“ความสว่างได้เข้ามาในโลกแล้ว”
“หลักของการพิพากษาก็เป็นอย่างนี้ คือว่าความสว่างได้เข้ามาในโลกแล้ว แต่มนุษย์ได้รักความมืดมากกว่ารักความสว่าง.”—โยฮัน 3:19, ล.ม.
1. ทำไมทุกคนควรสนใจเรื่องการพิพากษาของพระเจ้า?
ผู้คนส่วนใหญ่ทุกวันนี้ไม่สู้จะพะวงนักเกี่ยวกับการพิพากษาของพระเจ้า. บางคนก็ทึกทักเอาว่าพระเจ้าคงจะพิพากษาเขาอย่างเห็นดีเห็นชอบหากเขาไปโบสถ์เป็นประจำ และไม่ก่อความเสียหายแก่เพื่อนบ้าน. สำหรับหลายคน คำสอนของคริสต์ศาสนจักรเรื่องนรกร้อน และเรื่องไฟชำระเป็นเหตุให้เขาไม่เชื่อถือความคิดว่าด้วยการพิพากษาของพระเจ้า. แต่ท่าทีไม่แยแสของคนทั่วไปหรือการโกหกหลอกลวงของคริสต์ศาสนจักรไม่สามารถเปลี่ยนข้อเท็จจริงที่ว่า ในที่สุดมนุษย์ทุกคนจะถูกพระเจ้าพิพากษา. (โรม 14:12; 2 ติโมเธียว 4:1; วิวรณ์ 20:13) และการพิพากษานี้นับว่าสำคัญมากทีเดียว. พวกที่ถูกตัดสินอย่างเห็นดีเห็นชอบก็จะได้รับของประทานคือชีวิตนิรันดร์จากพระเจ้า ส่วนพวกที่ถูกตัดสินอย่างไม่เห็นดีเห็นชอบจะรับค่าจ้างของบาปเต็มอัตราคือความตาย.—โรม 6:23.
2. การพิพากษาของพระเจ้าอาศัยอะไรเป็นหลัก?
2 ดังนั้น บรรดาคริสเตียนแท้ย่อมเอาใจใส่เรื่องการพิพากษาของพระเจ้า และเขาปรารถนาอย่างจริงใจจะกระทำให้ชอบพระทัยพระองค์. เขาทำเช่นนี้ได้อย่างไร? พระเยซูทรงเผยเคล็ดลับแก่เราที่โยฮัน 3:19, (ล.ม.). พระองค์ตรัสว่า “หลักของการพิพากษาก็เป็นอย่างนี้ คือว่าความสว่างได้เข้ามาในโลกแล้ว แต่มนุษย์ได้รักความมืดมากกว่ารักความสว่าง เพราะการของเขาชั่ว.” ใช่แล้ว การพิพากษาของพระเจ้าจะอาศัยหลักที่ว่าตัวเรารักความสว่างมากกว่าความมืดหรือไม่.
“พระเจ้าเป็นความสว่าง”
3. ความมืดคืออะไร และความสว่างคืออะไร?
3 ในความหมายฝ่ายวิญญาณ ความมืดเกี่ยวพันกับความโง่เขลาและความสิ้นหวังซึ่งมีอยู่ในอาณาจักรของซาตาน—แม้ซาตานเองจะแสร้งเป็น “ทูตแห่งความสว่าง” ก็ตาม. (2 โกรินโธ 4:4; 11:14; เอเฟโซ 6:12) อีกด้านหนึ่ง ความสว่างเกี่ยวพันกับความเข้าใจและการได้รับความสว่างซึ่งมาจากพระเจ้ายะโฮวา. เปาโลได้พูดถึงความสว่างเมื่อท่านเขียนว่า “เพราะว่าพระเจ้าองค์นั้นผู้ได้ตรัสสั่งให้ความสว่างออกจากความมืดได้ทรงส่องสว่างเข้าในใจของเรา เพื่อเราจะได้มีความสว่างแห่งความรู้ถึงสง่าราศีของพระเจ้าปรากฏในพระพักตร์พระคริสต์.” (2 โกรินโธ 4:6) ความสว่างฝ่ายวิญญาณถูกนำเข้ามาเกี่ยวข้องอย่างใกล้ชิดกับพระยะโฮวาพระเจ้าถึงขนาดอัครสาวกโยฮันจึงเขียนดังนี้: “พระเจ้าเป็นความสว่าง.”—1 โยฮัน 1:5; วิวรณ์ 22:5.
4. (ก) โดยวิธีใดพระยะโฮวาทรงจัดเตรียมเพื่อจะพบความสว่างได้? (ข) โดยวิธีใดเราจะสำแดงให้ปรากฏว่าเรารักความสว่าง?
4 พระยะโฮวาทรงบันดาลให้ความสว่างมีอยู่พร้อมโดยทางพระวจนะของพระองค์ ซึ่งทุกวันนี้หาพบได้ง่ายและสะดวกในรูปลักษณ์หนังสือคือคัมภีร์ไบเบิล. (บทเพลงสรรเสริญ 119:105; 2 เปโตร 1:19) ด้วยเหตุนี้ ผู้ประพันธ์บทเพลงสรรเสริญโดยแท้แล้วได้กล่าวแสดงความรักที่ท่านมีต่อความสว่างเมื่อท่านเขียนว่า “ข้าพเจ้ารักพระนามพระองค์มากสักเท่าใด! เป็นข้อภาวนาของข้าพเจ้าวันยังค่ำ. จิตใจของข้าพเจ้าได้ถือตามข้อปฏิญาณของพระองค์ และข้าพเจ้ารักข้อเหล่านั้นเป็นอย่างยิ่ง.” (บทเพลงสรรเสริญ 119:97, 167) คุณรักความสว่างมากเท่ากับผู้ประพันธ์บทเพลงสรรเสริญ ซึ่งได้แสดงความรู้สึกอย่างโจ่งแจ้งเช่นนั้นไหม? คุณอ่านพระวจนะของพระเจ้าเป็นประจำ ใคร่ครวญสิ่งที่คุณอ่าน และพยายามจะใช้สิ่งที่พระวจนะกล่าวไว้ให้เป็นประโยชน์ไหม? (บทเพลงสรรเสริญ 1:1-3) หากคุณทำอยู่แล้ว คุณก็กำลังแสวงหาเพื่อได้รับการพิพากษาอย่างที่เห็นดีเห็นชอบจากพระยะโฮวา.
“เราเป็นความสว่างของโลก”
5. ความสว่างของพระเจ้ารวมจุดอยู่ที่ผู้ใด?
5 ความสว่างจากพระยะโฮวาที่ให้ชีวิตรวมจุดอยู่ที่พระเยซูคริสต์. ตอนต้น ๆ ของกิตติคุณที่เขียนโดยโยฮัน เราอ่านดังนี้: “โดยทางพระองค์ [พระเยซู] คือชีวิต และชีวิตนั้นเป็นความสว่างของมนุษย์. และความสว่างส่องแสงในความมืด แต่ความมืดนั้นหาชนะความสว่างได้ไม่.” (โยฮัน 1:4, 5, ล.ม.) แท้จริง พระเยซูเกี่ยวพันใกล้ชิดกับความสว่างนั้น จนพระองค์ได้รับฉายาว่า “ความสว่างแท้ซึ่งให้ความสว่างแก่คนทุกชนิด.” (โยฮัน 1:9, ล.ม.) พระเยซูเองได้ตรัสว่า “ตราบใดที่เรายังอยู่ในโลก เราก็เป็นความสว่างของโลกตราบนั้น.”—โยฮัน 9:5, ล.ม.
6. คนเราต้องทำประการใด เพื่อจะถูกพิพากษาอย่างเห็นดีเห็นชอบซึ่งจะนำไปสู่ชีวิตนิรันดร์?
6 เพราะฉะนั้น ผู้ที่รักความสว่างก็รักพระเยซูและเชื่อถือพระองค์. เป็นไปไม่ได้ที่จะถูกพิพากษาอย่างเห็นดีเห็นชอบ หากไม่อ้างถึงพระเยซู. ใช่แล้ว เฉพาะเมื่อเราหมายพึ่งพระองค์ฐานะเป็นผู้ได้รับการแต่งตั้งจากพระเจ้าให้เตรียมการเพื่อความรอด เราจะมีหวังจะได้รับการพิพากษาอย่างเห็นดีเห็นชอบ. พระเยซูตรัสว่า “ผู้ที่แสดงความเชื่อในพระบุตรก็มีชีวิตนิรันดร์ ผู้ที่ไม่เชื่อฟังพระบุตรจะไม่เห็นชีวิต แต่พระพิโรธของพระเจ้าคงอยู่กับผู้นั้นตลอดไป.” (โยฮัน 3:36, ล.ม.) แต่ว่า การแสดงความเชื่อในพระเยซูหมายถึงอะไร?
7. ความเชื่อในพระเยซูหมายถึงความเชื่อในผู้ใดอีก?
7 ประการแรก พระเยซูเองตรัสว่า “ผู้ที่วางใจในเรา หาได้วางใจในเราเท่านั้นไม่ แต่วางใจในพระองค์นั้นด้วยผู้ทรงใช้เรามา และผู้ที่เห็นเราก็เห็นพระองค์ผู้ที่ทรงใช้เรามา. เราได้เข้าในโลกฐานะเป็นความสว่าง เพื่อทุกคนที่วางใจในเราจะมิได้อยู่ในความมืด.” (โยฮัน 12:44-46, ล.ม.) ผู้ที่รักพระเยซูและแสดงความเชื่อในพระองค์ต้องมีความรักอย่างลึกซึ้งต่อพระเจ้าและมีความเชื่อในพระเจ้ายะโฮวา พระบิดาของพระเยซูเช่นเดียวกัน. (มัดธาย 22:37; โยฮัน 20:17) ใครก็ตามซึ่งใช้พระนามพระเยซูในการนมัสการแต่ขาดการถวายเกียรติยศอันเลอเลิศกว่านั้นแด่พระยะโฮวา เขาก็หาได้แสดงความรักต่อความสว่างอย่างแท้จริงไม่.—บทเพลงสรรเสริญ 22:27; โรม 14:7, 8; ฟิลิปปอย 2:10, 11.
“ผู้นำองค์เอก” ที่มาจากพระเจ้า
8. ความสว่างของพระเจ้ารวมจุดอยู่ที่พระเยซูอย่างไรแม้แต่ก่อนพระเยซูประสูติเป็นมนุษย์?
8 อีกประการหนึ่ง การแสดงความเชื่อในพระเยซูหมายถึงการรับรองบทบาทของพระองค์อันเกี่ยวข้องกับพระประสงค์ของพระยะโฮวาอย่างเต็มที่. ความสำคัญแห่งบทบาทนี้ได้รับการเน้นตอนที่ทูตของพระเจ้ากล่าวแก่โยฮันดังนี้: “การเป็นพยานถึงพระเยซูกระตุ้นการกล่าวพยากรณ์.” (วิวรณ์ 19:10, ล.ม.; กิจการ 10:43; 2 โกรินโธ 1:20) นับตั้งแต่คำพยากรณ์แรกในสวนเอเดน คำพยากรณ์ทุกตอนโดยการดลบันดาลจากพระเจ้าล้วนมีส่วนเกี่ยวโยงถึงพระเยซูและตำแหน่งของพระองค์ในการดำเนินงานให้ลุล่วงตามพระประสงค์ของพระเจ้า. ทำนองเดียวกัน เปาโลบอกคริสเตียนที่เมืองฆะลาเตียว่าพระบัญญัติแห่งคำสัญญาไมตรีเป็น “ครูสอนนำมาถึงพระคริสต์.” (ฆะลาเตีย 3:24) คำสัญญาไมตรีแห่งพระบัญญัติในสมัยโบราณถูกกำหนดไว้เพื่อเตรียมชนชาตินั้นสำหรับการเสด็จมาของพระเยซูฐานะเป็นมาซีฮา. ดังนั้น แม้ก่อนพระองค์กำเนิดเป็นมนุษย์ ความสว่างจากพระยะโฮวาได้รวมจุดอยู่ที่พระเยซูอยู่แล้ว.
9. การรักความสว่างรวมถึงอะไรตั้งแต่ปีสากลศักราช 33?
9 ในปีสากลศักราช 29 พระเยซูทรงเสนอพระองค์เองเพื่อรับบัพติสมา แล้วได้รับการเจิมด้วยพระวิญญาณบริสุทธิ์ พระองค์จึงได้เป็นมาซีฮาตามคำสัญญา. ในปีสากลศักราช 33 พระองค์สิ้นพระชนม์ฐานะเป็นมนุษย์ที่สมบูรณ์ แล้วถูกปลุกคืนพระชนม์ เสด็จสู่สวรรค์ และที่นั้นเองพระองค์ทรงเสนอคุณค่าแห่งชีวิตที่ได้สละเพื่อไถ่บาปพวกเรา. (เฮ็บราย 9:11-14, 24) เหตุการณ์ต่าง ๆ ต่อเนื่องกันเช่นนี้หมายถึงการเปลี่ยนวิธีดำเนินงานของพระเจ้ากับมนุษย์. บัดนี้ พระเยซูทรงเป็น “ผู้เป็นเจ้าชีวิต” ‘นายแห่งความรอด’ “ผู้นำองค์เอกและเป็นผู้ปรับปรุงความเชื่อของเราให้สมบูรณ์พร้อมทุกประการ.” (กิจการ 3:15; เฮ็บราย 2:10; 12:2, ล.ม.; โรม 3:23, 24) ตั้งแต่ปีสากลศักราช 33 เป็นต้นมา ผู้รับความสว่างได้ยอมรับและรับรองว่า นอกจากพระเยซู “ในผู้อื่นความรอดไม่มีเลย ด้วยว่านามอื่นซึ่งเป็นที่รอดแก่เราทั้งหลายไม่ทรงโปรดให้มีในท่ามกลางมนุษย์ทั่วใต้ฟ้า.”—กิจการ 4:12.
10. ทำไมเป็นสิ่งสำคัญมากที่จะฟังถ้อยคำของพระเยซูและปฏิบัติตาม?
10 อนึ่ง การแสดงความเชื่อในพระเยซูหมายถึงการรับรองพระองค์เป็น “พระคำ” และ “ที่ปรึกษามหัศจรรย์.” (โยฮัน 1:1; ยะซายา 9:6) สิ่งใด ๆ ที่พระเยซูตรัสย่อมสะท้อนถึงความจริงของพระเจ้าเสมอ. (โยฮัน 8:28; วิวรณ์ 1:1, 2) การเชื่อฟังพระองค์หมายถึงชีวิตหรือไม่ก็ความตาย. พระเยซูทรงกล่าวแก่คนยิวสมัยเดียวกันกับพระองค์ว่า “ผู้ใดที่ฟังคำของเราและเชื่อในพระองค์ผู้ทรงใช้เรามา ผู้นั้นก็มีชีวิตนิรันดร์และจะมิได้เข้าสู่การพิพากษา แต่ได้ผ่านจากความตายเข้าสู่ชีวิตแล้ว.” (โยฮัน 5:24, ล.ม.) ในศตวรรษแรก ผู้ที่ปฏิบัติตามถ้อยคำของพระเยซูได้รับการช่วยให้หลุดพ้นจากความมืดของโลกของซาตานเสมือนเข้ามาสู่ชีวิต. พวกเขาได้รับการประกาศเป็นคนชอบธรรมด้วยคำนึงถึงการเป็นทายาทร่วมกับพระองค์ในราชอาณาจักรของพระองค์ทางภาคสวรรค์. (เอเฟโซ 1:1; 2:1, 4–7) ทุกวันนี้ การเชื่อฟังถ้อยแถลงของพระเยซูเปิดทางให้หลายคนได้รับการประกาศเป็นผู้ชอบธรรมพร้อมด้วยความหวังจะได้ผ่านอาร์มาเก็ดดอนและบรรลุชีวิตเป็นมนุษย์สมบูรณ์ในโลกใหม่.—วิวรณ์ 21:1-4; เปรียบเทียบยาโกโบ 2:21, 25.
“ประมุขเหนือสิ่งสารพัด”
11. อำนาจสูงส่งอะไรซึ่งทรงมอบแก่พระเยซูในปีสากลศักราช 33?
11 ภายหลังการคืนพระชนม์ของพระเยซู พระองค์ทรงเผยให้สาวกของพระองค์ทราบอีกแง่มุมหนึ่งแห่งความสว่าง. พระองค์ตรัสว่า “อำนาจทั้งสิ้นได้มอบให้กับเราแล้ว ทั้งในสวรรค์และบนแผ่นดินโลก.” (มัดธาย 28:18, ล.ม.) พระเยซูจึงรับการยกชูสู่ตำแหน่งสูงเยี่ยมในสากลองค์การของพระยะโฮวา. เปาโลได้ให้รายละเอียดเพิ่มต่อไปเมื่อพระองค์ตรัสว่า “[พระเจ้า] ทรงบันดาลให้พระองค์ [พระเยซู] เป็นขึ้นจากตายและให้สถิตเบื้องขวาพระหัตถ์ของพระองค์ในสวรรค์สถาน ซึ่งสูงยิ่งเหนือการปกครอง เหนืออำนาจ เหนือฤทธิ์ เหนืออานุภาพและเหนือนามชื่อทั้งปวงที่เขาเอ่ยขึ้น มิใช่ในสมัยนี้เท่านั้นแต่ในอนาคตด้วย. พระองค์ได้ทรงปราบสิ่งสารพัดทั้งปวงลงไว้ใต้พระบาทของพระองค์ และได้ทรงตั้งพระองค์ไว้เป็นประมุขเหนือสิ่งสารพัดแห่งคริสต์จักร [ประชาคม] ซึ่งเป็นพระกายของพระองค์.” (เอเฟโซ 1:20-23; ฟิลิปปอย 2:9-11) นับตั้งแต่ปีสากลศักราช 33 การรักความสว่างหมายรวมถึงการยอมรับตำแหน่งอันสูงส่งนี้ของพระเยซู.
12. คริสเตียนผู้ถูกเจิมเต็มใจยินดีรับรองสิ่งใดตั้งแต่ต้น และพวกเขาได้แสดงให้เห็นอย่างไรในแนวทางที่ใช้ได้ผลจริง?
12 ในที่สุด มวลมนุษยชาติจะต้องยอมรับอำนาจของพระเยซู. (มัดธาย 24:30; วิวรณ์ 1:7) อย่างไรก็ดี ผู้รักความสว่างได้รับรองอำนาจนี้ด้วยความเบิกบานยินดีตั้งแต่เริ่มต้นทีเดียว. สมาชิกผู้ถูกเจิมแห่งประชาคมคริสเตียนรับรองพระเยซูเป็น “ศีรษะของกายคือประชาคมนั้น.” (โกโลซาย 1:18; เอเฟโซ 5:23) เมื่อคนเหล่านั้นเข้ามาเป็นส่วนแห่งพระกาย พวกเขา ‘ได้พ้นจากอำนาจแห่งความมืดและถูกย้ายเข้าในราชอาณาจักรแห่งพระบุตรที่รักของพระเจ้า.’ (โกโลซาย 1:13) ตั้งแต่นั้นเรื่อยมา พวกเขาตั้งใจแน่วแน่จะติดตามพระเยซูผู้นำของเขาในทุกแง่มุมแห่งชีวิต และในสมัยของเรา คนเหล่านี้ได้สั่งสอน “แกะอื่น” ให้ทำเช่นเดียวกัน. (โยฮัน 10:16) การยอมรับฐานะประมุขของพระเยซูเป็นข้อเรียกร้องสำคัญเพื่อจะถูกพิพากษาอย่างเห็นดีเห็นชอบ.
13. พระเยซูเริ่มใช้อำนาจปกครองราชอาณาจักรเมื่อไร และได้เกิดอะไรขึ้นทางแผ่นดินโลกหลังจากนั้น?
13 เมื่อพระเยซูเสด็จสู่สวรรค์ในปีสากลศักราช 33 พระองค์ยังไม่ได้ใช้อำนาจของพระองค์เต็มที่ในทันที. แม้ว่าเป็นประมุขประชาคมคริสเตียน แต่พระองค์ทรงรออยู่จนกว่าจะถึงเวลาอันควรแก่การใช้อำนาจเต็มที่ปกครองมนุษย์โดยทั่วไป. (บทเพลงสรรเสริญ 110:1; กิจการ 2:33-35) เวลานั้นมาถึงเมื่อปีสากลศักราช 1914 เมื่อพระเยซูทรงขึ้นครองราชย์ฐานะเป็นกษัตริย์ในราชอาณาจักรของพระเจ้า และ “สมัยสุดท้าย” สำหรับโลกนี้ได้เริ่มต้น. (2 ติโมเธียว 3:1) ตั้งแต่ปี 1919 การรวบรวมผู้ถูกเจิมที่เหลืออยู่ก็ยังคงดำเนินต่อไปกระทั่งครบจำนวน. โดยเฉพาะนับจากปี 1935 พระเยซูทรงทำการแยกมนุษย์ออกจากกัน เป็น “แกะ” ที่จะได้อยู่ใน “ราชอาณาจักรซึ่งตระเตรียมไว้ [เพื่อเขา]” และ “แพะ” ที่จะ “ถูกตัดขาดเป็นนิตย์.”—มัดธาย 25:31-34, 41, 46, ล.ม.
14. ชนฝูงใหญ่ได้แสดงให้ปรากฏโดยวิธีใดว่าเขารักความสว่าง และจะบังเกิดผลประการใดแก่พวกเขา?
14 น่าชื่นใจจริง ๆ ปรากฏว่ามีแกะจำนวนมหาศาลในสมัยสุดท้ายนี้. ชนฝูงใหญ่ที่นับหลายล้านคนได้ออกมา “จากทุกประเทศทุกชาติและทุกภาษา.” เช่นเดียวกับสหายของเขา จำพวกผู้ถูกเจิม คนเหล่านี้ที่เปรียบเสมือนแกะรักความสว่าง. พวกเขาได้ “ชำระเสื้อยาวของเขาและทำให้ขาวในพระโลหิตของพระเมษโปดก” และเขาร้องเสียงดังว่า “ความรอดนั้นเราได้เนื่องมาจากพระเจ้าของเรา ผู้ประทับบนพระที่นั่ง และเนื่องมาจากพระเมษโปดก.” เพราะเหตุนี้ ชนฝูงใหญ่ฐานะเป็นกลุ่มจะถูกพิพากษาอย่างที่เห็นดีเห็นชอบ. บุคคลกลุ่มนี้ “คือผู้ที่ออกมาจากความทุกข์ลำบากครั้งใหญ่” จะรอดผ่านความพินาศคราวอาร์มาเก็ดดอนซึ่งทำลายคนเหล่านั้นผู้รักความมืด.—วิวรณ์ 7:9, 10, 14.
“ลูกของความสว่าง”
15. การกระทำของเราแสดงให้เห็นในทางใดบ้างว่าเรายอมเชื่อฟังพระมหากษัตริย์เยซูคริสต์?
15 แต่โดยการปฏิบัติอย่างไรซึ่งผู้รักความสว่าง ไม่ว่าชนผู้ถูกเจิมหรือแกะอื่นพึงยอมตัวเชื่อฟังพระเยซูฐานะผู้ที่พระเจ้าทรงสถาปนาให้ครองราชย์และมอบอำนาจการพิพากษาไว้กับพระองค์? ทางหนึ่งคือโดยการตั้งใจเป็นบุคคลอย่างที่พระเยซูทรงพอพระทัย. ขณะอยู่บนแผ่นดินโลก พระเยซูทรงแสดงความพึงพอใจกับคุณลักษณะหลายประการ เช่น ความจริงใจ ความเต็มใจ และความกระตือรือร้นต่อความจริง และพระองค์เองได้ทรงเป็นตัวอย่างแสดงคุณลักษณะต่าง ๆ เหล่านี้. (มาระโก 12:28-34, 41–44; ลูกา 10:17, 21) หากเราปรารถนาจะถูกพิพากษาอย่างที่เห็นดีเห็นชอบ เราจำต้องพัฒนาคุณลักษณะดังกล่าว.
16. ทำไมจึงเป็นสิ่งจำเป็นที่ต้องเลิกการงานของความมืด?
16 เรื่องนี้เป็นความจริงโดยเฉพาะเนื่องจากความมืดแห่งโลกของซาตานหนาทึบยิ่งขึ้นขณะอวสานใกล้เข้ามา. (วิวรณ์ 16:10) ดังนั้น สิ่งที่เปาโลเขียนถึงคริสเตียนชาวโรมันจึงเหมาะสมอย่างยิ่งที่ว่า “กลางคืนก็ล่วงไป และรุ่งเช้าก็ใกล้เข้ามาแล้ว. เราทั้งหลายจงปลดเปลื้องการของความมืด และจงประดับกายด้วยเครื่องอาวุธอันสมกับความสว่าง. เราทั้งหลายจงประพฤติให้สมกับเวลากลางวัน มิใช่ในการเลี้ยงเฮฮาเสพสุราเมากัน มิใช่ในการเล่นลามก มิใช่ในการวิวาทริษยากัน.” (โรม 13:12, 13) ในเมื่อชีวิตนิรันดรเป็นของประทานจากพระเจ้า การกระทำของเราย่อมแสดงว่าเรามีความเชื่อและความรักต่อความสว่างอย่างแท้จริง. (ยาโกโบ 2:26) ดังนั้น การพิพากษาที่เราจะได้รับนั้น ส่วนใหญ่จะขึ้นอยู่กับการประพฤติของเราว่า เราปฏิบัติการดีและหลบหลีกจากความชั่วมากน้อยเท่าไร.
17. ที่จะ “ประดับตัวด้วยพระเยซูคริสต์เจ้า” นั้นหมายความอย่างไร?
17 หลังจากให้คำแนะนำที่โรม 13:12, 13 แล้ว อัครสาวกเปาโลกล่าวสรุปว่า “จงประดับตัวด้วยพระเยซูคริสต์เจ้า และอย่าจัดเตรียมอะไรไว้บำเรอเนื้อหนัง.” (โรม 13:14) ที่ว่า “จงประดับตัวด้วยพระเยซูคริสต์เจ้า” หมายถึงอะไร? หมายความว่า คริสเตียนควรติดตามพระเยซูอย่างใกล้ชิด ประดับตัวด้วยการทำตามตัวอย่างของพระองค์ และมีน้ำใจเหมือนพระองค์และพยายามประพฤติเหมือนพระคริสต์. เปโตรกล่าวดังนี้: “ท่านทั้งหลายถูกเรียกไว้สำหรับแนวทางนี้ เพราะแม้แต่พระคริสต์ได้ทรงทนทุกข์ทรมานเพื่อท่านทั้งหลาย ทรงวางแบบอย่างไว้ให้ท่าน เพื่อท่านจะได้ดำเนินตามรอยพระบาทของพระองค์อย่างใกล้ชิด.”—1 เปโตร 2:21, ล.ม.
18. จำเป็นต้องเปลี่ยนแปลงอะไรอย่างถอนรากถ้าเราปรารถนาจะถูกพิพากษาอย่างเห็นดีเห็นชอบ?
18 บ่อยครั้งการกระทำเช่นนี้หมายถึงการเปลี่ยนแปลงวิถีชีวิตคริสเตียนอย่างถอนรากทีเดียว. เปาโลบอกว่า “เพราะว่าเมื่อก่อนท่านทั้งหลายเป็นความมืด แต่บัดนี้ท่านเป็นความสว่างแล้วในองค์พระผู้เป็นเจ้า. จงประพฤติอย่างลูกของความสว่าง. ด้วยว่าผลของความสว่างนั้นคือความดีทุกอย่างและความชอบธรรมและความจริง.” (เอเฟโซ 5:8, 9) ใครก็ตามที่กระทำการของความมืด ไม่ใช่ผู้รักความสว่าง และจะถูกพิพากษาอย่างไม่เห็นดีเห็นชอบ เว้นเสียแต่ว่าผู้นั้นจะเปลี่ยนแปลง.
“ท่านทั้งหลายเป็นความสว่างของโลก”
19. คริสเตียนสามารถสะท้อนความสว่างออกไปได้ในทางใดบ้าง?
19 ประการสุดท้าย การรักความสว่างหมายถึงการสะท้อนความสว่างออกไปเพื่อคนอื่นสามารถมองเห็นและถูกดึงดูดใจเข้าหาความสว่าง. พระเยซูตรัสว่า “ท่านทั้งหลายเป็นความสว่างของโลก” และตรัสต่อไปว่า “ให้ความสว่างของท่านส่องไปต่อหน้าคนทั้งปวงเพื่อเขาจะได้เห็นการดีของท่านและจะได้สรรเสริญพระบิดาของท่านผู้อยู่ในสวรรค์.” (มัดธาย 5:14, 16) การดีของคริสเตียนรวมไปถึงการสำแดงความดีและความชอบธรรมและความจริงทุกอย่าง เนื่องจากการดีเช่นนั้นจึงเป็นคำพยานถึงความจริงได้อย่างมีพลัง. (ฆะลาเตีย 6:10; 1 เปโตร 3:1) โดยเฉพาะอย่างยิ่ง คริสเตียนจะรวมเอาการพูดคุยเรื่องความจริงกับผู้อื่นด้วย. ทุกวันนี้นั่นหมายถึงการร่วมรณรงค์ทำงานประกาศสั่งสอน “ข่าวดีแห่งราชอาณาจักร . . . ทั่วแผ่นดินโลกที่มีคนอาศัยอยู่เพื่อให้คำพยานแก่ทุกชาติ.” นอกจากนั้น ยังหมายถึงการใช้ความอุตสาหะพากเพียรกลับเยี่ยมเพื่อนำการศึกษากับคนที่แสดงความสนใจ ช่วยเหลือเขา เพื่อเขาจะกระทำการซึ่งเป็นของความสว่าง.—มัดธาย 24:14; 28:19, 20.
20. (ก) ความสว่างส่องออกไปทุกวันนี้เจิดจ้าเพียงใด? (ข) พระพรอุดมซึ่งผู้ที่ตอบรับเอาความสว่างได้รับนั้นมีอะไรบ้าง?
20 ในสมัยของเรา เพราะกิจกรรมการประกาศสั่งสอนอย่างกระตือรือร้นของคริสเตียนที่ซื่อสัตย์นี้เอง ข่าวดีจึงได้รับการประกาศอย่างกว้างขวางไปถึงดินแดนต่าง ๆ กว่า 200 ดินแดน และความสว่างก็กำลังส่องออกไปอย่างไม่เคยมีมาก่อน. พระเยซูตรัสว่า “เราเป็นความสว่างของโลก ผู้ที่ตามเรามาจะไม่เดินในความมืด แต่จะมีความสว่างแห่งชีวิต.” (โยฮัน 8:12, ล.ม.) ช่างน่ายินดีเสียนี่กระไรที่จะร่วมในความสำเร็จเป็นจริงของคำสัญญานี้! ชีวิตของเราขณะนี้มีความอิ่มเอิบมากขึ้นเมื่อเราไม่ได้อ่อนเปลี้ยเซื่องซึมอยู่ในโลกมืดของซาตาน. และความหวังของเราก็ดีวิเศษจริง ๆ ขณะที่เรากำลังคอยการพิพากษาอย่างเห็นดีเห็นชอบจากผู้พิพากษาที่พระยะโฮวาทรงแต่งตั้งขึ้น. (2 ติโมเธียว 4:8) ช่างจะเป็นความหายนะเพียงไรถ้าเราเข้ามาถึงความสว่างแล้วแต่ถอยกลับไปสู่ความมืด แล้วถูกพิพากษาอย่างที่ไม่เห็นดีเห็นชอบ! ในบทความต่อไป เราจะพิจารณาว่าเราพึงทำอย่างไรเพื่อจะตั้งมั่นคงในความเชื่อต่อ ๆ ไป.
คุณอธิบายได้ไหม?
▫ อะไรเป็นพื้นฐานสำหรับการพิพากษาของพระเจ้า?
▫ พระเยซูทรงมีบทบาทสำคัญอะไรเกี่ยวข้องกับพระประสงค์ของพระเจ้า?
▫ เราแสดงอย่างไรว่าเรายอมอยู่ใต้อำนาจพระเยซูผู้ซึ่งพระเจ้าทรงสถาปนาให้เป็นกษัตริย์ครองราชย์?
▫ เราจะพิสูจน์ตัวเองอย่างไรว่าเราเป็น “ลูกของความสว่าง”?
▫ ท่ามกลางความมืดของโลกนี้ ความสว่างกำลังส่องออกไปอย่างไม่เคยมีมาก่อนในทางใด?
[รูปภาพหน้า 12]
เราแสดงว่าเรารักความสว่างก็ต่อเมื่อเราสะท้อนความสว่างไปยังคนอื่น