บทความศึกษา 45
เห็นค่าสิทธิพิเศษที่ได้นมัสการในวิหารโดยนัยของพระยะโฮวา
“ให้ทุกคนนมัสการพระองค์ผู้สร้างฟ้า [และ] โลก”—วว. 14:7
เพลง 93 ขออวยพรเมื่อเราประชุมกัน
ใจความสำคัญa
1. ทูตสวรรค์องค์หนึ่งกำลังพูดอะไร? และนี่ทำให้เรารู้สึกยังไง?
ถ้าทูตสวรรค์มาพูดกับคุณ คุณจะฟังสิ่งที่เขาพูดไหม? ทุกวันนี้ทูตสวรรค์กำลังพูด “กับทุกประเทศ ทุกตระกูล ทุกภาษา และทุกชนชาติ” แล้วเขากำลังพูดอะไร? เขาพูดว่า “ให้เกรงกลัวพระเจ้าและยกย่องสรรเสริญพระองค์ . . . ให้ทุกคนนมัสการพระองค์ผู้สร้างฟ้า [และ] โลก” (วว. 14:6, 7) พระยะโฮวาเป็นพระเจ้าเที่ยงแท้องค์เดียวที่ทุกคนควรนมัสการ เรารู้สึกขอบคุณพระองค์มากที่ให้เรามีโอกาสนมัสการในวิหารโดยนัยที่ยิ่งใหญ่ของพระองค์
2. วิหารโดยนัยของพระยะโฮวาคืออะไร? (ดูกรอบ “วิหารโดยนัยไม่ได้หมายถึงอะไร?” ด้วย)
2 วิหารโดยนัยหมายถึงอะไร? แล้วเราจะหาคำอธิบายเกี่ยวกับเรื่องนี้ได้จากที่ไหน? วิหารโดยนัยไม่ใช่อาคารจริง ๆ ที่มีอยู่บนโลก แต่เป็นการจัดเตรียมของพระยะโฮวาที่ช่วยให้เราสามารถนมัสการพระองค์ในแบบที่พระองค์ยอมรับโดยอาศัยค่าไถ่ของพระเยซู อัครสาวกเปาโลอธิบายเกี่ยวกับเรื่องนี้ในจดหมายที่เขาเขียนถึงคริสเตียนชาวฮีบรูที่อาศัยอยู่ในยูเดียb
3-4. มีเรื่องอะไรบ้างที่ทำให้เปาโลเป็นห่วงคริสเตียนในยูเดีย? และเขาช่วยพี่น้องเหล่านั้นยังไง?
3 ทำไมเปาโลถึงเขียนจดหมายถึงคริสเตียนชาวฮีบรูในยูเดีย? ดูเหมือนมีเหตุผล 2 อย่าง เหตุผลแรกก็คือเขาอยากให้กำลังใจคริสเตียนเหล่านั้น พวกเขาส่วนใหญ่โตมาในครอบครัวที่นับถือศาสนายิว พวกหัวหน้าศาสนายิวเลยอาจเยาะเย้ยที่พวกเขาเข้ามาเป็นคริสเตียน แล้วทำไมคริสเตียนถึงถูกเยาะเย้ย? ก็เพราะว่าพวกเขาไม่มีวิหารที่จะไปนมัสการ ไม่มีแท่นบูชาที่จะถวายสัตว์เป็นเครื่องบูชา และไม่มีปุโรหิต นี่เลยอาจทำให้คริสเตียนเหล่านั้นท้อใจและความเชื่ออ่อนลง (ฮบ. 2:1; 3:12, 14) และบางคนอาจถึงกับคิดว่าจะกลับไปนับถือศาสนายิวอีก
4 เหตุผลที่ 2 เปาโลบอกว่าคริสเตียนชาวยิวไม่ได้พยายามเข้าใจคำสอนใหม่หรือคำสอนที่ลึกซึ้งในคัมภีร์ไบเบิลซึ่งเป็น “อาหารแข็ง” (ฮบ. 5:11-14) ดูเหมือนว่าบางคนยังทำตามกฎหมายของโมเสสอยู่ด้วยซ้ำ แต่เปาโลอธิบายว่าเครื่องบูชาที่ต้องถวายตามกฎหมายของโมเสสไม่มีทางขจัดบาปได้หมด กฎหมายของโมเสสก็เลย “ถูกยกเลิกไป” จากนั้นเปาโลสอนคริสเตียนเหล่านี้เกี่ยวกับคำสอนที่ลึกซึ้ง เปาโลเตือนพวกเขาให้นึกถึง “ความหวังที่ดีกว่า” ซึ่งเป็นจริงได้โดยเครื่องบูชาไถ่ของพระเยซู และนั่นจะช่วยให้พวกเขา “ใกล้ชิดพระเจ้า” ได้จริง ๆ—ฮบ. 7:18, 19
5. เราต้องเข้าใจเรื่องอะไรในหนังสือฮีบรู? และทำไมเราต้องเข้าใจเรื่องนี้?
5 เปาโลอธิบายกับคริสเตียนชาวฮีบรูว่าทำไมการนมัสการของคริสเตียนถึงเหนือกว่าการนมัสการของชาวยิว การนมัสการของชาวยิวตามกฎหมายของโมเสส “เป็นแค่เงาของสิ่งที่จะมีมา แต่ของจริงมาทางพระคริสต์” (คส. 2:17) เงาคือเค้าโครงของวัตถุ แต่ไม่ใช่วัตถุนั้นจริง ๆ การนมัสการของชาวยิวในสมัยโบราณก็เลยเป็นแค่เงาของการนมัสการของคริสเตียน เราต้องเข้าใจเรื่องการจัดเตรียมของพระยะโฮวาที่ช่วยให้เราได้รับการอภัยบาปเพื่อที่เราจะนมัสการพระองค์ในแบบที่พระองค์ยอมรับ ให้เรามาเปรียบเทียบระหว่าง “เงา” (การนมัสการของชาวยิวในสมัยโบราณ) กับ “ของจริง” (การนมัสการของคริสเตียน) ที่พูดถึงในหนังสือฮีบรู การทำอย่างนี้จะช่วยให้เราเข้าใจวิหารโดยนัยดีขึ้นและรู้ว่าเรื่องนี้เกี่ยวกับเรายังไง
เต็นท์ศักดิ์สิทธิ์
6. มีการใช้เต็นท์ศักดิ์สิทธิ์สำหรับอะไร?
6 การนมัสการของชาวยิวในสมัยโบราณ เปาโลพูดถึงเต็นท์ศักดิ์สิทธิ์ที่ถูกสร้างขึ้นในสมัยของโมเสสในปี 1512 ก่อน ค.ศ. (ดูภาพ “การนมัสการของชาวยิวในสมัยโบราณกับการนมัสการของคริสเตียน”) เต็นท์ศักดิ์สิทธิ์หรือที่เรียกอีกอย่างหนึ่งว่า “เต็นท์เข้าเฝ้า” เป็นศูนย์กลางการนมัสการของชาวอิสราเอลที่พวกเขาจะไปอธิษฐานถึงพระยะโฮวาและถวายเครื่องบูชาให้พระองค์ (อพย. 29:43-46) ไม่ว่าชาวอิสราเอลจะไปที่ไหนพวกเขาจะขนย้ายเต็นท์ศักดิ์สิทธิ์ไปด้วย พวกเขาใช้เต็นท์นี้เกือบ 500 ปีจนถึงตอนที่พวกเขาสร้างวิหารที่กรุงเยรูซาเล็ม (อพย. 25:8, 9; กดว. 9:22) เต็นท์ศักดิ์สิทธิ์นี้เป็นภาพแสดงถึงสิ่งที่ดีกว่าที่พระยะโฮวาได้จัดเตรียมไว้สำหรับคริสเตียน
7. วิหารโดยนัยเริ่มมีตั้งแต่เมื่อไหร่?
7 การนมัสการของคริสเตียน เต็นท์ศักดิ์สิทธิ์ในสมัยโบราณ “เป็นเงาของสิ่งที่อยู่ในสวรรค์” และเป็นภาพแสดงถึงวิหารโดยนัยที่ยิ่งใหญ่ของพระยะโฮวา เปาโลบอกว่า “เต็นท์นี้เป็นภาพแสดงถึงสิ่งที่ทำกันอยู่ตอนนี้” (ฮบ. 8:5; 9:9) ดังนั้น ตอนที่เปาโลเขียนถึงคริสเตียนชาวยิว วิหารโดยนัยก็มีอยู่แล้ว วิหารโดยนัยนี้เริ่มมีในปี ค.ศ. 29 ซึ่งปีนั้นเป็นปีที่พระเยซูรับบัพติศมาและได้รับการเจิมด้วยพลังบริสุทธิ์ และเริ่มรับใช้เป็น “มหาปุโรหิตที่ยิ่งใหญ่” ในวิหารโดยนัยc—ฮบ. 4:14; กจ. 10:37, 38
มหาปุโรหิต
8-9. อย่างที่บอกไว้ในฮีบรู 7:23-27 มหาปุโรหิตของชาวอิสราเอลต่างกันยังไงกับพระเยซูซึ่งเป็นมหาปุโรหิตที่ยิ่งใหญ่?
8 การนมัสการของชาวยิวในสมัยโบราณ มหาปุโรหิตทำหน้าที่เป็นตัวแทนประชาชนเพื่อเข้าเฝ้าพระเจ้า มหาปุโรหิตคนแรกคืออาโรน เขาได้รับการแต่งตั้งจากพระยะโฮวาตอนที่มีการอุทิศเต็นท์ศักดิ์สิทธิ์ แต่อย่างที่เปาโลอธิบายไว้ว่า “ต้องมีหลายคนทำหน้าที่ปุโรหิตสืบต่อกัน เพราะพวกเขาต้องตายและทำหน้าที่ต่อไปไม่ได้”d (อ่านฮีบรู 7:23-27) นอกจากนั้น เนื่องจากมหาปุโรหิตของชาวอิสราเอลเป็นมนุษย์ไม่สมบูรณ์แบบ พวกเขาเลยต้องถวายเครื่องบูชาสำหรับบาปของตัวเองด้วย มหาปุโรหิตของชาวอิสราเอลต่างกันมากจริง ๆ กับพระเยซูซึ่งเป็นมหาปุโรหิตที่ยิ่งใหญ่
9 การนมัสการของคริสเตียน พระเยซูมหาปุโรหิตของเราเป็น “ผู้รับใช้ . . . ในเต็นท์เข้าเฝ้าที่แท้จริงซึ่งพระยะโฮวาตั้งไว้ ไม่ใช่มนุษย์” (ฮบ. 8:1, 2) เปาโลอธิบายว่า “พระเยซูทำหน้าที่ปุโรหิตโดยไม่ต้องมีผู้สืบทอด เพราะท่านมีชีวิตอยู่ตลอดไป” เปาโลยังบอกอีกว่า พระเยซู “บริสุทธิ์ แตกต่างกับคนบาป” ท่านไม่เหมือนกับมหาปุโรหิตของชาวอิสราเอลที่ต้อง “ถวายเครื่องบูชาทุก ๆ วัน สำหรับบาปของตัวเอง . . . แต่พระเยซูไม่ต้องทำอย่างนั้น” ต่อไปเราจะมาดูความแตกต่างระหว่างการนมัสการของชาวยิวในสมัยโบราณกับการนมัสการของคริสเตียนในเรื่องแท่นบูชาและเครื่องบูชา
แท่นบูชาและเครื่องบูชา
10. เครื่องบูชาที่อยู่บนแท่นทองแดงเป็นภาพแสดงถึงอะไร?
10 การนมัสการของชาวยิวในสมัยโบราณ แท่นบูชาทองแดงตั้งอยู่ด้านหน้าทางเข้าเต็นท์ศักดิ์สิทธิ์ และมีการถวายสัตว์เป็นเครื่องบูชาให้พระยะโฮวาบนแท่นนี้ (อพย. 27:1, 2; 40:29) แต่เครื่องบูชาเหล่านี้ไม่สามารถช่วยให้มนุษย์ได้รับการอภัยบาปได้อย่างครบถ้วน (ฮบ. 10:1-4) เครื่องบูชาที่เป็นสัตว์ซึ่งต้องถวายอย่างต่อเนื่องที่เต็นท์ศักดิ์สิทธิ์เป็นภาพแสดงถึงเครื่องบูชาอย่างหนึ่งที่สามารถไถ่บาปได้อย่างครบถ้วน
11. แท่นบูชาที่พระเยซูถวายตัวเองเป็นเครื่องบูชาหมายถึงอะไร? (ฮีบรู 10:5-7, 10)
11 การนมัสการของคริสเตียน พระเยซูรู้ว่าพระยะโฮวาส่งท่านมาบนโลกเพื่อสละชีวิตเป็นค่าไถ่ให้กับมนุษย์ (มธ. 20:28) ดังนั้น ตอนที่พระเยซูรับบัพติศมา ท่านเสนอตัวเองเพื่อทำตามความประสงค์ของพระองค์ (ยน. 6:38; กท. 1:4) แท่นบูชาที่พระเยซูถวายตัวเองเป็นเครื่องบูชาหมายถึง “ความประสงค์” ของพระยะโฮวา ซึ่งก็คือพระองค์อยากให้ท่านสละชีวิตมนุษย์สมบูรณ์ พระเยซูสละชีวิต “แค่ครั้งเดียว” แต่สามารถไถ่บาปและปิดคลุมบาปของมนุษย์ทุกคนที่แสดงความเชื่อในท่านได้ตลอดไป (อ่านฮีบรู 10:5-7, 10) ต่อไปเราจะมาดูว่าส่วนต่าง ๆ ในเต็นท์ศักดิ์สิทธิ์หมายถึงอะไร
ห้องบริสุทธิ์และห้องบริสุทธิ์ที่สุด
12. ใครสามารถเข้าไปในห้องที่อยู่ในเต็นท์ศักดิ์สิทธิ์ได้บ้าง?
12 การนมัสการของชาวยิวในสมัยโบราณ ด้านในของเต็นท์ศักดิ์สิทธิ์และวิหารในกรุงเยรูซาเล็มมีลักษณะคล้ายกัน ข้างในนั้นมีห้อง 2 ห้องคือ “ห้องบริสุทธิ์” กับ “ห้องบริสุทธิ์ที่สุด” และมีม่านกั้นระหว่าง 2 ห้องนี้เอาไว้ (ฮบ. 9:2-5; อพย. 26:31-33) ในห้องบริสุทธิ์มีเชิงตะเกียงทองคำ แท่นเผาบูชาเครื่องหอม และโต๊ะตั้งขนมปังถวาย เฉพาะคนที่ “ได้รับการเจิมและแต่งตั้งให้ทำหน้าที่ปุโรหิต” เท่านั้นถึงจะเข้าไปทำงานรับใช้ในห้องนี้ได้ (กดว. 3:3, 7, 10) ในห้องบริสุทธิ์ที่สุดมีหีบสัญญาที่หุ้มด้วยทองคำซึ่งแสดงว่าพระยะโฮวาอยู่ที่นั่น (อพย. 25:21, 22) เฉพาะมหาปุโรหิตเท่านั้นที่จะสามารถเดินผ่านม่านเข้าไปในห้องบริสุทธิ์ที่สุดได้ในวันไถ่บาปประจำปี ซึ่งเขาจะเอาเลือดสัตว์เข้าไปในห้องนั้นเพื่อไถ่บาปให้ตัวเองและคนทั้งชาติทุก ๆ ปี (ลนต. 16:2, 17) ในที่สุดพระยะโฮวาก็เปิดเผยผ่านทางพลังบริสุทธิ์ว่าทั้ง 2 ห้องนี้เป็นภาพแสดงถึงอะไร—ฮบ. 9:6-8e
13. ห้องบริสุทธิ์และห้องบริสุทธิ์ที่สุดเป็นภาพแสดงถึงอะไร?
13 การนมัสการของคริสเตียน มีสาวกของพระเยซูจำนวน 144,000 คนที่ถูกเจิมด้วยพลังบริสุทธิ์และได้มีสายสัมพันธ์ที่พิเศษกับพระยะโฮวา พวกเขาจะรับใช้เป็นปุโรหิตร่วมกับพระเยซูในสวรรค์ (วว. 1:6; 14:1) ห้องบริสุทธิ์ในเต็นท์ศักดิ์สิทธิ์เป็นภาพแสดงถึงการที่ผู้ถูกเจิมถูกรับเป็นลูกของพระเจ้าตอนที่พวกเขายังมีชีวิตอยู่บนโลก (รม. 8:15-17) ส่วนห้องบริสุทธิ์ที่สุดเป็นภาพแสดงถึงสวรรค์ซึ่งเป็นที่อยู่ของพระยะโฮวา “ม่าน” ที่กั้นระหว่างห้องบริสุทธิ์กับห้องบริสุทธิ์ที่สุดเป็นภาพแสดงถึงร่างกายที่เป็นมนุษย์ของพระเยซู ซึ่งถ้าท่านยังมีร่างกายแบบนี้อยู่ ท่านก็ไม่สามารถไปสวรรค์เพื่อไปทำหน้าที่มหาปุโรหิตที่ยิ่งใหญ่ในวิหารโดยนัยได้ ท่านเลยต้องสละร่างกายของท่าน นอกจากนั้น การทำอย่างนี้ยังเปิดโอกาสให้ผู้ถูกเจิมทุกคนขึ้นไปสวรรค์ได้ แต่พวกเขาก็ต้องสละร่างกายที่เป็นมนุษย์ด้วยเพื่อจะได้รับรางวัลในสวรรค์ (ฮบ. 10:19, 20; 1 คร. 15:50) หลังจากที่พระเยซูฟื้นขึ้นจากตาย ท่านเข้าไปในห้องบริสุทธิ์ที่สุดของวิหารโดยนัย ซึ่งในที่สุดผู้ถูกเจิมทุกคนก็จะเข้าไปที่นั่นด้วย
14. อย่างที่บอกไว้ในฮีบรู 9:12, 24-26 อะไรทำให้การจัดเตรียมของพระยะโฮวาในเรื่องวิหารโดยนัยเหนือกว่าจริง ๆ?
14 เราเห็นชัดเลยว่าการจัดเตรียมของพระยะโฮวาที่ช่วยให้เรานมัสการพระองค์ในแบบที่พระองค์ยอมรับโดยอาศัยค่าไถ่และการทำหน้าที่ปุโรหิตของพระเยซูเป็นเรื่องที่เหนือกว่าการนมัสการของชาวยิวจริง ๆ มหาปุโรหิตของชาวอิสราเอลเอาเลือดสัตว์เข้าไปในห้องบริสุทธิ์ที่สุดเพื่อถวายเป็นเครื่องบูชา แต่พระเยซู “เข้าไปในสวรรค์” ซึ่งเป็นที่บริสุทธิ์ที่สุดและอยู่ต่อหน้าพระยะโฮวา ท่านเอาสิทธิ์ของท่านในการเป็นมนุษย์สมบูรณ์แบบบนโลกมอบให้พระองค์ “เพื่อกำจัดบาปตลอดไปโดยถวายตัวท่านเองเป็นเครื่องบูชา” สำหรับเรา (อ่านฮีบรู 9:12, 24-26) เครื่องบูชาของพระเยซูจึงเป็นเครื่องบูชาที่ดีที่สุดเพราะสามารถกำจัดบาปได้ตลอดไป เรื่องต่อไปที่เราจะเรียนคือ เราทุกคนสามารถนมัสการพระยะโฮวาในวิหารโดยนัยได้ไม่ว่าเราจะมีความหวังที่จะไปสวรรค์หรืออยู่บนโลก
ลานชั้นในกับลานชั้นนอก
15. ใครรับใช้ที่ลานเต็นท์ศักดิ์สิทธิ์?
15 การนมัสการของชาวยิวในสมัยโบราณ ลานเต็นท์ศักดิ์สิทธิ์เป็นพื้นที่โล่งที่มีรั้วกั้น และมีแต่พวกปุโรหิตเท่านั้นที่จะทำงานรับใช้ที่นี่ ในลานนั้นมีแท่นบูชาทองแดงสำหรับเครื่องบูชาเผา และมีอ่างทองแดงที่พวกปุโรหิตใช้เพื่อล้างมือล้างเท้าก่อนจะทำงานรับใช้ที่ศักดิ์สิทธิ์ (อพย. 30:17-20; 40:6-8) และต่อมาเมื่อมีการสร้างวิหารก็มีลานชั้นนอกด้วยซึ่งเป็นที่ที่คนที่ไม่ใช่ปุโรหิตจะมานมัสการพระเจ้าได้
16. ใครรับใช้ในลานชั้นในและใครรับใช้ในลานชั้นนอกของวิหารโดยนัย?
16 การนมัสการของคริสเตียน ก่อนที่ผู้ถูกเจิมจะขึ้นไปเป็นปุโรหิตกับพระเยซูในสวรรค์ พวกเขารับใช้อย่างซื่อสัตย์บนโลกในลานชั้นในของวิหารโดยนัย อ่างขนาดใหญ่ที่อยู่ในเต็นท์ศักดิ์สิทธิ์กับวิหารเตือนใจพวกเขาและคริสเตียนทุกคนว่าต้องรักษาความสะอาดด้านศีลธรรมและด้านความเชื่ออยู่เสมอ แล้ว “ชนฝูงใหญ่” ที่สนับสนุนผู้ถูกเจิมล่ะ พวกเขานมัสการพระเจ้าที่ไหน? อัครสาวกยอห์นเห็นพวกเขา “ยืนอยู่หน้าบัลลังก์ . . . และทำงานรับใช้ที่ศักดิ์สิทธิ์ให้ [พระเจ้า] ทั้งวันทั้งคืนในวิหารของพระองค์” ดังนั้น ชนฝูงใหญ่นมัสการพระเจ้าบนโลกในลานชั้นนอกของวิหารโดยนัย (วว. 7:9, 13-15) เราเห็นค่าจริง ๆ ที่พระยะโฮวาให้เราได้มีโอกาสนมัสการพระองค์ในวิหารโดยนัยที่ยิ่งใหญ่
เรามีสิทธิพิเศษที่ได้นมัสการพระยะโฮวา
17. เรามีสิทธิพิเศษได้ถวายเครื่องบูชาอะไรให้พระยะโฮวา?
17 คริสเตียนในทุกวันนี้มีสิทธิพิเศษที่ได้ถวายเครื่องบูชาให้พระยะโฮวาโดยใช้เวลา กำลัง และทรัพย์สินเงินทองเพื่อรัฐบาลของพระเจ้า และเหมือนกับที่เปาโลบอกคริสเตียนชาวฮีบรู เราสามารถ “ถวายเครื่องบูชา . . . เสมอซึ่งก็คือคำสรรเสริญพระเจ้า เป็นคำพูดที่ออกจากปากเราซึ่งประกาศชื่อของพระองค์อย่างเปิดเผย” (ฮบ. 13:15) เราสามารถแสดงว่าเห็นค่าสิทธิพิเศษที่ได้นมัสการพระยะโฮวาโดยทำทุกอย่างที่ทำได้ให้พระองค์
18. อย่างที่บอกไว้ในฮีบรู 10:22-25 เราต้องทำอะไรเสมอ? และเราต้องไม่ลืมอะไร?
18 อ่านฮีบรู 10:22-25 ในตอนท้ายของจดหมายที่เปาโลเขียนถึงคริสเตียนชาวฮีบรู เขาพูดถึงบางอย่างที่เราต้องทำเสมอในการนมัสการพระยะโฮวา สิ่งเหล่านี้คือการอธิษฐานถึงพระยะโฮวา ประกาศกับคนอื่น ไปประชุม ให้กำลังใจกัน “และทำสิ่งเหล่านี้ให้มากขึ้นเมื่อเห็นว่า [วันของพระยะโฮวา] ใกล้มาถึงแล้ว” นี่เป็นเรื่องสำคัญมาก เราเห็นได้จากตอนท้ายของหนังสือวิวรณ์ที่ทูตสวรรค์ของพระยะโฮวาพูดถึงสองครั้งว่า “นมัสการพระเจ้าเถอะ” (วว. 19:10; 22:9) ขอเราอย่าลืมความจริงที่ลึกซึ้งเกี่ยวกับวิหารโดยนัยที่ยิ่งใหญ่ของพระยะโฮวา และขอให้เราเห็นค่าสิทธิพิเศษที่ได้นมัสการพระเจ้าที่ยิ่งใหญ่ของเรา
เพลง 88 โปรดสอนให้รู้จักแนวทางของพระองค์
a คำสอนที่ลึกซึ้งอย่างหนึ่งในคัมภีร์ไบเบิลคือเรื่องวิหารโดยนัยที่ยิ่งใหญ่ของพระยะโฮวา วิหารนี้คืออะไร? บทความนี้จะพูดถึงรายละเอียดเกี่ยวกับวิหารโดยนัยที่อยู่ในหนังสือฮีบรูและจะช่วยให้คุณเห็นค่าสิทธิพิเศษที่ได้นมัสการพระยะโฮวา
b เพื่อจะรู้ว่าหนังสือฮีบรูพูดถึงเรื่องอะไรบ้าง ให้ดูวีดีโอบทนำของหนังสือฮีบรู ในเว็บไซต์ jw.org
c หนังสือฮีบรูเป็นหนังสือเล่มเดียวในพระคัมภีร์คริสเตียนภาคภาษากรีกที่พูดถึงพระเยซูว่าเป็นมหาปุโรหิต
d แหล่งอ้างอิงหนึ่งบอกว่าอาจมีมหาปุโรหิตทำหน้าที่สืบต่อกันถึง 84 คนจนถึงตอนที่วิหารในกรุงเยรูซาเล็มถูกทำลายในปี ค.ศ. 70
e เพื่อจะเข้าใจความหมายของสิ่งที่มหาปุโรหิตทำในวันไถ่โทษ ดูวีดีโอเรื่องเต็นท์ศักดิ์สิทธิ์ (ภาษาอังกฤษ) ในเว็บไซต์ jw.org
g ดูกรอบ “วิธีที่พระวิญญาณเปิดเผยความหมายของพระวิหารฝ่ายวิญญาณ” ในหอสังเกตการณ์ 15 กรกฎาคม 2010 หน้า 22