ชนฝูงใหญ่ถวายการรับใช้อันศักดิ์สิทธิ์
“พวกเขาถวายการรับใช้อันศักดิ์สิทธิ์แด่พระองค์ทั้งวันทั้งคืนในพระวิหารของพระองค์.”—วิวรณ์ 7:15, ล.ม.
1. ได้มีการเข้าใจทางฝ่ายวิญญาณเกี่ยวกับเรื่องอะไรในปี 1935 ซึ่งถือเป็นเหตุการณ์สำคัญทางประวัติศาสตร์?
เมื่อวันที่ 31 พฤษภาคม 1935 ปรากฏความปีติยินดีเป็นอันมากท่ามกลางผู้เข้าร่วมการประชุมใหญ่ของพยานพระยะโฮวาในกรุงวอชิงตัน ดี. ซี. ณ ที่นั่น เป็นครั้งแรกที่คนเป็นอันมาก (หรือชนฝูงใหญ่) ที่มีกล่าวถึงในวิวรณ์ 7:9 ได้รับการระบุตัวอย่างชัดแจ้งสอดคล้องกับส่วนอื่นของคัมภีร์ไบเบิล และตรงกับเหตุการณ์ซึ่งเริ่มคลี่คลายออกมาแล้ว.
2. อะไรบ่งชี้ว่าผู้คนที่เพิ่มจำนวนขึ้นนั้นได้ตระหนักว่าพระเจ้าไม่ได้ทรงเรียกพวกเขาเพื่อชีวิตฝ่ายสวรรค์?
2 ก่อนหน้านั้นประมาณหกสัปดาห์ ในการฉลองอาหารมื้อเย็นขององค์พระผู้เป็นเจ้า ณ ประชาคมต่าง ๆ ของพยานพระยะโฮวา มี 10,681 คน (ประมาณ 1 ใน 6) ของจำนวนผู้เข้าร่วมทั้งหมดไม่รับประทานขนมปังและเหล้าองุ่น เครื่องหมายที่ใช้แทน และจากจำนวนนี้ 3,688 คนคือผู้ประกาศที่แข็งขันแห่งราชอาณาจักรของพระเจ้า. เหตุใดพวกเขาไม่รับประทานเครื่องหมายที่ใช้แทน? เนื่องจากสิ่งที่ได้เรียนรู้จากคัมภีร์ไบเบิล เขาจึงเข้าใจว่าพระเจ้าไม่ได้เรียกเขาเข้าสู่ชีวิตทางภาคสวรรค์ แต่เขาสามารถจะมีส่วนร่วมในการจัดเตรียมอันเพียบด้วยความรักของพระยะโฮวาได้ในทางอื่น. ดังนั้น ณ การประชุมใหญ่ เมื่อผู้บรรยายขอร้องว่า “ทุกคนที่มีความหวังจะอยู่ตลอดไปบนแผ่นดินโลก โปรดยืนขึ้น” เหตุการณ์เป็นเช่นไร? หลายพันคนลุกขึ้นยืน ตามด้วยเสียงปรบมืออันยาวนานแสดงความยินดีจากผู้ที่ร่วมประชุม.
3. ทำไมการระบุตัวชนฝูงใหญ่จึงทำให้เกิดพลังกระตุ้นใหม่แก่งานรับใช้ในเขตทำงาน และเวลานั้นเหล่าพยานฯรู้สึกอย่างไรเกี่ยวกับเรื่องนี้?
3 สิ่งซึ่งผู้เข้าร่วมประชุมได้เรียนรู้ ณ การประชุมใหญ่นั้นให้พลังกระตุ้นใหม่แก่งานรับใช้ของเขา. พวกเขาได้มาเข้าใจว่าเวลานี้แหละ ก่อนอวสานของระบบเก่า ประชาชนจำนวนมากมาย ไม่ใช่แค่สองสามพันคน จะได้รับโอกาสให้เข้ามาอยู่ภายใต้การจัดเตรียมของพระยะโฮวาเพื่อการพิทักษ์ชีวิต พร้อมกับมีเป้าหมายจะอยู่ตลอดไปบนแผ่นดินโลกที่เป็นอุทยาน. ช่างเป็นการนำเสนอข่าวสารซึ่งยังความอบอุ่นใจโดยแท้แก่ผู้รักความจริง! พยานพระยะโฮวาตระหนักว่ามีงานสำคัญที่ต้องทำให้เสร็จ—งานที่ให้ความยินดี. หลายปีต่อมา จอห์น บูต ซึ่งได้กลายเป็นสมาชิกคณะกรรมการปกครองได้ทวนความหลังว่า “การประชุมคราวนั้นสร้างความปีติยินดีเป็นอันมากแก่เราทั่วหน้า.”
4. (ก) โดยแท้แล้ว มีการรวบรวมชนฝูงใหญ่มากขนาดไหนตั้งแต่ปี 1935? (ข) คนจำพวกชนฝูงใหญ่ให้หลักฐานในทางใดว่า เขาได้สำแดงความเชื่อ?
4 ตลอดหลายปีหลังจากนั้น จำนวนพยานพระยะโฮวาเพิ่มมากขึ้นอย่างน่าทึ่ง. ทั้ง ๆ ที่พวกเขาถูกข่มเหงอย่างรุนแรงบ่อย ๆ ระหว่างสงครามโลกครั้งที่สอง แต่ภายในสิบปีจำนวนพยานฯเพิ่มขึ้นเกือบสามเท่า. และจากจำนวนผู้ประกาศ 56,153 คนที่ให้คำพยานอย่างเปิดเผยเมื่อปี 1935 เพิ่มขึ้นเป็นผู้ประกาศราชอาณาจักรจำนวน 4,900,000 กว่าคนในที่ต่าง ๆ มากกว่า 230 ดินแดนในปี 1994. คนเหล่านี้ส่วนใหญ่ตั้งตาคอยด้วยความคาดหวังอย่างแรงกล้าที่จะถูกนับเข้ากับบรรดาผู้ที่พระยะโฮวาชอบพระทัยจะให้มีชีวิตสมบูรณ์พร้อมในอุทยานบนแผ่นดินโลก. เมื่อเทียบกับฝูงแกะเล็กน้อยแล้ว พวกเขากลายเป็นชนฝูงใหญ่จริง ๆ. พวกเขาไม่ใช่คนที่บอกว่าตนมีความเชื่อ แต่แล้วไม่ได้สำแดงความเชื่อ. (ยาโกโบ 1:22; 2:14-17) พวกเขาทุกคนบอกเล่าข่าวดีเรื่องราชอาณาจักรของพระเจ้าแก่คนอื่น ๆ. คุณเป็นคนหนึ่งในกลุ่มที่มีความสุขนี้ไหม? การเป็นพยานฯที่เอาจริงเอาจังเป็นเครื่องหมายระบุตัวที่สำคัญประการหนึ่ง กระนั้น ยังมีอีกมากซึ่งเกี่ยวข้องอยู่ด้วย.
“ยืนอยู่ต่อหน้าราชบัลลังก์”
5. ข้อเท็จจริงที่ว่า ชนฝูงใหญ่ “ยืนอยู่ต่อหน้าราชบัลลังก์” บ่งชี้อะไร?
5 ในนิมิตที่ประทานแก่อัครสาวกโยฮัน ท่านเห็นพวกเขา “ยืนอยู่ต่อหน้าราชบัลลังก์และต่อพระพักตร์พระเมษโปดก.” (วิวรณ์ 7:9, ล.ม.) ดังคำพรรณนาในอรรถบท การยืนอยู่ต่อหน้าราชบัลลังก์ของพระเจ้าแสดงว่า พวกเขาให้การยอมรับพระบรมเดชานุภาพของพระยะโฮวาอย่างเต็มที่. ทั้งนี้รวมถึงหลายสิ่ง. ตัวอย่างเช่น (1) พวกเขายอมรับสิทธิของพระยะโฮวาที่จะตัดสินแทนผู้รับใช้ของพระองค์ว่าอะไรดีอะไรชั่ว. (เยเนซิศ 2:16, 17; ยะซายา 5:20, 21) (2) พวกเขาฟังพระยะโฮวาตามที่พระองค์ตรัสแก่เขาทางพระคำของพระองค์. (พระบัญญัติ 6:1-3; 2 เปโตร 1:19-21) (3) พวกเขาหยั่งเห็นเข้าใจความสำคัญของการอ่อนน้อมยอมฟังผู้ที่พระยะโฮวาทรงมอบหน้าที่ให้ปกครองดูแล. (1 โกรินโธ 11:3; เอเฟโซ 5:22, 23; 6:1-3; เฮ็บราย 13:17) (4) แม้ว่าเป็นคนไม่สมบูรณ์ แต่พวกเขาบากบั่นที่จะตอบรับการชี้นำตามระบอบของพระเจ้าอย่างกระตือรือร้น ไม่ฝืนใจ แต่จากหัวใจที่พร้อมเสมอ. (สุภาษิต 3:1; ยาโกโบ 3:17, 18) พวกเขาอยู่ต่อหน้าราชบัลลังก์ถวายการรับใช้อันศักดิ์สิทธิ์แด่พระยะโฮวา ผู้ซึ่งพวกเขารักและนับถือจากก้นบึ้งหัวใจ. ในกรณีชนฝูงใหญ่ “การยืนอยู่” ต่อหน้าราชบัลลังก์เช่นนั้นแสดงว่า พระองค์ผู้ประทับบัลลังก์ทรงโปรดปรานพวกเขา. (เทียบกับวิวรณ์ 6:16, 17.) การโปรดปรานเช่นนั้นเนื่องมาจากอะไร?
“สวมเสื้อยาวสีขาว”
6. (ก) การที่ชนฝูงใหญ่ “สวมเสื้อยาวสีขาว” เช่นนั้นหมายถึงอะไร? (ข) ชนฝูงใหญ่ได้มาซึ่งฐานะอันชอบธรรมจำเพาะพระยะโฮวาโดยวิธีใด? (ค) ความเชื่อในพระโลหิตที่หลั่งออกของพระคริสต์ส่งผลกระทบชีวิตชนฝูงใหญ่ถึงขนาดไหน?
6 การพรรณนาของอัครสาวกโยฮันตามที่ท่านได้เห็น บอกว่าสมาชิกแห่งชนฝูงใหญ่นี้ “สวมเสื้อยาวสีขาว.” เสื้อยาวสีขาวของเขาเป็นสัญลักษณ์แสดงถึงฐานะอันสะอาด ชอบธรรมจำเพาะพระยะโฮวา. พวกเขาได้มาซึ่งฐานะดังกล่าวอย่างไร? เราได้สังเกตมาแล้วว่า ในนิมิตของโยฮันเขา “ยืนอยู่ต่อพระพักตร์พระเมษโปดก.” พวกเขายอมรับพระเยซูคริสต์ฐานะเป็น “พระเมษโปดกของพระเจ้าซึ่งรับบาปของโลกไป.” (โยฮัน 1:29, ล.ม.) โยฮันได้ยินหนึ่งในบรรดาผู้ปกครอง ซึ่งในนิมิตยืนอยู่ตรงหน้าราชบัลลังก์ของพระเจ้าได้อธิบายว่า “พวกเขาได้ชำระเสื้อยาวของเขาและทำให้ขาวในพระโลหิตของพระเมษโปดก. เพราะเหตุนั้นพวกเขาจึงอยู่ต่อหน้าราชบัลลังก์ของพระเจ้า.” (วิวรณ์ 7:14, 15, ล.ม.) กล่าวโดยนัย คนเหล่านี้ได้ชำระเสื้อยาวของเขาโดยการแสดงความเชื่อในโลหิตของพระคริสต์อันเป็นค่าไถ่. พวกเขาไม่เพียงแต่มีความคิดเห็นสอดคล้องกับหลักคำสอนของพระคัมภีร์เรื่องค่าไถ่. การหยั่งรู้ค่าการไถ่มีผลกระทบผู้นั้นว่า ภายในหัวใจเขาเป็นคนชนิดใด ดังนั้น เขาจึงสำแดงความเชื่อด้วยหัวใจ.” (โรม 10:9, 10, ล.ม.) เรื่องนี้ส่งผลกระทบอย่างกว้างขวางต่อวิธีที่เขาใช้ชีวิตของเขา. ด้วยความเชื่อ เขาอุทิศตนแด่พระยะโฮวาโดยอาศัยเครื่องบูชาของพระคริสต์เป็นหลัก, แสดงเครื่องหมายการอุทิศตัวโดยการรับบัพติสมา, ดำเนินชีวิตประสานกับการอุทิศตัวของเขาจริง ๆ, และด้วยเหตุนั้นจึงได้มามีสัมพันธภาพอันน่าพอใจกับพระเจ้า. ช่างเป็นสิทธิพิเศษที่ดีเยี่ยม ซึ่งพึงต้องรักษาไว้อย่างระมัดระวัง!—2 โกรินโธ 5:14, 15.
7, 8. องค์การของพระยะโฮวาได้ช่วยชนฝูงใหญ่รักษาเสื้อยาวของเขามิให้เป็นมลทินโดยวิธีใด?
7 ด้วยความรักใคร่ห่วงใยต่อสวัสดิภาพถาวรของพวกเขา องค์การของพระยะโฮวาได้เน้นครั้งแล้วครั้งเล่าถึงทัศนะและการประพฤติอันอาจทำให้เสื้อผ้าที่ระบุตัวผู้สวมใส่เกิดจุดด่างหรือเป็นมลทินซึ่งทำให้บุคคลผู้นั้นไม่สมอย่างแท้จริงกับคำพรรณนาเชิงพยากรณ์ที่วิวรณ์ 7:9, 10 ไม่ว่าเขาจะประกาศตัวอย่างไร. (1 เปโตร 1:15, 16) เพื่อเพิ่มน้ำหนักให้กับเรื่องที่ได้ตีพิมพ์ก่อนหน้านั้น วารสารเดอะ ว็อชเทาเวอร์ ปี 1941 และต่อ ๆ มาได้ชี้แจงซ้ำแล้วซ้ำอีกว่าเป็นการไม่สมควรอย่างยิ่งที่จะประกาศศาสนาให้คนอื่นฟัง และแล้ว เวลาที่ไม่ได้ประกาศก็เข้าร่วมในการประพฤติอย่างเช่น การลักลอบได้เสียกัน หรือการเล่นชู้. (1 เธซะโลนิเก 4:3; เฮ็บราย 13:4) ในปี 1947 มีการเน้นว่า มาตรฐานของพระยะโฮวาในเรื่องการสมรสของคริสเตียนนั้นใช้ได้กับทุกประเทศ; ไม่ว่าธรรมเนียมท้องถิ่นอาจยอมรับอะไรก็ตาม ผู้ที่ยังอยู่กินกับภรรยาหรือสามีหลายคนจะเป็นพยานของพระยะโฮวาไม่ได้.—มัดธาย 19:4-6; ติโต 1:5, 6.
8 ปี 1973 พยานพระยะโฮวาทั่วโลกได้รับคำชี้แจงว่า พยานฯทุกคนต้องละเลิกอย่างเด็ดขาดในการประพฤติปฏิบัติที่เห็นได้ชัดว่าไม่สะอาด เป็นต้นว่า การใช้ยาสูบไม่ว่าอยู่ที่ใดก็ตาม ไม่เพียงแต่ที่หอประชุมราชอาณาจักร หรือเมื่อไปประกาศตามบ้านเท่านั้น แต่ ณ ที่ทำงาน หรือในที่ลับตาด้วย. (2 โกรินโธ 7:1) ปี 1987 ณ การประชุมภาคของพยานพระยะโฮวาในประเทศต่าง ๆ หนุ่มสาวคริสเตียนได้รับคำแนะนำอย่างเฉียบขาดว่า เพื่อคงสถานะสะอาดจำเพาะพระเจ้า เขาต้องระมัดระวังที่จะไม่ประพฤติตนเป็นคนสองหน้า. (บทเพลงสรรเสริญ 26:1, 4) วารสารหอสังเกตการณ์ เคยเตือนครั้งแล้วครั้งเล่าให้ต่อต้านแง่คิดหลายอย่างซึ่งส่อลักษณะวิญญาณของโลก เพราะ “แบบแห่งการนมัสการที่สะอาดและปราศจากมลทินจากทัศนะของพระเจ้าและพระบิดาของเรา” รวมเอาการรักษาตัวเอง “พ้นจากด่างพร้อยของโลก.”—ยาโกโบ 1:27, ล.ม.
9. จริง ๆ แล้ว ภายหลังความทุกข์ลำบากครั้งใหญ่ ใครจะยืนอยู่ต่อหน้าราชบัลลังก์ของพระเจ้าอย่างเป็นที่โปรดปราน?
9 คนเหล่านั้นซึ่งความเชื่อเป็นแรงกระตุ้นเขาให้ดำเนินชีวิตในแนวทางที่จะคงความสะอาดฝ่ายวิญญาณและทางศีลธรรม จึงเป็นผู้ที่จะ “ยืนอยู่ต่อหน้าราชบัลลังก์” ฐานะเป็นผู้รับใช้ที่พระเจ้าทรงพอพระทัย. หลังจากความทุกข์ลำบากครั้งใหญ่ผ่านไป กลุ่มชนดังกล่าวไม่เพียงแต่เริ่มชีวิตอย่างคริสเตียนเท่านั้น แต่อุตส่าห์พยายามดำเนินอยู่ในทางนี้อย่างซื่อสัตย์ภักดี.—เอเฟโซ 4:24.
“ในมือของพวกเขามีทางปาล์ม”
10. ทางปาล์มในมือของชนฝูงใหญ่ที่โยฮันแลเห็นนั้นมีความหมายอะไร?
10 ลักษณะเด่นอย่างหนึ่งของชนฝูงใหญ่ ดังที่อัครสาวกโยฮันสังเกตเห็นก็คือ “ในมือของพวกเขามีทางปาล์ม.” สิ่งนั้นมีความหมายอย่างไร? ไม่ต้องสงสัยว่า ทางปาล์มเหล่านั้นทำให้โยฮันนึกถึงเทศกาลตั้งทับอาศัย เทศกาลที่น่าเบิกบานยินดีอย่างยิ่งตามปฏิทินของยิว ซึ่งถือปฏิบัติกันภายหลังการเก็บเกี่ยวในฤดูร้อน. สอดคล้องกับพระบัญญัติ ได้มีการนำเอาทางปาล์มและกิ่งก้านของต้นไม้อื่นมาสร้างทับอาศัยระหว่างช่วงเทศกาล. (เลวีติโก 23:39-40; นะเฮมยา 8:14-18) นอกจากนั้น ผู้ที่มานมัสการ ณ พระวิหารได้โบกทางปาล์มไปมาระหว่างการร้องเพลงสรรเสริญพระยะโฮวา (บทเพลงสรรเสริญ 113-118). นอกจากนั้น การที่ชนฝูงใหญ่โบกทางปาล์มอาจชวนให้โยฮันนึกถึงโอกาสหนึ่งเมื่อพระเยซูทรงลาเสด็จไปยังกรุงยะรูซาเลม ขณะที่ฝูงชนผู้นมัสการโบกทางปาล์มอย่างร่าเริงและร้องตะโกนว่า: “พระพรมีแด่พระองค์ผู้ซึ่งเสด็จมาในพระนามของพระยะโฮวา ได้แก่พระมหากษัตริย์ของยิศราเอล!” (โยฮัน 12:12, 13, ล.ม.) ฉะนั้น การโบกทางปาล์มเป็นข้อบ่งชี้ว่า ชนฝูงใหญ่โห่ร้องอวยชัยราชอาณาจักรของพระยะโฮวาและพระมหากษัตริย์ผู้ถูกเจิมของพระองค์ด้วยความปีติยินดี.
11. เพราะเหตุใดผู้รับใช้ของพระเจ้าจึงประสบความยินดีอย่างแท้จริงในการรับใช้พระยะโฮวา?
11 ความปีติยินดีเช่นนี้แหละที่ชนฝูงใหญ่แสดงให้ปรากฏเวลานี้ด้วยซ้ำ ขณะที่เขาปฏิบัติพระยะโฮวา. ทั้งนี้ใช่ว่าเขาไม่ประสบความลำบาก หรือเขาไม่พานพบความโศกเศร้าหรือความเจ็บปวดเสียเลย. แต่ความอิ่มใจพอใจเนื่องจากรับใช้พระยะโฮวาและทำให้พระองค์พอพระทัยนั้นเองที่ชดเชยความทุกข์ยากดังกล่าว. ดังมิชชันนารีคนหนึ่งที่รับใช้ร่วมกับสามีของเธอในประเทศกัวเตมาลานานถึง 45 ปีได้เล่าถึงสภาพการณ์ต่าง ๆ ที่ยังไม่เจริญ, ตลอดทั้งงานหนักและการเดินทางเสี่ยงภัยซึ่งเป็นส่วนของชีวิตขณะที่พวกเขาบากบั่นนำข่าวราชอาณาจักรไปให้ถึงหมู่บ้านชาวอินเดียนแดง. เธอสรุปดังนี้: “ชีวิตช่วงนั้นของเราเป็นช่วงที่เรามีความสุขมากที่สุด.” ถึงแม้เธอรู้สึกถึงผลกระทบต่าง ๆ อันสืบเนื่องจากความชราและการเจ็บป่วย เธอเขียนไว้ที่ท้ายสมุดบันทึกประจำวันตอนหนึ่งด้วยถ้อยคำดังนี้ “เป็นชีวิตที่ดี, ได้รับพระพรมากมาย.” พยานพระยะโฮวาทั่วโลกต่างก็รู้สึกเช่นเดียวกันเกี่ยวเนื่องกับงานรับใช้ของเขา.
“การรับใช้ศักดิ์สิทธิ์ทั้งวันทั้งคืน”
12. ไม่ว่าจะเป็นเวลากลางวันหรือกลางคืน พระยะโฮวาทรงเฝ้าสังเกตสิ่งใดบนแผ่นดินโลก?
12 ผู้นมัสการพระยะโฮวาที่มีความยินดีเหล่านี้ถวาย “การรับใช้อันศักดิ์สิทธิ์ทั้งวันทั้งคืนในพระวิหารของพระองค์.” (วิวรณ์ 7:15, ล.ม.) หลายล้านคนตามส่วนต่าง ๆ ของโลกกำลังมีส่วนร่วมในงานรับใช้อันศักดิ์สิทธิ์นี้. ขณะที่ซีกโลกหนึ่งเป็นกลางคืนและผู้คนนอนหลับ อีกซีกโลกหนึ่งเป็นกลางวันและพยานพระยะโฮวาขมีขมันทำการประกาศให้คำพยาน. ขณะที่โลกหมุน พวกเขาจึงร้องเพลงถวายคำสรรเสริญแด่พระยะโฮวาทั้งกลางวันและกลางคืน. (บทเพลงสรรเสริญ 86:9) แต่การรับใช้ทั้งวันทั้งคืนตามที่กล่าวในวิวรณ์ 7:15 นั้น เป็นเรื่องเกี่ยวข้องกับบุคคลเป็นส่วนตัวมากกว่าด้วยซ้ำ.
13. พระคัมภีร์บ่งชี้อย่างไรเกี่ยวกับความหมายว่าด้วยการรับใช้ “ทั้งวันทั้งคืน”?
13 ปัจเจกบุคคลที่ประกอบกันเป็นชนฝูงใหญ่ต่างก็ถวายการรับใช้อันศักดิ์สิทธิ์ทั้งวันทั้งคืน. ทั้งนี้หมายความว่าทุกสิ่งที่เขาทำนั้นเป็นงานรับใช้อันศักดิ์สิทธิ์ไหม? จริงอยู่ ไม่ว่าเขาทำอะไรก็ตาม เขาเรียนรู้ที่จะทำสิ่งนั้น ๆ เพื่อเป็นการถวายเกียรติพระยะโฮวา. (1 โกรินโธ 10:31; โกโลซาย 3:23) อย่างไรก็ดี “การรับใช้อันศักดิ์สิทธิ์” ใช้หมายถึงเฉพาะสิ่งที่เกี่ยวข้องกับการนมัสการพระเจ้าเท่านั้น. การร่วมกิจกรรม “ทั้งวันทั้งคืน” จึงบ่งนัยถึงการทำเป็นประจำหรือทำเสมอต้นเสมอปลายและด้วยความบากบั่นพยายามเต็มที่.—เทียบกับยะโฮซูอะ 1:8; ลูกา 2:37; กิจการ 20:31; 2 เธซะโลนิเก 3:8.
14. อะไรจะทำให้การรับใช้ของเราแต่ละคนเกี่ยวด้วยงานประกาศตรงกับคำพรรณนาที่ว่าเป็นการรับใช้ “ทั้งวันทั้งคืน”?
14 ดังนั้น ขณะที่พวกเขารับใช้อยู่ทางแผ่นดินโลก อันได้แก่ลานพระวิหารฝ่ายวิญญาณอันยิ่งใหญ่ของพระยะโฮวา คนเหล่านั้นที่ประกอบกันเป็นชนฝูงใหญ่ได้บากบั่นร่วมงานรับใช้ในเขตทำงานเป็นประจำและเสมอต้นเสมอปลาย. หลายคนตั้งเป้าให้ตัวเองมีส่วนร่วมงานประกาศทุกสัปดาห์. คนอื่นใช้ความพยายามจะเป็นไพโอเนียร์ประจำหรือไพโอเนียร์สมทบ. บ่อยครั้ง คนเหล่านี้จะง่วนอยู่กับการให้คำพยานตามถนนและตามร้านค้าในตอนเช้าตรู่. ที่จะปรับตัวช่วยคนสนใจ พยานฯบางคนนำการศึกษาคัมภีร์ไบเบิลตอนกลางคืน. พวกเขาให้คำพยานเมื่อไปซื้อของ, ระหว่างเดินทาง, ในช่วงพักรับประทานอาหารกลางวัน, และทางโทรศัพท์.
15. นอกเหนือจากการประกาศเผยแพร่แล้ว มีอะไรบ้างถูกนับรวมอยู่ในการรับใช้อันศักดิ์สิทธิ์ของเรา?
15 การเข้าส่วนร่วมประชุมวาระต่าง ๆ ในประชาคมเป็นส่วนหนึ่งของการรับใช้อันศักดิ์สิทธิ์เช่นกัน รวมไปถึงงานก่อสร้างและงานดูแลเอาใจใส่สถานที่ประชุมของคริสเตียนด้วย. และครอบคลุมกระทั่งการใช้ความพยายามจะสนับสนุนและช่วยคริสเตียนพี่น้องชายหญิงทางด้านวิญญาณและด้านวัตถุ เพื่อจะคงอยู่ในงานรับใช้พระยะโฮวาต่อ ๆ ไป. ทั้งนี้รวมไปถึงงานของคณะกรรมการประสานงานกับโรงพยาบาล. งานรับใช้ทุกรูปแบบที่เบเธล รวมทั้งอาสาสมัครทำงาน ณ การประชุมใหญ่ของเรา ล้วนเป็นการรับใช้อันศักดิ์สิทธิ์ทั้งสิ้น. อันที่จริง เมื่อชีวิตของเราเกี่ยวข้องอย่างใกล้ชิดกับความสัมพันธ์ระหว่างตัวเรากับพระยะโฮวา ชีวิตของเราย่อมเต็มไปด้วยการรับใช้อันศักดิ์สิทธิ์. ดังแจ้งในคัมภีร์ข้อนั้น ไพร่พลของพระยะโฮวาถวาย “การรับใช้อันศักดิ์สิทธิ์ทั้งวันทั้งคืน” และเขามีความยินดีมากมายเมื่อกระทำเช่นนั้น.—กิจการ 20:35; 1 ติโมเธียว 1:11.
‘จากชาติ, ตระกูล, ชนชาติ, และภาษาทั้งปวง’
16. เป็นจริงอย่างไรที่ว่าชนฝูงใหญ่มา “จากทุกชาติ”?
16 คนเหล่านั้นแห่งชนฝูงใหญ่มาจากชนชาติทั้งปวง. พระเจ้าไม่ทรงเลือกที่รักมักที่ชัง และการจัดเตรียมค่าไถ่โดยทางพระเยซูคริสต์ก็เป็นประโยชน์มากพอสำหรับพวกเขาทุกคน. ในปี 1935 เมื่อชนฝูงใหญ่ได้รับการระบุตัวครั้งแรกโดยถูกต้องตามพระคัมภีร์นั้น พยานพระยะโฮวาทำงานอยู่ใน 115 ดินแดน. ครั้นมาในทศวรรษปี 1990 การเสาะหาคนเยี่ยงแกะได้แผ่ขยายไปถึงหลายดินแดนมากกว่าเดิมสองเท่าตัว.—มาระโก 13:10.
17. ได้มีการทำอะไรไปแล้วที่จะช่วย “ตระกูล, ชนชาติ, และภาษาทั้งปวง” เข้ามารวมกับชนฝูงใหญ่?
17 ในการเสาะหาคนที่จะเข้ามาเป็นชนฝูงใหญ่นั้น พยานพระยะโฮวาจึงได้ให้ความสนใจไม่เฉพาะต่อกลุ่มเชื้อชาติ แต่ใส่ใจเผ่าและชนชาติและภาษาต่าง ๆ ในประเทศเหล่านั้นด้วย. เพื่อจะเข้าถึงผู้คนดังกล่าว เหล่าพยานฯจัดพิมพ์สรรพหนังสือด้านคัมภีร์ไบเบิลมากกว่า 300 ภาษา. ทั้งนี้เกี่ยวข้องกับการฝึกอบรมและรวบรวมทีมงานผู้แปลที่มีคุณวุฒิ, การจัดหาเครื่องคอมพิวเตอร์เพื่อจะสามารถดำเนินงานการแปลด้านภาษาเหล่านี้ทั้งหมด และรวมทั้งการพิมพ์จริง ๆ. ชั่วระยะห้าปีที่ผ่านไป การแปลภาษาต่าง ๆ ได้เพิ่มขึ้นอีก 36 ภาษา ซึ่งเป็นภาษาที่พูดกันท่ามกลางประชาชนมากกว่า 98,000,000 คน. นอกจากนี้ เหล่าพยานฯเพียรพยายามไปเยี่ยมผู้คนเหล่านี้เป็นส่วนตัว เพื่อช่วยเขาให้เข้าใจพระคำของพระเจ้า.—มัดธาย 28:19, 20.
“ออกมาจากความทุกข์ลำบากครั้งใหญ่”
18. (ก) เมื่อความทุกข์ลำบากครั้งใหญ่เริ่มขึ้น ใครจะได้รับการปกป้องให้พ้นภัย? (ข) ครั้นแล้วจะมีการประกาศด้วยความยินดีในเรื่องอะไร?
18 เมื่อพวกทูตสวรรค์ปล่อยลมที่ยังความพินาศตามที่กล่าวไว้ในวิวรณ์ 7:1 (ล.ม.) ไม่เพียงแต่ “ทาสทั้งหลายของพระเจ้าของเรา” ที่ได้รับการเจิมเท่านั้น แต่ชนฝูงใหญ่ซึ่งสมทบกับพวกเขาในการนมัสการแท้ก็จะประสบการพิทักษ์คุ้มครองด้วยความรักของพระยะโฮวาเช่นกัน. ดังที่อัครสาวกโยฮันได้รับทราบ คนเหล่านั้นแห่งชนฝูงใหญ่จะ “ออกมาจากความทุกข์ลำบากครั้งใหญ่” ฐานะผู้รอดชีวิต. คราวนั้นพวกเขาจะเปล่งเสียงร้องขอบพระคุณและสรรเสริญดังขนาดไหนขณะที่เขาประกาศว่า “ความรอดนั้นเราได้เนื่องมาจากพระเจ้าของเราผู้ประทับบนราชบัลลังก์ และเนื่องมาจากพระเมษโปดก”! และบรรดาผู้รับใช้ที่ซื่อสัตย์ภักดีของพระเจ้าในสวรรค์จะร่วมกับชนฝูงใหญ่ประกาศดังนี้: “อาเมน! พระพรและสง่าราศีและสติปัญญาและการขอบพระคุณและเกียรติยศและฤทธิ์เดชและกำลังจงมีแด่พระเจ้าของเราตลอดไปเป็นนิตย์. อาเมน.”—วิวรณ์ 7:10-14, ล.ม.
19. พวกที่รอดชีวิตจะเต็มใจร่วมทำกิจกรรมอะไรที่ทำให้ปีติยินดี?
19 ช่างจะเป็นเวลาที่มีความสุขปานใด! ทุกคนที่มีชีวิตอยู่จะเป็นผู้รับใช้ของพระเจ้าเที่ยงแท้แต่องค์เดียว! ความยินดีอย่างใหญ่หลวงของคนเหล่านี้ทุกคนจะอยู่ที่การรับใช้พระยะโฮวา. จะมีงานมากมายที่ต้องทำให้สำเร็จ—งานที่ก่อความชื่นชมยินดี! พิภพนี้จะเปลี่ยนสภาพเป็นอุทยาน. จะมีการปลุกคนตายหลายพันล้านขึ้นมาสู่ชีวิต แล้วรับการสอนให้รู้แนวทางทั้งปวงของพระยะโฮวา. นับว่าเป็นสิทธิพิเศษอันน่าชื่นชมเสียจริง ๆ ที่จะมีส่วนร่วมในการงานดังกล่าว!
คุณมีความเห็นอย่างไร?
▫ เหตุการณ์ในปี 1935 มีผลกระทบเช่นไรต่องานประกาศของพยานพระยะโฮวา?
▫ ข้อเท็จจริงที่ว่า ชนฝูงใหญ่ได้ “ยืนอยู่ต่อหน้าราชบัลลังก์” บ่งชี้ถึงอะไร?
▫ การหยั่งรู้ค่าพระโลหิตของพระเมษโปดกควรมีผลกระทบวิถีชีวิตของเราอย่างไร?
▫ การโบกทางปาล์มของพวกเขามีความหมายว่าอย่างไร?
▫ ชนฝูงใหญ่ถวายการรับใช้อันศักดิ์สิทธิ์ทั้งวันทั้งคืนอย่างไร?
[รูปภาพหน้า 16, 17]
การรับใช้อันศักดิ์สิทธิ์ของเขาสะท้อนให้เห็นความสม่ำเสมอ, ความขยันหมั่นเพียร,และความบากบั่นอย่างจริงจัง