“พระเจ้าทรงรักเราเช่นนี้”
“ถ้าพระเจ้าทรงรักเราเช่นนี้แล้ว ตัวเราเองก็มีพันธะที่จะรักซึ่งกันและกัน.”—1 โยฮัน 4:11, ล.ม.
1. เมื่อถึงวันที่ 23 มีนาคม หลังดวงอาทิตย์ตก ทำไมหลายล้านคนจะไปร่วมชุมนุมกันตามหอประชุมราชอาณาจักรและสถานที่ประชุมอื่น ๆ ทั่วโลก?
วันอาทิตย์ที่ 23 มีนาคม 1997 หลังดวงอาทิตย์ตก ไม่ต้องสงสัยเลยว่าจะมีผู้คนมากกว่า 13,000,000 คนทั่วโลกเข้ามาชุมนุมกันที่หอประชุมราชอาณาจักรและตามสถานประชุมอื่น ๆ ที่พยานพระยะโฮวาใช้. ทำไม? เพราะพวกเขาประทับใจการแสดงความรักที่ยิ่งใหญ่ที่สุดของพระเจ้าต่อมนุษยชาติ. พระเยซูคริสต์ทรงนำความสนใจไปสู่พยานหลักฐานอันโดดเด่นแห่งความรักของพระเจ้า เมื่อพระองค์ตรัสว่า “พระเจ้าทรงรักโลกมากจนถึงกับได้ประทานพระบุตรผู้ได้รับกำเนิดองค์เดียวของพระองค์ เพื่อทุกคนที่แสดงความเชื่อในพระบุตรนั้นจะไม่พินาศ แต่มีชีวิตนิรันดร์.”—โยฮัน 3:16, ล.ม.
2. คำถามอะไรบ้างที่เราทุกคนอาจได้รับประโยชน์โดยถามตัวเองซึ่งเกี่ยวกับการสนองตอบของเราต่อความรักของพระเจ้า?
2 ขณะที่เราพิจารณาความรักที่พระเจ้าทรงแสดง เราน่าจะถามตัวเองว่า ‘ฉันหยั่งรู้ค่าอย่างแท้จริงไหมต่อสิ่งที่พระเจ้าได้ทรงทำ? วิธีที่ฉันใช้ชีวิตให้หลักฐานถึงความหยั่งรู้ค่านั้นไหม?’
“พระเจ้าทรงเป็นความรัก”
3. (ก) เหตุใดการที่พระเจ้าทรงสำแดงความรักไม่ใช่เรื่องแปลกสำหรับพระองค์? (ข) ฤทธิ์เดชและพระสติปัญญาปรากฏชัดในผลงานการทรงสร้างของพระองค์อย่างไร?
3 การที่พระเจ้าทรงแสดงความรักไม่ใช่เรื่องแปลกเลย เพราะ “พระเจ้าทรงเป็นความรัก.” (1 โยฮัน 4:8) ความรักเป็นคุณลักษณะเด่นของพระองค์. ตอนที่พระองค์ทรงตระเตรียมแผ่นดินโลกให้เป็นที่อยู่อาศัยของมนุษย์ การที่พระองค์ทรงยกแผ่นดินให้สูงขึ้นเป็นภูเขาและรวบรวมน้ำสู่แอ่งเป็นทะเลสาบและมหาสมุทรทั้งหลายนั้นเป็นการสำแดงฤทธานุภาพ ที่น่าพิศวงอย่างยิ่ง. (เยเนซิศ 1:9, 10) เมื่อพระเจ้าทรงเริ่มต้นวัฏจักรของน้ำและวัฏจักรของออกซิเจน, เมื่อพระองค์ทรงออกแบบจุลชีพจำนวนมากมายนับไม่ถ้วนและพืชพรรณหลากชนิดเพื่อจัดการเปลี่ยนองค์ประกอบทางเคมีของแผ่นดินโลกให้อยู่ในรูปที่มนุษย์สามารถดูดซึมเอาไปใช้ได้เพื่อค้ำจุนชีวิตของตน, เมื่อพระองค์ทรงตั้งนาฬิกาชีวภาพให้สอดคล้องกับความยาวของวันและเดือนบนลูกโลกนี้ ทั้งหมดนี้แสดงชัดถึงพระสติปัญญา อันยิ่งใหญ่. (บทเพลงสรรเสริญ 104:24; ยิระมะยา 10:12) กระนั้น สิ่งที่นับว่าเด่นยิ่งกว่านั้นที่เห็นได้ในสิ่งทรงสร้างทางกายภาพก็คือหลักฐานเกี่ยวกับความรัก ของพระเจ้า.
4. หลักฐานอะไรในเรื่องความรักของพระเจ้าในสิ่งทรงสร้างทางกายภาพที่เราทุกคนน่าจะเห็นและหยั่งรู้ค่า?
4 ความรู้สึกในการรับรสทำให้เราสำนึกถึงความรักของพระเจ้า เมื่อเรากัดผลไม้ที่สุกฉ่ำช่ำชื่นซึ่งเห็นได้ชัดว่าถูกสร้างขึ้นมาไม่เพียงเพื่อประทังชีวิตเราเท่านั้น แต่เพื่อให้ความเพลิดเพลินแก่เราด้วย. ตาของเรามองเห็นหลักฐานแห่งความรักของพระองค์อย่างที่ไม่อาจเข้าใจเป็นอื่นไปได้ในภาพของดวงอาทิตย์อัสดงอันน่าพิศวง, ท้องฟ้าที่ดารดาษไปด้วยดาวในคืนฟ้าใส, สีสันสดใสและหลากหลายรูปแบบของดอกไม้, การกระโดดโลดเต้นที่น่าขบขันของลูกสัตว์ที่เล่นกัน, และรอยยิ้มที่จริงใจของเพื่อน ๆ. จมูกของเราทำให้ตระหนักถึงความรักของพระเจ้าเมื่อเราสูดกลิ่นหอมของดอกไม้ในฤดูใบไม้ผลิ. หูของเรารู้สึกถึงความรักของพระองค์ขณะที่จับสรรพสำเนียงไม่ว่าจะเป็นเสียงน้ำตก, เพลงที่เหล่านกขับขาน, และน้ำเสียงของผู้เป็นที่รัก. เรารู้สึกได้ถึงความรักของพระองค์เมื่อคนที่เรารักสวมกอดเราเอาไว้อย่างอบอุ่น. สัตว์บางชนิดมีความสามารถพิเศษในการมองเห็น, ได้ยิน, หรือได้กลิ่นอย่างที่มนุษย์เราไม่สามารถทำได้เช่นนั้น. แต่มนุษย์ซึ่งถูกสร้างตามแบบพระฉายของพระเจ้ามีความสามารถรู้สึกได้ถึงความรักของพระเจ้าในแบบที่สัตว์ไม่สามารถรู้สึกได้.—เยเนซิศ 1:27.
5. พระยะโฮวาทรงแสดงความรักอย่างเหลือล้นต่ออาดามและฮาวาอย่างไร?
5 เมื่อพระยะโฮวาพระเจ้าทรงสร้างอาดามและฮาวามนุษย์คู่แรก พระองค์ทรงให้พวกเขาอยู่ในสภาพแวดล้อมที่เต็มไปด้วยหลักฐานแห่งความรักของพระองค์. พระองค์ได้ทรงสร้างอุทยานขึ้นและให้มีต้นไม้ทุกชนิดเติบโตขึ้นในสวนนี้. พระองค์ทรงจัดให้มีแม่น้ำที่ให้ความชุ่มชื่นแก่สวนนี้ และให้บรรดานกและสัตว์ต่าง ๆ ที่น่าดูอยู่ในสวนนี้. พระองค์ทรงประทานสิ่งทั้งหมดนี้แก่อาดามและฮาวาให้เป็นบ้านของพวกเขา. (เยเนซิศ 2:8-10, 19) พระยะโฮวาทรงปฏิบัติต่อพวกเขาฐานะบุตรของพระองค์ เป็นส่วนหนึ่งของครอบครัวสากลของพระองค์. (ลูกา 3:38) เมื่อได้ทรงจัดสวนเอเดนไว้ให้เป็นแบบแล้ว พระบิดาฝ่ายสวรรค์ของมนุษย์คู่แรกทรงมอบหมายงานที่น่าพึงพอใจแก่พวกเขาให้ขยายอุทยานจนเต็มแผ่นดินโลก. แผ่นดินโลกทั้งสิ้นจะเต็มไปด้วยประชากรที่เป็นลูกหลานของเขาทั้งสอง.—เยเนซิศ 1:28.
6. (ก) คุณรู้สึกอย่างไรเกี่ยวด้วยแนวทางกบฏที่อาดามและฮาวาได้เลือก? (ข) อะไรที่อาจบ่งบอกว่าเราได้เรียนรู้จากสิ่งที่เกิดขึ้นในสวนเอเดนและเราได้รับประโยชน์จากความรู้นั้น?
6 อย่างไรก็ตาม ไม่ช้าอาดามและฮาวาก็เผชิญการทดสอบความเชื่อฟัง ซึ่งเป็นการทดสอบความภักดี. คนหนึ่งก่อนแล้วอีกคนก็เช่นกัน ไม่ได้แสดงความหยั่งรู้ค่าต่อความรักที่ทรงประทานแก่พวกเขา. สิ่งที่พวกเขาทำนั้นน่าตกตะลึงทีเดียว. เป็นการกระทำที่ไม่อาจให้อภัยได้! ผลคือ พวกเขาสูญเสียสัมพันธภาพของตนกับพระเจ้า, ถูกขับออกจากครอบครัวของพระองค์, และถูกไล่ออกจากสวนเอเดน. ในปัจจุบัน เรายังคงรู้สึกถึงผลกระทบแห่งบาปของพวกเขา. (เยเนซิศ 2:16, 17; 3:1-6, 16-19, 24; โรม 5:12) แต่เราได้เรียนรู้ไหมจากสิ่งที่เกิดขึ้น? เรา ตอบสนองความรักของพระเจ้าอย่างไร? การตัดสินใจของเราในแต่ละวันแสดงไหมว่าเราหยั่งรู้ค่าความรักของพระองค์?—1 โยฮัน 5:3.
7. แม้ว่าอาดามและฮาวาไม่ได้แสดงความหยั่งรู้ค่าต่อพระองค์ พระยะโฮวาทรงแสดงความรักต่อบรรดาลูกหลานของพวกเขาอย่างไร?
7 แม้ว่าบิดามารดาแรกของมนุษย์ขาดความหยั่งรู้ค่าอย่างสิ้นเชิงต่อสรรพสิ่งที่พระเจ้าได้ทรงทำเพื่อพวกเขา แต่นั่นไม่ได้ทำให้พระเจ้าแสดงความรักของพระองค์น้อยลง. ด้วยทรงมีพระเมตตาต่อมนุษย์ทั้งหลายซึ่งตอนนั้นยังไม่ได้เกิดมา—รวมทั้งพวกเราที่มีชีวิตอยู่ในเวลานี้ด้วย—พระเจ้าทรงอนุญาตให้อาดามและฮาวามีลูกหลานก่อนที่จะตายไป. (เยเนซิศ 5:1-5; มัดธาย 5:44, 45) หากพระองค์ไม่ได้ทรงทำอย่างนั้น ก็จะไม่มีใครสักคนในพวกเราได้เกิดมา. ด้วยการเปิดเผยพระทัยประสงค์ของพระองค์เป็นขั้น ๆ พระยะโฮวาทรงจัดให้มีพื้นฐานความหวังสำหรับลูกหลานทุกคนของอาดามที่แสดงความเชื่อ. (เยเนซิศ 3:15; 22:18; ยะซายา 9:6, 7) การจัดเตรียมของพระองค์รวมถึงการจัดให้มีวิธีที่ประชาชนจากทุกชาติสามารถได้รับสิ่งที่อาดามทำให้เสียไปกลับคืนมา กล่าวคือชีวิตมนุษย์สมบูรณ์ฐานะสมาชิกครอบครัวสากลของพระเจ้าที่พระองค์ทรงยอมรับ. พระองค์ทรงจัดการเรื่องนี้โดยการจัดเตรียมค่าไถ่.
ทำไมต้องมีค่าไถ่?
8. เหตุใดพระเจ้าไม่อาจทำโดยเพียงแต่มีประกาศิตว่าแม้อาดามแลฮาวาต้องตาย ลูกหลานที่เชื่อฟังของพวกเขาไม่ต้องตาย?
8 จำเป็นจริง ๆ หรือที่ต้องมีการจ่ายราคาค่าไถ่ในรูปชีวิตมนุษย์? เป็นไปได้ไหมที่พระเจ้าเพียงแค่มีประกาศิตว่า แม้อาดามและฮาวาต้องตายเพราะการกบฏของตน ลูกหลานทั้งหมดของเขาที่เชื่อฟังพระเจ้าสามารถมีชีวิตนิรันดร์ได้? จากมุมมองของมนุษย์ที่มองเห็นได้ไม่กว้างไกล นั่นอาจฟังดูมีเหตุผลดี. อย่างไรก็ตาม พระยะโฮวาทรง “รักความชอบธรรมและความยุติธรรม.” (บทเพลงสรรเสริญ 33:5) เฉพาะแต่หลังจากอาดามและฮาวาได้กลายเป็นคนบาปแล้วเท่านั้นที่เขาทั้งสองให้กำเนิดบุตร; ด้วยเหตุนั้นไม่มีลูกคนใดที่เกิดมาเป็นมนุษย์สมบูรณ์. (บทเพลงสรรเสริญ 51:5) พวกเขาทั้งหมดรับมรดกแห่งบาป และโทษสำหรับบาปคือความตาย. หากพระยะโฮวาทรงมองข้ามเรื่องนี้ นั่นจะเป็นตัวอย่างเช่นไรสำหรับสมาชิกแห่งครอบครัวสากลของพระองค์? พระองค์ไม่อาจเพิกเฉยต่อมาตรฐานอันชอบธรรมของพระองค์เอง. พระองค์ทรงนับถือกฎเกณฑ์ของความยุติธรรม. ไม่มีใครที่จะสามารถวิพากษ์วิจารณ์ด้วยเหตุผลที่ฟังขึ้นเกี่ยวกับวิธีที่พระเจ้าทรงจัดการกับประเด็นต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง.—โรม 3:21-23.
9. ตามมาตรฐานความยุติธรรมของพระเจ้า จำเป็นต้องมีค่าไถ่ชนิดใด?
9 ถ้าอย่างนั้น อาจจัดให้มีรากฐานที่เหมาะสมอย่างไรเพื่อช่วยลูกหลานของอาดามที่แสดงการเชื่อฟังด้วยความรักต่อพระยะโฮวาให้รอด? ถ้ามนุษย์สมบูรณ์ คนหนึ่งสละชีวิตเป็นพลีกรรม ตามหลักความยุติธรรมแล้ว ชีวิตที่สมบูรณ์นั้นก็จะมีคุณค่าปกปิดบาปของคนที่แสดงความเชื่อและรับเอาค่าไถ่นั้น. เนื่องจากบาปของมนุษย์คนเดียว คืออาดาม ทำให้ครอบครัวมนุษย์ทั้งสิ้นกลายเป็นคนบาป การหลั่งโลหิตของมนุษย์สมบูรณ์อีกคนหนึ่งซึ่งมีค่าเท่าเทียมกันจึงสามารถถ่วงดุลตราชูแห่งความยุติธรรมได้. (1 ติโมเธียว 2:5, 6) แต่จะหาบุคคลที่สมบูรณ์เช่นนั้นได้จากที่ไหน?
ต้องจ่ายแพงขนาดไหน?
10. ทำไมลูกหลานของอาดามไม่สามารถจัดให้มีค่าไถ่ที่จำเป็นได้?
10 ในท่ามกลางลูกหลานของอาดามผู้ผิดบาป ไม่มีสักคนเดียวที่อาจจัดให้มีสิ่งที่จำเป็นเพื่อซื้อคืนความคาดหวังในเรื่องชีวิตที่อาดามได้ทำให้หลุดลอยไป. “ไม่มีใครสักคนเดียว ไม่ว่าจะทำด้วยวิธีใด ๆ ก็ไถ่ชีวิตน้องชายของเขาไม่ได้, หรือจะเอาทรัพย์ถวายพระเจ้าเพื่อไถ่ชีวิตน้องก็ไม่ได้. เพราะการไถ่ชีวิตของเขานั้นมีค่ามาก, ไม่มีวันสำเร็จเลย. เขาจะไถ่ชีวิตไว้ให้ยั่งยืนเป็นนิจไม่ให้เห็นความเปื่อยเน่าไม่ได้.” (บทเพลงสรรเสริญ 49:7-9) แทนที่จะปล่อยมนุษยชาติให้อับจนสิ้นหวัง พระยะโฮวาทรงพระเมตตาลงมือเตรียมการด้วยพระองค์เอง.
11. พระยะโฮวาทรงจัดให้มีชีวิตมนุษย์สมบูรณ์ที่จำเป็นสำหรับเป็นค่าไถ่ที่เหมาะสมโดยวิธีใด?
11 พระยะโฮวาไม่ได้ทรงส่งทูตสวรรค์ลงมายังแผ่นดินโลกนี้ให้แสร้งตายโดยสละกายจำแลงแล้วมีชีวิตต่อไปฐานะกายวิญญาณ. แทนที่จะทำดังนั้น โดยกระทำการอัศจรรย์ที่เฉพาะพระเจ้าพระผู้สร้างเท่านั้นสามารถทำได้ พระองค์ทรงโยกย้ายพลังชีวิตและแบบแห่งบุคลิกลักษณะของพระบุตรทางภาคสวรรค์สู่ครรภ์ของหญิงคนหนึ่ง คือมาเรียบุตรสาวของเฮลีแห่งตระกูลยูดา. พระวิญญาณบริสุทธิ์ พลังปฏิบัติการของพระเจ้า ช่วยปกป้องคุ้มครองทารกให้พัฒนาขึ้นมาในครรภ์มารดา และทารกนั้นจึงคลอดออกมาเป็นมนุษย์สมบูรณ์. (ลูกา 1:35; 1 เปโตร 2:22) ดังนั้น บุคคลผู้นี้จึงมีคุณค่าที่จำเป็นอยู่พร้อมจะจ่ายเป็นค่าไถ่ ซึ่งจะทำให้บรรลุกฎเกณฑ์แห่งความยุติธรรมของพระเจ้าอย่างครบถ้วน.—เฮ็บราย 10:5.
12. (ก) พระเยซูทรงเป็น “พระบุตรผู้ได้รับกำเนิดองค์เดียว” ในแง่ใด? (ข) การที่พระเจ้าทรงส่งผู้นี้มาเพื่อจัดให้มีค่าไถ่เน้นความรักของพระองค์ที่มีต่อเราอย่างไร?
12 บุตรฝ่ายสวรรค์องค์ไหนในจำนวนมากมายจนไม่อาจนับได้ที่พระยะโฮวาทรงมอบหมายหน้าที่นี้? บุตรองค์นั้นได้แก่ผู้ที่ได้รับการพรรณนาไว้ในพระคัมภีร์ว่าเป็น “พระบุตรผู้ได้รับกำเนิดองค์เดียว” ของพระองค์. (1 โยฮัน 4:9, ล.ม.) คำนี้ใช้พรรณนาถึงพระองค์ไม่ใช่ในตอนที่ทรงลงมาประสูติเป็นมนุษย์ แต่ตอนที่พระองค์อยู่ในสวรรค์ก่อนนั้น. พระองค์เป็นผู้เดียวที่พระยะโฮวาทรงสร้างโดยตรงโดยที่ไม่มีใครเป็นลูกมือ. พระองค์ทรงเป็นพระบุตรหัวปีแห่งสิ่งทรงสร้างทั้งปวง. พระองค์เป็นผู้ที่พระเจ้าทรงใช้ให้สร้างสิ่งทรงสร้างอื่น ๆ ทั้งสิ้นขึ้นมา. เหล่าทูตสวรรค์เป็นบุตรของพระเจ้า เช่นเดียวกับที่อาดามเป็นบุตรของพระเจ้า. แต่พระเยซูทรงได้รับการพรรณนาว่าได้รับ “สง่าราศีซึ่งเป็นของพระบุตรผู้ได้รับกำเนิดองค์เดียวจากพระบิดา.” มีการกล่าวถึงพระองค์ว่า “ทรงสถิตอยู่ที่ทรวงของพระบิดา.” (โยฮัน 1:14, 18, ล.ม.) สัมพันธภาพของพระองค์กับพระบิดานั้นใกล้ชิด, ไว้เนื้อเชื่อใจกัน, และละมุนละไม. พระองค์ทรงร่วมในความรักของพระบิดาที่มีต่อมนุษยชาติ. สุภาษิต 8:30, 31 แสดงความรู้สึกของพระบิดาที่มีต่อพระบุตรองค์นี้และพระบุตรเองรู้สึกอย่างไรต่อมนุษยชาติ: “เราชื่นชมยินดีทุกวัน. ร่าเริงอยู่เสมอเฉพาะพระองค์, . . . และความชื่นชมยินดีของเรา [พระปัญญาซึ่งถูกเปรียบเป็นตัวบุคคล และหมายถึงพระเยซู นายช่างผู้ชำนาญของพระยะโฮวา] ก็คลุกคลีอยู่กับพงศ์พันธุ์ของมนุษย์.” พระบุตรที่ประเสริฐที่สุดองค์นี้เองที่พระเจ้าทรงใช้ให้มายังแผ่นดินโลกเพื่อจัดเตรียมค่าไถ่. ด้วยเหตุนั้น คำตรัสของพระเยซูจึงนับว่ามีความหมายสักเพียงไรเมื่อพระองค์ตรัสว่า “พระเจ้าทรงรักโลกมากจนถึงกับได้ประทานพระบุตรผู้ได้รับกำเนิดองค์เดียวของพระองค์”!—โยฮัน 3:16, ล.ม.
13, 14. บันทึกในคัมภีร์ไบเบิลเรื่องความพยายามของอับราฮามที่จะถวายยิศฮาคควรจะช่วยเราให้หยั่งรู้ค่าเช่นไรต่อสิ่งที่พระยะโฮวาได้ทรงทำ? (1 โยฮัน 4:10)
13 เพื่อช่วยเราเข้าใจดีขึ้นว่านั่นหมายถึงอะไร นานก่อนที่พระเยซูจะมายังโลกนี้ เมื่อประมาณ 3,890 ปีมาแล้ว พระเจ้าทรงมีรับสั่งแก่อับราฮามดังนี้: “จงพาบุตรที่รักคนเดียวของเจ้า คือ ยิศฮาคไปที่แผ่นดินโมริยา; ถวายเป็นเครื่องบูชาเผาเสียบนภูเขาแห่งหนึ่งที่เราจะชี้ให้เจ้า.” (เยเนซิศ 22:1, 2) ด้วยความเชื่อ อับราฮามยอมทำตาม. ลองนึกภาพว่าคุณเองเป็นอับราฮาม. จะว่าอย่างไรหากนั่นเป็นบุตรของคุณ บุตรซึ่งมีอยู่เพียงคนเดียวที่คุณรักมาก? คุณจะรู้สึกอย่างไรขณะที่คุณผ่าฟืนสำหรับเครื่องบูชาเผา, ขณะเดินทางหลายวันไปที่แผ่นดินโมริยา, และขณะที่คุณให้บุตรของคุณนอนบนแท่นนั้น?
14 ทำไมบิดาที่มีความเมตตากรุณามีความรู้สึกเช่นนั้น? เยเนซิศ 1:27 บอกว่าพระเจ้าทรงสร้างมนุษย์ตามแบบฉายาของพระองค์. ความรู้สึกรักและความเมตตาที่เรามีสะท้อนให้เห็นเพียงน้อยนิดถึงความรักและความเมตตาของพระยะโฮวาเอง. ในกรณีของอับราฮาม พระเจ้าทรงเข้าแทรกแซงเพื่อว่า ยิศฮาคจะไม่ถูกฆ่าถวายเป็นเครื่องบูชาจริง ๆ. (เยเนซิศ 22:12, 13; เฮ็บราย 11:17-19) อย่างไรก็ดี ในกรณีของพระองค์เอง พระยะโฮวามิได้ทรงทำให้การจัดเตรียมค่าไถ่หยุดชะงักไป แม้ว่าทั้งพระองค์เองและพระบุตรต้องจ่ายด้วยราคาที่แพงมาก. สิ่งที่ได้ทำไป ไม่ใช่เพราะพระเจ้าทรงมีพันธะจะต้องทำ หากแต่เป็นการแสดงพระกรุณาคุณอันล้ำเลิศที่ไม่พึงได้รับ. เราหยั่งรู้ค่าพระกรุณาคุณนี้อย่างยิ่งมิใช่หรือ?—เฮ็บราย 2:9.
สิ่งที่ค่าไถ่ทำให้เป็นไปได้
15. ค่าไถ่มีผลกระทบชีวิตของผู้คนแม้แต่ในระบบปัจจุบันนี้อย่างไร?
15 การจัดเตรียมด้วยความรักที่พระเจ้าได้ทรงทำมีผลอย่างลึกซึ้งต่อชีวิตของคนที่รับเอาด้วยความเชื่อ. ก่อนนั้นพวกเขาห่างเหินจากพระเจ้าเนื่องด้วยผลของบาป. ดังที่พระคำของพระองค์กล่าวเอาไว้ พวกเขาเป็น “ศัตรูของพระองค์เพราะได้กระทำความชั่วและคิดชั่วช้า.” (โกโลซาย 1:21-23, ฉบับประชานิยม) แต่พวกเขาได้ “กลับเป็นไมตรีกันกับพระเจ้าโดยความตายแห่งพระบุตรของพระองค์.” (โรม 5:8-10) เมื่อได้เปลี่ยนแนวทางชีวิตของตนและรับการอภัยโทษซึ่งพระเจ้าทรงทำให้เป็นไปได้สำหรับคนที่แสดงความเชื่อในเครื่องบูชาของพระคริสต์แล้ว พวกเขาจึงได้มีสติรู้สึกผิดชอบที่สะอาด.—เฮ็บราย 9:14; 1 เปโตร 3:21.
16. แกะฝูงน้อยได้รับพระพรอะไรเนื่องด้วยความเชื่อของพวกเขาในค่าไถ่?
16 พระยะโฮวาได้ทรงแสดงพระกรุณาคุณอันไม่พึงได้รับต่อแกะฝูงน้อยซึ่งมีจำนวนจำกัดให้สมทบกับพระบุตรของพระองค์ในราชอาณาจักรฝ่ายสวรรค์ โดยมุ่งหมายจะทำให้พระประสงค์ดั้งเดิมของพระองค์สำหรับแผ่นดินโลกสำเร็จ. (ลูกา 12:32) คนเหล่านี้ถูกเรียก “จากทุกตระกูลและทุกภาษาและทุกชนชาติและทุกชาติ. . . . เป็นราชอาณาจักรและปุโรหิตแด่พระเจ้าของเรา และพวกเขาจะปกครองเป็นกษัตริย์เหนือแผ่นดินโลก.” (วิวรณ์ 5:9, 10, ล.ม.) อัครสาวกเปาโลเขียนถึงคนเหล่านี้ว่า “ท่านทั้งหลายได้รับวิญญาณแห่งการรับเป็นบุตรชายซึ่งโดยวิญญาณนั้น เราร้องเรียกว่า: ‘อับบา, พระบิดา!’ พระวิญญาณเองเป็นพยานร่วมกับวิญญาณของเราว่า เราเป็นบุตรของพระเจ้า. ดังนั้น ถ้าเราเป็นบุตรแล้ว เราก็เป็นทายาทด้วย: แน่นอน ทายาทของพระเจ้า แต่เป็นทายาทร่วมกับพระคริสต์.” (โรม 8:15-17, ล.ม.) โดยที่พระเจ้าได้รับพวกเขาเป็นบุตรชายของพระองค์ พวกเขาจึงได้รับสิทธิพิเศษในการมีสัมพันธภาพอันล้ำค่าที่อาดามได้ทำให้เสียไป; แต่บุตรชายเหล่านี้ยังจะได้รับสิทธิพิเศษแห่งการรับใช้ทางภาคสวรรค์เพิ่มเข้ามาอีกด้วยซึ่งอาดามไม่เคยมี. ไม่แปลกที่อัครสาวกโยฮันกล่าวว่า “จงดูเถิดพระบิดาทรงโปรดประทานความรักแก่เราทั้งหลายเพียงไร, ที่เราจะได้ชื่อว่าเป็นบุตรของพระเจ้า”! (1 โยฮัน 3:1) ต่อคนเหล่านั้น พระเจ้าไม่ได้ทรงแสดงเพียงแค่ความรักตามหลักการ (อะกาʹเป ) เท่านั้น แต่ทรงแสดงความรักใคร่ (ฟีเลียʹ) อันอ่อนละมุนด้วย ซึ่งเป็นคุณลักษณะที่มีอยู่ในสายสัมพันธ์ของมิตรแท้.—โยฮัน 16:27.
17. (ก) โอกาสอะไรที่เปิดออกสำหรับทุกคนที่แสดงความเชื่อในค่าไถ่? (ข) ‘อิสรภาพที่เปี่ยมด้วยสง่าราศีแห่งบุตรทั้งหลายของพระเจ้า’ จะหมายถึงอะไรสำหรับพวกเขา?
17 พระยะโฮวาทรงเปิดโอกาสที่จะมีสัมพันธภาพอันล้ำค่าที่อาดามได้ทำให้เสียไปนั้นแก่คนอื่น ๆ ด้วย—ทุกคนที่แสดงความเชื่อในการจัดเตรียมด้วยพระทัยกว้างของพระเจ้าในเรื่องชีวิตโดยทางพระเยซูคริสต์. อัครสาวกเปาโลอธิบายดังนี้: “สรรพสิ่งที่สร้างแล้ว [มนุษย์โลกที่สืบลูกหลานมาจากอาดาม] มีความเพียรคอยท่าปรารถนาให้บุตรทั้งหลายของพระเจ้าปรากฏ [กล่าวคือ พวกเขาคอยให้ถึงเวลาที่จะเห็นได้อย่างชัดเจนว่า บุตรทั้งหลายของพระเจ้าซึ่งเป็นทายาทร่วมกันกับพระคริสต์ในราชอาณาจักรทางภาคสวรรค์ ลงมือปฏิบัติการเชิงสร้างสรรค์เพื่อประโยชน์ของมนุษยชาติ]. เพราะว่าสรรพสิ่งนั้นต้องเข้าอยู่ในอำนาจของอนิจจัง [พวกเขาเกิดมาในบาปพร้อมกับมีความตายรออยู่ข้างหน้า และไม่มีทางที่พวกเขาจะสามารถปลดปล่อยตัวเองให้เป็นอิสระ] มิใช่ตามอำเภอใจของมันเอง, แต่เป็นไปตามพระองค์ผู้ทรงบันดาลให้เข้าอยู่นั้น, ด้วยมีความหวังใจ [ที่ได้รับจากพระเจ้า] ว่า สรรพสิ่งนั้นจะได้รอดจากอำนาจแห่งความเสื่อมเสียและจะเข้าในสง่าราศี [“มีอิสรภาพซึ่งเปี่ยมด้วยสง่าราศี,” ล.ม.] แห่งบุตรทั้งหลายของพระเจ้า.” (โรม 8:19-21) อิสรภาพนั้นจะหมายถึงอะไร? ก็คือการที่พวกเขาได้รับการปลดปล่อยจากพันธนาการของบาปและความตาย. พวกเขาจะบรรลุความสมบูรณ์ทั้งจิตใจและร่างกาย, อุทยานจะเป็นบ้านของเขา, และจะมีชีวิตนิรันดร์เพื่อชื่นชมกับสภาพสมบูรณ์และแสดงความหยั่งรู้ค่าต่อพระยะโฮวาพระเจ้าเที่ยงแท้องค์เดียว. และทั้งหมดนี้จะเป็นไปได้โดยวิธีใด? โดยทางเครื่องบูชาค่าไถ่แห่งพระบุตรผู้ได้รับกำเนิดองค์เดียวของพระเจ้า.
18. วันที่ 23 มีนาคม หลังดวงอาทิตย์ตก เราจะทำอะไร และทำไม?
18 วันที่ 14 เดือนไนซาน ปีสากลศักราช 33 ณ ห้องชั้นบนแห่งหนึ่งในกรุงยะรูซาเลม พระเยซูทรงตั้งอนุสรณ์แห่งการวายพระชนม์ของพระองค์. การฉลองเป็นประจำทุกปีเพื่อระลึกถึงการวายพระชนม์ของพระองค์ได้กลายเป็นเหตุการณ์สำคัญอย่างหนึ่งในชีวิตของคริสเตียนแท้ทุกคน. พระเยซูเองทรงมีพระบัญชาดังนี้: “จงกระทำอย่างนี้ให้เป็นที่ระลึกถึงเรา.” (ลูกา 22:19) ในปี 1997 นี้ การฉลองอนุสรณ์จะทำกันในวันที่ 23 มีนาคม หลังดวงอาทิตย์ตก (ซึ่งเป็นเวลาที่วันที่ 14 เดือนไนซานเริ่มต้น). ในวันนั้น ไม่มีสิ่งอื่นใดสำคัญไปกว่าการร่วมในโอกาสแห่งการรำลึกนี้.
คุณจะตอบอย่างไร?
▫ พระเจ้าทรงแสดงความรักอันบริบูรณ์ต่อมนุษยชาติในทางใดบ้าง?
▫ ทำไมจึงต้องมีชีวิตมนุษย์สมบูรณ์เพื่อไถ่ลูกหลานของอาดาม?
▫ พระยะโฮวาต้องจ่ายด้วยราคาแพงขนาดไหนในการจัดเตรียมค่าไถ่?
▫ ค่าไถ่ทำให้อะไรเป็นไปได้?
[รูปภาพหน้า 10]
พระเจ้าทรงประทานพระบุตรผู้ได้รับกำเนิดองค์เดียวของพระองค์