เสรีภาพที่พระเจ้าประทานนำมาซึ่งความยินดี
“ความโสมนัสยินดีแห่งพระยะโฮวาเป็นกำลังของพวกเจ้าทั้งหลาย.”—นะเฮมยา 8:10.
1. ความยินดีคืออะไร และทำไมผู้ที่ได้อุทิศตัวแด่พระเจ้าจึงประสบความยินดี?
พระยะโฮวาบรรจุความยินดีไว้ในหัวใจของมนุษย์. สภาพความสุขหรือความโสมนัสยินดีอันเยี่ยมยอดเช่นนี้เป็นผลจากการได้มาหรือการคาดหมายสิ่งดี. มนุษย์ที่ได้อุทิศตัวแด่พระเจ้าแล้วย่อมมีความรู้สึกดังกล่าว เพราะความยินดีเป็นผลของพระวิญญาณบริสุทธิ์ หรือพลังปฏิบัติการของพระองค์. (ฆะลาเตีย 5:22, 23) ฉะนั้น แม้นความทุกข์ลำบากแสนสาหัสเกิดขึ้นกับพวกเรา เราสามารถชื่นชมยินดีได้ฐานะผู้รับใช้ของพระยะโฮวาผู้ซึ่งได้รับการทรงนำโดยพระวิญญาณของพระองค์.
2. เหตุใดชาวยิวร่าเริงยินดี ณ โอกาสพิเศษสมัยเอษรา?
2 ณ โอกาสพิเศษคราวหนึ่งในศตวรรษที่ห้าก่อนสากลศักราช ชาวยิวได้ใช้เสรีภาพที่พระเจ้าประทานเพื่อฉลองเทศกาลตั้งทับอาศัยอย่างรื่นเริงในกรุงยะรูซาเลม. หลังจากเอษราและคนอื่น ๆ ในตระกูลเลวีได้อ่านกฎหมายของพระเจ้าและอธิบายให้เขาฟังแล้ว “ฝูงคนทั้งปวงจึงพากันกินและดื่มกับแบ่งปันอาหารให้แก่คนขัดสนและทำให้ใจเบิกบาน เหตุว่าเขาได้เข้าใจถ้อยคำที่พวกนั้นอ่านอธิบายให้ฟัง.”—นะเฮมยา 8:5-12.
ความโสมนัสยินดีแห่งพระยะโฮวาเป็นกำลังของเรา
3. ภายใต้สภาพการณ์เช่นไร “ความยินดีแห่งพระยะโฮวา” จะเป็นกำลังของเรา?
3 ระหว่างการฉลองเทศกาลนั้น คนยิวต่างก็ตระหนักในความสัตย์จริงแห่งถ้อยคำที่ว่า “ความโสมนัสยินดีแห่งพระยะโฮวาเป็นกำลังของพวกเจ้าทั้งหลาย.” (นะเฮมยา 8:10) ความยินดีอย่างนั้นเป็นกำลังของเราเช่นกัน หากเรายืนหยัดมั่นคงอยู่ในเสรีภาพที่พระเจ้าประทาน ฐานะเป็นพยานพระยะโฮวาที่อุทิศตัวและรับบัพติสมาแล้ว. พวกเราจำนวนไม่มากที่ได้รับการเจิมด้วยพระวิญญาณบริสุทธิ์ และถูกรับเข้าไว้ในครอบครัวของพระเจ้าในฐานะทายาทฝ่ายสวรรค์ ร่วมกับพระคริสต์. (โรม 8:15-23) พวกเราส่วนใหญ่เวลานี้มีความหวังจะมีชีวิตอยู่ในอุทยานบนแผ่นดินโลก. (ลูกา 23:43) เราน่าจะชื่นชมยินดีสักเพียงใด!
4. เหตุใดคริสเตียนสามารถทนความทุกข์และการข่มเหงได้?
4 แม้ว่าเรามีความหวังอันดีเลิศ แต่ไม่ง่ายทีเดียวในการทนความทุกข์และการกดขี่ข่มเหง. อย่างไรก็ดี เราจะทนได้ เพราะพระเจ้าทรงประทานพระวิญญาณบริสุทธิ์แก่พวกเรา. ด้วยพระวิญญาณเราโสมนัสยินดีและเชื่อมั่นว่าไม่มีสิ่งใดจะชิงความหวังที่เรามีอยู่หรือความรักของพระเจ้าไปได้. ยิ่งกว่านั้น เราย่อมแน่ใจได้ว่าพระยะโฮวาจะทรงเป็นกำลังของเรา ตราบใดที่เรารักพระองค์ด้วยสิ้นสุดหัวใจ, สุดจิตวิญญาณ, สุดกำลัง, และสุดความคิดของเรา.—ลูกา 10:27.
5. เราอาจพบเหตุผลที่จะมีความยินดีที่ไหน?
5 ไพร่พลของพระยะโฮวาได้รับพระพรอุดม และมีเหตุผลมากมายที่จะชื่นชมยินดี. เหตุผลบางประการสำหรับความยินดีมีกล่าวในจดหมายของเปาโลที่เขียนถึงชาวฆะลาเตีย. เหตุผลอื่น ๆ ได้ระบุไว้ในข้อคัมภีร์อื่น ๆ ด้วย. การพิจารณาพระพรอันยังความเบิกบานยินดีเช่นนั้นย่อมจะชูใจเราได้.
จงหยั่งรู้ค่าเสรีภาพที่พระเจ้าประทาน
6. เหตุใดเปาโลจึงได้เตือนคริสเตียนชาวฆะลาเตียให้ยืนหยัดมั่นคง?
6 ในฐานะที่เป็นคริสเตียน เรามีพระพรที่น่าชื่นชมเนื่องด้วยเรามีฐานะเป็นที่โปรดปรานจำเพาะพระพักตร์พระเจ้า. เนื่องจากพระคริสต์ทรงปลดปล่อยสาวกของพระองค์พ้นจากบัญญัติของโมเซ ชาวฆะลาเตียจึงได้รับการสนับสนุนให้ตั้งมั่นคง และไม่ต้องอยู่ใต้ “แอกแห่งความเป็นทาสนั้น.” พวกเราล่ะเป็นอย่างไร? ถ้าเราพยายามจะได้รับการประกาศเป็นคนชอบธรรมโดยการประพฤติตามพระบัญญัติ เราคงจะอยู่ต่างหากจากพระคริสต์. แต่เมื่อได้รับการช่วยโดยพระวิญญาณของพระเจ้า เราคอยท่าความชอบธรรมซึ่งหวังว่าจะได้รับ อันเป็นผลจากการสำแดงความเชื่อโดยทางความรัก มิใช่ด้วยการทำสุหนัตในทางกายหรือด้วยการงานอย่างอื่นแห่งพระบัญญัติ.—ฆะลาเตีย 5:1-6.
7. เราควรมองดูงานรับใช้อันศักดิ์สิทธิ์ที่ทำถวายพระยะโฮวานั้นอย่างไร?
7 นับว่าเป็นพระพรเมื่อเราใช้เสรีภาพที่พระเจ้าประทานเพื่อ “ปฏิบัติพระยะโฮวาด้วยใจชื่นชม.” (บทเพลงสรรเสริญ 100:2) แท้จริง นับว่าเป็นสิทธิพิเศษอันล้ำค่าที่จะถวายการรับใช้อันศักดิ์สิทธิ์แด่ “พระยะโฮวา องค์ทรงฤทธานุภาพทุกประการ” ผู้ทรงเป็น “พระมหากษัตริย์แห่งนิรันดร์กาล”! (วิวรณ์ 15:3, ล.ม.) ถ้าคุณเกิดความรู้สึกน้อยเนื้อต่ำใจ สิ่งที่อาจช่วยได้คือตระหนักว่าพระเจ้าได้ทรงชักนำคุณเข้ามาใกล้พระองค์โดยทางพระเยซูคริสต์ ทั้งทรงโปรดให้คุณมีส่วนร่วมใน “งานบริสุทธิ์แห่งข่าวดีของพระเจ้า.” (โรม 15:16, ล.ม.; โยฮัน 6:44; 14:6) นับว่ามีเหตุผลมากมายจริง ๆ สำหรับความยินดีและความสำนึกในบุญคุณพระเจ้า!
8. ว่าด้วยบาบูโลนใหญ่นั้น อะไรทำให้ไพร่พลของพระเจ้ามีความยินดี?
8 สาเหตุอีกประการหนึ่งสำหรับความยินดีได้แก่การที่พระเจ้าประทานเสรีภาพพ้นจากบาบูโลนใหญ่ จักรภพโลกแห่งศาสนาเท็จ. (วิวรณ์ 18:2, 4, 5) แม้ว่าแพศยาโดยนัยนี้ “นั่งบนน้ำมากหลาย” อันหมายถึง “ประชาชนและประเทศและภาษาต่าง ๆ” ก็ตาม นางหาได้นั่งบนหรือมีอิทธิพลและควบคุมผู้รับใช้ของพระยะโฮวาไม่. (วิวรณ์ 17:1, 15) พวกเรายินดีในความสว่าง ขณะที่ผู้สนับสนุนบาบูโลนใหญ่อยู่ในความมืดฝ่ายวิญญาณ. (1 เปโตร 2:9) จริงอยู่ อาจเป็นการยากที่จะเข้าใจ “ข้อลึกลับของพระเจ้าบางข้อ.” (1 โกรินโธ 2:10) แต่การอธิษฐานขอสติปัญญา และการช่วยเหลือของพระวิญญาณบริสุทธิ์ย่อมทำให้เราเข้าใจสัจธรรมแห่งคัมภีร์ไบเบิลที่ปลดปล่อยบุคคลผู้มีความเข้าใจให้เป็นอิสระฝ่ายวิญญาณ.—โยฮัน 8:31, 32; ยาโกโบ 1:5-8.
9. ถ้าเราจะได้ชื่นชมกับเสรีภาพจากคำสอนผิดทางศาสนา ต่อไปเรื่อย ๆ เราต้องทำประการใด?
9 เราชื่นชมกับพระพรจากการมีเสรีภาพเรื่อยไปจากคำสอนผิดทางศาสนา แต่ที่จะคงเสรีภาพนั้นไว้ เราต้องปฏิเสธการออกหาก. ชาวฆะลาเตียได้เข้าในการวิ่งเป็นอย่างดี แต่มีบางคนขัดขวางมิให้เขาเชื่อฟังความจริง. การรุกเร้าให้ทำดังกล่าวไม่ได้มาจากพระเจ้าและจะต้องต้านทาน. เฉกเช่นเชื้อนิดหน่อยทำให้ขนมฟูทั้งก้อน ผู้สอนเท็จหรือการเอนเอียงเข้ากับพวกออกหากก็สามารถทำให้ประชาคมโดยส่วนรวมเสื่อมทรามได้. เปาโลต้องการให้ผู้สนับสนุนการรับสุหนัตที่พยายามบ่อนทำลายความเชื่อของชาวฆะลาเตียนั้น ไม่เพียงแต่รับสุหนัต แต่น่าจะทำตัวเองให้พิการทางเพศไปเลย. ช่างเป็นคำพูดที่แข็งกร้าวเสียจริง! แต่เราต้องมั่นคงอย่างนั้นในการปฏิเสธการออกหากถ้าเราจะรักษาเสรีภาพจากการผิดทางศาสนา.—ฆะลาเตีย 5:7-12.
รับใช้ซึ่งกันและกันด้วยความรัก
10. อะไรคือความรับผิดชอบของเราในฐานะที่เป็นส่วนแห่งภราดรภาพแบบคริสเตียน?
10 เสรีภาพที่พระเจ้าประทานนำเราสู่สังคมพี่น้องที่เปี่ยมด้วยความรัก แต่เราต้องทำส่วนของเราที่จะแสดงความรัก. ชาวฆะลาเตียมิควรใช้เสรีภาพของตนเป็น “ช่องสำหรับปล่อยตัวไปตามเนื้อหนัง” หรือใช้เป็นข้ออ้างเพื่อประโยชน์ของตนเองอย่างเห็นแก่ตัวขาดความรัก. เขาพึงรับใช้ซึ่งกันและกันด้วยความรักอย่างมีจุดมุ่งหมาย. (เลวีติโก 19:18; โยฮัน 13:35) อนึ่ง เราก็เช่นกัน ต้องหลีกเลี่ยงการนินทาลับหลัง การเกลียดชังกันอันอาจยังผลให้เราต่างก็ทำลายกันเอง. แน่นอน เรื่องอย่างนี้จะไม่เกิดขึ้น ถ้าเราแสดงความรักฉันพี่น้อง.—ฆะลาเตีย 5:13-15.
11. เราจะเป็นพรสำหรับผู้อื่นได้อย่างไร และคนอื่นอาจเป็นพรแก่เราโดยวิธีใด?
11 โดยการใช้เสรีภาพที่พระเจ้าประทานให้ประสานกับการทรงนำแห่งพระวิญญาณของพระเจ้า เราจึงแสดงความรักและเป็นพรแก่คนอื่น. ควรให้เป็นนิสัยประจำตัวที่พึงยอมให้พระวิญญาณบริสุทธิ์ควบคุมและนำเรา. ครั้นแล้วเราจะไม่โอนเอียงในทางอันปราศจากความรักเพื่อจะทำตามความพอใจของเนื้อหนังที่ผิดบาปของเรา ซึ่ง “ราคะตัณหาของเนื้อหนังย่อมต่อสู้พระวิญญาณ.” ถ้าพระวิญญาณของพระเจ้านำเรา เราจะทำสิ่งที่แสดงถึงความรัก แต่ไม่ใช่เพราะเป็นกฎเกณฑ์ต้องทำ หรือเพราะมีการวางโทษสำหรับผู้ทำผิด. ยกตัวอย่าง ความรัก—ไม่ใช่เพียงกฎหมาย—จะป้องกันเราไม่ให้พูดใส่ร้ายผู้อื่น. (เลวีติโก 19:16) ความรักจะกระตุ้นเราให้พูดและทำอย่างนุ่มนวลและกรุณา. เพราะเหตุที่เราสำแดงความรักซึ่งเป็นผลแห่งพระวิญญาณ คนอื่นจะสรรเสริญเรา หรือพูดถึงเราในทางดี. (สุภาษิต 10:6) ยิ่งกว่านั้น การคบหากับเราก็เป็นพรแก่พวกเขา.—ฆะลาเตีย 5:16-18.
การเปรียบเทียบผลที่ต่างกัน
12. พระพรบางประการอะไรบ้างที่มาพร้อมกับการเลิกปฏิบัติ “การของเนื้อหนัง” ที่ผิดบาป?
12 พระพรมากมายที่มาพร้อมกับเสรีภาพที่พระเจ้าประทานนั้นสืบเนื่องจากการละเว้น “การของเนื้อหนัง” ที่เป็นบาป. ในฐานะเป็นไพร่พลของพระเจ้าพวกเราส่วนใหญ่ เลี่ยงพ้นความทุกข์กังวลได้มาก เพราะเราไม่ทำผิดศีลธรรมทางเพศ ไม่ทำการอุลามกและไม่ประพฤติหละหลวม. โดยการหลีกเลี่ยงการบูชารูปเคารพ เรามีความยินดีเนื่องจากเราประพฤติเป็นที่ชอบพระทัยพระยะโฮวาในเรื่องนี้. (1 โยฮัน 5:21) ในเมื่อเราไม่เกี่ยวข้องกับไสยศาสตร์ เราก็พ้นจากอำนาจครอบงำแห่งผีปิศาจ. ภราดรภาพแบบคริสเตียนของเราไม่ถูกทำลายเพราะการเป็นศัตรูกัน, การวิวาท, การอิจฉากัน, การโกรธกัน, การทุ่มเถียงกัน, การแตกพวกแตกเหล่า, การแยกนิกาย, การริษยากัน, เราไม่สูญเสียความยินดีด้วยการดื่มเมามายและงานเลี้ยงอันอึกทึกครึกโครม. เปาโลได้เตือนว่าคนเหล่านั้นที่ปฏิบัติการของเนื้อหนังจะไม่ได้เข้าในราชอาณาจักรของพระเจ้า. อย่างไรก็ดี เราเชื่อฟังคำตักเตือนของท่าน เราจึงยึดอยู่กับความหวังที่น่ายินดีแห่งราชอาณาจักร.—ฆะลาเตีย 5:19-21.
13. พระวิญญาณบริสุทธิ์ของพระยะโฮวาผลิตผลอะไรบ้าง?
13 เสรีภาพที่พระเจ้าประทานนำมาซึ่งความยินดี เพราะคริสเตียนสำแดงผลแห่งพระวิญญาณของพระยะโฮวา. จากคำพูดของเปาโลที่กล่าวต่อชาวฆะลาเตีย จึงมองเห็นได้ง่ายว่าการงานของเนื้อหนังที่เป็นบาปเปรียบได้กับเสี้ยนหนาม เมื่อเทียบกับผลที่งดงามของพระวิญญาณอันได้แก่ความรัก, ความยินดี, สันติสุข, ความอดกลั้นทนนาน, ความกรุณา, ความดี, ความเชื่อ, ความอ่อนสุภาพ, และการรู้จักบังคับตน ซึ่งปลูกฝังลงไว้ในหัวใจที่เลื่อมใสในพระเจ้า. ด้วยความแน่วแน่จะดำเนินชีวิตต่างไปจากความปรารถนาของเนื้อหนังที่เป็นบาป เราปรารถนาจะให้พระวิญญาณของพระเจ้านำทางเรา และปรารถนาจะดำเนินชีวิตโดยพระวิญญาณ. พระวิญญาณทำให้เราเป็นคนอ่อนสุภาพ, สงบสุข, ไม่ “ถือตัว, ยั่วโทสะกัน, และอิจฉากัน.” ไม่แปลกเลยที่การสมาคมคบหากับคนเหล่านั้นที่สำแดงผลแห่งพระวิญญาณเป็นความยินดีอย่างแท้จริง!—ฆะลาเตีย 5:22–26.
เหตุผลอื่น ๆ ที่ทำให้เกิดความยินดี
14. เราจำต้องมียุทธภัณฑ์อะไรบ้างในการต่อสู้พวกวิญญาณชั่ว?
14 ควบคู่กับเสรีภาพฝ่ายวิญญาณของเราที่พระเจ้าประทานก็ได้แก่พระพรในด้านการคุ้มครองไว้จากซาตานและภูตผี. เพื่อที่จะชนะการปล้ำสู้กับกองกำลังวิญญาณชั่วได้ เราจะต้องสวม “ยุทธภัณฑ์ทั้งสิ้นของพระเจ้า.” เราจำต้องคาดเอวด้วยความจริง และเอาความชอบธรรมเป็นเกราะป้องกันหน้าอก. ต้องเอาข่าวดีเกี่ยวด้วยสันติสุขนั้นมาสวมเป็นรองเท้า. โล่ใหญ่แห่งความเชื่อเป็นสิ่งจำเป็นเช่นกัน เพื่อจะได้ดับลูกศรเพลิงของมารให้หมดไป. เราต้องสวมหมวกเกราะแห่งความรอด และแกว่ง “พระแสงแห่งพระวิญญาณ” พระวจนะของพระเจ้า. อนึ่ง ให้เรา ‘อธิษฐานขอโดยพระวิญญาณทุกเวลา.’ (เอเฟโซ 6:11-18) ถ้าเราสวมยุทธภัณฑ์ฝ่ายวิญญาณ และปฏิเสธลัทธิผีปิศาจ เราก็ไม่กลัวอะไรทั้งสิ้นและจะชื่นชมยินดี.—เทียบกับกิจการ 19:18-20.
15. พระพรอะไรซึ่งยังความปลาบปลื้มแก่เราเพราะเราประพฤติตนสอดคล้องกับพระวจนะของพระเจ้า?
15 ความยินดีเป็นของเราเพราะการประพฤติของเราสอดคล้องกับพระวจนะของพระเจ้า และเราปลอดความรู้สึกผิดที่ทิ่มแทงใจผู้กระทำผิด. เรา ‘ฝึกฝนตัวเองอยู่เสมอเพื่อจะมีสติรู้สึกผิดชอบที่ดีจำเพาะพระเจ้าและต่อมนุษย์.’ (กิจการ 24:16) ฉะนั้น เราไม่จำเป็นต้องกลัวการลงพระอาชญาของพระเจ้าแก่คนบาปที่เจตนาทำผิดและไม่กลับใจ. (มัดธาย 12:22-32; เฮ็บราย 10:26-31) โดยการรับคำแนะนำในสุภาษิต 3:21-26 มาใช้ให้เป็นประโยชน์ เราจะตระหนักในความสมจริงของถ้อยคำเหล่านั้นที่ว่า “จงสงวนพระปัญญาอันเลิศและความสุขุมรอบคอบไว้ เพื่อว่าจะได้เป็นชีวิตแก่วิญญาณของเจ้า และเป็นคุณประดับคอของเจ้า. ขณะนั้นเจ้าจะดำเนินในทางของเจ้าโดยปลอดภัย และเท้าของเจ้าจะไม่ได้สะดุด. เมื่อเจ้าเอนหลัง เจ้าจะไม่ต้องวิตก; และเมื่อเจ้านอนลง ความหลับของเจ้าจะสดชื่น. อย่าวิตกถึงเหตุน่ากลัวอันจะเกิดขึ้นฉับพลัน หรือวิตกถึงพายุแห่งความพินาศของคนชั่วอันจะเกิดขึ้น. เพราะว่าพระยะโฮวาจะเป็นที่ไว้วางใจของเจ้า และจะทรงรักษามิให้เท้าของเจ้าพลาดพลั้งไป.”
16. การอธิษฐานทำให้มีความยินดีอย่างไร และพระวิญญาณของพระยะโฮวามีบทบาทอย่างไรในเรื่องนี้?
16 สาเหตุอีกประการหนึ่งที่ทำให้มีความยินดีคือ โดยเสรีภาพที่พระเจ้าประทานนี้เองเราเข้าเฝ้าพระยะโฮวาด้วยคำอธิษฐาน พร้อมด้วยความมั่นใจว่าพระองค์สดับฟัง. ถูกแล้ว พระเจ้าทรงตอบคำอธิษฐานของเรา เพราะเราเคารพและมี “ความยำเกรงพระยะโฮวา.” (สุภาษิต 1:7) ยิ่งกว่านั้น เราได้รับการช่วยเหลือให้รักษาตัวอยู่ในความรักของพระเจ้า โดย “การอธิษฐานในพระวิญญาณบริสุทธิ์.” (ยูดา 20, 21) เราทำเช่นนี้โดยการเผยสภาพหัวใจแบบที่พระยะโฮวารับรองเอาไว้ได้ และโดยการอธิษฐานอาศัยอำนาจพระวิญญาณทูลขอสิ่งต่าง ๆ ซึ่งประสานกันกับพระประสงค์และพระวจนะของพระองค์ที่ทำให้เรารู้ว่าควรขออย่างไรและขออะไร. (1 โยฮัน 5:13-15) ถ้าเราถูกทดลองอย่างหนัก และไม่ทราบว่าจะทูลขอสิ่งใด ‘พระวิญญาณนั้นก็ได้ทรงช่วยเราในส่วนที่เราอ่อนกำลังด้วย ทรงช่วยขอแทนเรา ด้วยความคร่ำครวญซึ่งเหลือที่จะอธิบายได้.’ พระเจ้าทรงตอบคำอธิษฐานดังกล่าว. (โรม 8:26, 27) จงให้เราขอเพื่อเราจะประกอบด้วยพระวิญญาณบริสุทธิ์ และยอมให้พระวิญญาณผลิตผลในตัวเรา โดยเฉพาะผลที่จำเป็นต่อการเผชิญการทดลองในตอนนั้น. (ลูกา 11:13) อนึ่ง เราจะเพิ่มความยินดีมากขึ้น ถ้าเราศึกษาพระวจนะที่รับการดลบันดาลโดยพระวิญญาณและสรรพหนังสือฝ่ายคริสเตียนซึ่งจัดเตรียมภายใต้การทรงนำของพระวิญญาณด้วยการอธิษฐานและด้วยความขยันหมั่นเพียร.
เป็นสุขเนื่องด้วยการช่วยเหลือมีอยู่พร้อม
17. ประสบการณ์ของโมเซและถ้อยคำของดาวิดแสดงให้เห็นอย่างไรว่าพระยะโฮวาสถิตกับไพร่พลของพระองค์?
17 โดยการใช้เสรีภาพที่พระเจ้าประทานอย่างถูกต้อง เรามีความยินดีที่เรารู้ว่าพระยะโฮวาสถิตกับพวกเรา. ในคราวที่สถานการณ์ที่เป็นอันตรายเป็นเหตุทำให้โมเซต้องละจากอียิปต์ไป โดยความเชื่อ “ท่านมั่นใจอยู่เหมือนหนึ่งเห็นพระองค์ผู้ไม่ปรากฏแก่ตา.” (เฮ็บราย 11:27) โมเซไม่ได้ไปตามลำพัง ท่านรู้ว่าพระยะโฮวาทรงอยู่ด้วย. ทำนองคล้ายคลึงกัน บุตรชายของโคราห์ได้ร้องเพลงดังนี้: “พระเจ้าเป็นที่พึ่งพำนักและเป็นกำลังของพวกข้าพเจ้า เป็นผู้ทรงช่วยอันเลิศสถิตอยู่ใกล้ในเวลาลำบาก. เหตุฉะนั้นพวกข้าพเจ้าจะไม่หวาดหวั่น แม้แผ่นดินโลกจะแปรปรวนไป และแม้ภูเขาทั้งหลายจะเลื่อนลงสู่สะดือทะเล; แม้ว่าน้ำทะเลกำเริบเสียงกึกก้องและฟองฟูขึ้น และแม้ภูเขาหวั่นไหวเนื่องด้วยน้ำทะเลกำเริบนั้น.” (บทเพลงสรรเสริญ 46:1-3) ถ้าคุณมีความเชื่อในพระเจ้าดังกล่าว พระองค์จะไม่ทอดทิ้งคุณเลย. ดาวิดกล่าวว่า “เมื่อบิดามารดาละทิ้งข้าพเจ้าแล้ว พระยะโฮวาจะทรงรับข้าพเจ้าไว้.” (บทเพลงสรรเสริญ 27:10) ช่างเป็นความปลาบปลื้มยินดีเสียนี่กระไรเมื่อรู้ว่าพระเจ้าทรงห่วงใยผู้รับใช้ของพระองค์ถึงเพียงนั้น!—1 เปโตร 5:6, 7.
18. เหตุใดคนที่มีความยินดีของพระยะโฮวาจึงได้เสรีภาพพ้นจากความกระวนกระวายอันท่วมท้น?
18 เพราะมีความยินดีของพระยะโฮวา เราจึงมีเสรีภาพพ้นจากการกระวนกระวายมากเกินไป. เปาโลกล่าวไว้ว่า “อย่ากระวนกระวายด้วยสิ่งใด แต่ในทุกสิ่ง จงทูลขอต่อพระเจ้าโดยการอธิษฐานและการวิงวอนพร้อมด้วยการขอบพระคุณ; แล้วสันติสุขแห่งพระเจ้าที่เหนือกว่าความคิดทุกอย่างจะป้องกันรักษาหัวใจและความสามารถในการคิดของท่านไว้โดยพระเยซูคริสต์.” (ฟิลิปปอย 4:6, 7, ล.ม.) สันติสุขแห่งพระเจ้าเป็นความสงบสุขที่ไม่มีอะไรเทียบได้แม้แต่ในสภาพการณ์อันยากยิ่ง. พร้อมกับสันติสุขของพระเจ้า หัวใจของเราตั้งอยู่ในความสงบ—สิ่งที่ดีสำหรับตัวเราทางฝ่ายวิญญาณ, ทางอารมณ์, และทางด้านร่างกาย. (สุภาษิต 14:30) อีกทั้งช่วยเราเป็นคนสมดุลด้านจิตใจอยู่เสมอ เพราะเรารู้ว่าพระเจ้าจะไม่ทรงยอมให้สิ่งใดทำความเสียหายแก่เราตลอดไป. (มัดธาย 10:28) สันติสุขนี้อันเป็นผลจากการมีสัมพันธภาพแนบแน่นกับพระเจ้าโดยพระเยซูคริสต์นั้นเป็นของเราเนื่องจากเราได้อุทิศตัวแด่พระยะโฮวา และยอมให้พระวิญญาณของพระองค์นำทาง ซึ่งผลิตผลต่าง ๆ เช่นความยินดีและสันติสุข.
19. การให้หัวใจมั่นคงจดจ่อในสิ่งใดจะช่วยเราให้มีความยินดี?
19 การคอยเฝ้ารักษาหัวใจของเราให้มั่นคงอยู่ในเสรีภาพที่พระเจ้าประทานและในความหวังเรื่องราชอาณาจักรจะช่วยเราให้โสมนัสยินดี. อาทิ บางครั้งเราทำอะไรไม่ได้เกี่ยวกับสุขภาพที่ไม่ดี แต่เราจะอธิษฐานขอสติปัญญาและความอดทนที่จะรับมือได้ และอาจรับการปลอบโยนเมื่อคิดถึงสุขภาพฝ่ายวิญญาณที่เรามีอยู่ในขณะนี้ และการบำบัดรักษาทางร่างกายซึ่งจะมีขึ้นภายใต้การครอบครองของราชอาณาจักร. (บทเพลงสรรเสริญ 41:1-3; ยะซายา 33:24) แม้เราต้องอดทนความอัตคัตขาดแคลนในเวลานี้ แต่จะไม่มีการขัดสนปัจจัยต่าง ๆ ที่จำเป็นสำหรับชีวิตในโลกอุทยานซึ่งจะมาในไม่ช้านี้. (บทเพลงสรรเสริญ 72:14, 16; ยะซายา 65:21-23) ใช่แล้ว พระบิดาของเราผู้สถิตในสวรรค์จะทรงค้ำจุนเราขณะนี้ แล้วในที่สุดพระองค์จะโปรดให้เรามีความยินดีบริบูรณ์.—บทเพลงสรรเสริญ 145:14-21.
จงทะนุถนอมเสรีภาพที่พระเจ้าประทาน
20. ตามที่กล่าวในบทเพลงสรรเสริญ 100:1-5 เราควรเข้าเฝ้าจำเพาะพระยะโฮวาอย่างไร?
20 ในฐานะเป็นไพร่พลของพระยะโฮวา แน่นอน ควรทะนุถนอมเสรีภาพที่พระเจ้าประทานซึ่งได้ยังความยินดีและพระพรมากมายแก่พวกเรา. ไม่แปลกเลยที่บทเพลงสรรเสริญ 100:1-5 กระตุ้นเราให้เข้ามาเฝ้าจำเพาะพระเจ้า “ด้วยเปล่งเสียงชื่นบาน.” พระยะโฮวาทรงเป็นเจ้าของและดูแลเอาใจใส่พวกเราเหมือนคนเลี้ยงแกะที่รักฝูงแกะของตน. ถูกแล้ว ‘เราเป็นไพร่พลของพระองค์ และเป็นฝูงแกะที่พระองค์บำรุงเลี้ยง.’ การที่พระองค์เป็นพระผู้สร้างควบกับคุณลักษณะเด่นของพระองค์ก่อให้เกิดแรงกระตุ้นแก่เราที่จะเข้าไปถึงลานพระวิหารแห่งสถานศักดิ์สิทธิ์ของพระองค์ด้วยคำสรรเสริญและการโมทนาขอบพระคุณ. พวกเรารู้สึกอยากจะ “สรรเสริญพระนามพระองค์” ยกย่องพระเจ้ายะโฮวา. ยิ่งกว่านั้น เราสามารถวางใจได้เสมอในความกรุณารักใคร่ของพระองค์ หรือความเมตตาสงสารที่ทรงมีต่อเรา. พระยะโฮวาทรงสัตย์ซื่อ “ตลอดทุก ๆ ชั่วอายุคน” พระองค์ไม่ปรวนแปรในการแสดงความรักต่อคนที่กระทำตามพระทัยประสงค์ของพระองค์.
21. คำกล่าวหนุนใจอะไรซึ่งได้นำลงในฉบับแรกของวารสารนี้ และเราพึงทำประการใดเกี่ยวกับเสรีภาพที่พระเจ้าประทาน?
21 เนื่องจากเราเป็นมนุษย์ไม่สมบูรณ์ เราไม่สามารถหนีพ้นความทุกข์ยากทุกอย่างในเวลานี้ได้. แต่ด้วยการช่วยเหลือจากพระเจ้า เราสามารถเป็นพยานพระยะโฮวาได้อย่างกล้าหาญและชื่นชมยินดี. ที่น่าสังเกตเกี่ยวกับเรื่องนี้ได้แก่คำกล่าวซึ่งพบในวารสารนี้ที่ออกเป็นฉบับแรก (กรกฎาคม 1879): “จงกล้าหาญเถิด . . . คริสเตียนพี่น้องชายหญิงของข้าพเจ้า จงพยายามวิ่งในทางแคบแม้ฝีเท้าเหนื่อยล้าไป. อย่าสนใจกับความขรุขระของเส้นทาง เพราะได้รับการชำระให้เป็นทางบริสุทธิ์โดยพระบาทของนายพวกเราที่ได้ดำเนินผ่านไปแล้ว. ถือเสียว่าหนามทุกอันเป็นดอกไม้ หินแหลมคมทุกก้อนเป็นขั้นสำคัญ ซึ่งเร่งคุณให้รุดต่อไปจนบรรลุเป้าหมาย . . . จงจดจ้องอยู่ที่รางวัล.” หลายล้านคนที่ปฏิบัติพระยะโฮวาอยู่ในขณะนี้ต่างก็ตั้งตาคอยรางวัล และเขามีเหตุผลหลายประการที่จะมีความกล้าหาญและชื่นชมยินดี. จงร่วมกับพวกเขายืนหยัดมั่นคงในเสรีภาพที่พระเจ้าประทาน. อย่าพลาดจุดมุ่งหมายของเสรีภาพนั้น และขอให้ความยินดีแห่งพระยะโฮวาเป็นกำลังของพวกคุณตลอดไป.
คุณจะตอบอย่างไร?
▫ “ความโสมนัสยินดีแห่งพระยะโฮวา” จะเป็นกำลังของเราได้อย่างไร?
▫ พูดกันในแง่ศาสนา เสรีภาพที่พระเจ้าประทานนำมาซึ่งพระพรอะไรบ้างแก่ไพร่พลของพระยะโฮวา?
▫ ทำไมจึงควรปฏิบัติต่อกันและกันด้วยความรัก?
▫ พระพรอื่น ๆ อะไรบ้างที่ควบคู่กับเสรีภาพที่พระเจ้าประทาน?
▫ ไพร่พลของพระเจ้าสามารถคงไว้ซึ่งความโสมนัสยินดีโดยวิธีใด?
[รูปภาพหน้า 23]
“ถือเสียว่าหนามทุกอันเป็นดอกไม้ หินแหลมคมทุกก้อนเป็นขั้นสำคัญซึ่งเร่งคุณให้รุดหน้าจนบรรลุเป้าหมาย”