บท 6
การไขความลับอันศักดิ์สิทธิ์
1. เราควรมีปฏิกิริยาอย่างไรต่อภาพอันงดงามรุ่งโรจน์ที่มีบันทึกไว้ในวิวรณ์ 1:10-17?
นิมิตเกี่ยวด้วยพระเยซูผู้ได้รับสง่าราศีช่างน่าเกรงขามเสียนี่กระไร! ไม่ต้องสงสัย หากเราได้อยู่ ณ ที่นั่นในฐานะผู้สังเกตการณ์ร่วมกับอัครสาวกโยฮัน เราคงแทบสิ้นสติเช่นกันเนื่องจากรัศมีอันโชติช่วง และคงต้องได้กราบลงแทบเท้าเหมือนกับท่าน. (วิวรณ์ 1:10-17) นิมิตโดยการดลใจอันยอดเยี่ยมนี้ได้รับการรักษาไว้เพื่อกระตุ้นพวกเราในปัจจุบันให้ลงมือปฏิบัติ. เช่นเดียวกับโยฮัน เราควรแสดงความหยั่งรู้ค่าอย่างถ่อมใจต่อทุกสิ่งที่นิมิตนี้หมายถึง. ขอให้พวกเราเคารพยำเกรงพระเยซูอยู่เสมอในฐานะเป็นกษัตริย์ผู้ทรงราชย์, มหาปุโรหิต, และผู้พิพากษา.—ฟิลิปปอย 2:5-11.
“ผู้แรกและผู้สุดท้าย”
2. (ก) พระเยซูทรงแนะนำพระองค์เองด้วยบรรดาศักดิ์อะไร? (ข) เมื่อพระยะโฮวาตรัสว่า “เราเป็นเบื้องต้นและเราเป็นเบื้องปลาย” นั้นหมายความว่าอย่างไร? (ค) บรรดาศักดิ์ของพระเยซูที่ว่า “ผู้แรกและผู้สุดท้าย” นั้นนำความสนใจสู่อะไร?
2 อย่างไรก็ดี ความเกรงกลัวของเราไม่ต้องกลายเป็นความกลัวอย่างขนพองสยองเกล้า. พระเยซูทรงให้คำรับรองแก่โยฮัน ดังที่อัครสาวกได้แถลงต่อไป. “พระองค์จึงทรงวางพระหัตถ์ขวาบนตัวข้าพเจ้าแล้วตรัสว่า ‘อย่ากลัวเลย. เราเป็นผู้แรกและผู้สุดท้าย และเป็นผู้มีชีวิตอยู่.’” (วิวรณ์ 1:17ข, 18ก, ล.ม.) ที่ยะซายา 44:6 พระยะโฮวาตรัสถึงฐานะของพระองค์ที่ทรงเป็นพระเจ้าองค์ทรงฤทธานุภาพทุกประการแต่ผู้เดียวอย่างถูกต้องว่า “เราเป็นเบื้องต้น และเราเป็นเบื้องปลาย และนอกจากเราไม่มี [“พระเจ้า,” ล.ม.] เลย.”a เมื่อพระเยซูตรัสถึงพระองค์เองในฐานะที่เป็น “ผู้แรกและผู้สุดท้าย” พระองค์หาได้อ้างตนเสมอภาคกับพระยะโฮวา พระผู้สร้างองค์ใหญ่ยิ่งไม่. พระองค์ทรงใช้บรรดาศักดิ์ที่พระเจ้าทรงประทานให้พระองค์นั้นอย่างถูกต้อง. ที่พระธรรมยะซายา พระยะโฮวาได้ตรัสถึงตำแหน่งอันหาที่เปรียบไม่ได้ของพระองค์ในฐานะเป็นพระเจ้าองค์เที่ยงแท้. พระองค์ทรงเป็นพระเจ้าผู้ทรงพระเจริญนิรันดร์ และที่แท้ นอกจากพระองค์ไม่มีพระเจ้าอื่น. (1 ติโมเธียว 1:17) ที่พระธรรมวิวรณ์ พระเยซูตรัสถึงบรรดาศักดิ์ที่พระองค์ได้รับ โดยมุ่งความสนใจในเรื่องการกลับเป็นขึ้นจากตายของพระองค์อันหาที่เปรียบไม่ได้.
3. (ก) พระเยซูทรงเป็น “ผู้แรกและผู้สุดท้าย” ในทางใด? (ข) การที่พระเยซูทรงมี “ลูกกุญแจแห่งความตายและหลุมศพ” นั้นหมายความว่าอย่างไร?
3 พระเยซูทรงเป็น “ผู้แรก” อย่างแท้จริงที่ได้รับการปลุกให้เป็นขึ้นสู่ชีวิตกายวิญญาณอมตะ. (โกโลซาย 1:18) ยิ่งกว่านั้น พระองค์ทรงเป็น “ผู้สุดท้าย” ที่ได้รับการปลุกให้เป็นขึ้นโดยตรงจากพระยะโฮวา. โดยเหตุนี้ พระองค์ทรงเป็น “ผู้มีชีวิตอยู่ . . . มีชีวิตอยู่ตลอดไปเป็นนิตย์.” พระองค์ทรงอมฤตยู. ในด้านนี้ พระองค์ทรงสภาพเช่นเดียวกับพระบิดาองค์ทรงอมฤตยู ผู้ซึ่งได้รับการขนานนามว่า “พระเจ้าผู้ทรงพระชนม์อยู่.” (วิวรณ์ 7:2, ล.ม.; บทเพลงสรรเสริญ 42:2) สำหรับมนุษยชาตินอกนั้น พระเยซูทรงเป็น “การกลับเป็นขึ้นจากตายและเป็นชีวิต.” (โยฮัน 11:25, ล.ม.) สอดคล้องกับเรื่องนี้ พระองค์ทรงตรัสกับโยฮันว่า “เราเคยตายแล้ว แต่บัดนี้เรามีชีวิตอยู่ตลอดไปเป็นนิตย์ และเรามีกุญแจแห่งความตายและหลุมศพ.” (วิวรณ์ 1:18ข, ล.ม.) พระยะโฮวาทรงประทานอำนาจในการปลุกคนตายแก่พระองค์. นั่นคือเหตุผลที่พระเยซูสามารถตรัสได้ว่า พระองค์ทรงมีกุญแจจะปลดปล่อยคนที่ถูกผูกมัดโดยความตายและฮาเดส (หลุมฝังศพ).—เทียบกับมัดธาย 16:18.
4. พระเยซูทรงกล่าวซ้ำคำบัญชาอะไร และเพื่อประโยชน์ของใคร?
4 บัดนี้พระเยซูทรงตรัสย้ำพระบัญชาของพระองค์ที่ให้บันทึกนิมิตนี้โดยตรัสแก่โยฮันว่า “จงเขียนสิ่งที่เจ้าได้เห็น และสิ่งที่เกิดขึ้นตอนนี้และสิ่งที่จะเกิดขึ้นหลังจากนั้น.” (วิวรณ์ 1:19, ล.ม.) สิ่งน่าตื่นเต้นอะไรอีกที่โยฮันจะเปิดเผยให้เราได้ทราบ?
ดาวและเชิงตะเกียง
5. พระเยซูทรงอธิบายอย่างไรถึง “ดาวเจ็ดดวง” และ “เชิงตะเกียงเจ็ดอัน”?
5 โยฮันได้เห็นพระเยซูอยู่ท่ามกลางเชิงตะเกียงทองคำเจ็ดอันพร้อมด้วยดาวเจ็ดดวงในพระหัตถ์เบื้องขวาของพระองค์. (วิวรณ์ 1:12, 13, 16) บัดนี้พระเยซูทรงอธิบายดังนี้: “ส่วนความลับอันศักดิ์สิทธิ์เรื่องดาวเจ็ดดวงที่เจ้าเห็นในมือขวาของเราและเรื่องเชิงตะเกียงทองคำเจ็ดอันนั้นคือดังนี้ ดาวเจ็ดดวงหมายถึงเหล่าทูตของประชาคมทั้งเจ็ด และเชิงตะเกียงเจ็ดอันหมายถึงประชาคมทั้งเจ็ด.”—วิวรณ์ 1:20, ล.ม.
6. ดาวเจ็ดดวงเป็นภาพเล็งถึงอะไร และเหตุใดจึงมีการแถลงข่าวสารต่อเขาเหล่านี้โดยเฉพาะ?
6 “ดาว” เจ็ดดวงนั้นได้แก่ “เหล่าทูตของประชาคมทั้งเจ็ด.” ในพระธรรมวิวรณ์ บางครั้งดาวเป็นภาพเล็งถึงทูตสวรรค์จริง ๆ แต่พระเยซูคงจะไม่ใช้ผู้เขียนที่เป็นมนุษย์ให้เขียนไปถึงกายวิญญาณ. ดังนั้น “ดาว” คงต้องหมายถึงผู้ดูแล หรือผู้ปกครอง ที่เป็นมนุษย์ในประชาคมต่าง ๆ ซึ่งเปรียบเสมือนผู้ส่งข่าวของพระเยซู.b ข่าวสารนั้นมีไปถึงดาวเหล่านั้น เพราะคนเหล่านั้นมีความรับผิดชอบดูแลฝูงแกะของพระยะโฮวา.—กิจการ 20:28.
7. (ก) อะไรแสดงว่า การที่พระเยซูตรัสแก่ทูตสวรรค์เพียงองค์เดียวในแต่ละประชาคมนั้นไม่ได้หมายความว่าแต่ละประชาคมมีผู้ปกครองเพียงคนเดียวเท่านั้น? (ข) จริง ๆ แล้ว ดาวเจ็ดดวงในพระหัตถ์เบื้องขวาของพระเยซูนั้นเป็นภาพเล็งถึงใคร?
7 เนื่องจากพระเยซูตรัสกับ “ทูต” เพียงคนเดียวในแต่ละประชาคม นั่นหมายความว่า แต่ละประชาคมมีผู้ปกครองเพียงคนเดียวไหม? ไม่ใช่เช่นนั้น. ในสมัยเปาโล ประชาคมที่เอเฟโซส์มีผู้ปกครองหลายคน ไม่ใช่คนเดียว. (วิวรณ์ 2:1; กิจการ 20:17) ดังนั้น ในสมัยโยฮัน เมื่อข่าวสารถูกส่งไปยังดาวทั้งเจ็ด เพื่อจะอ่านแก่ประชาคมต่าง ๆ (รวมทั้งประชาคมในเอเฟโซส์) ดาวคงต้องหมายถึงคณะผู้ปกครองที่รับใช้ภายในประชาคมที่ถูกเจิมของพระยะโฮวา. ในทำนองเดียวกัน พวกผู้ดูแลสมัยนี้จะอ่านให้ประชาคมฟังจากจดหมายที่ได้รับจากคณะกรรมการปกครองอันประกอบด้วยกลุ่มผู้ดูแลที่ถูกเจิม ผู้ซึ่งรับใช้ภายใต้พระเยซูผู้เป็นประมุข. คณะผู้ปกครองในประชาคมท้องถิ่นต้องทำให้แน่ใจว่า ประชาคมทำตามคำแนะนำของพระเยซู. แน่นอน คำแนะนำนั้นก็เพื่อประโยชน์ของทุกคนที่สมทบกับประชาคม ไม่เฉพาะแต่ผู้ปกครองเท่านั้น.—ดูวิวรณ์ 2:11ก.
8. การที่พวกผู้ปกครองอยู่ในพระหัตถ์เบื้องขวาของพระเยซูนั้นบ่งชี้ถึงสิ่งใด?
8 เนื่องจากพระเยซูทรงเป็นประมุขของประชาคม จึงกล่าวได้อย่างถูกต้องว่า ผู้ปกครองทั้งหลายอยู่ในพระหัตถ์ขวาของพระองค์ กล่าวคือ อยู่ภายใต้การควบคุมและการชี้นำของพระองค์. (โกโลซาย 1:18) พระองค์ทรงเป็นผู้บำรุงเลี้ยงองค์เอก และพวกเขาเป็นรองผู้บำรุงเลี้ยง.—1 เปโตร 5:2-4.
9. (ก) เชิงตะเกียงเจ็ดอันเป็นภาพเล็งถึงอะไร และทำไมเชิงตะเกียงเหล่านี้จึงเป็นสัญลักษณ์ที่เหมาะสมสำหรับสิ่งนั้น? (ข) เป็นไปได้ว่า นิมิตนั้นคงจะเตือนให้อัครสาวกโยฮันระลึกถึงสิ่งใด?
9 เชิงตะเกียงทั้งเจ็ดคือเจ็ดประชาคมที่โยฮันเขียนพระธรรมวิวรณ์ไปถึง ได้แก่ เอเฟโซส์, สเมอร์นา, เปอร์กาโมส์, ทิอาทิรา, ซาร์ดิส, ฟีลาเดลเฟีย, และลาโอดิเคีย. เหตุใดจึงได้ใช้เชิงตะเกียงเป็นสัญลักษณ์ถึงประชาคมต่าง ๆ? เนื่องจากคริสเตียน ไม่ว่าเป็นรายบุคคลหรือโดยส่วนรวมเป็นประชาคม ก็ต้อง ‘ให้ความสว่างของเขาส่องไปต่อหน้าคนทั้งปวง’ ในโลกที่มืดมนนี้. (มัดธาย 5:14-16) นอกจากนี้ เชิงตะเกียงเป็นส่วนหนึ่งในเครื่องตกแต่งพระวิหารของซะโลโม. การเรียกประชาคมว่าเชิงตะเกียงนั้นคงเตือนโยฮันให้ระลึกว่า ในความหมายเปรียบเทียบแล้ว แต่ละประชาคมแห่งผู้ถูกเจิมเป็น “พระวิหารของพระเจ้า” เป็นที่สถิตแห่งพระวิญญาณของพระเจ้า. (1 โกรินโธ 3:16) ยิ่งกว่านั้น ในตัวจริงของการจัดเตรียมที่พระวิหารของพวกยิวเป็นแบบเล็งถึงนั้น สมาชิกประชาคมแห่งผู้ถูกเจิมรับใช้ในฐานะ “ปุโรหิตหลวง” ในการจัดเตรียมเกี่ยวกับพระวิหารฝ่ายวิญญาณอันยิ่งใหญ่ของพระยะโฮวา ซึ่งมีพระเยซูเป็นมหาปุโรหิตและซึ่งเป็นที่ประทับส่วนพระองค์ของพระยะโฮวาในที่บริสุทธิ์ที่สุดในสวรรค์.—1 เปโตร 2:4, 5, 9; เฮ็บราย 3:1; 6:20; 9:9-14, 24.
การออกหากครั้งใหญ่
10. มีอะไรเกิดขึ้นกับระบบของพวกยิวกับบรรดาผู้ให้การสนับสนุนซึ่งไม่กลับใจของระบบนี้ในปีสากลศักราช 70?
10 ตอนที่โยฮันเขียนพระธรรมวิวรณ์ ศาสนาคริสเตียนมีมากว่า 60 ปีแล้ว. ในตอนต้น ศาสนานี้ได้ผ่านการต่อต้านจากลัทธิยูดายเรื่อยมาถึง 40 ปี. ครั้นแล้วระบบของชาวยิวประสบการโจมตีอย่างรุนแรงที่สุดในปีสากลศักราช 70 เมื่อชาวยิวที่ไม่กลับใจสูญเสียเอกลักษณ์ประจำชาติและสิ่งที่พวกเขาบูชาประหนึ่งรูปเคารพ คือพระวิหารในกรุงเยรูซาเลม.
11. เหตุใดจึงเป็นเวลาอันเหมาะสมจริง ๆ ที่ท่านผู้บำรุงเลี้ยงองค์ยิ่งใหญ่จะให้คำเตือนแก่ประชาคมทั้งหลายเกี่ยวกับแนวโน้มที่กำลังเกิดขึ้น?
11 อย่างไรก็ตาม อัครสาวกเปาโลบอกไว้ล่วงหน้าว่า จะมีการออกหากท่ามกลางคริสเตียนผู้ถูกเจิม และข่าวสารของพระเยซูแสดงว่า ในสมัยที่โยฮันชรา การออกหากนั้นได้เกิดขึ้นอยู่แล้ว. โยฮันเป็นคนสุดท้ายในเหล่าผู้ทำหน้าที่เป็นเครื่องหน่วงเหนี่ยวความพยายามเช่นนี้ในทุกวิถีทางของซาตานเพื่อทำให้พงศ์พันธุ์ของหญิงเป็นมลทิน. (2 เธซะโลนิเก 2:3-12; 2 เปโตร 2:1-3; 2 โยฮัน 7-11) ดังนั้น จึงเป็นเวลาอันเหมาะที่ผู้เลี้ยงองค์เอกของพระยะโฮวาจะเขียนไปยังพวกผู้ปกครองในประชาคมต่าง ๆ เตือนให้รู้ตัวถึงแนวโน้มที่ขยายตัวและหนุนกำลังใจผู้ที่มีหัวใจถูกต้องให้ยืนหยัดมั่นคงเพื่อความชอบธรรม.
12. (ก) เกิดการออกหากขึ้นอย่างไรในศตวรรษต่าง ๆ ภายหลังการสิ้นชีวิตของโยฮัน? (ข) คริสต์ศาสนจักรเกิดมีขึ้นมาอย่างไร?
12 ประชาคมต่าง ๆ ในปีสากลศักราช 96 ตอบรับข่าวสารของพระเยซูอย่างไรนั้นเราไม่ทราบ. แต่ที่เราทราบคือ การออกหากขยายตัวอย่างรวดเร็วภายหลังโยฮันสิ้นชีวิต. “คริสเตียน” เลิกใช้พระนามยะโฮวา และใช้คำ “องค์พระผู้เป็นเจ้า” หรือ “พระเจ้า” แทนพระนามนี้ในสำเนาคัมภีร์ไบเบิล. พอถึงศตวรรษที่สี่ หลักคำสอนเท็จว่าด้วยตรีเอกานุภาพได้แทรกซึมเข้าในประชาคมต่าง ๆ. ในช่วงเวลาเดียวกัน ได้มีการรับเอาแนวความคิดเรื่องจิตวิญญาณอมตะ. ในที่สุด จักรพรรดิคอนสแตนตินแห่งโรมได้ให้การรับรองอย่างเป็นทางการแก่ “ศาสนาคริสต์” และการทำเช่นนี้ทำให้คริสต์ศาสนจักรกำเนิดขึ้นมา ซึ่งคริสตจักรกับรัฐรวมกำลังกันในการปกครองเป็นเวลาหนึ่งพันปี. เป็นการง่ายที่จะเปลี่ยนเป็น “คริสเตียน” แบบใหม่. ผู้คนทั้งเผ่าจากเผ่าต่าง ๆ ได้ปรับเปลี่ยนกิจปฏิบัติแบบนอกรีตที่เขามีอยู่ก่อนให้เข้ากับรูปแบบของศาสนานี้. ผู้นำหลายคนในคริสต์ศาสนจักรได้กลายเป็นทรราชทางการเมืองที่โหดเหี้ยม ใช้ดาบเพื่อยัดเยียดทัศนะแบบออกหากของตน.
13. แม้ว่ามีคำเตือนของพระเยซูต่อเรื่องการแตกแยกเป็นฝักเป็นฝ่ายก็ตาม พวกคริสเตียนที่ออกหากได้ยึดเอาแนวทางเช่นไร?
13 คำตรัสของพระเยซูที่มีไปยังเจ็ดประชาคมนั้นถูกพวกคริสเตียนที่ออกหากปฏิเสธอย่างสิ้นเชิง. พระเยซูทรงเตือนชาวเอเฟโซส์ให้ฟื้นฟูความรักที่พวกเขาเคยมีแต่แรก. (วิวรณ์ 2:4) อย่างไรก็ตาม สมาชิกทั้งหลายแห่งคริสต์ศาสนจักร ซึ่งไม่เป็นเอกภาพอีกต่อไปด้วยความรักที่มีต่อพระยะโฮวา ได้สู้รบกันอย่างโหดเหี้ยมรุนแรงและข่มเหงกันและกันอย่างร้ายกาจ. (1 โยฮัน 4:20) พระเยซูทรงเตือนประชาคมที่เปอร์กาโมส์เรื่องการแตกแยก. กระนั้น ก็มีการแยกเป็นนิกายต่าง ๆ แม้ในศตวรรษที่สอง และทุกวันนี้ภายในคริสต์ศาสนจักรก็มีนับพัน ๆ นิกายและศาสนาที่วิวาทบาดหมางกัน.—วิวรณ์ 2:15.
14. (ก) ถึงแม้พระเยซูได้เตือนถึงการตายฝ่ายวิญญาณก็ตาม พวกที่อ้างว่าเป็นคริสเตียนยึดเอาแนวทางใด? (ข) ในแนวทางใดพวกที่อ้างตัวเป็นคริสเตียนได้พลาดไปจากการเอาใจใส่คำเตือนของพระเยซูในเรื่องรูปเคารพและการผิดศีลธรรม?
14 พระเยซูทรงเตือนประชาคมที่ซาร์ดิสถึงการตายฝ่ายวิญญาณ. (วิวรณ์ 3:1) เช่นเดียวกับผู้คนที่ซาร์ดิส คนที่ประกาศตัวเป็นคริสเตียนได้ลืมการงานฝ่ายคริสเตียนอย่างรวดเร็ว และในไม่ช้าก็ได้ยกงานประกาศที่สำคัญยิ่งนี้ไว้กับชนชั้นนักเทศน์นักบวชกลุ่มเล็ก ๆ ที่รับค่าจ้าง. พระเยซูทรงเตือนประชาคมที่ทิอาทิราเรื่องการไหว้รูปเคารพและการผิดประเวณี. (วิวรณ์ 2:20) กระนั้น คริสต์ศาสนจักรเองกลับยอมให้ใช้รูปเคารพอย่างเปิดเผย และส่งเสริมการไหว้รูปเคารพในแบบที่ซ่อนเร้นยิ่งขึ้นของลัทธิชาตินิยมและลัทธิวัตถุนิยม. และแม้บางครั้งจะเทศนาต่อต้านการผิดศีลธรรมอยู่บ้าง แต่ก็ยังยอมให้กับการทำเช่นนั้นอยู่เนือง ๆ.
15. ถ้อยคำของพระเยซูที่มีไปถึงประชาคมทั้งเจ็ดนั้นเปิดเผยอะไรเกี่ยวกับศาสนาต่าง ๆ แห่งคริสต์ศาสนจักร และพวกนักเทศน์นักบวชแห่งคริสต์ศาสนจักรได้แสดงให้เห็นว่าพวกเขาเป็นอะไร?
15 ฉะนั้น คำตรัสของพระเยซูที่มีไปถึงประชาคมทั้งเจ็ดจึงเปิดโปงความล้มเหลวอย่างสิ้นเชิงของทุกศาสนาในคริสต์ศาสนจักรที่จะเป็นประชาชนพิเศษของพระยะโฮวา. แท้จริง พวกนักเทศน์นักบวชแห่งคริสต์ศาสนจักรเป็นสมาชิกโดดเด่นที่สุดแห่งพงศ์พันธุ์ของซาตาน. เมื่อกล่าวถึงพวกเขาในฐานะ “คนละเลยกฎหมาย” อัครสาวกเปาโลบอกล่วงหน้าว่า “การอยู่ของคนละเลยกฎหมายนั้นเป็นไปตามการดำเนินงานของซาตานพร้อมกับอิทธิฤทธิ์ทุกอย่างและสัญลักษณ์ปลอมและเหตุการณ์ประหลาด และพร้อมด้วยอุบายหลอกลวงอันไม่เป็นธรรมทุกอย่าง.”—2 เธซะโลนิเก 2:9, 10, ล.ม.
16. (ก) พวกผู้นำแห่งคริสต์ศาสนจักรแสดงความจงเกลียดจงชังต่อใครเป็นพิเศษ? (ข) มีอะไรเกิดขึ้นในคริสต์ศาสนจักรในช่วงยุคกลาง? (ค) การขัดขืน หรือการปฏิรูปของโปรเตสแตนต์ได้เปลี่ยนแปลงแนวทางการออกหากของคริสต์ศาสนจักรไหม?
16 ขณะที่อ้างตัวเป็นผู้บำรุงเลี้ยงฝูงแกะของพระเจ้า พวกผู้นำแห่งคริสต์ศาสนจักร ไม่ว่าทางศาสนาหรือทางโลก ต่างก็แสดงความจงเกลียดจงชังต่อผู้ที่พยายามสนับสนุนการอ่านพระคัมภีร์หรือใครก็ตามที่เปิดโปงพฤติกรรมของเขาซึ่งขัดกับหลักพระคัมภีร์. จอห์น ฮุส และผู้แปลพระคัมภีร์ชื่อ วิลเลียม ทินเดล ถูกข่มเหงและถูกฆ่าเพราะความเชื่อ. ระหว่างยุคมืด การปกครองแบบออกหากถึงขีดสุดโดยศาลศาสนาอันโหดเหี้ยมเยี่ยงปิศาจของนิกายโรมันคาทอลิก. ใครก็ตามที่โต้แย้งหลักคำสอนหรืออำนาจของคริสตจักรถูกปราบอย่างไร้ความปรานี และหลายพันคนที่ถูกเรียกว่าเป็นคนนอกรีตต้องถูกทรมานถึงตาย หรือถูกเผาทั้งเป็น. โดยวิธีนี้เอง ซาตานพยายามให้แน่ใจว่า พงศ์พันธุ์แท้จริงขององค์การอันเปรียบเหมือนผู้หญิงของพระเจ้าจะถูกบดขยี้โดยเร็ว. เมื่อเกิดมีการขืนอำนาจหรือการปฏิรูปของพวกโปรเตสแตนต์ (จากปี 1517 เป็นต้นมา) คริสตจักรโปรเตสแตนต์หลายคริสตจักรก็ยังคงแสดงน้ำใจที่ไม่ยอมผ่อนปรนเหมือนกัน. พวกเขาเช่นกันมีความผิดฐานทำให้โลหิตตกโดยสังหารคนเหล่านั้นที่บากบั่นจะภักดีต่อพระเจ้าและพระคริสต์. แท้จริง ‘เลือดของผู้บริสุทธิ์’ ได้หลั่งออกอย่างมากมาย!—วิวรณ์ 16:6; เทียบกับมัดธาย 23:33-36.
พงศ์พันธุ์นั้นยืนยง
17. (ก) อุปมาของพระเยซูเรื่องข้าวสาลีกับข้าวละมานบอกล่วงหน้าถึงสิ่งใด? (ข) มีอะไรเกิดขึ้นในปี 1918 ยังผลเป็นการปฏิเสธอะไรและการมอบหมายอะไร?
17 ในอุปมาเรื่องข้าวสาลีและข้าวละมาน พระเยซูตรัสล่วงหน้าถึงเวลาอันมืดมนซึ่งจะมีอยู่ในช่วงที่คริสต์ศาสนจักรมีอำนาจปกครองสูงสุด. อย่างไรก็ตาม ตลอดหลายศตวรรษที่มีการออกหาก จะมีคริสเตียนเป็นรายบุคคลซึ่งเปรียบเสมือนข้าวสาลี อันได้แก่ผู้ถูกเจิมแท้. (มัดธาย 13:24-29, 36-43) ฉะนั้น เมื่อวันขององค์พระผู้เป็นเจ้าเริ่มขึ้นในเดือนตุลาคม 1914 จึงยังคงมีคริสเตียนแท้อยู่บนแผ่นดินโลกนี้. (วิวรณ์ 1:10) ดูเหมือนว่า ราวสามปีครึ่งหลังจากนั้นคือในปี 1918 พระยะโฮวาได้เสด็จมายังพระวิหารฝ่ายวิญญาณของพระองค์เพื่อทำการพิพากษา โดยมีพระเยซูร่วมเสด็จในฐานะ “ทูตแห่งสัญญาไมตรี” ของพระองค์. (มาลาคี 3:1, ล.ม.; มัดธาย 13:47-50) นั่นเป็นเวลาที่ผู้เป็นนายจะบอกปัดคริสเตียนจอมปลอมอย่างเด็ดขาดและจะทรงแต่งตั้ง ‘ทาสสัตย์ซื่อและสุขุมให้ดูแลทรัพย์สมบัติทั้งหมดของท่าน.’—มัดธาย 7:22, 23; 24:45-47.
18. “เวลา” อะไรได้มาถึงในปี 1914 และนั่นเป็นเวลาที่ทาสจะทำอะไร?
18 อนึ่ง นั่นเป็นเวลาที่ทาสนี้จะเอาใจใส่เป็นพิเศษต่อสิ่งซึ่งได้เขียนไว้ในข่าวสารที่พระเยซูมีไปถึงประชาคมทั้งเจ็ด ดังที่เราเห็นจากสิ่งที่มีกล่าวไว้ในข่าวสารนั้น. ตัวอย่างเช่น พระเยซูตรัสพาดพิงถึงการเสด็จของพระองค์เพื่อจะพิพากษาประชาคมต่าง ๆ ซึ่งการพิพากษานั้นเริ่มในปี 1918. (วิวรณ์ 2:5, 16, 22, 23; 3:3) พระองค์ตรัสถึงการพิทักษ์ประชาคมฟีลาเดลเฟียให้พ้นจาก “เวลาแห่งการทดสอบซึ่งจะเกิดขึ้นทั่วแผ่นดินโลก เพื่อทดสอบคนเหล่านั้นที่อยู่บนแผ่นดินโลก.” (วิวรณ์ 3:10, 11, ล.ม.) “เวลาแห่งการทดสอบ” มาถึงพร้อมกับการเริ่มต้นแห่งวันขององค์พระผู้เป็นเจ้าในปี 1914 เท่านั้น หลังจากนั้นจึงได้มีการทดสอบความภักดีที่ชนคริสเตียนมีต่อราชอาณาจักรของพระเจ้าซึ่งถูกตั้งขึ้นแล้ว.—เทียบกับมัดธาย 24:3, 9-13.
19. (ก) ประชาคมทั้งเจ็ดเป็นภาพเล็งถึงสิ่งใดในสมัยนี้? (ข) ใครที่ได้เข้ามาสมทบกับเหล่าคริสเตียนผู้ถูกเจิมเป็นจำนวนมากมาย และเหตุใดคำแนะนำของพระเยซูและสภาพการณ์ที่พระองค์พรรณนานั้นจึงใช้กับพวกเขาด้วย? (ค) เราน่าจะมีทัศนะเช่นไรต่อข่าวสารที่พระเยซูมีไปถึงประชาคมคริสเตียนทั้งเจ็ดในศตวรรษแรก?
19 เนื่องด้วยเหตุผลนี้ คำตรัสของพระเยซูที่มีไปถึงประชาคมต่าง ๆ จึงสำเร็จเป็นจริงเป็นส่วนใหญ่ตั้งแต่ปี 1914. ในฉากนี้ประชาคมทั้งเจ็ดเป็นภาพเล็งถึงทุกประชาคมแห่งคริสเตียนผู้ถูกเจิมในวันขององค์พระผู้เป็นเจ้า. ยิ่งกว่านั้น ระหว่างเวลากว่า 70 ปีที่ผ่านมา คริสเตียนผู้ถูกเจิมซึ่งโยฮันเป็นภาพเล็งถึงนั้นได้มีผู้มีความเชื่อจำนวนมากมายซึ่งมีความหวังจะมีชีวิตตลอดไปบนแผ่นดินโลกที่เป็นอุทยานมาสมทบด้วย. คำแนะนำของพระเยซูคริสต์ผู้ทรงสง่าราศีและสภาพการณ์ที่พระองค์ทรงพบเห็นในประชาคมทั้งเจ็ดเนื่องจากการตรวจตราของพระองค์ก็มีผลบังคับเท่ากันต่อชนเหล่านี้ด้วย เนื่องจากมีมาตรฐานความชอบธรรมและความซื่อสัตย์อย่างเดียวเท่านั้นสำหรับผู้รับใช้ทุกคนของพระยะโฮวา. (เอ็กโซโด 12:49; โกโลซาย 3:11) ด้วยเหตุนี้ ข่าวสารที่พระเยซูมีไปถึงประชาคมทั้งเจ็ดในเอเชียไมเนอร์ในศตวรรษแรกจึงไม่ใช่เป็นเพียงเรื่องน่ารู้ทางประวัติศาสตร์เท่านั้น. ข่าวสารนั้นหมายถึงชีวิตหรือไม่ก็ความตายสำหรับเราแต่ละคน. ฉะนั้น ขอให้เราใส่ใจฟังคำตรัสของพระเยซูอย่างตั้งใจจริง.
[เชิงอรรถ]
a ในภาษาฮีบรูดั้งเดิมที่พระธรรมยะซายา 44:6 ไม่มีคำนำหน้านามที่ชี้เฉพาะอยู่กับคำ “ผู้แรก” และ “ผู้สุดท้าย” ส่วนในคำพรรณนาของพระเยซูเกี่ยวกับพระองค์เองในภาษากรีกที่พระธรรมวิวรณ์ 1:17 นั้น มีการพบคำนำหน้านามที่ชี้เฉพาะที่นั่น. ดังนั้น สอดคล้องกับหลักไวยากรณ์ วิวรณ์ 1:17 บ่งชี้ถึงบรรดาศักดิ์ ส่วนที่ ยะซายา 44:6 พรรณนาถึงความเป็นพระเจ้าของพระยะโฮวา.
b คำภาษากรีก อัก เกโลส (ออกเสียง “อัน เกโลส”) หมายความว่า “ผู้ส่งข่าว” และ “ทูตสวรรค์.” ที่ มาลาคี 2:7 ปุโรหิตในตระกูลเลวีผู้หนึ่งถูกอ้างถึงว่าเป็น “ผู้ส่งข่าว” (ภาษาฮีบรู มัลอัฆ).—โปรดดูพระคัมภีร์ฉบับแปลโลกใหม่ที่มีข้ออ้างอิง, เชิงอรรถ.
[กรอบหน้า 32]
เวลาแห่งการทดสอบและการพิพากษา
พระเยซูทรงรับบัพติสมาและถูกเจิมไว้เพื่อจะเป็นกษัตริย์เมื่อประมาณเดือนตุลาคมปีสากลศักราช 29 ณ แม่น้ำยาระเดน. อีกสามปีครึ่งหลังจากนั้น ในปีสากลศักราช 33 พระองค์เสด็จมายังพระวิหารที่กรุงเยรูซาเลมและทรงขับไล่พวกที่ทำให้พระวิหารเป็นถ้ำของพวกโจรออกไป. มีเหตุการณ์ที่ดูเหมือนคล้ายคลึงกับเหตุการณ์นี้ในช่วงเวลาสามปีครึ่งนับตั้งแต่คราวที่พระเยซูขึ้นประทับบัลลังก์ในสวรรค์เมื่อเดือนตุลาคมปี 1914 จนกระทั่งคราวการเสด็จมาของพระองค์เพื่อตรวจตราบรรดาผู้ที่อ้างว่าเป็นคริสเตียนขณะที่การพิพากษาได้เริ่มต้นกับจำพวกของพระเจ้า. (มัดธาย 21:12, 13, ล.ม.; 1 เปโตร 4:17) เมื่อต้นปี 1918 งานราชอาณาจักรของประชาชนของพระยะโฮวาประสบการต่อต้านอย่างรุนแรง. นั่นเป็นเวลาแห่งการทดสอบทั่วโลก และคนขลาดกลัวได้ถูกฝัดร่อนออกไป. ในเดือนพฤษภาคมปี 1918 พวกนักเทศน์นักบวชแห่งคริสต์ศาสนจักรได้ยุยงให้จำคุกเจ้าหน้าที่ของสมาคมว็อชเทาเวอร์ แต่เก้าเดือนต่อมาคนเหล่านั้นก็ได้รับการปล่อยตัว. หลังจากนั้นข้อกล่าวหาเท็จทั้งหมดที่พวกเขาได้รับก็ตกไป. นับแต่ปี 1919 องค์การแห่งประชาชนของพระเจ้าซึ่งได้ผ่านการทดสอบและการขัดเกลาแล้วก็รุดหน้าด้วยความกระตือรือร้นอันแรงกล้าในการประกาศราชอาณาจักรของพระยะโฮวาโดยพระเยซูคริสต์ฐานะเป็นความหวังสำหรับมนุษยชาติ.—มาลาคี 3:1-3.
เมื่อพระเยซูทรงเริ่มการตรวจตราของพระองค์ในปี 1918 นั้น ไม่ต้องสงสัยว่า พวกนักเทศน์นักบวชแห่งคริสต์ศาสนจักรคงได้รับการพิพากษาว่ามีความผิด. พวกเขาไม่เพียงยุยงส่งเสริมการกดขี่ข่มเหงประชาชนของพระเจ้าเท่านั้น แต่ยังได้มีความผิดร้ายแรงฐานทำให้เลือดตกครั้งใหญ่ด้วย โดยให้การสนับสนุนแก่ชาติต่าง ๆ ที่ต่อสู้กันในสงครามโลกครั้งที่หนึ่ง. (วิวรณ์ 18:21, 24) แล้วนักเทศน์นักบวชเหล่านั้นก็ได้ฝากความหวังไว้ในองค์การสันนิบาตชาติที่มนุษย์ตั้งขึ้น. คริสต์ศาสนจักรพร้อมกับจักรวรรดิโลกทั้งสิ้นแห่งศาสนาเท็จได้สูญเสียความโปรดปรานของพระเจ้าอย่างสิ้นเชิงเมื่อมาถึงปี 1919.
[แผนที่หน้า 28, 29]
(รายละเอียดดูจากวารสาร)
เอเฟโซส์
สเมอร์นา
เปอร์กาโมส์
ทิอาทิรา
ซาร์ดิส
ฟีลาเดลเฟีย
ลาโอดิเคีย
[ภาพหน้า 31]
ศาสนาของคริสต์ศาสนจักรได้ก่อความผิดอย่างหนักฐาน ทำให้โลหิตตกโดยการข่มเหงและฆ่าคนที่แปล, อ่าน, หรือ แม้แต่มีคัมภีร์ไบเบิล