จงระวัง “เสียงของคนแปลกหน้า”
“แกะจะไม่ตามคนแปลกหน้าเลย แต่จะหนีจากเขา เพราะพวกมันไม่รู้จักเสียงของคนแปลกหน้า.”—โยฮัน 10:5, ล.ม.
1, 2. (ก) มาเรียมีปฏิกิริยาเช่นไรเมื่อพระเยซูเรียกชื่อเธอ และเหตุการณ์นี้แสดงให้เห็นชัดเจนเกี่ยวกับคำตรัสอะไรของพระเยซูก่อนหน้านั้น? (ข) อะไรช่วยเราให้อยู่ใกล้ชิดพระเยซู?
พระเยซูผู้คืนพระชนม์แล้วสังเกตเห็นหญิงคนหนึ่งยืนใกล้อุโมงค์เก็บศพของพระองค์ที่ว่างเปล่า. พระองค์รู้จักเธอดี. เธอคือมาเรีย มัฆดาลา. ราวสองปีก่อนหน้านี้ พระองค์รักษาเธอให้พ้นอำนาจวิญญาณชั่ว. ตั้งแต่นั้นมา เธอติดสอยห้อยตามพระเยซูกับเหล่าอัครสาวกไป เพื่อเอาใจใส่ดูแลความจำเป็นแต่ละวันของพวกเขา. (ลูกา 8:1-3) แต่วันนี้ มาเรียร้องไห้เศร้าโศกเสียใจอย่างหนักเนื่องจากได้เห็นพระเยซูสิ้นพระชนม์ และในตอนนี้แม้แต่พระศพของพระองค์ก็หายไปแล้ว! ด้วยเหตุนี้ พระเยซูจึงถามเธอว่า “สตรีเอ๋ย ร้องไห้ทำไม? มาหาผู้ใด?” เนื่องจากคิดว่าพระองค์เป็นคนเฝ้าสวน เธอจึงตอบว่า “นายเจ้าข้า, ถ้าท่านได้เอาพระองค์ไป, ขอบอกดิฉันให้รู้ว่าท่านเอาพระองค์ไปไว้ที่ไหน, และดิฉันจะรับพระองค์ไป.” แล้วพระเยซูก็ตรัสว่า “มาเรียเอ๋ย.” ทันใดนั้นเธอจำวิธีที่พระองค์ตรัสกับเธอได้เพราะเป็นวิธีพูดที่เธอคุ้นเคย. เธอร้องออกมาด้วยความยินดีว่า “อาจารย์!” แล้วยึดพระองค์ไว้แน่น.—โยฮัน 20:11-18.
2 เรื่องราวนี้แสดงให้เห็นชัดเจนในวิธีอันน่าประทับใจเกี่ยวกับสิ่งที่พระเยซูตรัสไว้ในโอกาสหนึ่งก่อนหน้านั้น. โดยเปรียบพระองค์เองเป็นผู้เลี้ยงแกะ และเหล่าสาวกเป็นฝูงแกะ พระองค์กล่าวว่า ผู้เลี้ยงแกะเรียกแกะของเขาตามชื่อ และฝูงแกะรู้จักเสียงของเขา. (โยฮัน 10:3, 4, 14, 27, 28) อันที่จริง เช่นเดียวกับแกะที่รู้จักเสียงของผู้เลี้ยง มาเรียรู้จักเสียงของผู้เลี้ยงของเธอคือพระคริสต์. เป็นจริงเช่นนั้นด้วยกับสาวกของพระเยซูในทุกวันนี้. (โยฮัน 10:16) หูของแกะซึ่งมีความสามารถในการจำแนกเสียงช่วยให้มันอยู่ใกล้ชิดผู้เลี้ยงของมันฉันใด ความสามารถในการสังเกตเข้าใจฝ่ายวิญญาณของเราก็ช่วยเราให้ดำเนินตามรอยพระบาทพระเยซูคริสต์ผู้เลี้ยงแกะที่ดีของเราได้อย่างใกล้ชิดฉันนั้น.—โยฮัน 13:15; 1 โยฮัน 2:6; 5:20.
3. อุปมาของพระเยซูเรื่องคอกแกะทำให้เกิดคำถามอะไรขึ้นมาบ้าง?
3 อย่างไรก็ตาม ตามที่กล่าวในอุปมาเรื่องเดียวกันนี้ ความสามารถของแกะในการแยกแยะเสียงมนุษย์นั้นทำให้มันรู้ไม่เพียงแต่ว่าใครเป็นมิตรเท่านั้น แต่ยังรู้ด้วยว่าใครเป็นศัตรู. ความสามารถนี้นับว่าสำคัญยิ่งเนื่องจากเรามีศัตรูเจ้าเล่ห์. เขาเหล่านั้นเป็นใคร? พวกเขาดำเนินการโดยวิธีใด? เราจะป้องกันตัวเองได้อย่างไร? เพื่อจะทราบคำตอบ ให้เรามาดูกันว่าพระเยซูตรัสอะไรอีกในอุปมาของพระองค์เรื่องคอกแกะ.
‘ผู้ที่มิได้เข้าไปทางประตูนั้น’
4. ตามอุปมาเรื่องผู้เลี้ยงแกะ ใครที่ฝูงแกะจะตาม และใครที่ฝูงแกะจะไม่ตาม?
4 พระเยซูตรัสว่า “ผู้ที่เข้าทางประตูก็เป็นผู้เลี้ยงแกะ. นายประตูจึงเปิดให้แก่ท่านนั้น, และฝูงแกะย่อมฟังเสียงของท่าน และท่านเรียกแกะของท่านตามชื่อ, และนำออกไป. เมื่อต้อนแกะของท่านออกแล้วก็เดินนำหน้า, และฝูงแกะก็ตามท่านไป, เพราะรู้จักเสียงของท่าน. ผู้อื่น [“คนแปลกหน้า,” ล.ม.] แกะจะไม่ตามเลย, แต่ย่อมหนีจากเขา, เพราะไม่รู้จักเสียงของผู้อื่น [“เสียงของคนแปลกหน้า,” ล.ม.] .” (โยฮัน 10:2-5) ขอสังเกตว่า พระเยซูใช้คำว่า “เสียง” ถึงสามครั้ง. สองครั้งพระองค์กล่าวถึงเสียงของผู้เลี้ยงแกะ แต่ครั้งที่สาม พระองค์กล่าวถึง “เสียงของคนแปลกหน้า.” คนแปลกหน้าประเภทใดที่พระเยซูหมายถึง?
5. ทำไมเราจึงไม่แสดงน้ำใจรับรองแขกแก่คนแปลกหน้าประเภทที่กล่าวถึงในโยฮันบท 10?
5 พระเยซูไม่ได้กล่าวถึงคนแปลกหน้าประเภทที่เราอยากจะแสดงน้ำใจรับรองแขก ซึ่งตามภาษาเดิมที่ใช้บันทึกคัมภีร์ไบเบิลนั้นคำนี้มีความหมายว่า “รักคนแปลกหน้า.” (เฮ็บราย 13:2) ในอุปมาของพระเยซู คนแปลกหน้ามิใช่แขกที่ได้รับเชิญ. เขา “มิได้เข้าไปในคอกทางประตูนั้น, แต่ปีนขึ้นไปทางอื่น.” เขาเป็น “ขโมยและโจร.” (โยฮัน 10:1) ใครเป็นบุคคลแรกที่ทำตัวเป็นขโมยและโจรตามที่พระคำของพระเจ้ากล่าวไว้? ซาตานพญามารนั่นเอง. เราพบหลักฐานในพระธรรมเยเนซิศ.
เมื่อเสียงของคนแปลกหน้ามีให้ได้ยินเป็นครั้งแรก
6, 7. เหตุใดจึงเรียกซาตานได้อย่างเหมาะเจาะว่าเป็นคนแปลกหน้าและขโมย?
6 เยเนซิศ 3:1-5 อธิบายว่าเสียงของคนแปลกหน้ามีให้ได้ยินเป็นครั้งแรกในโลกอย่างไร. บันทึกนั้นเล่าว่าซาตานเข้าหาฮาวาผู้หญิงคนแรกผ่านทางงู แล้วพูดกับนางในแบบที่ทำให้หลงเชื่อ. จริงอยู่ ในบันทึกนี้ซาตานไม่ได้ถูกเรียกจริง ๆ ว่า “คนแปลกหน้า.” กระนั้น การกระทำของมันแสดงว่า ในหลายทาง มันเป็นเหมือนคนแปลกหน้าที่พรรณนาในอุปมาของพระเยซูที่บันทึกในโยฮันบท 10. ขอให้พิจารณาความคล้ายคลึงกันบางอย่าง.
7 พระเยซูกล่าวว่าคนแปลกหน้าเข้าหาเหยื่อของมันในคอกแกะนั้นโดยทางอ้อม. เช่นเดียวกัน ซาตานเข้าหาเหยื่อของมันทางอ้อมโดยใช้งู. วิธีเข้าหาอย่างมีเล่ห์เหลี่ยมนี้เองเผยให้เห็นว่าแท้จริงแล้วมันเป็นใคร นั่นก็คือเป็นผู้ลอบเข้ามาที่ไม่ซื่อ. นอกจากนี้ คนแปลกหน้าในคอกนั้นตั้งใจลอบเอาแกะไปจากผู้เป็นเจ้าของแกะโดยชอบธรรม. ที่จริง คนแปลกหน้านี้ร้ายยิ่งกว่าขโมยอีก เพราะจุดมุ่งหมายของเขารวมไปถึงการ “ฆ่าและทำลายเสีย.” (โยฮัน 10:10) ทำนองเดียวกัน ซาตานเป็นขโมย. โดยการหลอกลวงฮาวา มันขโมยเอาความเลื่อมใสศรัทธาที่นางมีต่อพระเจ้าไป. ยิ่งกว่านั้น ซาตานยังนำความตายมาสู่มนุษยชาติด้วย. โดยการทำเช่นนี้ มันจึงเป็นผู้ฆ่าคน.
8. ซาตานบิดเบือนคำตรัสและเจตนาของพระยะโฮวาอย่างไร?
8 ความไม่ซื่อของซาตานเห็นได้จากการที่มันบิดเบือนคำตรัสและเจตนาของพระยะโฮวา. มันถามฮาวาดังนี้: “จริง หรือที่พระเจ้าตรัสห้ามว่า ‘อย่ากินผลจากต้นไม้ใด ๆ’?” ซาตานแกล้งทำเป็นประหลาดใจมาก มันเหมือนกับจะพูดว่า ‘พระเจ้าเป็นผู้ที่ไร้เหตุผลขนาดนั้นได้อย่างไร?’ มันกล่าวต่อไปว่า “พระเจ้าทรงทราบอยู่ว่า เจ้ากินผลไม้นั้นวันใด ตาของเจ้าจะสว่างขึ้นในวันนั้น.” ขอสังเกตคำพูดของมันที่ว่า “พระเจ้าทรงทราบ.” ซาตานพูดเหมือนกับว่า ‘ฉันรู้สิ่งที่พระเจ้ารู้. ฉันรู้ว่าพระองค์มีเจตนาอะไร และเจตนาของพระองค์ไม่ดี.’ (เยเนซิศ 2:16, 17; 3:1, 5, ฉบับแปลใหม่) น่าเศร้า ฮาวากับอาดามไม่หันหนีจากเสียงคนแปลกหน้านี้. แทนที่จะทำเช่นนั้น ทั้งสองสนใจฟัง และนำวิบัติมาสู่ตนเองและลูกหลานของพวกเขา.—โรม 5:12, 14.
9. ทำไมเราควรคาดหมายว่าจะได้ยินเสียงของคนแปลกหน้าในทุกวันนี้?
9 ซาตานใช้วิธีคล้าย ๆ กันเพื่อหลอกลวงประชาชนของพระเจ้าในทุกวันนี้. (วิวรณ์ 12:9) มันเป็น “พ่อของการมุสา” และผู้ที่พยายามหลอกลวงผู้รับใช้ของพระเจ้าเหมือนอย่างที่ซาตานทำก็เป็นลูกของมัน. (โยฮัน 8:44) ขอให้เราสังเกตบางวิธีที่เสียงของคนแปลกหน้ามีให้ได้ยินในทุกวันนี้.
วิธีที่เสียงของคนแปลกหน้ามีให้ได้ยินในทุกวันนี้
10. วิธีหนึ่งที่เสียงของคนแปลกหน้ามีให้ได้ยินนั้นคืออะไร?
10 การชักเหตุผลที่ชวนให้หลง. อัครสาวกเปาโลกล่าวว่า “อย่าหลงไปตามคำสอนต่าง ๆ ที่แปลก ๆ.” (เฮ็บราย 13:9, ฉบับแปลใหม่) นั่นเป็นคำสอนแบบไหน? เนื่องจากคำสอนเหล่านั้นสามารถ ‘ทำให้เราหลง’ จึงเห็นได้ชัดว่าเปาโลหมายถึงคำสอนต่าง ๆ ที่จะบ่อนทำลายความสมดุลฝ่ายวิญญาณของเรา. ใครเป็นคนแพร่คำสอนแปลก ๆ เหล่านั้น? เปาโลบอกกลุ่มผู้ปกครองคริสเตียนว่า “จากท่ามกลางพวกท่านจะมีบางคนตั้งตัวขึ้นพูดบิดเบือนชักนำเหล่าสาวกให้หลงตามเขาไป.” (กิจการ 20:30, ล.ม.) จริงทีเดียว ทุกวันนี้ก็เช่นเดียวกับสมัยเปาโล บางคนที่เคยเป็นส่วนของประชาคมคริสเตียน บัดนี้พยายามลวงฝูงแกะให้หลงไปโดยพูด “บิดเบือน” กล่าวคือ พูดจริงบ้างไม่จริงบ้าง หรือโกหกล้วน ๆ. ดังที่อัครสาวกเปโตรกล่าว พวกเขาใช้ “คำหลอกลวง” ซึ่งเป็นถ้อยคำที่ดูเหมือนว่าจริง แต่ที่แท้แล้ว ไม่มีค่าอะไรเลย.—2 เปโตร 2:3, ล.ม.
11. ถ้อยคำที่พบใน 2 เปโตร 2:1, 3 เปิดโปงวิธีการและเป้าหมายของผู้ออกหากอย่างไร?
11 เปโตรเปิดโปงวิธีการของพวกผู้ออกหากเพิ่มเติมโดยกล่าวว่า พวกเขา “นำนิกายที่ก่อความพินาศเข้ามาอย่างเงียบ ๆ.” (2 เปโตร 2:1, 3, ล.ม.) ขโมยในอุปมาของพระเยซูเรื่องคอกแกะไม่ได้เข้า “ทางประตูนั้น, แต่ปีนขึ้นไปทางอื่น” ฉันใด พวกผู้ออกหากก็ลอบเข้ามาหาเราอย่างเงียบ ๆ ฉันนั้น. (ฆะลาเตีย 2:4; ยูดา 4) เป้าหมายของพวกเขาคืออะไร? เปโตรกล่าวต่อไปว่า “เขาจะแสวงประโยชน์จากท่านทั้งหลาย.” ที่จริง ไม่ว่าพวกผู้ออกหากจะอ้างเหตุผลสนับสนุนการกระทำของตนอย่างไรก็ตาม แต่เป้าหมายที่แท้จริงของผู้ลอบเข้ามาก็คือเพื่อ “ลักและฆ่าและทำลายเสีย.” (โยฮัน 10:10) จงระวังคนแปลกหน้าเช่นนั้น!
12. (ก) การคบหาสมาคมอาจทำให้เราตกอยู่ในอันตรายจากเสียงของคนแปลกหน้าได้อย่างไร? (ข) มีความคล้ายคลึงกันอย่างไรบ้างระหว่างกลวิธีของซาตานกับของคนแปลกหน้าในทุกวันนี้?
12 การคบหาที่ไม่ดี. เสียงของคนแปลกหน้าอาจมีให้ได้ยินผ่านทางผู้คนที่เราคบหา. การคบหาสมาคมที่ไม่ดีเป็นอันตรายต่อเยาวชนเป็นพิเศษ. (1 โกรินโธ 15:33) อย่าลืมว่าซาตานเลือกมุ่งเป้าที่ฮาวา ซึ่งเป็นผู้อ่อนวัยกว่าและมีประสบการณ์น้อยกว่าเมื่อเทียบกับอาดาม. มันชักจูงให้ฮาวาเชื่อว่าพระยะโฮวาจำกัดเสรีภาพนางเกินไป ทั้ง ๆ ที่ในความเป็นจริงแล้วตรงกันข้าม. พระยะโฮวาทรงรักมนุษย์ที่เป็นสิ่งทรงสร้างของพระองค์และห่วงใยสวัสดิภาพพวกเขา. (ยะซายา 48:17) ทำนองเดียวกันในทุกวันนี้ คนแปลกหน้าพยายามชักจูงคุณที่เป็นเยาวชนให้เชื่อว่าพ่อแม่ของคุณที่เป็นคริสเตียนจำกัดเสรีภาพคุณเกินไป. คนแปลกหน้าเช่นนั้นอาจส่งผลกระทบต่อคุณอย่างไร? เด็กสาวคริสเตียนคนหนึ่งยอมรับว่า “มีอยู่พักหนึ่งที่ความเชื่อของดิฉันอ่อนลงเนื่องจากเพื่อนร่วมชั้น. พวกเขาพูดอยู่เรื่อยว่าศาสนาของดิฉันเข้มงวดเกินไปและไม่มีเหตุผล.” แต่ความจริงก็คือพ่อแม่รักคุณ. ดังนั้นถ้าเพื่อนนักเรียนพยายามชักจูงคุณไม่ให้ไว้ใจพ่อแม่ของคุณเอง จงอย่าถูกชักนำให้หลงเหมือนอย่างฮาวา.
13. ดาวิดดำเนินตามแนวทางอะไรที่สุขุม และอะไรเป็นทางหนึ่งที่เราจะเลียนแบบท่านได้?
13 ในเรื่องการคบหาสมาคมที่ไม่ดี ดาวิดผู้ประพันธ์เพลงสรรเสริญกล่าวว่า “ข้าพเจ้าไม่ได้นั่งกับคนอสัตย์; และข้าพเจ้าไม่เข้าไปเกี่ยวข้องกับคนอำพรางตัว.” (บทเพลงสรรเสริญ 26:4, ล.ม.) อีกครั้งหนึ่ง คุณสังเกตไหมถึงลักษณะของคนแปลกหน้าโดยทั่วไป? พวกเขามักอำพรางตัวเอง เช่นเดียวกับที่ซาตานปิดบังตัวตนจริง ๆ ของมันโดยใช้งู. ในทุกวันนี้ คนไร้ศีลธรรมบางคนอำพรางตัวและซ่อนเจตนาที่แท้จริงของตนโดยใช้อินเทอร์เน็ต. ในห้องสนทนา ผู้ใหญ่บางคนที่วิปริตทางเพศอาจถึงกับแสดงตัวว่าเป็นเยาวชนเพื่อลวงให้คุณหลงกล. เยาวชนทั้งหลาย โปรดระวังตัวเต็มที่ เพื่อว่าคุณจะไม่ประสบความเสียหายฝ่ายวิญญาณ.—บทเพลงสรรเสริญ 119:101; สุภาษิต 22:3.
14. บางครั้งสื่อแพร่กระจายเสียงของคนแปลกหน้าอย่างไร?
14 คำกล่าวหาเท็จ. แม้ว่าบางครั้งมีการรายงานข่าวเกี่ยวกับพยานพระยะโฮวาอย่างซื่อตรง แต่บางครั้งสื่อก็ถูกใช้เป็นช่องทางแพร่กระจายเสียงของคนแปลกหน้าที่แสดงถึงความมีอคติ. ตัวอย่างเช่น ในประเทศหนึ่งมีรายงานข่าวอย่างผิด ๆ ว่าพยานฯ สนับสนุนระบอบของฮิตเลอร์ในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2. ในอีกประเทศหนึ่ง มีรายงานที่กล่าวหาว่าพยานฯ ทำลายโบสถ์ต่าง ๆ. ในหลายประเทศ สื่อกล่าวหาว่าพยานฯ ไม่ยอมให้ลูกรับการรักษาทางการแพทย์ และยังจงใจมองข้ามบาปร้ายแรงที่เพื่อนร่วมความเชื่อของเขากระทำ. (มัดธาย 10:22) ถึงกระนั้น สุจริตชนที่รู้จักพวกเราเป็นส่วนตัวทราบดีว่าข้อกล่าวหาเหล่านั้นไม่เป็นความจริง.
15. เหตุใดจึงไม่ฉลาดที่จะเชื่อทุกสิ่งที่สื่อนำเสนอ?
15 เราควรทำประการใดหากเราเผชิญกับข้อกล่าวหาที่แพร่โดยเสียงของคนแปลกหน้าเช่นนั้น? เราควรเอาใจใส่คำแนะนำที่กล่าวในสุภาษิต 14:15 ที่ว่า “คนโง่เชื่อคำบอกเล่าทุกคำ; แต่คนฉลาดย่อมมองดูทางเดินของเขาด้วยความระวัง.” นับว่าไม่ฉลาดที่จะเชื่อทุกสิ่งที่มีการเสนอว่าเป็นความจริงในสื่อต่าง ๆ. ขณะที่เราไม่ได้เคลือบแคลงสงสัยข้อมูลทุกอย่างของโลก แต่เราก็ตระหนักว่า “โลกทั้งสิ้น ทอดตัวจมอยู่ในมารร้าย.”—1 โยฮัน 5:19.
‘จงตรวจดูถ้อยคำเหล่านั้น’
16. (ก) พฤติกรรมของแกะแสดงให้เห็นอย่างไรถึงความเป็นจริงแห่งคำตรัสของพระเยซูในโยฮัน 10:4? (ข) คัมภีร์ไบเบิลสนับสนุนเราให้ทำอะไร?
16 แต่เราจะรู้แน่ได้อย่างไรว่าผู้ที่เราติดต่อเกี่ยวข้องด้วยนั้นเป็นมิตรหรือศัตรู? พระเยซูตรัสว่า แกะตามผู้เลี้ยง ‘เพราะรู้จักเสียงของเขา.’ (โยฮัน 10:4) สิ่งที่กระตุ้นแกะให้ตามผู้เลี้ยงไม่ใช่ลักษณะของเขาที่เห็นได้จากภายนอก แต่ว่าเป็นเสียง. หนังสือเล่มหนึ่งเกี่ยวกับดินแดนสมัยคัมภีร์ไบเบิลเล่าเหตุการณ์ที่เคยมีนักท่องเที่ยวคนหนึ่งอ้างว่าแกะจำผู้เลี้ยงได้จากชุดที่เขาสวมใส่ ไม่ใช่เสียงของเขา. ผู้เลี้ยงแกะตอบว่าเสียงต่างหากที่พวกมันรู้จัก. เพื่อพิสูจน์เรื่องนี้ เขาเปลี่ยนเสื้อผ้ากับแขกที่มาเยือนนั้น. คนแปลกหน้าดังกล่าวที่สวมชุดของคนเลี้ยงแกะเรียกแกะ แต่แกะไม่ตอบสนอง. พวกมันไม่รู้จักเสียงของเขา. แต่พอคนเลี้ยงแกะเรียกแกะ แม้เขาจะไม่ได้สวมชุดที่ดูเหมือนคนเลี้ยงแกะก็ตาม พวกมันมาหาทันที. ดังนั้น แม้คนใดคนหนึ่งอาจจะมองดูเหมือนคนเลี้ยงแกะ แต่สำหรับพวกแกะแล้ว นั่นไม่ได้พิสูจน์ว่าเขาเป็นผู้เลี้ยงแกะจริง ๆ. ที่แท้แล้ว ก็เหมือนกับว่าแกะตรวจสอบเสียงของผู้ที่เรียกมัน โดยเปรียบเทียบเสียงนั้นกับเสียงของผู้เลี้ยงแกะ. พระคำของพระเจ้าบอกให้เราทำอย่างเดียวกันนั้น นั่นคือ “ตรวจดูว่าถ้อยคำเหล่านั้นมาจากพระเจ้าหรือไม่.” (1 โยฮัน 4:1, ล.ม.; 2 ติโมเธียว 1:13) เราจะทำอย่างนั้นได้โดยวิธีใด?
17. (ก) เรารู้จักคุ้นเคยพระสุรเสียงของพระยะโฮวาได้โดยวิธีใด? (ข) ความรู้เกี่ยวกับพระยะโฮวาจะช่วยให้เราสามารถทำอะไรได้?
17 ดังที่คาดหมายได้ ยิ่งเรารู้จักเสียงหรือข่าวสารของพระยะโฮวาดีขึ้นเท่าไร เราก็ยิ่งสามารถจับเสียงของคนแปลกหน้าได้ง่ายขึ้นเท่านั้น. คัมภีร์ไบเบิลบอกให้ทราบถึงวิธีที่เราจะเพิ่มพูนความรู้ดังกล่าว. พระคัมภีร์กล่าวว่า “หูของเจ้าก็จะได้ยินเสียงแนะมาข้างหลังของเจ้าว่า, ‘ทางนี้แหละ; เดินไปเถอะ!’ ” (ยะซายา 30:21) “เสียง” ข้างหลังเรานั้นมาจากพระคำของพระเจ้า. ทุกครั้งที่เราอ่านพระคำของพระเจ้า ก็ประหนึ่งว่าเราได้ยินพระสุรเสียงของพระยะโฮวา ผู้เลี้ยงแกะองค์ยิ่งใหญ่ของเรา. (บทเพลงสรรเสริญ 23:1) เพราะฉะนั้น ยิ่งเราศึกษาคัมภีร์ไบเบิลมากขึ้นเท่าไร เราก็ยิ่งรู้จักคุ้นเคยกับพระสุรเสียงของพระเจ้ามากขึ้นเท่านั้น. ความรู้อย่างลึกซึ้งเช่นนั้นจะช่วยเราให้จับเสียงคนแปลกหน้าได้ทันที.—ฆะลาเตีย 1:8.
18. (ก) การรู้จักพระสุรเสียงของพระยะโฮวาเกี่ยวข้องกับอะไร? (ข) ตามที่กล่าวในมัดธาย 17:5 ทำไมเราควรเชื่อฟังเสียงของพระเยซู?
18 การรู้จักพระสุรเสียงของพระยะโฮวายังเกี่ยวข้องกับอะไรอีก? นอกจากการได้ยินแล้ว ยังเกี่ยวข้องกับการเชื่อฟังด้วย. ขอสังเกตที่ยะซายา 30:21 อีกครั้ง. พระคำของพระเจ้าบอกว่า “ทางนี้แหละ.” ถูกแล้ว โดยการศึกษาคัมภีร์ไบเบิล เราได้ยินเสียงการชี้บอกทางจากพระยะโฮวา. จากนั้น พระองค์บัญชาว่า “เดินไปเถอะ!” พระยะโฮวาประสงค์ให้เราทำตามสิ่งที่เราได้ยิน. ฉะนั้น โดยการนำสิ่งที่เราเรียนรู้ไปปฏิบัติ เราแสดงว่าเราไม่เพียงแต่ได้ยินพระสุรเสียงของพระองค์ แต่เราเชื่อฟังด้วย. (พระบัญญัติ 28:1) การเชื่อฟังพระสุรเสียงของพระยะโฮวายังรวมไปถึงการเชื่อฟังเสียงของพระเยซู เนื่องจากพระยะโฮวาบัญชาให้เราทำเช่นนั้น. (มัดธาย 17:5) พระเยซูผู้เลี้ยงแกะที่ดีบอกให้เราทำอะไร? พระองค์สอนเราให้ทำคนเป็นสาวก และให้วางใจ “ทาสสัตย์ซื่อและสุขุม.” (มัดธาย 24:45, ล.ม.; 28:18-20) การเชื่อฟังเสียงของพระองค์หมายถึงชีวิตนิรันดร์สำหรับเรา.—กิจการ 3:23.
‘แกะจะหนีไปจากเขา’
19. เราควรแสดงปฏิกิริยาเช่นไรต่อเสียงของคนแปลกหน้า?
19 ถ้าอย่างนั้น เราควรมีปฏิกิริยาเช่นไรต่อเสียงของคนแปลกหน้า? ก็ทำอย่างที่พวกแกะทำ. พระเยซูตรัสว่า “แกะจะไม่ตามคนแปลกหน้าเลย แต่จะหนีจากเขา.” (โยฮัน 10:5, ล.ม.) เราแสดงปฏิกิริยาสองลักษณะ. อย่างแรก เราจะ “ไม่ตามคนแปลกหน้าเลย.” ถูกแล้ว เราปฏิเสธคนแปลกหน้าอย่างเด็ดขาด. ที่จริงคำ “ไม่ . . . เลย” ในภาษากรีกที่ใช้เขียนคัมภีร์ไบเบิล ถ่ายทอดความหมายของการปฏิเสธแบบที่หนักแน่นที่สุดในภาษาดังกล่าว. (มัดธาย 24:35; เฮ็บราย 13:5) อย่างที่สอง เรา “จะหนีจากเขา” หรือหันหนี. นี่เป็นวิธีเดียวที่ถูกต้องในการแสดงปฏิกิริยาต่อคนที่คำสอนของพวกเขาไม่สอดคล้องลงรอยกับพระสุรเสียงของผู้เลี้ยงแกะที่ดี.
20. เราจะแสดงปฏิกิริยาเช่นไรเมื่อเผชิญ (ก) ผู้ออกหากที่ชักจูงให้หลง (ข) การคบหาที่ไม่ดี (ค) รายงานข่าวที่แสดงถึงความมีอคติ?
20 เหตุฉะนั้น เมื่อเราเผชิญผู้ที่แพร่ความคิดที่ออกหาก เราต้องการจะทำอย่างที่พระคำของพระเจ้ากล่าวว่า “จงพิเคราะห์ดูคนเหล่านั้นที่ก่อเหตุวิวาทกันและขัดเคืองกันซึ่งเป็นการผิดจากคำสอนซึ่งท่านทั้งหลายได้เรียนไว้แล้วนั้น จงเมินหน้าจากคนเหล่านั้น.” (โรม 16:17; ติโต 3:10) เช่นเดียวกัน เยาวชนคริสเตียนที่เผชิญอันตรายจากการคบหาที่ไม่ดีปรารถนาจะทำตามคำแนะนำที่เปาโลให้แก่ชายหนุ่มติโมเธียวว่า “จงหนีเสีย จากความปรารถนาซึ่งมักมีในวัยหนุ่มสาว.” และเมื่อเราเผชิญกับข้อกล่าวหาเท็จในสื่อต่าง ๆ เราจะระลึกถึงคำแนะนำที่เปาโลให้แก่ติโมเธียวต่อไปอีกที่ว่า “เขา [คนที่ฟังเสียงของคนแปลกหน้า] จะหันไปยังเรื่องเท็จ. ฝ่ายท่านจงรักษาสติ ในทุกสิ่ง.” (2 ติโมเธียว 2:22; 4:3-5, ล.ม.) ไม่ว่าเสียงของคนแปลกหน้าอาจจะฟังดูหวานหูเพียงไร เราจะหนีจากทุกสิ่งที่จะทำลายความเชื่อของเรา.—บทเพลงสรรเสริญ 26:5; สุภาษิต 7:5, 21; วิวรณ์ 18:2, 4.
21. มีบำเหน็จอะไรคอยท่าบรรดาผู้ที่ปฏิเสธเสียงของคนแปลกหน้า?
21 โดยการปฏิเสธไม่ฟังเสียงของคนแปลกหน้า เหล่าคริสเตียนผู้ได้รับการเจิมด้วยพระวิญญาณตอบสนองต่อคำตรัสของผู้เลี้ยงแกะที่ดีที่กล่าวไว้ในลูกา 12:32. ที่ข้อนั้นพระเยซูตรัสแก่พวกเขาว่า “ฝูงแกะเล็กน้อยเอ๋ย. อย่ากลัวเลย, เพราะว่าพระบิดาของท่านชอบพระทัยจะประทานแผ่นดินนั้นให้แก่ท่าน.” เช่นเดียวกัน “แกะอื่น” คอยท่าด้วยใจจดจ่อที่จะได้ยินคำตรัสของพระเยซูที่ว่า “ท่านทั้งหลายที่ได้รับพระพรจากพระบิดาของเรา จงมารับเอาแผ่นดินซึ่งได้ตระเตรียมไว้สำหรับท่านทั้งหลายตั้งแต่แรกสร้างโลก.” (โยฮัน 10:16; มัดธาย 25:34) ช่างเป็นบำเหน็จอันน่ายินดีอะไรเช่นนั้นที่คอยท่าเราอยู่หากเราปฏิเสธ “เสียงของคนแปลกหน้า”!
คุณจำได้ไหม?
• เพราะเหตุใดคำพรรณนาเกี่ยวกับคนแปลกหน้าที่มีกล่าวถึงในอุปมาของพระเยซูเรื่องคอกแกะนั้นจึงเหมาะกับซาตาน?
• ในทุกวันนี้เสียงของคนแปลกหน้ามีให้ได้ยินโดยทางใดบ้าง?
• เรารู้จักเสียงของคนแปลกหน้าได้อย่างไร?
• เราควรแสดงปฏิกิริยาอย่างไรต่อเสียงของคนแปลกหน้า?
[ภาพหน้า 15]
มาเรียจำพระคริสต์ได้
[ภาพหน้า 16]
คนแปลกหน้าไม่เข้าหาแกะตรง ๆ
[ภาพหน้า 18]
เรามีปฏิกิริยาเช่นไรต่อเสียงของคนแปลกหน้า?