พระยะโฮวาทรงเป็นใหญ่กว่าใจของเรา
“พระยะโฮวาทรงยินดีในคนที่เกรงกลัวพระองค์” ผู้ประพันธ์เพลงสรรเสริญเขียนไว้. จริงทีเดียว พระผู้สร้างทรงยินดีในการเฝ้าดูผู้รับใช้ที่เป็นมนุษย์แต่ละคนขณะที่พวกเขาพยายามยึดมั่นกับมาตรฐานอันชอบธรรมของพระองค์. พระเจ้าทรงอวยพรแก่ผู้ที่ภักดีต่อพระองค์, หนุนกำลังใจพวกเขา, และปลอบประโลมพวกเขาในยามสิ้นหวัง. พระองค์ทรงทราบว่าผู้ที่นมัสการพระองค์ไม่สมบูรณ์ พระองค์จึงทรงคาดหมายจากพวกเขาอย่างที่ตรงกับความเป็นจริง.—บทเพลงสรรเสริญ 147:11.
อาจไม่ยากสำหรับเราที่จะเชื่อว่าพระยะโฮวาทรงมีความรักอันแรงกล้าต่อผู้รับใช้ของพระองค์โดยรวม. อย่างไรก็ตาม บางคนดูเหมือนเป็นห่วงเกี่ยวกับข้ออ่อนแอของตัวเองมากเกินไปถึงขนาดที่เขาเชื่อว่าพระยะโฮวาไม่มีวันรักเขา. เขาอาจสรุปว่า “ฉันไม่สมบูรณ์เกินกว่าที่พระยะโฮวาจะทรงรักฉัน.” แน่ละ เราทุกคนมีความรู้สึกในแง่ลบเป็นครั้งคราว. แต่บางคนดูเหมือนต่อสู้กับความรู้สึกที่ว่าตัวเองไร้ค่าอยู่เรื่อยไป.
ความรู้สึกเศร้าหมอง
ในสมัยของคัมภีร์ไบเบิล ผู้ซื่อสัตย์หลายคนประสบกับความรู้สึกเศร้าหมองอย่างรุนแรง. โยบเกลียดชีวิตและคิดว่าพระเจ้าทรงทอดทิ้งท่าน. นางฮันนา ซึ่งภายหลังกลายเป็นมารดาของซามูเอล ครั้งหนึ่งเคยเศร้าหมองเกี่ยวกับการที่เธอไม่มีบุตรและร้องไห้อย่างขมขื่น. ดาวิดเคย “ค้อมตัวต่ำที่สุด” และเอปาฟะโรดีโตเป็นทุกข์เนื่องจากข่าวเกี่ยวกับความเจ็บป่วยของท่านทำให้พี่น้องของท่านโศกเศร้า.—บทเพลงสรรเสริญ 38:6, ล.ม.; 1 ซามูเอล 1:7, 10; โยบ 29:2, 4, 5; ฟิลิปปอย 2:25, 26.
คริสเตียนในสมัยนี้ล่ะ? บางทีความเจ็บป่วย, อายุที่มากขึ้น, หรือสภาพการณ์ส่วนตัวอื่น ๆ ทำให้บางคนไม่อาจทำได้มากเท่าที่เขาอยากจะทำในงานรับใช้ศักดิ์สิทธิ์. ทั้งนี้อาจทำให้เขาสรุปว่า เขาทำให้พระยะโฮวาและเพื่อนร่วมความเชื่อผิดหวัง. หรือบางคนอาจโทษตัวเองซ้ำแล้วซ้ำอีกเกี่ยวกับความผิดพลาดในอดีต และสงสัยว่าพระยะโฮวาทรงให้อภัยหรือไม่. บางที คนอื่นซึ่งมีภูมิหลังในครอบครัวที่มีปัญหาอาจเชื่อว่าเขาไม่มีค่าพอจะเป็นที่รัก. เรื่องนี้เป็นไปได้อย่างไร?
บางคนเติบโตมาในครอบครัวที่ความรักไม่ใช่น้ำใจที่เด่นแต่เป็นความเห็นแก่ตัว, คำพูดถากถาง, และความกลัว. พวกเขาอาจไม่มีวันรู้จักบิดาที่รักเขาอย่างลึกซึ้ง ผู้ซึ่งมองหาโอกาสจะชมเชยและหนุนกำลังใจ ผู้ซึ่งมองข้ามความผิดพลาดเล็ก ๆ น้อย ๆ และพร้อมจะให้อภัยกระทั่งความผิดที่ร้ายแรงกว่า และมีความอบอุ่นที่ทำให้ทั้งครอบครัวรู้สึกมั่นคง. เนื่องจากพวกเขาไม่เคยมีบิดาที่เป็นมนุษย์ซึ่งแสดงความรัก พวกเขาอาจพบว่ายากที่จะเข้าใจว่า การมีบิดาทางภาคสวรรค์ที่เปี่ยมด้วยความรักนั้นหมายความอย่างไร.
ตัวอย่างเช่น ฟริตซ์ เขียนว่า “ช่วงวัยเด็กและวัยรุ่นของผมได้รับอิทธิพลอย่างมากจากลักษณะที่ขาดความรักของพ่อ.a เขาไม่เคยกล่าวคำชม และผมไม่เคยรู้สึกใกล้ชิดกับพ่อ. ที่จริง เวลาส่วนใหญ่ผมกลัวพ่อ.” ผลก็คือ ฟริตซ์ ซึ่งปัจจุบันมีอายุ 50 กว่าปีแล้ว ยังคงรู้สึกว่าตัวเองขาดคุณสมบัติ. และมาร์กาเรตเต อธิบายว่า “พ่อแม่ของดิฉันเป็นคนเย็นชาและไม่แสดงความรัก. เมื่อดิฉันเริ่มศึกษาคัมภีร์ไบเบิล ดิฉันแทบจะนึกภาพไม่ออกว่าบิดาที่เปี่ยมด้วยความรักเป็นอย่างไร.”
ความรู้สึกแบบนี้ ไม่ว่าเกิดจากอะไร อาจหมายความว่า บางครั้งการที่เรารับใช้พระเจ้าไม่ได้ถูกกระตุ้นด้วยความรักเป็นอันดับแรก แต่ถูกกระตุ้นด้วยความรู้สึกผิดหรือความกลัวเสียส่วนใหญ่. ความพยายามที่ดีที่สุดของเราดูเหมือนไม่เคยดีพอ. ความปรารถนาจะทำให้พระยะโฮวาพอพระทัยและทำให้เพื่อนร่วมความเชื่อชอบใจอาจทำให้เรารู้สึกว่าเราไม่สามารถทำทุกสิ่งที่เราอยากจะทำ. ผลก็คือ เราอาจไม่บรรลุเป้าหมายของเรา โทษตัวเอง แล้วหมดกำลังใจ.
จะทำอะไรได้? บางทีเราต้องเตือนใจตัวเองว่าพระยะโฮวาทรงมีพระทัยกว้างสักเพียงไร. คนที่เข้าใจบุคลิกภาพของพระเจ้าในแง่มุมที่เปี่ยมด้วยความรักนี้คืออัครสาวกโยฮัน.
‘พระเจ้าทรงเป็นใหญ่กว่าใจของเรา’
ตอนปลายศตวรรษที่หนึ่งสากลศักราช โยฮันเขียนถึงเพื่อนร่วมความเชื่อว่า “เหตุฉะนั้นเราจึงรู้ว่าเราอยู่ฝ่ายความจริง, และจะได้ตั้งใจของเราให้แน่วแน่จำเพาะพระองค์. เพราะถึงแม้ว่าใจของเราเองปรับโทษตัวเรา, พระเจ้าก็ยังทรงเป็นใหญ่กว่าใจของเรา, และยังทรงทราบสารพัตรทุกสิ่ง.” ทำไมโยฮันเขียนถ้อยคำเหล่านี้?—1 โยฮัน 3:19, 20.
เห็นได้ชัด โยฮันรู้ว่าเป็นไปได้ที่ผู้รับใช้ของพระยะโฮวาจะรู้สึกถูกตำหนิอยู่ในหัวใจ. บางทีโยฮันเองเคยประสบกับความรู้สึกเช่นนั้น. ตอนที่ท่านเป็นคนหนุ่มอารมณ์ร้อน โยฮันถูกว่ากล่าวโดยพระเยซูคริสต์เพราะท่านตำหนิคนอื่นอย่างรุนแรง. ที่จริง พระเยซูทรงตั้งฉายาให้โยฮันกับยาโกโบพี่ชายของท่านว่า “โบอะเนระเฆแปลว่าลูกฟ้าร้อง.”—มาระโก 3:17; ลูกา 9:49-56.
ในช่วง 60 ปีถัดมา โยฮันสุขุมขึ้นและกลายเป็นคริสเตียนที่สมดุล, มีความรัก, และเมตตา. ท่านเป็นอัครสาวกคนสุดท้ายที่ยังมีชีวิตอยู่ และพอถึงตอนที่ท่านเขียนจดหมายฉบับแรกที่ได้รับการดลใจ ท่านทราบว่าพระยะโฮวาไม่ทรงถือว่าผู้รับใช้ของพระองค์ต้องให้การสำหรับความผิดพลาดเล็ก ๆ น้อย ๆ ทุกอย่าง. แทนที่จะเป็นอย่างนั้น พระองค์ทรงเป็นพระบิดาที่มีความอบอุ่น, พระทัยกว้าง, เผื่อแผ่, และเมตตาสงสาร ผู้ทรงมีความรักอันลึกซึ้งต่อทุกคนที่รักพระองค์และนมัสการพระองค์ด้วยความจริง. โยฮันเขียนว่า “พระเจ้าทรงเป็นความรัก.”—1 โยฮัน 4:8.
พระยะโฮวาทรงยินดีที่เรารับใช้พระองค์
พระเจ้าทรงทราบถึงข้ออ่อนแอและข้อผิดพลาดของเราที่มีมาตั้งแต่เกิด และพระองค์ทรงคำนึงถึงเรื่องนี้. ดาวิดเขียนว่า “พระองค์ทรงทราบร่างกายของพวกข้าพเจ้าแล้ว; พระองค์ทรงระลึกอยู่ว่าพวกข้าพเจ้าเป็นแต่ผงคลีดิน.” พระยะโฮวาทรงตระหนักว่าภูมิหลังของเรามีผลกระทบต่อตัวเราขนาดไหน. ที่จริง พระองค์ทรงรู้จักเราดีกว่าที่เรารู้จักตัวเราเองมากนัก.—บทเพลงสรรเสริญ 103:14.
พระองค์ทรงทราบว่าเราหลายคนต้องการจะเปลี่ยนแปลงตัวเอง แต่เราก็ไม่สามารถจะเอาชนะความไม่สมบูรณ์ของเราได้. สภาพการณ์ของเราเทียบได้กับสภาพการณ์ของอัครสาวกเปาโล ผู้ซึ่งเขียนว่า “สิ่งดีที่ข้าพเจ้าปรารถนาข้าพเจ้ามิได้ทำ แต่สิ่งไม่ดีที่ข้าพเจ้าไม่ปรารถนากลับเป็นสิ่งที่ข้าพเจ้าทำอยู่.” เราทุกคนก็ต่อสู้ในแบบเดียวกัน. ในบางกรณี นี่อาจยังผลให้เรามีหัวใจที่ตำหนิตัวเอง.—โรม 7:19, ล.ม.
ขอให้จำเรื่องนี้ไว้เสมอ: พระยะโฮวาทรงมองเราอย่างไรนั้นสำคัญกว่าเรามองตัวเราเองอย่างไร. เมื่อใดที่พระองค์ทรงเห็นเราพยายามทำให้พระองค์พอพระทัย พระองค์ไม่ได้แสดงความพอพระทัยเพียงเล็กน้อยเท่านั้น แต่ทรงยินดีมาก. (สุภาษิต 27:11) ถึงแม้สิ่งที่เราทำได้อาจดูเหมือนมีค่อนข้างน้อยในสายตาของเราเอง แต่ความเต็มใจและแรงจูงใจที่ดีของเราทำให้พระองค์ทรงชื่นชมยินดี. พระองค์ทรงมองลึกกว่าสิ่งที่เราได้ทำ พระองค์ทรงเห็นสิ่งที่เราต้องการ จะทำ; พระองค์ทรงตระหนักถึงความต้องการและความปรารถนาของเรา. พระยะโฮวาทรงสามารถอ่านหัวใจของเราได้.—ยิระมะยา 12:3; 17:10.
ตัวอย่างเช่น พยานพระยะโฮวาหลายคนเป็นคนเหนียมอายและไม่กล้าพูด คือเป็นคนที่ไม่อยากเป็นเป้าสายตา. สำหรับคนเหล่านี้ การประกาศข่าวดีตามบ้านอาจเป็นข้อท้าทายที่น่าหวาดหวั่น. กระนั้น โดยถูกกระตุ้นจากความปรารถนาจะรับใช้พระเจ้าและช่วยเพื่อนบ้านของตน แม้แต่คนที่เหนียมอายก็เรียนรู้วิธีที่จะเข้าใกล้เพื่อนบ้านและพูดคุยเรื่องคัมภีร์ไบเบิล. พวกเขาอาจรู้สึกว่าตนประสบความสำเร็จน้อย และความรู้สึกนี้อาจทำให้พวกเขาขาดความยินดี. หัวใจของพวกเขาอาจคิดว่างานเผยแพร่ของตนตามบ้านไม่คุ้มค่า. แต่แน่นอน พระยะโฮวาทรงชื่นชมความพยายามที่คนเหล่านั้นทุ่มเทเพื่องานรับใช้. ยิ่งกว่านั้น พวกเขาไม่อาจแน่ใจได้ว่าเมื่อไรและที่ไหนที่เมล็ดแห่งความจริงซึ่งหว่านไปจะงอกขึ้นมา เติบโต, และเกิดผล.—ท่านผู้ประกาศ 11:6; มาระโก 12:41-44; 2 โกรินโธ 8:12.
พยานฯ คนอื่น ๆ ทนกับความเจ็บป่วยเรื้อรังหรือมีอายุมากขึ้น. สำหรับเขาแล้ว การเข้าร่วมประชุมเป็นประจำที่หอประชุมราชอาณาจักรอาจก่อความเจ็บปวดและความกังวลใจ. การฟังคำบรรยายเกี่ยวกับงานประกาศอาจเตือนเขาให้ระลึกถึงสิ่งที่เขาเคยทำและยังอยากทำอยู่ แม้ว่าร่างกายที่อ่อนแอขัดขวางเขาไว้. คนเหล่านั้นอาจถูกทิ่มแทงด้วยความรู้สึกผิดที่พวกเขาไม่สามารถทำตามคำแนะนำมากเท่าที่อยากทำ. กระนั้น พระยะโฮวาทรงหยั่งรู้ค่าความภักดีและความอดทนของเขาเป็นแน่. ตราบที่พวกเขารักษาความภักดีไว้ พระองค์จะไม่ทรงลืมความซื่อสัตย์ของพวกเขาเลย.—บทเพลงสรรเสริญ 18:25; 37:28.
“ทำให้หัวใจของเรามั่นคง”
เมื่อโยฮันถึงวัยชรา ท่านคงต้องเข้าใจมากเกี่ยวกับพระทัยอันกว้างขวางของพระเจ้า. จำไว้ว่าท่านเขียนว่า “พระเจ้าก็ยังทรงเป็นใหญ่กว่าใจของเรา, และยังทรงทราบสารพัตรทุกสิ่ง.” นอกจากนั้น โยฮันสนับสนุนให้เรา “ตั้งใจของเราให้แน่วแน่ [“ทำให้หัวใจของเรามั่นคง,” ล.ม.].” โยฮันหมายความว่าอย่างไร?
ตามพจนานุกรมอธิบายศัพท์พันธสัญญาเดิมและใหม่ของไวน์ (ภาษาอังกฤษ) คำกริยาภาษากรีกที่มีการแปลว่า “ทำให้ . . . มั่นคง” หมายความว่า “โน้มน้าว, เกลี้ยกล่อม.” พูดอีกอย่างหนึ่ง ที่จะทำให้หัวใจของเรามั่นคง เราต้องเกลี้ยกล่อมใจของเรา โน้มน้าวใจของเราให้เชื่อว่าพระยะโฮวาทรงรักเรา. จะทำเช่นนั้นโดยวิธีใด?
ฟริตซ์ ซึ่งกล่าวถึงข้างต้นในบทความนี้ ได้รับใช้เป็นผู้ปกครองในประชาคมของพยานพระยะโฮวาแห่งหนึ่งเป็นเวลา 25 ปีแล้ว; เขาพบว่าการศึกษาส่วนตัวทำให้เขามั่นใจในความรักของพระยะโฮวา. “ผมศึกษาคัมภีร์ไบเบิลและสรรพหนังสือของเราเป็นประจำและถี่ถ้วน. การทำเช่นนี้ช่วยผมไม่ให้หมกมุ่นอยู่กับอดีต แต่ช่วยรักษาการมองเห็นอนาคตอันยอดเยี่ยมให้แจ่มชัดเสมอ. บางครั้งบางคราว อดีตเข้ามาครอบงำความคิดของผม และผมรู้สึกว่าพระเจ้าไม่มีวันรักผม. แต่โดยทั่วไปแล้ว ผมพบว่าการศึกษาเป็นประจำเสริมกำลังให้หัวใจของผม เพิ่มความเชื่อ และช่วยให้รักษาความยินดีและความสมดุล.”
จริงอยู่ การอ่านคัมภีร์ไบเบิลและการคิดรำพึงอาจไม่เปลี่ยนสภาพการณ์จริง ๆ ของเรา. กระนั้น นั่นอาจเปลี่ยนวิธีที่เรามองสภาพการณ์ของเรา. การนำแนวคิดในพระคำของพระเจ้าเข้ามาสู่หัวใจของเราช่วยให้เราคิดเหมือนพระองค์. อีกประการหนึ่ง การศึกษาช่วยเราให้เข้าใจมากขึ้นในเรื่องความมีพระทัยกว้างขวางของพระเจ้า. เราอาจค่อย ๆ ยอมรับว่าพระยะโฮวาไม่ทรงถือโทษเราเนื่องจากสภาพแวดล้อมในวัยเด็ก และพระองค์ไม่ทรงตำหนิเราสำหรับความอ่อนแอทางร่างกายของเรา. พระองค์ทรงทราบว่าภาระที่เราหลายคนแบกรับอยู่—ไม่ว่าจะเป็นทางอารมณ์หรือทางร่างกาย—บ่อยครั้งไม่ได้เกิดจากเราเอง และพระองค์ทรงคำนึงถึงเรื่องนี้ด้วยความรัก.
มาร์กาเรตเต ซึ่งกล่าวถึงข้างต้นเป็นอย่างไรบ้าง? เมื่อเธอได้มารู้จักพระยะโฮวา การศึกษาคัมภีร์ไบเบิลเป็นประโยชน์สำหรับเธอเช่นกัน. เช่นเดียวกับฟริตซ์ เธอต้องเปลี่ยนภาพลักษณ์ของเธอที่มีต่อบิดาเสียใหม่. การอธิษฐานช่วยมาร์กาเรตเตให้รวบรวมสิ่งที่เธอได้เรียนรู้จากการศึกษาเข้าด้วยกัน. มาร์กาเรตเตกล่าวว่า “เพื่อจะเริ่มต้น ดิฉันนึกถึงพระยะโฮวาในฐานะเพื่อนสนิท เนื่องจากดิฉันมีประสบการณ์กับเพื่อนที่มีความรักมากกว่ากับคุณพ่อที่มีความรัก. แล้วอย่างค่อยเป็นค่อยไป ดิฉันเรียนรู้ที่จะระบายความรู้สึก, ความสงสัย, ความกังวล, และปัญหาต่าง ๆ ต่อพระยะโฮวา. ดิฉันพูดคุยกับพระองค์โดยการอธิษฐานซ้ำแล้วซ้ำเล่า ในเวลาเดียวกันก็นำสิ่งใหม่ ๆ ที่ดิฉันได้เรียนรู้เกี่ยวกับพระองค์มาประกอบกัน เหมือนภาพโมเสก. เมื่อเวลาผ่านไประยะหนึ่ง ความรู้สึกของดิฉันต่อพระยะโฮวาพัฒนาขึ้นถึงขนาดที่ตอนนี้ดิฉันแทบจะไม่มีปัญหาในการนึกถึงพระองค์ในฐานะพระบิดาผู้เปี่ยมด้วยความรัก.”
ปลดปล่อยจากความกังวลทุกอย่าง
ตราบใดที่ระบบเก่าอันชั่วช้านี้ยังคงอยู่ ไม่มีใครหวังได้ว่าจะปราศจากความกังวล. สำหรับคริสเตียนบางคน นี่หมายความว่าความรู้สึกกังวลหรือความสงสัยในตัวเองอาจเกิดขึ้นอีกและก่อให้เกิดความทุกข์ใจ. แต่เรามั่นใจได้ว่าพระยะโฮวาทรงทราบเจตนาดีของเราและงานหนักที่เราทำในการรับใช้. พระองค์จะไม่มีวันลืมความรักที่เราแสดงต่อพระนามของพระองค์เลย.—เฮ็บราย 6:10.
ขณะที่แผ่นดินโลกใหม่ภายใต้ราชอาณาจักรมาซีฮาคืบใกล้เข้ามา มนุษย์ผู้ซื่อสัตย์ทุกคนคาดหมายได้ว่าจะถูกปลดปล่อยจากภาระต่าง ๆ แห่งระบบของซาตาน. นั่นจะเป็นการปลดเปลื้องอย่างแท้จริง! ตอนนั้น เราจะเห็นหลักฐานมากขึ้นด้วยซ้ำว่า พระยะโฮวาทรงมีพระทัยกว้างมากสักเพียงไร. กว่าจะถึงตอนนั้น ขอให้เรามั่นใจว่า “พระเจ้าก็ยังทรงเป็นใหญ่กว่าใจของเรา, และยังทรงทราบสารพัตรทุกสิ่ง.”—1 โยฮัน 3:20.
[เชิงอรรถ]
a ชื่อต่าง ๆ เป็นนามสมมุติ
[ภาพหน้า 30]
พระยะโฮวา ไม่ทรงเป็นผู้เผด็จการที่โหดร้าย แต่ทรงเป็นพระบิดาที่มีความอบอุ่น, พระทัยกว้าง, และเมตตาสงสาร
[ภาพหน้า 31]
การศึกษาพระคำของพระเจ้าช่วยเราให้คิดเหมือนพระองค์