พระธรรมเล่มที่ 29—โยเอล
ผู้เขียน: โยเอล
สถานที่เขียน: ยูดา
เขียนเสร็จ: ประมาณปี 820 ก.ส.ศ. (?)
1. เหตุการณ์น่าตื่นตาตื่นใจอะไรบ้างที่ทำให้คำพยากรณ์ของโยเอลเด่น?
ระลอกแล้วระลอกเล่าที่ฝูงแมลงทำให้แผ่นดินร้างเปล่า. ไฟที่อยู่ข้างหน้าพวกมันและเปลวไฟที่ตามหลังทำให้ความร้างเปล่าถึงที่สุด. เกิดขาดแคลนอาหารทุกหนแห่ง. ดวงอาทิตย์กลับมืดไปและดวงจันทร์เปลี่ยนเป็นสีเลือด ด้วยวันใหญ่ยิ่งและน่าสะพรึงกลัวของพระยะโฮวาใกล้จะมาถึง. พระองค์ทรงมีบัญชาให้ใช้เคียวเกี่ยวรวบรวมนานาชาติเพื่อการทำลายล้าง. อย่างไรก็ดี “จะมีผู้หนีพ้นภัยได้.” (โยเอล 2:32) การใคร่ครวญถึงเหตุการณ์น่าตื่นตาตื่นใจเหล่านี้ทำให้คำพยากรณ์ของโยเอลทั้งน่าสนใจมากและเป็นประโยชน์แก่เราอย่างยิ่ง.
2. เราทราบอะไรเกี่ยวกับโยเอลและสภาพการณ์ในช่วงที่ท่านพยากรณ์?
2 พระธรรมนี้มีคำนำว่าเป็น “คำแห่งพระยะโฮวาที่มาถึงโยเอลบุตรพะธูเอล.” คัมภีร์ไบเบิลไม่ได้บอกเรามากกว่านี้เกี่ยวกับตัวโยเอลเอง. ที่เน้นก็คือข่าวสารเชิงพยากรณ์ ไม่ใช่ตัวผู้เขียน. เข้าใจว่าชื่อ “โยเอล” (ฮีบรู โยห์ʹเอล) หมายความว่า “ยะโฮวาเป็นพระเจ้า.” การที่โยเอลเองรู้เรื่องดีเกี่ยวกับกรุงยะรูซาเลม, พระวิหาร, และรายละเอียดของการรับใช้ในพระวิหารอาจระบุว่าท่านเขียนพระธรรมนี้ในยะรูซาเลมหรือยูดา.—โยเอล 1:1, 9, 13, 14; 2:1, 15, 16, 32.
3. ด้วยเหตุผลอะไรบ้างจึงบ่งชี้ว่าคำพยากรณ์ของโยเอลเขียนประมาณปี 820 ก.ส.ศ.?
3 พระธรรมโยเอลเขียนเมื่อไร? เรื่องนี้ไม่อาจบอกได้แน่นอน. พวกผู้คงแก่เรียนระบุเวลาเขียนต่าง ๆ กันไปโดยกะเวลาตั้งแต่ก่อนปี 800 ก.ส.ศ. ถึงประมาณปี 400 ก.ส.ศ. คำพรรณนาเรื่องการพิพากษาของพระยะโฮวาต่อนานาชาติในที่ราบยะโฮซาฟาดบ่งนัยว่า โยเอลเขียนคำพยากรณ์ของท่านช่วงเวลาใดเวลาหนึ่งหลังจากชัยชนะอันยิ่งใหญ่ของพระยะโฮวาเพื่อเห็นแก่กษัตริย์ยะโฮซาฟาดแห่งยูดา ฉะนั้น จึงเป็นหลังจากยะโฮซาฟาดขึ้นเป็นกษัตริย์ในปี 936 ก.ส.ศ. (โยเอล 3:2, 12; 2 โคร. 20:22-26) ผู้พยากรณ์อาโมศอาจได้ยกข้อความจากพระธรรมโยเอลไปกล่าว. ดังนั้น เรื่องนี้ย่อมบ่งชี้ว่า คำพยากรณ์ของโยเอลเขียนขึ้นก่อนคำพยากรณ์ของอาโมศซึ่งเริ่มพยากรณ์ในช่วงเวลาใดเวลาหนึ่งระหว่างปี 829 ก.ส.ศ. ถึงปี 804 ก.ส.ศ. (โยเอล 3:16; อาโมศ 1:2) นอกจากนี้ ยังอาจระบุวันเวลาที่เขียนก่อนโดยอาศัยตำแหน่งของพระธรรมนี้ในสารบบพระคัมภีร์ภาคภาษาฮีบรูซึ่งอยู่ระหว่างพระธรรมโฮเซอากับอาโมศ. ดังนั้น เวลาที่เขียนคำพยากรณ์ของโยเอลจึงประมาณว่าเป็นปี 820 ก.ส.ศ.
4. มีข้อพิสูจน์อะไรบ้างในเรื่องความเชื่อถือได้ของพระธรรมโยเอล?
4 การที่พระคัมภีร์คริสเตียนภาคภาษากรีกยกข้อความจากพระธรรมโยเอลไปกล่าวและอ้างอิงถึงพระธรรมนี้พิสูจน์ว่าคำพยากรณ์นี้เชื่อถือได้. ในวันเพนเตคอสเต เปโตรพูดถึง “โยเอลศาสดาพยากรณ์” และใช้คำพยากรณ์ตอนหนึ่งของท่าน. เปาโลยกคำพยากรณ์เดียวกันไปกล่าวและเผยให้เห็นความสำเร็จเป็นจริงที่เกิดขึ้นทั้งกับชาวยิวและคนชาติอื่น. (โยเอล 2:28-32; กิจ. 2:16-21; โรม 10:13) คำพยากรณ์ของโยเอลต่อชาติเพื่อนบ้านล้วนสำเร็จทั้งสิ้น. นครตุโรอันใหญ่โตถูกนะบูคัดเนซัรล้อม และต่อมาเมืองที่ตั้งอยู่บนเกาะก็ถูกทำลายโดยอะเล็กซานเดอร์มหาราช. ฟะลิศเตีย (ฟะเลเซ็ธ) ก็ถูกทำลายล้างเช่นกัน. อะโดมกลายเป็นถิ่นทุรกันดาร. (โยเอล 3:4, 19) ชาวยิวไม่เคยสงสัยการที่พระธรรมโยเอลเป็นส่วนของสารบบพระคัมภีร์ และจัดพระธรรมนี้ไว้ในลำดับที่สองในกลุ่มผู้พยากรณ์น้อย.
5. โดยวิธีใดที่คำพยากรณ์ของโยเอลเป็นแบบที่เต็มไปด้วยความหมาย?
5 ลีลาการเขียนของโยเอลทั้งมีชีวิตชีวาและเต็มไปด้วยความหมาย. ท่านกล่าวย้ำเพื่อเน้นและใช้อุปมาที่ดึงดูดใจ. ตั๊กแตนถูกเรียกเป็นชาติ, เป็นไพร่พล, และเป็นกองทัพ. ฟันพวกมันเหมือนฟันสิงโต, รูปร่างมันเหมือนม้า, และเสียงพวกมันเป็นเหมือนรถรบห้อไปทำสงคราม. หนังสือคัมภีร์ไบเบิลของผู้ตีความ (ภาษาอังกฤษ) ยกคำพูดของผู้เชี่ยวชาญด้านการควบคุมตั๊กแตนมากล่าวที่ว่า “คำพรรณนาของโยเอลเกี่ยวกับการบุกของตั๊กแตนให้รายละเอียดอันถูกต้องแม่นยำที่น่าทึ่งอย่างที่ไม่เคยมีใครทำดีกว่านี้.”a บัดนี้ จงฟังขณะที่โยเอลพยากรณ์ถึงวันอันน่าสะพรึงกลัวของพระยะโฮวา.
เนื้อเรื่องในโยเอล
6. ทีแรกโยเอลเห็นนิมิตอะไรที่น่าสะพรึงกลัว?
6 การบุกของแมลงทำให้แผ่นดินร้างเปล่า; วันของพระยะโฮวามาใกล้ (1:1–2:11). โยเอลเห็นนิมิตเกี่ยวกับมหันตภัยที่น่าสะพรึงกลัวจริง ๆ! การบุกเข้าล้างผลาญโดยหนอนผีเสื้อ, ตั๊กแตน, ตั๊กแตนไร้ปีกวัยคลาน, และแมลงสาบ. เถาองุ่นและต้นมะเดื่อเทศถูกลอกเปลือกจนเกลี้ยง และความอดอยากลามไปทั่วแผ่นดิน. ไม่มีของถวายที่เป็นธัญชาติหรือเครื่องดื่มสำหรับพระวิหารของพระยะโฮวา. โยเอลเตือนพวกปุโรหิตและผู้รับใช้ของพระเจ้าให้กลับใจ. ท่านร้องว่า “น่าสังเวชเมื่อคิดถึงวันนั้น! เพราะว่าวันของพระยะโฮวานั้นจวนจะถึงอยู่แล้ว, และจะมาเหมือนอย่างความพินาศอันมาจากพระเจ้าผู้ทรงฤทธิ์.” (1:15) พวกสัตว์เดินเพ่นพ่าน. เปลวไฟได้เผาไหม้ทุ่งหญ้าเลี้ยงสัตว์และต้นไม้ และถิ่นทุรกันดารก็ถูกไฟเผาจนเกรียม.
7. มีการพรรณนาถึงทหารที่บุกจู่โจมของพระยะโฮวาอย่างไร?
7 จงส่งเสียงเตือน! “จงเป่าแตรที่ภูเขาซีโอน, และส่งอาณัติสัญญาณบอกอันตรายที่ภูเขาอันบริสุทธิ์ของเรา.” (2:1) วันของพระยะโฮวามาใกล้ เป็นวันแห่งความมืดทึบ. ดูสิ! ไพร่พลจำนวนมากและเข้มแข็ง. พวกมันเปลี่ยนแผ่นดินที่เหมือนสวนเอเดนให้เป็นถิ่นทุรกันดารร้างเปล่า. ไม่มีอะไรรอดพ้น. พวกมันวิ่งเหมือนม้าและส่งเสียงเหมือนรถรบห้ออยู่บนยอดเขา. พวกมันบุกเข้าไปในเมืองเหมือนพลรบ, ปีนป่ายบนกำแพงและบ้านและเข้าทางหน้าต่าง. แผ่นดินสั่นสะเทือนและฟ้าสวรรค์ก็หวั่นไหว. พระยะโฮวาทรงบัญชาการกองทหารมากมายนี้. “วันแห่งพระยะโฮวานั้นเป็นวันใหญ่ยิ่ง และน่าเกรงขามนัก; ใครเล่าอาจทนได้?”—2:11.
8. (ก) การบุกของแมลงจะถูกยับยั้งโดยวิธีใดเท่านั้น? (ข) พระยะโฮวาสัญญาเรื่องการชดเชยอะไร?
8 จงหันมาหาพระยะโฮวา; จะมีการหลั่งพระวิญญาณ (2:12-32). แต่อาจทำบางสิ่งได้เพื่อยับยั้งการบุกนั้น. พระยะโฮวาแนะนำว่า “จงหันกลับมาหาเราเดี๋ยวนี้ด้วยความสมัครเต็มใจ . . . จงฉีกใจมิใช่ฉีกเสื้อผ้า, แล้วจงหันกลับมาหาพระยะโฮวาพระเจ้าของท่าน.” (2:12, 13) เสียงแตรเรียกไพร่พลให้ชุมนุมใหญ่. ถ้าพวกเขาหันกลับมาหาพระองค์ “พระยะโฮวาก็ได้ทรงฝักใฝ่ต่อแผ่นดินของพระองค์, และทรงเมตตาแก่พลไพร่ของพระองค์.” (2:18) จะมีพระพรและการให้อภัย และผู้รุกรานจะถอยกลับ. แทนที่จะเป็นเวลาแห่งความกลัว จะเป็นเวลาแห่งความชื่นชมยินดี เพราะจะมีผลไม้และธัญชาติ อีกทั้งเหล้าองุ่นใหม่และน้ำมัน. พระยะโฮวาจะทรงชดเชยแก่ปีต่าง ๆ ที่กองทหารตั๊กแตนอันยิ่งใหญ่ของพระองค์ได้กิน. คำสัญญาของพระองค์คือ: “ฝ่ายเจ้าทั้งหลายจะได้รับประทานบริบูรณ์และอิ่มหนำ, และจะสรรเสริญพระนามพระยะโฮวาพระเจ้าของเจ้า ผู้ได้ทรงกระทำการอัศจรรย์ต่อเจ้าทั้งหลาย.” (2:26) พวกเขาจะเรียนรู้ว่าพระยะโฮวาผู้เดียวทรงเป็นพระเจ้าท่ามกลางพวกยิศราเอล.
9. ต่อจากนั้นมีคำพยากรณ์อะไรที่กระตุ้นใจ?
9 พระยะโฮวาตรัสว่า “และภายหลังเราจะหลั่งพระวิญญาณของเราลงมาบนมนุษย์ทั้งปวง; และบุตราบุตรีของเจ้าทั้งหลายจะกล่าวคำพยากรณ์, และคนแก่ของพวกเจ้าฝันเห็น, และคนหนุ่มของพวกเจ้าจะเห็นนิมิต: ในคราวนั้นเราจะหลั่งพระวิญญาณของเรามาบนทาสาทาสี.” จะมีความน่ากลัวในดวงอาทิตย์และดวงจันทร์ก่อนที่วันของพระยะโฮวาจะมา. กระนั้น บางคนจะรอด. “จะเป็นเช่นนี้, คือทุกคนที่ออกพระนามพระยะโฮวาจะรอด.”—2:28-32.
10. จะมีอะไรเกิดขึ้น ณ ที่ราบยะโฮซาฟาด?
10 ชาติทั้งหลายจะถูกพิพากษาใน “ที่ราบยะโฮซาฟาด” (3:1-21). พระยะโฮวาจะนำเชลยชาวยูดาและชาวยะรูซาเลมกลับมา. ชาติทั้งหลายจะถูกรวบรวม; ตุโร, ซีโดน, และฟะลิศเตีย จะต้องจ่ายด้วยราคาแพงสำหรับการหมิ่นประมาทและการทำให้ไพร่พลของพระยะโฮวาตกเป็นทาส. จงฟังพระยะโฮวาขณะที่พระองค์ท้าทายนานาชาติดังนี้: “ให้เตรียมตัวทำพิธีเข้าสงคราม; ให้ปลุกใจชายฉกรรจ์; ให้ระดมพลทหารเข้าหมู่เข้ากอง.” (3:9) ให้พวกเขาตีผาลเป็นดาบและมายังที่ราบยะโฮซาฟาด (ซึ่งหมายความว่า “พระยะโฮวาเป็นผู้พิพากษา”). พระบัญชาของพระยะโฮวามีว่า “พืชซึ่งควรจะเกี่ยวก็สุกแล้ว: จงเอาเคียวสอดเข้าไป . . . ถังรองน้ำองุ่นก็เต็มล้น; เพราะว่าความชั่วร้ายของเขามีมากมายอยู่แล้ว. มหาชนมากมายหลั่งไหลเข้ามายังหุบเขา [“ที่ราบลุ่ม,” ล.ม.] แห่งการพิพากษา; ด้วยว่าวันของพระยะโฮวาใกล้จะถึง.” (3:13, 14) ดวงอาทิตย์และดวงจันทร์จะมืดไป. พระยะโฮวาทรงแผดพระสุรเสียงจากซีโอนทำให้ฟ้าสวรรค์และแผ่นดินโลกหวั่นไหว แต่พระองค์จะทรงเป็นที่คุ้มภัยและเป็นป้อมสำหรับไพร่พลของพระองค์. พวกเขาจะต้องรู้ว่าพระองค์คือพระยะโฮวาพระเจ้าของพวกเขา.
11. จากนั้นโยเอลพรรณนาอย่างไรถึงพระพรต่าง ๆ จากพระยะโฮวาซึ่งจะตามมา?
11 ช่างเป็นความอุดมบริบูรณ์อย่างอุทยานจริง ๆ ที่จะได้เห็น “ในกาลวันนั้น”! (3:18) ภูเขาจะหยาดน้ำองุ่น, เนินเขาจะนองเนืองด้วยน้ำนม, แม่น้ำที่เคยแห้งจะมีน้ำเต็ม. น้ำพุที่ทำให้สดชื่นจะออกมาจากราชนิเวศของพระยะโฮวา. อียิปต์และอะโดมที่ทำให้โลหิตผู้ไร้ความผิดตกในยูดาจะเป็นที่ร้างเปล่า แต่ยูดาและยะรูซาเลมจะมีผู้อยู่อาศัยจนถึงเวลาไม่กำหนด “และพระยะโฮวาจะทรงสถิตในซีโอน.”—3:21, ล.ม.
เหตุที่เป็นประโยชน์
12. ความสำคัญอะไรในเชิงพยากรณ์ของพระธรรมโยเอลที่เปโตรเน้นในวันเพนเตคอสเต?
12 ผู้ให้อรรถาธิบายบางคนพรรณนาถึงโยเอลว่าเป็นผู้พยากรณ์แห่งความมืดมน. แต่จากทัศนะแห่งไพร่พลของพระเจ้าเองแล้ว ปรากฏว่าท่านเป็นผู้ประกาศข่าวอันรุ่งโรจน์เรื่องการช่วยให้รอด. อัครสาวกเปาโลย้ำความคิดเช่นนี้ที่โรม 10:13 (ล.ม.) โดยกล่าวว่า “เพราะ ‘ทุกคนที่ร้องเรียกพระนามของพระยะโฮวาจะรอด.’” (โยเอล 2:32) มีความสำเร็จเป็นจริงที่เด่นชัดของคำพยากรณ์ของโยเอลในวันเพนเตคอสเตปี ส.ศ. 33. ในโอกาสนั้นเปโตรได้รับการดลใจให้อธิบายว่า การหลั่งพระวิญญาณบริสุทธิ์ของพระเจ้าลงเหนือเหล่าสาวกของพระคริสต์เป็นความสำเร็จเป็นจริงอย่างหนึ่งแห่งคำพยากรณ์ของโยเอล. (กิจ. 2:1-21; โยเอล 2:28, 29, 32) เปโตรย้ำหนักแน่นเรื่องความสำคัญเชิงพยากรณ์ของถ้อยคำของโยเอลดังนี้: “และทุกคนที่ร้องเรียกพระนามของพระยะโฮวาจะรอด.”—กิจ. 2:21, 39, 40, ล.ม.
13. (ก) ความคล้ายคลึงที่เด่นชัดอะไรบ้างจะเห็นได้ในโยเอลกับวิวรณ์? (ข) มีอะไรอีกบ้างที่คล้ายคลึงกับโยเอลซึ่งจะพบในคำพยากรณ์อื่น ๆ?
13 ความคล้ายคลึงที่เด่นชัดเห็นได้ระหว่างภัยพิบัติจากตั๊กแตนซึ่งพรรณนาโดยโยเอลกับภัยพิบัติที่มีพยากรณ์ไว้ในพระธรรมวิวรณ์บท 9. อีกครั้งหนึ่งที่ดวงอาทิตย์มืดไป. พวกตั๊กแตนคล้ายม้าที่เตรียมรบ, พวกมันทำให้เกิดเสียงเหมือนเสียงรถรบ, และพวกมันมีฟันเหมือนฟันสิงโต. (โยเอล 2:4, 5, 10; 1:6; วิ. 9:2, 7-9) คำพยากรณ์ของโยเอลที่โยเอล 2:31 ซึ่งบอกเรื่องดวงอาทิตย์กลับมืดไปนั้นคล้ายกับเหตุการณ์ที่บอกไว้โดยถ้อยคำในยะซายา 13:9, 10 และวิวรณ์ 6:12-17 และที่มัดธาย 24:29, 30 ด้วย ซึ่งพระเยซูทรงเผยให้เห็นคำพยากรณ์ที่ชี้ถึงเวลาซึ่งพระองค์จะเสด็จมาในฐานะบุตรมนุษย์พร้อมด้วยอำนาจและสง่าราศีอันรุ่งโรจน์. ข้อความที่โยเอล 2:11 ซึ่งบอกว่า “วันแห่งพระยะโฮวานั้นเป็นวันใหญ่ยิ่ง และน่าเกรงขาม” นั้นปรากฏว่ามีกล่าวถึงที่มาลาคี 4:5. คำพรรณนาที่คล้ายกันเกี่ยวกับ ‘วันแห่งความมืดมัวและความมืดทึบ’ นั้นจะพบได้ที่โยเอล 2:2 และซะฟันยา 1:14, 15 ด้วย.
14. ข้อความใดบ้างในโยเอลที่ยกย่องสรรเสริญพระบรมเดชานุภาพของพระยะโฮวาและความรักกรุณาของพระองค์?
14 คำพยากรณ์ในพระธรรมวิวรณ์ชี้ไปยัง “วันใหญ่” แห่งพระพิโรธกล้าของพระเจ้า. (วิ. 6:17, ล.ม.) โยเอลก็พยากรณ์ถึงเวลานั้นเช่นกันโดยแสดงว่า เมื่อ “วันแห่งพระยะโฮวา” ซึ่งเป็นวันใหญ่มาเหนือนานาชาติ เหล่าคนที่ร้องเรียกพระองค์เพื่อขอการคุ้มครองและการช่วยให้รอด “จะรอด.” “พระยะโฮวาจะเป็นที่พำนักแห่งพลไพร่ของพระองค์.” จะมีการฟื้นฟูความอุดมสมบูรณ์อย่างสวนเอเดน: “อยู่มาในกาลวันนั้นน้ำองุ่นอันหวานจะหยดลงมาจากภูเขา, และน้ำนมจะไหลหลั่งแต่เนินเขา, และน้ำจะไหลไปในลำธารตลอดทั่วประเทศยะฮูดา; และน้ำพุจะผุดขึ้นมาจากโบสถ์แห่งพระยะโฮวา.” ในการบรรยายถึงคำสัญญาอันรุ่งโรจน์เรื่องการฟื้นฟู โยเอลยังยกย่องสรรเสริญพระบรมเดชานุภาพของพระยะโฮวาพระเจ้าด้วย และวิงวอนผู้มีหัวใจสุจริตโดยอาศัยพระเมตตาอันยิ่งใหญ่ของพระองค์ว่า “จงหันกลับมาหาพระยะโฮวาพระเจ้าของท่าน; ด้วยว่าพระองค์ทรงพระกรุณาและเมตตา, ทรงอดกลั้นพระพิโรธไว้ได้ช้านาน, ทรงพระกรุณาธิคุณเหลือล้น.” ทุกคนซึ่งเอาใจใส่ฟังคำอ้อนวอนที่มีขึ้นโดยการดลใจนี้จะเก็บเกี่ยวผลประโยชน์ถาวร.—โยเอล 2:1, 32; 3:16, 18; 2:12, 13.
[เชิงอรรถ]
a 1956 เล่ม 6 หน้า 733.