บท 1
การรักพระเจ้าหมายถึงอะไร?
“การรักพระเจ้าหมายถึงการทำตามพระบัญญัติของพระองค์ และพระบัญญัติของพระองค์ไม่เป็นภาระหนัก.”—1 โยฮัน 5:3.
1, 2. อะไรกระตุ้นคุณให้รักพระยะโฮวาพระเจ้า?
คุณรักพระเจ้าไหม? หากคุณได้อุทิศชีวิตแด่พระยะโฮวาแล้ว แน่นอนคุณคงตอบอย่างหนักแน่นว่า ใช่ และก็เหมาะสมที่ตอบเช่นนั้น! เป็นเรื่องธรรมดาที่เราจะรักพระยะโฮวา. จริง ๆ แล้วความรักที่เรามีต่อพระเจ้าเป็นการตอบสนองความรักที่พระองค์มีต่อเรา. คัมภีร์ไบเบิลอธิบายเรื่องนี้ว่า “แต่เราแสดงความรัก ก็เพราะพระองค์ [พระยะโฮวา] ทรงรักเราก่อน.”—1 โยฮัน 4:19.
2 พระยะโฮวาได้ทรงริเริ่มแสดงความรักต่อเรา. พระองค์ทรงประทานบ้านที่สวยงามบนแผ่นดินโลกให้เรา. พระองค์เอาพระทัยใส่ความจำเป็นของเราทางด้านร่างกายและด้านวัตถุ. (มัดธาย 5:43-48) สำคัญยิ่งกว่านั้น พระองค์ทรงดูแลความจำเป็นทางด้านวิญญาณของเรา. พระองค์ประทานคัมภีร์ไบเบิล พระคำของพระองค์ให้เรา. นอกจากนี้ พระองค์ทรงเชิญเราให้อธิษฐานถึงพระองค์พร้อมกับให้คำรับรองว่าจะสดับฟังและจะประทานพระวิญญาณบริสุทธิ์ช่วยเหลือเรา. (บทเพลงสรรเสริญ 65:2; ลูกา 11:13) สำคัญยิ่งกว่าอะไรทั้งหมด พระองค์ได้ส่งพระบุตรซึ่งทรงรักมากที่สุดมาเป็นค่าไถ่เพื่อจะช่วยเราให้พ้นจากบาปและความตาย. พระยะโฮวาได้แสดงความรักอันใหญ่ยิ่งอะไรเช่นนี้ต่อเรา!—โยฮัน 3:16; โรม 5:8.
3. (ก) เพื่อจะเป็นที่รักของพระเจ้าอยู่ต่อไป เราต้องทำอะไร? (ข) เราต้องพิจารณาคำถามสำคัญอะไร และจะพบคำตอบได้ที่ไหน?
3 พระยะโฮวาประสงค์ให้เราได้รับประโยชน์จากความรักของพระองค์ตลอดไป. แต่จริง ๆ แล้วเราจะได้รับประโยชน์หรือไม่นั้นขึ้นอยู่กับตัวเรา. พระคำของพระเจ้ากระตุ้นเตือนเราให้ “ทำตัวให้เป็นที่รักของพระเจ้าเสมอ . . . โดยหวังจะได้ชีวิตนิรันดร์.” (ยูดา 21) วลีที่ว่า “ทำตัวให้เป็นที่รักของพระเจ้าเสมอ” บ่งชี้ว่าเพื่อจะเป็นที่รักของพระเจ้าอยู่ต่อไป เราต้องลงมือทำ. เราต้องตอบสนองความรักของพระองค์ในวิธีที่เห็นได้ชัดเจน. ฉะนั้น คำถามสำคัญที่เราพึงพิจารณาคือ ‘ฉันจะแสดงความรักต่อพระเจ้าได้โดยวิธีใด?’ คำตอบพบได้ในถ้อยคำของอัครสาวกโยฮันที่มีขึ้นโดยการดลใจที่ว่า “การรักพระเจ้าหมายถึงการทำตามพระบัญญัติของพระองค์ และพระบัญญัติของพระองค์ไม่เป็นภาระหนัก.” (1 โยฮัน 5:3) เราควรพิจารณาความหมายของถ้อยคำเหล่านี้อย่างถี่ถ้วน เพราะเราต้องการแสดงให้พระเจ้าเห็นว่าเรารักพระองค์มากสักเพียงไร.
การรักพระเจ้าหมายถึงอะไร?
4, 5. จงพรรณนาว่าความรักต่อพระยะโฮวาได้เริ่มพัฒนาขึ้นในหัวใจคุณอย่างไร.
4 อัครสาวกโยฮันคิดถึงอะไรเมื่อท่านเขียนว่า “การรักพระเจ้า”? ท่านพาดพิงถึงความรู้สึกอันลึกซึ้งที่เราแต่ละคนมีต่อพระเจ้า. คุณจำตอนที่ความรักต่อพระยะโฮวาได้เริ่มพัฒนาขึ้นในหัวใจคุณได้ไหม?
5 ขอให้ไตร่ตรองดูสักครู่ถึงตอนแรกที่คุณได้เรียนรู้ความจริงเรื่องพระยะโฮวาและพระประสงค์ของพระองค์ และคุณเริ่มมีความเชื่อ. คุณได้เข้าใจแล้วว่า แม้คุณเกิดมาเป็นคนบาปที่ห่างเหินจากพระเจ้า แต่พระยะโฮวาได้ทรงเปิดทางให้คุณผ่านทางพระคริสต์เพื่อคุณจะบรรลุความสมบูรณ์ที่อาดามได้ทำให้สูญเสียไปนั้นและได้รับชีวิตนิรันดร์เป็นมรดก. (มัดธาย 20:28; โรม 5:12, 18) คุณเริ่มเข้าใจว่าพระยะโฮวาได้ทรงเสียสละอย่างยิ่งใหญ่เพียงไรในการส่งพระบุตรที่ทรงรักมากที่สุดให้มาสิ้นพระชนม์แทนคุณ. หัวใจคุณได้รับการกระตุ้น และคุณเริ่มรู้สึกรักพระเจ้าผู้ได้แสดงความรักอันใหญ่ยิ่งเช่นนั้นต่อคุณ.—1 โยฮัน 4:9, 10.
6. เราแสดงความรักแท้โดยวิธีใด และความรักต่อพระเจ้าได้กระตุ้นคุณให้ทำอะไร?
6 อย่างไรก็ดี ความรู้สึกดังกล่าวเป็นเพียงการเริ่มต้นของความรักแท้ที่มีต่อพระยะโฮวา. ความรักไม่ใช่เป็นแค่อารมณ์ความรู้สึก ทั้งไม่ใช่เป็นเพียงคำพูด. ความรักแท้ต่อพระเจ้าเกี่ยวข้องไม่เพียงแค่พูดว่า “ฉันรักพระยะโฮวา.” เช่นเดียวกับความเชื่อ ความรักแท้ปรากฏชัดด้วยการกระทำที่ได้รับการกระตุ้นจากความรักนั้น. (ยาโกโบ 2:26) โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เราแสดงความรักโดยการทำสิ่งต่าง ๆ ที่ทำให้คนที่เรารักพอใจ. ฉะนั้น เมื่อความรักต่อพระยะโฮวาหยั่งรากลึกในหัวใจคุณ คุณได้รับการกระตุ้นให้เกิดความปรารถนาที่จะดำเนินชีวิตในแนวทางที่ทำให้พระบิดาของคุณผู้สถิตในสวรรค์พอพระทัย. คุณเป็นพยานฯที่รับบัพติสมาแล้วไหม? ถ้าเช่นนั้น ความรักอันลึกซึ้งและความภักดีต่อพระยะโฮวาเช่นนี้ทำให้คุณตัดสินใจทำสิ่งที่สำคัญที่สุดในชีวิต. คุณได้อุทิศตัวแด่พระยะโฮวาเพื่อจะทำตามพระประสงค์ของพระองค์ และคุณได้แสดงสัญลักษณ์การอุทิศตัวของคุณโดยการรับบัพติสมา. (โรม 14:7, 8) การทำตามคำสัญญาที่จริงจังเช่นนี้กับพระยะโฮวาเกี่ยวข้องกับสิ่งที่อัครสาวกโยฮันกล่าวต่อไป.
“การทำตามพระบัญญัติของพระองค์”
7. พระบัญญัติของพระเจ้ามีอะไรบ้าง และการทำตามบัญญัติเหล่านี้เกี่ยวข้องกับอะไร?
7 โยฮันอธิบายว่าการรักพระเจ้าหมายถึง “การทำตามพระบัญญัติของพระองค์.” พระบัญญัติของพระเจ้ามีอะไรบ้าง? พระยะโฮวาประทานพระบัญญัติที่เฉพาะเจาะจงหลายข้อให้เราโดยทางคัมภีร์ไบเบิล พระคำของพระองค์. ตัวอย่างเช่น พระองค์ทรงห้ามกิจปฏิบัติต่าง ๆ เช่น การเมาเหล้า, การผิดประเวณี, การไหว้รูปเคารพ, การขโมย, และการโกหก. (1 โครินท์ 5:11; 6:18; 10:14; เอเฟโซส์ 4:28; โกโลซาย 3:9) การทำตามพระบัญญัติของพระเจ้าเกี่ยวข้องกับการดำเนินชีวิตประสานกับมาตรฐานด้านศีลธรรมที่ชัดเจนของคัมภีร์ไบเบิล.
8, 9. เราจะรู้ได้อย่างไรว่าสิ่งใดที่ทำให้พระยะโฮวาพอพระทัยแม้แต่ในเรื่องที่ไม่มีกฎข้อห้ามอย่างเจาะจงในคัมภีร์ไบเบิล? ขอยกตัวอย่าง.
8 อย่างไรก็ดี เพื่อทำให้พระยะโฮวาพอพระทัย เราต้องไม่เพียงแต่เชื่อฟังกฎหมายที่เฉพาะเจาะจงของพระองค์. พระยะโฮวามิได้จำกัดเราไว้โดยกฎหมายที่ควบคุมทุกแง่มุมในชีวิตประจำวัน. ฉะนั้น ในการดำเนินชีวิตแต่ละวัน เราอาจเผชิญสถานการณ์หลายอย่างซึ่งไม่มีกฎหมายในคัมภีร์ไบเบิลที่บอกเจาะจงว่าควรทำเช่นไร. ในกรณีเช่นนั้น เรารู้ได้อย่างไรว่าพระยะโฮวาจะพอพระทัยสิ่งใด? คัมภีร์ไบเบิลมีข้อบ่งชี้ที่ชัดเจนเกี่ยวกับแนวความคิดของพระเจ้า. ขณะที่เราศึกษาคัมภีร์ไบเบิล เราเรียนรู้สิ่งที่พระยะโฮวาทรงรักและสิ่งที่พระองค์ทรงเกลียด. (บทเพลงสรรเสริญ 97:10; สุภาษิต 6:16-19) เราได้มาเข้าใจว่าเจตคติและการกระทำแบบไหนที่พระองค์พอพระทัย. ยิ่งเราเรียนรู้เกี่ยวกับบุคลิกลักษณะและแนวทางของพระยะโฮวามากเท่าใด เราก็จะยิ่งสามารถเปิดโอกาสให้ความคิดของพระองค์ชี้นำการตัดสินใจของเราและมีผลกระทบต่อการกระทำของเรามากเท่านั้น. ดังนั้น แม้แต่ในเรื่องที่ไม่มีกฎข้อห้ามอย่างเจาะจงในคัมภีร์ไบเบิล บ่อยครั้งเราสามารถเข้าใจว่า “พระประสงค์ของพระยะโฮวาคืออะไร.”—เอเฟโซส์ 5:17.
9 ตัวอย่างเช่น คัมภีร์ไบเบิลไม่มีคำสั่งโดยตรงที่ห้ามดูภาพยนตร์หรือรายการโทรทัศน์ที่เน้นเรื่องความรุนแรงหรือการผิดศีลธรรมทางเพศที่น่ารังเกียจ. แต่เราต้องมีกฎหมายที่เฉพาะเจาะจงจริง ๆ ไหมซึ่งห้ามดูเรื่องดังกล่าว? เราทราบว่าพระยะโฮวามีทัศนะอย่างไรต่อเรื่องเหล่านี้. พระคำของพระองค์บอกเราอย่างชัดเจนว่า “คนใดที่ชอบความรุนแรงนั้น [พระยะโฮวา] ทรงเกลียดชังอย่างแน่นอน.” (บทเพลงสรรเสริญ 11:5, ล.ม.) คัมภีร์ไบเบิลยังกล่าวด้วยว่า “พระเจ้าจะทรงพิพากษาคนผิดประเวณีและคนเล่นชู้.” (ฮีบรู 13:4) โดยไตร่ตรองดูถ้อยคำดังกล่าวที่มีขึ้นโดยการดลใจ เราสามารถเข้าใจชัดเจนว่าพระประสงค์ของพระยะโฮวาคืออะไร. เพราะฉะนั้น เราเลือกที่จะไม่หาความสนุกโดยดูภาพที่แสดงอย่างโจ่งแจ้งเกี่ยวกับกิจปฏิบัติชนิดที่พระเจ้าของเราทรงเกลียดชัง. เราทราบว่าพระยะโฮวาพอพระทัยเมื่อเราหลีกเลี่ยงความเสื่อมทรามทางด้านศีลธรรมที่โลกนี้พยายามเสนอให้เสมือนเป็นความบันเทิงที่ไม่มีพิษภัย.a
10, 11. เพราะเหตุใดเราจึงเลือกแนวทางแห่งการเชื่อฟังพระยะโฮวา และเราแสดงการเชื่อฟังแบบไหนต่อพระองค์?
10 อะไรคือเหตุผลสำคัญที่เราทำตามพระบัญญัติของพระเจ้า? เพราะเหตุใดเราต้องการดำเนินชีวิตแต่ละวันอย่างที่สอดคล้องกับแนวความคิดของพระเจ้า? เราไม่ได้เลือกแนวทางดังกล่าวเพียงเพื่อจะรอดจากการลงโทษหรือเพื่อหลีกเลี่ยงผลเสียหายที่เกิดขึ้นกับคนที่เพิกเฉยต่อพระประสงค์ของพระเจ้า. (กาลาเทีย 6:7) แทนที่จะเป็นเช่นนั้น เราถือว่าการเชื่อฟังพระยะโฮวาเป็นโอกาสอันยอดเยี่ยมที่เราจะแสดงความรักต่อพระองค์. เช่นเดียวกับเด็กที่อยากทำให้พ่อยิ้มออกมาด้วยความพอใจ เราก็ต้องการได้รับความพอพระทัยจากพระยะโฮวาเช่นกัน. (บทเพลงสรรเสริญ 5:12) พระองค์ทรงเป็นพระบิดาของเรา และเรารักพระองค์. ไม่มีอะไรทำให้เรายินดีหรือพอใจยิ่งไปกว่าการรู้ว่าเรากำลังดำเนินชีวิตในแนวทางที่ “ได้ความโปรดปรานจากพระยะโฮวา.”—สุภาษิต 12:2.
11 ฉะนั้น การเชื่อฟังของเราไม่ใช่เป็นแบบฝืนใจทำ หรือเลือกเชื่อฟังเป็นบางข้อหรือเชื่อฟังแบบที่มีเงื่อนไข.b เราไม่ตัดสินใจว่าจะเลือกเชื่อฟังกฎหมายข้อใดและจะละเลยข้อใด จะเชื่อฟังเฉพาะเมื่อสะดวกหรือเมื่อการเชื่อฟังนั้นทำได้ไม่ยากหรือไม่ก่อความลำบาก. ตรงกันข้าม เรา “เต็มใจเชื่อฟัง.” (โรม 6:17) เรารู้สึกเช่นเดียวกับผู้ประพันธ์เพลงสรรเสริญในคัมภีร์ไบเบิลซึ่งได้เขียนว่า “ข้าพเจ้าจะชื่นใจยินดีในข้อบัญญัติของพระองค์, ที่ข้าพเจ้ารักนั้น.” (บทเพลงสรรเสริญ 119:47) ใช่แล้ว เรายินดี ที่จะเชื่อฟังพระยะโฮวา. เรายอมรับว่าพระองค์สมควรได้รับการเชื่อฟังอย่างครบถ้วนโดยไม่มีเงื่อนไขและพระองค์ทรงประสงค์ให้เราทำเช่นนั้น. (พระบัญญัติ 12:32) เราต้องการให้พระยะโฮวาตรัสถึงเราอย่างที่พระคำของพระองค์ตรัสถึงโนอาห์. คัมภีร์ไบเบิลกล่าวเกี่ยวกับปฐมบรรพบุรุษผู้ซื่อสัตย์คนนี้ซึ่งได้แสดงความรักต่อพระเจ้าโดยการเชื่อฟังตลอดหลายสิบปีว่า “พระเจ้ารับสั่งให้โนฮาทำอย่างไร, โนฮาก็กระทำอย่างนั้นทุกสิ่งทุกประการ.”—เยเนซิศ 6:22.
12. เมื่อไรที่การเชื่อฟังของเราทำให้พระทัยของพระยะโฮวายินดี?
12 พระยะโฮวาทรงรู้สึกอย่างไรเกี่ยวกับการเชื่อฟังด้วยความเต็มใจของเรา? พระคำของพระองค์กล่าวว่าโดยวิธีนั้นเราทำให้ ‘พระทัยของพระองค์มีความยินดี.’ (สุภาษิต 27:11, ล.ม.) การเชื่อฟังของเรานำความยินดีอย่างแท้จริงมาสู่พระทัยของพระเจ้าองค์ใหญ่ยิ่งแห่งเอกภพไหม? แน่นอน—และมีเหตุผลที่ดีที่พระองค์จะรู้สึกเช่นนั้น! พระยะโฮวาทรงสร้างเราให้มีเจตจำนงเสรี. นี่หมายความว่าเรามีเสรีภาพในการเลือก เราสามารถเลือกจะเชื่อฟังพระเจ้า หรือเลือกไม่เชื่อฟังก็ได้. (พระบัญญัติ 30:15, 16, 19, 20) เมื่อเราเต็มใจเลือกที่จะเชื่อฟังพระยะโฮวาและเมื่อแรงกระตุ้นที่อยู่เบื้องหลังการตัดสินใจเช่นนั้นคือหัวใจที่เปี่ยมด้วยความรักต่อพระเจ้า เราก็ทำให้พระบิดาของเราผู้สถิตในสวรรค์พอพระทัยและมีความยินดีอย่างมาก. (สุภาษิต 11:20) นอกจากนี้ เรายังเลือกแนวทางชีวิตที่ดีที่สุดด้วย.
“พระบัญญัติของพระองค์ไม่เป็นภาระหนัก”
13, 14. ทำไมจึงกล่าวได้ว่า “พระบัญญัติของพระเจ้าไม่เป็นภาระหนัก” และอาจยกตัวอย่างเรื่องนี้ได้อย่างไร?
13 อัครสาวกโยฮันบอกเราถึงสิ่งที่ทำให้อุ่นใจอย่างยิ่งเกี่ยวกับข้อเรียกร้องของพระยะโฮวาว่า “พระบัญญัติของพระองค์ไม่เป็นภาระหนัก.” คำภาษากรีกที่ได้รับการแปลว่า “ภาระหนัก” ที่ 1 โยฮัน 5:3 หมายความตามตัวอักษรว่า “หนัก.”c ข้อเรียกร้องของพระยะโฮวาไม่ใช่ไร้เหตุผลหรือเป็นแบบที่กดขี่. กฎหมายของพระองค์ไม่ใช่สิ่งที่เกินความสามารถของมนุษย์ไม่สมบูรณ์จะเชื่อฟัง.
14 เราอาจยกตัวอย่างทำนองนี้. เพื่อนสนิทคนหนึ่งขอให้คุณช่วยเขาย้ายบ้าน. มีของหลายกล่องที่จะขนไป. บางกล่องก็เบาพอที่คนคนเดียวจะยกได้สบาย แต่กล่องอื่น ๆ หนักและต้องใช้สองคนยก. เพื่อนของคุณเลือกกล่องที่เขาต้องการให้คุณขนไป. เขาจะขอให้คุณยกกล่องที่เขารู้ว่าหนักเกินไปสำหรับคุณไหม? ไม่. เขาคงจะไม่ต้องการให้คุณบาดเจ็บโดยพยายามยกกล่องนั้นคนเดียว. คล้ายกัน พระเจ้าของเราผู้เปี่ยมด้วยความรักและความกรุณาไม่ได้ขอให้เราทำตามพระบัญญัติที่ยากเกินไป. (พระบัญญัติ 30:11-14) พระองค์จะไม่ขอให้เราแบกภาระที่หนักเช่นนั้น. พระยะโฮวาทรงเข้าใจขีดจำกัดของเรา เพราะ “พระองค์ทรงทราบโครงร่างของเรา พระองค์ทรงระลึกว่าเราเป็นแต่ผงคลี.”—บทเพลงสรรเสริญ 103:14, ฉบับแปลใหม่.
15. ทำไมเรามั่นใจได้ว่าพระบัญญัติของพระยะโฮวาเป็นประโยชน์มากที่สุดสำหรับเรา?
15 พระบัญญัติของพระยะโฮวาไม่เป็นภาระหนักเลย แต่เป็นประโยชน์อย่างยิ่งต่อเรา. (ยะซายา 48:17) ดังนั้น โมเซบอกชาติอิสราเอลสมัยโบราณว่า “พระเจ้าทรงบัญชาให้เรากระทำตามกฎเกณฑ์เหล่านี้ทั้งสิ้น คือให้ยำเกรงพระเยโฮวาห์พระเจ้าของเราเพื่อเป็นผลดีแก่เราเสมอ เพื่อพระองค์จะทรงรักษาชีวิตของเราไว้ให้คงอยู่ดังทุกวันนี้.” (พระบัญญัติ 6:24, ฉบับแปลใหม่) เราก็สามารถมั่นใจได้เช่นกันว่า พระยะโฮวาประทานกฎหมายให้เราเพราะพระองค์สนพระทัยในสวัสดิภาพถาวรของเรา. ที่จริง พระองค์จะสั่งให้เราทำในสิ่งที่เป็นผลเสียต่อเราได้อย่างไร? พระยะโฮวาเป็นพระเจ้าที่ทรงไว้ซึ่งสติปัญญาอันไร้ขีดจำกัด. (โรม 11:33) ฉะนั้น พระองค์ทรงทราบว่าอะไรดีที่สุดสำหรับเรา. พระยะโฮวายังทรงเป็นแบบฉบับของความรักด้วย. (1 โยฮัน 4:8) ความรักซึ่งเป็นคุณลักษณะอันสำคัญยิ่งของพระองค์มีอิทธิพลต่อทุกสิ่งที่พระองค์ตรัสและกระทำ. ความรักเป็นพื้นฐานของพระบัญญัติทั้งสิ้นที่พระองค์ตั้งไว้สำหรับผู้รับใช้ของพระองค์.
16. แม้จะมีอิทธิพลของโลกที่ต่ำทรามนี้และแนวโน้มของมนุษย์ไม่สมบูรณ์ เหตุใดเราจึงสามารถดำเนินตามแนวทางแห่งการเชื่อฟังได้?
16 นี่มิได้หมายความว่าการเชื่อฟังพระเจ้าเป็นแนวทางที่ปฏิบัติได้ง่าย. เราต้องต่อสู้กับอิทธิพลของโลกที่ต่ำทรามซึ่ง “อยู่ในอำนาจตัวชั่วร้าย.” (1 โยฮัน 5:19) เรายังต้องต่อสู้กับความไม่สมบูรณ์ ซึ่งทำให้เรามีแนวโน้มที่จะละเมิดกฎหมายของพระเจ้า. (โรม 7:21-25) แต่ความรักที่เรามีต่อพระเจ้าจะทำให้เราเอาชนะในการต่อสู้นั้นได้. พระยะโฮวาทรงอวยพรคนเหล่านั้นที่ต้องการพิสูจน์ความรักต่อพระองค์โดยการเชื่อฟัง. พระองค์ประทานพระวิญญาณบริสุทธิ์ “แก่คนเหล่านั้นที่เชื่อฟังพระองค์ในฐานะผู้มีอำนาจปกครอง.” (กิจการ 5:32) พระวิญญาณนั้นก่อผลอันงดงามในตัวเราซึ่งได้แก่ คุณลักษณะต่าง ๆ ที่ล้ำเลิศซึ่งสามารถช่วยเราให้มุ่งดำเนินตามแนวทางของการเชื่อฟัง.—กาลาเทีย 5:22, 23.
17, 18. (ก) เราจะพิจารณาอะไรในหนังสือเล่มนี้ และขณะที่พิจารณาเราควรคำนึงถึงสิ่งใดเสมอ? (ข) จะมีการพิจารณาอะไรในบทถัดไป?
17 ในหนังสือเล่มนี้ เราจะพิจารณาหลักการและมาตรฐานทางด้านศีลธรรมของพระยะโฮวาและข้อบ่งชี้อื่น ๆ หลายอย่างเกี่ยวกับพระประสงค์ของพระองค์. ขณะที่เราพิจารณาเรื่องดังกล่าว เราต้องคำนึงถึงสิ่งสำคัญบางอย่าง. ขอเราจำไว้ว่าพระยะโฮวาไม่บังคับเราให้เชื่อฟังกฎหมายและหลักการต่าง ๆ ของพระองค์ พระองค์ประสงค์การเชื่อฟังด้วยความเต็มใจที่เกิดจากหัวใจเรา. ขออย่าลืมว่าพระยะโฮวาทรงเชิญเราให้ดำเนินในแนวทางที่จะนำผลประโยชน์มากมายมาให้เราในขณะนี้และนำไปสู่ชีวิตนิรันดร์ในอนาคต. ขอให้เราถือว่าการเชื่อฟังอย่างสุดหัวใจเป็นโอกาสอันยอดเยี่ยมที่จะแสดงว่าเรารักพระยะโฮวามากจริง ๆ.
18 เพื่อช่วยเราแยกแยะว่าอะไรถูกอะไรผิด ด้วยความรักพระยะโฮวาทรงประทานสติรู้สึกผิดชอบให้เรา. กระนั้น เพื่อจะเป็นเครื่องนำทางที่ไว้ใจได้ สติรู้สึกผิดชอบของเราต้องได้รับการฝึก ดังที่บทถัดไปจะพิจารณา.
b แม้แต่พวกวิญญาณชั่วก็สามารถเชื่อฟังอย่างเสียไม่ได้. เมื่อพระเยซูทรงสั่งให้พวกปิศาจออกจากบางคนที่มันสิงอยู่ พวกมันต้องฝืนใจยอมรับอำนาจของพระองค์และเชื่อฟัง แม้จะไม่เต็มใจ.—มาระโก 1:27; 5:7-13.
c ที่มัดธาย 23:4 มีการใช้คำนี้เพื่อพรรณนา “ของหนัก” กฎที่มีรายละเอียดมากมายและประเพณีที่มนุษย์ตั้งขึ้นซึ่งพวกอาลักษณ์และฟาริซายได้บังคับให้คนธรรมดาทำตาม. ถ้อยคำเดียวกันได้รับการแปลว่า “กดขี่” ที่กิจการ 20:29, 30 และพาดพิงถึงพวกผู้ออกหากที่ใช้อำนาจข่มขี่ซึ่งจะ “พูดบิดเบือน” และพยายามชักนำคนอื่นให้หลง.