การรักพระเจ้าหมายความอย่างไร?
ประมาณหกพันปีมาแล้ว ทารกคนแรกได้กำเนิดมา. หลังจากเกิดมาแล้ว ฮาวา ผู้เป็นมารดาบอกว่า “ข้าพเจ้าได้บุตรคนนี้เพราะพระยะโฮวาเจ้า.” (เยเนซิศ 4:2) คำแถลงของเธอเผยให้เห็นว่า ถึงแม้ถูกตัดสินลงโทษให้ถึงแก่ความตายอยู่แล้วเนื่องด้วยการขัดขืนก็ตาม ฮาวากับอาดามสามีของเธอก็ยังสำนึกถึงความเป็นพระเจ้าของพระยะโฮวาอยู่. ต่อมา เขาทั้งสองให้กำเนิดบุตรชายคนที่สอง. เด็กชายทั้งสองคนชื่อคายินและเฮเบล.
ขณะที่บุตรชายทั้งสองเติบโตขึ้น เขาคงได้เรียนรู้มากมายอย่างไม่ต้องสงสัยเกี่ยวกับความรักของพระยะโฮวาโดยแค่สำรวจดูสิ่งที่พระองค์ทรงสร้างเท่านั้น. เขาได้เพลิดเพลินกับสีสันที่สวยงามในธรรมชาติและความหลากหลายของสัตว์และพืชนานาพรรณ. พระเจ้าไม่เพียงแต่ประทานชีวิตให้เขาเท่านั้น แต่พระองค์ประทานความสามารถที่จะประสบความเพลิดเพลินในชีวิตให้เขาด้วย.
เขาได้เรียนรู้ว่า บิดามารดาของเขาถูกสร้างให้สมบูรณ์และพระประสงค์ดั้งเดิมของพระยะโฮวาคือ ให้มนุษย์มีชีวิตอยู่ตลอดไป. อาดามและฮาวาคงได้พรรณนาให้เขาฟังถึงสวนเอเดนที่งดงาม และไม่วิธีใดก็วิธีหนึ่งทั้งสองคงต้องอธิบายสาเหตุที่ตนถูกไล่ออกจากบ้านที่เป็นอุทยานเช่นนั้น. คายินและเฮเบลอาจรู้ถึงคำพยากรณ์ของพระเจ้าที่บันทึกในเยเนซิศ 3:15 นั้นด้วย. โดยทางคำพยากรณ์นั้น พระยะโฮวาทรงแสดงให้เห็นพระประสงค์ของพระองค์ที่จะจัดการเรื่องราวให้เรียบร้อยในเวลากำหนดเพื่อผลประโยชน์ของคนเหล่านั้นที่รักพระองค์และพิสูจน์ว่าภักดีต่อพระองค์.
การเรียนรู้เรื่องพระยะโฮวาและคุณลักษณะของพระองค์คงต้องทำให้คายินและเฮเบลเกิดความปรารถนาที่จะได้รับความพอพระทัยจากพระเจ้า. ดังนั้น เขาจึงเข้าเฝ้าพระยะโฮวาโดยการถวายเครื่องบูชาแด่พระองค์. เรื่องราวในคัมภีร์ไบเบิลกล่าวว่า “อยู่มาวันหนึ่งคายินได้นำผลที่เกิดแต่ไร่นามาบูชาถวายพระยะโฮวา. ส่วนเฮเบลนำเครื่องบูชามาด้วย, คือแกะหัวปีกับมันสัตว์.”—เยเนซิศ 4:3, 4.
ความปรารถนาของเขาที่จะได้รับความพอพระทัยจากพระเจ้านั้นวางรากฐานไว้สำหรับสัมพันธภาพกับพระองค์. คายินลงเอยด้วยการขัดขืนพระเจ้า ขณะที่เฮเบลได้รับการกระตุ้นต่อไปจากความรักแท้ต่อพระเจ้า. เฮเบลคงไม่ได้พัฒนาสัมพันธภาพเช่นนั้นกับพระเจ้าเสียเลยนอกจากเขาได้มาซึ่งความรู้เกี่ยวกับบุคลิกของพระยะโฮวาและพระประสงค์ของพระองค์ก่อน.
คุณสามารถรู้จักพระยะโฮวาได้ด้วยเช่นกัน. อาทิเช่น ในคัมภีร์ไบเบิลคุณสามารถเรียนรู้ว่า พระเจ้าทรงเป็นบุคคลจริง ๆ ไม่ใช่เป็นเพียงพลังที่ปราศจากชีวิตซึ่งสร้างสิ่งต่าง ๆ ขึ้นมาโดยบังเอิญเท่านั้น. (เทียบกับโยฮัน 7:28; เฮ็บราย 9:24; วิวรณ์ 4:11.) คัมภีร์ไบเบิลสอนด้วยว่า พระยะโฮวาเป็น “พระเจ้าผู้ทรงเมตตากรุณา, ผู้ทรงอดพระทัยได้นาน, และบริบูรณ์ด้วยความดีและความจริง.”—เอ็กโซโด 34:6.
“การเชื่อฟังก็ประเสริฐกว่าเครื่องบูชา”
ดังที่เรื่องราวเกี่ยวกับคายินและเฮเบลเป็นตัวอย่างให้เห็น การมีความรู้เกี่ยวกับพระเจ้าและความปรารถนาที่จะมีสัมพันธภาพใกล้ชิดกับพระองค์นั้นยังไม่พอ. จริงอยู่ สองคนพี่น้องเข้าเฝ้าพระเจ้าพร้อมกับเครื่องบูชา. กระนั้นก็ตาม “พระยะโฮวาทรงพอพระทัยเฮเบลและเครื่องบูชาของเขานั้น: แต่คายินกับเครื่องบูชาของเขานั้นพระองค์ไม่พอพระทัยจะรับเลย. คายินก็โกรธแค้นนัก, หน้าตึงก้มอยู่.”—เยเนซิศ 4:3-5.
ทำไมพระยะโฮวาทรงปฏิเสธเครื่องบูชาของคายิน? มีอะไรไม่เหมาะสมเกี่ยวกับคุณภาพแห่งเครื่องบูชาของเขาหรือ? พระยะโฮวาทรงขุ่นเคืองเนื่องจากคายินถวาย “ผลที่เกิดแต่ไร่นา” แทนเครื่องบูชาด้วยสัตว์ไหม? นั่นอาจไม่ใช่เหตุผลก็ได้. ภายหลัง พระเจ้าทรงยินดีรับเครื่องบูชาด้วยข้าวและผลไม้อื่น ๆ ในไร่นาจากผู้นมัสการหลายคนของพระองค์. (เลวีติโก 2:1-16) ดูเหมือนว่า มีอะไรบางอย่างที่ไม่เหมาะสมเกี่ยวกับหัวใจของคายิน. พระยะโฮวาทรงสามารถอ่านหัวใจของคายินได้และเตือนเขาว่า “เจ้าโกรธเคืองก้มหน้าอยู่ทำไม? ถ้าเจ้าทำดีก็จะมีหน้าตาอันแจ่มใสมิใช่หรือ? ถ้าเจ้าทำไม่ดีความผิดก็คอยอยู่ที่ประตูจะใคร่ตะครุบเอาตัวเจ้า.”—เยเนซิศ 4:6, 7.
ความรักแท้ต่อพระเจ้าหมายความยิ่งกว่าเพียงการถวายเครื่องบูชา. เพราะเหตุนั้นพระยะโฮวาทรงสนับสนุนคายินให้ “ทำดี.” พระเจ้าทรงประสงค์การเชื่อฟัง. การเชื่อฟังพระเจ้าเช่นนั้นคงได้ช่วยคายินให้สร้างพื้นฐานที่ดีสำหรับสัมพันธภาพอันเปี่ยมด้วยความรักกับพระผู้สร้าง. คัมภีร์ไบเบิลเน้นคุณค่าของการเชื่อฟังด้วยถ้อยคำเหล่านี้: “พระยะโฮวาทรงพอพระทัยในเครื่องเผาบูชาเครื่องถวายเสมอเหมือนกับการเชื่อฟังพระดำรัสของพระองค์หรือ? ดูกรท่าน, การเชื่อฟังก็ประเสริฐกว่าเครื่องบูชา, และการสดับฟังนั้นประเสริฐกว่ามันแกะตัวผู้อีก.”—1 ซามูเอล 15:22.
แนวคิดเช่นนี้ได้มีการกำหนดไว้อย่างเหมาะสมในภายหลังด้วยถ้อยคำใน 1 โยฮัน 5:3 (ล.ม.) ที่ว่า “นี่แหละหมายถึงความรักต่อพระเจ้า คือว่าให้เราปฏิบัติตามบัญญัติของพระองค์; และกระนั้นบัญญัติของพระองค์ไม่เป็นภาระหนัก.” วิธีดีที่สุดที่จะแสดงความรักของเราต่อพระยะโฮวาคือ โดยการยอมตัวอยู่ใต้อำนาจของพระองค์. นี่หมายถึงการเชื่อฟังกฎเกณฑ์ด้านศีลธรรมของคัมภีร์ไบเบิล. (1 โกรินโธ 6:9, 10) นั่นหมายถึงการรักสิ่งที่ดีและเกลียดสิ่งที่ชั่ว.—บทเพลงสรรเสริญ 97:10; 101:3; สุภาษิต 8:13.
การแสดงออกที่สำคัญอย่างหนึ่งเกี่ยวกับความรักของเราต่อพระเจ้านั้นคือ ความรักของเราที่มีต่อเพื่อนบ้าน. คัมภีร์ไบเบิลบอกเราว่า “ถ้าผู้ใดว่า, ‘ข้าพเจ้ารักพระเจ้า’ และใจยังเกลียดชังพี่น้องของตัว. ผู้นั้นเป็นคนพูดมุสา เพราะว่าผู้ที่ไม่รักพี่น้องของตนที่แลเห็นแล้ว, จะรักพระเจ้าที่ยังไม่ได้แลเห็นอย่างไรได้?”—1 โยฮัน 4:20.
ความสนิทสนมกับพระเจ้ามีทางเป็นไปได้
บางคนอาจพูดว่า ‘ฉันนมัสการพระยะโฮวา. ฉันเชื่อฟังกฎหมายของพระองค์. ฉันปฏิบัติกับเพื่อนมนุษย์อย่างเที่ยงธรรม. ฉันทำทุกสิ่งนั้น. ถึงกระนั้นก็ตาม ฉันไม่ได้รู้สึกจริง ๆ ว่าใกล้ชิดกับพระเจ้า. ฉันไม่รู้สึกว่ามีความรักแรงกล้าต่อพระองค์ และนั่นทำให้ฉันรู้สึกว่ามีความผิด.’ บางคนอาจคิดว่า เขาไม่คู่ควรกับการบรรลุถึงสัมพันธภาพที่สนิทสนมกับพระยะโฮวาเช่นนั้น.
หลังจากเกือบ 37 ปีแห่งการรับใช้ที่ได้อุทิศแด่พระยะโฮวา คริสเตียนคนหนึ่งเขียนว่า “หลายครั้งในชีวิตที่ผมรู้สึกว่า ผมค่อนข้างทำแบบขอไปทีในการรับใช้พระยะโฮวา บางทีหัวใจผมไม่ได้อยู่ในงานรับใช้ด้วยซ้ำ. แต่ผมรู้ว่าการรับใช้พระยะโฮวาเป็นสิ่งถูกต้องที่พึงทำ และผมจะไม่ปล่อยตัวให้เลิกรา. อย่างไรก็ตาม ทุกครั้งที่ผมอ่านเรื่องใครบางคนที่บอกว่ามี ‘หัวใจเต็มด้วยความรักต่อพระยะโฮวา’ ผมก็จะฉงนว่า ‘ตัวผมมีอะไรผิดปกติไปหรือเปล่า เนื่องจากผมไม่เคยรู้สึกแบบนั้นเลย?’” เราจะมีความสนิทสนมกับพระเจ้าได้อย่างไร?
เมื่อคุณรักใครสักคนจริง ๆ แล้ว คุณมักคิดถึงคนนั้นบ่อย ๆ. คุณมีความปรารถนาแรงกล้าที่จะอยู่ใกล้ชิดกับเขาเพราะคุณใฝ่ใจในเขา. ยิ่งคุณได้พบเขา, พูดคุยกับเขา, และคิดถึงเขามากเท่าใด ความรักที่คุณมีต่อเขาก็เพิ่มขึ้นมากเท่านั้น. หลักการนี้นำมาใช้ได้ด้วยกับการที่คุณปลูกฝังความรักต่อพระเจ้า.
ที่บทเพลงสรรเสริญ 77:12 ผู้เขียนที่ได้รับการดลใจกล่าวว่า “ข้าพเจ้าจะใคร่ครวญดูบรรดากิจการของพระองค์ด้วย, และจะรำพึงถึงกิจการที่พระองค์ได้ทรงกระทำนั้น.” การคิดรำพึงเป็นสิ่งสำคัญในการปลูกฝังความรักต่อพระเจ้า. นี่เป็นความจริงโดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อคำนึงถึงข้อเท็จจริงที่ว่า พระองค์ไม่ประจักษ์แก่ตา. แต่ยิ่งคุณคิดถึงพระองค์มากเท่าใด พระองค์ก็จะทรงสภาพเป็นอยู่จริงสำหรับคุณมากขึ้นเท่านั้น. เฉพาะแต่โดยคิดรำพึงถึงพระองค์เท่านั้น คุณจึงสามารถพัฒนาสัมพันธภาพที่จริงใจและเต็มด้วยความรักใคร่กับพระองค์—เพราะพระองค์ทรงสภาพเป็นอยู่จริงสำหรับคุณ.
แนวโน้มของคุณที่จะคิดรำพึงอยู่เสมอถึงแนวทางและการปฏิบัติของพระยะโฮวานั้นจะขึ้นอยู่กับการที่คุณรับฟังพระองค์บ่อยเพียงไร. คุณรับฟังโดยการอ่านและศึกษาคัมภีร์ไบเบิล พระคำของพระองค์เป็นประจำ. ผู้ประพันธ์เพลงสรรเสริญกล่าวถึงคนที่มีความสุขว่า “ความยินดีของผู้นั้นอยู่ในพระบัญญัติของพระยะโฮวา; และเขาคิดรำพึงอยู่ในพระธรรมของพระองค์ทั้งกลางวันและกลางคืน.”—บทเพลงสรรเสริญ 1:1, 2.
ปัจจัยสำคัญอีกประการหนึ่งคือ การอธิษฐาน. เพราะเหตุนั้น คัมภีร์ไบเบิลกระตุ้นเตือนเราหลายครั้งให้อธิษฐาน—“ทุกเวลา,” “อุทิศเวลาสำหรับการอธิษฐาน,” “หมั่นอธิษฐานอยู่เสมอ,” “อธิษฐานอย่างไม่ละลด.” (เอเฟโซ 6:18; 1 โกรินโธ 7:5, ล.ม.; โรม 12:12; 1 เธซะโลนิเก 5:17, ล.ม.) การที่เราอธิษฐานถึงพระยะโฮวาไม่ละลดจะทำให้เราเป็นที่รักของพระองค์ และความมั่นใจที่ว่า พระองค์ทรงสดับนั้นจะชักนำเรามาใกล้ชิดกับพระองค์. ผู้ประพันธ์เพลงสรรเสริญได้ยืนยันเรื่องนี้ เมื่อท่านแถลงว่า “ข้าพเจ้ารักพระยะโฮวา, เพราะพระองค์ได้ทรงฟังน้ำเสียงและคำทูลอธิษฐานของข้าพเจ้า. เพราะพระองค์ได้ทรงเงี่ยพระกรรณฟังข้าพเจ้า, เหตุฉะนั้นข้าพเจ้าจะร้องทูลพระองค์ตลอดชีวิตของข้าพเจ้า.”—บทเพลงสรรเสริญ 116:1, 2.
เลียนแบบพระเจ้าแห่งความรัก
พระยะโฮวาทรงดีต่อพวกเรา. เนื่องจากเป็นพระผู้สร้างเอกภพ แน่นอนพระองค์มีหลายสิ่งที่จะคำนึงถึงและเอาพระทัยใส่. ถึงกระนั้น คัมภีร์ไบเบิลบอกเราว่า แม้พระองค์ทรงไว้ซึ่งฐานะสูงส่งก็ตาม พระองค์ก็ยังคงใฝ่พระทัยในมนุษย์ที่พระองค์ทรงสร้างมา. พระองค์ทรงรักเรา. (1 เปโตร 5:6, 7) ผู้ประพันธ์เพลงสรรเสริญยืนยันเรื่องนี้ด้วยถ้อยคำของท่านว่า “ข้าแต่พระยะโฮวา, องค์พระผู้เป็นเจ้าของพวกข้าพเจ้า, พระนามของพระองค์ประเสริฐยิ่งทั่วโลกสักเท่าใด, พระองค์ทรงเปล่งรัศมีในฟ้าสวรรค์ให้ปรากฏแจ้ง. ครั้นข้าพเจ้าพิจารณาท้องฟ้า, ที่เป็นพระหัตถกิจของพระองค์, คือดวงจันทร์กับดวงดาวซึ่งพระองค์ได้ทรงประดิษฐานไว้; มนุษย์เป็นผู้ใดเล่าที่พระองค์ทรงระลึกถึงเขา? หรือพงศ์พันธุ์ของมนุษย์เป็นผู้ใดเล่าที่พระองค์เสด็จมาเยี่ยมเขา?”—บทเพลงสรรเสริญ 8:1, 3, 4.
พระยะโฮวาทรงระลึกถึงมนุษย์ที่ต้องตายนั้นโดยวิธีใด? คัมภีร์ไบเบิลตอบว่า “โดยข้อนี้ความรักของพระเจ้าได้ปรากฏให้เห็นในกรณีของเรา เพราะว่าพระเจ้าได้ส่งพระบุตรผู้ได้รับกำเนิดองค์เดียวของพระองค์เข้ามาในโลกเพื่อเราจะได้ชีวิตโดยทางพระองค์นั้น. ความรักในกรณีนี้คือ ไม่ใช่ว่าเราได้รักพระเจ้า แต่ว่าพระองค์ได้ทรงรักเราและได้ส่งพระบุตรของพระองค์มาเป็นเครื่องบูชาระงับพระพิโรธเพราะบาปของเรา.”—1 โยฮัน 4:9, 10, ล.ม.
เครื่องบูชาระงับพระพิโรธนี้เป็นหลักฐานใหญ่ยิ่งที่สุดเกี่ยวกับความรักของพระเจ้าอย่างไร? ให้เราพิจารณาสิ่งที่ได้เกิดขึ้นในสวนเอเดน. อาดามและฮาวาเผชิญกับการตัดสินใจว่าจะเชื่อฟังกฎหมายของพระยะโฮวาพร้อมกับความหวังที่จะมีชีวิตมนุษย์สมบูรณ์ตลอดไป หรือว่าจะขัดขืนพระยะโฮวาพร้อมกับลงเอยด้วยความตาย. เขาทั้งสองตัดสินใจเลือกที่จะขัดขืน. (เยเนซิศ 3:1-6) ในการทำเช่นนั้น เขาได้ทำให้มวลมนุษยชาติถูกตัดสินลงโทษถึงตายด้วย. (โรม 5:12) โดยพลการเขาทำให้เราสูญเสียโอกาสที่จะตัดสินใจด้วยตัวเอง. ไม่มีใครในพวกเรามีโอกาสที่จะตัดสินใจเองในเรื่องนั้น.
อย่างไรก็ดี พระยะโฮวาทรงระลึกถึงมนุษย์ที่ต้องตายนั้นด้วยความรัก ทรงตระหนักถึงสภาพอับจนของเขา. โดยความตายแบบเสียสละของพระเยซูคริสต์ พระบุตรของพระองค์ พระยะโฮวาได้ทรงจัดเตรียมรากฐานอันถูกต้องตามกฎหมายไว้เพื่อเราแต่ละคนจะเลือกด้วยตัวเองในเรื่องชีวิตหรือความตาย, การเชื่อฟังหรือการขัดขืน. (โยฮัน 3:16) เป็นประหนึ่งว่า พระยะโฮวาทรงให้เรามีโอกาสที่จะได้รับการพิพากษาตามแนวทางที่เราเลือก กล่าวโดยอุปมาแล้ว เป็นโอกาสที่จะกลับไปสู่สวนเอเดน และทำการตัดสินใจด้วยตัวเราเอง. นี่เป็นการสำแดงอันใหญ่ยิ่งที่สุดเกี่ยวกับความรักเท่าที่เคยมีมา.
ขอให้นึกถึงความเจ็บปวดที่พระยะโฮวาทรงทนรับเอาขณะที่ทอดพระเนตรเห็นพระบุตรหัวปีของพระองค์ได้รับการสบประมาท, ถูกทรมาน, และถูกตอกเยี่ยงอาชญากร. และพระเจ้าทรงอดทนเรื่องเหล่านั้นเพื่อเห็นแก่พวกเรา. การที่เราทราบว่าพระยะโฮวาทรงริเริ่มในการแสดงความรักต่อเราก่อนนั้นควรกระตุ้นเราให้รักพระองค์เช่นกัน และเร้าใจเราให้แสวงหาพระองค์. (ยาโกโบ 1:17; 1 โยฮัน 4:19) คัมภีร์ไบเบิลเชิญเราให้ “แสวงหาพระยะโฮวาและพึ่งฤทธิ์เดชของพระองค์; จงแสวงหาพระพักตร์ของพระองค์เป็นนิตย์นิรันดร์. จงระลึกถึงพระราชกิจอันประหลาดซึ่งพระองค์ได้ทรงกระทำนั้น, คือการอัศจรรย์ และคำพิพากษาที่ออกมาจากพระโอษฐ์ของพระองค์.”—บทเพลงสรรเสริญ 105:4, 5.
การมีความผูกพันเป็นส่วนตัวและสัมพันธภาพที่เปี่ยมด้วยความรักกับพระเจ้า การที่จะเป็นมิตรของพระองค์นั้น มิใช่เรื่องที่ไม่ตรงกับความเป็นจริง. นั่นเป็นสิ่งที่บรรลุได้. จริงอยู่ เราไม่สามารถทำให้ความรักของเราที่มีต่อพระเจ้านั้นเสมอเหมือนกับความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์ด้วยกันเสียทีเดียว. ความรักที่เรารู้สึกต่อคู่ชีวิตของเรา, พ่อแม่, พี่ชายน้องชายหรือพี่สาวน้องสาว, ลูก ๆ, หรือเพื่อน ๆ ของเรานั้นต่างกันจากความรักที่เรามีต่อพระเจ้า. (มัดธาย 10:37; 19:29) การรักพระยะโฮวาเกี่ยวข้องกับความเลื่อมใสศรัทธา, การนมัสการ, และการอุทิศตัวต่อพระองค์อย่างไม่มีเงื่อนไข. (พระบัญญัติ 4:24) ไม่มีความสัมพันธ์อื่นใดที่มีนัยดังกล่าว. ถึงกระนั้น เราสามารถพัฒนาความรู้สึกที่แรงกล้าและลึกซึ้งต่อพระเจ้าด้วยท่าทีเคารพ ด้วยความยำเกรงได้.—บทเพลงสรรเสริญ 89:7.
ถึงแม้เป็นคนไม่สมบูรณ์ เช่นเดียวกับคายินและเฮเบล คุณมีศักยภาพที่จะรักพระผู้สร้างของคุณ. คายินได้เลือกทางของเขา เข้าร่วมกับซาตาน และกลายเป็นฆาตกรคนแรกที่เป็นมนุษย์. (1 โยฮัน 3:12) ตรงกันข้าม เฮเบลจะได้รับการระลึกถึงจากพระยะโฮวาฐานะเป็นบุรุษที่มีความเชื่อและความชอบธรรม และจะได้รับบำเหน็จชีวิตในอุทยานที่จะมาถึงนั้น.—เฮ็บราย 11:4.
คุณมีทางเลือกด้วยเช่นกัน. โดยความช่วยเหลือจากพระวิญญาณของพระเจ้าและพระคำของพระองค์ คุณสามารถถึงขั้นรักพระเจ้าได้อย่างแท้จริง ‘ด้วยสุดใจ, สุดจิตของคุณ, และด้วยสิ้นสุดกำลังของคุณ.’ (พระบัญญัติ 6:5) ส่วนพระยะโฮวา พระองค์จะรักคุณอยู่ต่อไป เพราะพระองค์เป็น “ผู้ประทานบำเหน็จให้แก่คนเหล่านั้นที่แสวงหาพระองค์อย่างจริงใจ.”—เฮ็บราย 11:6, ล.ม.
[รูปภาพหน้า 7]
เครื่องบูชาของเฮเบลเป็นที่ยอมรับของพระเจ้า