บท 31
พระราชกิจของพระยะโฮวา—ใหญ่ยิ่งและมหัศจรรย์
นิมิต 10—วิวรณ์ 15:1–16:21
เรื่อง: พระยะโฮวาในที่ศักดิ์สิทธิ์ของพระองค์; ขันทั้งเจ็ดแห่งพระพิโรธของพระองค์ถูกเทลงบนแผ่นดินโลก
เวลาที่สำเร็จเป็นจริง: ตั้งแต่ปี 1919 ถึงอาร์มาเก็ดดอน
1, 2. (ก) นิมิตที่สามอะไรที่โยฮันรายงาน? (ข) ผู้รับใช้ของพระยะโฮวารู้มานานแล้วถึงบทบาทอะไรของทูตสวรรค์?
หญิงคนหนึ่งกำลังคลอดบุตรชาย! พญานาคใหญ่ตัวหนึ่งกำลังหาช่องทางจะเขมือบเด็กนั้น! นิมิตในสวรรค์ทั้งสองนี้ ซึ่งมีพรรณนาไว้อย่างชัดเจนในวิวรณ์บท 12 ทำให้เราเข้าใจว่า กรณีพิพาทอันยาวนานระหว่างพงศ์พันธุ์แห่งผู้หญิงของพระเจ้ากับซาตานและพงศ์พันธุ์ผีปิศาจของมันกำลังจะบรรลุจุดสุดยอด. ในการเน้นสัญลักษณ์เหล่านี้ โยฮันกล่าวว่า “มีนิมิตสำคัญอย่างหนึ่งปรากฏในสวรรค์” และ “มีนิมิตอีกอย่างหนึ่งปรากฏในสวรรค์.” (วิวรณ์ 12:1, 3, 7-12, ล.ม.) บัดนี้ โยฮันรายงานนิมิตที่สาม: “แล้วข้าพเจ้าก็เห็นนิมิตสำคัญและอัศจรรย์อีกอย่างหนึ่งในสวรรค์คือ ทูตสวรรค์เจ็ดองค์กับภัยพิบัติเจ็ดอย่าง. ภัยพิบัติเหล่านี้เป็นภัยพิบัติเจ็ดอย่างสุดท้าย เพราะพระพิโรธของพระเจ้าจะสิ้นสุดโดยภัยพิบัติเหล่านี้.” (วิวรณ์ 15:1, ล.ม.) นิมิตประการที่สามนี้ยังมีความหมายสำคัญยิ่งสำหรับผู้รับใช้ของพระยะโฮวาอีกด้วย.
2 จงสังเกตบทบาทอันสำคัญที่เหล่าทูตสวรรค์มีอีกครั้งหนึ่งในการทำให้พระทัยประสงค์ของพระเจ้าสำเร็จ. ผู้รับใช้ของพระยะโฮวาทราบข้อเท็จจริงนี้นานมาแล้ว. ภายใต้การดลใจ ท่านผู้ประพันธ์บทเพลงสรรเสริญถึงกับได้พูดกับทูตสวรรค์เหล่านี้ เร่งเร้าพวกเขาดังนี้: “ทูตสวรรค์ทั้งหลาย, จงสรรเสริญพระยะโฮวาเถิด, คือทูตผู้มีกำลังมาก, ผู้ปฏิบัติตามพระดำรัสของพระองค์, ผู้ที่คอยฟังพระสุรเสียงของพระองค์”! (บทเพลงสรรเสริญ 103:20) มาบัดนี้ ในฉากใหม่นี้ เหล่าทูตสวรรค์ได้รับมอบหมายให้เทภัยพิบัติเจ็ดประการสุดท้ายออกมา.
3. ภัยพิบัติเจ็ดประการคืออะไร และการเทภัยพิบัติเหล่านี้หมายถึงสิ่งใด?
3 ภัยพิบัติเหล่านี้คืออะไร? เช่นเดียวกับเสียงแตรทั้งเจ็ด ภัยพิบัติเหล่านี้คือถ้อยแถลงแห่งการพิพากษาอันเฉียบขาดซึ่งประกาศให้ทราบทัศนะที่พระยะโฮวาทรงมีต่อลักษณะต่าง ๆ ของโลกนี้ และเตือนเรื่องผลบั้นปลายแห่งการตัดสินของพระองค์. (วิวรณ์ 8:1–9:21) การเทภัยพิบัติเหล่านั้นออกมาชี้ถึงการลงโทษตามคำพิพากษาเหล่านั้น เมื่อเป้าหมายแห่งพระพิโรธของพระยะโฮวาถูกทำลายในวันแห่งพระพิโรธอันแรงกล้าของพระองค์. (ยะซายา 13:9-13; วิวรณ์ 6:16, 17) ด้วยเหตุนี้ โดยทางพวกเขา “พระพิโรธของพระเจ้าจะสิ้นสุด.” แต่ก่อนจะพรรณนาการเทภัยพิบัติเหล่านี้ โยฮันแจ้งให้เราทราบถึงมนุษย์บางคนซึ่งจะไม่ได้รับอันตรายจากภัยพิบัติเหล่านั้น. เนื่องจากพวกเขาได้ปฏิเสธการรับเอาเครื่องหมายของสัตว์ร้าย ผู้ภักดีเหล่านี้จึงร้องเพลงสรรเสริญพระยะโฮวาขณะที่พวกเขาประกาศวันแห่งการแก้แค้นของพระองค์.—วิวรณ์ 13:15-17.
เพลงของโมเซและของพระเมษโปดก
4. บัดนี้โยฮันมองเห็นอะไร?
4 บัดนี้โยฮันมองเห็นภาพต่อเนื่องที่น่าทึ่ง: “ข้าพเจ้าเห็นสิ่งที่ดูเหมือนเป็นทะเลแก้วปนไฟกับคนเหล่านั้นที่ได้เอาชนะสัตว์ร้ายและรูปของมันรวมทั้งเลขที่เป็นชื่อของมันยืนอยู่ริมทะเลแก้วและถือพิณของพระเจ้า.”—วิวรณ์ 15:2, ล.ม.
5. “ทะเลแก้วปนไฟ” เป็นภาพเล็งถึงสิ่งใด?
5 “ทะเลแก้ว” นี้เป็นอันเดียวกับที่โยฮันได้เห็นก่อนหน้านี้ ตั้งอยู่ตรงหน้าราชบัลลังก์ของพระเจ้า. (วิวรณ์ 4:6) ทะเลแก้วนี้คล้ายกับ “ทะเลหล่อ” (ภาชนะใส่น้ำ) ในพระวิหารของซะโลโม ที่ซึ่งเหล่าปุโรหิตจะได้น้ำมาชำระตัว. (1 พงศาวดารกษัตริย์ 7:23) ด้วยเหตุนี้ ทะเลแก้วจึงเป็นสัญลักษณ์ที่ดีถึง “น้ำ” นั่นคือ พระคำของพระเจ้าซึ่งพระเยซูทรงใช้เพื่อชำระประชาคมแห่งเหล่าปุโรหิตอันประกอบด้วยคริสเตียนผู้ถูกเจิม. (เอเฟโซ 5:25, 26; เฮ็บราย 10:22) ทะเลแก้วนี้ “ปนไฟ” ซึ่งบ่งชี้ว่า ผู้ถูกเจิมเหล่านี้ได้รับการทดสอบและถูกชำระให้บริสุทธิ์ ขณะที่พวกเขาเชื่อฟังมาตรฐานอันสูงที่กำหนดไว้สำหรับพวกเขา. นอกจากนี้ ทะเลแก้วนี้ยังเตือนพวกเราว่า พระคำของพระเจ้าบรรจุถ้อยแถลงแห่งการพิพากษาที่ร้อนกล้าต่อศัตรูของพระองค์อีกด้วย. (พระบัญญัติ 9:3; ซะฟันยา 3:8) การพิพากษาที่ร้อนกล้าเหล่านี้บางประการได้มีแสดงไว้ในภัยพิบัติเจ็ดประการสุดท้ายซึ่งกำลังจะได้รับการเทออก.
6. (ก) ใครคือเหล่านักร้องที่ยืนอยู่หน้าทะเลแก้วฝ่ายสวรรค์ และเราทราบได้อย่างไร? (ข) พวกเขา “ได้เอาชนะ” ด้วยวิธีใด?
6 ข้อเท็จจริงที่ว่า ทะเลหล่อในพระวิหารของซะโลโมนั้นเป็นภาชนะที่เหล่าปุโรหิตใช้แสดงว่า เหล่านักร้องที่ยืนอยู่ต่อหน้าทะเลแก้วในสวรรค์เป็นชนจำพวกปุโรหิต. พวกเขามี “พิณของพระเจ้า” และด้วยเหตุนี้ เราจึงเชื่อมโยงพวกเขากับผู้ปกครอง 24 คนและชน 144,000 คน เนื่องจากทั้งสองกลุ่มนี้ก็ร้องเพลงคลอไปกับเสียงพิณเช่นกัน. (วิวรณ์ 5:8; 14:2) เหล่านักร้องที่โยฮันเห็น “ได้เอาชนะสัตว์ร้ายและรูปของมันรวมทั้งเลขที่เป็นชื่อของมัน.” ดังนั้น พวกเขาจึงต้องเป็นคนในจำพวกชน 144,000 คน ผู้ซึ่งมีชีวิตอยู่บนแผ่นดินโลกนี้ในสมัยสุดท้าย. ในฐานะเป็นกลุ่ม พวกเขาได้รับชัยชนะอย่างแท้จริง. เป็นเวลาเกือบ 90 ปีนับตั้งแต่ปี 1919 พวกเขาไม่ยอมรับเอาเครื่องหมายของสัตว์ร้ายหรือมองดูรูปของมันว่า เป็นความหวังเดียวของมนุษย์เพื่อจะมีสันติภาพ. หลายคนในพวกเขาได้แสดงความอดทนด้วยความซื่อสัตย์ตราบสิ้นชีวิต และคนเหล่านั้น ซึ่งบัดนี้อยู่ในสวรรค์ คงต้องเฝ้ามองการร้องเพลงของพี่น้องของพวกเขาซึ่งยังคงอยู่บนแผ่นดินโลกด้วยความชื่นชมเป็นพิเศษ.—วิวรณ์ 14:11-13.
7. มีการใช้พิณอย่างไรในอิสราเอลโบราณ และการที่มีพิณของพระเจ้าปรากฏในนิมิตของโยฮันควรมีผลกระทบต่อเราอย่างไร?
7 ผู้มีชัยชนะที่ภักดีเหล่านี้มีพิณของพระเจ้า. ในแง่นี้ พวกเขาเป็นเหมือนพวกเลวีประจำพระวิหารในสมัยโบราณซึ่งนมัสการพระยะโฮวาด้วยการร้องเพลงคลอไปกับเสียงพิณ. บางคนยังได้พยากรณ์คลอไปกับเสียงพิณด้วย. (1 โครนิกา 15:16; 25:1-3) ท่วงทำนองอันไพเราะของเสียงพิณเพิ่มความงดงามให้แก่เพลงที่พวกอิสราเอลร้องแสดงความยินดี และคำอธิษฐานสรรเสริญและการขอบพระคุณแด่พระยะโฮวา. (1 โครนิกา 13:8; บทเพลงสรรเสริญ 33:2; 43:4; 57:7, 8) ไม่มีเสียงพิณให้ได้ยินในช่วงเวลาแห่งการตกต่ำหรือเมื่อถูกจับเป็นเชลย. (บทเพลงสรรเสริญ 137:2) การที่พิณของพระเจ้าปรากฏอยู่ในนิมิตนี้น่าจะกระตุ้นความมุ่งหวังของเราในเรื่องเพลงแห่งความปีติยินดีและชัยชนะเพื่อสรรเสริญและขอบพระคุณพระเจ้าของเรา.a
8. มีการร้องเพลงอะไร และเพลงนี้มีเนื้อร้องอย่างไร?
8 นั่นคือสิ่งที่โยฮันรายงาน: “พวกเขากำลังร้องเพลงของโมเซทาสของพระเจ้าและเพลงของพระเมษโปดกว่า ‘ข้าแต่พระยะโฮวาพระเจ้าผู้ทรงฤทธานุภาพทุกประการ พระราชกิจของพระองค์ยิ่งใหญ่และมหัศจรรย์. ข้าแต่พระมหากษัตริย์แห่งนิรันดรกาล ทางของพระองค์ชอบธรรมและเป็นทางแห่งความจริง. ข้าแต่พระยะโฮวา ใครเล่าจะไม่ยำเกรงพระองค์และเทิดทูนพระนามของพระองค์ เพราะพระองค์ผู้เดียวทรงภักดี. ทุกชาติจะมานมัสการเฉพาะพระพักตร์พระองค์เพราะข้อกำหนดอันชอบธรรมของพระองค์ก็เป็นที่ประจักษ์แจ้งแล้ว.’”—วิวรณ์ 15:3, 4, ล.ม.
9. เพราะเหตุใดจึงเรียกบางส่วนของเพลงนี้ว่า “เพลงของโมเซ”?
9 ผู้มีชัยเหล่านี้ร้อง “เพลงของโมเซ” นั่นคือ เพลงที่คล้ายกับเพลงที่โมเซได้ร้องในสภาพการณ์เหมือน ๆ กัน. หลังจากชาติอิสราเอลได้รู้เห็นภัยพิบัติสิบประการในอียิปต์และการทำลายกองทัพชาวอียิปต์ในทะเลแดง โมเซได้นำพวกเขาในการร้องเพลงแห่งชัยชนะสรรเสริญพระยะโฮวา โดยประกาศว่า “พระยะโฮวาจะทรงครอบครองอยู่เป็นนิตย์นิรันดร์.” (เอ็กโซโด 15:1-19) ช่างเหมาะสมเพียงไรที่เหล่านักร้องในนิมิตของโยฮันซึ่งประสบชัยชนะเหนือสัตว์ร้ายและมีส่วนในการประกาศภัยพิบัติเจ็ดประการสุดท้ายนั้น จะร้องเพลงถวายแด่ “พระมหากษัตริย์แห่งนิรันดรกาล” เช่นกัน!—1 ติโมเธียว 1:17, ล.ม.
10. โมเซได้แต่งเพลงอื่นอะไรอีก และเนื้อท่อนสุดท้ายของเพลงนี้เกี่ยวพันกับชนฝูงใหญ่ในสมัยนี้อย่างไร?
10 ในเพลงอีกบทหนึ่งซึ่งถูกแต่งขึ้นขณะที่ชาติอิสราเอลเตรียมพร้อมจะพิชิตคะนาอัน โมเซผู้ชราได้บอกชนชาตินี้ว่า “เราจะประกาศพระนามพระยะโฮวา: จงถวายสาธุการในความเป็นใหญ่แก่พระเจ้าของเรา.” ท่อนสุดท้ายของเพลงนี้ยังได้ให้การหนุนใจแก่คนที่ไม่ใช่ชาติอิสราเอลด้วย และถ้อยคำของโมเซโดยการดลใจแผ่มาถึงชนฝูงใหญ่ในทุกวันนี้ทีเดียวที่ว่า “ชนประเทศทั้งหลายเอ๋ย จงยินดีกับไพร่พลของพระองค์.” และเพราะเหตุใดพวกเขาจึงควรยินดี? เพราะว่าบัดนี้ พระยะโฮวา “จะแก้แค้นโลหิตของผู้ทาสพระองค์ และจะตอบแทนแก่ผู้ขัดขวางพระองค์อยู่.” การลงโทษตามการพิพากษาอันชอบธรรมนี้จะนำความปีติยินดีมายังทุกคนที่มีความหวังในพระยะโฮวา.—พระบัญญัติ 32:3, 43; โรม 15:10-13; วิวรณ์ 7:9.
11. เพลงที่โยฮันได้ยินนั้นมีความสำเร็จเป็นจริงต่อไปอย่างไร?
11 โมเซเองคงจะมีความชื่นชมยินดีสักเพียงไร ถ้าจะได้อยู่ในวันขององค์พระผู้เป็นเจ้าในตอนนี้ ร่วมร้องเพลงกับคณะนักร้องในสวรรค์ว่า “ทุกชาติจะมานมัสการเฉพาะพระพักตร์พระองค์”! เพลงอันยอดเยี่ยมนี้ยังคงมีความสำเร็จเป็นจริงอันน่ามหัศจรรย์จนกระทั่งทุกวันนี้ดังที่เราเห็น ไม่เพียงแต่ในนิมิต แต่เป็นของจริงที่มีชีวิต หลายล้านคนจาก ‘ชาติต่าง ๆ’ บัดนี้ร่วมสมทบกับองค์การทางแผ่นดินโลกของพระยะโฮวาด้วยความยินดี.
12. ทำไมเพลงของผู้ประสบชัยชนะจึงถูกเรียกว่า “เพลงของพระเมษโปดก” ด้วยเช่นกัน?
12 อย่างไรก็ดี เพลงนี้ไม่เพียงเป็นเพลงของโมเซเท่านั้น แต่เป็นเพลงของ “พระเมษโปดก” ด้วย. โดยวิธีใด? โมเซเป็นผู้พยากรณ์ของพระยะโฮวาสำหรับชาติอิสราเอล แต่โมเซเองพยากรณ์ว่า พระยะโฮวาจะทรงโปรดให้มีผู้พยากรณ์อีกคนหนึ่งเหมือนท่าน. ผู้นั้นคือพระเมษโปดก พระเยซูคริสต์. ขณะที่โมเซเป็น “ทาสของพระเจ้า” พระเยซูทรงเป็นพระบุตรของพระเจ้า แท้จริง พระองค์ทรงเป็นโมเซผู้ยิ่งใหญ่กว่า. (พระบัญญัติ 18:15-19; กิจการ 3:22, 23; เฮ็บราย 3:5, 6) ฉะนั้น เหล่านักร้องจึงร้อง “เพลงของพระเมษโปดก” ด้วย.
13. (ก) เป็นไปอย่างไรที่พระเยซู แม้จะยิ่งใหญ่กว่าโมเซ แต่ก็เป็นเช่นเดียวกับท่าน? (ข) เราจะร่วมกับเหล่านักร้องนั้นได้อย่างไร?
13 เช่นเดียวกับโมเซ พระเยซูได้ทรงร้องเพลงสรรเสริญพระเจ้าและพยากรณ์เรื่องชัยชนะของพระเจ้าเหนือศัตรูทั้งสิ้นของพระองค์อย่างเปิดเผย. (มัดธาย 24:21, 22; 26:30; ลูกา 19:41-44) พระเยซูเช่นกันทรงคอยท่าเวลาเมื่อนานาชาติจะพากันเข้ามาสรรเสริญพระยะโฮวา และในฐานะ “พระเมษโปดกของพระเจ้า” ผู้ทรงสละพระองค์เอง พระองค์จึงได้สละชีวิตมนุษย์ของพระองค์เพื่อทำให้สิ่งนี้เป็นไปได้. (โยฮัน 1:29; วิวรณ์ 7:9; เทียบกับยะซายา 2:2-4; ซะคาระยา 8:23.) และเช่นเดียวกับที่โมเซได้มาหยั่งรู้ค่าพระนามของพระเจ้า ยะโฮวา และยกย่องพระนามนั้น พระเยซูก็ได้ทรงทำให้พระนามของพระเจ้าเป็นที่รู้จักเช่นกัน. (เอ็กโซโด 6:2, 3; เพลงสรรเสริญ 90:1, 17; โยฮัน 17:6) เนื่องด้วยพระยะโฮวาทรงเป็นผู้ภักดี คำสัญญาอันรุ่งโรจน์ของพระองค์จึงจะสำเร็จเป็นจริงแน่นอน. ดังนั้น เราจึงเป็นหนึ่งเดียวกับนักร้องผู้ภักดีเหล่านี้, กับพระเมษโปดก, และกับโมเซอย่างแน่นอนในการเห็นด้วยกับเนื้อเพลงนั้นที่ว่า “ข้าแต่พระยะโฮวา ใครเล่าจะไม่ยำเกรงพระองค์และเทิดทูนพระนามของพระองค์?”
เหล่าทูตสวรรค์ที่ถือขันทองคำ
14. โยฮันเห็นผู้ใดออกมาจากที่ศักดิ์สิทธิ์ และเขาเหล่านั้นได้รับมอบอะไร?
14 เป็นการเหมาะสมที่เราได้ยินเพลงของผู้ถูกเจิมที่มีชัยเหล่านั้น. เพราะเหตุใด? เพราะพวกเขาได้ป่าวประกาศคำพิพากษาซึ่งบรรจุอยู่ในขันที่เต็มไปด้วยพระพิโรธของพระเจ้านั้นบนแผ่นดินโลก. แต่การเทขันเหล่านี้มีความเกี่ยวข้องไม่เพียงกับมนุษย์เท่านั้น ดังที่โยฮันชี้แจงต่อไป: “หลังจากนั้นข้าพเจ้าก็เห็นที่ศักดิ์สิทธิ์ในพลับพลาถูกเปิดออกในสวรรค์ แล้วทูตสวรรค์เจ็ดองค์ที่มีภัยพิบัติเจ็ดอย่างก็ออกมาจากที่ศักดิ์สิทธิ์นั้น พวกท่านนุ่งห่มผ้าลินินสะอาดสดใสและคาดหน้าอกด้วยผ้าแถบทองคำ. แล้วสิ่งมีชีวิตองค์หนึ่งในสี่องค์นั้นมอบขันทองคำเจ็ดใบแก่ทูตสวรรค์เจ็ดองค์นั้น ขันเหล่านั้นเต็มด้วยพระพิโรธของพระเจ้าผู้ทรงพระชนม์อยู่ตลอดไปเป็นนิตย์.”—วิวรณ์ 15:5-7, ล.ม.
15. เพราะเหตุใดจึงไม่น่าแปลกใจที่ทูตสวรรค์ทั้งเจ็ดออกมาจากที่ศักดิ์สิทธิ์?
15 ในส่วนพระวิหารของชาวอิสราเอลซึ่งบรรจุสิ่งที่เป็นตัวแทนของสิ่งที่อยู่ในสวรรค์ เฉพาะมหาปุโรหิตเท่านั้นที่สามารถเข้าในห้องบริสุทธิ์ที่สุดซึ่งมีการเรียกในที่นี่ว่า “ที่ศักดิ์สิทธิ์.” (เฮ็บราย 9:3, 7) ห้องนี้หมายถึงที่ประทับของพระยะโฮวาในสวรรค์. แต่ในสรวงสวรรค์ ไม่เพียงมหาปุโรหิตเยซูคริสต์เท่านั้นที่มีสิทธิพิเศษในการเข้าเฝ้าพระยะโฮวา แต่เหล่าทูตสวรรค์ก็มีสิทธิพิเศษนั้นด้วย. (มัดธาย 18:10; เฮ็บราย 9:24-26) ดังนั้น จึงไม่น่าแปลกใจที่เห็นทูตสวรรค์เจ็ดองค์ออกมาจากที่ศักดิ์สิทธิ์ในสวรรค์. พวกเขาได้รับงานมอบหมายจากพระยะโฮวาเองให้เทขันที่เต็มไปด้วยพระพิโรธของพระเจ้า.—วิวรณ์ 16:1.
16. (ก) อะไรแสดงว่าทูตสวรรค์เจ็ดองค์นั้นมีคุณสมบัติพร้อมสำหรับงานของพวกเขา? (ข) อะไรบ่งชี้ว่ามีบุคคลอื่น ๆ ด้วยที่เกี่ยวข้องในภารกิจยิ่งใหญ่แห่งการเทขันโดยนัยเหล่านั้น?
16 ทูตสวรรค์เหล่านี้มีคุณสมบัติพร้อมสำหรับงานนี้. พวกเขานุ่งห่มผ้าลินินสะอาดสดใส แสดงว่าพวกเขาสะอาดและบริสุทธิ์ฝ่ายวิญญาณ ชอบธรรมในสายพระเนตรของพระยะโฮวา. พวกเขาคาดหน้าอกด้วยผ้าแถบทองคำอีกด้วย. มักจะมีการใช้ผ้าคาดหน้าอก เมื่อคนเราเตรียมตัวสำหรับงานที่ต้องทำให้แล้วเสร็จ. (เลวีติโก 8:7, 13; 1 ซามูเอล 2:18; ลูกา 12:37; โยฮัน 13:4, 5) ดังนั้น เหล่าทูตสวรรค์คาดหน้าอกเพื่อจะทำงานมอบหมายให้ลุล่วง. ยิ่งกว่านั้น ผ้าคาดหน้าอกของพวกเขาเป็นทองคำ. ในพลับพลาโบราณ ใช้ทองคำแทนสิ่งฝ่ายสวรรค์ของพระเจ้า. (เฮ็บราย 9:4, 11, 12) นั่นจึงหมายความว่า ทูตสวรรค์เหล่านี้ได้รับมอบหมายงานรับใช้อันล้ำค่าจากพระเจ้าให้ดำเนินการ. มีบุคคลอื่น ๆ ด้วยที่เกี่ยวข้องอยู่ในภารกิจอันยิ่งใหญ่นี้. สิ่งมีชีวิตหนึ่งในสี่องค์ส่งมอบขันเหล่านั้นแก่พวกเขา. ไม่ต้องสงสัย นี่คือสิ่งมีชีวิตองค์ที่หนึ่งซึ่งคล้ายกับสิงโต ซึ่งเป็นสัญลักษณ์ของความมุ่งมาดปรารถนาและความกล้าหาญไม่ย่อท้อ ซึ่งจำเป็นสำหรับการประกาศคำพิพากษาของพระยะโฮวา.—วิวรณ์ 4:7.
พระยะโฮวาในที่ศักดิ์สิทธิ์ของพระองค์
17. โยฮันบอกอะไรแก่เราเกี่ยวกับที่ศักดิ์สิทธิ์นั้น และเรื่องนั้นเตือนใจเราให้ระลึกถึงที่ศักดิ์สิทธิ์ในอิสราเอลโบราณอย่างไร?
17 ในที่สุด นิมิตส่วนนี้สิ้นสุดลงเมื่อโยฮันบอกเราว่า “แล้วที่ศักดิ์สิทธิ์นั้นก็เต็มไปด้วยควันอันเนื่องจากพระรัศมีและฤทธิ์เดชของพระเจ้า ไม่มีใครจะเข้าไปในที่ศักดิ์สิทธิ์นั้นได้จนกว่าภัยพิบัติเจ็ดอย่างของทูตสวรรค์เจ็ดองค์นั้นจะสิ้นสุดลง.” (วิวรณ์ 15:8, ล.ม.) เคยมีบางโอกาสในประวัติศาสตร์ของชาติอิสราเอลเมื่อควันได้ปกคลุมที่ศักดิ์สิทธิ์จริง ๆ นั้น และการสำแดงซึ่งสง่าราศีของพระยะโฮวาเช่นนี้ได้กันเหล่าปุโรหิตไว้จากการเข้าไปที่นั่น. (1 พงศาวดารกษัตริย์ 8:10, 11; 2 โครนิกา 5:13, 14; เทียบกับยะซายา 6:4, 5.) ช่วงเวลาเหล่านั้นเป็นเวลาที่พระยะโฮวาทรงเข้าเกี่ยวข้องกับเหตุการณ์ต่าง ๆ บนแผ่นดินโลกอย่างแข็งขัน.
18. เมื่อไรทูตสวรรค์ทั้งเจ็ดจะกลับมาถวายรายงานแด่พระยะโฮวา?
18 อนึ่ง พระยะโฮวายังทรงสนพระทัยอย่างลึกซึ้งในสิ่งที่กำลังเกิดขึ้นอยู่บนแผ่นดินโลกในขณะนี้. พระองค์ทรงประสงค์ให้เหล่าทูตสวรรค์ทั้งเจ็ดทำงานมอบหมายของพวกเขาให้เสร็จสิ้น. นั่นคือเวลาสุดยอดแห่งการพิพากษา ดังพรรณนาไว้ในบทเพลงสรรเสริญ 11:4-6 (ล.ม.): “พระยะโฮวาทรงสถิตในพระวิหารบริสุทธิ์ของพระองค์. พระยะโฮวา—ราชบัลลังก์ของพระองค์อยู่ในสวรรค์. พระเนตรของพระองค์เองทรงเพ่งดู พระเนตรที่เปล่งประกายของพระองค์เองตรวจสอบบุตรแห่งมนุษย์ทั้งหลาย. พระยะโฮวาเองทรงตรวจสอบคนชอบธรรมและคนอธรรมด้วย และคนใดที่ชอบความรุนแรงนั้นพระองค์ทรงเกลียดชังอย่างแน่นอน. พระองค์จะทรงทำให้กับดัก, ไฟและกำมะถัน, และลมที่แผดเผาตกลงเหนือคนชั่วดังห่าฝน เป็นส่วนแห่งถ้วยของพวกเขา.” จนกว่าภัยพิบัติทั้งเจ็ดถูกเทออกเหนือคนชั่ว ทูตสวรรค์ทั้งเจ็ดจะไม่กลับไปยังที่ประทับอันสูงส่งของพระยะโฮวา.
19. (ก) มีพระบัญชาอะไรออกมา และโดยใคร? (ข) การเทขันโดยนัยเหล่านั้นต้องได้เริ่มขึ้นเมื่อไร?
19 พระบัญชาอันน่าเกรงขามดังสนั่นออกไป: “ข้าพเจ้าได้ยินเสียงอันดังออกมาจากที่ศักดิ์สิทธิ์ตรัสกับทูตสวรรค์เจ็ดองค์นั้นว่า ‘จงไปเทขันแห่งพระพิโรธของพระเจ้าทั้งเจ็ดใบลงบนแผ่นดินโลก.’” (วิวรณ์ 16:1, ล.ม.) ใครเป็นผู้ออกคำสั่งนี้? คงต้องเป็นพระยะโฮวาเอง เนื่องจากพระรัศมีและฤทธิ์เดชของพระองค์ได้กันไม่ให้ใครเข้าไปในที่ศักดิ์สิทธิ์นั้นได้. พระยะโฮวาเสด็จมายังพระวิหารฝ่ายวิญญาณของพระองค์เพื่อการพิพากษาในปี 1918. (มาลาคี 3:1-5) ดังนั้น คงต้องเป็นเวลาไม่นานหลังจากนั้นที่พระองค์ทรงมีพระบัญชาให้เทขันแห่งพระพิโรธของพระเจ้า. ที่จริง คำพิพากษาที่มีอยู่ในขันโดยนัยเหล่านั้นเริ่มมีการประกาศอย่างเข้มข้นในปี 1922. และการประกาศคำพิพากษาเหล่านั้นกำลังทวีขึ้นถึงขั้นสุดยอดในทุกวันนี้.
ขันทั้งหลายและเสียงแตร
20. ขันแห่งพระพิโรธของพระยะโฮวาเปิดเผยและเตือนในเรื่องอะไร และขันเหล่านั้นถูกเทอย่างไร?
20 ขันแห่งพระพิโรธของพระยะโฮวาเปิดเผยลักษณะต่าง ๆ แห่งฉากของโลกอย่างที่พระยะโฮวาทรงทอดพระเนตรลักษณะเหล่านั้น และเตือนในเรื่องการพิพากษาที่พระยะโฮวาจะทรงดำเนินการ. เหล่าทูตสวรรค์เทขันเหล่านั้นโดยทางประชาคมคริสเตียนผู้ถูกเจิมบนแผ่นดินโลก คือคนเหล่านั้นที่ร้องเพลงของโมเซและเพลงของพระเมษโปดก. ในขณะที่ประกาศเรื่องราชอาณาจักรว่าเป็นข่าวดี ชนจำพวกโยฮันยังได้เปิดเผยสิ่งที่บรรจุอยู่ในขันแห่งพระพิโรธอย่างกล้าหาญ. (มัดธาย 24:14; วิวรณ์ 14:6, 7) ด้วยเหตุนี้ ข่าวสารสองต่อของพวกเขาจึงเป็นข่าวสารแห่งสันติสุขด้วยการประกาศเรื่องเสรีภาพสำหรับมนุษยชาติ แต่ก็เป็นข่าวแห่งการสงครามด้วยการเตือนให้รู้ถึง “วันแห่งความแก้แค้นของพระยะโฮวา.”—ยะซายา 61:1, 2.
21. เป้าหมายของขันสี่ใบแรกแห่งพระพิโรธของพระเจ้าประสานกับเสียงแตรสี่ครั้งแรกอย่างไร และต่างกันที่ไหน?
21 เป้าหมายของขันสี่ใบแรกแห่งพระพิโรธของพระเจ้าประสานกันกับเสียงแตรสี่ครั้งแรก อันได้แก่ แผ่นดินโลก, ทะเล, แม่น้ำและน้ำพุทั้งหลาย, และแหล่งแห่งแสงสว่างทั้งหลายในฟ้าสวรรค์. (วิวรณ์ 8:1-12) แต่ว่าเสียงแตรได้ประกาศภัยพิบัติเหนือ “หนึ่งในสามส่วน” ขณะที่การเทขันแห่งพระพิโรธของพระเจ้านั้นมีผลกระทบทั่วทุกส่วน. ด้วยเหตุนี้ ขณะที่คริสต์ศาสนจักรในฐานะที่เป็น “หนึ่งในสามส่วน” ได้รับการเพ่งเล็งเป็นอันดับแรกในระหว่างวันขององค์พระผู้เป็นเจ้า แต่ไม่มีสักส่วนเดียวแห่งระบบของซาตานที่ได้รับการยกเว้นจากการถูกภัยพิบัติจากข่าวสารแห่งการพิพากษาอันทำให้เดือดเนื้อร้อนใจซึ่งมาจากพระยะโฮวา และความโศกเศร้าที่ข่าวสารเหล่านั้นนำมา.
22. เสียงแตรสามครั้งสุดท้ายต่างออกไปอย่างไร และเสียงแตรเหล่านั้นเกี่ยวพันกับขันสามใบสุดท้ายแห่งพระพิโรธของพระยะโฮวาอย่างไร?
22 เสียงแตรดังสามครั้งสุดท้ายนั้นแตกต่างออกไป เนื่องจากเสียงแตรเหล่านี้ถูกเรียกว่าวิบัติ. (วิวรณ์ 8:13; 9:12) เสียงแตรสองครั้งแรกประกอบด้วยตั๊กแตนและกองทัพม้าโดยเฉพาะ ขณะที่เสียงแตรที่สามประกาศการกำเนิดแห่งราชอาณาจักรของพระยะโฮวา. (วิวรณ์ 9:1-21; 11:15-19) ดังที่เราจะได้เห็นต่อไป ขันแห่งพระพิโรธสามใบสุดท้ายก็จะครอบคลุมแง่มุมเหล่านี้บางประการเช่นกัน แต่ก็มีความแตกต่างจากวิบัติสามประการอยู่บ้าง. บัดนี้ ขอให้เราเอาใจใส่อย่างใกล้ชิดต่อการเปิดเผยอันน่าตื่นเต้นเร้าใจ ซึ่งเป็นผลจากการเทขันแห่งพระพิโรธของพระยะโฮวา.
[เชิงอรรถ]
a น่าสนใจ ในปี 1921 ชนจำพวกโยฮันได้ออกหนังสืออธิบายคัมภีร์ไบเบิลชื่อพิณของพระเจ้า (ภาษาอังกฤษ) ซึ่งมีการจำหน่ายจ่ายแจกออกไปมากกว่าห้าล้านเล่มในกว่า 20 ภาษา. หนังสือเล่มนี้ได้ช่วยนำเหล่านักร้องที่ถูกเจิมเข้ามามากขึ้น.