วันของพระยะโฮวาจะเผยให้เห็นอะไร?
“วันของพระยะโฮวา . . . จะมาเหมือนขโมย . . . และแผ่นดินโลกกับผลงานต่าง ๆ ในโลกจะถูกเปิดเผย.”—2 เป. 3:10
1, 2. (ก) ระบบชั่วในปัจจุบันจะสิ้นสุดลงอย่างไร? (ข) เราจะพิจารณาคำถามอะไร?
ระบบชั่วในปัจจุบันมีรากฐานมาจากคำโกหกที่ว่ามนุษย์สามารถประสบความสำเร็จในการปกครองแผ่นดินโลกโดยไม่ต้องพึ่งพระยะโฮวา. (เพลง. 2:2, 3) มีสิ่งใดไหมที่มีรากฐานมาจากความเท็จแล้วสามารถยั่งยืนอยู่ได้ตลอดไป? ไม่มีแน่! ถึงกระนั้น เราไม่จำเป็นต้องรอให้โลกของซาตานถึงกาลอวสานไปเอง. แทนที่จะเป็นอย่างนั้น โลกของซาตานจะถูกพระเจ้าทำลายเมื่อถึงเวลาที่พระองค์ทรงกำหนดไว้และตามวิธีของพระองค์. ปฏิบัติการของพระเจ้าในการทำลายโลกชั่วนี้จะสะท้อนให้เห็นถึงความยุติธรรมและความรักของพระองค์อย่างสมบูรณ์.—เพลง. 92:7; สุภา. 2:21, 22
2 อัครสาวกเปโตรเขียนว่า “วันของพระยะโฮวาก็จะมาเหมือนขโมย ในวันนั้นฟ้าสวรรค์จะหายวับไปด้วยเสียงดังสนั่น แต่ธาตุต่าง ๆ จะสลายไปเพราะร้อนจัด และแผ่นดินโลกกับผลงานต่าง ๆ ในโลกจะถูกเปิดเผย.” (2 เป. 3:10) “ฟ้าสวรรค์” และ “แผ่นดินโลก” ตามที่กล่าวถึงในที่นี้หมายถึงอะไร? “ธาตุต่าง ๆ” ที่จะสลายไปนั้นคืออะไร? และเปโตรหมายถึงอะไรเมื่อกล่าวถึง “แผ่นดินโลกกับผลงานต่าง ๆ ในโลก” ซึ่งจะ “ถูกเปิดเผย”? การรู้คำตอบของคำถามเหล่านี้จะช่วยเราให้เตรียมพร้อมสำหรับเหตุการณ์อันน่าสะพรึงกลัวที่จะเกิดขึ้นในอนาคตอันใกล้.
ฟ้าสวรรค์และแผ่นดินโลกที่จะหายวับไป
3. “ฟ้าสวรรค์” ที่ 2 เปโตร 3:10 กล่าวถึงคืออะไร และฟ้าสวรรค์เหล่านี้จะหายวับไปอย่างไร?
3 คำว่า “ฟ้าสวรรค์” เมื่อใช้ในความหมายโดยนัยในคัมภีร์ไบเบิลมักหมายถึงอำนาจปกครองต่าง ๆ ซึ่งอยู่เหนืออาณาประชาราษฎร์. (ยซา. 14:13, 14; วิ. 21:1, 2) “ฟ้าสวรรค์ [ซึ่ง] จะหายวับไป” หมายถึงการปกครองของมนุษย์ซึ่งมีอำนาจเหนือสังคมที่ไม่เลื่อมใสพระเจ้า. การหายวับไปด้วย “เสียงดังสนั่น” อาจบ่งชี้ถึงการทำลายฟ้าสวรรค์เหล่านี้ให้สูญสิ้นไปอย่างรวดเร็ว.
4. “แผ่นดินโลก” คืออะไร และจะถูกทำลายอย่างไร?
4 “แผ่นดินโลก” หมายถึงโลกแห่งมนุษยชาติที่เหินห่างจากพระเจ้า. โลกแบบนี้มีอยู่ในสมัยโนอาห์และถูกทำลายโดยน้ำท่วมตามพระบัญชาของพระเจ้า. “โดยคำตรัสเดียวกันนั้น ฟ้าสวรรค์กับแผ่นดินโลกที่อยู่เดี๋ยวนี้จึงถูกเก็บไว้ให้ไฟเผาและเก็บไว้จนถึงวันพิพากษาและวันพินาศของคนที่ดูหมิ่นพระเจ้า.” (2 เป. 3:7) แม้ว่าน้ำท่วมครั้งนั้นทำลายคนที่ไม่เลื่อมใสพระเจ้าทั้งหมดในคราวเดียว แต่การทำลายที่จะเกิดขึ้นในอนาคตจะเกิดขึ้นเป็นขั้น ๆ ระหว่าง “ความทุกข์ลำบากครั้งใหญ่.” (วิ. 7:14) ในช่วงแรกของความทุกข์ลำบากใหญ่นั้น พระเจ้าจะทรงกระตุ้นผู้ปกครองทางการเมืองของโลกนี้ให้ทำลาย “บาบิโลนใหญ่” ซึ่งแสดงให้เห็นว่าพระองค์ทรงรังเกียจศาสนาซึ่งทำตัวราวกับหญิงแพศยา. (วิ. 17:5, 16; 18:8) หลังจากนั้น ในสงครามอาร์มาเก็ดดอนซึ่งเป็นช่วงสุดท้ายของความทุกข์ลำบากครั้งใหญ่ พระยะโฮวาเองจะทรงกวาดล้างทำลายโลกที่เหลือทั้งหมดของซาตาน.—วิ. 16:14, 16; 19:19-21
“ธาตุต่าง ๆ จะสลายไป”
5. ธาตุต่าง ๆ มีความหมายโดยนัยหมายถึงอะไรบ้าง?
5 “ธาตุต่าง ๆ” ที่จะ “สลายไป” นั้นคืออะไร? “ธาตุต่าง ๆ” ที่เปโตรกล่าวถึงหมายถึงสิ่งพื้นฐานทั้งหลายที่ทำให้โลกมีลักษณะ, ทัศนคติ, วิถีทาง, และเป้าหมายที่ดูหมิ่นพระเจ้า. “ธาตุต่าง ๆ” นี้รวมถึง “น้ำใจของโลก” ซึ่ง “ดำเนินงานอยู่ในคนที่ไม่เชื่อฟัง.” (1 โค. 2:12; อ่านเอเฟโซส์ 2:1-3) น้ำใจนี้ซึ่งเหมือน “อากาศ” แทรกซึมไปทั่วในโลกของซาตาน. น้ำใจนี้กระตุ้นผู้คนให้คิด, วางแผน, พูด, และกระทำในแนวทางที่สะท้อนถึงความคิดจิตใจของซาตานที่เย่อหยิ่งและท้าทายอำนาจ ซึ่งเป็น “ผู้ครองอำนาจเหนือน้ำใจของโลกที่แทรกซึมอยู่ทุกหนทุกแห่งเหมือนอากาศ.”
6. น้ำใจของโลกปรากฏให้เห็นอย่างไร?
6 ด้วยเหตุนั้น คนที่ติดเชื้อน้ำใจของโลกไม่ว่าจะโดยรู้ตัวหรือไม่ก็ตามได้ปล่อยให้ซาตานชักจูงความคิดและหัวใจของตน พวกเขาจึงสะท้อนถึงวิธีคิดและทัศนะของมัน. ผลก็คือ พวกเขาทำตามความต้องการของตนเองโดยไม่คำนึงถึงพระประสงค์ของพระเจ้า. พวกเขาแสดงท่าทีต่อสถานการณ์ต่าง ๆ ด้วยความหยิ่งทะนงหรือความเห็นแก่ตัว, พวกเขาแสดงน้ำใจขืนอำนาจ, และพวกเขาปล่อยตัวทำตาม ‘ความปรารถนาทางกาย และความปรารถนาทางตา.’—อ่าน 1 โยฮัน 2:15-17
7. เหตุใดเราต้อง “รักษาใจ” ของเราไว้?
7 ดังนั้น เป็นเรื่องสำคัญสักเพียงไรที่เราจะ “รักษาใจ” ของเราไว้ด้วยการใช้สติปัญญาตามมาตรฐานของพระเจ้าในการเลือกเพื่อน, เรื่องที่เราอ่าน, ความบันเทิง, และเว็บไซต์ในอินเทอร์เน็ตที่เราเยี่ยมชม! (สุภา. 4:23) อัครสาวกเปาโลเขียนว่า “ระวังให้ดี อาจมีคนทำให้ท่านทั้งหลายตกเป็นเหยื่อเขาโดยใช้หลักปรัชญาและคำล่อลวงเหลวไหลที่อาศัยประเพณีของมนุษย์และสิ่งต่าง ๆ ที่โลกถือว่าสำคัญ ไม่ใช่อาศัยคำสอนของพระคริสต์.” (โกโล. 2:8) คำเตือนนี้เร่งด่วนยิ่งขึ้นขณะที่วันของพระยะโฮวาใกล้เข้ามา เพราะ ‘ความร้อน’ อย่างที่ไม่เคยมีมาก่อนของวันของพระยะโฮวาจะทำให้ “ธาตุต่าง ๆ” ของระบบซาตานสูญสลายไป ซึ่งเผยให้เห็นว่าพวกเขาไม่มีคุณลักษณะที่ทนไฟเลย. เรื่องนี้ทำให้เรานึกถึงถ้อยคำในมาลาคี 4:1 ที่ว่า “วันซึ่งจะมีการเผาให้ไหม้ดุจเผาในเตาไฟก็จะมาถึง, บรรดาคนจองหองทั้งหลายและมวลคนชั่วทั้งปวงจะเป็นเหมือนดังแกลบ, และวันที่มาถึงนั้นก็จะเกิดการไหม้พวกเขาทั้งมวล.”
“แผ่นดินโลกกับผลงานต่าง ๆ ในโลกจะถูกเปิดเผย”
8. แผ่นดินโลกกับผลงานต่าง ๆ ในโลก “จะถูกเปิดเผย” อย่างไร?
8 เปโตรหมายถึงอะไรเมื่อท่านเขียนว่า “แผ่นดินโลกกับผลงานต่าง ๆ ในโลกจะถูกเปิดเผย”? เปโตรหมายความว่าในระหว่างความทุกข์ลำบากครั้งใหญ่ พระยะโฮวาจะทรงเปิดเผยว่าโลกของซาตานเป็นปฏิปักษ์กับพระองค์และราชอาณาจักรของพระองค์ และด้วยเหตุนั้นจึงสมควรถูกทำลาย. ยะซายา 26:21 พยากรณ์เกี่ยวกับช่วงเวลานั้นไว้ว่า “พระยะโฮวากำลังเสด็จออกมาจากที่ประทับของพระองค์, เพื่อจะลงโทษพลโลกเพราะความผิดบาปของเขา แผ่นดินโลกจะเปิดเผยโลหิตที่ไหลริน, และจะไม่ปกปิดคนที่ถูกฆ่าตายอีกเลย.”
9. (ก) เราควรปฏิเสธอะไร และเพราะเหตุใด? (ข) เราควรพัฒนาอะไร และเพราะเหตุใด?
9 ในวันของพระยะโฮวา คนที่ถูกโลกและน้ำใจอันชั่วร้ายของโลกนวดปั้นจะแสดงว่าพวกเขาเป็นคนอย่างไรจริง ๆ ถึงขนาดที่จะฆ่ากันและกันด้วยซ้ำ. ที่จริง อาจเป็นไปได้ทีเดียวว่าความบันเทิงที่รุนแรงหลากหลายรูปแบบและเป็นที่นิยมในสมัยนี้กำลังหล่อหลอมจิตใจของหลายคนไว้สำหรับวันนั้นเมื่อแต่ละคนจะ “ยกมือขึ้นต่อสู้กันแลกัน.” (ซคา. 14:13) ดังนั้น เป็นเรื่องสำคัญสักเพียงไรที่เราจะปฏิเสธสิ่งใดก็ตาม—ไม่ว่าจะเป็น ภาพยนตร์, หนังสือ, วิดีโอเกม, หรือสิ่งใดก็แล้วแต่—ที่อาจทำให้เรามีนิสัยที่พระเจ้าทรงชัง เช่น นิสัยหยิ่งทะนงและรักความรุนแรง! (2 ซามู. 22:28; เพลง. 11:5) แทนที่จะเป็นอย่างนั้น ให้เราพัฒนาผลของพระวิญญาณบริสุทธิ์ของพระเจ้า เพราะคุณลักษณะเช่นนั้นจะไม่ติดไฟโดยนัยหรือความร้อนแรงของการทำลายล้างในวันของพระยะโฮวา.—กลา. 5:22, 23
“ฟ้าสวรรค์ใหม่และแผ่นดินโลกใหม่”
10, 11. “ฟ้าสวรรค์ใหม่” และ “แผ่นดินโลกใหม่” คืออะไร?
10 อ่าน 2 เปโตร 3:13. “ฟ้าสวรรค์ใหม่” คือราชอาณาจักรสวรรค์ของพระเจ้า ซึ่งสถาปนาขึ้นในปี 1914 เมื่อ “เวลากำหนดของชนต่างชาติ” สิ้นสุดลง. (ลูกา 21:24) รัฐบาลนี้มีพระคริสต์เยซูเป็นกษัตริย์ปกครองร่วมกับชน 144,000 คน ซึ่งส่วนใหญ่ได้รับบำเหน็จของตนในสวรรค์แล้ว. ในหนังสือวิวรณ์ มีการพรรณนาภาพของผู้ถูกเลือกสรรเหล่านี้ว่าเป็น “เมืองบริสุทธิ์ . . . เยรูซาเลมใหม่ลงมาจากสวรรค์ เมืองนี้มาจากพระเจ้าและเตรียมพร้อมแล้วดุจเจ้าสาวที่แต่งตัวไว้สำหรับเจ้าบ่าว.” (วิ. 21:1, 2, 22-24) เช่นเดียวกับที่เยรูซาเลมทางแผ่นดินโลกเป็นที่ตั้งของรัฐบาลในอิสราเอลโบราณ เยรูซาเลมใหม่และเจ้าบ่าวของเธอก็ประกอบกันเป็นรัฐบาลของระบบใหม่. เมืองเยรูซาเลมใหม่จะ “ลงมาจากสวรรค์” ด้วยการให้ความสนใจต่อแผ่นดินโลก.
11 “แผ่นดินโลกใหม่” หมายถึงสังคมใหม่ของมนุษย์บนแผ่นดินโลกซึ่งแสดงให้เห็นว่าพวกเขายินดีอยู่ใต้อำนาจราชอาณาจักรของพระเจ้า. ในที่สุด อุทยานฝ่ายวิญญาณซึ่งมีอยู่แล้วท่ามกลางประชาชนของพระเจ้าแม้แต่ในเวลานี้จะดำรงอยู่ในสภาพแวดล้อมที่เหมาะสมใน “แผ่นดินโลกที่มีคนอาศัยอยู่” อันสวยงามในอนาคต. (ฮีบรู 2:5, เชิงอรรถ) เราจะเป็นส่วนหนึ่งของระบบใหม่นั้นได้อย่างไร?
เตรียมพร้อมสำหรับวันใหญ่ของพระยะโฮวา
12. เหตุใดผู้คนในโลกจะตกตะลึงเมื่อวันของพระยะโฮวามาถึง?
12 ทั้งเปาโลและเปโตรบอกล่วงหน้าว่าวันของพระยะโฮวาจะมา “เหมือนขโมย” กล่าวคือมาอย่างลับ ๆ อย่างที่ไม่คาดคิด. (อ่าน 1 เทสซาโลนิเก 5:1, 2) แม้แต่คริสเตียนแท้ซึ่งคอยท่าวันนั้นอยู่เสมอก็จะแปลกใจเมื่อวันนั้นมาอย่างฉับพลัน. (มัด. 24:44) อย่างไรก็ตาม คนทั่วไปในโลกจะประหลาดใจยิ่งกว่านั้นมาก. เปาโลเขียนว่า “เมื่อไรพวกเขา [ผู้ที่เหินห่างจากพระยะโฮวา] พูดว่า ‘สงบสุขและปลอดภัยแล้ว!’ เมื่อนั้นความพินาศจะเกิดขึ้นกับพวกเขาทันทีโดยที่พวกเขาไม่ทันรู้ตัวเหมือนความทุกข์ปวดร้าวของหญิงมีครรภ์ตอนเจ็บท้องคลอด และพวกเขาจะไม่มีทางหนีพ้น.”—1 เทส. 5:3
13. เราจะไม่ปล่อยให้เสียงร้องที่ว่า “สงบสุขและปลอดภัยแล้ว!” ลวงเราให้เข้าใจผิดได้อย่างไร?
13 เสียงร้องที่ว่า “สงบสุขและปลอดภัยแล้ว!” จะเป็นเพียงคำโกหกอีกอย่างหนึ่งที่มีต้นตอมาจากพวกปิศาจ; แต่ผู้รับใช้ของพระยะโฮวาจะไม่หลงเชื่อเสียงร้องนี้. เปาโลเขียนว่า “พวกท่านไม่ได้อยู่ในความมืดเหมือนขโมย วันนั้นจึงไม่มาถึงโดยพวกท่านไม่ทันรู้ตัวอย่างที่มีแสงสว่างส่องมาโดยที่ขโมยไม่ทันรู้ตัว เพราะพวกท่านล้วนเป็นลูกของความสว่างและลูกของกลางวัน.” (1 เทส. 5:4, 5) ดังนั้น ให้เราอยู่ในความสว่างเสมอ และอยู่ห่างจากความมืดของโลกซาตาน. เปโตรเขียนว่า “พี่น้องที่รัก เมื่อมีความรู้เช่นนี้แล้ว จงระวังอย่าถูกชักนำด้วยเรื่องเท็จของคนที่ฝ่าฝืนกฎหมายจนหลงไปกับพวกเขา [ผู้สอนเท็จในประชาคมคริสเตียน] แล้วไม่ยืนหยัดมั่นคงอีกต่อไป.”—2 เป. 3:17
14, 15. (ก) พระยะโฮวาทรงให้เกียรติเราอย่างไร? (ข) เราควรจดจำถ้อยคำที่มีขึ้นโดยการดลใจอะไรไว้เสมอ?
14 ขอให้สังเกตว่าพระยะโฮวาไม่เพียงแค่บอกเราให้ “ระวัง” แล้วก็ไม่ได้ทำอะไรมากกว่านั้น. แทนที่จะเป็นอย่างนั้น พระองค์ทรงให้เกียรติเราโดยทรงโปรดให้เรามี “ความรู้” คร่าว ๆ เกี่ยวกับสิ่งที่จะเกิดขึ้นในอนาคต.
15 อย่างไรก็ตาม น่าเสียดายที่บางคนไม่แยแสหรือแม้กระทั่งเย้ยหยันคำเตือนเกี่ยวกับความจำเป็นที่ต้องตื่นตัวอยู่เสมอ. พวกเขาอาจพูดว่า ‘เราได้ยินคำเตือนเดียวกันนี้มาหลายสิบปีแล้ว.’ แต่คนเหล่านั้นควรจำไว้ว่าที่จริงการพูดอย่างนั้นเป็นการตั้งข้อสงสัยพระยะโฮวาและพระบุตร ไม่ใช่แค่การตั้งข้อสงสัยชนชั้นทาสสัตย์ซื่อ. พระยะโฮวาตรัสว่า “จงคอยท่า.” (ฮบา. 2:3) พระเยซูตรัสคล้าย ๆ กันว่า “จงเฝ้าระวังอยู่เสมอ เพราะเจ้าทั้งหลายไม่รู้ว่าองค์พระผู้เป็นเจ้าของเจ้าจะมาในวันใด.” (มัด. 24:42) นอกจากนั้น เปโตรเขียนว่า “ท่านทั้งหลายจงคิดให้ดีว่าควรเป็นคนอย่างไร. ท่านทั้งหลายควรเป็นคนที่ประพฤติบริสุทธิ์และทำสิ่งที่แสดงว่าท่านเลื่อมใสพระเจ้า พร้อมกับเฝ้าคอยและคิดถึงเวลาที่วันของพระยะโฮวามาถึงอยู่เสมอ!” (2 เป. 3:11, 12) ชนชั้นทาสสัตย์ซื่อและคณะกรรมการปกครองไม่มีทางเพิกเฉยคำเตือนที่จริงจังเหล่านั้น!
16. เราควรหลีกเลี่ยงทัศนคติแบบใด และเพราะเหตุใด?
16 ที่จริง คนที่ลงความเห็นว่านายมาช้านั้นคือ “ทาสชั่ว.” (มัด. 24:48) ทาสชั่วนั้นเป็นส่วนหนึ่งของกลุ่มคนที่ 2 เปโตร 3:3, 4 พรรณนาถึง. เปโตรเขียนว่า “ในสมัยสุดท้ายจะมีคนชอบเยาะเย้ยมาเยาะเย้ย” ซึ่ง “โดยทำตามความปรารถนาของพวกเขาเอง” พวกเขาเยาะเย้ยคนที่เชื่อฟังซึ่งคำนึงถึงวันของพระยะโฮวาเสมอ. แทนที่จะมุ่งสนใจผลประโยชน์ของราชอาณาจักร ผู้เยาะเย้ยเหล่านั้นมุ่งสนใจแต่ตัวเองและความปรารถนาต่าง ๆ อันเห็นแก่ตัว. ขอเราอย่ามีทัศนคติที่เป็นอันตรายโดยไม่เชื่อฟังเช่นนั้น! แทนที่จะเป็นอย่างนั้น ขอให้เรา “ถือว่าความอดทนขององค์พระผู้เป็นเจ้าเป็นความรอด” ด้วยการทำงานประกาศเรื่องราชอาณาจักรและสอนคนให้เป็นสาวกอย่างขยันขันแข็งอยู่เสมอ และไม่กระวนกระวายเกินไปเกี่ยวกับเวลากำหนดของเหตุการณ์เหล่านั้นซึ่งพระยะโฮวาพระเจ้าทรงเป็นผู้กำหนด.—2 เป. 3:15; อ่านกิจการ 1:6, 7
จงวางใจพระเจ้าแห่งความรอด
17. คริสเตียนที่ซื่อสัตย์แสดงปฏิกิริยาอย่างไรต่อคำเตือนของพระเยซูที่ให้หนีออกจากกรุงเยรูซาเลม และเพราะเหตุใด?
17 หลังจากกองทัพโรมันรุกเข้ามาในยูเดียในสากลศักราช 66 คริสเตียนที่ซื่อสัตย์ทำตามคำเตือนของพระเยซูที่ให้หนีออกจากกรุงเยรูซาเลมทันทีที่มีโอกาส. (ลูกา 21:20-23) เหตุใดพวกเขาจึงลงมือกระทำทันทีและไม่ลังเล? ไม่ต้องสงสัยเลยว่าพวกเขาระลึกถึงคำเตือนของพระเยซูอยู่เสมอ. แน่นอน พวกเขาคาดหมายไว้อยู่แล้วว่าจะประสบความลำบากเมื่อตัดสินใจทำอย่างนั้น ดังที่พระเยซูทรงเตือนไว้ล่วงหน้า. แต่ในขณะเดียวกัน พวกเขารู้ว่าพระยะโฮวาจะไม่มีวันละทิ้งผู้ที่ภักดีต่อพระองค์.—เพลง. 55:22
18. คำตรัสของพระเยซูที่พบในลูกา 21:25-28 มีผลอย่างไรต่อทัศนะของคุณเกี่ยวกับความทุกข์ลำบากครั้งใหญ่ที่ใกล้จะถึง?
18 เราเองก็ต้องไว้วางใจพระยะโฮวาอย่างเต็มที่เช่นเดียวกัน เพราะพระองค์ทรงเป็นผู้เดียวเท่านั้นที่สามารถช่วยเราให้รอดได้เมื่อระบบปัจจุบันเผชิญกับความทุกข์ลำบากครั้งใหญ่ที่สุดเท่าที่เคยมีในประวัติศาสตร์มนุษย์. ณ เวลาใดเวลาหนึ่งหลังจากความทุกข์ลำบากครั้งใหญ่เริ่มต้นแล้ว แต่ก่อนที่พระยะโฮวาจะทรงพิพากษาโลกที่เหลือทั้งหมด ประชาชนจะ “สลบไปเพราะความกลัวและคอยท่าสิ่งที่จะเกิดขึ้นบนแผ่นดินโลก.” อย่างไรก็ตาม ขณะที่ศัตรูของพระเจ้าสั่นสะท้านด้วยความกลัว ผู้รับใช้ที่ภักดีของพระยะโฮวาจะไม่รู้สึกกลัวเลย. ตรงกันข้าม พวกเขาจะยินดีเพราะรู้ว่าพวกเขาใกล้จะได้รับการช่วยให้รอดแล้ว.—อ่านลูกา 21:25-28
19. บทความถัดไปจะพิจารณาเรื่องอะไร?
19 มีอนาคตที่น่าตื่นเต้นรออยู่สำหรับคนเหล่านั้นที่อยู่ต่างหากจากโลกและ “ธาตุต่าง ๆ” ของโลกเสมอ! แต่ดังที่บทความถัดไปจะอธิบาย ถ้าเราต้องการจะได้รับชีวิต เราต้องทำไม่เพียงแค่หลีกเลี่ยงสิ่งชั่ว. เราต้องพัฒนาคุณลักษณะที่พระยะโฮวาทรงพอพระทัยและทำการงานที่พระองค์ทรงยอมรับ.—2 เป. 3:11
คุณอธิบายได้ไหม?
• ‘ฟ้าสวรรค์และแผ่นดินโลก’ ในปัจจุบันหมายถึงอะไร?
• “ธาตุต่าง ๆ” หมายถึงอะไร?
• “ฟ้าสวรรค์ใหม่และแผ่นดินโลกใหม่” หมายถึงอะไร?
• เหตุใดเราจึงไว้วางใจพระเจ้าอย่างเต็มที่?
[ภาพหน้า 5]
คุณจะ “รักษาใจ” และอยู่ต่างหากจากโลกเสมอได้อย่างไร?
[ภาพหน้า 6]
เราจะแสดงอย่างไรว่าเรา “ถือว่าความอดทนขององค์พระผู้เป็นเจ้าเป็นความรอด”?