จงพิสูจน์ตัวว่าอยู่พร้อมสำหรับวันของพระยะโฮวา
“จงพิสูจน์ตัวว่าอยู่พร้อม เพราะในโมงที่ท่านไม่คิดว่าเป็นเวลานั้น บุตรมนุษย์จะเสด็จมา.”—มัดธาย 24:44, ล.ม.
1. เหตุใดเราควรคำนึงถึงวันของพระยะโฮวา?
วันนั้นจะเป็นวันแห่งการสงครามและความเกรี้ยวกราด วันแห่งความปวดร้าวและความทุกข์ร้อน วันแห่งความมืดมนและความร้างเปล่า. “วันใหญ่ยิ่งอันน่ากลัว” ของพระยะโฮวาจะบังเกิดขึ้นกับระบบชั่วนี้อย่างแน่นอน เช่นเดียวกับที่มหาอุทกภัยได้ท่วมทำลายโลกชั่วสมัยโนฮา. ไม่มีทางที่จะหนีพ้นวันนั้น. กระนั้น “ทุกคนที่ออกพระนามพระยะโฮวาจะรอด.” (โยเอล 2:30-32; อาโมศ 5:18-20) พระเจ้าจะทำลายเหล่าศัตรูของพระองค์และสงวนชีวิตประชาชนของพระองค์. ด้วยความสำนึกถึงความเร่งด่วน ผู้พยากรณ์ซะฟันยาประกาศดังนี้: “วันใหญ่ของพระยะโฮวามาใกล้. มาใกล้แล้ว และเร่งมาก.” (ซะฟันยา 1:14, ล.ม.) แต่เมื่อไรจะมีการสำเร็จโทษตามการพิพากษาของพระเจ้า?
2, 3. เหตุใดเป็นเรื่องสำคัญที่เราจะเตรียมตัวให้พร้อมสำหรับวันใหญ่ของพระยะโฮวา?
2 พระเยซูตรัสว่า “วันนั้นโมงนั้นไม่มีผู้ใดรู้. ถึงทูตสวรรค์หรือพระบุตรก็ไม่รู้. รู้แต่พระบิดาองค์เดียว.” (มัดธาย 24:36) เนื่องจากเราไม่ทราบวันเวลาที่แน่นอน จึงสำคัญที่จะเอาใจใส่ข้อความที่ใช้เป็นข้อคัมภีร์ประจำปี 2004 ของเรา ที่ว่า “จงเฝ้าระวังอยู่เสมอ . . . จงพิสูจน์ตัวว่าอยู่พร้อม.”—มัดธาย 24:42, 44, ล.ม.
3 เพื่อชี้ให้เห็นว่า คนที่พร้อมจะถูกรวบรวมไปสู่ที่ปลอดภัยขณะที่คนอื่น ๆ จะถูกละไว้นั้นเป็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นอย่างกะทันหันเพียงไร พระเยซูตรัสว่า “เมื่อนั้นชายสองคนอยู่ที่ทุ่งนา จะถูกเอาไปคนหนึ่ง ละไว้คนหนึ่ง; หญิงสองคนโม่แป้งอยู่ที่โรงโม่ จะถูกเอาไปคนหนึ่ง ละไว้คนหนึ่ง.” (มัดธาย 24:40, 41) ณ เวลาวิกฤตินั้น เราจะอยู่ในสภาพเช่นไร? เราจะอยู่พร้อมไหม หรือวันนั้นจะเกิดขึ้นกับเราแบบไม่ทันตั้งตัว? ส่วนใหญ่แล้วก็ขึ้นอยู่กับสิ่งที่เรากำลังทำขณะนี้. การพิสูจน์ตัวว่าอยู่พร้อมสำหรับวันของพระยะโฮวาเรียกร้องให้เราหลีกเลี่ยงเจตคติบางอย่างที่แพร่หลายในทุกวันนี้, ให้เราต้านทานการตกเข้าสู่สภาพฝ่ายวิญญาณบางลักษณะ, และให้เราหลีกเลี่ยงรูปแบบชีวิตบางรูปแบบ.
หลีกเลี่ยงเจตคติที่เฉยเมย
4. ผู้คนในสมัยโนฮามีเจตคติเช่นไร?
4 ขอให้พิจารณาสมัยของโนฮา. คัมภีร์ไบเบิลกล่าวว่า “โดยความเชื่อ หลังจากที่ท่านได้รับคำเตือนจากพระเจ้าถึงสิ่งที่ยังไม่ได้เห็น โนฮาแสดงความยำเกรงพระเจ้าและสร้างนาวาเพื่อช่วยครอบครัวของตนให้รอดชีวิต.” (เฮ็บราย 11:7, ล.ม.) นาวานั้นคงต้องเป็นอะไรที่ผิดปกติธรรมดาและสังเกตเห็นได้ชัดทีเดียว. นอกจากนั้น โนฮายังเป็น “ผู้ประกาศความชอบธรรม” ด้วย. (2 เปโตร 2:5, ล.ม.) ทั้งโครงการก่อสร้างที่ใหญ่โตและการประกาศของโนฮาไม่ทำให้ผู้คนในสมัยของท่านเปลี่ยนรูปแบบชีวิตของตน. เพราะเหตุใด? เนื่องจากพวกเขา “กินและดื่ม ผู้ชายทำการสมรส และผู้หญิงถูกยกให้เป็นภรรยา.” คนที่โนฮาประกาศให้ฟังนั้นมัวแต่หมกมุ่นอยู่กับการงานและความสนุกสนานเพลิดเพลินของตนจนถึงกับ “พวกเขาไม่แยแสจนกระทั่งน้ำมาท่วมและกวาดล้างเขาไปเสียสิ้น.”—มัดธาย 24:38, 39, ล.ม.
5. เจตคติของชาวเมืองโซโดมในสมัยโลตเป็นอย่างไร?
5 ในสมัยของโลตก็เหมือนกัน. พระคัมภีร์บอกเราว่า “เขาได้กินดื่ม, ซื้อขาย, หว่านปลูก, ก่อสร้าง แต่ในวันนั้นที่โลตออกไปจากเมืองซะโดม, ไฟและกำมะถันได้ตกจากฟ้ามาเผาผลาญเขาเสียทั้งสิ้น.” (ลูกา 17:28, 29) หลังจากทูตสวรรค์เตือนโลตถึงการทำลายที่ใกล้เข้ามา ท่านก็บอกบุตรเขยถึงสิ่งที่จะเกิดขึ้น. แต่บุตรเขยคิดว่า “พ่อตาพูดล้อเล่น.”—เยเนซิศ 19:14.
6. เราพึงหลีกเลี่ยงการมีเจตคติเช่นไร?
6 สมัยของโนฮาและโลตเป็นเช่นไร พระเยซูตรัสว่า “การประทับของบุตรมนุษย์ก็จะเป็นฉันนั้น.” (มัดธาย 24:39, ล.ม.; ลูกา 17:30) อันที่จริง ความเฉยเมยเป็นเจตคติที่แพร่หลายท่ามกลางผู้คนมากมายในทุกวันนี้. เราจำต้องป้องกันไม่ให้เจตคติเช่นนี้ส่งผลกระทบต่อเรา. ไม่ผิดที่จะกินอาหารรสอร่อยและดื่มอย่างพอประมาณ. การสมรสก็เช่นกัน เป็นการจัดเตรียมของพระเจ้า. แต่ถ้าสิ่งเหล่านี้กลายเป็นเรื่องสำคัญที่สุดในชีวิตของเราและละเลยผลประโยชน์ฝ่ายวิญญาณ เราจะอยู่พร้อมสำหรับวันใหญ่ยิ่งอันน่ากลัวของพระยะโฮวาไหม?
7. คำถามสำคัญอะไรที่เราควรถามก่อนจะทำสิ่งใด ๆ และเพราะเหตุใด?
7 อัครสาวกเปาโลกล่าวว่า “เวลาที่เหลืออยู่นั้นลดน้อยลง. จากนี้ไป ให้คนที่มีภรรยาเป็นเสมือนไม่มี.” (1 โกรินโธ 7:29-31, ล.ม.) เราเหลือเวลาจำกัดที่จะทำงานที่พระเจ้ามอบหมายในการประกาศราชอาณาจักรให้สำเร็จครบถ้วน. (มัดธาย 24:14) เปาโลเตือนว่าแม้แต่ผู้ที่สมรสแล้วก็ไม่ควรให้เวลากับการเอาใจใส่กันมากเกินไปจนให้ผลประโยชน์แห่งราชอาณาจักรอยู่อันดับรองในชีวิต. เห็นได้ชัดว่า ทัศนคติที่เปาโลได้แนะนำตรงข้ามกับความเฉยเมย. พระเยซูตรัสว่า “ดังนั้น จงแสวงหาราชอาณาจักรและความชอบธรรมของพระองค์ก่อนเสมอไป.” (มัดธาย 6:33, ล.ม.) คำถามสำคัญที่ควรถามเมื่อทำการตัดสินใจใด ๆ หรือก่อนที่จะทำอะไรคือ ‘สิ่งนี้จะมีผลกระทบต่อการแสวงหาราชอาณาจักรเป็นอันดับแรกในชีวิตของฉันอย่างไร?’
8. ถ้ากิจกรรมในชีวิตประจำวันกลายเป็นเรื่องที่เราให้ความสำคัญที่สุดในชีวิต เราควรทำประการใด?
8 แล้วถ้าเรารู้ตัวว่าได้ใช้เวลากับกิจกรรมในชีวิตประจำวันถึงขั้นที่ผลประโยชน์ฝ่ายวิญญาณถูกเบียดบังล่ะ? รูปแบบชีวิตของเรากับของเพื่อนบ้านที่ขาดความรู้ถ่องแท้ในพระคัมภีร์และไม่ได้เป็นผู้ประกาศราชอาณาจักรแทบไม่แตกต่างกันไหม? ถ้าอย่างนั้น ก็จำเป็นที่เราต้องอธิษฐานในเรื่องนี้. พระยะโฮวาสามารถช่วยเราให้มีเจตคติที่ถูกต้อง. (โรม 15:5, ล.ม.; ฟิลิปปอย 3:15, ล.ม.) พระองค์ทรงสามารถช่วยเราให้รักษาผลประโยชน์แห่งราชอาณาจักรอยู่ในอันดับแรก, ทำสิ่งที่ถูกต้อง, และทำตามพันธะของเราที่มีต่อพระองค์.—โรม 12:2; 2 โกรินโธ 13:7.
จงต้านทานการเซื่องซึมฝ่ายวิญญาณ
9. ตามที่กล่าวในวิวรณ์ 16:14-16 เหตุใดจึงสำคัญที่จะต้านทานการเซื่องซึมฝ่ายวิญญาณ?
9 คำพยากรณ์ที่กล่าวเกี่ยวกับ “สงครามแห่งวันใหญ่ของพระเจ้าองค์ทรงฤทธานุภาพทุกประการ” ที่กำลังใกล้เข้ามา ณ อาร์มาเก็ดดอนนั้นเตือนให้รู้ว่าบางคนอาจไม่ได้ตื่นตัวอยู่เสมอ. พระเยซูคริสต์ตรัสว่า “นี่แน่ะ! เราจะมาเหมือนขโมย. ความสุขมีแก่ผู้ที่ตื่นตัวเสมอและรักษาเสื้อชั้นนอกของตน เพื่อเขาจะไม่เดินเปลือยกายและผู้คนมองเห็นความน่าอับอายของเขา.” (วิวรณ์ 16:14-16, ล.ม.) เสื้อชั้นนอกที่กล่าวถึงในที่นี้หมายถึงสิ่งที่ระบุตัวเราว่าเป็นคริสเตียนพยานพระยะโฮวา. นี่หมายรวมถึงงานที่เราทำฐานะผู้ประกาศราชอาณาจักรและความประพฤติแบบคริสเตียน. ถ้าเราตกเข้าสู่สภาพไม่ทำอะไรคล้ายกับหลับ เอกลักษณ์ความเป็นคริสเตียนอาจถูกเปลื้องไปจากเรา. สภาพเช่นนั้นก่อความอับอายและเป็นอันตราย. เราต้องต้านทานการตกเข้าสู่สภาพเซื่องซึมหรือเฉื่อยชาทางฝ่ายวิญญาณ. เราจะต้านทานแนวโน้มเช่นนี้ได้อย่างไร?
10. เหตุใดการอ่านคัมภีร์ไบเบิลทุกวันจึงช่วยเราให้ตื่นตัวเสมอทางฝ่ายวิญญาณ?
10 คัมภีร์ไบเบิลย้ำบ่อย ๆ ถึงความจำเป็นที่จะต้องตื่นตัวอยู่เสมอและรักษาสติของเรา. ตัวอย่างเช่น พระธรรมกิตติคุณเตือนเราดังนี้: “จงเฝ้าระวังอยู่เสมอ” (มัดธาย 24:42; 25:13; มาระโก 13:35, 37, ล.ม.); “จงพิสูจน์ตัวว่าอยู่พร้อม” (มัดธาย 24:44, ล.ม.); “จงคอยดูอยู่ จงตื่นตัวเสมอ” (มาระโก 13:33, ล.ม.); “จงเตรียมตัวไว้ให้พร้อม” (ลูกา 12:40). หลังจากกล่าวว่า วันของพระยะโฮวาจะมายังโลกนี้อย่างไม่ทันคาดคิด อัครสาวกเปาโลกระตุ้นเพื่อนร่วมความเชื่อดังนี้: “อย่าให้เราหลับเหมือนคนอื่น แต่ให้เราตื่นอยู่และรักษาสติของเรา.” (1 เธซะโลนิเก 5:6, ล.ม.) ในพระธรรมเล่มสุดท้ายของคัมภีร์ไบเบิล พระเยซูคริสต์ผู้ทรงสง่าราศีเน้นถึงการเสด็จมาของพระองค์อย่างฉับพลัน โดยตรัสว่า “เราจะมาโดยเร็ว.” (วิวรณ์ 3:11; 22:7, 12, 20, ล.ม.) ผู้พยากรณ์ชาวฮีบรูหลายคนพรรณนาและเตือนถึงวันใหญ่แห่งการพิพากษาของพระยะโฮวาเช่นกัน. (ยะซายา 2:12, 17; ยิระมะยา 30:7; โยเอล 2:11; ซะฟันยา 3:8) การอ่านคัมภีร์ไบเบิลพระคำของพระเจ้าทุกวัน และไตร่ตรองสิ่งที่เราอ่านจะช่วยเรามากให้ตื่นตัวฝ่ายวิญญาณเสมอ.
11. เหตุใดการศึกษาคัมภีร์ไบเบิลเป็นส่วนตัวจึงเป็นสิ่งจำเป็นเพื่อจะตื่นตัวฝ่ายวิญญาณอยู่เสมอ?
11 ใช่แล้ว การศึกษาพระคัมภีร์เป็นส่วนตัวอย่างขยันขันแข็งโดยใช้สรรพหนังสือที่อาศัยคัมภีร์ไบเบิลเป็นหลักซึ่งจัดเตรียมโดย “ทาสสัตย์ซื่อและสุขุม” กระตุ้นเราให้ตื่นตัวฝ่ายวิญญาณอย่างแท้จริง! (มัดธาย 24:45-47) อย่างไรก็ตาม การศึกษาส่วนตัวจะก่อประโยชน์ก็ต่อเมื่อทำอย่างต่อเนื่องและสม่ำเสมอ. (เฮ็บราย 5:14–6:3) เราต้องรับอาหารแข็งฝ่ายวิญญาณเป็นประจำ. การหาเวลาทำเช่นนั้นในทุกวันนี้อาจเป็นเรื่องยาก. (เอเฟโซ 5:15, 16) แต่การอ่านคัมภีร์ไบเบิลและสรรพหนังสืออธิบายพระคัมภีร์เฉพาะเมื่อสะดวกแค่นั้นไม่พอ. การศึกษาส่วนตัวเป็นประจำเป็นสิ่งจำเป็นหากเราตั้งใจจะ “เข้มแข็งในความเชื่อ” และตื่นตัวอยู่เสมอ.—ติโต 1:13, ล.ม.
12. การประชุมประจำประชาคมและการประชุมใหญ่ของคริสเตียนช่วยเราต่อสู้กับการเซื่องซึมฝ่ายวิญญาณอย่างไร?
12 การประชุมประจำประชาคมและการประชุมใหญ่ของคริสเตียนช่วยเราต่อสู้กับการเซื่องซึมฝ่ายวิญญาณเช่นกัน. โดยวิธีใด? โดยทางคำแนะนำที่เราได้รับ. ณ การประชุมเหล่านี้เราได้รับการเตือนใจเป็นประจำมิใช่หรือว่า วันของพระยะโฮวามาใกล้แล้ว? การประชุมประจำสัปดาห์เปิดโอกาสให้ ‘เร้าใจกันและกันให้เกิดความรักและการกระทำที่ดี’ ด้วย. การเร้าใจกันอย่างนั้นช่วยให้เราตื่นตัวฝ่ายวิญญาณอยู่เสมอ. จึงไม่น่าประหลาดใจเลยที่เราได้รับพระบัญชาให้ประชุมกันเป็นประจำเมื่อ “เห็นวันนั้นใกล้เข้ามา.”—เฮ็บราย 10:24, 25.
13. งานรับใช้ของคริสเตียนช่วยเราอย่างไรให้ตื่นตัวเสมอทางฝ่ายวิญญาณ?
13 นอกจากนี้ การเข้าร่วมในงานรับใช้ของคริสเตียนอย่างสิ้นสุดหัวใจก็ช่วยเราให้ตื่นตัวอยู่เสมอ. จะมีวิธีอะไรที่จะช่วยให้เราตื่นตัวต่อหมายสำคัญแห่งยุคสมัยและความหมายของสิ่งเหล่านั้นได้ดีไปกว่าการพูดคุยกับคนอื่น ๆ เกี่ยวกับเรื่องนั้น? และเมื่อเราเห็นคนที่ศึกษาคัมภีร์ไบเบิลกับเราทำความก้าวหน้าและเริ่มปฏิบัติตามสิ่งที่พวกเขาได้เรียนรู้ ความสำนึกถึงความเร่งด่วนของเราก็ยิ่งทวีขึ้น. อัครสาวกเปโตรกล่าวว่า “จงเตรียมจิตใจของท่านทั้งหลายเพื่อการงาน จงรักษาสติของท่านให้ครบถ้วน.” (1 เปโตร 1:13, ล.ม.) การ “มีมากมายหลายสิ่งที่จะทำเสมอในงานขององค์พระผู้เป็นเจ้า” เป็นยารักษาอาการง่วงซึมฝ่ายวิญญาณอย่างดี.—1 โกรินโธ 15:58.
จงหลีกเลี่ยงรูปแบบชีวิตที่เป็นอันตรายฝ่ายวิญญาณ
14. ดังพรรณนาที่ลูกา 21:34-36 รูปแบบชีวิตแบบใดที่พระเยซูทรงเตือนให้ระวัง?
14 ในคำพยากรณ์ที่สำคัญเกี่ยวกับการเสด็จประทับของพระองค์ พระเยซูทรงให้คำเตือนอีกอย่างหนึ่ง. พระองค์ตรัสว่า “จงเอาใจใส่ตัวเอง เพื่อว่าหัวใจของเจ้าจะไม่เพียบลงด้วยการกินมากเกินไปและการดื่มจัดและความกระวนกระวายในเรื่องชีวิต และโดยไม่ทันรู้ตัววันนั้นจะมาถึงเจ้าอย่างกะทันหัน ดุจบ่วงแร้ว. เพราะวันนั้นจะมาถึงคนทั้งปวงที่อาศัยอยู่บนพื้นแผ่นดินโลกทั้งสิ้น. เหตุฉะนั้น จงตื่นตัวเสมอ เฝ้าวิงวอนอยู่ตลอดเวลา เพื่อเจ้าจะประสบผลสำเร็จในการหนีพ้นเหตุการณ์ทั้งปวงเหล่านี้ซึ่งถูกกำหนดไว้ว่าจะเกิดขึ้น และในการยืนอยู่ต่อหน้าบุตรมนุษย์.” (ลูกา 21:34-36, ล.ม.) พระเยซูพรรณนาได้อย่างถูกต้องถึงรูปแบบชีวิตที่คนทั่วไปมุ่งติดตามคือ การกินมากเกินไป, การดื่มจัด, และวิถีชีวิตแบบที่ก่อความกระวนกระวายใจ.
15. เหตุใดเราพึงหลีกเลี่ยงการกินดื่มมากเกินไป?
15 การกินดื่มมากเกินไปไม่สอดคล้องกับหลักการในคัมภีร์ไบเบิลและพึงหลีกเลี่ยง. คัมภีร์ไบเบิลกล่าวว่า “อย่ามั่วสุมกับนักเสพเหล้าองุ่น; หรือกับคนกินเนื้อเติบ.” (สุภาษิต 23:20) แต่ไม่จำเป็นต้องกินดื่มถึงขนาดนั้นจึงจะเป็นอันตรายต่อสภาพฝ่ายวิญญาณ. การกินดื่มอาจทำให้เราง่วงซึมและเกียจคร้านได้แม้ยังไม่ถึงขั้นกินดื่มมากเกินไป. สุภาษิตข้อหนึ่งในคัมภีร์ไบเบิลกล่าวว่า “จิตต์ใจของคนเกียจคร้านมักอยากได้ แต่ไม่ได้อะไรเลย.” (สุภาษิต 13:4) คนเช่นนั้นอาจอยากทำตามพระทัยประสงค์ของพระเจ้า แต่ก็อยู่เฉยไม่ทำอะไร ความต้องการของเขาจึงไม่บรรลุผล.
16. เราจะป้องกันไม่ให้ความกระวนกระวายในเรื่องครอบครัวมาทำให้เราเป็นทุกข์กังวลได้อย่างไร?
16 อะไรคือความกระวนกระวายในเรื่องชีวิตที่พระเยซูทรงเตือน? สิ่งเหล่านั้นเกี่ยวข้องกับความกังวลส่วนตัว, การหาเลี้ยงครอบครัว, และเรื่องใด ๆ ทำนองนี้. ช่างเป็นการไม่สุขุมสักเพียงไรที่จะปล่อยให้สิ่งเหล่านี้เป็นภาระหนักสำหรับเรา! พระเยซูถามว่า “มีใครในพวกท่านโดยความกระวนกระวายอาจต่อชีวิตให้ยาวออกไปอีกสักศอกหนึ่งได้หรือ?” พระเยซูทรงแนะนำผู้ฟังของพระองค์ว่า “อย่ากระวนกระวายว่า, จะเอาอะไรกินหรือจะเอาอะไรดื่มหรือจะเอาอะไรนุ่งห่ม. เพราะว่าพวกต่างประเทศ [“นานาชาติ,” ล.ม.] แสวงหาสิ่งของทั้งปวงนี้, แต่ว่าพระบิดาของท่านผู้สถิตในสวรรค์ทรงทราบแล้วว่าท่านต้องการสิ่งทั้งปวงเหล่านี้.” การที่เราให้ราชอาณาจักรอยู่อันดับแรกในชีวิตและมั่นใจว่าพระยะโฮวาจะดูแลเอาใจใส่ความจำเป็นของเราจะป้องกันไม่ให้วิตกกังวลมากเกินไปและช่วยเราให้ตื่นตัวอยู่เสมอ.—มัดธาย 6:25-34.
17. การมุ่งติดตามสิ่งฝ่ายวัตถุทำให้เกิดความกระวนกระวายได้อย่างไร?
17 ความกระวนกระวายยังอาจเกิดจากการมุ่งติดตามสิ่งฝ่ายวัตถุ. ตัวอย่างเช่น บางคนทำให้ชีวิตยุ่งยากขึ้นด้วยการดำเนินชีวิตเกินกว่ารายได้ของตน. บางคนถูกล่อด้วยแผนรวยลัดและการลงทุนที่มีความเสี่ยง. สำหรับบางคน การศึกษาฝ่ายโลกเพื่อจะประสบความสำเร็จทางการเงินกลายเป็นบ่วงแร้ว. เป็นที่ยอมรับว่าการศึกษาระดับหนึ่งอาจมีผลต่อการได้งานทำ. แต่ความจริงคือว่า การใช้เวลาเรียนต่อระดับสูงนั้น บางคนทำให้ตัวเองประสบความเสียหายฝ่ายวิญญาณ. นั่นเป็นสภาพการณ์ที่เป็นอันตรายสักเพียงไรขณะที่วันของพระยะโฮวาใกล้เข้ามา! คัมภีร์ไบเบิลเตือนว่า “คนเหล่านั้นที่มุ่งจะร่ำรวยก็ตกเข้าสู่การล่อใจและบ่วงแร้วและความปรารถนาหลายอย่างแบบไร้สติและที่ก่อความเสียหาย ซึ่งทำให้คนตกเข้าสู่ความพินาศและความหายนะ.”—1 ติโมเธียว 6:9, ล.ม.
18. เพื่อป้องกันไม่ให้ถูกดึงดูดเข้าสู่รูปแบบชีวิตที่ฝักใฝ่ฝ่ายวัตถุ เราต้องพัฒนาความสามารถในด้านใด?
18 ปัจจัยสำคัญที่จะไม่ทำให้คนเราถูกดึงดูดเข้าสู่รูปแบบชีวิตที่ฝักใฝ่ฝ่ายวัตถุคือ การพัฒนาความสามารถที่จะแยกออกว่าอะไรถูกอะไรผิดเมื่อทำการตัดสินใจ. ความสามารถนี้จะพัฒนาโดยการกิน ‘อาหารแข็งที่เป็นของผู้อาวุโส’ เป็นประจำ และโดย ‘การฝึกฝนความสามารถในการสังเกตเข้าใจด้วยการใช้.’ (เฮ็บราย 5:13, 14, ล.ม.) นอกจากนี้ การตรวจดูให้รู้แน่ถึง “สิ่งที่สำคัญกว่า” เมื่อจัดลำดับความสำคัญจะป้องกันเราไม่ให้ตัดสินใจผิดพลาด.—ฟิลิปปอย 1:10, ล.ม.
19. ถ้าเราเห็นว่าเราแทบไม่มีเวลาให้กับกิจกรรมฝ่ายวิญญาณ เราควรทำประการใด?
19 รูปแบบชีวิตที่ฝักใฝ่ฝ่ายวัตถุสามารถทำให้เราสูญเสียการมองเห็น ทำให้เราแทบไม่มีเวลาหรือไม่มีเวลาเลยสำหรับการติดตามสิ่งฝ่ายวิญญาณ. เราจะตรวจสอบตัวเองและหลีกเลี่ยงการตกเข้าสู่บ่วงแร้วของรูปแบบชีวิตเช่นนั้นได้อย่างไร? เราจำต้องพิจารณาพร้อมกับการอธิษฐานว่าเราจะทำให้ชีวิตง่ายขึ้นได้อย่างไรและได้ถึงขนาดไหน. กษัตริย์ซะโลโมแห่งอิสราเอลโบราณตรัสดังนี้: “การหลับของกรรมกรก็ผาสุก, จะแปลกประหลาดอะไรที่เขากินน้อยหรือกินมาก; แต่ความอิ่มท้องของคนมั่งมีก็ไม่ช่วยให้เขาหลับ.” (ท่านผู้ประกาศ 5:12) การดูแลรักษาสมบัติวัตถุที่ไม่จำเป็นใช้เวลาและพลังงานของเราไปมากไหม? ยิ่งเรามีสิ่งของมากเท่าไร การซ่อมบำรุง, ค่าประกันภัย, การปกป้องรักษา ก็ยิ่งมากขึ้นเท่านั้น. จะเป็นประโยชน์สำหรับเราไหมที่จะทำให้ชีวิตง่ายขึ้นโดยการปลดเปลื้องตัวเองจากการเป็นเจ้าของเครื่องใช้บางอย่าง.?
จงพิสูจน์ตัวเต็มที่ว่าอยู่พร้อม
20, 21. (ก) อัครสาวกเปโตรให้ความมั่นใจอะไรเกี่ยวกับวันของพระยะโฮวา? (ข) การประพฤติและการกระทำอะไรที่เราต้องทำต่อ ๆ ไปขณะที่พิสูจน์ตัวว่าอยู่พร้อมสำหรับวันของพระยะโฮวา?
20 เวลาสำหรับโลกสมัยโนฮาได้หมดไปแล้ว และเวลาสำหรับระบบปัจจุบันใกล้จะหมดลง. อัครสาวกเปโตรให้ความมั่นใจเราดังนี้: “วันของพระยะโฮวาจะมาเหมือนอย่างขโมย ในวันนั้นฟ้าสวรรค์จะล่วงลับไปด้วยเสียงแฉ่ ๆ แต่ธาตุต่าง ๆ จะถูกละลายไปเพราะร้อนจัด และแผ่นดินโลกกับการกระทำต่าง ๆ ในโลกจะถูกเปิดเผย.” ไม่ว่าฟ้าสวรรค์โดยนัยซึ่งก็คือการปกครองต่าง ๆ ที่เลวร้าย หรือแผ่นดินโลกโดยนัยซึ่งก็คือมนุษยชาติที่เหินห่างจากพระเจ้า ต่างก็จะไม่รอดพ้นพระพิโรธอันร้อนแรงยิ่งของพระเจ้า. เพื่อชี้ให้เห็นวิธีที่เราจะพิสูจน์ตัวว่าอยู่พร้อมสำหรับวันนั้น เปโตรกล่าวอย่างหนักแน่นว่า “โดยเหตุที่สิ่งทั้งปวงเหล่านี้จะต้องถูกละลายไปทั้งสิ้น ท่านทั้งหลายควรเป็นคนชนิดใดในการประพฤติอันบริสุทธิ์ และการกระทำด้วยความเลื่อมใสในพระเจ้า คอยท่าและคำนึงถึงวันของพระยะโฮวาเสมอ!”—2 เปโตร 3:10-12, ล.ม.
21 การที่เราเข้าร่วมการประชุมคริสเตียนและประกาศข่าวดีเป็นประจำนับรวมอยู่ในการประพฤติและการกระทำด้วยความเลื่อมใสในพระเจ้า. ขอให้เราทำสิ่งเหล่านี้ด้วยความเลื่อมใสอย่างลึกซึ้งในพระเจ้าขณะที่เราคอยท่าวันใหญ่ของพระยะโฮวาด้วยความเพียรอดทน. ขอให้เรา “กระทำด้วยสุดกำลัง เพื่อในที่สุด [พระเจ้า] จะพบ [เรา] ปราศจากด่างพร้อยและตำหนิ และมีสันติสุข.”—2 เปโตร 3:14, ล.ม.
คุณจำได้ไหม?
• เหตุใดเราควรพิสูจน์ตัวว่าอยู่พร้อมสำหรับวันของพระยะโฮวา?
• ถ้ากิจกรรมในชีวิตประจำวันกลายเป็นเรื่องหลักในชีวิตของเรา เราควรทำประการใด?
• อะไรจะช่วยเราให้ต้านทานการเซื่องซึมฝ่ายวิญญาณ?
• เราต้องหลีกเลี่ยงรูปแบบชีวิตที่ก่อความเสียหายแบบใดบ้าง และโดยวิธีใด?
[ภาพหน้า 20, 21]
ผู้คนในสมัยโนฮาเพิกเฉยต่อการพิพากษาที่จวนจะเกิดขึ้น—คุณล่ะ?
[ภาพหน้า 23]
คุณจะทำให้ชีวิตเรียบง่ายเพื่อจะมีเวลามากขึ้นสำหรับกิจกรรมฝ่ายวิญญาณได้ไหม?