“ทำการต่อสู้อย่างทรหดเพื่อความเชื่อ”!
“ทำการต่อสู้อย่างทรหดเพื่อความเชื่อซึ่งครั้งหนึ่งได้มอบให้แก่ผู้บริสุทธิ์ทั้งหลายตลอดไป.”—ยูดา 3, ล.ม.
1. คริสเตียนแท้ในทุกวันนี้ร่วมทำสงครามในความหมายใด?
ทหารที่อยู่ในสงครามมีวิถีชีวิตที่ลำบากยากแค้นเสมอ. ขอให้นึกภาพว่าคุณต้องสวมใส่ชุดและอุปกรณ์ในการรบเต็มอัตราศึกและเดินทัพไปเป็นระยะทางไกลแสนไกลในทุกสภาพดินฟ้าอากาศ, ผ่านการฝึกอย่างหนักในการใช้อาวุธ, หรือต้องป้องกันตัวคุณเองจากอันตรายทุกรูปแบบที่ทำให้บาดเจ็บหรือถึงแก่ชีวิต. อย่างไรก็ตาม คริสเตียนแท้ไม่เข้าส่วนร่วมในสงครามของนานาชาติ. (ยะซายา 2:2-4; โยฮัน 17:14) กระนั้น เราต้องไม่ลืมว่าเราทุกคนร่วมทำสงครามในความหมายอย่างหนึ่ง. ซาตานเกลียดชังพระเยซูคริสต์และผู้ติดตามของพระองค์ที่อยู่บนแผ่นดินโลก. (วิวรณ์ 12:17) ที่จริง ทุกคนที่ตัดสินใจรับใช้พระยะโฮวาพระเจ้าก็เท่ากับได้ลงทะเบียนเป็นทหารเพื่อทำสงครามฝ่ายวิญญาณ.—2 โกรินโธ 10:4.
2. ยูดาพรรณนาสงครามของคริสเตียนไว้อย่างไร และจดหมายของท่านจะช่วยเราให้อดทนในการสงครามนั้นได้โดยวิธีใด?
2 ยูดาน้องชายต่างบิดาของพระเยซูเขียนไว้อย่างเหมาะทีเดียวดังนี้: “ที่รักทั้งหลาย แม้ข้าพเจ้าได้พยายามทุกวิถีทางที่จะเขียนถึงท่านในเรื่องความรอดที่พวกเรายึดถือร่วมกัน ข้าพเจ้าเห็นว่าจำเป็นที่จะเขียนถึงท่านเพื่อกระตุ้นเตือนให้ท่านทำการต่อสู้อย่างทรหดเพื่อความเชื่อซึ่งครั้งหนึ่งได้มอบให้แก่ผู้บริสุทธิ์ทั้งหลายตลอดไป.” (ยูดา 3, ล.ม.) เมื่อยูดากระตุ้นเตือนคริสเตียนให้ “ทำการต่อสู้อย่างทรหด” ท่านใช้ศัพท์ซึ่งเกี่ยวพันกับคำที่หมายถึง “ความเจ็บปวดรวดร้าว.” ใช่ การต่อสู้นี้อาจยากลำบากมาก อาจถึงขั้นเจ็บปวดรวดร้าว! บางครั้ง คุณรู้สึกไหมว่ายากจะอดทนในสงครามนี้? จดหมายของยูดาซึ่งสั้นแต่มีพลังสามารถช่วยเราได้. จดหมายฉบับนี้กระตุ้นเตือนเราให้ต่อต้านการประพฤติผิดศีลธรรม, ให้นับถืออำนาจที่พระเจ้าทรงตั้งไว้, และให้รักษาตัวเราเองอยู่ในความรักของพระเจ้า. ให้เราดูว่าจะใช้คำแนะนำนี้อย่างไร.
จงต่อต้านการประพฤติผิดศีลธรรม
3. ประชาคมคริสเตียนในสมัยของยูดาเผชิญสภาพการณ์อะไรที่ต้องได้รับการช่วยเหลืออย่างเร่งด่วน?
3 ยูดาสามารถมองเห็นได้ว่าไม่ใช่เพื่อนคริสเตียนของท่านทุกคนที่ชนะในการสู้รบกับซาตาน. เหล่าฝูงแกะเผชิญ สภาพการณ์อย่างหนึ่งซึ่งต้องได้รับการช่วยเหลือเป็นการด่วน. ยูดาเขียนว่า คนเสื่อมศีลธรรมได้ “เล็ดลอดเข้ามา.” คนพวกนี้ส่งเสริมการประพฤติผิดศีลธรรมอย่างแยบยล. และพวกเขาหาเหตุผลสนับสนุนการกระทำของตนอย่างฉลาด “พลิกแพลงเอาพระกรุณาอันไม่พึงได้รับของพระเจ้าของเราไปใช้เป็นข้อแก้ตัวสำหรับความประพฤติอันหละหลวม.” (ยูดา 4, ล.ม.) อาจเป็นได้ว่า พวกเขาหาเหตุผลเช่นเดียวกับพวกที่ถือคติไญยนิยมในสมัยโบราณที่ว่า ยิ่งคนเราทำบาปมากเท่าไร เราก็ยิ่งได้รับพระกรุณาคุณจากพระเจ้ามากขึ้นเท่านั้น—ดังนั้น จึงเท่ากับว่ายิ่งทำผิดมากเท่าไรก็ยิ่งดี! หรืออาจเป็นได้ที่พวกเขาถือว่าพระเจ้าผู้เปี่ยมด้วยความกรุณาจะไม่ลงโทษพวกเขา. แต่ไม่ว่าจะเป็นกรณีใด พวกเขาก็ผิดอยู่ดี.—1 โกรินโธ 3:19.
4. ยูดาอ้างถึงสามตัวอย่างอะไรในพระคัมภีร์เกี่ยวกับการพิพากษาของพระยะโฮวาในอดีต?
4 ยูดาแย้งเหตุผลอันชั่วร้ายของคนพวกนี้โดยอ้างถึงตัวอย่างการพิพากษาของพระยะโฮวาในอดีตสามตัวอย่าง: การพิพากษาพวกยิศราเอลที่ “ไม่สำแดงความเชื่อ”; การพิพากษา “ทูตสวรรค์เหล่านั้นที่. . . . ได้ละทิ้งสถานที่อยู่อันควรของตน” เพื่อลงมาทำบาปกับพวกผู้หญิง; และการพิพากษาประชากรเมืองโซโดมและโกโมร์ราห์ซึ่ง “ได้ทำผิดประเวณีอย่างมากล้น . . . และมุ่งตามเนื้อหนังเพื่อใช้อย่างผิดธรรมดา.” (ยูดา 5-7, ล.ม.; เยเนซิศ 6:2-4; 19:4-25; อาฤธโม 14:35) ไม่ว่าเป็นในกรณีใด พระยะโฮวาทรงพิพากษาคนบาปอย่างเด็ดขาด.
5. ยูดาอ้างถึงคำพยากรณ์เก่าแก่อะไร และคำพยากรณ์นั้นแสดงอย่างไรในเรื่องความแน่นอนอย่างยิ่งของความสำเร็จเป็นจริง?
5 ต่อมา ยูดากล่าวถึงการพิพากษาที่มีผลกระทบกว้างไกลยิ่งกว่านั้นอีก. ท่านยกคำพยากรณ์ของฮะโนคขึ้นมา ซึ่งเป็นข้อความที่ไม่พบในที่อื่นใดในพระคัมภีร์ซึ่งมีขึ้นโดยการดลใจ.a (ยูดา 14, 15) ฮะโนคบอกล่วงหน้าถึงเวลาเมื่อพระยะโฮวาจะพิพากษาคนที่ไม่เลื่อมใสพระเจ้าและประพฤติอย่างไม่เคารพยำเกรงพระเจ้า. น่าสนใจ คำพูดที่ฮะโนคใช้อยู่ในรูปอดีตกาล ทั้งนี้เพราะการพิพากษาของพระเจ้าเป็นเรื่องแน่นอนจนราวกับว่าเหตุการณ์ที่กล่าวถึงได้เกิดขึ้นไปแล้ว. ประชาชนอาจเยาะเย้ยฮะโนคและในเวลาต่อมาก็เยาะเย้ยโนฮา แต่ผู้เยาะเย้ยเหล่านั้นทั้งหมดจมน้ำตายในคราวน้ำท่วมโลก.
6. (ก) คริสเตียนในสมัยของยูดาจำต้องได้รับการเตือนให้ระลึกถึงอะไร? (ข) เหตุใดเราจึงควรใส่ใจในข้อเตือนใจของยูดา?
6 เหตุใดยูดาเขียนเกี่ยวกับคำพิพากษาเหล่านี้ของพระเจ้า? เนื่องจากท่านทราบว่ามีบางคนที่สมทบกับประชาคมคริสเตียนในสมัยของท่านเองกำลังทำบาปซึ่งเป็นมลทินและสมควรรับโทษพอ ๆ กับคนเหล่านั้นที่เป็นเหตุให้มีการพิพากษาในอดีต. ฉะนั้น ยูดาเขียนว่าประชาคมต่าง ๆ จำเป็นต้องได้รับการเตือนให้ระลึกถึงความจริงพื้นฐานทางฝ่ายวิญญาณบางประการ. (ยูดา 5) ดูเหมือนว่า พวกเขาลืมเสียแล้วว่าพระยะโฮวาพระเจ้าทรงเห็นสิ่งที่พวกเขากำลังทำอยู่. ใช่แล้ว เมื่อผู้รับใช้ของพระองค์จงใจฝ่าฝืนข้อกฎหมายของพระองค์และทำให้ตัวเองรวมทั้งผู้อื่นด้วยเป็นมลทิน พระองค์ทรงเห็น. (สุภาษิต 15:3) การทำเช่นนั้นทำให้พระองค์เจ็บปวดพระทัยอย่างยิ่ง. (เยเนซิศ 6:6; บทเพลงสรรเสริญ 78:40) นับว่าเป็นเรื่องน่าคิดทีเดียวที่ว่า เราที่เป็นเพียงมนุษย์สามารถก่อผลกระทบต่อความรู้สึกของพระผู้เป็นเจ้าองค์บรมมหิศรแห่งเอกภพ. พระองค์ทรงมองดูเราในแต่ละวัน และเมื่อเราทำอย่างดีที่สุดในการติดตามรอยพระบาทของพระเยซูคริสต์พระบุตรของพระองค์ เมื่อนั้นความประพฤติของเราทำให้พระทัยของพระองค์เบิกบานยินดี. ดังนั้น ขอเราอย่าได้ขุ่นเคืองใจในข้อเตือนสติของยูดาแต่น้อมรับไว้ด้วยความใส่ใจ.—สุภาษิต 27:11; 1 เปโตร 2:21.
7. (ก) เหตุใดจึงสำคัญสำหรับคนที่พัวพันกับการทำผิดร้ายแรงจะแสวงหาความช่วยเหลือทันที? (ข) เราทุกคนจะหลีกเลี่ยงการผิดศีลธรรมได้อย่างไร?
7 พระยะโฮวาไม่เพียงแต่ทรงเห็นเท่านั้น แต่พระองค์ทรงลงมือกระทำด้วย. ในฐานะพระเจ้าแห่งความยุติธรรม พระองค์ทรงลงโทษคนชั่วตามเวลากำหนดของพระองค์. (1 ติโมเธียว 5:24) คนที่หาเหตุผลว่าการพิพากษาของพระองค์เป็นเพียงประวัติศาสตร์ในสมัยโบราณและพระองค์มิได้ทรงสนใจความชั่วที่เขาทำ พวกเขากำลังหลอกตัวเอง. สำคัญสักเพียงไรสำหรับใครก็ตามในทุกวันนี้ที่พัวพันกับการผิดศีลธรรมจะต้องแสวงหาความช่วยเหลือทันทีจากคริสเตียนผู้ปกครอง! (ยาโกโบ 5:14, 15) ภัยคุกคามแห่งการผิดศีลธรรมในสงครามฝ่ายวิญญาณของเราน่าจะทำให้เราทุกคนคิดอย่างจริงจัง. ทุกปีมีผู้เสียชีวิตทางฝ่ายวิญญาณ—คนที่ถูกขับออกจากท่ามกลางพวกเรา ส่วนใหญ่แล้วเพราะการทำผิดศีลธรรมโดยไม่ยอมกลับใจ. เราต้องตั้งใจแน่วแน่จะต่อต้านการล่อใจใด ๆ แม้แต่ในขั้นเริ่มต้นที่นำเราไปในทิศทางเช่นนั้น.—เทียบกับมัดธาย 26:41.
จงแสดงความนับถือต่ออำนาจที่พระเจ้าทรงตั้งไว้
8. ใครคือ “เหล่าผู้มีสง่าราศี” ที่ยูดาข้อ 8 อ้างถึง?
8 ปัญหาอีกประการหนึ่งที่ยูดากล่าวถึงได้แก่การขาดความนับถือต่ออำนาจที่พระเจ้าทรงตั้งไว้. ตัวอย่างเช่น ในข้อ 8 (ล.ม.) ท่านกล่าวถึงความผิดของคนชั่วพวกเดียวกันนั้นว่าได้ “พูดหยาบคายต่อเหล่าผู้มีสง่าราศี.” ใครคือ “เหล่าผู้มีสง่าราศี” เหล่านี้? พวกเขาเป็นมนุษย์ไม่สมบูรณ์ แต่เขาได้รับหน้าที่รับผิดชอบโดยพระวิญญาณบริสุทธิ์ของพระยะโฮวา. ตัวอย่างเช่น ประชาคมมีผู้ปกครองซึ่งมีหน้าที่บำรุงเลี้ยงฝูงแกะของพระเจ้า. (1 เปโตร 5:2) และก็ยังมีผู้ดูแลเดินทางด้วยซึ่งทำงานอย่างเดียวกับอัครสาวกเปาโล. และคณะผู้ปกครองในกรุงยะรูซาเลมทำหน้าที่เป็นคณะกรรมการปกครอง ตัดสินเรื่องต่าง ๆ ที่มีผลกระทบต่อประชาคมคริสเตียนโดยรวม. (กิจการ 15:6) ยูดาเป็นห่วงอย่างยิ่งที่มีบางคนในประชาคมต่าง ๆ พูดหยาบคายหรือหมิ่นประมาทคนเหล่านี้ที่ได้รับการแต่งตั้ง.
9. ยูดาอ้างถึงตัวอย่างอะไรในเรื่องการแสดงความไม่นับถือต่อผู้มีอำนาจ?
9 เพื่อตำหนิการพูดอย่างไม่นับถือเช่นนั้น ในข้อ 11 ยูดาอ้างถึงตัวอย่างเตือนใจอีกสามตัวอย่าง: คายิน, บีละอาม, และโครา. คายินเพิกเฉยต่อคำแนะนำที่เปี่ยมด้วยความรักของพระยะโฮวา และจงใจติดตามแนวทางของตนเองอันเป็นความเกลียดชังซึ่งนำไปสู่การฆ่าคน. (เยเนซิศ 4:4-8) บีละอามได้รับคำเตือนครั้งแล้วครั้งเล่าซึ่งไม่มีข้อสงสัยเลยว่ามาจากแหล่งเหนือธรรมชาติ เพราะถึงขนาดที่ลาตัวเมียของท่านเองได้พูดกับท่าน! แต่บีละอามยังคงดำเนินการต่อไปอย่างเห็นแก่ตัวตามแผนที่มุ่งให้ร้ายต่อไพร่พลของพระเจ้า. (อาฤธโม 22:28, 32-34; พระบัญญัติ 23:5) โครามีตำแหน่งในความรับผิดชอบของตนเอง แต่นั่นไม่ได้ทำให้เขาพอใจ. เขาปลุกปั่นให้เกิดการกบฏต่อโมเซซึ่งเป็นคนอ่อนน้อมถ่อมตนที่สุดบนแผ่นดินโลก.—อาฤธโม 12:3; 16:1-3, 32.
10. โดยวิธีใดที่บางคนในปัจจุบันอาจตกเข้าสู่กับดักแห่งการ “พูดหยาบคายต่อเหล่าผู้มีสง่าราศี” และทำไมจึงควรหลีกเลี่ยงการพูดเช่นนั้น?
10 ตัวอย่างเหล่านี้ช่างสอนเราอย่างชัดเจนจริง ๆ ให้ฟังคำแนะนำและนับถือผู้ที่พระยะโฮวาทรงใช้ให้อยู่ในตำแหน่งที่รับผิดชอบ! (เฮ็บราย 13:17) เป็นเรื่องง่ายทีเดียวที่จะพบเห็นข้อผิดพลาดของผู้ปกครองที่ได้รับการแต่งตั้ง เพราะเขาไม่สมบูรณ์เช่นเดียวกับที่เราทุกคนก็ไม่สมบูรณ์. แต่หากเราเพ่งเล็งที่ข้อผิดพลาดของเขาและบั่นทอนความนับถือที่มีต่อเขา เราอาจอยู่ในข่าย “พูดหยาบคายต่อเหล่าผู้มีสง่าราศี” ไหม? ในข้อ 10 ยูดากล่าวถึงคนที่ “พูดหยาบคายในทุกสิ่งที่พวกเขามิได้รู้จริง ๆ.” บางครั้ง อาจมีบางคนที่วิพากษ์วิจารณ์การตัดสินของคณะผู้ปกครองหรือคณะกรรมการตัดสินความ. กระนั้น พวกเขาไม่มีส่วนร่วมรับฟังรายละเอียดทุกอย่างที่ผู้ปกครองต้องพิจารณาเพื่อจะบรรลุถึงขั้นตัดสิน. ดังนั้น ทำไมจึงพูดจาว่าร้ายในเรื่องที่เขาไม่ได้รู้จริง ๆ? (สุภาษิต 18:13) คนที่ไม่ยอมเลิกพูดในแง่ลบเช่นนั้นอาจก่อการแตกแยกในประชาคมและอาจเปรียบได้กับ “หินโสโครก” ที่เป็นอันตราย ณ การชุมนุมของเพื่อนร่วมความเชื่อ. (ยูดา 12, 16, 19, ล.ม.) เราไม่ต้องการทำให้ผู้อื่นได้รับอันตรายทางฝ่ายวิญญาณ. แทนที่จะเป็นอย่างนั้น ให้เราแต่ละคนตั้งใจแน่วแน่ที่จะหยั่งรู้ค่าผู้ชายเหล่านี้ที่มีหน้าที่รับผิดชอบสำหรับงานหนักที่พวกเขาทำและการทุ่มเทตัวของพวกเขาเพื่อฝูงแกะของพระเจ้า.—1 ติโมเธียว 5:17.
11. เหตุใดมิคาเอลหลีกเลี่ยงจากการตัดสินโดยใช้คำพูดหยาบหยามต่อซาตาน?
11 ยูดาอ้างถึงตัวอย่างของผู้หนึ่งซึ่งแสดงความนับถือต่อผู้มีอำนาจที่มีสิทธิชอบธรรม. ท่านเขียนดังนี้: “เมื่อมิคาเอลอัครทูตสวรรค์ได้ผิดใจกับพญามารและโต้เถียงเกี่ยวกับกายของโมเซอยู่นั้น ท่านมิได้บังอาจที่จะนำการพิพากษามาสู่พญามารด้วยคำหยาบคาย แต่ได้กล่าวว่า ‘ขอพระยะโฮวาทรงต่อว่าเจ้าเถิด.’” (ยูดา 9, ล.ม.) เรื่องราวที่น่าทึ่งนี้ซึ่งเฉพาะแต่ยูดาเท่านั้นที่บันทึกไว้ในพระคัมภีร์ซึ่งมีขึ้นโดยการดลใจ ช่วยสอนบทเรียนสองประการที่นับว่าเด่นทีเดียว. ในด้านหนึ่งนั้น เรื่องนี้สอนเราให้มอบการพิพากษาไว้กับพระยะโฮวา. ดูเหมือนว่าซาตานต้องการใช้กายของโมเซชายผู้ซื่อสัตย์อย่างผิด ๆ เพื่อส่งเสริมการนมัสการเท็จ. ช่างชั่วช้าจริง ๆ! กระนั้น ด้วยความถ่อมมิคาเอลหลีกเลี่ยงการพิพากษาเสียเอง เพราะเฉพาะพระยะโฮวาเท่านั้นที่มีอำนาจอย่างถูกต้องที่จะทำเช่นนั้น. ดังนั้น ยิ่งกว่านั้นสักเท่าใดที่เราควรจะหลีกเลี่ยงการตัดสินผู้ซื่อสัตย์ที่พยายามรับใช้พระยะโฮวา.
12. คนที่มีตำแหน่งรับผิดชอบในประชาคมคริสเตียนอาจเรียนรู้อะไรจากตัวอย่างของมิคาเอล?
12 อีกประการหนึ่ง คนที่มีอำนาจระดับหนึ่งในประชาคมก็ได้บทเรียนจากมิคาเอลด้วย. แม้ว่ามิคาเอลเป็น “อัครทูตสวรรค์” ซึ่งก็คือหัวหน้าใหญ่เหนือทูตสวรรค์ทั้งสิ้น พระองค์ไม่ได้ใช้ตำแหน่งที่มีอำนาจของพระองค์อย่างไม่ถูกต้อง แม้ว่าถูกยั่วยุ. ผู้ปกครองที่ซื่อสัตย์ติดตามตัวอย่างนี้อย่างใกล้ชิด โดยสำนึกว่าการใช้อำนาจของตนอย่างผิด ๆ เป็นการแสดงความไม่นับถือต่อพระบรมเดชานุภาพของพระยะโฮวา. มีอยู่หลายข้อทีเดียวในจดหมายของยูดาที่กล่าวเกี่ยวกับคนที่มีตำแหน่งอันน่านับถือในประชาคมแต่กลับใช้อำนาจของตนอย่างผิด ๆ. ตัวอย่างเช่น ในข้อ 12 ถึง 14 (ล.ม.) ยูดาเขียนตำหนิอย่างรุนแรงต่อ “ผู้เลี้ยงแกะที่เลี้ยงตัวเองโดยปราศจากความเกรงกลัว.” (เทียบกับยะเอศเคล 34:7-10.) พูดอีกอย่างหนึ่ง ความสนใจในอันดับแรกของพวกเขาคือการทำให้ตัวเองได้ประโยชน์ ไม่ใช่เพื่อผลประโยชน์แห่งฝูงแกะของพระยะโฮวา. ผู้ปกครองในทุกวันนี้สามารถเรียนได้มากจากตัวอย่างในแง่ลบเช่นนั้น. ที่จริง คำพูดของยูดาในที่นี้อธิบายไว้อย่างชัดเจนถึงสภาพที่เราไม่ ต้องการจะเป็น. เมื่อเรายอมพ่ายแพ้ต่อความเห็นแก่ตัว เราไม่สามารถเป็นทหารของพระคริสต์; เราหมกมุ่นอยู่กับการต่อสู้เพื่อผลประโยชน์ของตัวเอง. แทนที่จะเป็นอย่างนั้น ขอให้เราทุกคนดำเนินชีวิตตามคำตรัสของพระเยซูที่ว่า “การให้เป็นเหตุให้มีความสุขยิ่งกว่าการรับ.”—กิจการ 20:35.
“จงรักษาตัวท่านให้อยู่ในความรักของพระเจ้า”
13. เหตุใดเราทุกคนควรปรารถนาอย่างจริงจังที่จะรักษาตัวอยู่ในความรักของพระเจ้า?
13 เมื่อใกล้จะจบจดหมายของท่าน ยูดาให้คำแนะนำที่ทำให้อบอุ่นใจดังนี้: “จงรักษาตัวท่านให้อยู่ในความรักของพระเจ้า.” (ยูดา 21, ล.ม.) ไม่มีอะไรจะช่วยเราในการทำสงครามฝ่ายคริสเตียนได้มากยิ่งกว่าสิ่งนี้ คือการรักษาตัวในฐานะผู้ที่พระยะโฮวาพระเจ้าทรงรัก. พึงจำไว้ว่า ความรักเป็นคุณลักษณะเด่นของพระยะโฮวา. (1 โยฮัน 4:8) เปาโลเขียนถึงคริสเตียนในกรุงโรมดังนี้: “ข้าพเจ้าเชื่อมั่นคงว่า, แม้ความตาย, หรือชีวิต, หรือทูตสวรรค์, หรือผู้มีบรรดาศักดิ์, หรือสิ่งซึ่งมีอยู่เดี๋ยวนี้, หรือสิ่งซึ่งจะเป็นมาภายหน้า, หรือฤทธิ์เดชทั้งหลาย, หรือความสูง, หรือความลึก, หรือสิ่งใด ๆ อื่นที่ทรงสร้างแล้ว, จะไม่อาจกระทำให้เราทั้งหลายขาดจากความรักของพระเจ้าซึ่งมีอยู่ในพระเยซูคริสต์องค์พระผู้เป็นเจ้าของเราทั้งหลาย.” (โรม 8:38, 39) อย่างไรก็ตาม เราจะคงอยู่ในความรักนั้นได้อย่างไร? ขอให้สังเกตวิธีการสามอย่างที่เราจะใช้ได้ ตามที่ยูดาบอกไว้.
14, 15. (ก) การเสริมสร้างตัวเราเองขึ้นใน “ความเชื่ออันบริสุทธิ์ยิ่ง” หมายความเช่นไร? (ข) เราจะตรวจสอบยุทธภัณฑ์ฝ่ายวิญญาณของเราอย่างไร?
14 วิธีการแรก ยูดาบอกเราให้เสริมสร้างตัวเองต่อ ๆ ไปใน “ความเชื่ออันบริสุทธิ์ยิ่ง” ของเรา. (ยูดา 20) ดังที่เราได้เห็นในบทความก่อนหน้านี้ การเสริมสร้างตัวเองนี้เป็นกระบวนการต่อเนื่อง. เราเป็นเหมือนตึกที่จำต้องมีการเสริมให้แข็งแกร่งยิ่ง ๆ ขึ้นเพื่อต้านทานสภาวะอากาศที่เลวร้ายลงไปเรื่อย ๆ. (เทียบกับมัดธาย 7:24, 25.) ดังนั้น อย่ามั่นใจเกินไป. ตรงกันข้าม ให้เราดูว่ามีตรงไหนที่เราจะเสริมสร้างตัวเราเองได้บนรากฐานแห่งความเชื่อของเรา เพื่อจะเป็นทหารของพระคริสต์ที่แข็งแกร่งและซื่อสัตย์ยิ่งขึ้น. ตัวอย่างเช่น เราอาจพิจารณาแต่ละส่วนที่ประกอบกันขึ้นเป็นยุทธภัณฑ์ฝ่ายวิญญาณครบชุดตามที่พรรณนาไว้ในเอเฟโซ 6:11-18.
15 ยุทธภัณฑ์ฝ่ายวิญญาณของเราเองเป็นอย่างไร? ‘โล่ใหญ่แห่งความเชื่อ’ ของเราแข็งแกร่งอย่างที่ควรเป็นไหม? ขณะที่เรามองย้อนกลับไปในไม่กี่ปีมานี้ เราเห็นสัญญาณบางอย่างของการเฉื่อยช้าไหม เช่นการเข้าร่วมประชุมลดน้อยลงไป, การขาดความกระตือรือร้นในงานรับใช้, หรือความกระตือรือร้นในการศึกษาส่วนตัวที่ค่อย ๆ ลดน้อยลงไป? สัญญาณเช่นนั้นนับว่าอันตรายทีเดียว! เราต้องลงมือทำเสียแต่เดี๋ยวนี้ในการเสริมสร้างตัวเราเองให้เข้มแข็งในความจริง.—1 ติโมเธียว 4:15; 2 ติโมเธียว 4:2; เฮ็บราย 10:24, 25.
16. การอธิษฐานด้วยพระวิญญาณบริสุทธิ์หมายความเช่นไร และเราควรขออะไรจากพระยะโฮวาเป็นประจำ?
16 วิธีการที่สองในการรักษาตัวอยู่ในความรักของพระเจ้าได้แก่การ “อธิษฐานด้วยพระวิญญาณบริสุทธิ์” อยู่เรื่อยไป. (ยูดา 20, ล.ม.) นั่นหมายถึงการอธิษฐานซึ่งอยู่ภายใต้การทรงนำแห่งพระวิญญาณของพระยะโฮวาและอย่างที่สอดคล้องกับพระคำที่พระวิญญาณดลใจให้เขียนขึ้น. คำอธิษฐานเป็นร่องทางสำคัญในการนำเราให้เข้าใกล้ชิดพระยะโฮวาเป็นส่วนตัวและแสดงออกซึ่งการอุทิศตัวของเราแด่พระองค์. เราไม่ควรละเลยสิทธิพิเศษอันยอดเยี่ยมนี้! และเมื่อเราอธิษฐาน เราอาจขอพระองค์ประทานพระวิญญาณบริสุทธิ์ และที่จริงควรขออย่างนั้นอยู่เสมอ. (ลูกา 11:13) พระวิญญาณบริสุทธิ์เป็นพลังที่เข้มแข็งที่สุดเท่าที่เราจะหาได้. ด้วยความช่วยเหลือเช่นนั้น เราจะสามารถรักษาตัวอยู่ในความรักของพระเจ้าอยู่เสมอ และอดทนได้ในฐานะทหารของพระคริสต์.
17. (ก) เหตุใดตัวอย่างของยูดาในเรื่องความเมตตาจึงโดดเด่นมาก? (ข) เราแต่ละคนจะแสดงความเมตตาต่อ ๆ ไปอย่างไร?
17 สำหรับวิธีการที่สาม ยูดากระตุ้นเตือนเราให้แสดงความเมตตาต่อ ๆ ไป. (ยูดา 22) ตัวอย่างของท่านเองในเรื่องนี้นับว่าโดดเด่นทีเดียว. ที่จริง นับว่าสมควรที่ท่านจะไม่สบายใจเนื่องด้วยความเสื่อมทราม, การผิดศีลธรรม, และการออกหากที่แทรกซึมเข้ามาในประชาคมคริสเตียน. อย่างไรก็ตาม ท่านมิได้ยอมแพ้ต่อความกลัวโดยรับเอาทัศนะที่ว่าสภาพการณ์ในตอนนั้นอันตรายเกินไปที่จะแสดงคุณลักษณะที่ “นุ่มนวล” อย่างความเมตตา. ท่านกลับกระตุ้นพี่น้องของท่านให้แสดงความเมตตาต่อ ๆ ไปเมื่อไรก็ตามที่ทำได้ หาเหตุผลอย่างกรุณากับคนที่สงสัย และแม้กระทั่ง “ฉุด” คนที่หลงเข้าใกล้บาปร้ายแรงให้ “ออกจากไฟ.” (ยูดา 23, ล.ม.; ฆะลาเตีย 6:1) ช่างเป็นคำกระตุ้นเตือนที่ดีอะไรเช่นนั้นสำหรับผู้ปกครองในสมัยที่เต็มไปด้วยความยุ่งยากนี้! พวกเขาก็เช่นกันพยายามแสดงความเมตตาเมื่อไรก็ตามที่มีพื้นฐานจะแสดงความเมตตาได้ ขณะเดียวกันก็ยังคงมีความหนักแน่นเมื่อจำเป็น. เราทุกคนก็เช่นเดียวกัน ต้องการแสดงความเมตตาต่อกันและกัน. ตัวอย่างเช่น แทนที่จะเก็บความขุ่นเคืองใจในเรื่องเล็ก ๆ น้อย ๆ เอาไว้ เราสามารถแสดงความมีใจกว้างด้วยการให้อภัย.—โกโลซาย 3:13.
18. เราจะแน่ใจได้อย่างไรว่าจะประสบชัยชนะในสงครามฝ่ายวิญญาณของเรา?
18 สงครามที่เราร่วมต่อสู้อยู่นั้นไม่ง่ายเลย. ดังที่ยูดากล่าว สงครามนี้เป็น “การต่อสู้อย่างทรหด.” (ยูดา 3, ล.ม.) ศัตรูของเรามีอำนาจมาก. ไม่เฉพาะแต่ซาตาน แต่รวมถึงโลกชั่วของมันและความไม่สมบูรณ์ของเราเองต่างเรียงหน้าเข้ามาต่อสู้เรา. กระนั้น เราสามารถมั่นใจได้อย่างแท้จริงว่าจะได้ชัย! เพราะเหตุใด? เพราะเราอยู่ฝ่ายพระยะโฮวา. ยูดาจบจดหมายของท่านด้วยข้อเตือนสติที่ว่า พระยะโฮวาทรงสิทธิอันชอบธรรมใน “สง่าราศี, เดชานุภาพ, ฤทธิ์เดช, และอำนาจตลอดอดีตกาล และบัดนี้ และจนตลอดกาลเป็นนิรันดร์.” (ยูดา 25, ล.ม.) นั่นเป็นเรื่องที่น่าเกรงขามมิใช่หรือ? ดังนั้น มีข้อสงสัยใด ๆ ไหมที่ว่าพระเจ้าองค์เดียวกันนี้ “ทรงสามารถปกป้องท่านทั้งหลายไม่ให้สะดุด”? (ยูดา 24, ล.ม.) ไม่มีข้อสงสัยแน่นอน! ขอให้เราแต่ละคนตั้งใจแน่วแน่ในการต้านทานการผิดศีลธรรม, แสดงความนับถือต่ออำนาจที่พระเจ้าทรงตั้งไว้, และรักษาตัวเราเองอยู่ในความรักของพระเจ้าต่อ ๆ ไป. โดยวิธีนี้ เราจะได้รับชัยชนะอันรุ่งโรจน์ด้วยกัน.
[เชิงอรรถ]
a นักวิจัยบางคนยืนยันว่ายูดายกข้อความมาจากพระธรรมนอกสารบบที่ชื่อพระธรรมฮะโนค. อย่างไรก็ตาม อาร์.ซี.เอช. เลนสกี ให้ข้อสังเกตดังนี้: “เราขอถามว่า ‘พระธรรมฮะโนค ซึ่งเป็นผลงานที่เกิดจากการจับโน่นผสมนี่มีต้นตอมาจากไหน?’ หนังสือนี้เกิดจากการเพิ่มเข้ามา และไม่มีใครมั่นใจเกี่ยวกับส่วนต่าง ๆ ของหนังสือนี้ว่าเขียนเมื่อไร . . . ใครจะรู้ได้ว่าบางทีข้อความบางตอนอาจได้จากท่านยูดาเองก็เป็นได้.”
คำถามเพื่อการทบทวน
▫ จดหมายของยูดาสอนเราอย่างไรให้ต่อต้านการผิดศีลธรรม?
▫ ทำไมจึงสำคัญมากที่จะแสดงความนับถือต่ออำนาจที่พระเจ้าทรงตั้งไว้?
▫ อะไรที่นับว่าร้ายแรงมากเกี่ยวกับการใช้อำนาจในประชาคมอย่างไม่ถูกต้อง?
▫ เราอาจทำอย่างไรเพื่อรักษาตัวอยู่ในความรักของพระเจ้า?
[รูปภาพหน้า 15]
ไม่เหมือนทหารโรมัน คริสเตียนร่วมต่อสู้ในสงครามฝ่ายวิญญาณ
[รูปภาพหน้า 18]
คริสเตียนผู้บำรุงเลี้ยงรับใช้ด้วยความรัก ไม่ใช่อย่างเห็นแก่ตัว