แหล่งอ้างอิงสำหรับชีวิตและงานรับใช้—คู่มือประชุม
วันที่ 5-11 กรกฎาคม
ความรู้ที่มีค่าจากพระคัมภีร์
“พระยะโฮวาอยากให้เรานมัสการพระองค์ยังไง?”
it-2-E น. 1007 ว. 4
ชีวิต
รับใช้สุดชีวิต คำว่า “ชีวิต” ในภาษาเดิมมีความหมายหลักว่าตัวตนของคนคนหนึ่ง แต่มีข้อคัมภีร์หลายข้อที่กระตุ้นให้เราเสาะหาพระเจ้า รัก และรับใช้พระองค์ “สุดหัวใจและสุดชีวิต” (ฉธบ 4:29; 11:13, 18) และที่เฉลยธรรมบัญญัติ 6:5 บอกว่า “ให้รักพระยะโฮวาพระเจ้าของคุณสุดหัวใจ สุดชีวิต และสุดกำลัง” พระเยซูยังบอกด้วยว่าเป็นเรื่องที่สำคัญที่ต้องรับใช้สุดชีวิตและสุดกำลัง และท่านยังบอกเพิ่มด้วยว่าให้รับใช้ “สุดความคิด” (มก 12:30; ลก 10:27) หลายคนเลยสงสัยว่าทำไมพระเยซูต้องพูดถึงอย่างอื่นทั้ง ๆ ที่การรับใช้สุดชีวิตก็ครอบคลุมทุกอย่างแล้ว เพื่อเป็นตัวอย่าง คนหนึ่งอาจขายตัวเองไปเป็นทาส (ขายชีวิตของเขา) ชีวิตเขาจึงเป็นของนาย แต่เขาอาจไม่ได้รับใช้สุดหัวใจหรือไม่เต็มใจจริง ๆ เขาเลยไม่อยากทุ่มเทกำลังและความคิดทั้งหมดที่มีเพื่อสนับสนุนผลประโยชน์ของนาย (เทียบกับ อฟ 6:5; คส 3:22) ดังนั้น เมื่อพระคัมภีร์พูดถึงอย่างอื่นด้วยนอกจากการทุ่มเทสุดชีวิตแล้ว นี่ก็หมายความว่าเราต้องรับใช้ให้สุดในทุกด้านเพื่อพระยะโฮวาพระเจ้าของเราและพระเยซูผู้ซึ่งสละชีวิตเป็นค่าไถ่ให้เรา การรับใช้พระเจ้าสุดชีวิตหมายถึงการให้ทั้งชีวิตของเรากับพระองค์โดยไม่แบ่งใจหรือทุ่มเทความคิดไปให้กับอย่างอื่น—เทียบกับ มธ 5:28-30; ลก 21:34-36; อฟ 6:6-9; ฟป 3:19; คส 3:23, 24
it-1-E น. 84 ว. 3
แท่นบูชา
พระยะโฮวาสั่งให้ชาวอิสราเอลทำลายแท่นบูชาของพระเท็จรวมทั้งทำลายแท่งหินศักดิ์สิทธิ์กับเสาศักด์สิทธิ์ที่มักสร้างขึ้นใกล้ ๆ แท่นนั้น (อพย 34:13; ฉธบ 7:5, 6; 12:1-3) พวกเขาต้องไม่สร้างแท่นบูชาเลียนแบบชาวคานาอันและไม่เอาลูกของตัวเองมาเผาถวายพระเท็จเหล่านั้น (ฉธบ 12:30, 31; 16:21) ชาวอิสราเอลต้องสร้างแท่นบูชาแท่นเดียวเพื่อนมนัสการพระเจ้าเที่ยงแท้องค์เดียวเท่านั้น และจะต้องสร้างในที่ที่พระยะโฮวากำหนดไว้ (ฉธบ 12:2-6, 13, 14, 27; เทียบกับชาวบาบิโลนที่นมัสการเทพธิดาอิชทาร์ แค่แท่นบูชาสำหรับเทพธิดาองค์นี้ก็มีมากถึง 180 แท่น) พระยะโฮวาสั่งไว้ตั้งแต่แรกว่า เมื่อชาวอิสราเอลข้ามแม่น้ำจอร์แดนแล้วให้สร้างแท่นบูชาด้วยหินที่ไม่มีการตัดแต่ง (ฉธบ 27:4-8) แท่นนี้สร้างโดยโยชูวาบนภูเขาเอบาล (ยชว 8:30-32) หลังจากมีการแบ่งที่ดินในแผ่นดินที่พระเจ้าสัญญาแล้ว ตระกูลรูเบน ตระกูลกาด และตระกูลมนัสเสห์ครึ่งตระกูลได้สร้างแท่นบูชาขึ้นแท่นหนึ่ง เป็นแท่นบูชาที่ใหญ่มากริมแม่น้ำจอร์แดน นี่ทำให้พวกเขามีปัญหากับตระกูลอื่น ๆ จนกระทั่งได้มีการพิสูจน์ว่าพวกเขาไม่ได้สร้างแท่นนั้นขึ้นมาเพราะไม่ซื่อสัตย์ต่อพระเจ้า แต่สร้างขึ้นมาเพื่อเป็นพยานว่าพวกเขาจะซื่อสัตย์ต่อพระยะโฮวาพระเจ้าเที่ยงแท้—ยชว 22:10-34
ค้นหาความรู้ที่มีค่าของพระเจ้า
it-1-E น. 925-926
ภูเขาเกริซิม
หลังจากชาติอิสราเอลพิชิตเมืองอัยได้แล้ว โยชูวาก็บอกให้ชาวอิสราเอลไปรวมตัวกันที่ภูเขาเกริซิมและภูเขาเอบาลตามที่โมเสสได้สั่งไว้ ที่นั่นชาวอิสราเอลต้องไปฟังการอ่านคำอวยพรที่พวกเขาจะได้รับถ้าเชื่อฟังพระยะโฮวา และฟังการอ่านคำสาปแช่งที่พวกเขาจะได้รับถ้าไม่เชื่อฟังพระองค์ ตระกูลที่ยืนอยู่ตรงหน้าภูเขาเกริซิมคือตระกูลสิเมโอน เลวี ยูดาห์ อิสสาคาร์ โยเซฟ และเบนยามิน ส่วนอีก 6 ตระกูลที่เหลือยืนอยู่ตรงหน้าภูเขาเอบาล และชาวเลวีกับหีบสัญญาอยู่ในหุบเขา (ฉธบ 11:29, 30; 27:11-13; ยชว 8:28-35) ดูเหมือนว่ามีการอ่านคำอวยพรไปทางตระกูลที่ยืนอยู่หน้าภูเขาเกริซิมและตระกูลเหล่านั้นก็ตอบรับ และมีการอ่านคำสาปแช่งไปทางตระกูลต่าง ๆ ที่ยืนอยู่หน้าภูเขาเอบาลและตระกูลเหล่านั้นก็ตอบรับ หลายคนเชื่อว่ามีการประกาศคำอวยพรที่ภูเขาเกริซิมเพราะภูเขานั้นสวยและอุดมสมบูรณ์ซึ่งตรงกันข้ามกับภูเขาเอบาลที่มีแต่หินและแห้งแล้ง แต่คัมภีร์ไบเบิลไม่ได้ให้ข้อมูลอะไรเกี่ยวกับเรื่องนี้ มีการอ่านกฎหมายของโมเสสเสียงดัง “ต่อหน้าชาวอิสราเอลทุกคน ซึ่งรวมถึงผู้หญิง เด็ก ๆ และคนต่างชาติที่อยู่ที่นั่น” (ยชว 8:35) ประชาชนทุกคนสามารถได้ยินข้อความที่อ่านอย่างชัดเจนไม่ว่าจะยืนอยู่หน้าภูเขาลูกไหน นี่อาจเป็นเพราะบริเวณที่พวกเขายืนอยู่สามารถสะท้อนเสียงออกไปได้ไกล
วันที่ 12-18 กรกฎาคม
ความรู้ที่มีค่าจากพระคัมภีร์
“กฎหมายของพระยะโฮวาแสดงให้เห็นยังไงว่าพระองค์สนใจคนจน?”
it-2-E น. 1110 ว. 3
ส่วน 1 ใน 10
ตามปกติแล้วชาวอิสราเอลจะกันส่วน 1 ใน 10 ไว้ให้ปุโรหิต แล้วคนเลวีก็จะได้ประโยชน์จากส่วนนี้ด้วย นอกจากนั้น ดูเหมือนมีการกันส่วน 1 ใน 10 อีกอย่างหนึ่งที่เรียกกันว่าส่วน 1 ใน 10 ส่วนที่สองด้วย ปกติแล้วครอบครัวชาวอิสราเอลจะใช้หรือกินส่วน 1 ใน 10 ส่วนนี้ตอนไปฉลองเทศกาลสำคัญต่าง ๆ ของชาติที่กรุงเยรูซาเล็ม แต่ถ้าครอบครัวไหนอยู่ไกลจากกรุงเยรูซาเล็มมาก พวกเขาก็สามารถเปลี่ยนส่วน 1 ใน 10 ส่วนนี้เป็นเงินได้ และเอาเงินนั้นไปใช้ตอนที่ฉลองเทศกาลต่าง ๆ ในกรุงเยรูซาเล็ม (ฉธบ 12:4-7, 11, 17, 18; 14:22-27) แต่พอถึงปลายปีที่ 3 และปีที่ 6 ของรอบปีสะบาโตหนึ่งรอบซึ่งมีเจ็ดปี แทนที่จะใช้ส่วนนี้เพื่อเอาไปฉลองเทศกาลที่กรุงเยรูซาเล็ม พวกเขาจะให้ส่วน 1 ใน 10 ส่วนที่สองนี้กับคนเลวี คนต่างชาติ คนที่เป็นม่าย และลูกกำพร้าในเมืองที่เขาอยู่—ฉธบ 14:28, 29; 26:12
it-2-E น. 833
ปีสะบาโต
ปีสะบาโตถูกเรียกว่า “ปีของการปลดปล่อย [ฮัชเชมิททาห์]” (ฉธบ 15:9; 31:10) ในปีนั้นชาวอิสราเอลต้องพักที่ดินไว้และไม่เพาะปลูก (อพย 23:11) และปีนั้นยังมีการยกหนี้ให้คนอื่นด้วย ซึ่งเป็น “การยกหนี้เพื่อถวายพระยะโฮวา” แต่มีความคิดเห็นที่แตกต่างกันในเรื่องนี้ ผู้เชี่ยวชาญด้านคัมภีร์ไบเบิลบางคนบอกว่า จริง ๆ แล้วหนี้ไม่ได้ถูกยกเลิก แต่เจ้าหนี้จะไม่ไปทวงหนี้จากเพื่อนร่วมชาติชาวฮีบรู เพราะปีสะบาโตเป็นปีที่ไม่มีการทำการเกษตร ชาวอิสราเอลจึงไม่มีรายได้ แต่เจ้าหนี้สามารถทวงหนี้จากคนต่างชาติได้ (ฉธบ 15:1-3) ส่วนครูสอนศาสนาชาวยิวบางคนบอกว่าหนี้ที่ยืมไปเพื่อช่วยเหลือคนจนสามารถยกเลิกได้ แต่หนี้ที่เกิดจากการทำธุรกิจไม่สามารถยกเลิกได้ พวกเขาบอกว่าในสมัยศตวรรษแรกฮิลเลลได้ตั้งกฎว่า เจ้าหนี้สามารถไปที่ศาลเพื่อให้มีการประกาศว่าลูกหนี้ยังต้องชดใช้หนี้ให้เขาเพื่อไม่ให้หนี้ของเขาถูกยกเลิกไป—หนังสือ The Pentateuch and Haftorahs edited by J. Hertz London 1972, หน้า 811, 812.
it-2-E น. 978 ว. 6
ทาส
กฎหมายที่เกี่ยวข้องกับนายและทาส ในประเทศอิสราเอล สถานะของทาสชาวฮีบรูจะต่างจากทาสที่เป็นคนต่างชาติ ทาสที่เป็นคนต่างชาติต้องเป็นสมบัติของนายตลอดไป และนายสามารถยกทาสเหล่านี้ให้ลูกหลานได้ (ลนต 25:44-46) ทาสชาวฮีบรูจะเป็นทาสอยู่ 6 ปีแต่ในปีที่ 7 เขาจะเป็นอิสระ แต่ถ้าปีที่น่ายินดี (ปีจูบิลี) มาถึงก่อนเขาก็จะเป็นอิสระในปีนั้น ตลอดเวลาที่เขาเป็นทาสนายต้องปฏิบัติกับเขาเหมือนเป็นลูกจ้าง (อพย 21:2; ลนต 25:10; ฉธบ 15:12) ชาวฮีบรูที่ขายตัวเองไปเป็นทาสให้คนต่างชาติหรือครอบครัวของคนต่างชาติสามารถถูกไถ่คืนได้ตลอดเวลาโดยตัวเขาเองหรือโดยผู้ที่มีสิทธิ์ ราคาค่าไถ่ตัวจะคิดจากจำนวนปีที่เหลือจนถึงปีที่น่ายินดีหรือถึงปีที่ 7 ของการเป็นทาส (ลนต 25:47-52; ฉธบ 15:12) และถ้านายจะปล่อยเขาให้เป็นอิสระก็ไม่ควรให้เขาไปมือเปล่า นายต้องให้อะไรเขาไปบ้างเพื่อจะให้เขาตั้งตัวได้ (ฉธบ 15:13-15) ถ้าเขามาเป็นทาสพร้อมกับภรรยา ตอนเป็นเป็นอิสระภรรยาก็ต้องไปด้วย ถ้านายหาภรรยาให้เขา (ดูเหมือนว่าเป็นผู้หญิงต่างชาติซึ่งไม่มีสิทธิ์ถูกปล่อยตัวในปีที่ 7) ภรรยากับลูกจะเป็นสมบัติของนายต่อไป แต่ถ้าทาสชาวฮีบรูคนนี้เลือกจะอยู่กับนายต่อไป นายจะเอาเหล็กแหลมเจาะหูเขาจนทะลุเพื่อแสดงว่าเขาจะเป็นทาสของนายไปตลอดชีวิต—อพย 21:2-6; ฉธบ 15:16, 17
วันที่ 19-25 กรกฎาคม
ความรู้ที่มีค่าจากพระคัมภีร์
“หลักการที่ช่วยให้ตัดสินอย่างยุติธรรม”
it-1-E น. 343 ว. 5
ตาบอด
คำว่าตาบอดเป็นภาพที่แสดงถึงการตัดสินอย่างไม่ยุติธรรม ในกฎหมายของโมเสสมีคำแนะนำหลายข้อที่ไม่ให้มีอคติ รับสินบนหรือของขวัญ เพราะสิ่งเหล่านี้จะทำให้ผู้พิพากษาตาบอดและไม่สามารถตัดสินอย่างยุติธรรมได้ คัมภีร์ไบเบิลบอกว่า “สินบนทำให้คนตาดีกลายเป็นคนตาบอด” (อพย 23:8) “สินบนจะทำให้คนที่มีสติปัญญากลายเป็นคนตาบอด” (ฉธบ 16:19) ไม่ว่าผู้พิพากษาจะซื่อตรงหรือสุขุมขนาดไหน ถ้าเขารับของขวัญจากคนที่เกี่ยวข้องกับคดีที่เขาพิจารณา ของขวัญนั้นก็อาจส่งผลต่อเขาโดยที่รู้ตัวหรือไม่รู้ตัวก็ได้ กฎหมายของพระเจ้าทำให้เห็นชัดเจนว่าผู้พิพากษาอาจลำเอียงได้ไม่ใช่เพราะเขาได้สินบนอย่างเดียวแต่เป็นเพราะความรู้สึกส่วนตัวด้วย คัมภีร์ไบเบิลบอกว่า “อย่าลำเอียงเข้าข้างคนยากจนหรือเห็นแก่หน้าคนร่ำรวย” (ลนต 19:15) ดังนั้น ผู้พิพากษาต้องไม่ตัดสินว่าคนรวยทำผิดเพียงเพราะเขาเป็นคนรวยโดยอาศัยความรู้สึกส่วนตัวหรือทำตามที่คนส่วนใหญ่ชอบ—อพย 23:2, 3
it-2-E น. 511 ว. 7
ตัวเลข, จำนวน
สอง เลข 2 มักใช้ในทางกฎหมาย พยาน 2 คนที่ให้การตรงกันจะเพิ่มน้ำหนักให้กับคำให้การ และเพื่อยืนยันว่าเรื่องนั้นเป็นความจริงหรือไม่ก็จะต้องมีพยานยืนยัน 2 หรือ 3 ปาก หลักการนี้ก็นำมาใช้ในประชาคมคริสเตียนด้วย (ฉธบ 17:6; 19:15; มธ 18:16; 2คร 13:1; 1ทธ 5:19; ฮบ 10:28) พระเจ้าก็ใช้หลักการเดียวกันนี้ตอนที่พระองค์ส่งลูกชายของพระองค์มาเพื่อช่วยมนุษย์ให้รอด พระเยซูบอกว่า “ในกฎหมายของพวกคุณเองก็มีเขียนไว้ด้วยว่า ‘พยานสองปากก็เชื่อถือได้’ ผมไม่ได้เป็นพยานให้ตัวเองแค่ปากเดียว แต่พ่อที่ใช้ผมมาเป็นพยานให้ผมด้วย”—ยน 8:17, 18
it-2-E น. 685 ว. 6
ปุโรหิต
หน้าที่หลักของปุโรหิตคือสอนกฎหมายของพระเจ้า แต่พวกเขาก็ทำหน้าที่สำคัญในการตัดสินคดีให้กับชาติอิสราเอลด้วย ในเมืองที่มีปุโรหิตอาศัยอยู่ ปุโรหิตเหล่านี้จะทำหน้าที่เป็นผู้ช่วยผู้พิพากษา พวกเขาจะช่วยผู้พิพากษาในคดีที่ยาก ๆ ซึ่งผู้นำในเมืองไม่สามารถจะตัดสินคดีนั้นได้ (ฉธบ 17:8, 9) พวกเขาจะช่วยพวกผู้นำในเมืองในกรณีที่มีคดีคนถูกฆ่าตายแต่ไม่รู้ว่าใครเป็นคนฆ่าเพื่อจะทำให้แน่ใจว่ามีการทำตามขั้นตอนที่เหมาะสมซึ่งจะทำให้เมืองนั้นไม่มีความผิดฐานฆ่าคน (ฉธบ 21:1, 2, 5) นอกจากนั้น ถ้าสามีที่หึงหวงสงสัยว่าภรรยาแอบไปมีชู้ เขาจะพาเธอไปที่เต็นท์ศักดิ์สิทธิ์ซึ่งที่นั่นปุโรหิตจะทำขั้นตอนตามพิธีกรรมซึ่งพระยะโฮวาจะทำให้รู้ความจริงว่าผู้หญิงคนนั้นบริสุทธิ์หรือทำผิดจริง (กดว 5:11-31) ไม่ว่าจะเป็นกรณีไหน ทุกคนต้องเคารพคำตัดสินของปุโรหิตหรือผู้พิพากษาที่ได้รับการแต่งตั้ง การจงใจไม่เคารพหรือไม่เชื่อฟังมีโทษถึงตาย—กดว 15:30; ฉธบ 17:10-13
ค้นหาความรู้ที่มีค่าของพระเจ้า
it-1-E น. 787
การขับไล่
ตามกฎหมายของโมเสส ถ้าใครจะมีโทษถึงตายจะต้องมีหลักฐานที่เกิดจากพยานยืนยันอย่างน้อย 2 ปาก (ฉธบ 19:15) พยานเหล่านี้ต้องเป็นคนกลุ่มแรกที่ลงมือเอาหินขว้างคนที่ทำผิด (ฉธบ 17:7) นี่เป็นการแสดงความเต็มใจและกระตือรือร้นที่จะทำตามกฎหมายของพระเจ้าและต้องการรักษาความบริสุทธิ์ของชาติอิสราเอลไว้ นอกจากนั้น นี่ยังช่วยป้องกันการเป็นพยานเท็จหรือพูดออกไปอย่างรีบร้อนโดยไม่ตรวจสอบให้ดีก่อน
สิ่งที่คุณจะนำไปใช้ในงานประกาศ
it-1-E น. 519 ว. 4
ประชาคมคริสเตียน แม้ประชาคมคริสเตียนไม่มีผู้พิพากษาจริง ๆ เหมือนในศาล แต่จะมีการทำบางอย่างกับคนในประชาคมที่ทำผิดและต้องได้รับการว่ากล่าวแก้ไขทางด้านความเชื่อ และถึงกับไล่บางคนออกจากประชาคม ดังนั้น อัครสาวกเปาโลจึงบอกคนที่เป็นผู้ดูแลซึ่งเป็นตัวแทนประชาคมว่าพวกเขาต้องตัดสินคนที่อยู่ในประชาคม (1คร 5:12, 13) ตอนที่เปาโลกับเปโตรเขียนจดหมายไปถึงประชาคมต่าง ๆ และถึงผู้ดูแล ทั้งสองคนต่างก็บอกว่าผู้ดูแลต้องคอยสังเกตดูความเชื่อของพี่น้องในประชาคม พวกเขาต้องช่วยเหลือและเตือนบางคนที่กำลังก้าวไปผิดทางหรือทำสิ่งที่ไม่ฉลาด (2ทธ 4:2; 1ปต 5:1, 2; เทียบกับ กท 6:1) คนที่ทำให้เกิดความแตกแยกหรือแพร่คำสอนเท็จจะถูกตักเตือน 2 ครั้ง และถ้ายังคงทำอยู่ ผู้ดูแลก็จะดำเนินการบางอย่าง (ทต 3:10, 11) แต่คนที่ตั้งใจทำผิดเรื่อย ๆ จะถูกไล่ออกจากประชาคม การทำแบบนี้ทำให้เขารู้ว่าประชาคมไม่ยอมทนกับการทำผิดแบบนั้น (1ทธ 1:20) เปาโลสั่งพี่น้องชายที่ทำหน้าที่ตัดสินความในประชาคมว่าให้ฟังเรื่องที่เกิดขึ้นด้วยกัน (1คร 5:1-5; 6:1-5) พวกเขาจะยอมรับว่าข้อกล่าวหาเป็นความจริงก็ต่อเมื่อเรื่องนั้นมีพยานยืนยันสองหรือสามปาก ต้องมีหลักฐานพอโดยไม่ด่วนตัดสินไปก่อน และไม่ตัดสินแบบลำเอียง—1ทธ 5:19, 21
วันที่ 26 กรกฎาคม–1 สิงหาคม
ความรู้ที่มีค่าจากพระคัมภีร์
“ชีวิตมนุษย์มีค่าสำหรับพระยะโฮวา”
it-1-E น. 344
เลือด
เนื่องจากพระเจ้าให้ชีวิตกับมนุษย์ มนุษย์จึงมีสิทธิ์ที่จะมีความสุขกับการมีชีวิตอยู่ ใครก็ตามที่เอาชีวิตคนอื่นพระเจ้าจะจัดการเขา เราเห็นเรื่องนี้ได้จากตอนที่พระเจ้าพูดกับคาอินซึ่งเป็นฆาตกรว่า “เลือดของน้องเจ้าที่ไหลลงไปในดินกำลังร้องขอความยุติธรรมจากเรา” (ปฐก 4:10) ถ้าคนหนึ่งเกลียดพี่น้องของตัวเองจนถึงกับอยากให้เขาตาย แล้วก็ปรักปรำเขาหรือเป็นพยานเท็จใส่ร้ายเขาจนทำให้ชีวิตเขาตกอยู่ในอันตราย คนนั้นก็ทำผิดไม่ต่างอะไรกับการฆ่าคน—ลนต 19:16; ฉธบ 19:18-21; 1ยน 3:15
ค้นหาความรู้ที่มีค่าของพระเจ้า
it-1-E น. 518 ว. 1
ศาล, การพิจารณาคดี
ศาลท้องถิ่นจะอยู่บริเวณประตูเมือง (ฉธบ 16:18; 21:19; 22:15, 24; 25:7; นรธ 4:1) คำว่า “ประตูเมือง” หมายถึง ลานกว้างในเมืองซึ่งอยู่ติดกับประตูของเมือง ปกติแล้วประตูเมืองเป็นที่ที่มีการอ่านกฎหมายของโมเสสให้ประชาชนฟังและเป็นที่ที่มีการอ่านคำประกาศหรือข้อกำหนดต่าง ๆ (นหม 8:1-3) เนื่องจากช่วงกลางวันบริเวณประตูเมืองจะเป็นที่ที่ผู้คนมากมายเดินผ่านไปมาจึงเป็นเรื่องง่ายที่จะหาคนมาเป็นพยานในเรื่องทั่ว ๆ ไป เช่น การซื้อขายที่ดินและเรื่องอื่น ๆ นอกจากนั้น คนมากมายในบริเวณนั้นอาจได้เห็นการพิจารณาคดีที่ประตูเมือง ผู้พิพากษาเลยต้องพิจารณาตัดสินคดีอย่างรอบคอบและยุติธรรม ดูเหมือนว่าบริเวณใกล้ประตูเมืองจะมีที่เฉพาะสำหรับให้ผู้พิพากษามานั่งพิจารณาคดี (โยบ 29:7) ซามูเอลเดินทางไปที่เมืองเบธเอล กิลกาล และมิสปาห์หลายครั้งเพื่อ “ตัดสินคดีของชาวอิสราเอลตามเมืองเหล่านี้” และเขายังทำแบบนี้ที่เมืองรามาห์ซึ่งเป็นบ้านของเขาด้วย—1ซม 7:16, 17
วันที่ 2-8 สิงหาคม
ความรู้ที่มีค่าจากพระคัมภีร์
“กฎหมายของพระยะโฮวาแสดงให้เห็นยังไงว่าพระองค์ห่วงใยสัตว์?”
it-1-E น. 375-376
การบรรทุกของ
สมัยโบราณมักมีการใช้สัตว์เพื่อบรรทุกของ กฎหมายของโมเสสบอกว่าถ้าชาวอิสราเอลเห็นลาของคนที่เขาเกลียดชังล้มลงเพราะบรรทุกของหนัก แทนที่จะเดินหนีไปเขาต้อง “ไปช่วยยกของนั้นออกจากหลังลา”—อพย 23:5
it-1-E น. 621 ว. 1
เฉลยธรรมบัญญัติ
หนังสือเฉลยธรรมบัญญัติมีกฎหมายที่ให้คำนึงถึงสัตว์ด้วย กฎหมายของโมเสสห้ามไม่ให้ชาวอิสราเอลเอานกที่กำลังกกลูกไป เพราะสัญชาตญาณในการปกป้องลูกจะทำให้แม่นกไม่ยอมไปไหนและถูกจับได้ง่าย ชาวอิสราเอลต้องปล่อยแม่นกไว้ส่วนลูกนกนั้นเขาเอาไปได้ (ฉธบ 22:6, 7) ชาวไร่ชาวนาต้องไม่เอาวัวกับลามาเทียมแอกไถนาด้วยกัน เพราะไม่อย่างนั้นสัตว์ที่ตัวเล็กกว่าจะทำงานหนักเกินไป (ฉธบ 22:10) นอกจากนั้น อย่าเอาตะกร้อครอบปากวัวที่นวดข้าวอยู่ มันจะได้ไม่ทรมานเพราะความหิว เนื่องจากมันทำงานหนักและเห็นอาหารอยู่ตรงหน้า—ฉธบ 25:4
ค้นหาความรู้ที่มีค่าของพระเจ้า
it-1-E น. 600
หนี้, ลูกหนี้
หนี้ คือสิ่งที่ติดค้างอยู่และจะต้องใช้คืน ในสมัยโบราณหนี้ส่วนใหญ่แล้วหมายถึงหนี้ที่เป็นเงิน ชาวอิสราเอลที่เป็นลูกหนี้มีชีวิตที่น่าสงสารเพราะเขาจะเป็นเหมือนทาสของคนให้ยืม (สภษ 22:7) ดังนั้น กฎหมายของโมเสสจึงบอกว่าถ้าเพื่อนบ้านที่ยากจนมาขอยืมเงิน ชาวอิสราเอลต้องให้ยืมอย่างไม่เห็นแก่ตัว ต้องไม่แสวงหากำไรจากความยากลำบากของคนอื่นโดยการคิดดอกเบี้ย (อพย 22:25; ฉธบ 15:7, 8; สด 37:26; 112:5) แต่ชาวอิสราเอลสามารถคิดดอกเบี้ยกับคนต่างชาติได้ (ฉธบ 23:20) นักวิจารณ์ชาวยิวเข้าใจว่าคำสั่งนี้นำมาใช้กับการยืมเงินเพื่อไปทำธุรกิจ ไม่ใช่การยืมเงินเพราะเดือดร้อน ปกติแล้วคนต่างชาติมักมาอาศัยอยู่ในอิสราเอลแค่ชั่วคราวซึ่งส่วนใหญ่มักจะมาค้าขาย จึงมีเหตุผลที่จะคิดดอกเบี้ยจากพวกเขา โดยเฉพาะอย่างยิ่งคนต่างชาติเหล่านั้นก็มักจะให้คนอื่นยืมเงินโดยคิดดอกเบี้ยเหมือนกัน
วันที่ 9-15 สิงหาคม
ความรู้ที่มีค่าจากพระคัมภีร์
“กฎหมายของพระยะโฮวาแสดงให้เห็นยังไงว่าพระองค์ห่วงใยผู้หญิง?”
it-2-E น. 1196 ว. 4
ผู้หญิง
แม้แต่กฎหมายของโมเสสก็บอกว่า ทหารที่เพิ่งแต่งงานได้รับการยกเว้นให้อยู่บ้านเป็นเวลา 1 ปี นี่จะเปิดโอกาสให้คู่แต่งงานใหม่มีโอกาสมีลูก ซึ่งถ้าสามีต้องไปเป็นทหารหรือแม้แต่ตายในสนามรบผู้หญิงก็ยังมีลูกเป็นเพื่อน—ฉธบ 20:7; 24:5
it-1-E น. 963 ว. 2
การเก็บพืชผลในไร่นาที่เหลือ
เห็นได้ชัดว่าการจัดเตรียมที่ยอดเยี่ยมสำหรับคนยากจนนี้ไม่ได้ส่งเสริมให้เป็นคนขี้เกียจและขณะเดียวกันก็สนับสนุนให้ชาติอิสราเอลเป็นคนใจกว้าง ไม่เห็นแก่ตัว และไว้วางใจพรจากพระยะโฮวา กฎหมายเรื่องนี้ยังทำให้เห็นความเป็นจริงของคำพูดดาวิดที่ว่า “ผมยังไม่เคยเห็นคนดีถูกทอดทิ้ง และไม่เคยเห็นลูก ๆ ของเขาขอข้าวใครกิน” (สด 37:25) ถ้าชาวอิสราเอลใช้ประโยชน์จากการจัดเตรียมนี้ตามกฎหมายของโมเสส แม้เขาจะเป็นคนยากจนเขาก็จะไม่ต้องทนหิว และพวกเขากับลูก ๆ ก็ไม่ต้องไปขอข้าวใครกิน
ค้นหาความรู้ที่มีค่าของพระเจ้า
it-1-E น. 640 ว. 5
การหย่า
หนังสือหย่า การที่ชาวอิสราเอลยุคต่อมาเอากฎหมายของโมเสสเรื่องนี้ไปใช้อย่างผิด ๆ ไม่ควรทำให้เราคิดว่าสามีชาวอิสราเอลสามารถหย่ากับภรรยาได้ง่าย ๆ เพราะเพื่อจะหย่าได้สามีต้องทำตามขั้นตอนหลายอย่าง “เขาจะต้องทำหนังสือหย่าให้เธอ” แล้วหลังจากนั้น เขาจะ “ให้เธอออกจากบ้านเขาไป” (ฉธบ 24:1) แม้พระคัมภีร์ไม่ได้ให้รายละเอียดว่าขั้นตอนเหล่านี้มีอะไรบ้าง แต่ดูเหมือนว่าสามีที่อยากทำหนังสือหย่าต้องไปปรึกษาผู้ที่มีอำนาจหน้าที่ และคนเหล่านั้นอาจพยายามสนับสนุนให้ทั้งสองคืนดีกันก่อน เนื่องจากผู้ชายที่คิดจะหย่าต้องทำเอกสารทางกฎหมาย นี่เลยช่วยให้เขามีเวลาคิดทบทวนการตัดสินใจอีกครั้ง สามีจะหย่ากับภรรยาได้จะต้องมีเหตุผลที่หนักแน่นมากพอ และเมื่อเอากฎหมายนี้ไปใช้อย่างถูกต้องก็จะช่วยป้องกันไม่ให้รีบร้อนหย่า และนี่จะช่วยปกป้องสิทธิและผลประโยชน์ของผู้หญิงด้วย พระคัมภีร์ไม่ได้บอกว่าเนื้อหาใน “หนังสือหย่า” มีอะไรบ้าง
วันที่ 16-22 สิงหาคม
ความรู้ที่มีค่าจากพระคัมภีร์
“พรมากมายทั้งหมดนี้จะเป็นของคุณ”
ค้นหาความรู้ที่มีค่าของพระเจ้า
it-1-E น. 360
หลักเขต
กฎหมายของพระยะโฮวาไม่อนุญาตให้ย้ายหลักเขต (ฉธบ 19:14; ดู สภษ 22:28 ด้วย) ที่จริง “คนที่ย้ายหลักเขตของเพื่อนบ้าน” จะต้องถูกสาปแช่ง (ฉธบ 27:17) เนื่องจากเจ้าของที่ดินจะต้องพึ่งอาศัยผลผลิตในที่ดินของเขาเอง ดังนั้น การย้ายหลักเขตจึงหมายถึงการไปเอาอาหารที่ค้ำจุนชีวิตส่วนหนึ่งของเขามา นี่เท่ากับเป็นการขโมยและผู้คนก็มองแบบนี้มาตั้งแต่สมัยโบราณ (โยบ 24:2) แต่ก็ยังมีคนขี้โกงที่ทำความผิดแบบนี้ และพวกเจ้านายของยูดาห์ในสมัยโฮเชยาก็เป็นเหมือนคนที่เคลื่อนย้ายหลักเขต—ฮชย 5:10
วันที่ 23-29 สิงหาคม
ความรู้ที่มีค่าจากพระคัมภีร์
“การรับใช้พระยะโฮวาไม่ยากเกินไป”
ค้นหาความรู้ที่มีค่าของพระเจ้า
it-1-E น. 665 ว. 3
หู
พระยะโฮวาพูดถึงชาวอิสราเอลที่ดื้อด้านไม่เชื่อฟังโดยผ่านทางผู้รับใช้ของพระองค์ว่า “หูของพวกเขาปิดอยู่” [แปลตรงตัวว่า หูของพวกเขาไม่ได้เข้าสุหนัต] (ยรม 6:10; กจ 7:51) พระยะโฮวาช่วยคนที่เสาะหาพระองค์ให้เข้าใจความจริงและเชื่อฟังพระองค์ แต่พระองค์ก็ปล่อยให้คนที่ไม่อยากรู้จักและเชื่อฟังพระองค์ยังคงไม่สนใจและไม่ยอมรับความจริง (ฉธบ 29:4; รม 11:8) อัครสาวกเปาโลบอกล่วงหน้าว่าจะมีเวลาหนึ่งที่บางคนที่อ้างว่าเป็นคริสเตียนทิ้งความเชื่อแท้และไม่อยากได้ยินความจริงในคัมภีร์ไบเบิล แต่อยากจะได้ยินเรื่องที่พวกเขาอยากฟังและไปฟังครูที่สอนเรื่องโกหก—2ทธ 4:3, 4; 1ทธ 4:1