จงรักษา “ความหวังเกี่ยวกับความรอด” ให้สดใสเสมอ!
“เอาความหวังเกี่ยวกับความรอดมาสวมเป็นหมวกเหล็ก.”—1 เธซะโลนิเก 5:8, ล.ม.
1. “ความหวังเกี่ยวกับความรอด” ช่วยอย่างไรให้อดทน?
ความหวังที่จะได้รับการช่วยให้รอดอาจช่วยคนเราให้ยืนหยัดแม้ในสถานการณ์คับขันที่สุด. ผู้ประสบภัยเรือแตกซึ่งล่องลอยไปกับแพชูชีพสามารถอดทนได้นานกว่ามากหากเขาทราบว่าความช่วยเหลือกำลังจะมาถึง. คล้ายคลึงกัน เป็นเวลาหลายพันปี ความหวังที่จะได้เห็น “ความรอดมาแต่พระยะโฮวา” ได้ค้ำจุนชายหญิงที่มีความเชื่อในยามยากลำบาก และความหวังนี้ไม่เคยทำให้ผิดหวัง. (เอ็กโซโด 14:13; บทเพลงสรรเสริญ 3:8; โรม 5:5; 9:33) อัครสาวกเปาโลเปรียบ “ความหวังเกี่ยวกับความรอด” เหมือนกับ “หมวกเหล็ก” ซึ่งเป็นหนึ่งในยุทธภัณฑ์ฝ่ายวิญญาณของคริสเตียน. (1 เธซะโลนิเก 5:8; เอเฟโซ 6:17) ถูกแล้ว การที่เรามั่นใจว่าพระเจ้าจะทรงช่วยเราให้รอดป้องกันความสามารถในการคิดของเราไว้ ช่วยเรารักษาสติแม้เผชิญความทุกข์ยาก, การต่อต้าน, และการล่อใจ.
2. “ความหวังเกี่ยวกับความรอด” เป็นพื้นฐานในทางใดบ้างสำหรับการนมัสการแท้?
2 สารานุกรม ดิ อินเตอร์แนชันแนล สแตนดาร์ด ไบเบิล กล่าวว่า “ความหวังเกี่ยวกับอนาคตไม่ได้เป็นลักษณะเฉพาะของโลกนอกรีต” ซึ่งเป็นสังคมมนุษย์ที่ล้อมรอบคริสเตียนในศตวรรษแรก. (เอเฟโซ 2:12; 1 เธซะโลนิเก 4:13) กระนั้น “ความหวังเกี่ยวกับความรอด” เป็นองค์ประกอบพื้นฐานอย่างหนึ่งของการนมัสการแท้. เป็นเช่นนั้นอย่างไร? ประการแรก ความรอดของผู้รับใช้พระยะโฮวาเชื่อมโยงอยู่กับพระนามของพระองค์เอง. อาซาฟผู้ประพันธ์เพลงสรรเสริญอธิษฐานว่า “ข้าแต่พระเจ้าผู้เป็นเหตุแห่งความรอด, ขอทรงโปรดช่วยข้าพเจ้า, เพราะเห็นแก่พระเกียรติยศแห่งพระนามของพระองค์; ทรงโปรดช่วยพวกข้าพเจ้าให้รอด.” (บทเพลงสรรเสริญ 79:9; ยะเอศเคล 20:9) นอกจากนั้น การมีความมั่นใจในพระพรที่พระยะโฮวาทรงสัญญาเป็นเรื่องจำเป็นเพื่อจะมีสัมพันธภาพที่ดีกับพระองค์. เปาโลกล่าวดังนี้: “ถ้าไม่มีความเชื่อ เป็นไปไม่ได้ที่จะเป็นที่ชอบพระทัยพระองค์ เพราะผู้ที่เข้าเฝ้าพระเจ้าต้องเชื่อว่าพระองค์ทรงพระชนม์อยู่และพระองค์มาเป็นผู้ประทานบำเหน็จให้แก่คนเหล่านั้นที่แสวงหาพระองค์อย่างจริงใจ.” (เฮ็บราย 11:6, ล.ม.) ยิ่งกว่านั้น เปาโลอธิบายว่า ความรอดของผู้กลับใจเป็นเหตุผลสำคัญที่พระเยซูเสด็จมายังแผ่นดินโลก. ท่านประกาศว่า “คำนี้สัตย์จริงและสมควรที่จะรับรองไว้ คือว่าพระคริสต์เยซูเข้ามาในโลกเพื่อช่วยคนบาปให้รอด.” (1 ติโมเธียว 1:15, ล.ม.) และอัครสาวกเปโตรกล่าวถึงความรอดว่าเป็น ‘ผลแห่งความเชื่อของเรา.’ (1 เปโตร 1:9, ล.ม.) เห็นได้ชัด เป็นเรื่องเหมาะสมที่จะหวังได้รับความรอด. แต่ความรอดคืออะไรจริง ๆ? และมีข้อเรียกร้องอะไรเพื่อจะได้ความรอด?
ความรอดคืออะไร?
3. ความรอดชนิดใดที่ผู้รับใช้ของพระยะโฮวาในสมัยโบราณได้ประสบ?
3 ในพระคัมภีร์ภาคภาษาฮีบรู “ความรอด” มักหมายถึงการช่วยเหลือหรือการช่วยให้รอดพ้นจากการกดขี่หรือจากความตายอันเจ็บปวดก่อนเวลาอันควร. เพื่อเป็นตัวอย่าง โดยเรียกพระยะโฮวาว่า “ผู้ช่วยข้าพเจ้าให้รอด” ดาวิดกล่าวว่า “พระเจ้าของข้าพเจ้าและศิลาของข้าพเจ้า. . . . เป็นที่พึ่งของข้าพเจ้า, พระองค์ผู้ช่วยให้รอดได้ทรงช่วยข้าพเจ้าให้พ้นจากผู้ทำร้าย. ข้าพเจ้าจะร้องทูลพระยะโฮวา, ผู้สมควรจะได้ความสรรเสริญ: ดังนั้นข้าพเจ้าจึงได้รอดจากศัตรู.” (2 ซามูเอล 22:2-4) ดาวิดทราบว่าพระยะโฮวาทรงสดับเมื่อผู้รับใช้ที่ซื่อสัตย์ของพระองค์ร้องขอความช่วยเหลือ.—บทเพลงสรรเสริญ 31:22, 23; 145:19.
4. ความหวังอะไรสำหรับชีวิตในอนาคตที่ผู้รับใช้ของพระยะโฮวาก่อนยุคคริสเตียนมี?
4 ผู้รับใช้ของพระยะโฮวาก่อนยุคคริสเตียนก็ยึดมั่นในความหวังเกี่ยวกับชีวิตในอนาคตด้วยเหมือนกัน. (โยบ 14:13-15; ยะซายา 25:8; ดานิเอล 12:13) ที่จริง คำสัญญามากมายเกี่ยวกับการช่วยชีวิตซึ่งพบในพระคัมภีร์ภาคภาษาฮีบรูเป็นคำพยากรณ์เกี่ยวกับความรอดที่ยิ่งใหญ่กว่า—ความรอดซึ่งนำไปสู่ชีวิตนิรันดร์. (ยะซายา 49:6, 8; กิจการ 13:47; 2 โกรินโธ 6:2) ในสมัยพระเยซู ชาวยิวเป็นอันมากหวังจะได้ชีวิตนิรันดร์ แต่พวกเขาปฏิเสธจะยอมรับพระเยซูผู้เป็นหัวใจสำคัญที่ทำให้ความหวังนั้นเป็นจริง. พระเยซูตรัสแก่พวกหัวหน้าศาสนาในสมัยพระองค์ว่า “เจ้าทั้งหลายค้นดูพระคัมภีร์ เพราะเจ้าคิดว่าโดยทางพระคัมภีร์เจ้าจะมีชีวิตนิรันดร์; และพระคัมภีร์นั้นแหละเป็นพยานถึงเรา.”—โยฮัน 5:39, ล.ม.
5. ความรอดในขั้นสุดยอดหมายถึงอะไร?
5 โดยทางพระเยซู พระเจ้าทรงเปิดเผยความหมายอันครบถ้วนของความรอด. ความรอดนั้นหมายรวมถึงการปลดปล่อยจากการครอบงำของบาป, จากพันธนาการของศาสนาเท็จ, จากโลกซึ่งอยู่ใต้การควบคุมของซาตาน, จากความกลัวมนุษย์, และแม้กระทั่งจากความกลัวตาย. (โยฮัน 17:16; โรม 8:2; โกโลซาย 1:13; วิวรณ์ 18:2, 4) สำหรับผู้รับใช้ที่ซื่อสัตย์ของพระเจ้า ความรอดในขั้นสุดยอดที่มาจากพระเจ้ามิได้หมายถึงเฉพาะแต่การช่วยให้รอดจากการกดขี่และความทุกข์เดือดร้อน แต่ยังรวมถึงโอกาสที่จะมีชีวิตนิรันดร์ด้วย. (โยฮัน 6:40; 17:3) พระเยซูทรงสอนว่าสำหรับ “ฝูงเล็ก” ความรอดหมายถึงการที่พวกเขาถูกปลุกขึ้นมารับชีวิตทางภาคสวรรค์เพื่อร่วมกับพระคริสต์ในการปกครองแห่งราชอาณาจักร. (ลูกา 12:32) สำหรับมนุษยชาติที่เหลือ ความรอดหมายถึงการฟื้นฟูชีวิตสมบูรณ์และสัมพันธภาพกับพระเจ้าที่อาดามกับฮาวาเคยมีในสวนเอเดนก่อนทำบาป. (กิจการ 3:21; เอเฟโซ 1:10) ชีวิตนิรันดร์ภายใต้สภาพอุทยานเช่นนั้นเป็นพระประสงค์ดั้งเดิมของพระเจ้าสำหรับมนุษยชาติ. (เยเนซิศ 1:28; มาระโก 10:30) อย่างไรก็ตาม การฟื้นฟูสภาพต่าง ๆ เช่นนั้นเป็นไปได้อย่างไร?
รากฐานสำหรับความรอด—ค่าไถ่
6, 7. บทบาทของพระเยซูเกี่ยวกับความรอดของเราคืออะไร?
6 ความรอดชั่วนิรันดร์เป็นไปได้เฉพาะแต่โดยทางเครื่องบูชาไถ่ของพระคริสต์. เพราะเหตุใด? คัมภีร์ไบเบิลอธิบายว่าเมื่ออาดามทำบาป เขาได้ “ขาย” ตัวเขาเองและลูกหลานทั้งหมดที่จะเกิดมาในอนาคต รวมทั้งพวกเราด้วย ให้ตกเข้าสู่บาป—ด้วยเหตุนั้น จำเป็นต้องมีค่าไถ่ มนุษยชาติจึงจะมีความหวังที่เป็นจริงได้. (โรม 5:14, 15; 7:14) การที่พระเจ้าจะทรงจัดเตรียมค่าไถ่สำหรับมนุษยชาติทั้งสิ้นนั้นมีภาพเล็งถึงโดยเครื่องบูชาสัตว์ภายใต้พระบัญญัติของโมเซ. (เฮ็บราย 10:1-10; 1 โยฮัน 2:2) พระเยซูทรงเป็นผู้นั้นที่เครื่องบูชาของพระองค์ทำให้ภาพพยากรณ์ดังกล่าวสำเร็จเป็นจริง. ทูตสวรรค์ของพระยะโฮวาประกาศก่อนการประสูติของพระเยซูว่า “ท่านเป็นผู้ที่จะโปรดช่วยพลไพร่ของท่านให้รอดจากความผิด [“บาป,” ล.ม.] ของเขา.”—มัดธาย 1:21; เฮ็บราย 2:10.
7 พระเยซูประสูติอย่างอัศจรรย์จากมาเรียหญิงพรหมจารี และในฐานะพระบุตรของพระเจ้า พระองค์ไม่ได้รับความตายเป็นมรดกจากอาดาม. ข้อเท็จจริงนี้พร้อมกับแนวทางชีวิตที่ซื่อสัตย์อย่างสมบูรณ์แบบทำให้ชีวิตของพระองค์มีค่าที่จำเป็นในการซื้อคืนมนุษยชาติจากบาปและความตาย. (โยฮัน 8:36; 1 โกรินโธ 15:22) ไม่เหมือนกับมนุษย์คนอื่น ๆ ทั้งหมด พระเยซูไม่ถูกพิพากษาให้ตายเนื่องด้วยบาป. พระองค์ตั้งพระทัยเสด็จมายังแผ่นดินโลก “เพื่อประทานจิตวิญญาณของท่านเป็นค่าไถ่เพื่อแลกกับคนเป็นอันมาก.” (มัดธาย 20:28, ล.ม.) เมื่อทรงทำดังนั้นแล้ว พระเยซูผู้ซึ่งบัดนี้ได้คืนพระชนม์และขึ้นครองราชย์แล้ว จึงได้อยู่ในฐานะที่จะประทานความรอดแก่ทุกคนที่บรรลุข้อเรียกร้องของพระเจ้า.—วิวรณ์ 12:10.
มีข้อเรียกร้องอะไรเพื่อจะได้ความรอด?
8, 9. (ก) พระเยซูทรงตอบคำถามของขุนนางหนุ่มผู้มั่งคั่งอย่างไรในเรื่องความรอด? (ข) พระเยซูทรงใช้โอกาสนี้อย่างไรเพื่อสอนเหล่าสาวก?
8 ครั้งหนึ่ง มีขุนนางหนุ่มชาวยิศราเอลผู้มั่งคั่งทูลถามพระเยซูว่า “ข้าพเจ้าจะทำประการใดจึงจะได้ชีวิตนิรันดร์?” (มาระโก 10:17) คำถามของเขาอาจสะท้อนถึงสิ่งที่ชาวยิวทั่วไปในเวลานั้นคิดกัน—ความคิดที่ว่าพระเจ้าทรงเรียกร้องการดีบางอย่างและโดยทำการดีเช่นนั้นให้มากพอ คนเราจะได้รับความรอดจากพระเจ้า. แต่การอุทิศตัวตามรูปแบบเช่นนั้นอาจเกิดจากแรงกระตุ้นที่เห็นแก่ตัว. การทำเช่นนั้นไม่ได้ช่วยให้มีความหวังที่แน่นอนเกี่ยวกับความรอด เนื่องจากไม่มีมนุษย์ไม่สมบูรณ์คนใดสามารถบรรลุมาตรฐานของพระเจ้าได้จริง ๆ.
9 ในการตอบคำถามของชายคนนี้ พระเยซูทรงเพียงแต่เตือนเขาให้ระลึกถึงว่า เขาควรเชื่อฟังพระบัญชาของพระเจ้า. ขุนนางหนุ่มผู้นี้กล่าวรับรองกับพระเยซูในทันทีว่าเขาได้ถือรักษาพระบัญชาของพระเจ้ามาตั้งแต่เด็ก. คำตอบของเขากระตุ้นใจพระเยซูให้รู้สึกรักเขา. พระเยซูตรัสแก่เขาว่า “ท่านยังขาดอยู่สิ่งหนึ่ง จงไปขายบรรดาสิ่งของซึ่งท่านมีอยู่นั้นแจกจ่ายให้คนอนาถา, ท่านจึงจะมีทรัพย์สมบัติในสวรรค์, แล้วตามเรามา.” แต่ชายหนุ่มคนนี้ไปจากที่นั่นอย่างเป็นทุกข์ “เพราะว่าเขามีทรัพย์สิ่งของเป็นอันมาก.” หลังจากนั้น พระเยซูทรงเน้นกับเหล่าสาวกว่าการติดสนิทเกินไปกับทรัพย์สมบัติของโลกนี้เป็นอุปสรรคขัดขวางในการได้มาซึ่งความรอด. พระองค์ทรงเสริมอีกว่าไม่มีใครได้รับความรอดโดยความพยายามของเขาเอง. แต่พระเยซูทรงรับรองกับพวกเขาต่อไปว่า “ฝ่ายมนุษย์เหลือกำลังที่จะทำได้, แต่ไม่เหลือกำลังของพระเจ้า, เพราะว่าพระเจ้าทรงกระทำให้สำเร็จได้ทุกสิ่ง.” (มาระโก 10:18-27; ลูกา 18:18-23) ความรอดเป็นไปได้โดยวิธีใด?
10. เราต้องบรรลุเงื่อนไขอะไรเพื่อจะได้รับความรอด?
10 ความรอดเป็นของประทานจากพระเจ้า แต่มิได้มาโดยอัตโนมัติ. (โรม 6:23) มีเงื่อนไขพื้นฐานบางอย่างที่แต่ละคนต้องบรรลุเพื่อจะมีคุณสมบัติสำหรับของประทานนี้. พระเยซูตรัสว่า “พระเจ้าทรงรักโลกมากถึงกับทรงประทานพระบุตรผู้ได้รับกำเนิดองค์เดียวของพระองค์ เพื่อทุกคนที่สำแดงความเชื่อในพระองค์นั้นจะไม่ถูกทำลายแต่มีชีวิตนิรันดร์.” และอัครสาวกโยฮันเสริมอีกว่า “ผู้ที่สำแดงความเชื่อในพระบุตรก็มีชีวิตนิรันดร์; ผู้ที่ไม่เชื่อฟังพระบุตรจะไม่เห็นชีวิต.” (โยฮัน 3:16, 36, ล.ม.) เห็นได้ชัด พระเจ้าทรงเรียกร้องความเชื่อและการเชื่อฟังจากแต่ละคนที่หวังจะได้รับความรอดชั่วนิรันดร์. แต่ละคนต้องตัดสินใจที่จะยอมรับค่าไถ่และติดตามรอยพระบาทของพระเยซู.
11. มนุษย์ไม่สมบูรณ์จะได้รับความพอพระทัยจากพระยะโฮวาได้อย่างไร?
11 เนื่องจากเราไม่สมบูรณ์ จึงไม่ใช่แนวโน้มตามธรรมชาติที่เราจะเชื่อฟัง และเป็นไปไม่ได้ที่เราจะเชื่อฟังอย่างสมบูรณ์แบบ. นั่นคือเหตุผลที่พระยะโฮวาทรงจัดให้มีค่าไถ่เพื่อปิดคลุมบาปของเรา. ถึงกระนั้น เราต้องบากบั่นพยายามอยู่เรื่อยไปเพื่อดำเนินชีวิตตามแนวทางของพระเจ้า. ดังที่พระเยซูตรัสแก่ขุนนางหนุ่มผู้มั่งคั่ง เราต้องรักษาพระบัญชาของพระเจ้า. การทำเช่นนั้นไม่เพียงแต่ทำให้พระเจ้าทรงพอพระทัยแต่ยังทำให้เกิดความยินดีอย่างเหลือล้นด้วย เพราะ “บัญญัติของพระองค์ไม่เป็นภาระหนัก”; แต่ทำให้ “สดชื่น.” (1 โยฮัน 5:3, ล.ม.; สุภาษิต 3:1, 8) กระนั้น ไม่ใช่เรื่องง่ายที่จะยึดมั่นในความหวังเกี่ยวกับความรอด.
“ต่อสู้อย่างทรหดเพื่อความเชื่อ”
12. ความหวังเกี่ยวกับความรอดเสริมคริสเตียนให้เข้มแข็งอย่างไรเพื่อต้านทานการล่อใจให้ทำผิดศีลธรรม?
12 สาวกยูดาต้องการเขียนถึงคริสเตียนยุคแรกเกี่ยวกับ “ความรอดที่ [พวกเขา] ยึดถือร่วมกัน.” อย่างไรก็ตาม บรรยากาศที่ไม่ดีทางศีลธรรมทำให้ท่านจำต้องให้คำแนะนำแก่พี่น้องให้ “ต่อสู้อย่างทรหดเพื่อความเชื่อ.” ใช่แล้ว เพื่อจะได้ความรอด การมีความเชื่อ, การยึดอยู่กับความเชื่อของคริสเตียนแท้, และการเชื่อฟังเมื่อทุกสิ่งกำลังดำเนินไปอย่างราบรื่น ยังไม่พอ. ความเลื่อมใสของเราต่อพระยะโฮวาต้องแก่กล้าพอที่จะช่วยเราต้านทานการล่อใจและอิทธิพลที่เสื่อมศีลธรรม. กระนั้น การหมกมุ่นและความวิปริตทางเพศ, การไม่นับถืออำนาจ, การแตกแยก, และความสงสัยกำลังทำให้สภาพด้านจิตใจและศีลธรรมของประชาคมในศตวรรษแรกเสื่อมลงไป. เพื่อช่วยพวกเขาต่อสู้แนวโน้มเช่นนั้น ยูดากระตุ้นเพื่อนคริสเตียนให้รักษาเป้าหมายในใจให้ชัดเจนโดยกล่าวว่า “ท่านที่รักทั้งหลาย โดยเสริมสร้างตัวท่านเองขึ้นในความเชื่ออันบริสุทธิ์ยิ่งของท่านและอธิษฐานด้วยพระวิญญาณบริสุทธิ์ จงรักษาตัวท่านให้อยู่ในความรักของพระเจ้า ขณะที่ท่านทั้งหลายรอคอยความเมตตาของพระเยซูคริสต์เจ้าของเรา พร้อมด้วยความหวังว่าจะได้ชีวิตนิรันดร์.” (ยูดา 3, 4, 8, 19-21, ล.ม.) ความหวังที่จะได้รับความรอดสามารถเสริมกำลังพวกเขาให้เข้มแข็งในการต่อสู้เพื่อรักษาตัวสะอาดทางศีลธรรม.
13. เราจะแสดงได้อย่างไรว่าเราไม่ได้พลาดจุดมุ่งหมายแห่งพระกรุณาอันไม่พึงได้รับของพระเจ้า?
13 พระยะโฮวาพระเจ้าทรงคาดหมายความประพฤติอันเป็นแบบอย่างทางศีลธรรมจากคนที่พระองค์จะประทานความรอด. (1 โกรินโธ 6:9, 10) อย่างไรก็ตาม การยึดมั่นในมาตรฐานทางศีลธรรมของพระเจ้าไม่ได้หมายถึงการตัดสินผู้อื่น. เราไม่ใช่ผู้ที่จะตัดสินอนาคตถาวรของเพื่อนมนุษย์. แทนที่จะเป็นอย่างนั้น พระเจ้าจะทรงตัดสิน ดังที่เปาโลบอกชาวกรีกในเมืองอะเธนายว่า “พระองค์ได้ทรงกำหนดวันหนึ่งไว้ ประสงค์จะพิพากษาแผ่นดินโลกที่มีผู้คนอาศัยอยู่ด้วยความชอบธรรมโดยบุรุษผู้หนึ่งซึ่งพระองค์ได้ทรงแต่งตั้งไว้”—คือพระเยซูคริสต์. (กิจการ 17:31, ล.ม.; โยฮัน 5:22) หากเราดำเนินชีวิตโดยแสดงความเชื่อในค่าไถ่ของพระเยซู เราไม่จำเป็นต้องกลัววันพิพากษาที่กำลังจะมาถึง. (เฮ็บราย 10:38, 39) สิ่งสำคัญคือ เราต้องไม่ “รับเอาพระกรุณาอันไม่พึงได้รับของพระเจ้า [การที่เรากลับคืนดีกับพระองค์โดยอาศัยค่าไถ่] แล้วพลาดจุดมุ่งหมายของพระกรุณานั้น” โดยปล่อยตัวเองถูกล่อใจให้คิดและทำในสิ่งผิด. (2 โกรินโธ 6:1, ล.ม.) นอกจากนั้นแล้ว โดยการช่วยผู้อื่นให้ได้รับความรอด เราแสดงว่าเราไม่ได้พลาดจุดมุ่งหมายแห่งพระกรุณาของพระเจ้า. เราจะช่วยพวกเขาได้อย่างไร?
แบ่งปันความหวังเกี่ยวกับความรอด
14, 15. พระเยซูทรงมอบหมายใครให้ประกาศข่าวดีแห่งความรอด?
14 โดยยกคำพูดของผู้พยากรณ์โยเอล เปาโลเขียนว่า “ทุกคนที่ร้องเรียกพระนามของพระยะโฮวาจะรอด.” แล้วท่านกล่าวเสริมอีกว่า “แต่เขาจะร้องเรียกพระองค์ผู้ที่เขายังไม่เชื่ออย่างไรกัน? แล้วเขาจะเชื่อในพระองค์ผู้ที่เขาไม่เคยได้ยินถึงพระองค์อย่างไร? แล้วเขาจะได้ยินอย่างไรเมื่อไม่มีใครประกาศ?” ไม่กี่ข้อถัดจากนั้น เปาโลชี้ว่าความเชื่อไม่ได้เกิดขึ้นเอง; แทนที่จะเป็นอย่างนั้น ความเชื่อ “เกิดจากสิ่งที่ได้ยิน” กล่าวคือ “ถ้อยคำเกี่ยวกับพระคริสต์.”—โรม 10:13, 14, 17, ล.ม.; โยเอล 2:32.
15 ใครจะนำ “ถ้อยคำเกี่ยวกับพระคริสต์” ไปยังนานาชาติ? พระเยซูทรงมอบหมายงานนั้นแก่เหล่าสาวก—คนเหล่านั้นที่ได้รับการสอน “ถ้อยคำ” นั้นแล้ว. (มัดธาย 24:14; 28:19, 20; โยฮัน 17:20) เมื่อเราร่วมในงานประกาศราชอาณาจักรและงานทำให้คนเป็นสาวก เรากำลังทำอย่างที่อัครสาวกเปาโลเขียน คราวนี้โดยยกคำพูดของยะซายา: “เท้าของคนเหล่านั้นที่ประกาศข่าวดีเกี่ยวกับสิ่งดี ๆ นั้นก็งามสักเพียงใด!” แม้ว่าหลายคนไม่ยอมรับข่าวดีที่เรานำไป เท้าของเราก็ยังคง “งาม” ในสายพระเนตรของพระยะโฮวา.—โรม 10:15, ล.ม.; ยะซายา 52:7.
16, 17. งานประกาศของเราส่งเสริมจุดมุ่งหมายสองประการอะไร?
16 การทำหน้าที่มอบหมายนี้มีจุดม่งหมายสำคัญสองประการ. ประการแรก ข่าวดีต้องได้มีการประกาศไปเพื่อพระนามของพระเจ้าจะได้รับคำสรรเสริญ และคนที่ปรารถนาจะได้รับความรอดจะทราบว่าต้องหมายพึ่งแหล่งใด. เปาโลเข้าใจแง่นี้ของงานมอบหมาย. ท่านกล่าวว่า “แท้จริง พระยะโฮวาได้ตรัสสั่งเราด้วยถ้อยคำเหล่านี้ว่า ‘เราได้ตั้งเจ้าไว้เป็นดวงสว่างของนานาชาติ เพื่อเจ้าจะเป็นความรอดถึงที่สุดปลายแผ่นดินโลก.’ ” ดังนั้น ในฐานะสาวกของพระคริสต์ เราแต่ละคนต้องร่วมในการนำข่าวสารแห่งความรอดไปสู่ประชาชน.—กิจการ 13:47, ล.ม.; ยะซายา 49:6.
17 ประการที่สอง การประกาศข่าวดีวางรากฐานไว้สำหรับการพิพากษาอันชอบธรรมของพระเจ้า. เกี่ยวกับการพิพากษาดังกล่าว พระเยซูตรัสว่า “เมื่อบุตรมนุษย์เสด็จมาด้วยสง่าราศีของพระองค์ พร้อมด้วยหมู่ทูตสวรรค์ทั้งสิ้น ครั้นแล้วพระองค์จะทรงประทับลงบนราชบัลลังก์อันรุ่งโรจน์ของพระองค์. และชาติทั้งปวงจะถูกรวบรวมเข้ามาเฉพาะพระพักตร์พระองค์ และพระองค์จะทรงแยกผู้คนออกจากกันเหมือนผู้เลี้ยงแกะแยกแกะออกจากแพะ.” แม้ว่าการพิพากษาและการแยกผู้คนจะทำ “เมื่อบุตรมนุษย์เสด็จมาด้วยสง่าราศีของพระองค์” แต่งานประกาศกำลังทำให้ผู้คนในทุกวันนี้มีโอกาสได้รู้จักพวกพี่น้องฝ่ายวิญญาณของพระคริสต์ แล้วจึงได้เข้ามาทำงานสนับสนุนพวกเขาเพื่อความรอดถาวรของตนเอง.—มัดธาย 25:31-46, ล.ม.
รักษาไว้ซึ่ง “ความมั่นใจเต็มที่เกี่ยวกับความหวัง”
18. เราจะรักษา“ความหวังเกี่ยวกับความรอด” ของเราให้สดใสเสมอได้อย่างไร?
18 การที่เราเข้าร่วมในงานประกาศอย่างขันแข็งยังหมายถึงการช่วยตัวเราเองรักษาความหวังให้สดใสอยู่เสมอด้วย. เปาโลเขียนว่า “เราปรารถนาให้ท่านแต่ละคนสำแดงความอุตส่าห์เช่นเดียวกัน เพื่อมีความมั่นใจเต็มที่เกี่ยวกับความหวังจนถึงที่สุด.” (เฮ็บราย 6:11, ล.ม.) ดังนั้น ขอเราแต่ละคนสวม ‘ความหวังเกี่ยวกับความรอดเป็นหมวกเหล็ก’ และโดยวิธีนั้นจึงได้ระลึกเสมอว่า “พระเจ้ามิได้กำหนดให้เรารับพระพิโรธ แต่เพื่อให้ได้มาซึ่งความรอดโดยทางพระเยซูคริสต์เจ้าของเรา.” (1 เธซะโลนิเก 5:8, 9, ล.ม.) นอกจากนี้ ขอให้เราใส่ใจคำกระตุ้นเตือนของเปโตรที่ว่า “จงเตรียมจิตใจของท่านทั้งหลายเพื่อการงาน จงรักษาสติของท่านให้ครบถ้วน; จงตั้งความหวังของท่านในพระกรุณาอันไม่พึงได้รับซึ่งจะทรงนำมาถึงท่าน.” (1 เปโตร 1:13, ล.ม.) ทุกคนที่ทำอย่างนั้นจะเห็นว่า “ความหวังเกี่ยวกับความรอด” ของเขาสำเร็จเป็นจริงอย่างครบถ้วน!
19. เราจะพิจารณาอะไรในบทความถัดไป?
19 ในระหว่างนี้ เราควรมีทัศนะเช่นไรในเรื่องเวลาที่ยังคงเหลืออยู่สำหรับระบบนี้? เราจะใช้เวลาดังกล่าวเพื่อให้ได้มาซึ่งความรอดสำหรับตัวเราเองและคนอื่น ๆ ได้อย่างไร? เราจะพิจารณาคำถามดังกล่าวในบทความถัดไป.
คุณอธิบายได้ไหม?
• เหตุใดเราต้องรักษา “ความหวังเกี่ยวกับความรอด” ของเราให้สดใสเสมอ?
• ความรอดหมายรวมถึงอะไร?
• เราต้องทำอะไรเพื่อจะได้รับของประทานแห่งความรอด?
• งานประกาศของเราทำอะไรให้สำเร็จตามพระประสงค์ของพระเจ้า?
[ภาพหน้า 10]
ความรอดไม่ได้หมายถึงเฉพาะแต่การรอดพ้นจากการถูกทำลายเท่านั้น