวกับราชอาณาจักรของพระเจ้ากลายเป็นจริง
“ท่านทั้งหลายกำลังทำดีในการเอาใจใส่ [คำกล่าวเชิงพยากรณ์ที่เป็น] เสมือนตะเกียงส่องสว่างในที่มืด.”—2 เปโตร 1:19, ล.ม.
1. เราพบความแตกต่างกันเช่นไรในโลกทุกวันนี้?
วิกฤติการณ์ครั้งแล้วครั้งเล่า นี่คือสภาพที่เกิดขึ้นในโลกทุกวันนี้. ปัญหาของมนุษยชาตินับตั้งแต่การทำลายสิ่งแวดล้อมไปจนถึงการก่อการร้ายทั่วโลก ดูเหมือนทวีความรุนแรงจนไม่อาจควบคุมได้. แม้แต่ศาสนาต่าง ๆ ของโลกก็ช่วยอะไรไม่ได้. ที่จริง บ่อยครั้ง ศาสนาเป็นตัวการที่ทำให้ปัญหาเลวร้ายลงไปอีก ด้วยการปลุกปั่นให้เกิดอคติทางศาสนา, ความเกลียดชัง, และชาตินิยม ที่ก่อความแตกแยกในหมู่ประชาชน. จริงตามที่พยากรณ์ไว้ “ความมืดทึบจะคลุมประชาชน.” (ยะซายา 60:2) แต่ในขณะเดียวกัน หลายล้านคนมองไปยังอนาคตด้วยความมั่นใจ. เพราะเหตุใด? เพราะคนเหล่านี้เอาใจใส่คำกล่าวเชิงพยากรณ์ของพระเจ้าที่เป็น “เสมือนตะเกียงส่องสว่างในที่มืด.” พวกเขาให้ “คำกล่าว” หรือข่าวสารของพระเจ้าซึ่งบัดนี้พบได้ในคัมภีร์ไบเบิลส่องสว่างทางเดินแก่พวกเขา.—2 เปโตร 1:19, ล.ม.
2. ตามคำพยากรณ์ของดานิเอลเกี่ยวกับ “เวลาอวสาน” ใครเท่านั้นที่ได้รับความหยั่งเห็นเข้าใจในเรื่องฝ่ายวิญญาณ?
2 เกี่ยวกับ “เวลาอวสาน” ผู้พยากรณ์ดานิเอลเขียนว่า “หลายคนจะไป ๆ มา ๆ และความรู้แท้จะมีอุดมบริบูรณ์. หลายคนจะชำระตัวและทำให้ตนขาวสะอาดและจะถูกถลุง. และคนชั่วย่อมจะทำชั่วแน่ ๆ และไม่มีคนชั่วแม้สักคนจะเข้าใจ; แต่คนที่มีความหยั่งเห็นเข้าใจจะเข้าใจ.” (ดานิเอล 12:4, 10, ล.ม.) ความหยั่งเห็นเข้าใจในเรื่องฝ่ายวิญญาณทรงโปรดให้เฉพาะผู้ที่ “ไป ๆ มา ๆ” อย่างจริงจัง หรือขยันขันแข็งในการศึกษาพระคำของพระเจ้า, ยอมรับมาตรฐานต่าง ๆ ของพระองค์, และพยายามกระทำตามพระทัยประสงค์ของพระองค์.—มัดธาย 13:11-15; 1 โยฮัน 5:20.
3. นักศึกษาคัมภีร์ไบเบิลยุคแรก ๆ เข้าใจความจริงประการสำคัญอะไรในช่วงทศวรรษ 1870?
3 ตั้งแต่ทศวรรษ 1870 แล้ว ก่อนที่ “สมัยสุดท้าย” จะเริ่มต้น พระยะโฮวาพระเจ้าทรงประทานความเข้าใจกระจ่างชัดขึ้นในเรื่อง “ความลับอันศักดิ์สิทธิ์แห่งราชอาณาจักรฝ่ายสวรรค์.” (2 ติโมเธียว 3:1-5, ล.ม.; มัดธาย 13:11, ล.ม.) ในตอนนั้น นักศึกษาคัมภีร์ไบเบิลกลุ่มหนึ่งได้มาเข้าใจว่าการเสด็จกลับมาของพระคริสต์จะเป็นแบบไม่ปรากฏแก่ตา ซึ่งตรงข้ามกับความเห็นที่แพร่หลายทั่วไป. หลังจากขึ้นครองราชย์ในสวรรค์ พระเยซูจะเสด็จกลับมาในความหมายที่ว่าพระองค์จะมุ่งความสนพระทัยมายังแผ่นดินโลกเป็นพิเศษในฐานะกษัตริย์. เหตุการณ์ต่าง ๆ ที่ประจักษ์แก่ตาซึ่งประกอบกันขึ้นเป็นหมายสำคัญจะบ่งบอกให้สาวกทราบว่าการประทับของพระองค์ที่ไม่ประจักษ์แก่ตานั้นได้เริ่มขึ้นแล้ว.—มัดธาย 24:3-14.
เมื่อนิมิตกลายเป็นจริง
4. พระยะโฮวาได้เสริมความเชื่อแก่ผู้รับใช้ของพระองค์สมัยปัจจุบันอย่างไร?
4 นิมิตการจำแลงพระกายเป็นภาพล่วงหน้าที่เจิดจ้าซึ่งแสดงให้เห็นสง่าราศีของพระคริสต์ขณะเป็นกษัตริย์ในราชอาณาจักร. (มัดธาย 17:1-9) นิมิตดังกล่าวเสริมความเชื่อแก่เปโตร, ยาโกโบ, และโยฮันในยามที่หลายคนได้เลิกติดตามพระเยซูเนื่องจากพระองค์ไม่ได้ทำในสิ่งที่ตรงกับความคาดหมายของพวกเขาที่ไม่มีพื้นฐานสนับสนุนจากพระคัมภีร์. เช่นเดียวกัน ในสมัยสุดท้ายนี้ พระยะโฮวาได้เสริมความเชื่อแก่ผู้รับใช้ของพระองค์ในปัจจุบันโดยช่วยพวกเขาให้เข้าใจยิ่งขึ้นในเรื่องความสำเร็จเป็นจริงของนิมิตอันน่าครั่นคร้ามนั้น รวมทั้งคำพยากรณ์อื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องอีกมากมาย. ตอนนี้ ขอให้เราพิจารณาความสำเร็จเป็นจริงที่เสริมความเชื่อเหล่านี้บางอย่าง.
5. ปรากฏว่าดาวประกายพรึกเป็นใคร และพระองค์ทรง “ขึ้นมา” เมื่อไรและอย่างไร?
5 เมื่อกล่าวถึงการจำแลงพระกาย อัครสาวกเปโตรเขียนว่า “เหตุฉะนั้น เรามีคำกล่าวเชิงพยากรณ์ที่แน่นอนยิ่งขึ้น; และท่านทั้งหลายกำลังทำดีในการเอาใจใส่คำกล่าวนั้นเสมือนตะเกียงส่องสว่างในที่มืด ในหัวใจของท่านทั้งหลาย จนกระทั่งรุ่งอรุณและดาวประกายพรึกขึ้นมา.” (2 เปโตร 1:19, ล.ม.) ดาวประกายพรึก หรือ “ดาวรุ่งอันสุกใส” ในความหมายเป็นนัยนั้นหมายถึงพระเยซูคริสต์ผู้ทรงสง่าราศี. (วิวรณ์ 22:16, ล.ม.) พระองค์ทรง “ขึ้นมา” ในปี 1914 เมื่อมีการตั้งราชอาณาจักรของพระเจ้าในสวรรค์ ซึ่งเป็นจุดเริ่มต้นของยุคใหม่. (วิวรณ์ 11:15) ในนิมิตการจำแลงพระกายนั้น โมเซกับเอลียาปรากฏตัวเคียงข้างพระเยซูและสนทนากับพระองค์. คนทั้งสองเป็นภาพเล็งถึงใคร?
6, 7. ในนิมิตการจำแลงพระกาย โมเซและเอลียาเป็นภาพเล็งถึงใคร และพระคัมภีร์เปิดเผยข้อมูลที่สำคัญอะไรเกี่ยวกับผู้ที่ทั้งสองเป็นภาพเล็งถึง?
6 เนื่องจากโมเซและเอลียามีสง่าราศีร่วมกับพระคริสต์ พยานที่ซื่อสัตย์ทั้งสองนี้จึงต้องเป็นภาพเล็งถึงผู้ร่วมปกครองกับพระเยซูในราชอาณาจักรของพระองค์. ความเข้าใจที่ว่าพระเยซูมีผู้ร่วมปกครองนั้นสอดคล้องกับภาพนิมิตที่ผู้พยากรณ์ดานิเอลได้รับเกี่ยวกับพระมาซีฮาขณะทรงขึ้นครองราชย์. ดานิเอลได้เห็น “ผู้หนึ่งรูปร่างดังบุตรของมนุษย์” กำลังรับเอา ‘รัชที่ดำรงอยู่เป็นนิจ’ จากพระยะโฮวาพระเจ้า “ผู้ทรงพระชนม์แต่เบื้องบรรพ์.” แต่ขอสังเกตสิ่งที่ดานิเอลเห็นหลังจากนั้นไม่นาน. ท่านเขียนว่า “อาณาจักรและเกียรติยศ, รัช, และอำนาจราชศักดิ์แห่งรัฐทั้งปวงทั่วใต้ฟ้าจะถูกมอบไว้แก่เหล่าผู้บริสุทธิ์ของพระผู้สูงสุดนั้น.” (ดานิเอล 7:13, 14, 27) ใช่แล้ว มากกว่าห้าศตวรรษก่อนหน้าการจำแลงพระกาย พระเจ้าเปิดเผยว่าจะมี “เหล่าผู้บริสุทธิ์” จำนวนหนึ่งได้รับอำนาจราชศักดิ์ร่วมกับพระคริสต์.
7 ใครคือเหล่าผู้บริสุทธิ์ในนิมิตของดานิเอล? อัครสาวกเปาโลกล่าวถึงคนเหล่านี้เมื่อท่านกล่าวว่า “ฝ่ายพระวิญญาณนั้นเป็นพยานรวมกับจิตต์ใจของเราทั้งหลายว่าเราทั้งหลายเป็นบุตรของพระเจ้า และถ้าเราทั้งหลายเป็นบุตรแล้ว, เราจึงเป็นทายาท, คือผู้รับมฤดกของพระเจ้า, และเป็นทายาทด้วยกันกับพระคริสต์, หากเราทั้งหลายทนทุกข์ทรมานด้วยกันกับพระองค์, เพื่อเราทั้งหลายจะได้สง่าราศีด้วยกันกับพระองค์ด้วย.” (โรม 8:16, 17) เหล่าผู้บริสุทธิ์นี้ก็คือเหล่าสาวกของพระเยซูที่ได้รับการเจิมด้วยพระวิญญาณนั่นเอง. ในพระธรรมวิวรณ์ พระเยซูตรัสว่า “ผู้ใดมีชัยชนะ เราจะให้ผู้นั้นนั่งกับเราบนราชบัลลังก์ของเรา เหมือนกับที่เราได้มีชัยชนะและได้นั่งกับพระบิดาของเราบนราชบัลลังก์ของพระองค์.” ‘ผู้มีชัยชนะ’ จำนวน 144,000 คนที่ได้รับการปลุกให้เป็นขึ้นจากตายเหล่านี้ จะปกครองแผ่นดินโลกทั้งสิ้นร่วมกับพระเยซู.—วิวรณ์ 3:21, ล.ม.; 5:9, 10; 14:1, 3, 4; 1 โกรินโธ 15:53.
8. สาวกผู้ถูกเจิมของพระเยซูทำงานคล้ายกับโมเซและเอลียาอย่างไร และเกิดผลเช่นไร?
8 แต่เหตุใดคริสเตียนผู้ถูกเจิมจึงมีโมเซและเอลียาเป็นภาพเล็งถึง? ก็เพราะคริสเตียนเหล่านี้ ขณะมีชีวิตอยู่บนแผ่นดินโลกนั้น พวกเขาทำงานคล้ายกันกับที่โมเซและเอลียาได้ทำ. ตัวอย่างเช่น พวกเขารับใช้เป็นพยานของพระยะโฮวาแม้เผชิญการกดขี่ข่มเหง. (ยะซายา 43:10; กิจการ 8:1-8; วิวรณ์ 11:2-12) เช่นเดียวกับโมเซและเอลียา พวกเขาเปิดโปงศาสนาเท็จอย่างไม่หวั่นเกรง และขณะเดียวกันก็กระตุ้นเตือนผู้มีหัวใจสุจริตให้ถวายความเลื่อมใสแด่พระเจ้าเพียงผู้เดียว. (เอ็กโซโด 32:19, 20; พระบัญญัติ 4:22-24, ล.ม.; 1 กษัตริย์ 18:18-40) การงานของพวกเขาเกิดผลไหม? แน่นอน! นอกจากช่วยรวบรวมเหล่าผู้ถูกเจิมให้ครบจำนวนแล้ว พวกเขายังช่วย “แกะอื่น” อีกหลายล้านคนให้เต็มใจอ่อนน้อมต่อพระเยซูคริสต์.—โยฮัน 10:16; วิวรณ์ 7:4.
พระคริสต์ทำให้ชัยชนะของพระองค์ครบถ้วน
9. วิวรณ์ 6:2 พรรณนาภาพพระเยซูอย่างที่พระองค์ทรงเป็นอยู่ในปัจจุบันนี้อย่างไร?
9 ปัจจุบัน พระเยซูไม่ได้เป็นเพียงมนุษย์ที่ขี่ลูกลาอีกต่อไป แต่ทรงเป็นกษัตริย์ผู้ทรงอำนาจ. มีการพรรณนาภาพพระองค์ว่ากำลังทรงม้า ซึ่งในคัมภีร์ไบเบิลใช้ม้าเป็นสัญลักษณ์ของสงคราม. (สุภาษิต 21:31) วิวรณ์ 6:2 (ล.ม.) กล่าวว่า “นี่แน่ะ! ม้าขาวตัวหนึ่ง; และผู้ที่นั่งบนม้านั้นมีธนู; และผู้นั้นได้รับมงกุฎ และได้ออกไปอย่างมีชัยและเพื่อทำให้ชัยชนะของตนครบถ้วน.” นอกจากนี้ ดาวิดผู้ประพันธ์เพลงสรรเสริญเขียนเกี่ยวกับพระเยซูว่า “พระยะโฮวาจะทรงส่งไม้ธารพระกรแห่งอำนาจของท่านออกจากเมืองซีโอน โดยตรัสว่า ‘จงออกไปปราบปรามท่ามกลางศัตรูของเจ้า.’ ”—บทเพลงสรรเสริญ 110:2, ล.ม.
10. (ก) การขี่ม้าออกไปเพื่อได้ชัยชนะของพระเยซูเริ่มต้นอย่างงดงามอย่างไร? (ข) ชัยชนะอันดับแรกของพระคริสต์ส่งผลกระทบต่อโลกทั่วไปอย่างไร?
10 ชัยชนะอันดับแรกของพระเยซูคือการพิชิตเหล่าศัตรูที่มีฤทธิ์มากที่สุด คือซาตานและเหล่าผีปิศาจ. เมื่อขับพวกมันออกจากสวรรค์ พระองค์ทรงเหวี่ยงพวกมันมายังแผ่นดินโลก. เนื่องจากรู้ว่าเวลาของพวกมันเหลือน้อย กายวิญญาณชั่วเหล่านี้จึงระบายความรู้สึกเดือดดาลต่อมวลมนุษย์ อันเป็นเหตุให้เกิดวิบัติใหญ่. วิบัตินี้มีการแสดงสัญลักษณ์ไว้ในพระธรรมวิวรณ์ด้วยภาพผู้ขี่ม้าอีกสามคน. (วิวรณ์ 6:3-8; 12:7-12) สอดคล้องกับคำพยากรณ์ของพระเยซูเกี่ยวกับ “หมายสำคัญแห่งการประทับของพระองค์และช่วงอวสานของระบบนี้” การขี่ม้าของพวกเขาก่อผลเป็นสงคราม, ความอดอยาก, และโรคระบาดร้ายแรง. (มัดธาย 24:3, 7, ล.ม.; ลูกา 21:7-11) เช่นเดียวกับการเจ็บท้องคลอด “ความปวดร้าวแห่งความทุกข์” นี้คงจะทวีความรุนแรงขึ้นเรื่อย ๆ จนกระทั่งพระคริสต์ ‘ทำให้ชัยชนะของพระองค์ครบถ้วน’ ด้วยการทำลายองค์การของซาตานทุกส่วนที่ปรากฏแก่ตา.a—มัดธาย 24:8, ล.ม.
11. สิ่งที่เกิดขึ้นกับประชาคมคริสเตียนให้หลักฐานพิสูจน์อย่างไรว่าพระคริสต์ทรงครอบครองอยู่ฐานะกษัตริย์?
11 ที่ว่าพระเยซูทรงอำนาจในฐานะกษัตริย์นั้นยังเห็นได้จากการที่พระองค์พิทักษ์คุ้มครองประชาคมคริสเตียนเพื่อให้พวกเขาสามารถทำงานมอบหมายในการประกาศข่าวสารเรื่องราชอาณาจักรไปตลอดทั่วโลกอย่างประสบผลสำเร็จ. ทั้ง ๆ ที่มีการต่อต้านอย่างรุนแรงจากบาบิโลนใหญ่ จักรวรรดิโลกแห่งศาสนาเท็จ และจากรัฐบาลที่เป็นปรปักษ์ งานประกาศไม่เพียงแต่รุดหน้าต่อไป แต่ยังบรรลุผลในระดับที่ไม่เคยมีมาก่อนในประวัติศาสตร์ของโลก. (วิวรณ์ 17:5, 6) นี่เป็นหลักฐานอันทรงพลังจริง ๆ ที่แสดงว่าพระคริสต์ทรงครอบครองอยู่ฐานะกษัตริย์!—บทเพลงสรรเสริญ 110:3.
12. เหตุใดคนส่วนใหญ่จึงมองไม่ออกถึงการประทับของพระคริสต์ที่ไม่ประจักษ์แก่ตา?
12 แต่น่าเศร้าที่ผู้คนส่วนใหญ่ รวมทั้งหลายล้านคนที่อ้างว่าเป็นคริสเตียน มองไม่ออกว่าเหตุการณ์สำคัญ ๆ ที่กำลังเกิดขึ้นบนแผ่นดินโลกบ่งชี้ถึงสิ่งที่มีอยู่จริงซึ่งไม่ประจักษ์แก่ตา. พวกเขาถึงกับหัวเราะเยาะผู้ที่ให้คำพยานเรื่องราชอาณาจักรของพระเจ้า. (2 เปโตร 3:3, 4) เพราะเหตุใด? เพราะซาตานทำให้ใจของพวกเขามืดไป. (2 โกรินโธ 4:3, 4) อันที่จริง หลายศตวรรษมาแล้วที่มันเริ่มทำให้ผู้ที่อ้างตัวเป็นคริสเตียนอยู่ในความมืดฝ่ายวิญญาณ ถึงกับทำให้พวกเขาละทิ้งความหวังอันล้ำค่าในเรื่องราชอาณาจักรด้วยซ้ำ.
ความหวังเรื่องราชอาณาจักรถูกละทิ้ง
13. ความมืดฝ่ายวิญญาณท่ามกลางผู้ที่อ้างตัวเป็นคริสเตียนนำไปสู่อะไร?
13 พระเยซูทรงบอกไว้ล่วงหน้าว่า เช่นเดียวกับข้าวละมานที่ถูกหว่านปะปนกับข้าวดี พวกผู้ออกหากจะแทรกซึมอยู่ในประชาคมคริสเตียนและชักจูงหลายคนไปผิดทาง. (มัดธาย 13:24-30, 36-43; กิจการ 20:29-31; ยูดา 4) ต่อมา ผู้ที่อ้างตัวเองเป็นคริสเตียนเหล่านี้รับเอาเทศกาล, กิจปฏิบัติ, และคำสอนของพวกนอกรีต ถึงกับตั้งชื่อให้สิ่งเหล่านั้นดูเหมือนเป็นของ “คริสเตียน” ด้วยซ้ำ. ตัวอย่างเช่น คริสต์มาสมีต้นตอมาจากพิธีกรรมที่เกี่ยวข้องกับการบูชาพระอาทิตย์และพระเสาร์ เทพเจ้าของพวกนอกรีต. แต่อะไรทำให้ผู้ที่ประกาศตัวเป็นคริสเตียนรับเอาเทศกาลฉลองเหล่านี้ที่ไม่ใช่ของคริสเตียน? สารานุกรมบริแทนนิกาฉบับใหม่ (1974) กล่าวว่า “คริสต์มาส เทศกาลฉลองการประสูติของพระเยซูคริสต์ ถูกตั้งขึ้นเนื่องมาจากความคาดหมายเรื่องการเสด็จกลับของพระคริสต์ที่ใกล้เข้ามานั้นได้เลือนหายไป.”
14. คำสอนของออริเกนและเอากุสตินบิดเบือนความจริงเกี่ยวกับราชอาณาจักรอย่างไร?
14 นอกจากนี้ ขอให้พิจารณาการบิดเบือนความหมายของคำว่า “ราชอาณาจักร.” หนังสือราชอาณาจักรของพระเจ้าตามการตีความในศตวรรษที่ 20 (ภาษาอังกฤษ) กล่าวว่า “ออริเกน [นักเทววิทยาในศตวรรษที่สาม] เปลี่ยนความหมายของ ‘ราชอาณาจักร’ ตามที่คริสเตียนใช้กันมา ไปเป็นสิ่งที่อยู่ภายใน คือเป็นการปกครองของพระเจ้าในหัวใจ.” ออริเกนอาศัยอะไรเป็นพื้นฐานสำหรับคำสอนของเขา? ไม่ใช่อาศัยพระคัมภีร์ แต่อาศัย “กรอบความคิดเชิงปรัชญาและโลกทัศน์ที่ต่างกันมากกับความคิดของพระเยซูและคริสตจักรยุคต้น.” เอากุสตินแห่งฮิปโป (ส.ศ. 354-430) กล่าวไว้ในงานเขียนของเขาชื่อ เด คีวิทาเท เดอี (ราชธานีของพระเจ้า) ว่าคริสตจักรนั่นเองที่เป็นราชอาณาจักรของพระเจ้า. แนวคิดที่ไม่เป็นไปตามหลักพระคัมภีร์เช่นนี้ทำให้คริสตจักรต่าง ๆ ในคริสต์ศาสนจักรมีเหตุผลสนับสนุนทางศาสนาที่จะรับเอาอำนาจทางการเมือง. และคริสตจักรเหล่านั้นใช้อำนาจดังกล่าวเป็นเวลาหลายศตวรรษ บ่อยครั้งใช้อำนาจอย่างโหดเหี้ยมทารุณ.—วิวรณ์ 17:5, 18.
15. ฆะลาเตีย 6:7 สำเร็จเป็นจริงเช่นไรกับหลายคริสตจักรในคริสต์ศาสนจักร?
15 แต่ในทุกวันนี้ คริสตจักรต่าง ๆ กำลังเก็บเกี่ยวสิ่งที่พวกเขาได้หว่าน. (ฆะลาเตีย 6:7) ดูเหมือนว่าหลายคริสตจักรกำลังสูญเสียอำนาจและสมาชิกของตน. แนวโน้มเช่นนั้นสังเกตเห็นได้ชัดเจนในยุโรป. วารสารคริสเตียนนิตี ทูเดย์ รายงานว่า “ปัจจุบันมหาวิหารต่าง ๆ ในยุโรปไม่ได้ใช้เป็นสถานที่นมัสการอีกต่อไป แต่ใช้เป็นพิพิธภัณฑ์ ซึ่งไม่มีผู้นมัสการ มีแต่นักท่องเที่ยว.” แนวโน้มอย่างเดียวกันสังเกตเห็นได้ในส่วนอื่น ๆ ของโลกด้วย. แนวโน้มดังกล่าวบ่งชี้ถึงอะไรสำหรับศาสนาเท็จ? ศาสนาเท็จจะยุบไปเพียงเพราะขาดแคลนเงินทุนและสมาชิกที่ให้การสนับสนุนเท่านั้นไหม? และการนมัสการแท้จะได้รับผลกระทบเช่นไร?
จงเตรียมพร้อมสำหรับวันใหญ่ของพระเจ้า
16. เหตุใดท่าทีที่เป็นปฏิปักษ์มากขึ้นต่อบาบิโลนใหญ่จึงมีนัยสำคัญ?
16 เช่นเดียวกับที่ควันและเถ้าธุลีที่พ่นออกมาจากปากปล่องภูเขาไฟที่เคยสงบมาก่อนอาจบ่งบอกว่าในอีกไม่ช้าจะเกิดการปะทุของภูเขาไฟ ท่าทีที่เป็นปฏิปักษ์ต่อศาสนาที่มีมากขึ้นในหลาย ๆ ส่วนของโลกก็เป็นการบ่งชี้ว่าศาสนาเท็จใกล้จะถึงจุดอวสานแล้ว. ในอีกไม่ช้า พระยะโฮวาจะกระตุ้นให้องค์ประกอบต่าง ๆ ทางการเมืองของโลกร่วมมือกันเปิดโปงและล้างผลาญบาบิโลนใหญ่ แพศยาทางฝ่ายวิญญาณ. (วิวรณ์ 17:15-17; 18:21) คริสเตียนแท้ควรหวั่นกลัวเหตุการณ์ดังกล่าวและเหตุการณ์อื่น ๆ แห่ง “ความทุกข์ลำบากใหญ่ยิ่ง” ที่จะตามมานั้นไหม? (มัดธาย 24:21) ไม่เลย! พวกเขามีเหตุผลอย่างแท้จริงที่จะยินดีเมื่อพระเจ้าทรงปฏิบัติการกวาดล้างคนชั่ว. (วิวรณ์ 18:20; 19:1, 2) ขอให้พิจารณาตัวอย่างของกรุงเยรูซาเลมในศตวรรษแรกและคริสเตียนที่อาศัยในกรุงนั้น.
17. เหตุใดผู้รับใช้ที่ซื่อสัตย์ของพระยะโฮวาจึงสามารถเผชิญอวสานของระบบนี้ได้ด้วยความมั่นใจ?
17 เมื่อกองทัพโรมันล้อมกรุงเยรูซาเลมในปี ส.ศ. 66 คริสเตียนที่ตื่นตัวฝ่ายวิญญาณไม่ประหลาดใจหรือพรั่นพรึง. เนื่องจากพวกเขาเป็นผู้หมั่นศึกษาพระคำของพระเจ้า พวกเขาจึงทราบ “ว่าความพินาศของกรุงนั้นก็ใกล้เข้ามาแล้ว.” (ลูกา 21:20) พวกเขายังทราบอีกด้วยว่าพระเจ้าจะเปิดโอกาสให้พวกเขาหนีไปยังที่ปลอดภัย. เมื่อโอกาสนั้นมาถึง คริสเตียนก็หนีออกไป. (ดานิเอล 9:26; มัดธาย 24:15-19; ลูกา 21:21) ทุกวันนี้ก็เช่นกัน บรรดาผู้ที่รู้จักพระเจ้าและเชื่อฟังพระบุตรของพระองค์สามารถเผชิญอวสานของระบบนี้ได้ด้วยความมั่นใจ. (2 เธซะโลนิเก 1:6-9) ที่จริง เมื่อความทุกข์ลำบากครั้งใหญ่บังเกิดขึ้น พวกเขาจะ “เงยหน้าและผงกศีรษะขึ้น” ด้วยความยินดี ‘เพราะความรอดของพวกเขาใกล้จะถึงแล้ว.’—ลูกา 21:28.
18. การทุ่มสุดกำลังของโฆฆเพื่อโจมตีผู้รับใช้ของพระยะโฮวาจะส่งผลเช่นไร?
18 หลังจากความพินาศของบาบิโลนใหญ่ ซาตานในบทบาทของโฆฆแห่งมาโฆฆจะทุ่มสุดกำลังครั้งสุดท้ายโจมตีพยานของพระยะโฮวาที่อยู่กันอย่างสงบสุข. เนื่องจากมีจำนวน “ดุจเมฆ . . . ปกคลุมแผ่นดิน” กองทัพของโฆฆจึงคาดหมายว่าจะได้ชัยชนะอย่างง่ายดาย. แต่สิ่งที่กองกำลังของมันจะประสบนั้นช่างน่าตกตะลึงเสียจริง ๆ! (ยะเอศเคล 38:14-16, 18-23) อัครสาวกโยฮันเขียนว่า “ข้าพเจ้าได้เห็นสวรรค์เปิดออกและนี่แน่ะมีม้าขาวตัวหนึ่ง, และท่านผู้ทรงนั่งบนหลังม้านั้นมีนามว่า, ‘สุจริตและสัตย์จริง’ . . . มีพระแสงคมออกจากพระโอษฐ์ของท่าน, เพื่อท่านจะได้ฟันพวกนานาประเทศด้วยพระแสงนั้น.” “พระมหากษัตริย์แห่งมหากษัตริย์ทั้งปวง” ที่ไม่มีผู้ใดพิชิตได้นี้จะพิทักษ์คุ้มครองผู้นมัสการที่ภักดีของพระยะโฮวาและทำลายล้างเหล่าศัตรูทั้งปวงของพวกเขา. (วิวรณ์ 19:11-21) นั่นจะเป็นจุดสุดยอดแห่งความสำเร็จเป็นจริงของนิมิตการจำแลงพระกาย!
19. ชัยชนะครบถ้วนของพระคริสต์จะส่งผลเช่นไรต่อเหล่าสาวกผู้ภักดีของพระองค์ และพวกเขาควรพยายามทำสิ่งใดในขณะนี้?
19 พระเยซูจะ “เป็นที่จ้องมองด้วยความอัศจรรย์ใจในวันนั้นร่วมกับคนทั้งปวงที่สำแดงความเชื่อ.” (2 เธซะโลนิเก 1:10, ล.ม.) คุณอยากจะอยู่ท่ามกลางผู้ที่จะแสดงความเกรงขามต่อพระบุตรของพระเจ้าที่ได้ชัยชนะในคราวนั้นไหม? ถ้าอย่างนั้นก็ขอให้คุณเสริมความเชื่อของคุณให้เข้มแข็งอยู่เสมอ และ ‘พิสูจน์ตัวว่าอยู่พร้อม เพราะในโมงที่คุณไม่คิดว่าเป็นเวลานั้น บุตรมนุษย์จะเสด็จมา.’—มัดธาย 24:43, 44, ล.ม.
จงรักษาสติอยู่เสมอ
20. (ก) เราจะแสดงความหยั่งรู้ค่าต่อการจัดเตรียมของพระเจ้าเกี่ยวกับ “ทาสสัตย์ซื่อและสุขุม” ได้อย่างไร? (ข) เราควรถามตัวเองด้วยคำถามอะไรบ้าง?
20 “ทาสสัตย์ซื่อและสุขุม” กระตุ้นเตือนประชาชนของพระเจ้าอยู่เสมอให้ตื่นตัวฝ่ายวิญญาณและรักษาสติของตน. (มัดธาย 24:45, 46, ล.ม.; 1 เธซะโลนิเก 5:6, ล.ม.) คุณหยั่งรู้ค่าข้อเตือนใจเหล่านั้นไหมที่เหมาะกับเวลา? คุณได้นำข้อเตือนใจดังกล่าวไปใช้ในการจัดลำดับความสำคัญเรื่องต่าง ๆ ในชีวิตไหม? จงถามตัวเองดังนี้: ‘ฉันเห็นชัดไหมถึงความหมายทางฝ่ายวิญญาณของเหตุการณ์ต่าง ๆ ในโลกที่ทำให้รู้ว่าพระบุตรของพระเจ้ากำลังปกครองอยู่ในสวรรค์? ฉันมองออกไหมว่าพระองค์พร้อมแล้วที่จะสำเร็จโทษตามการพิพากษาของพระเจ้าต่อบาบิโลนใหญ่และระบบที่เหลือทั้งสิ้นของซาตาน?’
21. อาจเนื่องมาจากเหตุใดที่บางคนได้ปล่อยให้การมองเห็นฝ่ายวิญญาณของตนพร่ามัวไป และพวกเขาควรเร่งรีบทำอะไร?
21 บางคนที่สมทบกับประชาชนของพระยะโฮวาในทุกวันนี้ได้ปล่อยให้การมองเห็นฝ่ายวิญญาณของตนพร่ามัวไป. เป็นไปได้ไหมว่าพวกเขาขาดความอดทน เช่นเดียวกับสาวกบางคนของพระเยซูในยุคแรก? ความกังวลในชีวิต, วัตถุนิยม, หรือการข่มเหง ก่อผลกระทบต่อพวกเขาไหม? (มัดธาย 13:3-8, 18-23; ลูกา 21:34-36) บางคนอาจรู้สึกว่าข้อมูลบางอย่างที่จัดพิมพ์โดย “ทาสสัตย์ซื่อและสุขุม” นั้นเข้าใจยาก. หากสิ่งหนึ่งสิ่งใดที่กล่าวมานี้เกิดขึ้นกับคุณ เราขอกระตุ้นคุณให้ศึกษาพระคำของพระเจ้าด้วยใจแรงกล้าที่ฟื้นฟูขึ้นใหม่และทูลขอความช่วยเหลือจากพระยะโฮวา เพื่อที่คุณจะกลับมามีสัมพันธภาพแน่นแฟ้นกับพระองค์อีก.—2 เปโตร 3:11-15.
22. การพิจารณานิมิตการจำแลงพระกายและคำพยากรณ์อื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องส่งผลกระทบต่อคุณอย่างไร?
22 สาวกของพระเยซูได้รับนิมิตการจำแลงพระกายในยามที่พวกเขาจำเป็นต้องได้รับการหนุนใจ. ในทุกวันนี้ เรามีสิ่งที่เหนือกว่านั้นมากที่ให้การหนุนใจเรา นั่นคือความสำเร็จเป็นจริงของนิมิตอันน่าตื่นตาตื่นใจนั้นและคำพยากรณ์อื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องอีกมากมาย. ขณะที่เราไตร่ตรองความสำเร็จเป็นจริงที่งดงามเหล่านี้และนัยสำคัญของสิ่งเหล่านี้ในอนาคต ให้เรากล่าวด้วยความรู้สึกจากหัวใจเช่นเดียวกับที่อัครสาวกโยฮันได้กล่าวว่า “อาเมน พระเยซูเจ้า, เชิญเสด็จมาเถิด.”—วิวรณ์ 22:20.
[เชิงอรรถ]
a คำภาษากรีกเดิมที่ได้รับการแปลว่า “ความปวดร้าวแห่งความทุกข์” มีความหมายตามตัวอักษรว่า “อาการเจ็บท้องคลอด.” (มัดธาย 24:8, ฉบับแปลคิงดอม อินเตอร์ลิเนียร์) คำนี้บ่งนัยว่า เช่นเดียวกับอาการเจ็บท้องคลอด ปัญหาต่าง ๆ ของโลกจะทวีขึ้นในด้านความรุนแรง, ความถี่, และระยะเวลา และถึงจุดสุดยอดด้วยความทุกข์ลำบากครั้งใหญ่.
คุณจำได้ไหม?
• ในทศวรรษ 1870 นักศึกษาคัมภีร์ไบเบิลกลุ่มเล็ก ๆ กลุ่มหนึ่งได้มาเข้าใจอะไรเกี่ยวกับการเสด็จกลับของพระคริสต์?
• นิมิตการจำแลงพระกายสำเร็จเป็นจริงอย่างไร?
• การที่พระเยซูทรงม้าออกไปเพื่อได้ชัยชนะส่งผลกระทบเช่นไรต่อโลกและประชาคมคริสเตียน?
• เราต้องทำอะไรเพื่อจะอยู่ท่ามกลางผู้รอดชีวิตในคราวที่พระเยซูทรงทำให้ชัยชนะของพระองค์ครบถ้วน?
[ภาพหน้า 17]
สิ่งที่เปิดเผยในนิมิตกลายเป็นจริง
[ภาพหน้า 18]
คุณทราบไหมว่าเกิดอะไรขึ้นเมื่อพระคริสต์เริ่มปราบศัตรูของพระองค์?