บท 30
“บาบิโลนใหญ่ล่มจมแล้ว!”
1. ทูตสวรรค์องค์ที่สองประกาศเรื่องอะไร และบาบิโลนใหญ่คืออะไร?
นี่เป็นชั่วโมงแห่งการพิพากษาของพระเจ้า! ดังนั้น จงฟังข่าวสารจากพระเจ้า: “แล้วทูตสวรรค์อีกองค์หนึ่งก็ตามมาเป็นองค์ที่สองและกล่าวว่า ‘เมืองนี้ล่มจมแล้ว! บาบิโลนใหญ่ล่มจมแล้ว เมืองนี้ทำให้ชาติทั้งปวงดื่มเหล้าองุ่นแห่งความโกรธและการผิดประเวณีของเมืองนี้!’” (วิวรณ์ 14:8, ล.ม.) เป็นครั้งแรก แต่ไม่ใช่ครั้งสุดท้าย ที่พระธรรมวิวรณ์มุ่งความสนใจที่บาบิโลนใหญ่. ภายหลัง บทที่ 17 จะพรรณนาถึงบาบิโลนใหญ่ในฐานะหญิงแพศยาผู้มัวเมาในราคะตัณหา. บาบิโลนใหญ่หมายถึงอะไร? ดังที่เราจะได้เห็น เมืองนี้เป็นจักรวรรดิโลก บาบิโลนใหญ่เกี่ยวข้องกับศาสนา และเป็นระบบจอมปลอมที่ซาตานใช้เพื่อต่อสู้กับพงศ์พันธุ์แห่งผู้หญิงของพระเจ้า. (วิวรณ์ 12:17) บาบิโลนใหญ่คือจักรวรรดิศาสนาเท็จทั่วทั้งโลก. เมืองนี้หมายรวมถึงทุกศาสนาที่รักษาหลักคำสอนและกิจปฏิบัติทางศาสนาแห่งบาบิโลนโบราณและที่สำแดงน้ำใจของเมืองนั้น.
2. (ก) เป็นไปอย่างไรที่ศาสนาแบบบาบิโลนได้แพร่กระจายไปยังทุกส่วนของแผ่นดินโลก? (ข) ส่วนที่เด่นที่สุดของบาบิโลนใหญ่คืออะไร และเมื่อไรที่ส่วนนี้ปรากฏขึ้นมาในฐานะองค์การที่มีอิทธิพล?
2 ที่บาบิโลนนี้เอง มากกว่า 4,000 ปีมาแล้ว ที่พระยะโฮวาได้ทรงทำให้ภาษาของผู้ที่พยายามก่อสร้างหอบาเบลสับสน. กลุ่มชนที่พูดภาษาต่างกันได้กระจัดกระจายไปทั่วทุกมุมโลก นำเอาความเชื่อและกิจปฏิบัติแบบออกหากไปกับเขาด้วยซึ่งเป็นพื้นฐานของศาสนาส่วนใหญ่มาจนทุกวันนี้. (เยเนซิศ 11:1-9) บาบิโลนใหญ่เป็นส่วนศาสนาแห่งองค์การของซาตาน. (เทียบกับโยฮัน 8:43-47.) ส่วนที่เด่นที่สุดของบาบิโลนใหญ่ในทุกวันนี้ได้แก่คริสต์ศาสนจักรที่ออกหาก ซึ่งปรากฏขึ้นมาในรูปขององค์การนอกกฎหมายที่มีอิทธิพลในศตวรรษที่สี่ภายหลังพระคริสต์ พร้อมด้วยข้อบัญญัติทางศาสนาและระเบียบแบบแผนที่ไม่ได้มาจากคัมภีร์ไบเบิล แต่มาจากศาสนาแบบบาบิโลนเสียเป็นส่วนใหญ่.—2 เธซะโลนิเก 2:3-12.
3. จะกล่าวได้อย่างไรว่าบาบิโลนใหญ่ได้ล่มจมแล้ว?
3 คุณอาจถามว่า ‘ในเมื่อศาสนายังคงมีอิทธิพลอย่างมากในแผ่นดินโลก เหตุใดทูตสวรรค์จึงประกาศว่าบาบิโลนใหญ่ล่มจมแล้ว?’ เอาละ ผลเป็นเช่นไรภายหลังปี 539 ก่อนสากลศักราช เมื่อบาบิโลนโบราณล่มจม? ชาวอิสราเอลถูกปล่อยให้กลับไปยังปิตุภูมิของตนและฟื้นฟูการนมัสการแท้ที่นั่น! ดังนั้น การฟื้นฟูอิสราเอลฝ่ายวิญญาณขึ้นสู่ความมั่งคั่งรุ่งเรืองฝ่ายวิญญาณในปี 1919 ซึ่งดำเนินต่อมาและแผ่ขยายมาจนถึงทุกวันนี้ เป็นหลักฐานยืนยันว่า บาบิโลนใหญ่ได้ล่มจมในปีนั้น. เมืองนั้นไม่มีอำนาจเหนี่ยวรั้งประชาชนของพระเจ้าอีกต่อไป. ยิ่งกว่านั้น บาบิโลนใหญ่ประสบกับความลำบากแสนเข็ญภายในเหล่าสมาชิกของตนเอง. ตั้งแต่ปี 1919 ความเสื่อมทราม, ความอสัตย์, และการผิดศีลธรรมของบาบิโลนใหญ่ถูกเปิดเผยอย่างกว้างขวาง. ในยุโรปส่วนใหญ่ มีผู้คนจำนวนน้อยที่ไปโบสถ์. เป็นสิ่งที่น่าอัปยศอดสูในสายตาของบรรดาชนผู้มีความรักต่อความจริงจากพระคำของพระเจ้า บัดนี้ บาบิโลนใหญ่เสมือนอยู่ในแถวนักโทษประหารที่รอการสำเร็จโทษตามการพิพากษาอันชอบธรรมของพระยะโฮวา.
การล่มจมอันน่าอัปยศอดสูของบาบิโลน
4-6. เป็นไปอย่างไรที่ “บาบิโลนใหญ่ . . . ทำให้ชาติทั้งปวงดื่มเหล้าองุ่นแห่งความโกรธและการผิดประเวณีของเมืองนี้”?
4 ให้เราตรวจสอบอย่างละเอียดยิ่งขึ้นถึงสภาพการณ์ที่เกี่ยวข้องกับการล่มจมอันน่าอับยศอดสูของบาบิโลนใหญ่. ณ ที่นี่ทูตสวรรค์บอกเราว่า “บาบิโลนใหญ่ . . . ทำให้ชาติทั้งปวงดื่มเหล้าองุ่นแห่งความโกรธและการผิดประเวณีของเมืองนี้.” ข้อนี้หมายความอย่างไร? เรื่องนี้เกี่ยวข้องกับการเอาชนะ. ตัวอย่างเช่น พระยะโฮวาทรงบอกยิระมะยาว่า “จงเอาถ้วยเหล้าองุ่นแห่งความพิโรธกล้าไปจากหัตถ์ของเรา และเจ้าต้องทำให้บรรดาชาติที่เราใช้เจ้าไปดื่มเหล้านั้น. และเขาทั้งหลายต้องดื่มและซวนเซไปมาและทำเหมือนคนบ้าเพราะดาบที่เราจะใช้ไปในท่ามกลางพวกเขา.” (ยิระมะยา 25:15, 16, ล.ม.) ในศตวรรษที่หกและเจ็ดก่อนสากลศักราช พระยะโฮวาทรงใช้บาบิโลนโบราณให้เทจากถ้วยโดยนัยแห่งความยากลำบากให้หลายประเทศดื่ม ซึ่งรวมทั้งยูดาที่ออกหาก ดังนั้นแม้กระทั่งประชาชนของพระองค์เองก็ถูกต้อนไปเป็นเชลย. จากนั้นก็ถึงคราวของบาบิโลน บาบิโลนล่มจมเนื่องจากกษัตริย์ของเมืองนี้ได้ยกตัวเองเหนือพระยะโฮวา “พระเจ้าแห่งสรวงสวรรค์.”—ดานิเอล 5:23.
5 บาบิโลนใหญ่ยังได้ทำการเอาชนะด้วย แต่ส่วนใหญ่แล้วก็ทำการเหล่านั้นอย่างแยบยลกว่า. บาบิโลนใหญ่ได้ “ทำให้ชาติทั้งปวงดื่ม” โดยใช้อุบายชั่วของหญิงแพศยา ทำการล่วงประเวณีทางศาสนากับพวกเขา. บาบิโลนใหญ่ได้ล่อใจพวกผู้ปกครองทางการเมืองให้เป็นพันธมิตร และมีสัมพันธไมตรีด้วย. โดยสิ่งโน้มน้าวใจทางศาสนา บาบิโลนใหญ่วางแผนการกดขี่ทางการเมือง, การค้า, และทางเศรษฐกิจ. เมืองนี้ได้ปลุกปั่นการข่มเหงทางศาสนาและสงครามศาสนา ตลอดจนสงครามระหว่างชาติ เพื่อเหตุผลทางการเมืองและทางการค้าโดยแท้. และบาบิโลนใหญ่ได้ทำให้สงครามเหล่านี้เป็นที่นับถืออันบริสุทธิ์โดยบอกว่า สงครามเหล่านั้นเป็นพระทัยประสงค์ของพระเจ้า.
6 การที่ศาสนาเข้ายุ่งเกี่ยวในสงครามและการเมืองแห่งศตวรรษที่ 20 เป็นที่ทราบกันโดยทั่วไป—ดังศาสนาชินโตของญี่ปุ่น, ฮินดูแห่งอินเดีย, พุทธแห่งเวียดนาม, “คริสเตียน” แห่งไอร์แลนด์เหนือและลาตินอเมริกา, และอื่น ๆ—อย่ามองข้ามบทบาทของพวกบาทหลวงประจำกองทัพของทั้งสองฝ่ายระหว่างสงครามโลกทั้งสองครั้งที่ได้ยุยงคนหนุ่มให้เข่นฆ่ากัน. ตัวอย่างที่เด่นอย่างยิ่งแห่งการใช้อุบายของบาบิโลนใหญ่ก็คือการที่นางมีส่วนในสงครามกลางเมืองของสเปนระหว่างปี 1936-1939 ซึ่งมีผู้เสียชีวิตอย่างน้อย 600,000 คน. การนองเลือดครั้งนี้ได้รับการยุยงโดยเหล่าผู้สนับสนุนพวกนักเทศน์นักบวชคาทอลิกและเหล่าพันธมิตรของพวกเขา ส่วนหนึ่งเนื่องจากความมั่งคั่งและฐานะตำแหน่งของคริสตจักรถูกคุกคามโดยรัฐบาลอันชอบด้วยกฎหมายของสเปน.
7. ใครที่ตกเป็นเป้าหมายสำคัญแห่งการโจมตีของบาบิโลนใหญ่ และเมืองนี้ได้ใช้วิธีการอะไรโจมตีเป้าหมายดังกล่าว?
7 เนื่องจากบาบิโลนใหญ่เป็นส่วนทางศาสนาแห่งพงศ์พันธุ์ของซาตาน เมืองนี้จึงทำให้ “ผู้หญิง” ของพระยะโฮวา คือ “เยรูซาเลมเบื้องบน” เป็นเป้าหมายสำคัญแห่งการโจมตีเสมอ. ในศตวรรษแรก ประชาคมแห่งคริสเตียนผู้ถูกเจิมได้รับการระบุชัดเจนว่า เป็นพงศ์พันธุ์ของหญิง. (เยเนซิศ 3:15; ฆะลาเตีย 3:29; 4:26, ล.ม.) บาบิโลนใหญ่พยายามอย่างหนักเพื่อเอาชนะประชาคมที่บริสุทธิ์นั้นโดยการล่อให้ทำการล่วงประเวณีทางศาสนา. อัครสาวกเปาโลและเปโตรได้เตือนว่า หลายคนจะยอมแพ้และจะยังผลให้มีการออกหากครั้งใหญ่. (กิจการ 20:29, 30; 2 เปโตร 2:1-3) ข่าวสารที่พระเยซูมีไปยังประชาคมทั้งเจ็ดแสดงให้เห็นว่า ในบั้นปลายชีวิตโยฮัน บาบิโลนใหญ่ได้รุดหน้าไปบ้างแล้วในความพยายามก่อให้เกิดความเสื่อมเสีย. (วิวรณ์ 2:6, 14, 15, 20-23) แต่พระเยซูทรงแจ้งให้ทราบแล้วว่า เมืองนี้จะได้รับอนุญาตให้ทำได้ถึงขีดไหน.
ข้าวดีและข้าวละมาน
8, 9. (ก) อุปมาของพระเยซูเรื่องข้าวดีและข้าวละมานบ่งชี้ถึงอะไร? (ข) เกิดอะไรขึ้น “เมื่อคนทั้งหลายนอนหลับอยู่”?
8 ในอุปมาของพระองค์เรื่องข้าวดีและข้าวละมาน พระเยซูตรัสถึงชายคนหนึ่งที่หว่านเมล็ดพืชดีในทุ่งนา. แต่ “เมื่อคนทั้งหลายนอนหลับอยู่” มีศัตรูมาหว่านข้าวละมานปนเข้าไป. ดังนั้น เมื่อเวลาผ่านไปข้าวดีจึงถูกข้าวละมานบดบัง พระเยซูทรงอธิบายคำอุปมาของพระองค์ดังนี้: “ผู้หว่านพืชดีนั้นได้แก่บุตรมนุษย์, และนานั้นได้แก่โลกนี้, พืชดีนั้นได้แก่พลเมืองแห่งแผ่นดินของพระเจ้า, แต่ข้าวละมานได้แก่พลเมืองของผู้ชั่ว, ศัตรูผู้หว่านพืชชั่วได้แก่มาร.” พระองค์ทรงชี้แจงต่อไปว่า ทั้งข้าวดี และข้าวละมานจะถูกปล่อยให้งอกขึ้นพร้อมกันจนกระทั่ง “ช่วงอวสานของระบบ” (ล.ม.) เมื่อบรรดาทูตสวรรค์จะ “เก็บกวาด” ข้าวละมานโดยนัย.—มัดธาย 13:24-30, 36-43.
9 สิ่งที่พระเยซูและอัครสาวกเปาโลและเปโตรเตือนไว้ได้เกิดขึ้น. “เมื่อคนทั้งหลายนอนหลับอยู่” หากไม่ใช่ช่วงภายหลังจากที่เหล่าอัครสาวกได้ล่วงหลับในความตายก็เป็นช่วงที่คริสเตียนผู้ดูแลได้ง่วงหลับไปในการปกป้องฝูงแกะของพระเจ้า คำสอนออกหากแบบบาบิโลนได้งอกขึ้นภายในประชาคมเลยทีเดียว. (กิจการ 20:31) ในไม่ช้าจำนวนข้าวละมานได้เพิ่มมากกว่าข้าวดีและบดบังไว้จนมองไม่เห็นข้าวดี. เป็นเวลาหลายศตวรรษ ดูเหมือนว่าพงศ์พันธุ์ของผู้หญิงถูกครอบอยู่ใต้กระโปรงอันกว้างใหญ่แห่งบาบิโลนใหญ่โดยสิ้นเชิง.
10. เกิดอะไรขึ้นเมื่อถึงทศวรรษ 1870 และบาบิโลนใหญ่ตอบโต้การนี้อย่างไร?
10 พอถึงทศวรรษ 1870 เหล่าคริสเตียนผู้ถูกเจิมเริ่มพยายามอย่างเด็ดเดี่ยวเพื่อจะตัดตัวเองจากแนวทางแพศยาของบาบิโลนใหญ่ พวกเขาได้ละทิ้งหลักคำสอนเท็จที่คริสต์ศาสนจักรได้นำเข้ามาจากศาสนานอกรีตและได้ใช้พระคัมภีร์อย่างกล้าหาญในการประกาศว่า เวลากำหนดของคนต่างชาติจะสิ้นสุดลงในปี 1914. เครื่องมือชิ้นเอกของบาบิโลนใหญ่ อันได้แก่พวกนักเทศน์นักบวชแห่งคริสต์ศาสนจักร ได้ต่อต้านการปลุกเร้าเพื่อฟื้นฟูการนมัสการแท้เหล่านี้. ระหว่างสงครามโลกครั้งที่หนึ่ง พวกเขาได้ฉวยโอกาสจากความบ้าคลั่งในภาวะสงครามเพื่อจะกำจัดเหล่าคริสเตียนผู้ซื่อสัตย์กลุ่มน้อยนั้นเสีย. ในปี 1918 เมื่อกิจกรรมของพวกเขาเกือบถูกระงับอย่างสิ้นเชิง ดูเหมือนว่าบาบิโลนใหญ่ประสบผลสำเร็จ. ประหนึ่งว่ามีชัยเหนือพวกเขา.
11. ผลเป็นเช่นไรสืบเนื่องจากการล่มจมของบาบิโลนโบราณ?
11 ดังที่เราได้สังเกตก่อนหน้านี้ เมืองบาบิโลนที่หยิ่งจองหองได้ประสบกับความล่มจมในทางอำนาจอย่างยับเยินในปี 539 ก่อนสากลศักราช. ตอนนั้นจึงได้ยินเสียงร้องว่า “แตกแล้ว กรุงบาบูโลนแตกแล้ว” ที่ตั้งอันยิ่งใหญ่ของจักรวรรดิโลกได้ล่มจมแก่กองทัพแห่งมิโด-เปอร์เซียภายใต้ไซรัสมหาราช. แม้ว่าตัวเมืองรอดเหลือจากการพิชิตก็ตาม การตกต่ำทางอำนาจของเมืองนี้เป็นเรื่องจริง และเป็นผลให้เชลยชาวยิวได้รับการปลดปล่อย. พวกเขาได้กลับไปยังเยรูซาเลมเพื่อฟื้นฟูการนมัสการแท้ที่นั่น.—ยะซายา 21:9; 2 โครนิกา 36:22, 23; ยิระมะยา 51:7, 8.
12. (ก) ในสมัยของเรา จะกล่าวได้อย่างไรว่า บาบิโลนใหญ่ล่มจมแล้ว? (ข) อะไรพิสูจน์ว่า พระยะโฮวาได้ทรงปฏิเสธคริสต์ศาสนจักรอย่างเด็ดขาด?
12 ในสมัยของเรา เสียงร้องว่าบาบิโลนใหญ่ได้ล่มจมแล้วก็เป็นที่ได้ยินเช่นกัน! ความสำเร็จชั่วขณะของคริสต์ศาสนจักรแบบบาบิโลนในปี 1918 ได้กลับตาลปัตรในปี 1919 เมื่อชนที่เหลือผู้ถูกเจิม คือชนจำพวกโยฮัน ได้รับการฟื้นฟูโดยการปลุกให้เป็นขึ้นจากตายฝ่ายวิญญาณ. บาบิโลนใหญ่ล่มจมในแง่ที่ว่าไม่อาจควบคุมประชาชนของพระเจ้าไว้เป็นเชลยได้อีกต่อไป. เช่นเดียวกับตั๊กแตน เหล่าผู้ถูกเจิมของพระคริสต์ได้บินออกจากขุมลึกเป็นฝูง พร้อมจะปฏิบัติการ. (วิวรณ์ 9:1-3; 11:11, 12) พวกเขาคือ “ทาสสัตย์ซื่อและสุขุม” สมัยปัจจุบัน และนายได้แต่งตั้งพวกเขาให้ดูแลทรัพย์สมบัติทั้งหมดบนแผ่นดินโลกของพระองค์. (มัดธาย 24:45-47, ล.ม.) การที่พวกเขาถูกใช้ในแนวทางนี้พิสูจน์ว่า พระยะโฮวาทรงปฏิเสธคริสต์ศาสนจักรอย่างเด็ดขาดแม้เขาจะอ้างว่าเป็นตัวแทนของพระองค์บนแผ่นดินโลกนี้ก็ตาม. การนมัสการบริสุทธิ์ได้รับการสถาปนาขึ้นอีก และทางได้เปิดออกเพื่องานประทับตราชนที่เหลือแห่งชน 144,000 คนจะครบถ้วนคือชนที่เหลือแห่งพงศ์พันธุ์ของหญิง ผู้ซึ่งเป็นศัตรูเก่าแก่ของบาบิโลนใหญ่. ทั้งหมดนี้เป็นสัญญาณแห่งความพ่ายแพ้ย่อยยับสำหรับองค์การทางศาสนาของซาตาน.
ความอดทนสำหรับเหล่าผู้บริสุทธิ์
13. (ก) ทูตสวรรค์องค์ที่สามประกาศเรื่องอะไร? (ข) พระยะโฮวาทรงพิพากษาอย่างไรต่อคนที่ได้รับเครื่องหมายของสัตว์ร้าย?
13 บัดนี้ ทูตสวรรค์องค์ที่สามกล่าว. จงฟัง! “แล้วทูตสวรรค์อีกองค์หนึ่งก็ตามมาเป็นองค์ที่สามและกล่าวเสียงดังว่า ‘ถ้าใครนมัสการสัตว์ร้ายและรูปของมัน และได้รับเครื่องหมายบนหน้าผากหรือที่มือของเขา เขาก็จะดื่มเหล้าองุ่นแห่งพระพิโรธของพระเจ้าซึ่งเทลงในถ้วยแห่งพระพิโรธของพระองค์โดยไม่ได้ทำให้เจือจาง.’” (วิวรณ์ 14:9, 10ก, ล.ม.) ที่วิวรณ์ 13:16, 17 (ล.ม.) มีการเปิดเผยว่า ระหว่างวันขององค์พระผู้เป็นเจ้า คนเหล่านั้นที่ไม่บูชารูปของสัตว์ร้ายจะต้องทนทุกข์ กระทั่งถูกฆ่า. บัดนี้ เราเรียนรู้แล้วว่า พระยะโฮวาทรงมุ่งพระทัยจะลงโทษคนเหล่านั้นที่ “มีเครื่องหมายนั้น คือชื่อของสัตว์ร้ายหรือเลขที่เป็นชื่อของมัน.” พวกเขาจะถูกบังคับให้ดื่มจาก ‘ถ้วยแห่งพระพิโรธ’ อันขมของพระยะโฮวา. นี่จะหมายความอย่างไรสำหรับพวกเขา? ในปี 607 ก่อนสากลศักราช เมื่อพระยะโฮวาทรงบังคับให้เยรูซาเลมดื่มจาก “จอกแห่งพระพิโรธของพระองค์” เมืองนั้นได้ประสบกับ “การล้างผลาญและการทำลาย การกันดารอาหารและดาบ” จากน้ำมือของชาวบาบิโลน. (ยะซายา 51:17, 19 ฉบับแปลใหม่) คล้ายคลึงกัน เมื่อคนที่บูชาอำนาจทางการเมืองแห่งแผ่นดินโลกและรูปของมัน คือสหประชาชาติ จะดื่มจากถ้วยแห่งพระพิโรธของพระยะโฮวา ผลจะเป็นความหายนะสำหรับพวกเขา. (ยิระมะยา 25:17, 32, 33) พวกเขาจะถูกทำลายอย่างสิ้นเชิง.
14. แม้แต่ก่อนการทำลายคนที่นมัสการสัตว์ร้ายนั้นกับรูปของมัน คนเหล่านั้นต้องประสบกับอะไร และโยฮันพรรณนาถึงเรื่องนี้อย่างไร?
14 อย่างไรก็ตาม แม้แต่ก่อนสิ่งนี้จะเกิดขึ้น คนที่มีเครื่องหมายของสัตว์ร้ายจะต้องประสบความทุกข์ทรมานเนื่องจากความไม่พอพระทัยของพระยะโฮวา. เมื่อกล่าวถึงคนที่นมัสการสัตว์ร้ายและรูปของมัน ทูตสวรรค์แจ้งแก่โยฮันว่า “และเขาจะถูกทรมานด้วยไฟและกำมะถันต่อหน้าเหล่าทูตสวรรค์บริสุทธิ์และเฉพาะพระพักตร์พระเมษโปดก. ควันแห่งการทรมานพวกเขาลอยขึ้นตลอดไปเป็นนิตย์ และคนเหล่านั้นที่นมัสการสัตว์ร้ายกับรูปของมันรวมทั้งทุกคนที่ได้รับเครื่องหมายที่เป็นชื่อของมันถูกทรมานทั้งวันทั้งคืนไม่หยุดหย่อน.”—วิวรณ์ 14:10ข, 11, ล.ม.
15, 16. อะไรคือความหมายของถ้อยคำที่ว่า “ไฟและกำมะถัน” ที่วิวรณ์ 14:10?
15 บางคนมีความเห็นว่า การเอ่ยถึงไฟและกำมะถันในที่นี้เป็นข้อพิสูจน์ว่ามีไฟนรก. แต่การตรวจสอบคำพยากรณ์ที่คล้ายกันอีกข้อหนึ่งอย่างคร่าว ๆ เผยความหมายที่แท้จริงแห่งข้อความในบริบทนี้. ย้อนไปในสมัยของยะซายา พระยะโฮวาทรงเตือนชาติอะโดมว่า พวกเขาจะต้องถูกลงโทษเนื่องจากเป็นศัตรูกับชาติอิสราเอล. พระองค์ตรัสว่า “บรรดาน้ำในแม่น้ำทั้งปวงแห่งประเทศอะโดมจะกลายเป็นน้ำมันยาง, และผงคลีดินที่ในประเทศนั้นจะกลายเป็นเพลิงกำมะถัน, ทั่วประเทศเป็นน้ำมันยางลุกเป็นไฟวันยังค่ำคืนยังรุ่ง. เพลิงนั้นไม่มีวันดับ, และควันนั้นจะพลุ่งอยู่เป็นนิจ; เมืองนั้นจะเริดร้างอยู่ชั่วกัปกัลป์, และไม่มีใครเดินฝ่าเข้าไปได้.”—ยะซายา 34:9, 10.
16 เมืองอะโดมถูกเหวี่ยงลงในไฟนรกบางอย่างแบบในเทพนิยายเพื่อให้ถูกเผาเป็นนิจอย่างนั้นหรือ? ไม่ใช่แน่. แทนที่จะเป็นเช่นนั้น ชาตินี้ได้สาบสูญไปจากฉากของโลกอย่างสิ้นเชิงเสมือนถูกเผาผลาญด้วยไฟและกำมะถัน. ผลบั้นปลายแห่งการลงโทษนั้นไม่ใช่การทรมานชั่วกัปชั่วกัลป์ แต่เป็น “ความว่างเปล่า . . . ความร้าง . . . เป็นศูนย์.” (ยะซายา 34:11, 12, ล.ม.) ควันที่ “ลอยขึ้นตลอดไปเป็นนิตย์” แสดงให้เห็นเรื่องนี้อย่างชัดเจน. เมื่อบ้านหลังหนึ่งถูกไฟเผาจนวอด จะมีควันขึ้นจากกองเถ้าอยู่ระยะหนึ่งหลังจากไฟดับ เป็นหลักฐานยืนยันแก่ผู้สังเกตการณ์ว่า ได้เกิดไฟไหม้ใหญ่ที่ก่อความหายนะ. แม้กระทั่งทุกวันนี้ ประชาชนของพระเจ้ายังจำบทเรียนที่ได้เรียนรู้จากการทำลายล้างเมืองอะโดม. โดยวิธีนี้ ‘ควันแห่งการเผาเมืองนั้น’ ยังคงพลุ่งขึ้นในความหมายเป็นนัย.
17, 18. (ก) ผลจะเป็นอย่างไรสำหรับคนที่ได้รับเครื่องหมายของสัตว์ร้าย? (ข) เหล่าผู้นมัสการสัตว์ร้ายนั้นถูกทรมานโดยวิธีใด? (ค) เป็นไปอย่างไรที่ “ควันแห่งการทรมานพวกเขาลอยขึ้นตลอดไปเป็นนิตย์”?
17 คนเหล่านั้นที่มีเครื่องหมายของสัตว์ร้ายก็จะถูกทำลายอย่างสิ้นเชิงเช่นกัน ราวกับถูกไฟเผา. ดังที่คำพยากรณ์เปิดเผยภายหลัง ซากศพของพวกเขาจะถูกปล่อยทิ้งไว้โดยไม่ฝังเพื่อให้สัตว์และนกกิน. (วิวรณ์ 19:17, 18) ดังนั้น จึงเป็นที่ชัดเจนว่า พวกเขาไม่ได้ถูกทรมานตลอดไปจริง ๆ! พวกเขา “ถูกทรมานด้วยไฟและกำมะถัน” โดยวิธีใด? โดยที่การป่าวประกาศความจริงเปิดโปงพวกเขาและเตือนพวกเขาเกี่ยวกับการพิพากษาของพระเจ้าที่ใกล้เข้ามา. ด้วยเหตุนี้ พวกเขาจึงใส่ร้ายประชาชนของพระเจ้า และเมื่อมีช่องทาง ก็พูดตลบตะแลงชักจูงสัตว์ร้ายทางการเมืองให้ข่มเหงและแม้กระทั่งฆ่าพยานพระยะโฮวา. เมื่อถึงจุดสุดยอด พวกผู้ต่อต้านเหล่านี้จะถูกทำลายเสมือนหนึ่งด้วยไฟและกำมะถัน. เมื่อนั้น “ควันแห่งการทรมานพวกเขาลอยขึ้นตลอดไปเป็นนิตย์” ในแง่ที่ว่า การพิพากษาของพระเจ้าต่อพวกเขาจะเป็นคดีตัวอย่างหากมีการท้าทายความถูกต้องแห่งพระบรมเดชานุภาพของพระยะโฮวาเกิดขึ้นอีก. ประเด็นในเรื่องนี้จะได้รับการจัดการให้เรียบร้อยสำหรับตลอดกาล.
18 ใครเป็นผู้ส่งข่าวที่ทรมานใจในทุกวันนี้? ขอระลึกว่า พวกตั๊กแตนโดยนัยมีอำนาจจะทรมานคนที่ไม่มีตราประทับของพระเจ้าที่หน้าผากของพวกเขา. (วิวรณ์ 9:5) จึงเห็นได้ชัดว่า คนเหล่านี้ภายใต้การนำของเหล่าทูตสวรรค์ก็คือผู้ทรมาน. เหล่าตั๊กแตนโดยนัยยืนหยัดอย่างต่อเนื่องกันถึงขนาดที่ “คนเหล่านั้นที่นมัสการสัตว์ร้ายกับรูปของมันรวมทั้งทุกคนที่ได้รับเครื่องหมายที่เป็นชื่อของมันถูกทรมานทั้งวันทั้งคืนไม่หยุดหย่อน.” และในที่สุด หลังจากพวกเขาพินาศ หลักฐานอันยิ่งใหญ่แห่งการพิสูจน์ความถูกต้องแห่งพระบรมเดชานุภาพของพระยะโฮวา คือ “ควันแห่งการทรมานพวกเขา” จะลอยขึ้นตลอดไปเป็นนิตย์. ขอให้ชนจำพวกโยฮันอดทนจนกระทั่งการพิสูจน์ความถูกต้องคราวนั้นจะสำเร็จครบถ้วน! ดังที่ทูตสวรรค์ได้สรุปว่า “เพราะเหตุนี้แหละเหล่าผู้บริสุทธิ์ คือคนเหล่านั้นที่ทำตามข้อบัญญัติของพระเจ้าและเอาอย่างความเชื่อของพระเยซู จึงจำเป็นต้องมีความเพียรอดทน.”—วิวรณ์ 14:12, ล.ม.
19. ทำไมเหล่าผู้บริสุทธิ์จึงต้องอดทน และโยฮันแจ้งว่าอะไรที่เสริมกำลังพวกเขา?
19 ถูกแล้ว ‘ความเพียรอดทนสำหรับเหล่าผู้บริสุทธิ์’ หมายถึงการที่พวกเขานมัสการพระยะโฮวาด้วยความเลื่อมใสโดยเฉพาะผ่านทางพระเยซูคริสต์. ข่าวสารของพวกเขาไม่เป็นที่นิยมชมชอบ. มันนำไปสู่การต่อต้าน, การข่มเหง, แม้กระทั่งการพลีชีพเพื่อความเชื่อ. แต่พวกเขาได้รับการเสริมกำลังโดยคำชี้แจงต่อไปของโยฮัน: “แล้วข้าพเจ้าได้ยินเสียงจากสวรรค์บอกว่า ‘เขียนไว้เถิดว่า คนที่ตายร่วมกับองค์พระผู้เป็นเจ้าตั้งแต่เวลานี้เป็นต้นไปก็มีความสุข. พระวิญญาณตรัสว่าให้พวกเขาพักจากงานหนักของเขา เพราะผลของงานที่พวกเขาได้ทำจะไปพร้อมกับพวกเขา.’”—วิวรณ์ 14:13, ล.ม.
20. (ก) คำสัญญาที่โยฮันแจ้งให้ทราบสอดคล้องกับคำพยากรณ์ของเปาโลเกี่ยวกับการประทับของพระเยซูอย่างไร? (ข) เหล่าผู้ถูกเจิมที่เสียชีวิตหลังจากซาตานถูกขับออกจากสวรรค์ได้รับคำสัญญาเรื่องสิทธิพิเศษอะไร?
20 คำสัญญานี้สอดคล้องเป็นอย่างดีกับคำพยากรณ์ของเปาโลอันเกี่ยวเนื่องกับการเสด็จประทับของพระเยซูที่ว่า “คนเหล่านั้นที่ตายร่วมสามัคคีกับพระคริสต์จะเป็นขึ้นมาก่อน. ภายหลังนั้นเราผู้เป็นอยู่ซึ่งรอดชีวิตอยู่ [เหล่าผู้ถูกเจิมซึ่งรอดชีวิตเข้าไปในวันขององค์พระผู้เป็นเจ้า] จะถูกรับขึ้นไปในเมฆร่วมกับคนเหล่านั้น เพื่อจะพบกับองค์พระผู้เป็นเจ้าในท้องฟ้า.” (1 เธซะโลนิเก 4:15-17, ล.ม.) หลังจากการขับซาตานออกจากสวรรค์ คนที่ได้ตายร่วมสามัคคีกับพระคริสต์ได้เป็นขึ้นมาก่อน. (เทียบกับวิวรณ์ 6:9-11.) หลังจากนั้น เหล่าผู้ถูกเจิมซึ่งตายระหว่างวันขององค์พระผู้เป็นเจ้าได้รับคำสัญญาว่าด้วยสิทธิพิเศษ. การที่พวกเขาถูกปลุกให้เป็นขึ้นสู่ชีวิตที่เป็นกายวิญญาณในสวรรค์นั้นเป็นแบบฉับพลัน “ในกะพริบตาเดียว.” (1 โกรินโธ 15:52, ล.ม.) ช่างเป็นสิ่งวิเศษอะไรเช่นนี้! และการงานต่าง ๆ ของพวกเขาเพื่อความชอบธรรมจะดำเนินต่อ ๆ ไปในแดนสวรรค์.
การเก็บเกี่ยวโลกนี้
21. โยฮันบอกให้เราทราบเรื่องอะไรเกี่ยวกับ “ผลที่จะเก็บเกี่ยวจากแผ่นดินโลก”?
21 คนอื่น ๆ ก็ได้รับประโยชน์จากวันแห่งการพิพากษานี้เช่นกัน ดังที่โยฮันแจ้งให้เราทราบต่อไป: “แล้วข้าพเจ้าก็เห็นเมฆขาวและมีผู้หนึ่งเหมือนบุตรมนุษย์ทรงนั่งบนเมฆนั้น พระองค์ทรงสวมมงกุฎทองคำและทรงถือเคียวคมกริบอันหนึ่ง. แล้วทูตสวรรค์อีกองค์หนึ่ง [องค์ที่สี่] ออกมาจากที่ศักดิ์สิทธิ์ของพระวิหารและร้องบอกผู้ที่ทรงนั่งบนเมฆนั้นด้วยเสียงอันดังว่า ‘ใช้เคียวของพระองค์เกี่ยวเถิด เพราะเวลาเกี่ยวมาถึงแล้วและผลที่จะเก็บเกี่ยวจากแผ่นดินโลกก็สุกเต็มที่แล้ว.’ ผู้ที่ทรงนั่งบนเมฆนั้นจึงทรงตวัดเคียวของพระองค์เกี่ยวบนแผ่นดินโลก และแผ่นดินโลกก็ถูกเกี่ยว.”—วิวรณ์ 14:14-16, ล.ม.
22. (ก) ผู้ที่สวมมงกุฎทองคำและประทับบนเมฆขาวคือผู้ใด? (ข) จุดสุดยอดแห่งการเก็บเกี่ยวนี้จะมีขึ้นเมื่อไร และอย่างไร?
22 ไม่มีข้อสงสัยว่าผู้ที่นั่งอยู่บนเมฆนั้นเป็นใคร. เป็นที่แน่ชัดว่า ผู้ที่นั่งอยู่บนเมฆขาว เหมือนบุตรมนุษย์และมีมงกุฎทองคำก็คือพระเยซู พระมหากษัตริย์มาซีฮาซึ่งดานิเอลก็ได้เห็นในนิมิตเช่นกัน. (ดานิเอล 7:13, 14; มาระโก 14:61, 62) แต่การเก็บเกี่ยวที่มีพยากรณ์ถึงในที่นี้คืออะไร? ขณะที่ทรงอยู่บนแผ่นดินโลกนี้ พระเยซูทรงเปรียบงานทำให้คนเป็นสาวกกับการเก็บเกี่ยวทุ่งนาแห่งมนุษยชาติในโลก. (มัดธาย 9:37, 38; โยฮัน 4:35, 36) จุดสุดยอดแห่งการเก็บเกี่ยวนี้มีมาในวันขององค์พระผู้เป็นเจ้า เมื่อพระเยซูทรงได้รับการตั้งเป็นกษัตริย์และทรงลงโทษตามการพิพากษาในฐานะตัวแทนของพระบิดาของพระองค์. ด้วยเหตุนี้ ช่วงเวลาแห่งการครอบครองของพระองค์ ตั้งแต่ปี 1914 ยังเป็นเวลาแห่งความยินดีสำหรับการเก็บเกี่ยวผลอีกด้วย.—เทียบกับพระบัญญัติ 16:13-15.
23. (ก) คำบัญชาให้เริ่มการเก็บเกี่ยวมาจากผู้ใด? (ข) การเก็บเกี่ยวอะไรที่มีขึ้นตั้งแต่ปี 1919 เรื่อยมาจนเดี๋ยวนี้?
23 แม้ว่าพระองค์ทรงเป็นกษัตริย์และผู้พิพากษา พระเยซูทรงรอพระบัญชาจากพระยะโฮวาพระเจ้าของพระองค์ก่อนจะเริ่มเกี่ยว. คำสั่งนี้มาจาก “ที่ศักดิ์สิทธิ์ของพระวิหาร” โดยทางทูตสวรรค์องค์หนึ่ง. พระเยซูทรงเชื่อฟังทันที. ก่อนอื่น ตั้งแต่ปี 1919 เป็นต้นมา พระองค์ทรงให้เหล่าทูตสวรรค์ของพระองค์ทำการเก็บเกี่ยวชน 144,000 คนให้เสร็จสิ้น. (มัดธาย 13:39, 43; โยฮัน 15:1, 5, 16) ถัดจากนั้น มีการเก็บรวบรวมชนฝูงใหญ่แห่งแกะอื่น. (โยฮัน 10:16; วิวรณ์ 7:9, ล.ม.) ประวัติศาสตร์แสดงให้เห็นว่า ระหว่างปี 1931 และ 1935 แกะอื่นเหล่านั้นจำนวนมากได้เริ่มปรากฏตัว. ในปี 1935 พระยะโฮวาทรงเปิดเผยให้ชนจำพวกโยฮันเข้าใจเอกลักษณ์ที่แท้จริงแห่งชนฝูงใหญ่ในวิวรณ์ 7:9-17. หลังจากนั้น มีการเน้นเรื่องการเก็บเกี่ยวชนฝูงนี้มาก. ในปี 2005 จำนวนของชนจำพวกนี้ได้เลยหลักหกล้านคน และยังคงทวีขึ้นเรื่อย ๆ. เป็นที่แน่นอนว่า พระองค์ผู้ทรงเป็นเหมือนบุตรมนุษย์ได้เกี่ยวผลที่น่ายินดีอย่างอุดมสมบูรณ์ในระหว่างช่วงอวสานนี้.—เทียบกับเอ็กโซโด 23:16; 34:22.
การย่ำเถาองุ่นแห่งแผ่นดินโลก
24. ทูตสวรรค์องค์ที่ห้าถืออะไรอยู่ และทูตสวรรค์องค์ที่หกร้องเรียกให้ทำอะไร?
24 พร้อมกับการเก็บเกี่ยวเพื่อความรอดเสร็จสิ้นลง ก็เป็นเวลาสำหรับการเก็บเกี่ยวอีกชนิดหนึ่ง. โยฮันรายงานว่า “ทูตสวรรค์อีกองค์หนึ่ง [องค์ที่ห้า] ออกมาจากที่ศักดิ์สิทธิ์ของพระวิหารในสวรรค์ ท่านก็มีเคียวคมกริบเช่นกัน. ทูตสวรรค์อีกองค์หนึ่ง [องค์ที่หก] ออกมาจากแท่นบูชา ท่านมีอำนาจเหนือไฟ. ท่านร้องบอกผู้ที่มีเคียวคมกริบนั้นด้วยเสียงอันดังว่า ‘ใช้เคียวคมกริบของท่านออกเกี่ยวรวบรวมพวงองุ่นจากเถาองุ่นแห่งแผ่นดินโลกเถิด เพราะผลองุ่นที่นั่นสุกแล้ว.’” (วิวรณ์ 14:17, 18, ล.ม.) กองทัพทูตสวรรค์ได้รับมอบงานเก็บเกี่ยวมากมายในช่วงวันขององค์พระผู้เป็นเจ้า ให้แยกสิ่งดีไว้ต่างหากจากสิ่งชั่ว!
25. (ก) ข้อเท็จจริงที่ว่าทูตสวรรค์องค์ที่ห้าออกมาจากที่ศักดิ์สิทธิ์ของพระวิหารนั้นบ่งถึงอะไร? (ข) ทำไมจึงเหมาะสมที่พระบัญชาให้เริ่มการเกี่ยวนั้นมาจากทูตสวรรค์ซึ่ง “ออกมาจากแท่นบูชา”?
25 ทูตสวรรค์องค์ที่ห้ามาจากที่ประทับของพระยะโฮวาในที่ศักดิ์สิทธิ์แห่งพระวิหาร ฉะนั้น การเก็บเกี่ยวขั้นสุดท้ายจึงมีขึ้นตามพระทัยประสงค์ของพระยะโฮวาเช่นกัน. ทูตสวรรค์องค์นี้ได้รับพระบัญชาให้เริ่มงานโดยข่าวสารที่ถ่ายทอดมาทางทูตสวรรค์อีกองค์หนึ่งซึ่ง “ออกมาจากแท่นบูชา.” ข้อเท็จจริงนี้มีความสำคัญยิ่ง เนื่องจากผู้ซื่อสัตย์ใต้แท่นบูชาได้ถามว่า “ข้าแต่พระเจ้าองค์ใหญ่ยิ่งผู้บริสุทธิ์และเป็นพระเจ้าเที่ยงแท้พระองค์จะทรงยับยั้งการพิพากษาและการแก้แค้นคนเหล่านั้นซึ่งอยู่บนแผ่นดินโลกที่ฆ่าพวกข้าพเจ้าไว้จนถึงเมื่อไร?” (วิวรณ์ 6:9, 10, ล.ม.) พร้อมกับการเก็บเกี่ยวเถาองุ่นแห่งแผ่นดินโลก เสียงร้องขอการแก้แค้นจะได้รับการตอบสนอง.
26. “เถาองุ่นแห่งแผ่นดินโลก” คืออะไร?
26 แต่อะไรคือ “เถาองุ่นแห่งแผ่นดินโลก”? ในพระคัมภีร์ภาคภาษาฮีบรู มีกล่าวถึงชาติยิวว่าเป็นเถาองุ่นของพระยะโฮวา. (ยะซายา 5:7; ยิระมะยา 2:21) ในทำนองเดียวกัน มีการกล่าวถึงพระเยซูคริสต์และชนเหล่านั้นที่รับใช้ร่วมกับพระองค์ในราชอาณาจักรของพระเจ้าว่าเป็นเถาองุ่น (โยฮัน 15:1-8) ในฉากนี้ ลักษณะเฉพาะอันสำคัญของเถาองุ่นคือ เถาองุ่นเกิดผล และเถาองุ่นคริสเตียนแท้ได้ผลิตผลอันอุดมเพื่อถวายคำสรรเสริญแด่พระยะโฮวา. (มัดธาย 21:43) ฉะนั้น “เถาองุ่นแห่งแผ่นดินโลก” จึงต้องไม่ใช่เถาองุ่นแท้นี้ แต่เป็นเถาองุ่นปลอมของซาตาน คือระบบเสื่อมทรามที่ปรากฏแก่ตาอันเป็นของซาตาน ซึ่งประกอบด้วยรัฐบาลที่ปกครองเหนือมนุษยชาติ พร้อมด้วย “พวงองุ่น” มากมายแห่งผลแบบผีปิศาจซึ่งผลิตออกมาตลอดหลายศตวรรษ. บาบิโลนใหญ่ ซึ่งศาสนาคริสเตียนที่ออกหากเป็นส่วนโดดเด่น ได้ใช้อิทธิพลมากเหนือเถาองุ่นมีพิษนี้.—เทียบกับพระบัญญัติ 32:32-35.
27. (ก) เกิดอะไรขึ้นเมื่อทูตสวรรค์ที่ถือเคียวรวบรวมเถาองุ่นแห่งแผ่นดินโลก? (ข) คำพยากรณ์อะไรในพระคัมภีร์ภาคภาษาฮีบรูที่บ่งชี้ขอบเขตแห่งการเก็บเกี่ยวนั้น?
27 จะต้องมีการลงโทษตามคำพิพากษา! “ทูตสวรรค์องค์นั้นจึงตวัดเคียวไปที่แผ่นดินโลกแล้วเกี่ยวรวบรวมเถาองุ่นแห่งแผ่นดินโลกและโยนลงในบ่อย่ำองุ่นบ่อใหญ่แห่งพระพิโรธของพระเจ้า. แล้วผลองุ่นก็ถูกย่ำภายนอกเมือง เลือดที่ไหลออกจากบ่อย่ำองุ่นนั้นสูงถึงบังเหียนม้าและไหลไปไกลหนึ่งพันหกร้อยสตาดิอน.” (วิวรณ์ 14:19, 20, ล.ม.) ความขุ่นเคืองที่พระยะโฮวาทรงมีต่อเถาองุ่นนี้ได้มีการแถลงไว้นานมาแล้ว. (ซะฟันยา 3:8) คำพยากรณ์ในพระธรรมยะซายาไม่ให้โอกาสที่จะมีข้อสงสัยเลยว่า หลายชาติจะถูกทำลายเมื่อบ่อย่ำองุ่นถูกย่ำ. (ยะซายา 63:3-6) โยเอลก็ได้พยากรณ์เช่นกันว่า “มวลชน” คือหลายชาติ จะถูกย่ำสู่ความพินาศใน “บ่อย่ำองุ่น” ใน “หุบเขาแห่งการพิพากษา.” (โยเอล 3:12-14, ฉบับแปลใหม่) แท้จริง การเก็บเกี่ยวครั้งยิ่งใหญ่เหมือนครั้งนี้จะไม่เกิดขึ้นอีกเลย! ตามที่บอกไว้ในนิมิตของโยฮัน ไม่เพียงแต่ลูกองุ่นเท่านั้นที่ถูกเกี่ยวแต่เถาองุ่นโดยนัยทั้งสิ้นจะถูกตัดและโยนลงในบ่อย่ำองุ่นเพื่อให้ถูกย่ำ. ดังนั้น เถาองุ่นแห่งแผ่นดินโลกจึงจะถูกกำจัดออกไปและจะไม่อาจงอกขึ้นได้อีกเลย.
28. ใครเป็นผู้ทำการย่ำเถาองุ่นแห่งแผ่นดินโลก และการที่บ่อย่ำองุ่นถูก “ย่ำภายนอกเมือง” นั้นหมายความอย่างไร?
28 มีการใช้ม้าทำการย่ำโดยนัยนั้น เพราะเลือดที่ถูกย่ำไหลออกจากบ่อย่ำองุ่นสูงถึง “บังเหียนม้า.” เนื่องจากตามปกติแล้วคำว่า “ม้า” มักหมายถึงการทำสงคราม นี้จึงต้องเป็นยามสงคราม. มีกล่าวไว้ว่า กองทัพแห่งสวรรค์ซึ่งติดตามพระเยซูเข้าสู่การสงครามครั้งสุดท้ายกับระบบของซาตานนั้นจะย่ำ “บ่อย่ำองุ่นแห่งพระพิโรธอันแรงกล้าของพระเจ้าผู้ทรงฤทธานุภาพทุกประการ.” (วิวรณ์ 19:11-16, ล.ม.) เป็นที่ชัดแจ้งว่า คนเหล่านี้คือผู้ที่ทำการย่ำบ่อย่ำองุ่นแห่งแผ่นดินโลก. บ่อย่ำองุ่นนั้นถูก “ย่ำภายนอกเมือง” กล่าวคือ ภายนอกซีโอนฝ่ายสวรรค์. ที่จริง เหมาะที่เถาองุ่นแห่งแผ่นดินโลกจะถูกย่ำบนแผ่นดินโลก. แต่มันยังจะถูก “ย่ำภายนอกเมือง” ในแง่ที่ว่า จะไม่มีอันตรายมาถึงเหล่าพงศ์พันธุ์ที่เหลืออยู่ของผู้หญิงซึ่งเป็นตัวแทนทางแผ่นดินโลกของซีโอนฝ่ายสวรรค์. คนเหล่านี้พร้อมกับชนฝูงใหญ่จะได้รับการกำบังไว้อย่างปลอดภัยภายในการจัดเตรียมในรูปองค์การฝ่ายแผ่นดินโลกของพระยะโฮวา.—ยะซายา 26:20, 21.
29. เลือดจากบ่อย่ำองุ่นนั้นลึกแค่ไหน ไหลไปไกลเพียงใด และทั้งหมดนี้บ่งชี้ถึงสิ่งใด?
29 นิมิตที่ชัดเจนเช่นนี้มีความคล้ายคลึงกับนิมิตเรื่องการบดขยี้อาณาจักรทั้งหลายแห่งแผ่นดินโลกโดยก้อนหินซึ่งหมายถึงราชอาณาจักรซึ่งมีพรรณนาไว้ที่ดานิเอล 2:34, 44. จะมีการทำลายล้าง. แม่น้ำเลือดที่ไหลจากบ่อย่ำองุ่นนั้นลึกมาก สูงถึงบังเหียนม้า และไหลออกไปเป็นระยะทาง 1,600 สตาดิอน.a ตัวเลขมหาศาลนี้ ซึ่งได้จากสี่ยกกำลังสองคูณด้วยสิบยกกำลังสอง (4 × 4 ×10 ×10) แสดงภาพชัดเจนว่าการทำลายล้างนี้จะเกี่ยวพันกับแผ่นดินโลกทั้งสิ้น. (ยะซายา 66:15, 16) การทำลายล้างนี้จะสำเร็จครบถ้วนและไม่อาจเปลี่ยนแปลงได้. เถาองุ่นแห่งแผ่นดินโลกซึ่งเป็นของซาตานนั้นจะไม่มีวันงอกรากได้อีกเลย!—บทเพลงสรรเสริญ 83:17, 18.
30. ผลแห่งเถาองุ่นของซาตานเป็นอย่างไร และเราควรมีความตั้งใจแน่วแน่เช่นไร?
30 การที่เรามีชีวิตอยู่ในช่วงปลายของเวลาอวสาน ทำให้นิมิตเกี่ยวกับการเก็บเกี่ยวทั้งสองนี้มีความหมายอย่างยิ่งทีเดียว. เราเพียงแต่มองไปรอบ ๆ ก็จะเห็นผลแห่งเถาองุ่นของซาตาน. การทำแท้งและฆาตกรรมในรูปแบบอื่น ๆ; รักร่วมเพศ, การเล่นชู้, และการผิดศีลธรรมในรูปแบบอื่น ๆ; ความไม่ซื่อสัตย์และการขาดความรักใคร่ตามธรรมชาติ—สิ่งทั้งปวงเหล่านี้ทำให้โลกนี้ชั่วช้าน่าสะอิดสะเอียนในสายพระเนตรของพระยะโฮวา. เถาองุ่นของซาตานเกิด ‘ผลเป็นพืชมีพิษและบอระเพ็ด.’ แนวทางที่ก่อความหายนะ, เลื่อมใสอย่างงมงายของมันนั้นหลู่เกียรติพระผู้สร้างองค์ใหญ่ยิ่งของมนุษยชาติ. (พระบัญญัติ 29:18; 32:5; ยะซายา 42:5, 8) เป็นสิทธิพิเศษจริง ๆ ที่ได้สมทบกับชนจำพวกโยฮันด้วยความกระตือรือร้นในการเก็บเกี่ยวผลอันดีงามซึ่งพระเยซูทรงทำให้บังเกิดขึ้นเพื่อเป็นคำสรรเสริญแด่พระยะโฮวา! (ลูกา 10:2) ขอให้เราทั้งหลายตั้งใจแน่วแน่ว่าเราจะไม่มีวันถูกเถาองุ่นแห่งแผ่นดินโลกนี้ทำให้เสื่อมเสียไป และด้วยวิธีนั้นขอให้เราหลีกเลี่ยงการถูกย่ำไปพร้อมกับเถาองุ่นแห่งแผ่นดินโลกเมื่อมีการลงโทษตามการพิพากษาของพระยะโฮวา.
[เชิงอรรถ]
a 1,600 สตาดิอนเท่ากับระยะทางประมาณ 300 กิโลเมตร หรือ 180 ไมล์ของอังกฤษ.—วิวรณ์ 14:20 พระคัมภีร์ฉบับแปลโลกใหม่ที่มีข้ออ้างอิง, เชิงอรรถ.
[กรอบหน้า 208]
‘เหล้าองุ่นแห่งการผิดประเวณีของเมืองนี้’
ส่วนที่เด่นแห่งบาบิโลนใหญ่คือคริสตจักรโรมันคาทอลิก. คริสตจักรนี้มีการปกครองโดยโปปแห่งโรมและอ้างว่าโปปแต่ละคนเป็นผู้สืบตำแหน่งของอัครสาวกเปโตร. ที่ติดตามมาก็คือข้อเท็จจริงบางอย่างที่มีการแถลงเกี่ยวกับบุคคลเหล่านี้ซึ่งเรียกกันว่าผู้สืบตำแหน่ง:
ฟอร์โมซุส (891–896): “เก้าเดือนหลังจากเขาสิ้นชีวิต ร่างของฟอร์โมซุสถูกขุดขึ้นมาจากห้องใต้ดินอันเป็นที่ฝังศพของพวกโปปและถูกนำตัวขึ้นศาลเพื่อสอบสวนต่อหน้าสภา ‘ซากศพ’ ซึ่งสตีเฟน [โปปคนใหม่] เป็นประธาน. โปปซึ่งตายแล้วถูกกล่าวหาเกี่ยวด้วยความทะเยอทะยานอันเลยเถิดเพื่อตำแหน่งโปปและกฤษฎีกาทั้งหมดที่เขาได้ออกไว้ถูกประกาศว่าโมฆะ. . . . มีการถอดชุดโปปออกจากซากศพเขา นิ้วมือขวาของเขาก็ถูกตัดทิ้ง.”—สารานุกรมนิว คาทอลิก.
สตีเฟนที่ 6 (896–897): “ภายในไม่กี่เดือน [แห่งการสอบสวนซากศพของฟอร์โมซุส] ปฏิกิริยาอันรุนแรงทำให้ระยะเวลาดำรงตำแหน่งโปปของสตีเฟนสิ้นสุดลง เขาถูกถอดจากตำแหน่งโปป, ถูกจำคุก, และถูกรัดคอ.”—สารานุกรมนิว คาทอลิก.
เซอร์จิอุสที่ 3 (904–911): “ผู้ที่เคยดำรงตำแหน่งก่อนหน้าเขาสองคน . . . ถูกรัดคอในคุก. . . . ในโรมเขาได้รับการสนับสนุนจากตระกูลทีโอฟีลักตุส โดยบุตรีคนหนึ่งของตระกูลนี้ มาโรเซีย เชื่อกันว่าเขามีบุตรชายคนหนึ่ง (ต่อมาก็คือโปปจอห์นที่ 11).”—สารานุกรมนิว คาทอลิก.
สตีเฟนที่ 7 (928–931): “ในปีสุดท้ายแห่งการดำรงตำแหน่งโปป จอห์นที่ 10 . . . ได้ทำให้มาโรเซีย ท่านวุฒิสมาชิกหญิง แห่งโรมบังเกิดโทสะ และได้ถูกจำคุกและถูกลอบฆ่า. ครั้นแล้วมาโรเซียก็ได้มอบตำแหน่งโปปให้ลีโอที่ 6 ซึ่งเสียชีวิตหลังจากดำรงตำแหน่งได้ 6 เดือนครึ่ง. สตีเฟนที่ 7 ได้สืบตำแหน่งต่อมา คงเนื่องด้วยอิทธิพลของมาโรเซีย. . . . ในระหว่าง 2 ปีที่เขาเป็นโปป เขาไร้อำนาจโดยอยู่ใต้อิทธิพลของมาโรเซีย.”—สารานุกรมนิว คาทอลิก.
จอห์นที่ 11 (931–935): “คราวการสิ้นชีวิตของสตีเฟนที่ 7 . . . มาโรเซียแห่งตระกูลทีโอฟีลักตุสก็ได้รับเอาตำแหน่งโปปมาไว้เพื่อให้แก่จอห์น บุตรชายของนาง ชายหนุ่มอายุยี่สิบเศษ. . . . เมื่อเป็นโปป จอห์นก็อยู่ใต้อำนาจมารดาของเขา.”—สารานุกรมนิว คาทอลิก.
จอห์นที่ 12 (955–964): “เขาอายุยังไม่ถึงสิบแปด และบันทึกต่าง ๆ ในสมัยของเขาเห็นพ้องเกี่ยวกับเรื่องการที่เขาไม่สนใจในสิ่งฝ่ายวิญญาณ ลุ่มหลงมัวเมากับความสนุกสนานแบบหยาบโลน และชีวิตที่หลงระเริงไม่มีการเหนี่ยวรั้งตน.”—พจนานุกรม ดิ ออกซฟอร์ด เกี่ยวกับพวกโปป.
เบเนดิกต์ที่ 9 (1032–1044; 1045; 1047–1048): “เขามีชื่อฉาวโฉ่เนื่องจากการขายตำแหน่งโปปให้แก่พ่ออุปถัมภ์ของเขาและต่อมาก็เอาตำแหน่งกลับคืนมาอีกสองครั้ง.”—สารานุกรมบริแทนนิกาใหม่.
ฉะนั้น แทนที่จะเลียนแบบอย่างของเปโตรผู้ซื่อสัตย์ คนเหล่านี้และโปปคนอื่น ๆ เป็นอำนาจชักจูงที่ชั่ว. พวกเขายอมให้กับความผิดฐานทำให้เลือดตกและการผิดประเวณีทั้งทางฝ่ายวิญญาณและฝ่ายร่างกาย เช่นเดียวกับอิทธิพลของนางอีซาเบล ซึ่งทำให้คริสตจักรที่พวกเขาปกครองนั้นเสื่อมเสีย. (ยาโกโบ 4:4) ในปี 1917 หนังสือของสมาคมว็อชเทาเวอร์ชื่อ ความลึกลับที่สำเร็จแล้ว จัดให้มีข้อเท็จจริงเหล่านี้มากมายในรายละเอียดที่ชัดแจ้ง. นั่นเป็นวิธีหนึ่งที่พวกนักศึกษาพระคัมภีร์ในสมัยนั้น ‘โจมตีแผ่นดินโลกด้วยภัยพิบัติทุกชนิด.’—วิวรณ์ 11:6; 14:8; 17:1, 2, 5.
[ภาพหน้า 206]
พระคริสต์ผู้ครองราชย์ทรงดำเนินการพิพากษาพร้อมด้วยการสนับสนุนจากทูตสวรรค์
[ภาพหน้า 207]
ภายหลังจากบาบิโลนล่มจมในปี 539 ก่อนสากลศักราช พวกเชลยก็ได้รับการปลดปล่อย