บท 12
“จงยึดถือสิ่งซึ่งเจ้ามีอยู่ไว้ให้มั่นต่อ ๆ ไป”
ฟีลาเดลเฟีย
1. ข่าวสารลำดับที่หกของพระเยซูถูกส่งไปถึงประชาคมที่เมืองอะไร และชื่อของเมืองนั้นหมายความอย่างไร?
ความรักใคร่ฉันพี่น้อง—ช่างเป็นคุณลักษณะที่น่าปรารถนาจริง ๆ! ไม่ต้องสงสัย พระเยซูทรงคำนึงถึงคุณลักษณะนี้ขณะที่พระองค์ทรงส่งข่าวสารที่หกไปยังประชาคมในเมืองฟีลาเดลเฟีย เพราะชื่อนี้มีความหมายว่า “ความรักใคร่ฉันพี่น้อง.” โยฮันผู้ชรายังระลึกถึงวาระนั้น คือ 60 กว่าปีก่อนหน้านี้ เมื่อเปโตรได้ยืนยันถึงสามครั้งว่าท่านมีความรักใคร่อันอบอุ่นต่อองค์พระผู้เป็นเจ้าของท่าน. (โยฮัน 21:15-17) ส่วนพวกคริสเตียนในฟีลาเดลเฟียกำลังสำแดงความรักใคร่ฉันพี่น้องไหม? ปรากฏชัดว่าพวกเขาทำเช่นนั้น.
2. ฟีลาเดลเฟียเป็นเมืองแบบไหน ประชาคมแบบไหนตั้งอยู่ที่นั่น และพระเยซูตรัสอะไรกับทูตสวรรค์ที่ประชาคมนี้?
2 ฟีลาเดลเฟียอยู่ห่างไปทางตะวันออกเฉียงใต้ของเมืองซาร์ดิสประมาณ 48 กิโลเมตร (ปัจจุบันเป็นที่ตั้งของเมืองอาเลเชเฮียร์ของตุรกี) ฟีลาเดลเฟียในสมัยโยฮันเป็นเมืองที่รุ่งเรืองพอสมควร. แต่สิ่งที่น่าสนใจยิ่งกว่าก็คือความเจริญรุ่งเรืองแห่งประชาคมคริสเตียนที่นั่น. พวกเขาคงต้องมีความยินดีจริง ๆ ที่ได้ต้อนรับผู้รับใช้ที่เดินทางมาเยี่ยมเขา อาจผ่านเมืองซาร์ดิสมาก็ได้! ข่าวสารที่ท่านนำมานั้นมีคำแนะนำที่กระตุ้นจิตใจสำหรับพวกเขา. แต่ประการแรก ข่าวสารนั้นแสดงถึงอำนาจของผู้ส่งที่เรืองนาม. ท่านตรัสว่า “จงเขียนถึงทูตของประชาคมในเมืองฟีลาเดลเฟียว่า ผู้บริสุทธิ์ ผู้เป็นองค์สัตย์จริงผู้ที่มีกุญแจของดาวิด ผู้ที่เปิดแล้วจะไม่มีใครปิดได้และปิดแล้วจะไม่มีใครเปิดได้นั้นพูดอย่างนี้.”—วิวรณ์ 3:7, ล.ม.
3. เหตุใดจึงเหมาะสมจะเรียกพระเยซูว่า “บริสุทธิ์” และจะกล่าวได้อย่างไรว่าพระองค์ทรง “สัตย์จริง”?
3 โยฮันเคยได้ยินเปโตรพูดกับพระเยซูคริสต์เมื่อทรงเป็นมนุษย์ว่า “คำซึ่งให้มีชีวิตนิรันดร์นั้นมีอยู่ที่พระองค์ และข้าพเจ้าทั้งหลายเชื่อและมารู้แล้วว่า พระองค์เป็นผู้บริสุทธิ์ของพระเจ้า” (โยฮัน 6:68, 69) เนื่องจากพระยะโฮวาพระเจ้าทรงเป็นแก่นแท้แห่งความบริสุทธิ์ พระบุตรองค์เดียวที่ได้รับกำเนิดของพระองค์ก็ต้อง “บริสุทธิ์” เช่นกัน. (วิวรณ์ 4:8, ฉบับแปลใหม่) พระเยซูทรง “สัตย์จริง” ด้วย. คำภาษากรีกที่ใช้ในที่นี้ (อะเลทีโนส) หมายถึงความเที่ยงแท้. ในแง่นี้ พระเยซูทรงเป็นความสว่างแท้และทรงเป็นอาหารแท้ที่ลงมาจากสวรรค์. (โยฮัน 1:9; 6:32, ล.ม.) พระองค์ทรงเป็นต้นองุ่นแท้. (โยฮัน 15:1, ล.ม.) นอกจากนั้น พระเยซูทรงเป็นองค์สัตย์จริงในแง่ที่พระองค์ทรงเป็นผู้ที่วางใจได้. พระองค์ตรัสความจริงเสมอ. (ดูโยฮัน 8:14, 17, 26.) พระบุตรองค์นี้ของพระเจ้าทรงคู่ควรอย่างแท้จริงกับตำแหน่งกษัตริย์และผู้พิพากษา.—วิวรณ์ 19:11, 16.
“กุญแจของดาวิด”
4, 5. “กุญแจของดาวิด” เกี่ยวข้องกับสัญญาไมตรีอะไร?
4 พระเยซูทรงมี “กุญแจของดาวิด.” โดยใช้กุญแจนี้ พระองค์ทรง “เปิดแล้วจะไม่มีใครปิดได้และปิดแล้วจะไม่มีใครเปิดได้.” “กุญแจของดาวิด” หมายถึงอะไร?
5 กับกษัตริย์ดาวิดแห่งอิสราเอลนี้แหละที่พระยะโฮวาได้ทรงตั้งสัญญาไมตรีเรื่องราชอาณาจักรตลอดกาล. (บทเพลงสรรเสริญ 89:1-4, 34-37) ราชวงศ์ของดาวิดได้ปกครองจากราชบัลลังก์ของพระยะโฮวาในกรุงเยรูซาเลมตั้งแต่ปี 1070 ถึง 607 ก่อนสากลศักราช แต่แล้วพระเจ้าทรงลงโทษอาณาจักรนั้นตามคำพิพากษาของพระองค์เนื่องจากอาณาจักรนั้นหันไปสู่ทางชั่ว. ดังนั้น พระยะโฮวาจึงทรงเริ่มทำให้คำพยากรณ์ของพระองค์ที่ยะเอศเคล 21:27 (ฉบับแปลใหม่) สำเร็จเป็นจริงที่ว่า “เราจะกระทำให้ [เยรูซาเลมทางแผ่นดินโลกนี้] เป็นที่พังทลาย พังทลาย พังทลาย และ [ธารพระกรแสดงฐานะกษัตริย์แห่งราชวงศ์ดาวิด] จะไม่มีเลย จนกว่าผู้มีสิทธิอันชอบธรรมจะมาถึง และเราจะประทานให้แก่ท่านผู้นั้น.”
6, 7. เมื่อไรและอย่างไรที่พระองค์ผู้มี “สิทธิอันชอบธรรม” จะมาปรากฏ?
6 เมื่อไร และโดยวิธีใดที่ท่าน “ผู้มีสิทธิอันชอบธรรม” องค์นี้จะมาปรากฏ? ธารพระกรแห่งราชอาณาจักรของดาวิดจะมอบให้แก่ท่านโดยวิธีใด?
7 ประมาณ 600 ปีหลังจากนั้น คนหนึ่งที่สืบเชื้อสายจากกษัตริย์ดาวิด คือหญิงสาวชาวยิวชื่อมาเรียได้ตั้งครรภ์โดยเดชพระวิญญาณบริสุทธิ์. พระเจ้าทรงส่งทูตสวรรค์ฆับรีเอลไปแจ้งแก่มาเรียว่า เธอจะมีบุตรชาย และควรตั้งชื่อบุตรนั้นว่าเยซู. ฆับรีเอลกล่าวอีกว่า “บุตรนั้นจะเป็นใหญ่และจะได้ชื่อว่าเป็นบุตรของผู้สูงสุด พระเจ้า [“พระยะโฮวา,” ล.ม.] จะประทานพระที่นั่งของดาวิดบิดาของท่านให้แก่ท่าน และท่านจะครอบครองพงศ์พันธุ์ของยาโคบสืบ ๆ ไปเป็นนิตย์ และแผ่นดิน [“ราชอาณาจักร,” ล.ม.] ของท่านจะไม่รู้สิ้นสุดเลย.”—ลูกา 1:31-33.
8. พระเยซูทรงพิสูจน์ตนเองอย่างไรว่ามีคุณสมบัติจะสืบราชบัลลังก์ของดาวิด?
8 เมื่อพระเยซูทรงรับบัพติสมาในแม่น้ำยาระเดนในปีสากลศักราช 29 และได้รับการเจิมด้วยพระวิญญาณบริสุทธิ์ พระองค์จึงได้ถูกกำหนดว่าจะเป็นกษัตริย์ตามเชื้อวงศ์ของดาวิด. พระองค์ทรงแสดงความตั้งใจแรงกล้าอันเป็นแบบอย่างในการประกาศข่าวดีเรื่องราชอาณาจักรและทรงบัญชาให้เหล่าสาวกของพระองค์ประกาศเช่นกัน. (มัดธาย 4:23; 10:7, 11) พระเยซูทรงถ่อมพระองค์ลง กระทั่งถึงสิ้นพระชนม์บนหลักทรมาน โดยวิธีนี้จึงทรงพิสูจน์ว่าพระองค์มีคุณสมบัติครบถ้วนที่จะได้รับตำแหน่งกษัตริย์แห่งราชวงศ์ดาวิด. พระยะโฮวาทรงปลุกพระเยซูขึ้นเป็นกายวิญญาณอมตะและทรงโปรดยกพระองค์ขึ้นให้ประทับเบื้องขวาพระหัตถ์ของพระองค์เองในสวรรค์. ณ ที่นั่นพระเยซูได้รับสิทธิทุกอย่างแห่งราชอาณาจักรของดาวิด. เมื่อถึงเวลาที่กำหนด พระเยซูจะทรงใช้สิทธิของพระองค์เพื่อ “ออกไปปราบปรามท่ามกลางศัตรู.”—บทเพลงสรรเสริญ 110:1, 2, ล.ม.; ฟิลิปปอย 2:8, 9; เฮ็บราย 10:13, 14.
9. พระเยซูทรงใช้กุญแจของดาวิดอย่างไรเพื่อจะเปิดและปิด?
9 ในระหว่างเวลานั้น พระเยซูจะทรงใช้กุญแจของดาวิด เปิดโอกาสและสิทธิพิเศษต่าง ๆ อันเกี่ยวเนื่องกับราชอาณาจักรของพระเจ้า. บัดนี้ โดยพระเยซู พระยะโฮวาจะช่วยเหล่าคริสเตียนผู้ถูกเจิมบนแผ่นดินโลกให้รอดจาก “อำนาจแห่งความมืด” และโยกย้ายพวกเขา “มาตั้งไว้ในแผ่นดิน [“ราชอาณาจักร,” ล.ม.] แห่งพระบุตรที่รักของพระองค์.” (โกโลซาย 1:13, 14) นอกจากนี้ กุญแจยังจะถูกใช้เพื่อกันสิทธิพิเศษนั้นไว้จากคนใดก็ตามที่พิสูจน์ตัวไม่ซื่อสัตย์. (2 ติโมเธียว 2:12, 13) เนื่องจากรัชทายาทองค์ถาวรแห่งราชอาณาจักรดาวิดได้รับการสนับสนุนจากพระยะโฮวา ไม่มีสิ่งมีชีวิตใดอาจยับยั้งพระองค์ไว้ได้จากการปฏิบัติหน้าที่นี้จนสำเร็จ.—เทียบกับมัดธาย 28:18-20.
10. พระเยซูทรงให้การหนุนใจอะไรแก่ประชาคมที่ฟีลาเดลเฟีย?
10 เพราะมาจากแหล่งที่มีอำนาจมากเช่นนั้น คำตรัสที่พระเยซูมีต่อคริสเตียนในฟีลาเดลเฟียย่อมให้การประโลมใจเป็นพิเศษ! พระองค์ตรัสชมเชยพวกเขาดังนี้: “เรารู้ว่าเจ้าทำอะไร (ดูเถิด! เราให้มีประตูเปิดไว้ข้างหน้าเจ้าซึ่งไม่มีใครปิดได้) เรารู้ว่าเจ้ามีกำลังน้อย และเจ้าทำตามคำของเราและไม่ได้ทำอะไรที่แสดงว่าปฏิเสธนามของเรา.” (วิวรณ์ 3:8, ล.ม.) ประชาคมนี้เอาการเอางาน และประตูจึงได้เปิดไว้ต่อหน้าพวกเขา—ไม่มีข้อสงสัย เป็นประตูที่เปิดโอกาสสู่งานรับใช้พระเจ้า. (เทียบกับ 1 โกรินโธ 16:9; 2 โกรินโธ 2:12.) ฉะนั้น พระเยซูจึงทรงสนับสนุนประชาคมนี้ให้ฉวยโอกาสเต็มที่เพื่อทำการประกาศ. พวกเขาเพียรอดทนและแสดงให้เห็นว่า ด้วยการช่วยเหลือจากพระวิญญาณของพระเจ้า พวกเขามีกำลังพอจะ “ทำ” การรับใช้พระยะโฮวาต่อไป. (2 โกรินโธ 12:10; ซะคาระยา 4:6) พวกเขาได้เชื่อฟังพระบัญชาของพระเยซูและมิได้ปฏิเสธพระคริสต์ ไม่ว่าโดยคำพูดหรือโดยการกระทำ.
“พวกเขาต้องมาหมอบแทบเท้าเจ้า”
11. พระพรอะไรที่พระเยซูทรงสัญญากับชนคริสเตียน และสิ่งนี้เป็นจริงอย่างไร?
11 ดังนั้น พระเยซูจึงทรงสัญญาจะให้พวกเขาบังเกิดผลดังนี้: “เราจะให้คนเหล่านั้นซึ่งมาจากที่ประชุมของซาตานและโกหกว่าเขาเป็นคนยิวทั้ง ๆ ที่ไม่ได้เป็นนั้นมา เราจะทำให้พวกเขาต้องมาหมอบแทบเท้าเจ้า และทำให้พวกเขารู้ว่าเรารักเจ้า.” (วิวรณ์ 3:9, ล.ม.) อาจเป็นได้ เช่นเดียวกับสเมอร์นา ประชาคมนี้เคยมีปัญหากับคนยิวในท้องถิ่น. พระเยซูตั้งชื่อให้พวกนี้ว่า “ที่ประชุมของซาตาน.” อย่างไรก็ตาม อย่างน้อยก็มีคนยิวเหล่านั้นบางคนเริ่มสำนึกว่า สิ่งที่คริสเตียนได้ประกาศเกี่ยวเนื่องกับพระเยซูนั้นเป็นความจริง. การที่พวกเขา “หมอบ” นั้นคงเป็นด้วยท่าทีที่เปาโลพรรณนาไว้ที่ 1 โกรินโธ 14:24, 25 เพื่อพวกเขาจะกลับใจอย่างแท้จริงแล้วได้เข้ามาเป็นคริสเตียน หยั่งรู้ค่าอย่างเต็มที่ในความรักอันใหญ่หลวงของพระเยซูที่ได้ทรงสละแม้ชีวิตเพื่อเหล่าสาวกของพระองค์.—โยฮัน 15:12, 13.
12. เพราะเหตุใดสมาชิกของที่ประชุมของชาวยิวที่ฟีลาเดลเฟียคงตื่นตระหนกที่มารู้ว่าพวกเขาบางคนจะ “น้อมตัวลง” ต่อที่ชุมนุมของคริสเตียนในท้องถิ่น?
12 สมาชิกธรรมศาลายิวในฟีลาเดลเฟียคงตกตะลึงที่รู้ว่า มีพวกเขาบางคนจะ “หมอบแทบเท้า” คริสเตียนในชุมชนท้องถิ่น. เมื่อคำนึงถึงข้อเท็จจริงที่ว่า คงมีหลายคนในประชาคมนั้นไม่ใช่คนยิว พวกเขาก็คงคาดหมายสิ่งตรงกันข้ามจะเกิดขึ้น. เพราะเหตุใด? ก็เพราะยะซายาได้บอกล่วงหน้าไว้ว่า “กษัตริย์ทั้งหลาย [ที่ไม่ใช่คนยิว] จะเป็นบิดาอุปการะของเจ้า [ประชาชนอิสราเอล] และพระนางทั้งหลายจะเป็นมารดาอุปการะของเจ้า. เขาทั้งหลายก็จะมาน้อมตัวลงกราบไหว้เจ้าด้วยหน้าติดดิน.” (ยะซายา 49:23; 45:14; 60:14) ในทำนองเดียวกัน ซะคาระยาได้รับการดลใจให้เขียนว่า “ในวันเหล่านั้นจะเป็นไป คือว่าสิบคน [ที่ไม่ใช่คนยิว] แต่บรรดาภาษาประเทศเมืองทั้งปวง จะยึดชายเสื้อแห่งคนชาติยูดายว่า เราจะไปด้วยท่าน เพราะเราได้ยินว่าพระเจ้าอยู่กับท่านแล้ว.” (ซะคาระยา 8:23) ใช่แล้ว คนที่ไม่ใช่ยิวจะน้อมตัวลงต่อคนยิว ไม่ใช่ในทางกลับกัน!
13. ใครคือชาวยิวซึ่งจะประสบกับความสำเร็จเป็นจริงของคำพยากรณ์ต่าง ๆ ที่ได้มีแถลงต่ออิสราเอลโบราณ?
13 มีการกล่าวคำพยากรณ์เหล่านั้นแก่ชาติที่ถูกเลือกสรรของพระเจ้า. เมื่อได้ตรัสคำพยากรณ์เหล่านั้น อิสราเอลโดยสายเลือดอยู่ในตำแหน่งที่มีเกียรตินั้น. แต่เมื่อชาติอิสราเอลปฏิเสธพระมาซีฮา พระยะโฮวาทรงทอดทิ้งพวกเขา. (มัดธาย 15:3-9; 21:42, 43; ลูกา 12:32; โยฮัน 1:10,11) เมื่อวันเพนเทคอสต์ปีสากลศักราช 33 พระองค์ได้ทรงเลือกอิสราเอลแท้ของพระเจ้า คือประชาคมคริสเตียน มาแทนพวกเขา. สมาชิกประชาคมนี้คือพวกยิวฝ่ายวิญญาณซึ่งได้รับสุหนัตแท้ที่หัวใจ. (กิจการ 2:1-4, 41, 42; โรม 2:28, 29; ฆะลาเตีย 6:16) หลังจากนั้น ทางเดียวเท่านั้นที่คนยิวโดยสายเลือดเป็นรายบุคคลจะกลับมามีสัมพันธภาพอันเป็นที่โปรดปรานกับพระยะโฮวาได้ ก็คือโดยการแสดงความเชื่อในพระเยซูฐานะพระมาซีฮา. (มัดธาย 23:37-39) ปรากฏชัดว่าสิ่งนี้จวนจะเกิดขึ้นกับบางคนในฟีลาเดลเฟีย.a
14. พระธรรมยะซายา 49:23 และซะคาระยา 8:23 ได้มาสำเร็จเป็นจริงอย่างไรในสมัยนี้?
14 ในสมัยปัจจุบัน คำพยากรณ์ต่าง ๆ เช่นที่ยะซายา 49:23 และ ซะคาระยา 8:23 สำเร็จเป็นจริงแล้วอย่างมีความหมายสำคัญ. เนื่องจากการประกาศของชนจำพวกโยฮัน ผู้คนจำนวนมากมายได้ผ่านประตูที่เปิดออกนั้นเข้ามาเพื่องานรับใช้ราชอาณาจักร.b คนเหล่านี้ส่วนใหญ่ออกมาจากคริสต์ศาสนจักร ซึ่งนิกายต่าง ๆ แอบอ้างอย่างผิด ๆ ว่าเป็นอิสราเอลฝ่ายวิญญาณ. (เทียบกับโรม 9:6.) คนเหล่านี้ในฐานะชนฝูงใหญ่ซักเสื้อผ้าของตนและทำให้ขาวโดยการแสดงความเชื่อในพระโลหิตของพระเยซูที่เป็นเครื่องบูชา. (วิวรณ์ 7:9, 10, 14) โดยเชื่อฟังการปกครองแห่งราชอาณาจักรของพระคริสต์ พวกเขาหวังจะได้รับพระพรแห่งราชอาณาจักรบนแผ่นดินโลกนี้เป็นมรดก. ชนฝูงใหญ่เข้ามาหาพี่น้องของพระเยซูซึ่งได้รับการเจิม และ “น้อมตัวลงกราบไหว้” ในแง่วิญญาณ เนื่องจาก ‘พวกเขาได้ยินว่าพระเจ้าอยู่กับเขาเหล่านั้น.’ พวกเขาปรนนิบัติเหล่าผู้ถูกเจิม ซึ่งพวกเขาเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันกับคนเหล่านี้ในสังคมพี่น้องทั่วโลก.—มัดธาย 25:34-40; 1 เปโตร 5:9.
“เวลาแห่งการทดสอบ”
15. (ก) พระเยซูได้ทรงสัญญาอะไรกับชนคริสเตียนที่ฟีลาเดลเฟีย และพวกเขาได้รับการหนุนใจให้ทำอะไร? (ข) มงกุฎอะไรที่ชนคริสเตียนเฝ้าคอยจะได้รับ?
15 พระเยซูตรัสต่อไปว่า “เพราะเจ้าทำตามคำที่เขียนไว้เกี่ยวกับความเพียรอดทนของเราเราจะปกป้องเจ้าในเวลาแห่งการทดสอบซึ่งจะเกิดขึ้นทั่วแผ่นดินโลก เพื่อทดสอบคนเหล่านั้นที่อยู่บนแผ่นดินโลก. เราจะรีบมาหาเจ้า. จงยึดสิ่งที่เจ้ามีอยู่ไว้ให้มั่น จะได้ไม่มีใครเอามงกุฎของเจ้าไป.” (วิวรณ์ 3:10, 11, ล.ม.) แม้ว่าคริสเตียนในสมัยโยฮันจะไม่มีชีวิตอยู่จนถึงวันขององค์พระผู้เป็นเจ้า (ซึ่งเริ่มในปี 1914) ความมั่นใจของพวกเขาที่ว่า พระเยซูจะเสด็จมาคงให้พลังแก่พวกเขาเพื่อทำการประกาศต่อ ๆ ไป. (วิวรณ์ 1:10; 2 ติโมเธียว 4:2) “มงกุฎ” หรือรางวัลแห่งชีวิตนิรันดร์ มีไว้สำหรับพวกเขาอยู่แล้วในสวรรค์. (ยาโกโบ 1:12; วิวรณ์ 11:18) หากพวกเขาซื่อสัตย์ตราบสิ้นชีวิต จะไม่มีใครสามารถทำให้พวกเขาสูญเสียรางวัลนั้นไปได้.—วิวรณ์ 2:10.
16, 17. (ก) “เวลาแห่งการทดสอบ” คืออะไร ซึ่งจะมีมาเหนือแผ่นดินโลกทั้งสิ้นที่มีผู้คนอาศัยอยู่? (ข) สภาพการณ์ของชนผู้ถูกเจิมในตอนเริ่มต้นของ “เวลาแห่งการทดสอบ” นั้นเป็นอย่างไร?
16 แต่ “เวลาแห่งการทดสอบ” คืออะไรกัน? ไม่ต้องสงสัย เหล่าคริสเตียนในเอเชียคงต้องได้เผชิญคลื่นการกดขี่ข่มเหงที่ร้ายกาจอีกครั้งหนึ่งจากจักรวรรดิโรม.c กระนั้น ความสำเร็จเป็นจริงครั้งสำคัญคือเวลาแห่งการฝัดร่อนและการพิพากษาซึ่งในที่สุดมาถึงในวันแห่งองค์พระผู้เป็นเจ้า และมาถึงจุดสุดยอดตั้งแต่ปี 1918 เป็นต้นมา. การทดสอบนั้นก็เพื่อตัดสินว่าคนเราอยู่ฝ่ายราชอาณาจักรที่สถาปนาแล้วของพระเจ้าหรืออยู่ฝ่ายโลกของซาตาน. เวลาแห่งการทดสอบค่อนข้างสั้น (ภาษากรีกคือ “ชั่วโมง” หนึ่ง) แต่การทดสอบนั้นยังไม่สิ้นสุด. จนกว่าการทดสอบสิ้นสุด เราต้องไม่ลืมว่าเรากำลังอยู่ใน “เวลาแห่งการทดสอบ.”—ลูกา 21:34-36.
17 ในปี 1918 ชนจำพวกโยฮันแห่งคริสเตียนผู้ถูกเจิม—เช่นเดียวกับประชาคมฟีลาเดลเฟียที่แน่วแน่—จำต้องเผชิญการต่อต้านจาก “ที่ประชุมของซาตาน” สมัยปัจจุบัน. เหล่าผู้นำทางศาสนาแห่งคริสต์ศาสนจักร ซึ่งอ้างว่าเป็นคนยิวฝ่ายวิญญาณ ได้ใช้เล่ห์เหลี่ยมยุยงพวกผู้ปกครองให้บีบคั้นคริสเตียนแท้. อย่างไรก็ตาม คริสเตียนผู้ถูกเจิมก็ได้พยายามอย่างหนักเพื่อ ‘ทำตามคำที่เขียนไว้เกี่ยวกับความเพียรอดทนของพระเยซู’ ดังนั้น ด้วยความช่วยเหลือฝ่ายวิญญาณ ด้วย “กำลังน้อย” อันมีความหมาย พวกเขาจึงรอดพ้นมาได้และได้รับการกระตุ้นให้เข้าประตูซึ่งบัดนี้เปิดไว้ต่อหน้าเขา. โดยวิธีใด?
“ประตูเปิด”
18. พระเยซูได้ทรงทำการแต่งตั้งอะไรในปี 1919 และด้วยเหตุนั้นผู้ที่ได้รับการแต่งตั้งจึงได้มาเป็นเหมือนคนต้นเรือนของฮิศคียาอย่างไร?
18 ในปี 1919 พระเยซูทรงทำให้สำเร็จตามคำสัญญาของพระองค์และได้ยอมรับกลุ่มคริสเตียนผู้ถูกเจิมจำนวนน้อยเหล่านี้ไว้ในฐานะ “ทาสสัตย์ซื่อและสุขุม” ของพระองค์. (มัดธาย 24:45-47, ล.ม.) พวกเขาได้เข้าส่วนในสิทธิพิเศษคล้ายกันกับที่เอ็ลยาคิมคนต้นเรือนในสมัยของกษัตริย์ฮิศคียาเคยได้รับ.d พระยะโฮวาตรัสแก่เอ็ลยาคิมว่า “เราจะวางกุญแจสิทธิแห่งตระกูลดาวิดไว้บนบ่าของเขาและเมื่อเขาเปิดแล้ว ไม่มีใครอาจจะปิด และเมื่อเขาปิดไว้ ไม่มีใครจะเปิด” เอ็ลยาคิมได้แบกหน้าที่รับผิดชอบหนักเพื่อกษัตริย์ฮิศคียาราชบุตรดาวิด. คล้ายกันกับสมัยนี้ ชนจำพวกโยฮันผู้ถูกเจิมได้รับ “กุญแจสิทธิแห่งตระกูลดาวิด” ไว้บนบ่าเนื่องจากชนจำพวกโยฮันได้รับมอบผลประโยชน์ทางพื้นโลกนี้ของราชอาณาจักรมาซีฮา. พระยะโฮวาทรงเสริมกำลังผู้รับใช้ทั้งหลายของพระองค์เพื่อสิทธิพิเศษนี้ ทรงเสริมกำลังเล็กน้อยของเขาให้เป็นพลังที่มีอานุภาพเพียงพอสำหรับงานให้คำพยานอย่างใหญ่โตทั่วโลก.—ยะซายา 22:20, 22; 40:29.
19. ชนจำพวกโยฮันปฏิบัติหน้าที่รับผิดชอบซึ่งพระเยซูมอบหมายพวกเขาในปี 1919 นั้นอย่างไร และพร้อมด้วยบังเกิดผลเช่นไร?
19 ตั้งแต่ 1919 เป็นต้นมา ชนที่เหลือผู้ถูกเจิม ซึ่งปฏิบัติตามตัวอย่างของพระเยซู ได้เข้าสู่การรณรงค์อย่างแข็งขันในการประกาศข่าวดีเรื่องราชอาณาจักร. (มัดธาย 4:17; โรม 10:18) ผลก็คือ บางคนจากที่ประชุมของซาตานสมัยปัจจุบัน คือคริสต์ศาสนจักร ได้มาสมทบกับชนผู้ถูกเจิมที่เหลืออยู่นี้ ได้กลับใจ และ “น้อมตัวลง” โดยการยอมรับอำนาจของทาส. อนึ่ง พวกเขาก็เช่นกันได้มารับใช้พระยะโฮวาอย่างเป็นเอกภาพร่วมกับชนรุ่นอาวุโสแห่งชนจำพวกโยฮัน. การนี้ได้ดำเนินต่อไปจนกว่าพี่น้องผู้ถูกเจิมของพระเยซูได้รับการรวบรวมจนครบจำนวน. หลังจากนั้น “ชนฝูงใหญ่ . . . จากทุกประเทศ” ก็ได้มา “น้อมตัวลง” ต่อทาสผู้ถูกเจิม. (วิวรณ์ 7:3, 4, 9) ทาสนี้กับชนฝูงใหญ่รับใช้ร่วมกันเป็นฝูงเดียวแห่งพยานพระยะโฮวา.
20. ทำไมพยานพระยะโฮวาในทุกวันนี้จึงต้องเข้มแข็งในความเชื่อและขมีขมันในงานรับใช้ของพระเจ้าเป็นพิเศษ?
20 โดยที่เป็นเอกภาพเช่นเดียวกับชนคริสเตียนในฟีลาเดลเฟียด้วยความรักใคร่แท้ฉันพี่น้อง พยานพระยะโฮวาทุกวันนี้ตระหนักว่า งานประกาศของพวกเขาต้องมีการทำอย่างรีบด่วน. ในไม่ช้า ความทุกข์ลำบากครั้งใหญ่จะปิดฉากโลกชั่วของซาตาน. เมื่อถึงเวลานั้น ขอให้พวกเราแต่ละคนอยู่ในสภาพที่เข้มแข็งในความเชื่อ และเอาการเอางานในงานรับใช้พระเจ้า เพื่อว่าชื่อของเราจะไม่ถูกลบออกจากหนังสือแห่งชีวิตของพระยะโฮวา. (วิวรณ์ 7:14) ขอให้พวกเราใส่ใจจริงจังต่อคำตักเตือนที่พระเยซูมีแก่ประชาคมฟีลาเดลเฟียเพื่อว่า เราจะยึดมั่นกับสิทธิพิเศษแห่งการรับใช้ของเราและบรรลุรางวัลอันได้แก่ชีวิตนิรันดร์.
พระพรสำหรับผู้ที่มีชัย
21. ชนคริสเตียนผู้ถูกเจิมในทุกวันนี้ ‘ทำตามคำที่เขียนไว้เกี่ยวกับความเพียรอดทนของพระเยซู’ อย่างไร และมีความหวังอะไรรอท่าพวกเขาอยู่?
21 ชนจำพวกโยฮันในทุกวันนี้ได้ ‘ทำตามคำที่เขียนไว้เกี่ยวกับความเพียรอดทนของพระเยซู’ นั้นคือ พวกเขาได้ทำตามตัวอย่างของพระองค์และเพียรอดทน. (เฮ็บราย 12:2, 3; 1 เปโตร 2:21) ด้วยเหตุนี้ พวกเขาจึงได้รับการหนุนใจเป็นอย่างมากจากคำตรัสที่พระเยซูมีแก่ประชาคมฟีลาเดลเฟียดังต่อไปนี้: “เราจะทำให้ผู้ที่มีชัยเป็นเสาหลักในพระวิหารของพระเจ้าของเรา แล้วเขาจะไม่ไปจากที่นั่นเลย.”—วิวรณ์ 3:12ก, ล.ม.
22. (ก) พระวิหารแห่งพระเจ้าของพระเยซูคืออะไร? (ข) ชนคริสเตียนผู้ถูกเจิมซึ่งมีชัยจะได้เป็นเสาในพระวิหารนี้อย่างไร?
22 ช่างเป็นสิทธิพิเศษอะไรเช่นนี้สำหรับคนเราที่จะเป็นเสาในพระวิหารของพระยะโฮวา! ในเยรูซาเลมสมัยโบราณ พระวิหารเป็นศูนย์กลางการนมัสการพระยะโฮวา. ภายในพระวิหาร ปุโรหิตใหญ่ได้ถวายเลือดสัตว์เป็นเครื่องบูชาปีละครั้งตรงหน้าแสงอันมหัศจรรย์ซึ่งแสดงถึงการประทับของพระยะโฮวาใน “ที่บริสุทธิ์ที่สุด.” (เฮ็บราย 9:1-7) คราวที่พระเยซูรับบัพติสมา ก็เกิดมีวิหารอีกหลังหนึ่ง คือการจัดเตรียมฝ่ายวิญญาณอันยิ่งใหญ่เสมือนวิหารเพื่อการนมัสการพระยะโฮวา. ที่บริสุทธิ์ที่สุดแห่งวิหารนี้อยู่ในสวรรค์ ซึ่งพระเยซูได้ “ทรงปรากฏจำเพาะพระพักตร์พระเจ้า” ตามกำหนดเวลา. (เฮ็บราย 9:24) พระเยซูทรงเป็นปุโรหิตใหญ่ และมีการถวายเครื่องบูชาเพียงครั้งเดียวเพื่อลบล้างบาปอย่างสิ้นเชิง นั่นคือพระโลหิตที่หลั่งออกของพระเยซูมนุษย์สมบูรณ์. (เฮ็บราย 7:26, 27; 9:25-28; 10:1-5, 12-14) ตราบใดที่พวกเขารักษาความซื่อสัตย์ คริสเตียนผู้ถูกเจิมบนแผ่นดินโลกจะปฏิบัติหน้าที่ฐานะรองปุโรหิต ณ ลานวิหารหลังนี้บนแผ่นดินโลก. (1 เปโตร 2:9) แต่ครั้นพวกเขามีชัยชนะ พวกเขาเช่นกัน เข้าสู่ที่บริสุทธิ์ที่สุดในสวรรค์และจะเป็นสิ่งค้ำยันอันเคลื่อนย้ายไม่ได้ เหมือนเสา แห่งการจัดเตรียมเพื่อการนมัสการเสมือนวิหาร. (เฮ็บราย 10:19; วิวรณ์ 20:6) ไม่มีเหตุอันใดจะทำให้พวกเขา “ไปจากที่นั่นเลย.”
23. (ก) คำสัญญาอะไรอีกที่พระเยซูทรงกระทำต่อคริสเตียนผู้ถูกเจิมซึ่งมีชัย? (ข) อะไรคือผลสืบเนื่องจากการเขียนพระนามของพระยะโฮวาและชื่อของเยรูซาเลมใหม่บนตัวคริสเตียนผู้มีชัย?
23 พระเยซูตรัสต่อไปอีกว่า “และเราจะเขียนพระนามพระเจ้าของเราไว้บนตัวเขา อีกทั้งชื่อเมืองของพระเจ้าของเรา คือเยรูซาเลมใหม่ซึ่งลงมาจากพระเจ้าของเราผู้สถิตในสวรรค์ และจะเขียนชื่อใหม่ของเราไว้ด้วย.” (วิวรณ์ 3:12ข, ล.ม.) ใช่แล้ว ที่ตัวของผู้มีชัยเหล่านี้จะมีพระนามของพระยะโฮวา พระเจ้าของพวกเขาและพระเจ้าของพระเยซู เขียนไว้. นี่แสดงให้เห็นอย่างชัดเจนว่า พระยะโฮวาและพระเยซูเป็นสองบุคคลต่างหากกันและไม่ใช่เป็นสองส่วนแห่งพระเจ้าสามองค์รวมเป็นหนึ่ง หรือพระตรีเอกานุภาพ. (โยฮัน 14:28; 20:17) บรรดาสิ่งมีชีวิตทั้งมวลต้องประจักษ์ว่า ผู้ถูกเจิมเหล่านี้เป็นของพระยะโฮวา. พวกเขาเป็นพยานของพระองค์. นอกจากนี้ พวกเขามีชื่อเยรูซาเลมใหม่เขียนไว้ที่ตัวเขา เป็นเมืองฝ่ายสวรรค์ที่ลอยลงมาจากสวรรค์ในแง่ของการแผ่อำนาจปกครองด้วยความเมตตากรุณาลงมายังมนุษยชาติผู้สัตย์ซื่อ. (วิวรณ์ 21:9-14) ด้วยเหตุนั้น แกะคริสเตียนทั้งมวลทางแผ่นดินโลกนี้จะได้รู้ด้วยว่า ผู้ถูกเจิมเหล่านี้ที่มีชัยเป็นพลเมืองแห่งราชอาณาจักร คือเยรูซาเลมฝ่ายสวรรค์.—บทเพลงสรรเสริญ 87:5, 6; มัดธาย 25:33, 34; ฟิลิปปอย 3:20; เฮ็บราย 12:22.
24. พระนามใหม่ของพระเยซูเป็นสัญลักษณ์ถึงอะไร และพระนามนี้ได้มีการเขียนบนตัวคริสเตียนผู้ถูกเจิมที่ซื่อสัตย์อย่างไร?
24 ในที่สุด ผู้ถูกเจิมที่มีชัยก็ได้พระนามใหม่ของพระเยซูเขียนไว้ที่ตัวเขา. พระนามนี้พาดพิงถึงตำแหน่งใหม่ของพระเยซูและสิทธิพิเศษอันหาที่เปรียบไม่ได้ซึ่งพระยะโฮวาทรงประทานแก่พระเยซู. (ฟิลิปปอย 2:9-11; วิวรณ์ 19:12) ไม่มีใครอื่นมารู้ชื่อนั้น ในแง่ที่ว่า ไม่มีใครอื่นมีประสบการณ์เหล่านั้นหรือได้รับมอบหมายสิทธิพิเศษเหล่านั้น. อย่างไรก็ดี เมื่อพระเยซูทรงเขียนพระนามของพระองค์ที่ตัวของเหล่าพี่น้องที่ซื่อสัตย์ของพระองค์ พวกเขาจึงเข้ามามีสายสัมพันธ์อันใกล้ชิดกับพระองค์ในแดนสวรรค์และกระทั่งมีส่วนร่วมในสิทธิพิเศษต่าง ๆ ของพระองค์. (ลูกา 22:29, 30) ไม่น่าแปลกใจที่พระเยซูทรงสรุปข่าวสารที่พระองค์มีไปยังผู้ถูกเจิมเหล่านั้นโดยกล่าวย้ำคำเตือนที่ว่า “ผู้มีหูจงฟังสิ่งซึ่งพระวิญญาณตรัสกับประชาคมทั้งหลายเถิด.”—วิวรณ์ 3:13, ล.ม.
25. คริสเตียนแต่ละคนในทุกวันนี้จะทำตามหลักการซึ่งแฝงอยู่ในคำแนะนำที่พระเยซูได้ทรงให้ไว้แก่ประชาคมที่ฟีลาเดลเฟียได้อย่างไร?
25 ข่าวสารนี้คงต้องได้หนุนใจชนคริสเตียนที่ซื่อสัตย์ในฟีลาเดลเฟียอย่างมากมายจริง ๆ! และข่าวสารนั้นมีบทเรียนที่ทรงพลังอย่างแน่นอนสำหรับชนจำพวกโยฮันสมัยนี้ ในระหว่างวันขององค์พระผู้เป็นเจ้า. แต่หลักการของข่าวสารนี้มีความสำคัญสำหรับคริสเตียนเป็นรายบุคคลทุกคน ไม่ว่าจะเป็นผู้ถูกเจิมหรือแกะอื่น. (โยฮัน 10:16) พวกเราแต่ละคนพึงบังเกิดผลแห่งราชอาณาจักรเหมือนชนคริสเตียนเหล่านั้นในฟีลาเดลเฟีย. อย่างน้อยที่สุด เราทุกคนก็มีกำลังน้อย. เราทุกคนสามารถทำบางสิ่งบางอย่างได้ในงานรับใช้พระยะโฮวา. ขอให้พวกเราใช้กำลังนี้เถิด! โดยคำนึงถึงการเพิ่มพูนในด้านสิทธิพิเศษฝ่ายราชอาณาจักร ขอให้เราตื่นตัวอยู่เสมอที่จะเข้าประตูใด ๆ ก็ได้ที่เปิดไว้ให้เรา. เราอาจอธิษฐานขอให้พระยะโฮวาเปิดประตูเช่นนั้นได้ด้วยซ้ำ. (โกโลซาย 4:2, 3) ขณะที่เราปฏิบัติตามพระเยซูในด้านความอดทนและพิสูจน์ตนสัตย์จริงต่อพระนามของพระองค์ เราจะแสดงให้เห็นว่า เราก็เช่นกัน มีหูฟังสิ่งซึ่งพระวิญญาณบริสุทธิ์ของพระเจ้าตรัสแก่ประชาคมทั้งหลาย.
[เชิงอรรถ]
a ในสมัยของเปาโล โซสเทเนส เจ้าหน้าที่ดูแลธรรมศาลาของชาวยิวในเมืองโกรินโธ ได้เข้ามาเป็นพี่น้องคริสเตียน.—กิจการ 18:17; 1 โกรินโธ 1:1.
b วารสารหอสังเกตการณ์ จัดพิมพ์โดยชนจำพวกโยฮัน เน้นอย่างต่อเนื่องถึงความเร่งด่วนแห่งการฉวยเอาโอกาสและเข้าส่วนร่วมอย่างเต็มที่เท่าที่เป็นไปได้ในการประกาศ เพื่อเป็นตัวอย่าง โปรดดูบทความ “ให้เราทั้งหลายประกาศสง่าราศีของพระยะโฮวา” และ “เสียงพวกเขาดังออกไปทั่วทั้งแผ่นดินโลก” ในฉบับ 1 มกราคม 2004. และฉบับ 1 มิถุนายน 2004 ในบทความ “พระพรมีแก่ผู้ที่ถวายพระเกียรติแด่พระเจ้า” มีการเน้นถึงเรื่องการเข้าใน “ประตูที่เปิดไว้” สู่งานรับใช้เต็มเวลา. มียอดจำนวนไพโอเนียร์ที่รายงานการรับใช้ประเภทนี้ถึง 1,093,552 คนในเดือนหนึ่งในปี 2005.
c สารานุกรม ของแมกคลินทอกและสตรองก์ (เล่มที่ 10 หน้า 519) รายงานว่า “พวกจักรพรรดิจำใจต้องใส่ใจในศาสนาคริสเตียนเนื่องจากความโกลาหลวุ่นวายที่มีการปลุกเร้าให้เกิดขึ้นในหมู่ประชาชนโดยพวกนักบวชนอกรีต ซึ่งได้สังเกตเห็นความก้าวหน้าอันเด่นชัดของความเชื่อถือนั้นพร้อมด้วยมีความหวาดกลัว และด้วยเหตุนั้นจักรพรรดิทรายาน [สากลศักราช 98–117] จึงถูกชักนำให้ตราพระราชกฤษฎีกาออกมาเพื่อค่อย ๆ ขจัดคำสอนใหม่ซึ่งได้เปลี่ยนหลายคนให้กลายเป็นผู้ที่เกลียดชังพระทั้งหลาย. การบริหารงานของพลีนีผู้อ่อนวัยกว่าในฐานะผู้ว่าราชการมณฑลบิทีเนีย [ติดกับมณฑลเอเชียของโรมทางเหนือ] ได้ยุ่งเหยิงไปด้วยเรื่องต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นจากการขยายตัวอย่างรวดเร็วของศาสนาคริสเตียนและความเดือดดาลอันเป็นผลสืบเนื่องจากเหล่าประชาชนชาวนอกรีตในมณฑลของเขา.”
d ชื่อฮิศคียามีความหมายว่า “พระยะโฮวาทรงชูกำลัง.” โปรดดูที่เชิงอรรถของพระธรรม 2 กษัตริย์ 16:20 ในพระคัมภีร์ฉบับแปลโลกใหม่ที่มีข้ออ้างอิง.
[กรอบหน้า 63]
การช่วยคนมากมายให้น้อมตัวลง
ในบรรดาชนผู้ถูกเจิม 144,000 คนซึ่งจะได้รับราชอาณาจักรฝ่ายสวรรค์เป็นมรดกนั้น ปรากฏว่ามีชนจำพวกโยฮันนี้ที่ยังเหลืออยู่ไม่ถึง 9,000 คน ยังจะดำเนินงานของพวกเขาบนแผ่นดินโลกนี้ให้สำเร็จเสร็จสิ้น. ขณะเดียวกัน พวกชนฝูงใหญ่ก็เพิ่มจำนวนขึ้นมากมายจนถึง 6,600,000 คนและมากขึ้นเรื่อย ๆ. (วิวรณ์ 7:4, 9) อะไรที่ช่วยให้มีการเพิ่มพูนอย่างมากมายนี้? โรงเรียนหลายประเภทที่จัดดำเนินการโดยเหล่าพยานพระยะโฮวาได้ช่วยเหลืออย่างมาก. ต่างกันลิบลับจากวิทยาลัยของคริสต์ศาสนจักรที่สอนแต่ปรัชญาของโลกและมองข้ามคัมภีร์ไบเบิลไป โรงเรียนเหล่านั้นของพวกพยานฯปลูกฝังความเชื่ออันลึกซึ้งในพระคำของพระเจ้า. โรงเรียนเหล่านั้นแสดงให้เห็นการนำพระคัมภีร์ไปใช้ได้ผลจริงในการดำเนินชีวิตที่สะอาด มีศีลธรรมและการรับใช้ที่ถวายแด่พระเจ้า. ตั้งแต่ปี 1943 ประชาคมแห่งพยานพระยะโฮวาแต่ละแห่งซึ่งมีอยู่ทั่วโลกได้จัดให้มีโรงเรียนการรับใช้ตามระบอบของพระเจ้า ขึ้นในหอประชุมราชอาณาจักรในท้องถิ่น. มีหลายล้านคนเข้าร่วมในโรงเรียนนี้ทุก ๆ สัปดาห์ โดยติดตามระเบียบวาระการศึกษาพระคัมภีร์ซึ่งเป็นอย่างเดียวกัน.
นับแต่ปี 1959 พยานทั้งหลายของพระยะโฮวายังได้จัดให้มีโรงเรียนพระราชกิจ ขึ้นด้วยเพื่อฝึกฝนเหล่าผู้ปกครองและผู้รับใช้ในประชาคม. และตั้งแต่ปี 1977 โรงเรียนไพโอเนียร์ ได้ฝึกอบรมพี่น้องชายหญิงหลายแสนคนผู้ซึ่งรับใช้พระยะโฮวาเต็มเวลาในงานประกาศด้วยน้ำใจเยี่ยงชาวฟีลาเดลเฟียอย่างแท้จริง. ในปี 1987 โรงเรียนฝึกอบรมเพื่องานรับใช้ ได้เริ่มขึ้นเพื่อการฝึกอบรมพยานฯฝ่ายชายสำหรับหน้าที่มอบหมายพิเศษในเขตงานต่าง ๆ ทั่วโลก
ที่นับว่าเด่นในบรรดาโรงเรียนต่าง ๆ ที่จัดขึ้นโดยเหล่าพยานของพระยะโฮวาก็คือ โรงเรียนว็อชเทาเวอร์ไบเบิลแห่งกิเลียด. นับตั้งแต่ปี 1943 โรงเรียนอบรมมิชชันนารีนี้ซึ่งตั้งอยู่ในรัฐนิวยอร์กได้มีผู้สำเร็จการศึกษาปีละสองรุ่นเกือบทุกปี. โรงเรียนนี้ได้ฝึกอบรมผู้รับใช้ของพระยะโฮวาเพื่องานรับใช้ประเภทมิชชันนารีในต่างแดนรวมทั้งสิ้นกว่า 7,000 คน. ผู้ที่สำเร็จจากโรงเรียนนี้ได้รับใช้ในมากกว่าหนึ่งร้อยดินแดน ซึ่งในหลายดินแดนเหล่านั้นพวกเขาได้เป็นฝ่ายเริ่มต้นงานราชอาณาจักร. หลังจากราว ๆ 60 ปี มิชชันนารีรุ่นแรกนั้นหลายคนยังคงทำงานของเขาอยู่ รับใช้ร่วมกับมิชชันนารีรุ่นใหม่ ๆ ในการส่งเสริมการขยายองค์การของพระยะโฮวาทั่วโลก. นี่เป็นการขยายตัวที่ยอดเยี่ยมจริง ๆ!
[ตารางแผนภูมิหน้า 64]
ในปี 1919 พระมหากษัตริย์เยซูผู้ทรงราชย์ทรงเปิดโอกาสแห่งงานรับใช้ฝ่ายคริสเตียน. คริสเตียนผู้อุทิศตัวที่เพิ่มจำนวนขึ้นก็ได้ฉวยโอกาสนั้น.
จำนวน จำนวนคริสเตียน จำนวน
ประเทศที่มี ที่มีส่วน ผู้ประกาศ
1918 14 3,868 591
1928 32 23,988 1,883
1938 52 47,143 4,112
1948 96 230,532 8,994
1958 175 717,088 23,772
1968 200 1,155,826 63,871
1978 205 2,086,698 115,389
1988 212 3,430,926 455,561
1998 233 5,544,059 698,781
2005 235 6,390,022 843,234
[เชิงอรรถ]
e ตัวเลขที่แสดงข้างบนเป็นจำนวนเฉลี่ยต่อเดือน.
f ตัวเลขที่แสดงข้างบนเป็นจำนวนเฉลี่ยต่อเดือน.
[ตารางแผนภูมิหน้า 65]
การงานที่พยานพระยะโฮวาทำ พวกเขาทำอย่างเต็มใจ. เช่น ขอให้พิจารณาถึงจำนวนเวลาที่พวกเขาได้ใช้ไปในการประกาศสั่งสอนและจำนวนมากมายของรายศึกษาคัมภีร์ไบเบิลโดยไม่คิดค่าที่พวกเขาได้นำตามบ้านของผู้คน.
เวลาที่ใช้ การศึกษาคัมภีร์ไบเบิล
ในการประกาศ ที่เขาได้นำ
ปี (ยอดแต่ละปี) (เฉลี่ยต่อเดือน)
1918 19,116 ไม่มีบันทึกรายงาน
1928 2,866,164 ไม่มีบันทึกรายงาน
1938 10,572,086 ไม่มีบันทึกรายงาน
1948 49,832,205 130,281
1958 110,390,944 508,320
1968 208,666,762 977,503
1978 307,272,262 1,257,084
1988 785,521,697 3,237,160
1998 1,186,666,708 4,302,852
2005 1,278,235,504 6,061,534
[ภาพหน้า 59]
กุญแจของชาวโรมันในศตวรรษแรก