พระคำของพระยะโฮวามีชีวิต
จุดเด่นจากหนังสือวิวรณ์—ตอนที่สอง
มีอะไรรออยู่สำหรับคนที่นมัสการพระยะโฮวาพระเจ้าและสำหรับคนที่ไม่ได้นมัสการพระองค์? อนาคตของซาตานและพวกปิศาจจะเป็นอย่างไร? มนุษย์ที่เชื่อฟังจะได้รับพระพรอะไรบ้างในช่วงรัชสมัยพันปีของพระคริสต์? คำตอบสำหรับคำถามเหล่านี้และคำถามสำคัญอื่น ๆ มีเปิดเผยให้ทราบในวิวรณ์ 13:1–22:21.a บทเหล่านี้มีเนื้อความที่เป็นนิมิต 9 นิมิตสุดท้ายจากทั้งหมด 16 นิมิตที่อัครสาวกโยฮันได้รับเมื่อใกล้จะสิ้นสุดศตวรรษแรก.
โยฮันเขียนว่า “ผู้ที่อ่านออกเสียงและคนเหล่านั้นที่ได้ยินถ้อยคำในคำพยากรณ์นี้และทำตามสิ่งที่เขียนไว้ในคำพยากรณ์นี้ก็มีความสุข.” (วิ. 1:3; 22:7) การอ่านและใช้สิ่งที่เราเรียนจากหนังสือวิวรณ์อาจส่งผลกระทบต่อแรงกระตุ้นในหัวใจเรา, ทำให้ความเชื่อของเราในพระเจ้าและพระเยซูคริสต์ พระบุตรเข้มแข็งยิ่งขึ้น, และทำให้เรามีความหวังที่สดใสสำหรับอนาคต.b—ฮีบรู 4:12.
มีการเทขันแห่งพระพิโรธของพระเจ้าทั้งเจ็ดใบ
วิวรณ์ 11:18 กล่าวว่า “ชาติต่าง ๆ พากันโกรธแค้น และ [พระเจ้า] ก็ทรงพระพิโรธ และเวลาที่กำหนดไว้ . . . สำหรับการทำลายคนเหล่านั้นที่ทำลายแผ่นดินโลกก็มาถึงแล้ว.” เพื่อแสดงเหตุผลที่พระเจ้าทรงพระพิโรธอย่างนั้น นิมิตที่แปดบอกเกี่ยวกับกิจกรรมของ “สัตว์ร้ายตัวหนึ่ง . . . มีเขาสิบเขากับหัวเจ็ดหัว.”—วิ. 13:1.
ในนิมิตที่เก้า โยฮันเห็น “พระเมษโปดกทรงยืนอยู่บนภูเขาซีโอน และมีคนหนึ่งแสนสี่หมื่นสี่พันคนอยู่กับพระองค์.” คนเหล่านี้ “ถูกซื้อจากท่ามกลางมนุษย์.” (วิ. 14:1, 4) ต่อจากนั้นก็มีการประกาศจากทูตสวรรค์. ในนิมิตถัดไป โยฮันเห็น “ทูตสวรรค์เจ็ดองค์กับภัยพิบัติเจ็ดอย่าง.” เห็นได้ชัดว่า เป็นพระยะโฮวาเองที่ทรงบัญชาทูตสวรรค์เหล่านี้ให้เท “ขันแห่งพระพิโรธของพระเจ้าทั้งเจ็ดใบ” ลงบนส่วนต่าง ๆ ของโลกซาตาน. ขันเหล่านี้บรรจุคำประกาศและคำเตือนเกี่ยวกับการพิพากษาที่พระเจ้าจะทรงดำเนินการ. (วิ. 15:1; 16:1) นิมิตทั้งสองนี้ให้รายละเอียดเพิ่มเติมเกี่ยวกับการพิพากษาของราชอาณาจักรซึ่งเกี่ยวข้องกับภัยพิบัติที่สามและการเป่าแตรตัวที่เจ็ด.—วิ. 11:14, 15.
คำตอบสำหรับคำถามเกี่ยวกับข้อคัมภีร์:
13:8—“ม้วนหนังสือแห่งชีวิตของพระเมษโปดก” คืออะไร? ม้วนหนังสือนี้เป็นม้วนหนังสือโดยนัยซึ่งบรรจุเฉพาะชื่อของคนที่ปกครองกับพระเยซูคริสต์ในราชอาณาจักรสวรรค์. ม้วนหนังสือนี้มีชื่อของคริสเตียนผู้ถูกเจิมที่ยังอยู่บนแผ่นดินโลกซึ่งมีความหวังจะได้รับชีวิตในสวรรค์รวมอยู่ในนั้นด้วย.
13:11-13—สัตว์ร้ายที่มีเขาสองเขาทำตัวเหมือนพญานาคและทำให้มีไฟตกจากฟ้าอย่างไร? ข้อเท็จจริงที่ว่าสัตว์ร้ายที่มีเขาสองเขา—มหาอำนาจโลกแองโกล-อเมริกัน—พูดเหมือนพญานาคแสดงว่ามันใช้การข่มขู่, การกดดัน, และความรุนแรงเพื่อบังคับผู้คนให้ยอมรับรูปแบบการปกครองของมัน. มันทำให้มีไฟตกจากฟ้าโดยที่มันสวมบทบาทผู้พยากรณ์ด้วยการอ้างว่าได้พิชิตกองกำลังอันชั่วช้าในสงครามโลกสองครั้งในศตวรรษที่ 20 และอ้างว่าได้ชัยชนะเหนือลัทธิคอมมิวนิสต์.
16:17—“อากาศ” ที่ทูตสวรรค์องค์ที่เจ็ดเทขันลงนั้นคืออะไร? “อากาศ” เป็นสัญลักษณ์ของแนวคิดแบบซาตาน “น้ำใจของโลกที่แทรกซึมอยู่ทุกหนทุกแห่งเหมือนอากาศซึ่งขณะนี้ดำเนินงานอยู่ในคนที่ไม่เชื่อฟัง.” ทุกคนที่เป็นส่วนหนึ่งของระบบชั่วของโลกซาตานสูดเอาอากาศโดยนัยที่เป็นพิษนี้.—เอเฟ. 2:2.
บทเรียนสำหรับเรา:
13:1-4, 18. “สัตว์ร้าย” ที่เป็นสัญลักษณ์ของรัฐบาลมนุษย์ขึ้น “มาจากทะเล” กล่าวคือ จากมวลหมู่ผู้คนที่ปั่นป่วนวุ่นวาย. (ยซา. 17:12, 13; ดานิ. 7:2-8, 17) สัตว์ตัวนี้ ซึ่งซาตานเป็นผู้สร้างขึ้นและให้อำนาจ มีเลขประจำตัวคือ 666 ซึ่งเน้นความไม่สมบูรณ์ของมัน. การเข้าใจว่าสัตว์ร้ายนี้คืออะไรช่วยเราไม่ให้ยกย่องและติดตามมันหรือนมัสการมันอย่างที่มนุษย์โดยทั่วไปทำ.—โย. 12:31; 15:19.
13:16, 17. แม้ว่าเราอาจประสบความยากลำบากในการทำกิจวัตรประจำวัน เช่น ‘การซื้อการขาย’ เราไม่ควรปล่อยให้ตัวเราเองถูกกดดันจนยอมให้สัตว์ร้ายครอบงำชีวิตเรา. การรับ ‘เครื่องหมายของสัตว์ร้ายที่มือหรือบนหน้าผาก’ ย่อมเท่ากับว่ายอมให้สัตว์ร้ายควบคุมการกระทำของเราหรือมีอิทธิพลต่อความคิดของเรา.
14:6, 7. การประกาศของทูตสวรรค์สอนเราว่าเราควรประกาศข่าวดีเรื่องราชอาณาจักรของพระเจ้าที่สถาปนาแล้วด้วยความสำนึกถึงความเร่งด่วน. เราควรช่วยนักศึกษาคัมภีร์ไบเบิลให้พัฒนาความเกรงกลัวอย่างเหมาะสมต่อพระเจ้าและถวายเกียรติแด่พระยะโฮวา.
14:14-20. เมื่อได้เก็บ “ผลที่จะเก็บเกี่ยวจากแผ่นดินโลก” ซึ่งได้แก่การรวบรวมคนที่จะรอดเสร็จสิ้นแล้ว ก็จะเป็นเวลาที่ทูตสวรรค์จะเกี่ยวรวบรวม “เถาองุ่นแห่งแผ่นดินโลก” และโยนลงใน “บ่อย่ำองุ่นบ่อใหญ่แห่งพระพิโรธของพระเจ้า.” จากนั้น เถาองุ่นดังกล่าว—ระบบรัฐบาลอันเสื่อมทรามที่เห็นได้ด้วยตาของซาตานซึ่งปกครองเหนือมนุษยชาติพร้อมกับ “พวงองุ่น” แห่งผลอันชั่วร้ายของมัน—ก็จะถูกทำลายตลอดกาล. เราควรตั้งใจแน่วแน่ว่าจะไม่รับอิทธิพลจากเถาองุ่นแห่งแผ่นดินโลก.
16:13-16. “ถ้อยคำที่กล่าวโดยการดลใจ . . . ที่ไม่สะอาด” เป็นสัญลักษณ์เล็งถึงการโฆษณาชวนเชื่อของพวกปิศาจซึ่งมีจุดมุ่งหมายคือเพื่อให้แน่ใจว่ากษัตริย์ทั้งหลายแห่งแผ่นดินโลกจะไม่ถูกโน้มนำจากการเทขันทั้งเจ็ดแห่งพระพิโรธของพระเจ้า แต่จะถูกควบคุมให้ต่อต้านพระยะโฮวาแทน.—มัด. 24:42, 44.
16:21. เมื่อใกล้จะถึงอวสานของโลกนี้ การประกาศการพิพากษาของพระยะโฮวาต่อระบบชั่วของซาตานอาจรวมถึงการประกาศการพิพากษาของพระเจ้าด้วยถ้อยคำที่หนักแน่นตรงไปตรงมาเป็นพิเศษ ซึ่งคงเปรียบได้กับน้ำที่แข็งตัวเป็นลูกเห็บ. ถึงกระนั้น มนุษยชาติส่วนใหญ่จะหมิ่นประมาทพระเจ้าต่อไป.
พระมหากษัตริย์ผู้มีชัยทรงปกครอง
“บาบิโลนใหญ่” จักรวรรดิโลกแห่งศาสนาเท็จ เป็นส่วนหนึ่งในโลกชั่วของซาตานที่น่ารังเกียจ. นิมิตที่ 11 แสดงภาพบาบิโลนใหญ่ว่าเป็น “หญิงแพศยาคนสำคัญ”—หญิงสำส่อน—ซึ่ง “นั่งอยู่บนสัตว์ร้ายสีแดงเข้มตัวหนึ่ง.” หญิงแพศยานี้จะถูกทำลายอย่างสิ้นเชิงโดย “เขาสิบเขา” ของสัตว์ร้ายตัวนั้นที่นางนั่งอยู่. (วิ. 17:1, 3, 5, 16) โดยเปรียบหญิงแพศยากับ “เมืองที่ใหญ่โต” นิมิตถัดจากนั้นประกาศความล่มจมของนางและเตือนประชาชนของพระเจ้าอย่างเร่งด่วนให้ “ออกมาจากเมืองนี้.” อวสานของเมืองที่ใหญ่โตนี้ทำให้คนมากมายโศกเศร้าอาลัย. อย่างไรก็ตาม มีความยินดีในสวรรค์ เพราะการ “อภิเษกสมรสของพระเมษโปดก.” (วิ. 18:4, 9, 10, 15-19; 19:7) ในนิมิตที่ 13 ผู้ขี่ “ม้าขาว” ออกไปทำสงครามกับนานาชาติ. ผู้ขี่ม้านี้นำอวสานมาสู่โลกชั่วของซาตาน.—วิ. 19:11-16.
จะว่าอย่างไรสำหรับ “งูตัวแรกเดิมนั้นผู้เป็นพญามารและซาตาน”? มันจะถูก “เหวี่ยงลงในบึงที่มีไฟ” เมื่อไร? นั่นเป็นเรื่องราวส่วนหนึ่งของนิมิตที่ 14. (วิ. 20:2, 10) นิมิตสองนิมิตสุดท้ายช่วยให้ภาพคร่าว ๆ ของชีวิตในช่วงรัชสมัยพันปี. เมื่อ “วิวรณ์” มาถึงตอนจบ โยฮันเห็น ‘แม่น้ำที่มีน้ำแห่งชีวิตไหลลงไปตามกลางถนนใหญ่’ และมีคำเชิญที่ยอดเยี่ยมไปถึง “คนที่กระหาย.”—วิ. 1:1; 22:1, 2, 17.
คำตอบสำหรับคำถามเกี่ยวกับข้อคัมภีร์:
17:16; 18:9, 10—เหตุใด “กษัตริย์ทั้งหลายแห่งแผ่นดินโลก” จึงโศกเศร้าเพราะสิ่งที่พวกเขาเองได้ล้างผลาญ? เหตุผลที่พวกเขาโศกเศร้านั้นเป็นเรื่องของความเห็นแก่ตัวโดยแท้. หลังจากบาบิโลนใหญ่ถูกทำลาย กษัตริย์ทั้งหลายแห่งแผ่นดินโลกคงตระหนักว่าเมืองนี้เคยเป็นประโยชน์แก่พวกเขามากทีเดียว. ศาสนาเท็จเคยช่วยเป็นฉากบังหน้าให้พวกเขาสามารถกระทำการกดขี่. บาบิโลนใหญ่ยังช่วยพวกเขาในการเกณฑ์คนหนุ่มเข้าสู่สมรภูมิรบ. นอกจากนั้น เมืองนี้ยังมีบทบาทสำคัญในการรักษาประชาชนให้อยู่ใต้อำนาจพวกเขา.
19:12—เพราะเหตุใดจึงไม่มีใครรู้จักพระนามที่ไม่ได้บอกไว้ของพระเยซูนอกจากพระองค์เอง? พระนามนี้ดูเหมือนว่าหมายถึงตำแหน่งและบทบาทพิเศษต่าง ๆ ที่พระเยซูได้รับในวันขององค์พระผู้เป็นเจ้า อย่างที่กล่าวถึงในยะซายา 9:6. ไม่มีใครรู้จักพระนามนี้นอกจากพระองค์เองเพราะบทบาทเหล่านี้ไม่เหมือนบทบาทอื่นใด และเฉพาะพระองค์เท่านั้นจึงจะเข้าใจได้ว่าการมีตำแหน่งสูงเช่นนั้นหมายถึงอะไร. อย่างไรก็ตาม พระเยซูทรงร่วมสิทธิพิเศษเหล่านี้บางอย่างกับสมาชิกที่อยู่ในชนชั้นเจ้าสาวของพระองค์ ราวกับ ‘ทรงเขียนพระนามใหม่นี้ของพระองค์ไว้บนตัวพวกเขา.’—วิ. 3:12.
19:14—ใครจะขี่ม้าตามพระเยซูไปในวันอาร์มาเก็ดดอน? เหล่าผู้ที่รวมอยู่ใน “กองทัพในสวรรค์” ที่ร่วมกับพระเยซูในสงครามของพระเจ้าจะได้แก่ทูตสวรรค์ทั้งหลาย รวมทั้งผู้ถูกเจิมที่มีชัยซึ่งได้รับรางวัลของพวกเขาที่สวรรค์แล้ว.—มัด. 25:31, 32; วิ. 2:26, 27.
20:11-15—ชื่อใครถูกเขียนไว้ใน “ม้วนหนังสือแห่งชีวิต”? ม้วนหนังสือนี้มีชื่อของทุกคนที่จะได้รับชีวิตนิรันดร์—คริสเตียนผู้ถูกเจิม, สมาชิกชนฝูงใหญ่, และผู้รับใช้ที่ซื่อสัตย์ของพระเจ้าที่จะ ‘กลับเป็นขึ้นจากตายในฐานะคนชอบธรรม.’ (กิจ. 24:15; วิ. 2:10; 7:9) คนที่จะเป็นขึ้นมาสู่ชีวิตใน ‘การกลับเป็นขึ้นจากตายของคนไม่ชอบธรรม’ จะมีชื่อเขียนไว้ใน “ม้วนหนังสือแห่งชีวิต” ก็ต่อเมื่อพวกเขาประพฤติสอดคล้องกับ “สิ่งที่เขียนไว้ในม้วนหนังสือทั้งหลาย” ซึ่งเป็นคำสั่งต่าง ๆ ที่คลี่เปิดออกในช่วงรัชสมัยพันปี. อย่างไรก็ตาม ชื่อที่เขียนในนั้นไม่ได้เขียนด้วยหมึกที่ลบไม่ได้. ชื่อของเหล่าผู้ถูกเจิมจะเป็นชื่อที่ถาวรเมื่อพวกเขาพิสูจน์ตัวซื่อสัตย์จนกระทั่งเสียชีวิต. (วิ. 3:5) ชื่อของคนที่ได้รับชีวิตบนแผ่นดินโลกกลายเป็นชื่อที่ถาวรเมื่อพวกเขาผ่านการทดสอบครั้งสุดท้ายในตอนปลายรัชสมัยพันปี.—วิ. 20:7, 8.
บทเรียนสำหรับเรา:
17:3, 5, 7, 16. “สติปัญญาจากเบื้องบน” ช่วยเราให้เข้าใจ “ความลึกลับของผู้หญิงคนนั้นและของสัตว์ร้าย [สีแดงเข้ม] ที่นางนั่งอยู่.” (ยโก. 3:17) สัตว์ร้ายโดยนัยนี้เริ่มต้นโดยเป็นสันนิบาตชาติและภายหลังก็ฟื้นตัวขึ้นมาอีกในนามสหประชาชาติ. การเปิดเผยความลึกลับนี้น่าจะกระตุ้นเราให้มีใจแรงกล้าในการประกาศข่าวดีเรื่องราชอาณาจักรของพระเจ้าและประกาศวันแห่งการพิพากษาของพระยะโฮวามิใช่หรือ?
21:1-6. เราแน่ใจได้อย่างแท้จริงว่าพระพรที่การปกครองแห่งราชอาณาจักรจะทำให้เกิดขึ้นตามที่มีบอกไว้ล่วงหน้านั้นจะเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นจริง. เพราะเหตุใด? เพราะมีกล่าวถึงพระพรเหล่านี้ว่า “ถ้อยคำเหล่านี้สำเร็จแล้ว!”
22:1, 17. “แม่น้ำที่มีน้ำแห่งชีวิต” หมายถึงการจัดเตรียมของพระยะโฮวาเพื่อช่วยมนุษย์ที่เชื่อฟังให้ฟื้นตัวจากบาปและความตาย. ในเวลานี้มีน้ำแห่งชีวิตนี้อยู่แล้วในระดับหนึ่ง. ขอเราอย่าเพียงแต่รับคำเชิญด้วยความขอบคุณที่ให้มา ‘ดื่มน้ำแห่งชีวิตโดยไม่เสียค่า’ แต่เชิญคนอื่น ๆ อย่างกระตือรือร้นให้ทำอย่างเดียวกันด้วย!
[เชิงอรรถ]
a สำหรับการพิจารณาวิวรณ์ 1:1–12:17 โปรดดู “จุดเด่นจากหนังสือวิวรณ์—ตอนที่หนึ่ง” ในหอสังเกตการณ์ ฉบับ 15 มกราคม 2009.
b สำหรับการพิจารณาหนังสือวิวรณ์แบบข้อต่อข้อ โปรดดูหนังสือพระธรรมวิวรณ์—ใกล้จะถึงจุดสุดยอด!
[ภาพหน้า 5]
มนุษย์ที่เชื่อฟังจะได้รับพระพรอันยอดเยี่ยมจริง ๆ ภายใต้การปกครองของราชอาณาจักร!